“ดีที่เรามาคุยกันวันนี้เลย เพราะถ้ามาช้ากว่านี้คงไม่มีพริกไทยให้ลองชิมแล้ว”

เราเจอ บัณฑิต ภิรมย์ทอง ที่บูทในงาน ‘สินค้าเด่น อัตลักษณ์เมืองใต้’ ก่อนหน้านี้เราอยากเข้าไปที่บูทวันอาทิตย์ แต่บัณฑิตนัดให้เข้ามาคุยกันวันเสาร์ดีกว่า ถ้ามาช้ากว่านี้พริกไทยตรังคงไม่มีเหลือให้เราลองชิมแน่นอน เพราะพริกไทยของเขาขายดิบขายดีจนต้องเติมสต็อกจากตรังถึงกรุงเทพฯ กันอีกรอบ 

บัณฑิตเป็นรุ่นพี่มหาวิทยาลัยเดียวกันกับเรา เขาเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ทำงานต่อในโรงงานอุตสาหกรรมที่กรุงเทพฯ อยู่ 25 ปี จากนั้นจึงผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว และตอนนี้เขาเป็นเจ้าของ ‘บ้านสวนมรดก พริกไทยตรัง’ แปลงพริกไทยออร์แกนิกที่แรกของจังหวัดตรัง และเป็นแห่งแรกในจังหวัดที่ผลิตพริกไทยพรีเมียมจนได้ตราการันตีมาตรฐานสากลมาครอง

บัณฑิต ภิรมย์ทอง

บัณฑิตจากบ้านเกิดมานานกว่า 25 ปี เขาจึงวางแผนเกษียณตัวเองตั้งแต่อายุ 45 แล้วตั้งใจกลับมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับที่บ้าน

“ก่อนพ่อจะเสีย พ่อบอกกับเราว่าเมื่อไหร่ที่กลับบ้าน ต้องกลับมาสร้างความเจริญให้ที่บ้านด้วย” 

ประโยคจากพ่อที่คอยเตือนใจบัณฑิตให้คิดถึงการกลับบ้านอย่างถี่ถ้วน ไม่เพียงแค่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องนึกถึงประโยชน์ที่คนรอบข้างจะได้รับด้วย เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนที่ดินมรดกที่พ่อแม่เคยทำสวนยางพาราให้กลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์พริกไทยตรังพันธุ์พื้นเมือง และกลายเป็นฮีโร่โมเดลของการทำเกษตรจังหวัดตรังไปในที่สุด

“ปู่กับย่าซื้อที่ดินตรงนี้ไว้เมื่อ 80 ปีที่แล้ว และพ่อแม่เราก็รับช่วงต่อเมื่อ 70 ปีที่แล้วและทำเป็นสวนยางพารา พอเรารับผืนดินมรดกตรงนี้มา เราตัดสินใจล้มสวนยางพารา เพราะราคายางตกต่ำมาก ถ้าเรายังย่ำอยู่ที่เดิม ผลลัพธ์คงเป็นแบบเดิมอย่างที่เคยเห็นมาตั้งแต่เรายังเด็กแน่นอน 

“เราศึกษาจนค้นพบวิธีทำเกษตรที่คุ้มค่า คือการทำเกษตรอินทรีย์ และยังค้นพบว่าตรังมีพริกไทยพื้นถิ่นที่เคยโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย”

และนี่คือจุดเริ่มต้นของคนกลับบ้านเกิด ผู้อยากขุดรากอัตลักษณ์ของดีที่แท้จริงของเมืองตรัง ให้กลับมามีชีวิตในสายตาคนทั้งโลกอีกครั้ง

