คลองในเวนิส

เมื่อพูดถึงอิตาลี คนไม่ค่อยนึกถึงคลอง แต่เมื่อบังคับให้คิด ก็ไปที่ไหนไม่ได้นอกจากเวนิส แม้แต่คนที่ไม่เคยไปเวนิสยังเคยได้ยินคำว่า ‘กรุงเทพฯ คือเวนิสตะวันออก’ แต่ทำไมฝรั่งไม่เรียกเวนิสว่าบางกอกตะวันตกบ้างก็ไม่รู้เหมือนกัน

คำถามยอดฮิตคือ เวนิสมีกี่คลอง คำตอบคือราว 150 คลอง ซึ่งไม่รู้ว่านับกันอย่างไร พอมีคลองตัด ก็นับเป็นคลองใหม่อย่างนี้หรือ ไม่รู้ล่ะ ฉันว่าตามเขามาอีกที

คำถามถัดไปคือ แล้วมีกี่สะพาน ขอตอบให้จบ ๆ ไปว่า 436 แต่ถ้าหาในวิกิพีเดียจะเป็น 435 เอาเถอะ รู้พอให้เห็นภาพพอเนอะ

ครูก้าเล่าเรื่องคลองในอิตาลี ชี้จุดน่าไปและเรื่องสนุกของคลองที่เวนิส มิลาน โบโลญญา

คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ คลองลึกไหม คำตอบคือ แล้วแต่ มีตั้งแต่ 1 เมตรไปจนถึง 10 เมตร อย่าตกลงไปเป็นดี

คลองในเวนิสยามน้ำลงจนแห้งเกือบขอด เผยให้เห็นว่าคลองตื้น-ลึกเพียงใด

คลองในเวนิสคือถนน เข้าใจใช่ไหม กล่าวคือ จะไปไหนมาไหนยังไง ถ้าไม่ลงเรือก็ต้องเดิน จะขี่จักรยานเหรอ ก็เอาสิ เงยหน้าขึ้นไปอ่านย่อหน้าข้างบนซิว่ามีกี่สะพาน จะว่าไปอาจจะดี เพราะกว่าจะถึงที่หมาย ทั้งไบเซ็ปส์ ควอดริเซ็ปส์ ได้ออกกำลังกันถ้วนทั่ว

ใครไปเวนิส ฉันมักแนะนำให้ไปมากกว่า 1 วัน โดยใช้วันแรกเที่ยวตามขนบ และอีกวันหนึ่งพาตัวเองเดินเข้าซอกเล็กซอยน้อย ฉันเคยทำอย่างนั้นแล้วได้เห็นเรือยี่ปั๊วส่งสินค้าไปตามร้านต่าง ๆ ในเกาะ ได้เห็นเรือขายผักผลไม้ ดูแล้วคิดถึงตลาดน้ำบ้านเราบ้างเหมือนกัน

Little Venice

หลาย ๆ ประเทศจะมี Little Venice แต่ที่จะพูดถึงนี่คือ Little Venice ในอิตาลีนี่เอง

ถ้าใครเบื่อความแมสของการไปคลองในเวนิส ขอแนะนำให้ไปอีกเมือง ซึ่งอยู่ห่างกันไม่ใกล้ไม่ไกล นั่นคือเมือง คิ-ยอจ-จา (Chioggia)

เชื้อเชิญทั้งที่ไม่เคยไปนี่ล่ะ

จริง ๆ ได้ยินชื่อนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร เป็นแค่ชื่อเมืองที่คุ้นไปคุ้นมาเวลาอ่านหนังสือ อ่านแผนที่ แต่มาสะดุดตาสะดุดใจเอาปัง ๆ ตอนดูซีรีส์ Netflix เรื่อง I Hate Christmas

ครูก้าเล่าเรื่องคลองในอิตาลี ชี้จุดน่าไปและเรื่องสนุกของคลองที่เวนิส มิลาน โบโลญญา

คิยอจจา (ทำไมเขียนติดกันแล้วชวนให้อ่านว่า ‘ขี้อิจฉา’ นะ) เอาใหม่ คิ-ยอจ-จา เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเวนิส คล้ายเวนิสมากจนมีคนเรียกว่า ‘Little Venice’ ค่าที่เมืองเป็นเกาะ ตัดไปตัดมาด้วยคลอง ไม่มีรถ แต่ที่ชนะเลิศคือไม่เบียดเสียดยัดเยียดไปด้วยนักท่องเที่ยวอย่างเช่นเมืองเวนิส ใครที่อยากเห็นวิถีชีวิตชาวคลองของอิตาลี แต่ไม่อยากไปเวนิสเพราะมันดู Tourist เหลือเกิน คิ-ยอจ-จา นี่ล่ะ คือเมืองเล็ก ๆ ของคนริมคลองอย่างแท้จริงอีกหนึ่งเมือง

ครูก้าเล่าเรื่องคลองในอิตาลี ชี้จุดน่าไปและเรื่องสนุกของคลองที่เวนิส มิลาน โบโลญญา

แล้วที่อื่นมีคลองอีกไหม

แน่นอนว่าย่อมมี แห่งหนึ่งคือเมืองที่คุ้นเคย… โบโลญญานั่นเอง

เคยมีลูกศิษย์ถามว่า ทำไมรูปปั้นกลางเมืองถึงเป็นเนปจูน (โพไซดอนในภาษากรีก) ทั้งที่เมืองไม่ได้ติดทะเลแม้แต่น้อย 

อย่างนี้นับเป็นอภิชาตศิษย์โดยแท้ เพราะตอนอายุเท่ากัน ฉันไม่ได้ติดใจในเรื่องนี้เลย สมองคงโฟกัสไปที่นิ้วมืออัศจรรย์ของท่านสมุทรเทพและเหล่านางเล็ก ๆ ทั้งหลายที่รายล้อม (ดูรายละเอียดได้ในคลิปนี้) 

ความจริงคือโบโลญญาเคยมีคลองมาก่อน จะว่าไปตอนนี้ก็ยังมีอยู่ แต่ว่าแต่ก่อนนั้นมีคลองมากกว่าที่เห็น และคลองมีความสำคัญมากสำหรับเมืองที่ผลิตผ้าไหมรายใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของอิตาลี

ครูก้าเล่าเรื่องคลองในอิตาลี ชี้จุดน่าไปและเรื่องสนุกของคลองที่เวนิส มิลาน โบโลญญา
คลองที่เหลืออยู่ของโบโลญญา

คลองมิได้เป็นแค่เพียงเส้นทางสัญจรขนส่งสินค้าไป-กลับจากเมือง หากแต่ยังมีความสำคัญในการดันกังหันน้ำให้หมุน และทำให้กลไกอะไรต่ออะไรในโรงทอผ้าดำเนินไปอย่างคล่องแคล่วว่องไว

ถึงวันนี้ คลองถูกถมไปไม่น้อย คงเหลือคลองอยู่คลองเดียวที่ใครไปโบโลญญากับฉันจะรู้ซึ้งดี เพราะฉันจะลากไปให้ดูดดื่มปลื้มใจกับคลองนั้นอยู่ทุกครั้งไป 

คลองในมิลาน

ถึงตรงนี้ ศิษย์เก่ามิลานคงเต้นเร่า ๆ ในขณะที่นักท่องเที่ยวแบบโฉบวันเดียวอาจงงว่าคืออะไร มิลานมีคลองด้วยหรือ แล้วเต้นเร่า ๆ ทำไม

คลองในมิลานมีอยู่จริง แถมยังคึกคักมากอีกด้วย แต่คนละแบบกับเวนิส เพราะคลองที่มิลานจะคึกคักด้วยชีวิตยามราตรี ผับบาร์เก๋ ๆ ล้วนเรียงราย ประดับไปสวยงามไปตามคลองในย่านที่ชื่อว่า ‘นาวีลยี’ (Navigli)

Navigli มาจากคำว่า Naviglio (นาวีลโย) ซึ่งภาษาทางแถบเหนือของอิตาลีหมายถึงคลองที่เดินเรือได้ นาวิลยีเป็นคำนามพหูพจน์ ดังนั้น คลองที่ว่าจึงไม่ได้มีแค่คลองเดียว ย่านหรือเขตนาวิลยีจึงเป็นเหมือนพื้นที่สามเหลี่ยมที่อยู่ตรงหลางระหว่าง นาวิลโยกรันเด และ นาวิลโยปาเวเซ ซึ่งรับรองได้ว่านักเรียนไทยในมิลานเกินครึ่งต้องเคยไปนั่งดริงก์กันที่ย่านนั้นมาแล้ว ความรักของบางคนอาจเกิดขึ้นที่นั่น ของบางคนก็อาจแตกดับที่นั่นเช่นกัน 

ครูก้าเล่าเรื่องคลองในอิตาลี ชี้จุดน่าไปและเรื่องสนุกของคลองที่เวนิส มิลาน โบโลญญา

ตามประวัติแล้วคลองเหล่านี้ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยยุคกลาง เพื่อทั้งส่งน้ำมาสู่เมือง เพื่อการสัญจร และเพื่อป้องกันข้าศึกได้ด้วย

ตบท้ายด้วยเรื่องคลองเช่นกัน เรื่องนี้ได้ยินตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยสำหรับชาวต่างชาติที่เซียน่า จำไม่ได้ว่าเคยเล่าในคอลัมน์นี้หรือยัง เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ทุกเช้าวันจันทร์ อาจารย์จะให้พวกเราเล่าให้เพื่อนในห้องฟังว่าวันหยุดที่ผ่านมาได้ไปไหน ทำอะไรกันบ้าง เพื่อนคนหนึ่งก็เล่าว่าไปเล่นน้ำมาที่คลองแห่งหนึ่งนอกเมือง น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา เป็นคลองที่ไหลมาจากอาร์โน 

ถึงตรงนี้ เพื่อนลืมกระดกลิ้นตรง รรรรร

ครูพ่นหัวเราะออกมาพรืดใหญ่ แล้วก็หัวเราะออกมาอย่างไม่ทำงานทำการ พอดีเพื่อนเป็นคนสุดท้าย แล้วหมดเวลาเรียนพอดี ครูบอกว่าไม่เฉลย ให้ไปหาเอาเองเป็นการบ้าน พอครูออกจากห้องไป ไม่ต้องทันถึงบ้าน พวกเราเปิดดิกกันพัลวัน แล้วจึงเข้าใจว่า น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ที่ไหลมาจากคลองแห่งหนึ่งของแม่น้ำอาร์โนที่ไม่มีเสียง ‘ร’ นั้น…

ที่แหวกว่ายปทุมมาอยู่ไหว ๆ นั้น คงจะไม่ใช่ปลาแล้วล่ะ 

เพราะมันแปลว่า คลองที่ไหลมาจากรูทวารหนัก (Ano) นั่นเอง

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า