หากพูดถึงประเทศลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) ทุกคนต้องคิดถึงประเทศในยุโรปเล็ก ๆ ที่บริษัททัวร์ยุโรปมักแถมเป็นประเทศทางผ่านในโปรแกรมทัวร์ประเทศกลุ่มเบเนลักซ์ (Benelux : BElgium NEtherlands และ LUXembourg) และปล่อยให้ลูกทัวร์เดินเล่นถ่ายรูปเป็นเวลาครึ่งวันก่อนไปประเทศอื่นต่อ ผมไม่ได้มาตามทัวร์อย่างคนอื่น ๆ แต่ภารกิจในครั้งนี้คือการมาตามหาผึ้งครับ 

เมืองบนปราการ

ลักเซมเบิร์กมีชายแดนติดกับประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม ประเทศเดียวบนโลกที่มีสถานะเป็นราชรัฐชั้นแกรนด์ดัชชี (Grand Duchy) คือมีแกรนด์ดยุก (Grand Duke) เป็นประมุขของประเทศ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ผ่านการบริหารโดยนายกรัฐมนตรี ลักเซมเบิร์กมีประชากรน้อยกว่า 700,000 คน เป็นคนลักเซมเบิร์กแท้ ๆ ประมาณครึ่งหนึ่ง นอกนั้นเป็นคนยุโรปเชื้อชาติอื่นย้ายเข้ามาเอามาทำงานและอยู่อาศัย เช่น คนโปรตุเกส มีคำกล่าวว่าคนลักเซมเบิร์กแท้ ๆ หายากมากในประเทศ ภาษาราชการคือภาษาลักเซมเบิร์ก (Luxembourgish) ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน ภูมิทัศน์ของตัวเมืองหลวง (Luxembourg City) เป็นเหมือนเมืองที่ตั้งอยู่บนป้อมปราการ มีทัศนียภาพสวยงาม และมีการก่อสร้างซ่อมแซมตลอดเวลา (มีเพื่อนกระซิบมาว่า ที่ซ่อมแซมตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการจ้างงาน หมุนเวียนเศรษฐกิจ) เมืองมีประชากรประมาณ 100,000 คน ถือเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูง แต่มีรัฐสวัสดิการที่เพียบพร้อม เช่น ระบบขนส่งมวลชนภายในประเทศทุกชนิดขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถราง และรถไฟ 

Gare de Luxembourg 
กระจกสีภายใน Gare de Luxembourg
Pont Adolphe 
แม่น้ำ Alzette ที่ไหลผ่านตัวเมือง

หลังบ้านพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งลักเซมเบิร์ก

การมาเยือนลักเซมเบิร์กในครั้งนี้ซึ่งเป็นการมาเยือนครั้งแรกของผม มาจากการชักชวนของเพื่อน เธอชื่อว่า เฟอร์นันดา เป็นนักศึกษาปริญญาเอกประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งลักเซมเบิร์ก (Musée national d’histoire naturelle Luxembourg) เรารู้จักกันในงานประชุมวิชาการด้านแมลงที่เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2565 เธอเคยมาเยี่ยมผมและพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน 

จากนั้นช่วงพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลาพอดีที่ผมกลับมารับปริญญาที่อังกฤษ เลยได้แวะหาเธอที่ลักเซมเบิร์ก ผมเข้าสู่เขตประเทศนี้ผ่านทางฝรั่งเศสโดยรถไฟ มาถึงสถานีรถไฟกลาง (Gare de Luxembourg) ประมาณเที่ยงนิด ๆ ภายในสถานีประดับด้วยกระจกสีเป็นรูปเมือง เป็นปราการที่มีทางเข้าเป็นสะพานชื่อว่า Pont Adolphe ภายนอกสถานีรถไฟมีโครงสร้างทันสมัยเชื่อมกับอาคารดั้งเดิม 

จากนั้นผมก็เดินเข้าเมืองเพื่อไปเจอเฟอร์นันดาตามเวลาที่นัดเธอเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งลักเซมเบิร์ก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ Alzette ไหลผ่านตัวเมือง ผมโชคร้ายนิดหน่อยที่มาที่นี่ในบ่ายวันจันทร์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการ ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์นี้เปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น 

แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้เข้าชมส่วนหลังบ้านของพิพิธภัณฑ์ ใช้สำหรับการวิจัยและเก็บตัวอย่างปกติ ซึ่งบุคคลทั่วไปเข้าชมไม่ได้ โดยมีเฟอร์นันดาเป็นคนนำชมนั่นเอง 

เฟอร์นันดาพาผมไปดูส่วนต่าง ๆ ของหลังบ้านพิพิธภัณฑ์นี้ แม้ว่าจะมีพื้นที่ไม่มากแต่ครบครัน เอื้ออำนวยในการทำวิจัยด้านธรรมชาติวิทยา มีห้องทำงานซึ่งมีทั้งนักวิจัย ภัณฑารักษ์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษานั่งทำงานอยู่ ห้องปฏิบัติการด้านอณูชีววิทยา ห้องถ่ายภาพตัวอย่างเพื่อทำ Digitization รวมถึงตู้เก็บตัวอย่างแมลง (Insect Collection) 

เฟอร์นันดาเปิดตู้และดึงกล่องเก็บตัวอย่างผึ้งให้ผมดู ส่วนใหญ่เป็นผึ้งที่พบในยุโรป เธอเล่าว่าผึ้งบางชนิดหายากและบางชนิดหาไม่เจอแล้วในลักเซมเบิร์ก เนื่องจากแหล่งที่อยู่เปลี่ยนไปจากกิจกรรมของมนุษย์ 

เฟอร์นันดานอกจากการเป็นนักศึกษาปริญญาเอก เธอยังเป็นนักวิจัยหลักในโครงการวิจัยที่ชื่อว่า ‘Beelibre’ อีกด้วย 

ผมและประตูทางเข้า Musée national d’histoire naturelle Luxembourg
ตัวอย่างผึ้งป่าในพิพิธภัณฑ์ 
เฟอร์นันดากำลังพาชมตัวอย่างแมลงที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ 

Beelibre ฐานข้อมูลผึ้งของลักเซมเบิร์ก

ผึ้งเป็นแมลงที่มีความสำคัญในระบบนิเวศผ่านการหาอาหาร นั่นคือเรณูของดอกไม้ เป็นแหล่งโปรตีนและไขมัน ช่วยถ่ายเรณู (Pollination) ให้พืชดอก ทั้งพืชป่าหรือพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกิดผลและเมล็ด แต่ในปัจจุบันพบว่าผึ้งป่า (Wild Bees) ในธรรมชาติลดลงจากหลายสาเหตุ เช่น กิจกรรมของมนุษย์ แหล่งที่อยู่ถูกทำลาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโรคที่ติดมาจากผึ้งเลี้ยงและชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) 

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการ Beelibre ที่มีจุดประสงค์ในการทำบัญชีรายชื่อและรวมรวมข้อมูลของผึ้งป่าในลักเซมเบิร์ก เช่น เอกสารอ้างอิงทางอนุกรมวิธาน ข้อมูลการปรากฏ (Occurrence Data) ทั้งข้อมูลที่มาจากตัวอย่างผึ้งในพิพิธภัณฑ์และการสำรวจทั่วประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลทางพันธุกรรม ภาพถ่าย ตลอดจนพืชอาหารของผึ้งป่าแต่ละชนิด โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลลักเซมเบิร์ก ท้ายที่สุด ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากโครงการนี้จะเผยแพร่เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ และตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งป่า

