บ้านไม้สไตล์ล้านนาหรือเรียกอีกอย่างว่าบ้านพื้นถิ่นหลังนี้ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ดึงดูดสายตาด้วยสีดำตั้งแต่รั้ว ประตูหน้าบ้าน เรือนไม้รูปแบบพื้นเมือง และก้อนหิน ต้นไม้ใหญ่สีเขียวสดชื่นแทรกตัวอยู่ระหว่างทางเชื่อมของเรือนใหญ่กับเรือนย่อมที่ตั้งใจให้เป็นห้องนอนของ ตุ๊ก-พรทิพย์ แก้วอยู่ และ บอย-อภิชาติ เจริญสุข เจ้าของบ้าน 

ความน่าสนใจประการหนึ่งของบ้านหลังนี้ คืออาคารภายนอกหรือเรือนไม้ที่สร้างขึ้นดูกลมกลืนกับบรรยากาศเมืองเชียงใหม่ ดีไซน์แบบล้านนาประยุกต์ ใช้สเกลที่ไม่ใหญ่เทอะทะ ใช้ไม้ กระเบื้อง และวัสดุท้องถิ่น โดยช่างพื้นเมืองในการสร้างสรรค์ ทว่าโดดเด่นด้วยการเลือกใช้สีดำครอบคลุมทุกรายละเอียดเมื่อมองจากภายนอก 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

พอเดินเข้าชมพื้นที่ด้านในก็พบว่าสถาปนิกอย่าง เบล-พีระพงษ์ พรมชาติ แห่ง Housescape Design Lab ดีไซน์พื้นที่ของห้องต่าง ๆ และซอกมุมได้ลงตัวมาก จากด้านนอกที่ดูถ่อมตัวแบบอาคารไม้ (ที่เหมือนจะดูเล็ก) แต่พื้นที่ใช้สอยด้านในนั้นใหญ่โตและเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ แม้เป็นเพียงบ้านพักผ่อนตากอากาศ 

และความน่าสนใจมากอีกอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้ คือเจ้าของบ้านทั้งสอง (และลูก ๆ) เป็นคนรักบ้าน รักการใช้ชีวิตในบ้าน และรักการแต่งบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บ้านจะดูผ่อนคลาย อบอุ่น และสะท้อนรสนิยมการใช้ชีวิตของเจ้าของในทุกมิติ 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

บ้านสีดำไม่ธรรมดา 

“ตั้งใจให้เป็นสไตล์บ้านแบบล้านนา เพราะเราสร้างบ้านในชุมชน คือบ้านกรุงเทพฯ เป็นแนวโมเดิร์นทั้งหมด มาอยู่เชียงใหม่ก็อยากให้ได้อารมณ์แบบบ้านพักผ่อนในเมืองเหนือ ตอนคุยกันแรก ๆ ก็บอกสถาปนิกไปว่าอยากได้สไตล์ที่เขาออกแบบอยู่แล้ว เพราะเราเห็นผลงานของเขาที่ชื่อ ‘บ้านเจียงแสน’ จากเฟซบุ๊ก ซึ่งอยู่ ๆ ก็เด้งมาให้เราเห็น เราติดต่อไปหาเขา โทรคุยกัน นัดเจอกัน” 

ตุ๊กเริ่มเล่าเรื่องบ้านด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล จากผู้ที่มาเที่ยวแม่ริมแล้วชอบบรรยากาศ เมื่อเห็นที่ดินติดป้ายประกาศขายจึงซื้อเพื่อทำบ้านพักผ่อน ด้วยสายตาของผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เซ็นจูรี่21 (ประเทศไทย) จำกัด คุณตุ๊กจึงมีมุมมองการเลือกสรรที่อยู่อย่างเฉียบแหลม เป็นที่ดินผืนเล็กริมน้ำ สร้างบ้านขนาดน่ารักสีขาวหนึ่งหลัง และเมื่อมีโอกาสก็ได้ขยายที่ดินเพิ่มในฝั่งตรงข้ามถนน และตั้งใจสร้างบ้านพักผ่อนเพื่อครอบครัวและต้อนรับเพื่อนฝูงอีกหลังหนึ่งในดีไซน์ล้านนา 

เมื่อสถาปนิกเห็นพื้นที่ จึงตั้งใจสร้างให้เป็นสีดำ เพื่อให้เรื่องราวของบ้านมีความย้อนแย้งกับบ้านสีขาว 

“เราเห็นงานเบลจากสื่อมาก่อนแล้ว ชอบอยู่แล้วค่ะ พอมาคุยกัน ไอเดียเขาน่าสนใจ เขาบอกว่าไหน ๆ บ้านหลังแรกเป็นสีขาวแล้ว ตรงข้ามก็สร้างเป็นบ้านดำเลยแล้วกัน ตุ๊กบอกว่าพี่ไม่ติดนะ เพราะจริง ๆ ก็ชอบสีดำ” 

“ใช่ครับ เขาพูดเลยว่าทั้งหลังผมให้เป็นดำทั้งหมดเลยนะ ภายในค่อยออกแบบให้เป็นสีขาว เราก็โอเค” คุณบอยพูดเสริมถึงที่มาของสีดำที่ดึงดูดสายตา 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

เมื่อมีความชื่นชอบผลงานของสถาปนิกเป็นจุดเริ่มต้น เจ้าของบ้านจึงให้อิสระในการออกแบบ พื้นที่ใช้งานและรูปแบบบ้านอย่างเต็มที่ เพียงบอกความต้องการว่าทั้งครอบครัวชอบใช้ชีวิตในบ้าน เป็นครอบครัวที่ติดบ้านมาก และชอบทำอาหารทานกันเอง ครัวและส่วนรับรองแขกจึงขอให้มีขนาดใหญ่ ขอห้องนั่งเล่น ห้องนอนลูกสาวทั้งสอง คือ น้องใจดี และ น้องจริงใจ และมีห้องนอนใหญ่ของคุณตุ๊กกับคุณบอย 

สถาปนิกออกแบบบ้านโดยยึดมั่นปรัชญา คือการใช้วัสดุหลักจากท้องถิ่น ทั้งไม้ กระเบื้องที่สั่งผลิตจากลำพูน และตั้งใจลดการนำเข้าวัสดุที่ผลิตจากโรงงานให้มากที่สุด ที่สำคัญคือใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นหรือสล่าพื้นบ้าน เพื่อคงกลิ่นอายล้านนาในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างการเข้าไม้ การโชว์เนื้อไม้แท้ และเลือกย้อมเป็นสีดำ เพื่อให้ดูร่วมสมัยและสะท้อนบุคลิกของเจ้าของบ้าน 

การวางอาคารของบ้านออกแบบให้เป็น 2 หลัง ลักษณะเป็นตัว L โดยให้ห้องต่าง ๆ อยู่ในเรือนหลังใหญ่ แล้วเชื่อมต่อทางเดินปูนจากห้องนั่งเล่นของครอบครัวไปสู่เรือนไม้อีกหลังซึ่งเป็นห้องนอนของคุณตุ๊กและคุณบอย เหนือทางเดินเชื่อมต่อนี้ สถาปนิกวางระบบน้ำเพื่อปลูกไม้เลื้อย-ต้นลีกวนยูให้ห้อยระย้าลงมาระหว่างทางเดินด้วย

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

“เราทั้ง 2 คนคุยกับเบลง่ายมาก เพราะเราชอบงานของเขา บอกเขาว่าให้อิสระน้องเต็มที่เลย พอเขารู้ว่าบ้านเราที่กรุงเทพฯ เป็นสไตล์โมเดิร์นและเราเป็นคนรักบ้าน เขาก็บอกว่าจุดที่อาจต่างจากบ้านสมัยใหม่ทั่วไป คือบ้านกลิ่นอายล้านนาในรูปแบบบ้านไม้จะไม่ได้เนี้ยบมากอย่างที่เคยมีนะ เราก็เข้าใจเพราะงานไม้จะให้เนี้ยบเลยก็ลำบาก เขาออกแบบโครงสร้าง แลกเปลี่ยนแนวคิด และดีไซน์สัดส่วนพื้นที่ให้เราทั้งหมด แต่ส่วนตกแต่งภายในเราทำกันเอง แค่คุยกันว่าอยากให้ด้านในบ้านออกมาขาว ๆ ครีม ๆ ในโทนอบอุ่น อยู่สบาย

“ตอนแรกเขาออกแบบให้ประตูรั้วเป็นหวายแท้ ๆ นะคะ ตุ๊กชอบไอเดียนี้มาก แต่มาคิดว่า ถ้าเป็นหวายจริง อาจมีระยะเวลาในการใช้งาน เลยหาข้อตกลงร่วมกันว่าขอใช้หวายเทียมได้ไหม คุยกันสักพักเขาก็โอเค” 

ตุ๊กเพิ่มเติมรายละเอียดของดีไซน์ที่หาจุดลงตัวร่วมกันในหลายเรื่อง แต่มีอยู่จุดหนึ่งที่สถาปนิกยืนยันและขอให้เป็นอย่างแบบเลย คือประตูรั้วที่เดินเข้าบริเวณบ้านซึ่งค่อนข้างเตี้ย คุณบอยต้องก้มตอนเดินเข้ามา 

“ส่วนสเกลประตูต่าง ๆ นี่แหละค่ะที่ขอเขาว่าใหญ่หน่อยได้ไหม เพราะบ้านที่เราอยู่ส่วนใหญ่สูงและใหญ่ หลายส่วนก็ปรับนะคะ จากออกแบบไว้ 2 เมตรก็มาลงตัวกันที่ 2.2 เมตร แต่ตรงรั้วเขาไม่ยอมเลย เค้าบอกว่า พี่ตุ๊กครับ การอยู่กับชุมชน ผมไม่อยากให้สเกลดูแตกต่างมากเกินไป และให้รั้วเตี้ยหน่อย เพราะอยากให้พี่ตุ๊กเห็นวิถีชีวิต ตุ๊กก็ตามใจ และส่วนประตูเข้าตรงด้านหน้าบ้านนั้นเขาไม่ยอมปรับเลย พี่บอยเดินเข้ามาต้องก้ม อยากให้ปรับ เขาก็บอกว่านี่เป็นการโค้งคำนับก่อนเข้าบ้านนะครับ เราก็ โอเค ยอมรับ (หัวเราะ)” 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

จุดเด่นอย่างหนึ่งของบ้านนอกจากบ้านสีดำแสนเท่แล้ว ยังมี ‘เติ๋น’ หรือชานบ้านขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นรับประทานอาหารและพื้นที่ครัว เติ๋นในภาษาเหนือให้ความรู้สึกอ่อนน้อม ขนาดกะทัดรัด มีหลังคาที่ยื่นออกมาครอบคลุม ช่วยทำให้มุมดังกล่าวดูเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทว่าก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ด้านในได้ทันทีเมื่อเปิดกระจกบานใหญ่ที่รายล้อมห้องนั่งเล่นออกมา ตรงนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นส่วนสังสรรค์ที่สมบูรณ์แบบมาก 

ดีไซน์หนึ่งที่สะท้อนความเป็นล้านนาและนำมาเติมในบ้านนี้ได้อย่างลงตัว คือบานฝาไหล หมายถึงบานหน้าต่างที่ใช้วิธีดึงช่องไม้เพื่อเปิดช่องแสง เบลออกแบบให้อยู่ในส่วนเรือนห้องนอนที่เป็น Master Bedroom 

“บ้านหลังนี้ถ่ายรูปสวยทุกจุดเลยนะ” คุณบอยเอ่ยขึ้นเมื่อเราเดินชมบ้าน 

“เพื่อน ๆ ก็ชอบกันค่ะ และช่วงตอนก่อนสร้าง ตอนนั้นเรายังไม่ปิดรั้ว เพราะรถต้องเข้าออกเยอะ วันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวมาจอดรถแล้วเดินเข้ามาในบ้าน ถ่ายรูปกันเต็มที่ เรามาเห็น เอ๊ะ! ใครนี่ โอเค ๆ เขาขอถ่ายรูป (หัวเราะ)” 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ตกแต่งบ้านแบบคนที่หลงรักบ้าน (ตัวเอง) 

สร้างบ้านด้วยสถาปนิกมืออาชีพ ตกแต่งการใช้ชีวิตด้วยความหลงใหล 

“ตุ๊กบอกเบลว่าในบ้านขอสะดวกสบายนิดหนึ่ง ขอสเปซใช้งานที่ค่อนข้างใหญ่ในส่วนที่เราต้องใช้ประจำ คือห้องครัว ส่วนรับแขก และรับประทานอาหาร”

เราเดินเข้ามาด้านใน สัมผัสบรรยากาศอบอุ่นในสเปซขนาดใหญ่ ความรู้สึกนั้นทำให้ต้องเดินออกด้านนอกเพื่อมองกลับเข้ามาด้านในอีกครั้ง พร้อมกับพูดว่า 

“มองจากข้างนอก บ้านดูถ่อมตัวมาก แต่พอเข้ามาด้านใหญ่ ห้องดูใหญ่ สเปซดูใหญ่มาก” 

“ใช่ค่ะ หลายคนก็พูดอย่างนั้น” 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ตุ๊กและบอยเป็นคนชอบแต่งบ้าน และรักการใช้ชีวิตในบ้านทุกหลัง เฟอร์นิเจอร์ที่เห็น เคาน์เตอร์ครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอนลูก ๆ และห้องนอนใหญ่ ทุกชิ้นทุกดีไซน์ล้วนเป็นของที่ทั้งคู่เลือกมากับมือ ผ่านการคัดสรร หยิบจับ และจัดวางด้วยตัวเอง 

“เราเลือกเฟอร์นิเจอร์เอง หลายชิ้นเป็นของสะสมที่มีอยู่แล้ว เราทั้งคู่ชอบแต่งบ้าน รู้ว่าเฟอร์นิเจอร์ต้องเป็นยังไงตั้งแต่รู้ว่าจะมีบ้านเชียงใหม่เลย ถึงเราจะเลือกตามความพอใจก็ตามนะคะ แต่คิดว่าต้องเลือกให้เหมาะสมและเข้ากับบ้านด้วย” 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ถามเจ้าของบ้านว่าบ้านออกแนวล้านนา คิดจะตกแต่งบ้านให้มีกลิ่นอายเมืองเหนือด้วยไหม 

“ไม่นะคะ เราต้องรู้จักตัวเองว่าชอบอยู่ยังไง สำหรับพวกเราแล้ว บ้านควรต้องอยู่สบาย ๆ และเราก็ชอบความทันสมัยด้วย” 

ความร่วมสมัยในบ้านนอกจากเฟอร์นิเจอร์และการออกแบบพื้นที่ใช้งานแล้ว ภาพเพนต์ติดผนังก็เป็นส่วนสะท้อนความเป็นคนรักศิลปะและรักการใช้ชีวิตที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง 

บ้านดำ เรือนไม้ตากอากาศที่ตั้งใจดีไซน์ให้ทันสมัยและกลมกลืนกับ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ห้องนั่งเล่นส่วนด้านในของครอบครัวเป็นห้องที่เต็มไปด้วยสีสัน เต็มไปด้วยพลังความสดใส เพราะลูกสาวทั้ง 2 คนยังอยู่ในวัยรุ่น ทั้งครอบครัวชอบขลุกตัวอยู่ร่วมกัน ไม่ทำอาหารทานกันเองก็นอนดูทีวีด้วยกันในห้องนี้ 

“ห้องนี้บอกเบลไปว่าขอขัดกับน้องนิดหนึ่งนะ เพราะจริง ๆ เบลอยากให้ภายในบ้านเป็นสีขาว ๆ ครีม ๆ เขาไม่อยากให้เป็นสีสัน แต่ตุ๊กบอกว่าทุกอย่างเป็นโทนนั้นหมดแล้ว ห้องเด็ก ๆ ก็อยากให้มีสีสันนิดหนึ่ง ม่านที่เห็นก็เป็นม่านเก่าจากบ้านที่แจ้งวัฒนะ เราไม่ได้ใช้ของแพง เลือกใช้แล้วก็ผสมผสานกันไป”

“สังเกตไหมครับในห้องนั่งเล่นอย่างนี้ ส่วนใหญ่บนโซฟาไม่ค่อยมีใครนั่งนะ อย่างเรา 4 คนพ่อแม่ลูก ๆ ก็ชอบนอนกันด้านล่าง เลยต้องเลือกพรมให้เหมาะ ต้องนิ่ม สบาย” คุณบอยเสริม 

ตุ๊กและบอยบอกว่าครอบครัวชอบใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน กอดกัน นอนดูทีวีร่วมกัน บางทีเด็ก ๆ ก็ชอบไปนอนเล่นที่ห้องของพ่อแม่และชอบใช้ห้องน้ำในห้องพ่อแม่ ทั้งคู่เลยขอให้ห้องน้ำในห้องนอนมีขนาดใหญ่ สะดวกสบาย และไม่จำเป็นต้องมีประตู 

“ลูกสาวมาอาบน้ำที่ห้องนี้ เราชอบมากองกันตรงนี้ (ชี้ไปที่เตียงนอนในห้องนอนใหญ่) เราชอบกอดกันก่อนนอน ตอนนี้คนโตอายุ 16 ก็ยังนั่งตักกันอยู่เลยค่ะ” คุณตุ๊กเล่าถึงน้องใจดีซึ่งตอนนี้กำลังเรียนอยู่ที่อังกฤษ ส่วนน้องจริงใจอายุ 11 ปี ยังเรียนในเมืองไทย 

ห้องน้ำมีขนาดใหญ่มาก (ในห้องนอนใหญ่) ออกแบบให้มีสวนหย่อมด้านใน สุขภัณฑ์ทั้งหมดตุ๊กและบอยเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน ส่วนที่สถาปนิกขอดีไซน์เป็นพิเศษ เพื่อให้มีเอกลักษณ์และดูแตกต่างจากห้องน้ำทั่วไป คือดีไซน์มุมผนังให้โค้งรับกับอ่างอาบน้ำ และออกแบบอ่างล้างหน้าใหม่ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์แบบทั่วไป แต่ตั้งใจใช้โครงเหล็กแล้วฉาบปูน 

“พอเบลทำงานให้เราไปสักระยะก็สนิทกัน เขาบอกว่าตรงนี้อยากทำให้ ตุ๊กเลยลองปล่อยให้ทำค่ะ ทำออกมาก็เท่ดีนะ” 

ความรักบ้านยังสะท้อนอยู่ในการเล่าเรื่องบ้าน บางช่วงคุณบอยพูดขึ้นว่า “ผมปรับเปลี่ยนบ้านตลอดเวลา คือมองแค่ว่าเราอยากเปลี่ยนรูปภาพ หรือแค่เปลี่ยนโซฟา เปลี่ยนของตกแต่ง อารมณ์ของบ้านก็เปลี่ยนแล้ว” 

“และเรารักดอกไม้ ต้นไม้ค่ะ ต้นไม้ที่เห็นในบ้าน อย่างต้นหว้า ต้นจิก ต้นล่ำซำ เราก็เลือกมาปลูกเอง ถ้าตุ๊กมาบ้านจะชอบซื้อดอกไม้มาจัด ชอบจัดดอกไม้มาก ดอกไม้ที่เชียงใหม่สวยและราคาไม่แพง แต่วันนี้ไม่ค่อยเห็นดอกไม้ เพราะเราใกล้จะกลับกรุงเทพฯ กันค่ะ” 

“ตอนที่บ้านสร้างเสร็จและลูก ๆ ปิดเทอม เรามาอยู่กันที่เชียงใหม่เป็นเดือนเลยนะคะ น้องที่ออฟฟิศถามว่าพี่ตุ๊กอยู่ได้ยังไงเป็นเดือน ก็บอกไปว่าพี่อยู่ได้จริง ๆ มีความสุขมาก พี่เล่นโน่นนี่นั่นกับลูก ปั่นจักรยานกับลูก ทำอาหารกับลูก เพราะฉะนั้น บ้านตากอากาศหรือบ้านจริง ๆ เราก็จะแต่งออกมาให้น่าอยู่มาก ๆ แล้วก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ลูก ๆ และเราด้วย”

บอยและตุ๊กบอกว่าชอบเชียงใหม่ เพราะนอกจากความสวยงามของพื้นที่ อาหารอร่อย บรรยากาศดี ผู้คนยังเป็นมิตรต่อกัน 

สร้างบ้าน สร้างเพื่อน

คำว่า “สร้างบ้าน สร้างเพื่อน” นี้ คุณบอยเอ่ยขึ้นหลังจากสนทนาไปได้สักพัก ทั้งคู่ชื่นชมและชื่นชอบเบลมากขึ้นหลังจากได้ร่วมงานกัน 

“สำหรับตุ๊กแล้ว เขาเป็นคนน่ารักมากนะคะ มีอะไรก็บอกเรา อย่างบานไม้มันจะบวมนะเมื่อเจอฝน แม้จะตั้งใจหาไม้เก่ามาใช้แล้วก็ตาม หรือถ้ามีปัญหาอะไร เราโทรหา ไม่เกินชั่วโมงสองชั่วโมงเขาก็จะพาช่างมาทันทีเลย ตุ๊กรู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้เจอสถาปนิกอย่างนี้” 

“เหมือนรุ่นน้องที่สนิทเลยครับ เวลาผมมาเชียงใหม่ปุ๊บ เขาก็มาหา มานั่งดื่ม นั่งคุย หรือบางทีเราก็ไปหาเขาที่ออฟฟิศ” 

ตุ๊กเล่าเพิ่มว่าชอบปั่นจักรยานในบริเวณรอบ ๆ บ้าน ใกล้ ๆ มีโรงเรียนประถม ทั้งคู่จึงเข้าไปขอปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้โรงเรียน เพื่อตอบแทนความรู้สึกที่ได้มาอยู่ร่วมในชุมชน 

“ขอเข้าไปปรับปรุงนิดหน่อยครับ คืออยากทำอะไรให้สังคม ให้ชุมชนด้วย ตอนที่เรามาสร้างบ้าน รถช่างจอดเยอะ เราเกรงใจคนแถวนี้มาก ซึ่งไม่มีใครต่อว่าอะไรเราหรอกนะครับ เลยยิ่งเกรงใจ แล้วอีกอย่างคือผมพยายามไม่ซื้อของจากที่อื่น หาซื้อแถวนี้เอา อย่างน้ำปลา น้ำแข็ง เครื่องดื่ม ซื้อบริเวณร้านแถวนี้ กระจาย ๆ กันไป

“หรืออย่างที่ประทับใจป้าข้างบ้านมาก คือเขาช่วยดูบ้านให้เรา เป็นหูเป็นตาและเป็นห่วงเรา เห็นบิลค่าน้ำประปาแพงก็โทรคุยว่าน้ำรั่วไหม ทำไมไม่อยู่แล้วค่าน้ำยังแพง อยากให้เช็ก อะไรอย่างนี้ สำหรับพวกเรารู้สึกขอบคุณที่ทุกคนต้อนรับเราอย่างดี”

บ้านคือพื้นที่ของความสุขในครอบครัว

สำหรับคนรักบ้าน ชอบอยู่บ้านแล้ว คงไม่มีอะไรที่มีความสุขไปกว่าบ้านที่รองรับการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในทุกมุมของบ้าน 

“เราให้ใจกับบ้านทุกหลังที่มี เราสร้างบ้านด้วยความรู้สึกรัก ครอบครัวเราชอบอยู่บ้านกันทุกคน”

“สำหรับตุ๊ก บ้านคือที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยและมีความสุข เวลากลับบ้าน เปิดเข้าไปก็สัมผัสได้ถึงความสุข ตุ๊กว่าตุ๊กโชคดีมากเลย สามีก็เป็นคนคิดบวก ลูก ๆ ก็ด้วย ทุกครั้งเวลากลับมาบ้าน เราสบายใจที่สุด

“บ้านเป็นที่พักใจ ที่พักกาย ทุกอย่างเลยค่ะ”

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย