“มานครศรีธรรมราชทั้งที อย่าลืมแวะกินโรตี ‘บังบ่าว’ นะ” เพื่อนคนนครฯ รายหนึ่งได้กล่าวไว้
“ถ้ามาเที่ยวใต้แล้วไม่ได้ไปร้านน้ำชาก็เหมือนยังมาไม่ถึงนั่นแหละ!” คนเดียวกันสำทับในวันที่รู้ว่าเรากำลังมุ่งลงใต้เพื่อตามหาร้านดังตามลายแทงของเขา
น้ำชาและโรตีคือเอกลักษณ์ทางอาหารของแดนด้ามขวานโดยแท้
จะเป็นหน้าปากซอย ท้ายตลาด ริมถนนใหญ่ ใกล้ประตูวัด หรือถัดจากสุเหร่าก็ตามแต่ สถานที่สำคัญซึ่งจะช่วยยืนยันบรรยากาศปักษ์ใต้บ้านเราได้เป็นอย่างดี ก็คือร้านน้ำชาสไตล์ไทย-มุสลิมที่มักตั้งกาน้ำอะลูมิเนียมคอยท่าอยู่บนโต๊ะไม้ เจ้าของร้านเป็นอาบังสวมหมวกกะปิเยาะห์ทรงกลม ยืนชักชาร้อนท่ามกลางกระป๋องนมข้นหวานอยู่หน้าร้าน ก๊ะผู้เป็นภรรยาตีแป้งโรตีเคียงข้าง มีเด็กในร้านคอยเดินเสิร์ฟอาหารคาวหวานตามออร์เดอร์ลูกค้าสูงวัยที่นั่งสุมหัวจิบชา สนทนา พลางสดับเสียงนกร้องอย่างมิรู้หน่าย

บนความธรรมดาของธุรกิจประเภทนี้ ร้านน้ำชาส่วนใหญ่พอใจจะเป็นแค่ร้านเล็กในห้องแถวคูหาเดียว เปิดขายให้เฉพาะชาวบ้านคนรู้จักในท้องถิ่น ไม่คิดขยับขยายร้านไปมากกว่าที่เป็นอยู่
หากก็มีร้านน้ำชาบางร้านที่คิดก้าวข้ามความสามัญธรรมดา ด้วยความเชื่อว่าธุรกิจร้านน้ำชาเติบโตได้มากกว่าร้านเล็ก ๆ แห่งเดียว เมื่อสมาชิกครอบครัวแต่ละคนต่างมีหัวคิด ความกล้า ความทะเยอทะยานมากพอที่จะเปิดสาขาใหม่เพิ่มทีละจุด ๆ จนทั่วนครศรีธรรมราช กลายเป็นแบรนด์ร้านน้ำชาและอาหารมุสลิมร้านหนึ่งที่เลื่องชื่อระบือนามที่สุดในเมืองคอน
นี่คือเรื่องราวของ ‘บังบ่าว’ ร้านน้ำชาของคนตระกูลราชสาร ซึ่ง นัส-วีรวิทย์ ราชสาร ทายาทผู้ก่อตั้งร้าน เผยให้พวกเราฟังถึงกิจการของคุณพ่อที่ดำเนินมานานถึง 3 ทศวรรษ และกำลังฝันใหญ่จะไปไกลถึงระดับนานาชาติ โดยมีลูก ๆ หลาน ๆ ในครอบครัวเป็นฟันเฟือง

บังบ่าวคือใคร
“ร้านครอบครัวผมก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นร้านอาหารมุสลิมครับ” นัสเริ่มเล่าด้วยสำเนียงทองแดงเมื่อเขานั่งลงบนโต๊ะหินอ่อนตัวโตในร้าน
“พ่อผมชื่อ บ่าว-วิศิษฐ์ ราชสาร ครับ ชื่อร้าน บังบ่าว มาจากชื่อพ่อของผมเลย”

คุณพ่อวิศิษฐ์หรือที่ทุกคนคุ้นเคยกับฉายา บังบ่าว เป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม สมัยหนุ่มเคยทำถาดอยู่ที่โรงถาดในจังหวัดกระบี่ พอนายหัวของเขาเสียชีวิตลง บังบ่าวก็หันมาเอาดีด้านการขายน้ำชา ข้าวมันแกง ข้าวมันหุงกะทิ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนภาคใต้ แม้จะได้เรียนสูตรมาไม่มาก แต่ความเป็นคนขยัน ช่างทดลอง กล้าลองผิดลองถูก อาหารและชาสูตรบังบ่าวจึงได้รับการพัฒนาขึ้นตามลำดับ จนเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวเมื่อเขาย้ายมาเปิดสาขาแรกที่นครศรีธรรมราช