โครงการ Beelibre รวบรวมข้อมูลพืชอาหาร ข้อมูลทางพันธุกรรม และเอกสารอ้างอิงของผึ้งป่าในลักเซมเบิร์ก
ผึ้งขุดรู Andrena haemorrhoa
ภาพ : Beelibre Project
ผึ้งขุดรู Andrena hattorfiana
ผึ้งตอมเหงื่อ Halictus scabiosae
ภาพ: Beelibre Project

ตามหาผึ้งในเมืองลักเซมเบิร์ก

เมื่อเฟอร์นันดาพาชมส่วนหลังบ้านของพิพิธภัณฑ์ เธอก็ชวนผมออกไปเก็บข้อมูลผึ้งป่าในพื้นที่สีเขียวของเมืองลักเซมเบิร์ก พร้อมด้วยทีม Beelibre ของเธอ ประกอบด้วย ดีแลน ผู้ช่วยวิจัย และ อันโตนีโอ ช่างภาพ 

พวกเราเดินถือสวิงจับแมลงและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับเก็บข้อมูล โดยเฉพาะอุปกรณ์ถ่ายภาพ การถ่ายภาพผึ้งในโครงการนี้ Beelibre เน้นการถ่ายรูปผึ้งที่ยังมีชีวิต จึงต้องมีอุปกรณ์ที่พกพาไปในที่ต่าง ๆ ได้ เฟอร์นันดาบอกว่า ถ้าอากาศดี ทีมของพวกเขาจะนั่งรถสาธารณะ (ฟรี) ไปยังที่ต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมทั้งประเทศ 

เราหยุดอยู่ที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งที่มีการตั้งโรงแรมผึ้ง (Bee Hotel) เป็นรังเทียมสำหรับผึ้งที่มีการดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยว (Solitary Bees) ซึ่งต่างจากรังผึ้งเลี้ยงทั่วไปที่ใช้เก็บน้ำหวาน Bee Hotel มีลักษณะเป็นรูหรือเป็นหลอดเรียงต่อกัน ลักษณะรังเทียมแบบนี้พบได้ทั่วไปในยุโรป เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่ของผึ้งป่าในบริเวณนั้น ซึ่งในไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาว่าผึ้งที่ดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยวในบ้านเราชอบทำรังในรูขนาดเท่าไรบ้าง ชอบเนื้อไม้ชนิดไหน เป็นต้น 

เราใช้เวลาสักพักก็ได้ตัวอย่างที่จะใช้ถ่ายรูปและเก็บข้อมูลในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นผึ้งหึ่ง (Bumblebee สกุล Bombus) ผึ้งปั้นหม้อ (Meson Bee สกุล Osmia) ผึ้งขุดรู (Mining Bee สกุล Andrena) ผึ้งเขายาว (Long-horned Bee สกุล Eucera) และ ผึ้งเรร่อน (Nomad Bee สกุล Nomada) เมื่อถ่ายภาพเสร็จก็จะจดพิกัดทางภูมิศาสตร์ นอกจากถ่ายภาพแล้วยังมีการเก็บละอองเรณูที่ติดอยู่ที่ตัวผึ้งโดยใช้พู่กันเพื่อนำไปสกัดดีเอนเอและหาพืชอาหารของผึ้งต่อไป เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จก็จะปล่อยผึ้งกลับคืนสู่ธรรมชาติ

Bee Hotel ในเมืองลักเซมเบิร์ก
ทีม Beelibre กำลังเก็บข้อมูลผึ้ง 
ผึ้งเขายาว (สกุล Eucera) ที่เก็บข้อมูลในวันนี้ 

หลังจากใช้เวลาตลอดบ่ายอยู่กับการตามหาผึ้ง ก็ถึงเวลาที่ต้องกลับไปเก็บอุปกรณ์ เฟอร์นันดาและทีมเลยพาผมชมเมืองเล็กน้อยในฐานะเจ้าบ้าน หนึ่งในการขนส่งสาธารณะที่มหัศจรรย์ แน่นอนว่าฟรี นั่นคือ ลิฟต์ 

เนื่องด้วยเมืองลักเซมเบิร์กตั้งอยู่บนที่สูง จึงมีลิฟต์ขึ้นลงซ้อนตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในเมือง โดยลิฟต์เป็นไฮไลต์ คือ Pfaffenthal Panoramic Elevator เป็นลิฟต์กระจกที่ทำให้เห็นเมืองแบบพาโนรามา จากนั้นพวกเราเดินผ่านบริเวณเมืองเก่า มีพระราชวัง Grand Ducal Palace ที่ว่าราชการของแกรนด์ดยุกองค์ปัจจุบัน 

ท้ายที่สุดพวกเราก็กลับไปถึงยังพิพิธภัณฑ์ เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ และจากลากัน จากนั้นเฟอร์นันดาก็เดินมาส่งผมแถวสถานีรถไฟซึ่งผมพักอยู่ในบริเวณนั้น เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ ต้องขอบคุณเฟอร์นันดาที่พาผมมาเปิดประสบการณ์ตามหาผึ้งในวันนี้

Pfaffenthal Panoramic Elevator 
Grand Ducal Palace

บริเวณเมืองเก่า 

ข้อสังเกตที่ได้จากการสำรวจในวันนี้ คือเมืองแห่งนี้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวเป็นอย่างมากมองไปทางไหนก็มีพื้นที่สีเขียวสลับกับพื้นที่สูงต่ำของเมือง พื้นที่สาธารณะสีเขียวเหล่านี้นอกจากให้ผู้คนในเมืองมาใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย 

และอีกหนึ่งเรื่องคือรู้สึกว่าผู้คนในเมืองเข้าใจถึงความสำคัญของผึ้งมาก เพราะในระหว่างที่เราเดินสำรวจนั้นมีคุณพ่อท่านหนึ่งเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ เฟอร์นันดาก็อธิบายโครงการคร่าว ๆ จากนั้นคุณพ่อท่านนี้ก็ไปเล่าให้ลูกฟังเกี่ยวกับผึ้งและการถ่ายเรณู โดยใจความครบ แต่เด็กเข้าใจได้ง่าย 

สุดท้ายนี้ ใครสนใจในโครงการ Beelibre ก็ติดตามได้ที่ Instagram : _beelibre มีรูปผึ้งป่าสวย ๆ ของประเทศลักเซมเบิร์กให้ได้ชม รวมทั้งใช้ข้อมูลที่ได้จากโครงงานนี้ในเว็บไซต์ beelibre.lu ซึ่งในปัจจุบันกำลังพัฒนาเว็บไซต์นี้อยู่ครับ

เมืองสีเขียวของลักเซมเบิร์ก 

ผึ้งป่าในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีความหลากหลายของผึ้งป่าสูง เนื่องจากอยู่ในเขตร้อน มีรายงานว่าพบผึ้งป่ามากกว่า 250 ชนิด มีการจัดทำฐานข้อมูลผึ้งป่าเช่นเดียวกัน โดยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2564 โดยเข้าถึงได้ในฐานข้อมูล Global Biodiversity Information Facility หรือ GBIF มีข้อมูลผึ้งมากกว่า 12,000 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังมีการสำรวจผึ้งป่าในประเทศไทยเพิ่มเติม และเชื่อว่ายังมีผึ้งป่าชนิดใหม่รอคอยการค้นพบ 

ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านลองสังเกตสิ่งรอบตัวเล็ก ๆ เวลาออกจากบ้าน และหากมีโอกาสไปลักเซมเบิร์ก ขอให้ลองตามหาผึ้ง ชมพื้นที่สีเขียวในตัวเมือง รับรองว่าได้ความประทับใจกลับไปแน่นอนครับ

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ชวธัช ธนูสิงห์

อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชื่นชอบพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ สอนวิชานิเวศวิทยาและวิจัยผึ้งเป็นหลัก