แปลงพริกไทยที่โอบล้อมด้วยทะเลและภูเขา

การเกิดขึ้นของบ้านสวนมรดกพริกไทย ใช้ระยะเวลาฟื้นฟูจนเป็นรูปเป็นร่างใน 4 ปี แต่ในช่วง 2 ปีแรก บัณฑิตต้องหัวหมุนอยู่ไม่น้อย เพราะขณะนั้นเขายังคงทำงานประจำที่กรุงเทพฯ และต้องเจียดเวลาเพื่อกลับบ้านไปฟื้นฟูผืนดินที่เคยทำเกษตรเคมีมาก่อน

ที่ดินเดิมของครอบครัวมีขนาด 7 ไร่ ยุคนั้นถ้ายังทำสวนยางพารา รายได้ต่อปีคือราว 30,000 บาท พ.ศ. 2562 ครอบครัวเริ่มคุยกันเรื่องการปรับพื้นที่ เมื่อโค่นสวนยางพาราแล้ว บัณฑิตได้ทุนจากการขายไม้ยางมาราว 300,000 บาท

วิธีฟื้นฟูดินจากการทำเกษตรเคมีให้กลายเป็นดินธรรมชาติ เริ่มจากการล้มสวนยางพาราของพ่อแม่ แล้วนำปอเทืองมาปลูกแทนทั้งสวน จากการหาข้อมูลอย่างละเอียด บัณฑิตเห็นว่าปอเทืองคือพืชที่ช่วยปรับปรุงดินได้ดีมาก เพราะถ้าไถกลบหลังปลูก ปอเทืองจะกลายเป็นปุ๋ยสดที่ให้สารอินทรีย์ต่อดินอย่างดี ทำให้ดินมีสารอาหารพร้อมสำหรับลงต้นไม้นานาชนิด

“หลังจากเตรียมดินดีแล้ว ต้องมาคิดต่อว่าดินตรงนี้ควรปลูกพืชอะไรดี และลักษณะภูมิประเทศเป็นยังไง เราค้นพบว่าดินของตรังเหมาะกับการปลูกพริกไทย โดยเฉพาะบริเวณผืนดินของบ้านเราที่อยู่ระหว่างภูเขากับทะเล มีลมทะเลและลมภูเขาหมุนเวียนอยู่ตลอด”

ธรรมชาติของพริกไทยชอบดินร่วนซุยที่มีสารอินทรีย์เยอะ ๆ ต้องการน้ำพอสมควร แต่ก็ไม่ควรให้เยอะเกิน เพราะรากอาจขึ้นราได้ง่าย ซึ่งดินจังหวัดตรังเป็นดินลูกรังอยู่แล้ว ยิ่งบัณฑิตปรับให้เป็นดินตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ จึงยิ่งเหมาะกับการปลูกพริกไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ บัณฑิตยังมองในมุมประวัติศาสตร์ เพราะแท้จริงแล้วพริกไทยอยู่กับคนตรังมานาน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของพริกไทยสยามอีกด้วย 

“เมื่อก่อนแม่เราเอาพริกไทยจากบ้านย่ามาปลูกไว้หน้าบ้านอยู่ 2 ต้น จำได้ว่าเวลาผลสุกจะแดงเต็มต้นเลย เราเลยศึกษาต่อ และเห็นว่าบ้านเรามีพริกไทยป่า แต่เป็นพริกไทยพื้นบ้าน เรียกว่า ‘พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน’ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นเขาส่งออกไปขายที่ประเทศอังกฤษ จนได้ชื่อว่า Trang Pepper”

สมัยรัชกาลที่ 5 ตรังปลูกพริกไทยแทบทั้งจังหวัด ส่งออกทางท่าเรือกันตังไปที่ปีนังซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคนั้น แต่ท้ายที่สุดพริกไทยพื้นเมืองตรังก็หายไป บัณฑิตอธิบายว่าเป็นเพราะการเข้ามาของยางพารา คนตรังพากันล้มสวนพริกไทย เพราะการทำสวนยางพาราง่ายกว่าการปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน 

ถึงกระนั้น พริกไทยก็ไม่ได้หายไปจากจังหวัดตรัง เพียงแต่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านทุกหลังมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงมีเกษตรกรไม่กี่คนที่ยังคงปลูกพริกไทยตรัง แต่ก็เพื่อบริโภคและจำหน่ายกันเองในวงแคบ

ในเมื่อตรังมีของดีประจำถิ่นที่ไม่เหมือนใคร เท่านี้ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอให้บัณฑิตเริ่มชุบชีวิตอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตรังขึ้นมาอีกครั้งแล้ว

“ถ้าเอาสายพันธุ์พริกไทยพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศอย่างพันธุ์ซีลอนหรือซาราวักมาปลูก เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะทนน้ำ ทนแดด ทนฝน อย่างสายพันธุ์ปะเหลียนหรือไม่ เพราะลักษณะของถิ่นกำเนิดมีผลอย่างต่อการเจริญเติบโตของมัน ดังนั้น เราอยู่ตรังก็ควรปลูกของดีพื้นถิ่นบ้านเรานี่แหละ”

จากนั้นบัณฑิตจึงเริ่มค้นหาเมล็ดปลูกของพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนแท้ ๆ กระทั่งได้เจอรุ่นน้องที่กำลังเพาะเมล็ดพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดตรังเริ่มสนใจผลักดันสินค้า GI หรือ Geographical Indication ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ทำจากวัตถุดิบอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่น รวมถึงลักษณะเฉพาะที่เกิดจากภูมิปัญญาและภูมิศาสตร์เฉพาะพื้นที่นั้น ๆ ด้วย 

การพบกับรุ่นน้องของบัณฑิตและการเข้าถึงของเทรนด์สินค้า GI คือจังหวะที่ลงตัว พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนจึงได้รับการผลักดันให้เป็นสินค้า GI ของจังหวัดตรังอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 4 ปี

ชุบชีวิตพริกไทยให้มีเอกลักษณ์

ช่วง 2 ปีแรกของสวนพริกไทยตรังแปลงนี้เริ่มต้นที่การปลูก 50 หลัก แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเป็นหลักร้อยในปีถัดไป ซึ่งผลผลิตในปีแรกได้ผลดก เมล็ดสวย เห็นได้ชัดว่าได้รับสารอาหารเต็มเปี่ยมจากดินที่ดี บัณฑิตจึงอยากทำให้ผลผลิตจากที่ดินมรดกของเขากลายเป็นสินค้าพรีเมียม 

ในช่วงปีที่ 2 ของการทำแปลง ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) ซึ่งสนใจเรื่องพืช GI อยู่แล้ว จึงเริ่มเข้ามาช่วยเหลือด้านการทำแบบทดสอบสารอาหารและคุณสมบัติพิเศษที่อยู่ภายในพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ซึ่งผลการทดสอบพิสูจน์แล้วว่าพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนเป็นพริกไทยท้องถิ่นคุณภาพเพียงพอต่อการเป็นพืช GI ประจำจังหวัดตรัง

“ในขณะนั้นจันทบุรีเองก็จดพริกไทย GI เหมือนกัน แต่จดด้วยพันธุ์ซาราวัก ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากมาเลเซีย เพราะพริกไทยพันธุ์พื้นถิ่นของจันทบุรีนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ต่อไม่ได้ เนื่องด้วยฝักมีขนาดสั้น ขณะที่พริกไทยตรังเป็นฝักยาวสวย เมล็ดเต็มฝัก กลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ เหมาะกับการแปรรูปเชิงพาณิชย์ และเหมาะสําหรับการปลูกในพื้นที่จังหวัดตรังเท่านั้นด้วย”

คุณสมบัติที่บัณฑิตว่ามาล้วนเพียงพอต่อการเป็นพืช GI ของตรัง แต่พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนยังซ่อนความพิเศษไว้มากกว่านั้น และมากพอที่จะเป็นสินค้าพรีเมียมสำหรับส่งออก

แล้วพริกไทยตรังกับพริกไทยจันทบุรีต่างกันยังไง – ไม่ใช่แค่เรา แต่เชื่อว่านี่คือคำถามที่ใคร ๆ ต่างก็สงสัย 

เพื่อให้มีหลักฐานอธิบายอย่างชัดเจน บัณฑิตจึงนำพริกไทยตรังของตนไปขอทุนจากทีมวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติกับสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีคุณภาพระดับส่งออก จนได้ข้อสรุปว่า 

“พริกไทยตรังมีสาร Piperine สูงกว่าของจันทบุรี และยังสูงกว่าพริกไทยกัมปอต ซึ่งเป็นสัญชาติกัมพูชาที่เคยมีคนบอกว่าดีที่สุดในโลก Piperine เป็นสารให้ความเผ็ดและมาพร้อมกับกลิ่นหอม ด้วยเหตุนี้ พริกไทยตรังจึงทั้งเผ็ดและหอมกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบได้ในท้องตลาด”

ข้อดีของการที่สารให้ความเผ็ดมีปริมาณสูง ทำให้ผู้บริโภคตั้งแต่โรงงานที่ต้องการใช้พริกไทยเป็นส่วนผสม ร้านค้า หรือเชฟที่ต้องใช้ปรุงอาหาร ได้ใช้ในปริมาณที่น้อยลงแต่คุณภาพคับแน่น แม้ว่าพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนราคาสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ในตลาด แต่บัณฑิตการันตีว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ต่างจากต้นทุนเดิมเลย เพราะแม้จะซื้อพริกไทยในราคาแพงขึ้น แต่ปริมาณในการใช้น้อยลง และยังเก็บเอาไว้ใช้ได้นาน ยิ่งไปกว่านั้นยังคุ้มค่าในแง่ประโยชน์ที่ได้รับจากพริกไทยหอม ๆ คุณภาพดีที่ปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็น

“ล่าสุดเราเจอสารอีกตัวในพริกไทยตรัง เป็นสารสําคัญซึ่งสายพันธุ์อื่นไม่มี นั่นคือกรดแกมมาไลโนเลนิก (Gamma-Linolenic Acid) สรรพคุณช่วยย่อยสลายลิ่มเลือดในสมอง ทำให้พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนเป็นชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีสารนี้ ซึ่งน่าจะมาจากคุณสมบัติของพันธุ์ท้องถิ่นและดินที่เราปลูก ตรงนี้ถึงยิ่งตอกย้ำความเป็น GI เลย”

แม้ว่าเรากำลังพูดคุยกันในเชิงหลักการเสียส่วนใหญ่ แต่ต้องยอมรับว่าบัณฑิตคือคนกลับบ้านคนหนึ่งที่แพสชันล้นเหลือ ทุกกระบวนชุบชีวิตพริกไทยตรังเกิดขึ้นได้จากความหวงแหนบ้านเกิด การเห็นคุณค่าของอัตลักษณ์ในท้องถิ่นของตัวเอง และเอาความรู้จากการทำงานในสายงานวิศวกรตลอด 20 กว่าปีมาปรับใช้กับการฟื้นฟูที่ดินมรดกได้อย่างดีด้วย

พริกไทยพื้นถิ่นเกรดพรีเมียม

“ตอนที่คุยกับทีมวิจัย มทร.ศรีวิชัย เขาถามว่าเราต้องการอะไรจากการวิจัยครัั้งนี้ เราเลยตอบไปว่า ผมต้องการทําให้พริกไทยตรังขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาทขึ้นไป”

หลังได้ยินประโยคนี้เราเองก็อึ้งไปเหมือนกัน เพราะกำลังประมวลผลว่าจะมีพริกไทยแบบไหนกันที่ขายได้ในราคาสูงขนาดนี้ 

“เรารู้คุณสมบัติขนาดนี้แล้ว จะให้ขายพริกไทยดำแข่งกับตลาดจันทบุรีที่เขาขายกิโลกรัมละ 300 ก็คงไม่ได้ เราเลยเบนเข็มมาทำพริกไทยพรีเมียม ด้วยการทำพริกไทยแดง”

ปกติแล้วฝักพริกไทยจะสุกแบบไล่ระดับสีกัน อย่างสีเขียวคือผลดิบและสีแดง ๆ ส้ม ๆ ที่เป็นผลสุก พริกไทยที่อบแล้วจึงได้ออกมาเป็น 3 ประเภท​ คือพริกไทยดำ พริกไทยขาว และพริกไทยแดง 

พริกไทยดำมีกลิ่นหอมฉุน ทำมาจากผลดิบสีเขียว พริกไทยประเภทนี้มักนำไปทำเป็นอาหารคาว ส่วนพริกไทยขาวมีกลิ่นคล้ายถั่ว กะเทาะเปลือกนอกออกจนเหลือแค่เม็ดสีขาวด้านใน และพริกไทยแดงมีกลิ่นหอมละมุนเหมือนผลไม้ ทำจากพริกไทยผลสุกสีแดง มีความหวานจากเปลือกสีสุกที่มีน้ำตาลอยู่ จึงมักนำไปปรุงเป็นของหวานหรือเมนูที่ต้องการรสเผ็ดปนหวาน

แล้วทำไมพริกไทยแดงจึงจัดว่าเป็นพริกไทยพรีเมียม – นั่นก็เพราะมีไม่กี่ที่ในโลกที่ปลูกได้ และแน่นอนว่าพริกไทยระดับโลกอย่างพริกไทยกัมปอตของกัมพูชาก็ปลูกพริกไทยแดงส่งขายทั่วโลกมาก่อนแล้ว

“เราเป็นคนเริ่มต้นทําพริกไทยพรีเมียมของตรัง ถ้าพันธุ์กัมปอตทําพริกไทยแดงได้ ฉะนั้น ของตรังก็ต้องทำได้สิ กระบวนการให้ได้พริกไทยก็มีขั้นตอนหลัก ๆ คือการอบและตากแห้ง ซึ่งหลังจากการอบ เราได้พริกไทยแดงและพริกไทยดำออกมา แต่พอเอาไปตาก กลายเป็นว่าทุกเมล็ดเปลี่ยนเป็นพริกไทยดำ เลยหาข้อมูลต่อจนพบว่าการทำพริกไทยแดงของกัมปอตเขาใช้พาราโบลาโดมตากแห้ง เพื่อไม่ให้พริกไทยโดนแสง ขณะที่พริกไทยดําโดนแสงได้ เราก็ปิ๊งไอเดียเลย”

บัณฑิตจึงกลายเป็นเจ้าของพริกไทยแปลงแรกของจังหวัดตรังที่ผลิตพริกไทยแดงได้ ด้วยตู้อบลมร้อนที่ออกแบบเอง และส่งแบบให้กับทางทีม มทร.ศรีวิชัย จนได้ตู้อบลมร้อนที่ใช้กระจกใสครึ่งซีก อบได้ครั้งละ 100 กิโลกรัม มาพร้อมกับระบบไฮบริดที่ตอนกลางวันตากด้วยแสงอาทิตย์ ส่วนตอนกลางคืนอบด้วยฮีตเตอร์ ฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นจังหวัดฝนแปดแดดสี่ แต่พริกไทยตรังก็ไม่หวั่น

เมื่อได้พริกไทยแดงสมใจแล้ว ก้าวต่อไปคือการทำให้พริกไทยตรังให้เป็นที่รู้จักในท้องตลาดมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้หน่วยงานราชการและกระทรวงพาณิชย์จังหวัดต่างเข้ามาช่วยดูแลด้านการตลาด เชื้อเชิญให้บัณฑิตไปออกบูทในงานต่าง ๆ เรียกได้ว่าพาของดีของบ้านเกิดไปขายความดีงามกันให้จุใจ เพราะนอกจากนักลงทุน เชฟชื่อดัง และห้างร้านต่าง ๆ ผู้บริโภคทั่วไปก็สนใจซื้อขายพริกไทยตรังไม่แพ้กัน

ช่วงแรกของการออกบูท พริกไทยตรังออกแบบบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบบรรจุขวดและซีลสุญญากาศในซองคราฟต์ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าไปในตัว โดยทำขายออกมาเป็นพริกไทยดำ พริกไทยขาว พริกไทยแดง และพริกไทยเมดเลย์

พริกไทยเมดเลย์ คือการมัดรวมพริกไทยดำ-ขาว-แดง มาอยู่รวมกันในถุงเดียว

“การเพิ่มมูลค่าทำให้เราขายกิโลกรัมละ 600 – 800 บาท ขณะที่เกษตรกรทั่วไปขายได้กิโลกรัมละ 300 บาท อย่างที่บอกว่าพริกไทยเรามาจากสวนเกษตรอินทรีย์ เราคัดสรรทุกเมล็ด และดีต่อสุขภาพแน่นอน เราขายพริกไทยแดงในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท จึงทำเป็นเมดเลย์ในราคา 2,000 บาท เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น”

แม้ว่าตัวเลือกจะมีมากขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยังคงลังเลที่จะชิมเมล็ดพริกไทยแบบเต็มคำ บัณฑิตจึงแก้ปัญหาด้วยการนำพริกไทยไปสร้างสรรค์เป็นเมนูต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงง่ายขึ้น ขยายโอกาสให้คนได้รู้จักของดีเมืองตรังเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นด้วย

เมนูที่เราได้ชิมคือ ‘ลูกชิ้นปลาพริกไทยตรัง’ กลิ่นหอมของพริกไทยตีเข้าจมูกตั้งแต่ตอนตัก ซึ่งกลิ่นนั้นหอมเข้มไม่เหมือนพริกไทยที่คุ้นเคย ส่วนรสชาติก็เผ็ดซ่านถูกใจ อีกเมนูคือ ‘ขนมเปี๊ยะพริกไทยตรัง’ ก็อร่อยนัวไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีเต้าส้อพริกไทย ลูกอมพริกไทย และขนมน้ำตาลที่ทำร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย 

“ตอนนี้แปลงของเรากลายเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการทําเกษตรอินทรีย์ทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน เพราะเราปลูกพืชอื่น ๆ ในแปลงนี้ด้วย และกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งในอนาคตอันใกล้อยากให้ที่นี่เป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของตรัง”

บ้านสวนมรดก พริกไทยตรัง เป็นแปลงเกษตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งจังหวะชีวิตคลื่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาหาบัณฑิต คือโอกาสที่จะได้รับตราการันตีมาตรฐาน EU Organic หรือมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะการันตีให้เมื่อแปลงปลูกนั้น ๆ ผ่านการตรวจสอบว่าทุกกระเบียดนิ้วของกระบวนการผลิตปลอดสารเคมี หากบ้านสวนมรดก พริกไทยตรัง ผ่านการรับรองเแล้ว ของดีจากจังหวัดนี้ก็ส่งขายในสหภาพยุโรปได้สบาย และยังเพิ่มโอกาสให้คนไทยเริ่มสนใจและสนับสนุนของไทยแทนการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและกัมพูชาได้ด้วย

พริกไทย (และ) ตรังในอนาคต

คุยกันมาถึงตรงนี้ บัณฑิตย้ำกับเราเป็นระยะว่าทุกกระบวนการเกิดจากการปรับความรู้จากวิชาชีพมาใช้กับภูมิปัญญาบ้านเกิด แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนี้ได้ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่เข้าใจกระบวนการทำเกษตรและโรงงาน

“เราประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปยังไม่รู้ว่าต้องทำยังไง หรือไม่รู้แม้แต่เรื่องกรอกเอกสาร จะไปสร้างโรงงานแปรรูปก็ทำไม่เป็น เขียนแบบก็ทำไม่เป็น หน่วยงานราชการเองก็ไม่ได้มีเวลายื่นมือเข้าไปช่วยมากมาย ตัวเราเองที่มีความรู้เอามาปรับใช้ได้เลยลงมือทำเองก่อนใคร แล้วค่อยให้หน่วยงานราชการมาสนับสนุนต่อ เรากลายเป็นฮีโร่โมเดลของตรัง” 

การเป็นฮีโร่โมเดล ทำให้บ้านสวนมรดก พริกไทยตรัง เป็นศูนย์การเรียนรู้สำคัญ คอยให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจในพริกไทยและเกษตรอินทรีย์ จนสร้างแรงกระเพื่อมและกระตุ้นให้หน่วยงานราชการจังหวัดหันมาสนับสนุนนโยบายการเกษตรอินทรีย์ในจังหวัด และเข้าไปผลักดันพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำเกษตรอินทรีย์

อย่างที่บัณฑิตบอกว่านี่คือความสำเร็จแบบก้าวกระโดด เราเองก็เห็นด้วยเช่นนั้น แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าเขายังมีเป้าหมายใหม่ต่อพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนอีกไหม

“เรามองเรื่องตลาดออร์แกนิกเพิ่มนะ อย่างตลาดที่เชียงใหม่เขาก็เริ่มสนับสนุนสิ่งนี้แล้ว และเราอยากเพิ่มสินค้าแปรรูปพริกไทยด้วย เช่น จับมือกับโรงงานแปรรูปปลา โรงงานหมูยอ โรงงานเครื่องแกง รวมถึงในกลุ่มสมุนไพรและอาหารเสริมด้วย เรามุ่งเรื่องส่งออกยุโรป-สหรัฐฯ และสุดท้ายคือกำลังเตรียมองค์ความรู้เพื่อส่งต่อมรดกนี้ให้ทายาทรุ่นต่อไป”

บัณฑิตว่าพร้อมเปิดรูปเหล่าทายาทของเขาให้เราดู เป็นภาพที่ลูก ๆ หลาน ๆ ทำสวนกันอย่างขะมักเขม้นด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม

“ทำตรงนี้ 4 ปี เราได้ความสบายใจและภูมิใจที่ได้กลับไปพัฒนาพื้นที่ที่พ่อแม่ส่งต่อให้ เดิมทีที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม สูงสุดก็เป็นได้แค่หัวหน้า ไม่มีทางได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่วันนี้เราเป็นเจ้าของกิจการได้ด้วยมรดกของพ่อแม่ เรารู้ตัวตนตลอดว่าเป็นลูกชาวสวน พ่อแม่ก็ส่งเราเรียนได้เพราะทำสวน เลยย้อนกลับมาตอบว่าความสุขที่แท้จริงของเราอยู่ที่ไหน คำตอบคืออยู่ที่บ้านเรานี่เอง

“การกลับบ้านครั้งนี้ แม้เราจะไม่ได้ทำสวนยางพาราต่อ แต่เราสร้างความยั่งยืนให้ตัวเองและส่งต่อให้ลูกหลานได้ด้วยเกษตรอินทรีย์ ด้วยพริกไทยบ้านเรา ซึ่งเป็นไปตามที่พ่อฝากฝังเอาไว้เสมอว่า 

“เมื่อไหร่ที่จะกลับบ้าน เราต้องกลับมาสร้างความเจริญให้ที่บ้าน ซึ่งในวันนี้ เราทำตามที่พ่อฝากไว้ได้แล้ว”

Facebook : บ้านสวนมรดก พริกไทยตรัง มะพร้าวน้ำหอม

Writers

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographers

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง