บทบาทของทายาทในการมีส่วนร่วมบริหารธุรกิจครอบครัวแต่ละแห่งมีความหลากหลายแตกต่างกันไป

ในด้านหนึ่งนั้น ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งใช้ผู้บริหารจากภายนอกครอบครัว โดยทายาทมีบทบาทเป็นเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น ไม่มีบทบาทในการดูแลกิจการ (Passive Shareholders)

ในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจครอบครัวอีกหลายแห่งเปิดโอกาสให้ทายาทที่เป็นผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธุรกิจด้วย (Active Shareholders)

บทบาททายาททั้ง 2 แบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น การแยกทายาทออกจากการบริหารธุรกิจอาจช่วยป้องกันความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวได้ แต่ก็เป็นการใช้ทรัพยากรครอบครัวที่ไม่เต็มศักยภาพ เพราะสมาชิกครอบครัวหลายคนมีความสามารถ มีความเข้าใจในธุรกิจครอบครัว และที่สำคัญ มีแรงจูงใจในการบริหารธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอดและเติบโต

ตัวอย่างธุรกิจครอบครัวที่การเข้ามามีบทบาทในการบริหารกิจการของทายาทพลิกฟื้นธุรกิจได้ คือ ‘Bata Corporation’ บริษัทผู้ผลิตรองเท้าใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก เป็นธุรกิจครอบครัวอายุ 130 ปีของตระกูลบาจาที่สืบทอดธุรกิจต่อกันมาถึง 4 รุ่น ซึ่งผู้นำทั้ง 4 รุ่นนั้นต่างมีชื่อว่า ‘โทมัส’ ด้วยกันทุกคน

Bata ธุรกิจรองเท้าที่พังเพราะผู้นำไร้จริยธรรม รอดด้วยการประชุมดีลลับของทายาทรุ่นสาม

Tomáš Baťa

ธุรกิจรองเท้าบาจาก่อตั้งในปี 1894 ที่เมือง Zlín ในแคว้นมอเรเวียของเชโกสโลวาเกีย ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก โดย Tomáš Baťa พี่ชาย Jan Antonín น้องชาย และ Anna น้องสาว เมื่อเริ่มก่อตั้งธุรกิจนี้มีชื่อว่า T. & A. Baťa Shoe Company ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ Bata Corporation ในปัจจุบัน

หลังจากก่อตั้งได้เพียงปีเดียว ธุรกิจก็มีปัญหาทางการเงิน Tomáš เลยแก้ปัญญาด้วยการเปลี่ยนวัสดุจากหนังมาเป็นผ้าใบ รองเท้าแบบใหม่เป็นที่นิยมจนธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อมา Tomáš เริ่มนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต และเริ่มนำกระบวนการผลิตรองเท้าแบบ Mass Production มาใช้ จนในที่สุดก็ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในปี 1905

บาจาขยายกิจการไปตั้งโรงงานในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ส่งออกสินค้าไปทั่วโลก และเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการเริ่มธุรกิจในประเทศไทยในปี 1929 หรือเกือบ 100 ปีมาแล้ว โดยเปิดสาขาแรกที่ถนนเจริญกรุง เพื่อผลิตรองเท้านักเรียนขาย

Bata ธุรกิจรองเท้าที่พังเพราะผู้นำไร้จริยธรรม รอดด้วยการประชุมดีลลับของทายาทรุ่นสาม

Tomáš ยังเป็นผู้นำด้านการตลาด เขาริเริ่มนำวิธีการตั้งราคาแบบจิตวิทยา (Psychological Pricing) ที่ราคาลงท้ายด้วยเลข 9 มาใช้ในช่วงทศวรรษที่ 1920 จนคนเรียกกลยุทธ์การตั้งราคาแบบนี้ว่า ‘Bata Pricing’

ถึงแม้ว่าธุรกิจรองเท้าบาจาจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ Tomáš ไม่ได้คิดเพียงว่าธุรกิจนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่เขาเท่านั้น แต่เขาเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องช่วยส่งเสริมการพัฒนาสังคมได้อีกด้วย

บาจาจึงเป็นบริษัทแรก ๆ ที่นำระบบการแบ่งกำไรให้ลูกจ้าง (Employee Profit-sharing Scheme) มาใช้ในปี 1923 และช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนที่ธุรกิจตั้งอยู่ โดยตั้งเป็นหมู่บ้านรอบ ๆ โรงงานสำหรับคนงาน รวมถึงสร้างโรงเรียนในชุมชนอีกด้วย

Tomáš เสียชีวิตจากเครื่องบินตกในปี 1932 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ขณะนั้น Thomas John Bata หรือ Thomas J. ลูกชายของเขา มีอายุแค่ 17 ปี ยังไม่พร้อมที่จะรับช่วงบริหารธุรกิจต่อ Jan Antonín จึงดูแลกิจการต่อ และขยายธุรกิจรองเท้าออกไปอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ก็ตาม

Bata ธุรกิจรองเท้าที่พังเพราะผู้นำไร้จริยธรรม รอดด้วยการประชุมดีลลับของทายาทรุ่นสาม

Thomas John Bata

เมื่อ Thomas J. บรรลุนิติภาวะ Jan Antonín กลับไม่ยอมส่งต่อธุรกิจให้ ความขัดแย้งระหว่างอากับหลานลุกลามไปถึงศาลและต่อสู้กันอย่างยาวนาน จนในที่สุด ผู้เป็นอาเสียชีวิตไปในปี 1965 และผู้เป็นหลานชนะคดีไปในปี 1966 เมื่อเขาอายุ 48 ปี หลังจากต่อสู้มานาน 19 ปี

ในขณะที่คดีความดำเนินไปนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้น กองทัพนาซีเข้ายึดครองเชโกสโลวาเกีย Thomas J. และครอบครัวจึงอพยพไปแคนาดา เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี 1945 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดอำนาจในเชโกสโลวาเกียและประเทศในยุโรปตะวันออกอื่น ๆ สำนักงานใหญ่ที่เมือง Zlín และโรงงานในประเทศคอมมิวนิสต์ถูกยึดไปเป็นของรัฐ บริษัทจึงตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และต่อมาย้ายอีกครั้งไปที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ในปี 1964

ในด้านครอบครัวนั้น Thomas J. แต่งงานกับ Sonya ในปี 1946 และมีลูกชายชื่อ Thomas George Bata หรือ Thomas G. หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tom Jr. และมีลูกสาวอีก 3 คน ได้แก่ Christine, Monica และ Rosemarie

Thomas J. กับ Sonya ช่วยกันสร้างธุรกิจรองเท้าบาจาขึ้นมาใหม่ในแคนาดา แต่การบริหารธุรกิจของทั้งคู่ค่อนข้างอนุรักษนิยมตามวัฒนธรรมยุโรปตะวันออก ตัวอย่างเช่น ไม่ให้ลูกผู้หญิงทำงานในบริษัทครอบครัว หรือต้องเอ่ยถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้วยนามสกุล

หลังจากที่ Thomas J. ชนะคดีจาก Jan Antonín เขาได้จัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยให้หุ้น 20% เป็นของ Thomas Bata Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อการสาธารณกุศลของครอบครัว ส่วนอีก 80% เป็นของกองทุนทรัสต์ 2 กอง ซึ่งสมาชิกครอบครัวไม่ได้นั่งเป็นกรรมการในกองทุนทั้ง 2 นี้

ในปี 1984 Thomas J. วัย 70 ปี ส่งต่อตำแหน่ง President ให้ Thomas G. ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 36 ปี

Bata ธุรกิจรองเท้าที่พังเพราะผู้นำไร้จริยธรรม รอดด้วยการประชุมดีลลับของทายาทรุ่นสาม

Thomas George Bata

ถึงแม้ว่า Thomas G. จะได้รับแต่งตั้งให้เป็น President ของบริษัท แต่ Thomas J. และ Sonya พ่อกับแม่ของเขาก็ยังไม่ยอมวางมือจากธุรกิจ

ในทางปฏิบัติแล้ว บาจาจึงมีเจ้านายเพิ่มขึ้นเป็น 3 คน โดยเฉพาะ Sonya ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ Thomas J. แก่ลงไปมาก เมื่อ Thomas G. บริหารบริษัทไม่ได้ตามที่ต้องการ มีความขัดแย้งกับแม่บ่อยครั้ง ในสุดเขาเลยลาออกจากการเป็นประธานบริษัทในปี 1993

บริษัทบาจาจ้าง President คนใหม่ ซึ่งเป็นคนจากนอกครอบครัวชื่อ Stan Heath แต่ Thomas J. และ Sonya ก็ยังไม่เลิกจากการบริหารธุรกิจ ทำให้ Heath ผลักดันบริษัทไปในทิศทางที่เขาคิดว่าดีต่อธุรกิจไม่ได้ ในที่สุด Heath ก็ลาออก

หลังจากที่ Heath ลาออกแล้ว Thomas G. กับ Jack Butler ผู้บริหารจากนอกครอบครัวอีกคนที่บริษัทบาจาเพิ่งจ้างให้มาเป็น Chairman พยายามศึกษาถึงปัญหาการบริหารและดำเนินกิจการของธุรกิจ แต่ทั้งคู่ก็โดนขัดขวางโดย Sonya จนสุดท้าย Butler ก็ลาออกไปอีกหนึ่งคน

บริษัทบาจาไม่มีผู้นำไปอีก 3 ปี จนในที่สุดได้จ้าง Jim Pantelidis มาเป็น CEO ในปี 1999 แต่แผนการฟื้นฟูกิจการของ Pantelidis ไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ๆ

Bata ธุรกิจรองเท้าที่พังเพราะผู้นำไร้จริยธรรม รอดด้วยการประชุมดีลลับของทายาทรุ่นสาม

วิกฤตผู้นำ

กว่าทศวรรษที่บริษัทบาจามีปัญหาเรื่องผู้นำธุรกิจ ผลประกอบการก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ชื่อเสียงของบริษัทก็มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหากับคนงานของบริษัท

เดิมทีเดียวนั้น บริษัทบาจาตั้ง ‘Bata-ville’ ซึ่งเป็น Factory Town หรือโรงงานที่เป็นชุมชนสำหรับคนงาน มีอยู่ 19 แห่งใน 12 ประเทศ แต่ละแห่งมีบ้านพัก โรงเรียน โรงพยาบาล และมีชื่อ Bata ในชื่อชุมชนด้วย เช่น Batanagar ในอินเดีย Bataville ในฝรั่งเศส Bata-Kolonie ในสวิตเซอร์แลนด์ Batadorp ในเนเธอร์แลนด์ 

เมื่อบริษัทพยายามลดต้นทุนด้วยการปิดโรงงานในฝรั่งเศสและย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า ความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงานจึงประทุขึ้น ลูกจ้างรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้ง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวบาจาอีกต่อไป ถึงขั้นเป็นข่าวขึ้นหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์

Thomas G. ต้องการแก้ปัญหานี้โดยการปลด Jim Pantelidis ออกจากตำแหน่ง CEO แต่เขาทำไม่สำเร็จเพราะสมาชิกครอบครัวไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัท ในขณะที่กรรมการบริษัทที่เป็นคนจากนอกครอบครัวมีความลังเล ในที่สุด พี่น้องรุ่นสามทั้ง 4 คนที่นำโดย Thomas G. Bata เห็นว่าต้องมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อกอบกู้ธุรกิจ โดยให้อำนาจบริหารบริษัทกลับมาอยู่ในมือของสมาชิกครอบครัวอีกครั้ง

Bata ธุรกิจรองเท้าที่พังเพราะผู้นำไร้จริยธรรม รอดด้วยการประชุมดีลลับของทายาทรุ่นสาม

The Geneva Conspiracy

ปี 2001 4 พี่น้องทายาทรุ่นสามได้มาประชุมกันที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และหารือกับที่ปรึกษาจากนอกครอบครัว ที่ประชุมได้ร่างโครงสร้างการถือหุ้นและการกำกับดูแลกิจการธุรกิจครอบครัวใหม่

การแอบพบปะหารือนี้ ต่อมารู้จักกันว่าเป็น ‘The Geneva Conspiracy’ หรือการสมรู้ร่วมคิดที่เจนีวา

พี่น้องทั้ง 4 นำเสนอแผนการปรับโครงสร้างบริษัทให้แก่ Thomas J. และ Sonya พ่อกับแม่ของพวกเขา และผู้ดูแลกองทุนทรัสต์ทั้ง 2 แห่ง คราวนี้ Thomas J. กับ Sonya ยินยอมทำตามข้อเสนอของลูก ๆ ส่วนผู้ดูแลทรัสต์ก็โล่งใจที่ไม่ต้องรับผิดชอบหา CEO และกรรมการใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากในยามที่ธุรกิจตกต่ำ

หลังจากกระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นในปี 2002 พี่น้องทายาทรุ่นสาม 4 คนกลายเป็นผู้ถือหุ้น 80% ในบริษัทบาจาแทนกองทุนทรัสต์ มีการเปลี่ยนแปลงให้มีกรรมการบริษัท 7 คน โดย 3 คนเป็นคนในครอบครัว ส่วนอีก 4 คนเป็นคนนอก Thomas G. รับตำแหน่งเป็น CEO ชั่วคราว และเป็น Chairman หลังจากที่บริษัทได้ CEO มืออาชีพจากนอกครอบครัวมาบริหารกิจการ

บริษัทบาจายังได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา กลับไปยังทวีปยุโรป โดยสำนักงานใหม่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนผู้บริหารรุ่นที่ 2 คือ Thomas J. Bata และ Sonya ภรรยา ก็วางมือจากธุรกิจ ต่อมา Thomas J. เสียชีวิตในปี 2008 เมื่อมีอายุได้ 93 ปี ส่วน Sonya เป็นกรรมการของมูลนิธิเพื่อสาธารณกุศลของบาจา จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2018 ขณะอายุได้ 91 ปี

Thomas Archer Bata

ปัจจุบันทายาทรุ่นสี่ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารธุรกิจของตระกูลแล้ว โดย Thomas Archer Bata หรือ Thomas A. ลูกชายของ Thomas G. ผ่านงานดูแลธุรกิจในประเทศชิลี ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจ และต่อมาได้เป็น Chief Marketing Officer (CMO) ดูแลการตลาดของบาจาทั้งโลก ในขณะที่ Charlotte น้องสาวของ Thomas A. เป็นบล็อกเกอร์ด้านแฟชั่นที่นำเอาเครื่องแต่งตัวแบรนด์หรูมาจับคู่กับรองเท้าบาจา

ถึงแม้ว่าทายาทรุ่นสี่จะยังคงมีบทบาทในการบริหารธุรกิจครอบครัวไปอีกหลายปี และการส่งต่อธุรกิจสู่รุ่นต่อไปจะยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่ Thomas A. ยืนยันว่าผู้นำรุ่นห้าของบาจาจะไม่ได้ชื่อ Thomas อีกต่อไป เพราะเขาจะไม่ตั้งชื่อเช่นนี้ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ลูก และเพิ่มความหลากหลายให้กับครอบครัวบาจา

เมื่อทายาทมีบทบาทสำคัญ

ธุรกิจครอบครัวบาจาผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง ทั้งการยึดครองของกองทัพนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และการยึดครองของระบอบคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น แต่ธุรกิจก็ปรับตัวอยู่รอดมาได้

สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจรองเท้าบาจาตกต่ำ ทั้งที่สถานการณ์ทางการเมืองในโลกกลับมาสงบนิ่งและเอื้อต่อการทำธุรกิจแล้วในยุคหลังสงครามเย็นกลับเกิดจากภายในครอบครัวบาจาเอง ทั้งโครงสร้างการบริหารที่ปิดกั้นการมีบทบาทของทายาทรุ่นสาม รวมถึงการไม่ปล่อยวางของผู้นำรุ่นสอง

การพลิกฟื้นธุรกิจบาจาจากวิกฤตผู้นำเกิดขึ้นได้ก็เพราะทายาทรุ่นสามเปลี่ยนจากการเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีบทบาทในการดูแลกิจการ (Passive Shareholders) เป็นผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธุรกิจ (Active Shareholders)

ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจของทายาทผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ ในการบริหารธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง
  • “Bata Shoe: A Struggle for Strategy” in Family Wars: Stories and Insights from Family Business Freuds” by Grant Gordon and Nigel Nicholson, London: Kogan Page Limited, 2011. 
  • www.businessworld.in/article
  • trade-off.cz/clanky
  • worksthatwork.com/6/bata
  • www.azuremagazine.com/article
  • www.rotman.utoronto.ca/-/media/Files
  • commons.wikimedia.org/wiki
  • bambooinnovator.com/2015/09/08
  • alchetron.com
  • www.livemint.com/Leisure
  • www.parkland.ca/about-parkland/leadership/jim-pantelidis
  • www.theguardian.com/artanddesign/2016/sep/08
  • www.facebook.com/Bata
  • www.theglobeandmail.com/news/national
  • www.colours.cz/artists/thomas-archer-bata-en
  • board.postjung.com/1369680
  • www.hindustantimes.com/business-news

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต