17 พฤศจิกายน 2023
2 K

“หากมีโอกาสพิเศษช่วงเราเรียนมหาลัย เช่น รับน้อง เลี้ยงสายรหัส นัดเจอเพื่อนเก่า หรือฉลองรับปริญญา ความเบี้ยน้อยของเราทำให้บุฟเฟต์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะคุ้มงบและตอบโจทย์ความหิวโหยของวัยรุ่นกำลังโตได้แน่ ๆ” มิน-ปัณฑิตา จันทร์อร่าม เล่าย้อนไปถึงสมัยวัยเรียน

แต่นานวันเข้าเธอเริ่มเกิดคำถามเกี่ยวกับปริมาณการผลิตอาหารกับความต้องการจริงในการบริโภค “เรากลัวว่าของดี ๆ ที่เราเคยกินจะเข้าถึงได้ยากขึ้นหรือหายไป” ยิ่งเมื่อเธอได้ลงใต้เพื่อไปช่วยถอดหลักสูตรของ สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข และรู้จักกับวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน จนมองเห็นตัวอย่างและโอกาสตอบคำถามเรื่องการจัดการอาหาร เธอจึงเกิดความเชื่อว่า “เมื่อผู้คนมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพดีจากการกินอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์อย่างพอดี เราจึงตระหนักและมีแรงกลับไปดูแลท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางอาหารได้อย่างจริงใจ” และทำให้เกิดการจัดการอาหารอย่างยั่งยืน 

เมื่อคิดได้ดังนั้น มินจึงชักชวน เติ้ล-ตติวุฒิ ปิ่นแก้ว ก้าวเข้าวงการอาหารทะเลไทย และให้กำเนิดสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า ‘แมวกินปลา’ ด้วยความตั้งใจอยากให้คุณได้กินของดี ๆ ไปนาน ๆ

เติ้ล-ตติวุฒิ ปิ่นแก้ว และ มิน-ปัณฑิตา จันทร์อร่าม

เรือเล็ก เรือใหญ่ เรือไหนควรออกจากฝั่ง 

สโลแกนของแมวกินปลา ฟังเผิน ๆ แล้วแสนจะเรียบง่าย แต่อันที่จริงกลับมีเรื่องราวมากมายอยู่เบื้องหลัง “อาหารทะเลที่เรากินกันมี 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือประมงพาณิชย์ที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่และเรือประมงเล็ก” มินเริ่มต้นแนะนำให้เรารู้จักที่มาของอาหารทะเลไทยที่เราบริโภคในปัจจุบัน

“อุตสาหกรรมใหญ่หรือประมงพาณิชย์ใช้เรือใหญ่ ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัยจับสัตว์น้ำ ออกไปในทะเลได้หลาย ๆ วัน ไปในที่ที่น้ำลึกมากกว่า ไปได้ไกล ปริมาณสัตว์น้ำที่ประมงพาณิชย์จับก็มากตามขนาดความสามารถ วัตถุดิบทางทะเลที่จับจากเรือใหญ่อาจมีอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ที่นำไปจำหน่ายเป็นอาหารทะเลสดได้” เติ้ลช่วยเสริม

“แต่เรือเล็กหรือประมงพื้นบ้านออกเช้าเย็นกลับ เรือไม่ได้ใหญ่มาก ใช้วิธีการวางลอบ ลอบทำจากหวาย ขนาดประมาณห้องนี้ครับ” เติ้ลชี้ไปรอบ ๆ ห้องที่เรานั่งคุยกันอยู่ มีขนาดประมาณ 20 ตารางเมตร “เขาจะเอาลอบนี้ดำลงไปวางในทะเล แล้วเปิดประตูทิ้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่มีปลาแต่ละชนิด ปลาก็จะเข้ามาในลอบ เขาจะดำน้ำลงไปตักออกมาทีละตัว เป็นการจับปลาแบบเลือกเฉพาะตัวที่ได้ขนาด ไม่เลือกลูกปลา” ฟังไปกลั้นหายใจคิดตามไปถึงความอึดในการดำน้ำของชาวประมง 

แต่ใช่ว่าประเทศเราจะพึ่งพาประมงพื้นบ้านเพียงอย่างเดียวได้ 

“ประมงพาณิชย์มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ประมงพื้นบ้านจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหารทะเลเท่านั้น ทำประมงพื้นบ้านอย่างเดียวไม่พอ ถ้าเราส่งเสริมประมงพื้นบ้าน และไม่เอาอาหารที่มาจากประมงพาณิชย์เท่ากับเราไปโยนปัญหาให้ประมงพาณิชย์ เพราะเขาก็สร้างประโยชน์ให้ประเทศเยอะ ทั้งแรงงานและผู้บริโภค” ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองจึงไม่ได้หวังจะล้มล้างประมงพาณิชย์ แต่พวกเขาเล็งเห็นถึงโอกาสที่เสียไปมากกว่า 

“ในพื้นที่บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา มีอาหารทะเลจากประมงพื้นบ้านที่ดีจริง ๆ ซึ่งยังไม่ได้รับการจัดการที่ดีในการส่งต่อออกมายังผู้บริโภคในประเทศ ทำให้เสียโอกาสของทั้งกลุ่มชาวประมงในพื้นที่หรือน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญในพื้นที่” ผู้บริโภคอย่างเราก็เสียโอกาสการกินอาหารทะเลสด ๆ ด้วยเช่นกัน

เมื่อเข้าใจปัญหาของการประมงไทยและโอกาสที่สูญเสียไปเพราะการบริหารจัดการ มินจึงตัดสินใจชักชวนเติ้ลมาทำสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับผู้คน สุขภาพ และท้องทะเลไทย 

ทั้งสองหวังให้แมวกินปลาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ ‘ผู้คนดี’ ให้ชาวประมงพื้นบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามวิถีของตนเอง มีรายได้ที่แน่นอน วางแผนการเงินของครอบครัวในแต่ละเดือนได้ คนรุ่นใหม่ได้ทำงานที่บ้านเกิดและออกแบบชีวิตตัวเองได้ ส่วนผู้บริโภคก็จะมี ‘สุขภาพดี’ ได้กินอาหารที่ดี มีคุณภาพ สด สะอาด และปลอดภัยอยู่เป็นประจำ และ ‘ท้องทะเลก็ดี’ ไปด้วย เพราะวิธีการทำประมงที่พอดี จับสัตว์น้ำตามฤดูกาลที่พร้อมบริโภค ไม่เหลือทิ้ง ไม่เอาเปรียบทะเลจนเกินสมดุล 

“เมื่อไหร่ที่เราทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดี เขาจะเห็นความสำคัญของทรัพยากรในทะเลเอง มันง่ายกว่าการไปบอกเขาว่า เฮ้ย คุณดูแลทะเลสิ มันแย่แล้วนะ ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างไม่ถูกต้องนะ มันไม่เห็นภาพ เราเลยโฟกัสให้เขาเห็นภาพก่อนว่าได้รับผลดีกับตัวเขาจริง ๆ นะ แล้วเขาจะอยากกลับไปดูแลท้องทะเลเอง” เติ้ลอธิบายว่าทำไมแมวกินปลาจึงอยากให้คุณได้กินของดี ๆ ไปนาน ๆ 

ไม่ว่าตัวจะอยู่ไหน แต่ก็ฝากท้องไว้ที่พังงาได้เสมอ

“เรารับซื้อปลาจากชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นเรือเล็ก ทั้งกลุ่มชาวประมงชาวไทยและชาวมอแกลน ของที่เรารับซื้อต้องอยู่ในมาตรฐานที่เราวางไว้ ต้องเป็นการทำประมงแบบไม่เอาเปรียบทรัพยากรทางทะเลจนเกินไป เช่น ต้องจับสัตว์น้ำตามฤดูกาล เราไม่ซื้อปลาเล็กหรือลูกปลา เราไม่ซื้อสัตว์ในฤดูวางไข่ เราไม่รับซื้อสัตว์น้ำจากการจับด้วยวิธีที่ไม่ถูกกฎหมาย เช่น การใช้ตาข่ายเล็ก ๆ การช็อตไฟฟ้า หรือการระเบิดอะไรพวกนี้ เราไม่ซื้อ แต่ถ้าเข้าเกณฑ์ของเรา เราซื้อหมด เด็กชาวมอแกลน ลูกหลานชาวประมง ตกได้ตัวเดียว เดินเอามาขาย เราก็ซื้อ ปลาขึ้นมาจากเรือใช้เวลาประมาณ 2 นาทีก็มาถึงสถานีของเรา เรียกว่าปลาแทบจะเดินขึ้นมาหาเราเลยก็ได้ เพราะเราตั้งสถานีที่หน้าท่าเรือลุงนุ หาญทะเล ชาวมอแกลนกลุ่มเดียวในหมู่บ้านน้ำเค็มที่ยังใช้วิธีดำน้ำจับปลาอยู่” เติ้ลอธิบายวิธีที่ทำให้เราได้กินของดี ๆ ไปนาน ๆ 

เมื่อรับซื้อปลามาแล้ว แมวกินปลาจะใช้เวลาจัดการวัตถุดิบให้สั้นที่สุด “เราเอาเข้าห้องเย็นเพื่อแช่แข็งทันที ปลาตายไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ถูกจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว เพราะเมื่อปลาตาย แบคทีเรียในตัวปลาจะเริ่มย่อยเนื้อปลาทันที ทำให้ความสดของปลาลดลงเรื่อย ๆ การแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสจะหยุดการทำงานของแบคทีเรียในตัวปลา จึงคงความสดของปลาและเก็บรักษาปลาไว้ได้นาน” มินเสริม

ส่วนลูกค้าไม่ต้องทำอะไรมาก “ทุกอย่างควบคุมด้วยช่องทางการขายออนไลน์ โดยมีรอบส่งสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ถ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาส่ง 1 – 2 วัน ถ้าเป็นจังหวัดที่มีสนามบินก็ไม่เกิน 3 วัน เราส่งผ่านห้องเย็น มีระบบขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิจากเราไปจนถึงบ้านลูกค้า ของจะถูกแช่ที่ -20 องศาเซลเซียสตลอดเวลา” ฉะนั้น ของสดแน่นอน รับประกัน

แน่นอนว่าผู้บริโภคที่สนใจอาหารทะเลสดใหม่โดยประมงพื้นบ้านนั้นมีหลายทางเลือก เพราะ “คนอื่น ๆ ที่ทำเรื่องประมงพื้นบ้านมีอยู่หลายที่ แล้วก็มีคนที่ทำแบบเราที่ให้ชาวประมงกำหนดราคาเอง ซึ่งอาจเจออุปสรรคเรื่องการควบคุมต้นทุนสินค้า เราพยายามทดสอบไอเดียการจัดการต้นทุนหลายแบบ เพื่อหาทางจัดการต้นทุนสินค้าที่ไม่ไปยุ่งกับราคาวัตถุดิบอาหารทะเลที่ชาวประมงตั้งมาขายให้เรา เราเลยต้องทำการควบคุมต้นทุนอื่นให้น้อยที่สุด โดยเน้นเรื่องเวลากับกิจกรรม ถ้าใช้เวลาน้อย กิจกรรมน้อย ต้นทุนจะน้อยตาม มันจะประหยัดโดยอัตโนมัติ ทำให้แมวกินปลาไม่มีหน้าร้าน เราจัดการหลังบ้านออนไลน์ ทุกวันนี้เรามีพนักงานประจำที่พังงา 3 คน แล้วก็ผมกับมินซึ่งอยู่ที่สุพรรณบุรีเป็นทีมสนับสนุนทุกเรื่องจากระยะไกล” เติ้ลอธิบายวิธีการที่ทำให้คนจับปลาได้เงินมากขึ้น คนกินได้อาหารสดขึ้น เหมือนไปยืนซื้ออาหารทะเลจากชาวประมงที่ท่าเรือบ้านน้ำเค็มด้วยตัวเองเลยก็ว่าได้

แมวตัวนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

คำว่าผลกระทบมักมาคู่กับคนทำงานเพื่อสังคมเสมอ ซึ่งมินและเติ้ลก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น “เราจะดูแลทะเลยังไง ทะเลมันใหญ่มาก จะวัดอิมแพกต์ยังไง เราเลยไปดูข้อมูลมาว่าทะเลพังงามีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูง มีปลาทะเลชื่อไม่คุ้นอีกมากกว่า 100 ชนิด เช่น ปลาเหล็กโคน ปลาครืดคราด ปลาอังเกย ปลาแดงแซว ปลาหัวเสี้ยม ทุกชีวิตในทะเลล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งลดลงมากเกินไป สมดุลทางทะเลจะเสีย การเลือกกินสัตว์ทะเลที่หลากหลายจึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาสมดุลให้ท้องทะเล เราเลยทำภารกิจกินไม่ซ้ำ คือถ้าคุณกินปลาไม่ซ้ำครบตามจำนวนชนิดที่กำหนด คุณก็จะได้คูปองส่วนลดไปเรื่อย ๆ” มินเล่า

“ถ้ากินไม่ซ้ำกัน 5 ชนิด เราลดให้ 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้ากิน 15 ชนิดก็ลดไปเลย 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ 1 ปีที่ผ่านมาเราขายสัตว์ทะเลไปราว ๆ 70 ชนิดแล้ว ซึ่งน้อยมาก เพราะไปดูจริง ๆ ยังมีอีกเยอะ” เติ้ลเสริมจากใจจริงที่ยังอยากให้คนไทยกล้ากินสัตว์ทะเลชื่อแปลก ๆ

“ความท้าทายคือการทำให้ลูกค้าตัดสินใจลองซื้อปลาชื่อไม่คุ้นไปกิน เพราะเวลาเลือกซื้ออาหาร เราต้องการทราบรสชาติ ต้องการความอร่อยตามความชอบ ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ใหม่เป็นโจทย์ที่ทำให้เราเกิดไอเดียสนุก ๆ เพื่อทดลองให้ลูกค้าเข้าใจประโยชน์ที่จะได้รับทั้งต่อตัวเองและท้องทะเล”

ในปีที่ผ่านมานี้มีผู้กล้าเข้าร่วมกิจกรรมของแมวกินปลาอยู่ไม่น้อย “มีลูกค้าคนหนึ่งกินไป 18 ชนิดในระยะเวลาไม่กี่เดือน แล้วก็มีลูกค้าที่มาร่วมกิจกรรมนี้กับเราทั้งหมด 111 คน”

นอกเหนือจากภารกิจกินไม่ซ้ำเพื่อแก้ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว แน่นอนว่าแมวกินปลาก็ต้องวัดเรื่องขยะอาหารตามความตั้งใจแต่ต้น “พอจับปลามาแล้วกินไม่หมดก็ต้องทิ้ง เพราะฉะนั้น เรื่องขยะอาหารเป็นเรื่องที่คิดตลอดในกระบวนการผลิตทุกอย่าง เราเลยเอาพวกเศษปลาที่เหลือไปให้ชาวสวนปาล์มทำปุ๋ยหมัก ช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมีลงไป 60,000 บาทต่อปี”

ในส่วนของคนบ้านน้ำเค็มนั้น แมวกินปลารับซื้ออาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านทั้งรูปแบบแพปลาและรายย่อยกว่า 40 คนในปีที่ผ่านมา และในระยะยาว ทั้งมินและเติ้ลต่างเห็นตรงกันว่า นอกจากอยากให้ผู้บริโภคได้มีของกินดี ๆ ไปนาน ๆ แล้ว ยังหวังอยากให้แมวกินปลาเป็นโมเดลที่ยั่งยืน และเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเอาไปต่อยอดได้อีกด้วย

เรื่องเล็กที่ยิ่งใหญ่

คนตัวเล็ก ๆ 2 คนที่ก็มีงานประจำเป็นเรื่องเป็นราวต้องมาเหนื่อยทำธุรกิจเพื่อสังคมอีกทำไมกัน 

“นั่นน่ะสิ” มินหัวเราะก่อนจะรวบรวมความคิดแล้วสรุปให้ฟังว่า “ตอนแรกทำเพราะรู้สึกว่า ถ้าเราทำโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (จากงานประจำที่ School of Changemakers) โดยที่ตัวเองไม่เคยทำเอง จะพูด จะแนะนำอะไรมันจะไม่เข้าใจจริง ๆ จะไปบอกเขาว่า ก็ขายสิ ขายแบบนี้นะ วัดสิ วัดแบบนี้นะ มันดูพูดง่าย เราเลยอยากลองทำเอง เพื่อจะได้เข้าใจในมุมของผู้ลงมือทำได้มากขึ้น”

แล้วเป็นยังไง 

“โอ้โหหห ดีค่ะ เหมือนเราได้ลงทะเบียนเรียนเรื่องนี้ไปเลยว่า ในความเป็นจริงแล้ว อุปสรรคและปัญหามีอะไรบ้าง”

แม้ประสบการณ์ 1 ปีกับแมวกินปลาจะตอบโจทย์ความตั้งใจแรกเริ่มของเธอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่มินก็ยังไม่คิดจะไปไหน ส่วนหนึ่งเพราะเธอได้สร้างผลกระทบในประเด็นที่เธอสนใจ แต่อีกส่วนกลับเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เธอได้เห็นในทุกวันของการทำงาน โดยเฉพาะการทำให้น้อง ๆ ในทีมอีก 3 คนที่เป็นชาวพังงาโดยกำเนิดมีงานทำ ได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเพื่อพัฒนาบ้านเกิด และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ปัท พู่กัน แพรว เป็นฐานทัพหลักของแมวกินปลาที่บ้านน้ำเค็ม ทั้งสามใช้เวลาเดินทางมาทำงานไม่เกิน 5 นาที ได้กินข้าวเช้าท่ามกลางที่ทำงานที่ล้อมไปด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่ที่เป็นเหมือนปอดของอันดามัน ได้กินรสมือแม่ซึ่งเป็นอาหารใต้ที่ใช้วัตถุดิบดี ๆ ในท้องถิ่น”

“แม้จะทำได้ไม่มาก แต่ก็ดีกว่าตัวเราในเวอร์ชันก่อนที่จมอยู่กับปัญหาและมีแต่คำถาม มีแต่อารมณ์ขุ่นมัวอัดอยู่ในอก แต่พอเรากลับความคิด หันมาเข้าใจปัญหาและลงมือทำจนได้เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม มันรู้สึกดีที่เราเอาแรงไปลงมือแก้ แทนการไปนั่งด่าจนเป็นพิษต่อตัวเอง” มินตกตะกอน

“ปัญหาในโลกไม่มีวันหายไป เพราะฉะนั้น ทางรอดคือเข้าใจธรรมชาติของมัน หาวิธีแก้สนุก ๆ จะได้มากได้น้อยก็ทำเท่าที่เราไหว ที่เราจะยังกินอิ่มนอนหลับได้” มินเล่าด้วยความภูมิใจในความสำเร็จเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ จนทำให้คนตัวเล็ก ๆ อย่างเธอและเติ้ลมีแรงตื่นขึ้นมาทำงานในทุกวัน


ภาพ : แมวกินปลา

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์