“ก่อนที่พ่อจะมาเปิดร้าน คนนครฯ ยังไม่มีร้านน้ำชากันเลย พ่อผมเปิดร้านสาขาแรกที่หน้าโรงแรมไทยโฮเต็ล พ.ศ. 2529 ได้กระแสตอบรับที่ดีมาตั้งแต่นั้น เลยย้ายมาอยู่ที่บวรพลาซ่า เกิดเป็นกระแสอย่างหนักว่า เป็นร้านน้ำชาเจ้าแรก ๆ ในนครศรีธรรมราช” แววตาของนัสเป็นประกายด้วยความชื่นชมยามกล่าวถึงความสำเร็จของพ่อ
“ปัจจุบันบังบ่าวยังแข็งแรงดีอยู่ อายุ 65 ปี พ่อเก่งมากในเรื่องชงชา ในการคุยกับลูกค้า เลยทำให้ลูก ๆ มีงานทำมาจนถึงทุกวันนี้”
เอาใจใส่ทุกรายละเอียด
จากคนทำถาดสู่นักชงชาและเจ้าของร้านอาหารเจ้าดัง นัสยืนกรานว่าสาเหตุที่ร้านบังบ่าวก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ก็เพราะความเอาใจใส่ที่พ่อแสดงให้ลูกทุกคนได้เห็นผ่านการกระทำของท่าน
“พ่อได้สูตรอาหารมาไม่เยอะครับ ทั้งหมดพ่อเป็นคนคิดเอง คิดแล้วก็ใช้ประสบการณ์แต่ละวันมาปรับแต่ง เอาใจใส่ลูกค้าแต่ละคน พ่อได้คุย ได้บริการอย่างเป็นกันเอง ถึงได้รู้ใจว่าลูกค้าต้องการชาเย็นแบบนี้ ความหวานแบบนี้ มาจนถึงเรื่องหน้าตาอาหาร ศิลปะอาหาร และรสชาติของอาหารที่ได้รับคำชื่นชมเยอะมาก ทั้งหมดต่อยอดมาถึงทุกวันนี้”

ลำดับแรกสุดที่ลูกชายบังบ่าวยกตัวอย่างคือเรื่องของอาหาร ความสะอาดอันมีพื้นฐานมาจากกรอบของศาสนาที่ครอบครัวนับถือ เป็นเสน่ห์มัดใจลูกค้าให้เชื่อมั่นในคุณภาพของเมนูที่ทางร้านทำให้พวกเขารับประทาน
“การตลาดของร้านเราไม่มีอะไรมากครับ เน้นความสะอาดของอาหาร ความสด อาหารมุสลิมแตกต่างจากอาหารอื่น ๆ เพราะขั้นตอนการเชือดสัตว์ต้องสะอาด ต้องมีพิธี ไม่ใช่ทุบตีฆ่าฟันกันง่าย ๆ ต้องรู้จุดอ่อนของสัตว์ จุดที่สัตว์ไม่เจ็บ ช่วยให้ได้เนื้อที่ดี
“อาหารทุกอย่างของเราที่มีเนื้อก็มาจากแบบนี้ ไก่ก็เหมือนกัน ต้องหาไก่ที่ดี การล้าง การถอนขน ไก่เราจะไม่มีขนติดอยู่เลย ความสะอาดนี่แหละที่เป็นจุดเด่นของร้านเรา”

เรื่องความสะอาดไม่ได้จำกัดอยู่แค่เนื้อสัตว์เท่านั้น หากยังรวมไปถึงภาชนะด้วย
“เราจะเปลี่ยนภาชนะใหม่ตลอด ไม่มีภาชนะเก่าเลย จะคอยฟังว่าวันนี้ลูกค้าเขาไม่พอใจเรื่องอะไรบ้าง วิธีการของเราคือทำความเข้าใจว่าคนทั่วไปเขาต้องการอะไร หลัก ๆ ก็ หนึ่ง ต้องการอาหารรสชาติดี สอง ต้องการราคาที่เหมาะสม สาม ต้องการความอิ่มท้อง และสี่ ต้องการบริการที่ดี ทุกอย่างเราให้เขาได้หมด ขาดเหลือหรือผิดพลาดอะไร คุยกันที่หน้าร้านได้ครับ”
กิ่งก้านสาขา
บังบ่าวมีลูกทั้งหมด 5 คน 2 คนแรกเป็นผู้ชาย อีก 3 คนที่เหลือเป็นผู้หญิง นัสเป็นลูกคนรอง ทุกคนเติบโตมากับการเป็นลูกมือคุณพ่อในร้าน เมื่อโตจนเริ่มหยิบจับอะไรได้ บังบ่าวก็จะเริ่มฝึกปรือให้ลูกคนนั้นได้หัดทำตามความเหมาะสมของวัย
“พ่อให้ผมทำงานมาตั้งแต่เด็ก ๆ 7 – 10 ขวบก็ทำแล้ว พ่อผมสอนค้าขายมาตั้งแต่เด็ก ตอน 7 ขวบผมล้างจานทุกวัน จนการค้าขายคือลมหายใจ พอเรียนจบมหาวิทยาลัยกันก็ออกมาสืบทอดธุรกิจของทางบ้าน”

เมื่อลูกแต่ละคนโตจนได้ที่ บังบ่าวก็ไม่คิดจะเก็บพวกเขาไว้เป็นลูกมือในร้านที่บวรพลาซ่าอีกต่อไป หากเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงฝีมือบริหารจัดการร้านของตัวเองตามที่ได้รับการเคี่ยวกรำมาทั้งชีวิต จึงเป็นที่มาของการขยายสาขาออกไปในหลาย ๆ บริเวณรอบเมืองพระธาตุ ชื่อบังบ่าวจึงติดตลาด เป็นร้านที่ใครไปนครศรีธรรมราชเป็นต้องเห็นและลองไปชิมรสชาติกันทั้งนั้น
“ตอนนี้มีประมาณ 10 สาขาครับ” นัสไล่นับนิ้ว “มีสาขาบวรพลาซ่า สาขาคูขวาง สาขาปากนคร สาขาประตูลอด สาขาหน้า ม.วลัยลักษณ์ สาขาอำเภอทุ่งสง สาขาเซ็นทรัล…”
เจ้าของร้านหรือผู้บริหารแต่ละสาขาล้วนเป็นลูกเป็นหลานของบังบ่าว จากเดิมที่มีแค่รุ่นลูก บัดนี้เริ่มมีรุ่นหลานมาสานต่องานของปู่บ้างแล้ว

“สาขาบวรพลาซ่าที่เป็นร้านดั้งเดิมของพ่อ ตอนนี้ให้น้องสาวคนสุดท้องบริหารแทนผมดูสาขาที่ 2 สาขาหน้าพระธาตุ สาขาหน้า ม.วลัยลักษณ์ เป็นรุ่นหลานทำ คือหลานคนหัวปี หลานบังบ่าวมีทั้งหมด 11 คนครับ”
ในการเปิดสาขาใหม่เพิ่มแต่ละสาขา ลูก ๆ ทุกคนจะต้องหารือกัน และนำเรื่องไปปรึกษาขอความเห็นชอบจากพ่อผู้เป็นเจ้าของร้านก่อน หากเพราะวัยที่เพิ่มขึ้น เสริมด้วยประสบการณ์ของคนรุ่นลูกที่สั่งสมไว้มากจนไม่น่าเป็นห่วงแล้ว ผู้เป็นพ่อจึงวางใจให้ลูกได้ดูแลขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
ถึงจะอยู่ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อและรูปวาดใบหน้าของพ่อเป็นโลโก้เหมือนกัน แต่ด้วยความถนัดและหัวคิดริเริ่มที่ต่างกันของลูกหลานแต่ละสาขา เมนูจึงมีความผิดแผกแปลกแยกจากกันบ้าง กระนั้นก็ยังมีเมนูชูโรงที่ไม่ว่าจะหิ้วท้องไปตักตวงความอร่อยจากบังบ่าวสาขาไหนก็ได้เหมือนกันอยู่

“แต่ละสาขามีเมนูต่างกันประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ครับ ที่เหมือนกันแน่นอน คือข้าวมันแกงเนื้อ แกงกุ้ง ข้าวหมกไก่ ซึ่งเป็นส่วนหลักของร้าน ข้าวมันไก่ ซุปเนื้อ ข้าวต้มกุ้ง ไก่ ปลา ผัดไทยหอยทอด โรตี น้ำชา สเต๊กไก่ ประมาณ 12 รายการที่ว่าเป็นเมนูพระเอก-นางเอก
“ถ้าพูดถึงเมนูที่ขึ้นชื่อก็ต้องนี่เลย ชาชักโรตี โรตีก็มีหลายไส้ที่พูดถึงกันทั่วประเทศ เพราะเป็นโรตีตบนุ่ม ๆ ยังมีโรตีภูเขาไฟ โรตีมะพร้าวอ่อน และชาหัวนมสดเป็นชาฟองนม มีข้าวหมก มีซุปเนื้อ แกงแพะ ข้าวหมกแพะ สเต๊กไก่ เยอะมาก อาหารมากกว่า 200 เมนูครับ”
ไม่ได้แข่งขันกับใคร
อย่างที่เราเกริ่นไปเมื่อตอนต้นบทความ น้ำชาและโรตีเป็นอาหารยอดฮิตของพี่น้องชาวใต้ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีร้านอาหารพรรค์นี้อยู่ประปราย นอกจากร้านบังบ่าว ยังมีแบรนด์อื่นที่แตกแขนงแยกสาขาออกไปหลายร้าน เรียกว่าร้านน้ำชามีเยอะรองจากร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์ก็คงได้
“ตอนนี้ในตัวจังหวัดมีประมาณ 700 ร้านได้แล้ว หน้าปากซอยแทบทุกซอยจะมีร้านอาหาร ร้านน้ำชา แล้วก็มีข้าวเหนียว ข้าวมันแกงตามบ้านที่ส่งมาขาย เขาฝึกทำกันเป็นธุรกิจพื้นบ้าน ทุกอำเภอ ทุกตำบล มีร้านแบบนี้หมด เพราะบุคลากรเราเยอะ” นัสคาดการณ์ตัวเลขคร่าว ๆ

คำตอบนี้พานให้เกิดคำถามต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ร้านบังบ่าวจะไม่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจหรือ
“บางคนเขาเห็นร้านเรามีลูกค้าเยอะ เลยมาประกอบธุรกิจร้านอาหารแบบเดียวกัน ลูกน้องส่วนหนึ่งก็ขยับขยายไปทำธุรกิจเหมือนกับเรา บางคนประสบความสำเร็จ บางคนไม่ประสบความสำเร็จ มาจากบังบ่าวก็เยอะแยะครับ
“เมื่อก่อนมีผล แต่ผมคิดว่าเราไม่ได้มีคู่แข่ง ผู้ประกอบการที่เหมือนเรา เขาก็มาทานของเรา เราก็ไปทานของเขา นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีร้านน้ำชามากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทุกคนตื่นเช้ามาก็ต้องดื่มชา กาแฟ กินข้าวแกงตามสั่ง กินสเต๊ก มีอยู่ไม่กี่อย่างวนเวียนกัน น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ากัน”

เพื่อให้ฉลากบังบ่าวอยู่คู่คนคอนต่อไป เจ้าของสาขาหน้าพระธาตุกล่าวว่า เขาจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรหลายอย่างในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ก่อนจะพบว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้า และรู้จักประมาณตนในจุดที่ควรพอ
“วิธีปรับเปลี่ยนของผม คือหาของที่คนเขาชอบไปเรื่อย ๆ ผมชอบทานซุปก็ขายซุป ผมชอบทานข้าวหมกก็ขายข้าวหมก มันก็จะตอบโจทย์หลาย ๆ คนที่เขาชอบอาหารแบบเดียวกับเรา ผมเป็นคนใต้ ชอบแกงมัสมั่น ผมก็ขายแกงมัสมั่นแพะ เมื่อก่อนไม่เคยขาย มีตามงาน ผมก็นำมาขายในร้าน มันเลยก้าวข้ามความกลัวคำว่าธุรกิจไป เพราะผมไม่ได้มีคู่แข่ง ไม่ได้ทำแข่งกับใคร ผมทำกับใจเพื่อให้คนในบ้านผมมีข้าวทาน มีน้ำดื่ม ให้คนรอบข้างผมมีของกิน อยู่ได้เหมือนกับทุก ๆ คน

“ผมมีความสุขในการค้าขาย มีความสุขในการเห็นบุคลากรของผมได้ค้าขาย ได้ทำของกินให้คนได้ทาน จนดำรงชีวิตมาถึงวันนี้ ทุกวันนี้ผมเลยไม่คิดอะไรมาก ขอแค่เปิดร้าน มีน้ำ มีข้าว มีของหวาน ให้คนได้ไปมาหาสู่ ได้แวะทาน ไม่มากก็น้อย ผมเป็นคนช่างแถม แถมเยอะ เห็นลูกค้าเยอะก็จะแถมบางส่วนให้เขาได้ทานด้วย แถมไปขายไปบ้าง ผมได้รับความสุขจากสิ่งที่ทำ ร้านก็อยู่มาได้ถึงวันนี้ครับ”
ก้าวต่อไปของบังบ่าว
ณ วันที่เรานัดคุยกับ ‘บังนัส’ ทายาทคนที่ 2 ของบังบ่าว ร้านน้ำชาของคุณพ่อเขาเปิดขายมาเป็นปีที่ 37 ผ่านการชักชา ตีแป้ง ปรุงรสอาหารมานับจำนวนไม่ถ้วน แม้บางครั้งจะต้องพุ่งชนความล้มเหลวทางด้านตัวเลข แต่ความรักเอาใจใส่ต่อการค้าก็เป็นแรงใจที่พยุงให้เขาและครอบครัวลุกขึ้นสู้ต่อ ทั้งแปรเปลี่ยนเป็นความคิดแง่บวกที่พร้อมชนกับทุกปัญหา ทุกสถานการณ์
“ผมถือว่าอุปสรรคเป็นโอกาส” นัสเล่าเหมือนไม่ได้ยี่หระต่อต้นทุนที่สูญเสียไปมหาศาลในหลายปีก่อนหน้านี้ “อุปสรรคที่มากที่สุดคือ ขายของอยู่ดี ๆ เขามาทำถนนหน้าร้านผม 1 ปี ติดซ้ายติดขวาตั้งแต่สี่แยกยาวไป 1 กิโลเมตร ผมก็ยังขายได้วันละพันกว่าบาท ลูกน้อง 6 – 7 คน ขาดทุนทุกวัน ขาดทุนจนเงินล้านผมหมด ขาดจนผมเหลือแต่ตัว ลูกน้องไม่มีสักคน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เข้าใจหลาย ๆ เรื่อง ทำให้ผมอยู่กับตัวเองได้ อยู่กับลูกค้าได้ ให้ผมมีจิตใจมุ่งหมายจะทำอาหารให้ลูกค้าได้ทาน”

คงต้องขอบคุณบิดาบังเกิดเกล้า ซึ่งเป็นแบบอย่างให้ลูกคนนี้ยึดถือและตั้งใจจะเจริญรอยตาม
“ความขยันของบังบ่าวเป็นไอดอลผม ความขยันของพ่อผมทำให้บุคลากรของบังบ่าวทุก ๆ คนร่วมมือ รวมพลังกันทุกจุด ไม่ใช่เฉพาะพ่อหรือผม ทุกคนช่วยกัน ทุกวันนี้มันขับเคลื่อนโดยธรรมชาติ ทุกคนมีหน้าที่ เราแบ่งเบาภาระให้ลูกน้องแต่ละคนไม่หนัก คนรินน้ำให้ลูกค้าก็รินไป คนปั้นรูปโรตีก็ปั้นไป ตีแป้งก็ตีไป คนหุงก็หุง คนตักก็ตัก คนมาทานก็ทาน ถึงได้รับความสุขครบด้านครับ”
ถึงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าร้านอาหารมุสลิมท้องถิ่นในจังหวัดที่ห่างไกลจะเดินทางมาถึงวันนี้ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ครั้งหนึ่งในงานที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นัสได้รับเชิญเป็นตัวแทนร้านบังบ่าวไปแสดงทักษะการชงชาชัก พร้อมทั้งออกร้านถึงริมทะเลสาบเมืองทองธานี โกยรายได้เข้าร้านถึง 170,000 บาทภายในวันเดียว

อีกหนึ่งความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัวราชสาร คือการที่ร้านบังบ่าวได้เปิดสาขาใหม่ในห้างไอคอนสยาม ชั้น G สำหรับขายข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว และโรตีชาชัก นับเป็นสาขาแรกในกรุงเทพมหานครที่ธุรกิจครอบครัวจากเมืองคอนขยายมาตีตลาดใหม่
“ยังมีน้องใหม่ที่กำลังจะเกิดเร็ว ๆ นี้ คือที่สนามบินนครศรีธรรมราช” ทายาทบังบ่าวแย้มแผนการในอนาคตให้เราฟัง “ก้าวแรกของเราคือก้าวที่ขยายสาขาที่ 2 ก้าวต่อไปคือขยายสาขาสนามบิน ถ้าสาขานี้เกิด ผมว่าสนามบินที่กรุงเทพฯ ก็อีกไม่นาน มันจะต่อยอดโดยอัตโนมัติ เหมือนที่ผมทำสาขาหน้าพระธาตุ ผมไม่มีเงินมาทำ ก็ไปขายของในตลาดหาทุนมาทำ เก็บประสบการณ์มาทำ”
ผู้จุดประกายความคิดที่จะขยายสาขาในสนามบินนี้กลับไม่ใช่บังบ่าวหรือลูกหลานคนใด กลับเป็นกลุ่มลูกค้าคนสนิทที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าของร้านเสียอย่างนั้น

“เป้าหมายเราไม่เคยสร้างเอง แต่เกิดจากลูกค้าจำนวนมากที่เข้ามาทาน เลยมีการสร้างเป้าหมายใหม่เพื่อเป็นฐานรองรับให้กับลูกค้าได้ทุกจังหวัด
“ลูกค้ามาทานข้าว เขาก็เคยพูดกับเราว่า น้อง เปิดสาขาสนามบินนะ พี่ช่วยนะ แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ เราใช้กำลังคนทำอาหาร ใช้วิชาทำอาหาร ใช้เสน่ห์ทุกอย่างในการทำอาหาร ตอนนี้เราเก็บทุนได้แล้ว ประมูลกับสนามบินเองเลย ผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ลงทุนในสนามบิน เผื่อจะแจ้งเกิดในระดับสากลได้ เคยมีลูกค้ากลุ่มใหญ่จากดูไบมาทาน เขามาชวนไปขายข้าวหมกไก่ถึงนครดูไบเลย
“ถ้าผมทำสาขาสนามบินบ้านเกิดผมได้ ความคิดต่อไปของผมก็คือไปทำที่สนามบินกระบี่ เพราะเป็นสนามบินนานาชาติ มันต้องใช้เวลา ทำเลยไม่ได้ วันนี้ลูกค้าทุกคนเปิดโอกาสให้เราแล้ว เป็นลู่ทางให้เราทำมาหากิน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เรา เราก็มีโอกาสจะขยายต่อไป”

เกือบ 4 ทศวรรษแล้วที่ร้านบังบ่าวเพิ่งตั้งไข่จากธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ ที่มีพ่อเป็นผู้นำและผู้ปลูกฝังทักษะการทำงานแก่ลูก มาวันนี้อำนาจในการดูแลร้านได้ถูกผ่องถ่ายจากบังบ่าวตัวจริงสู่ทายาทรุ่นที่ 1 และ 2 เปิดสาขาใหม่เพิ่มทั้งในและนอกจังหวัด โดยไม่ได้มีเคล็ดลับวิเศษวิโสไปกว่าความขยัน ความเอาใจใส่ รวมทั้งความรักในอาชีพที่คุณพ่อ คุณปู่ หรือคุณตาของพวกเขาได้แสดงให้เห็นมาทั้งชีวิต
อะไรที่ทำให้ร้านท้องถิ่นอย่าง ‘บังบ่าว’ ก้าวย่างมาถึงวันที่วางเป้าหมายสู่ระดับสากลได้
นัสยิ้มอิ่มใจพลางยกกำปั้นทุบลงตรงตำแหน่งหัวใจ
“ใจครับผม ใจอย่างเดียวเลย เพราะพ่อผมทำมาเยอะ เห็นพ่อทำมาตั้งแต่เด็ก ทุกอย่างหล่อหลอมให้เรารักในงานนี้ ไปต่ออาชีพอื่นไม่ได้ ต้องมีใจรักในอาชีพติดตัวของครอบครัว”
พูดได้หรือยังว่า บังบ่าว เป็นตำนานร้านดังแห่งเมืองคอน
“ลูกค้าตอบว่าอย่างนั้น คุณก็ตอบผมแล้ว ถ้าร้านผมไม่มีแบรนด์ คุณคงไม่รู้จักผม ไม่ติดต่อขอสัมภาษณ์ผมแน่นอนครับ”
