มาดูกระบวนการช่วยชีวิตคุณ (ในอดีต) หากเกิดเผลอกินเห็ดพิษเข้าไปกัน อย่างแรกคือส่งตัวคุณไปโรงพยาบาล ต่อมาก็ต้องไปหาเห็ดพิษหรือส่วนของแกงจากอาหารที่คุณกินเข้าไป แล้วส่งตัวอย่างไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กรุงเทพฯ เพื่อตรวจหาสารพิษ พอรู้ชัดแล้วจึงส่งรายชื่อและฤทธิ์ของสารพิษดังกล่าวกลับมายังโรงพยาบาลที่พักรักษา เพื่อให้แพทย์รู้ว่าพิษที่รับเข้าไปคือชนิดไหน ส่งผลอย่างไร และควรวางแผนการรักษาอย่างไร 

กระบวนการกว่าที่ข้อมูลจะมาถึงแพทย์ใช้เวลาปาไป 1 สัปดาห์โน่น คิดดูสิว่าโอกาสที่คุณจะรอดปลอดภัยจากเห็ดพิษแบบไม่พึ่งแต้มบุญนั้นจะเหลืออยู่เท่าไร 

ปัญหาเรื่องความล่าช้าของข้อมูลนี้ ทำให้แต่ละปีมีข้อมูลจากกรมควบคุมโรคแจ้งว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษไม่น้อยเลย ประเด็นนี้ไปสะกิดใจนักวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับคณาจารย์และนักวิจัยแห่งพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลับมหาสารคาม ให้คิดร่วมกันประดิษฐ์แอปพลิเคชัน ชื่อว่า ‘คัดแยกเห็ดไทย’ ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ อสม. และ รพ.สต. ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษ ใช้สมาร์ตโฟนตรวจสอบชนิดเห็ดที่จะเก็บกินได้แบบเรียลไทม์ พร้อมรู้ข้อมูลรอบด้านของเห็ดเสร็จสรรพ และส่งข้อมูลให้แพทย์นำไปใช้วางแผนการรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที 

แอปพลิเคชันดังกล่าวเริ่มพัฒนาใน พ.ศ. 2562 และเปิดให้ใช้จริงเป็นสาธารณะในช่วง พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมพอสมควร มาถึงวันนี้ ขออัปเดตว่าระยะเวลาที่ผ่านมา 4 ปี สมาร์ตโฟนเกิดการอัปเดตแบบไม่หยุดยั้ง แอปพลิเคชันดังกล่าวจึงใช้กับโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ไม่ได้แล้ว แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ อสม. และ รพ.สต. ในภาคอีสานที่ดาวน์โหลดแอปดังกล่าวเอาไว้แต่แรกยังใช้งานได้ และปัจจุบันก็ยังใช้แอปพลิเคชันนี้ตรวจสอบเห็ดพิษที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูที่เห็ดป่าเริ่มออก เพื่อประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง

กว่าจะมาเป็นแอปพลิเคชัน ‘คัดแยกเห็ดไทย’ นี้มีเส้นทางอย่างไร และข้อมูลในแอปพลิเคชันดังกล่าวบอกอะไรกับเราได้บ้าง รวมถึงอนาคตข้างหน้า ข้อมูลเหล่านี้จะพัฒนาต่อเนื่องไปอย่างไร คือเรื่องราวที่ อีสาน Lifehacker ครั้งนี้อยากชวนสู่คุณผู้อ่านมารับรู้ ผ่านคำบอกเล่าของ รศ.ดร.ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาลัยมหาสารคาม ไปพร้อมกัน ภายใต้บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาสุดน่าทึ่ง

คนอีสานมีภูมิปัญญาด้านการกินเห็ด แต่ไม่มีการเก็บรวบรวม 

ณ ชั้น 3 ของอาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ SC2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รศ.ดร.ขวัญเรือน พาเราก้าวผ่านบานประตูเพื่อเข้าสู่พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา หรือถ้าจะบอกว่า ‘ก้าวสู่โลกของเห็ดป่า’ ก็คงไม่ผิด

พิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดนี้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่เปี่ยมคุณค่าของเห็ดป่านานาสารพัดชนิด เราได้เห็นทั้งรูปแบบจำลองสิ่งแวดล้อมที่เห็ดชนิดต่าง ๆ เกิดหรืออิงอาศัย เห็ดแห้งบางชนิดอยู่ในโหลดอง มีข้อมูลกำกับไว้อย่างละเอียด ข้อมูลบนผนังของพิพิธภัณฑ์บอกถึงชนิดของเห็ดที่กินได้ เห็ดเป็นยา รวมไปถึงเห็ดพิษชนิดต่าง ๆ โดยมีข้อมูลสาระสำคัญจากงานวิจัยกำกับไว้อย่างเข้าใจง่าย ถัดไปข้าง ๆ มีดอกเห็ดขนาดใหญ่เกือบเมตรตั้งโชว์อยู่ รวมไปถึงเห็ดแห้งดอกใหญ่ที่นำมาแกะสลักเป็นรูปสวยงาม เช่น พญานาค พระพุทธรูป เพื่อสร้างมูลค่า ไปจนถึงตู้โชว์ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและการฟื้นฟูชะลอวัยที่ผสานสารสำคัญจากเห็ดมีฤทธิ์ทางยาลงไปในนาม ‘มหาสารคาม Timeless’

รศ.ดร.ขวัญเรือน เล่าให้เราฟังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของอาจารย์ผู้ใหญ่ของทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เล็งเห็นว่าภาคอีสานมีภูมิปัญญาด้านการบริโภคเห็ดป่าและใช้เห็ดเป็นยา แต่ขาดการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ รวมถึงขาดความชัดเจนของข้อมูลหากต้องการนำภูมิปัญญาไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในอนาคต จึงริเริ่มเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเห็ดป่าแบบรอบด้านและถูกต้อง ก่อนนำมาบรรจุไว้ในพิพิธภัณฑ์ 

“จากแนวคิดเรื่องการเก็บรวบรวมภูมิปัญญาเกี่ยวกับเห็ดป่า อาจารย์ผู้ใหญ่ทั้งอาจารย์ ดร.อุษา กลิ่นหอม และอาจารย์วินัย กลิ่นหอม พร้อมผู้บริหารคณะในขณะนั้น จึงได้รับทุนสนับสนุนเรื่องการจัดทำองค์ความรู้สนับสนุนภูมิปัญญา และเริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลโดยเริ่มจากพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคามก่อน ช่วงแรกสำรวจอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดมหาสารคาม ส่วนใหญ่ป่าธรรมชาติที่ชาวบ้านไปเก็บเห็ดอยู่แล้วหรือเป็นป่าสาธารณะ เช่น ป่าเต็งรัง ในเขตอำเภอวาปีปทุม ทางอำเภอนาดูน ซึ่งมีตัวอย่างค่อนข้างเยอะ การออกสำรวจและการลงพื้นที่แต่ละครั้งไม่ได้เก็บแค่ข้อมูลเรื่องเห็ดอย่างเดียว แต่ยังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงกันด้วย 

“พอได้ตัวอย่างเห็ดมา สิ่งแรกที่เราต้องรู้ก่อนคือชนิดของเห็นนั้น ๆ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์อย่างไร ศึกษาจากลักษณะภายนอก หรือที่เรียกว่าการศึกษาทางด้าน Morphology หลังจากนั้นก็ศึกษาโครงสร้างภายในเพื่อใช้จำแนกชนิด ตลอดจนตรวจหาสารเคมีและตรวจ DNA ของเห็ด เอาไปเทียบว่าสารอะมิโนแอซิดที่อยู่ในสาย DNA นี้เรียงลำดับอย่างไร ก่อนนำ Sequence ไปเทียบกับฐานข้อมูลที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้แล้ว จากนั้นจึงใส่ข้อมูลไว้ใน Cloud จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของฐานข้อมูลใหญ่นี้เป็นของ NCBI (National Center for Biotechnology Information) ในสหรัฐอเมริกา คือฐานพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งอนุญาตให้ประเทศอื่น ๆ เข้ามาใช้ได้ และทุกคนที่จะตีพิมพ์ผลงานก็จะให้นำเอาสาย DNA Sequence นี้ไปเสนอไว้ก่อน เพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั่วโลก

“หากเทียบแล้วพบว่าเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะแสดงผลว่า Matching กัน 100% ซึ่งในความเป็นจริง หากเข้ากันได้ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปก็เชื่อถือได้ว่าน่าจะเป็นเห็ดชนิดเดียวกัน พอรู้ว่ามันคือเห็ดชนิดนี้แล้ว ก็ต้องย้อนไปตรวจสอบในเอกสารอีกครั้งว่าที่เขาเขียนบรรยายตรงกับของเราไหม รูปร่างหน้าตาเหมือนกันไหม เพราะสิ่งมีชีวิตปรับตัวกันได้ เห็ดก็ปรับตัวเหมือนกัน ต่อให้เป็นชนิดเดียวกัน พอเกิดคนละที่ หน้าตาอาจไม่เหมือนกันก็ได้ 

“ที่ต้องทำขนาดนี้ก็เพื่อความถูกต้องของข้อมูล พอรู้ชื่อที่ถูกต้องซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว เรายังนำไปเทียบกับชื่อในภาษาถิ่นที่ชาวบ้านเรียกด้วย โดยองค์ความรู้พื้นบ้านเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากคัมภีร์ใบลานที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จัดทำไว้ พอเทียบข้อมูลแล้วก็นำข้อมูลจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นใส่ไว้ด้วย เพราะพิพิธภัณฑ์เราอยู่ในภาคอีสาน จึงมีชื่อเรียกที่เป็นภาษาอีสาน เช่น เห็ดตอจิก คือเกิดจากต้นจิกที่ตายแล้วเป็นตอ แล้วชาวบ้านเรียกกันว่า ตอจิก และต้องไปดูอีกว่าชื่อทางวิทยาศาสตร์ของต้นจิกคืออะไร 

“การศึกษาจะทำให้เราได้ข้อมูลทั้งเรื่องเห็ด รวมไปถึงต้นไม้ที่เห็ดอิงอาศัยด้วย เราจะบอกได้ว่าเห็ดชนิดนั้นเกิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบใด และหาเอกสารเพิ่มเติมได้ว่าใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง ทั้งจากภูมิปัญญาที่บันทึกไว้ในเอกสาร สัมภาษณ์หมอยาพื้นบ้าน และคนที่เคยใช้ว่าผลหลังใช้เห็ดรักษาเป็นอย่างไร รักษาด้วยวิธีการไหน อาจจะนำมาฝน นำมาทาแผล อย่างกลุ่ม ‘เห็ดปากหมู’ หรือ ‘เห็ดจมูกหมู’ ชาวบ้านใช้เป็นยาหยุดเลือด ปิดปากแผล โดยนำมาผ่าครึ่ง จากนั้นปิดปากแผลไว้ เห็ดจะทำให้เกล็ดเลือดแข็งตัวจนยับยั้งการไหลได้ มีนักวิจัยที่สนใจนำมาพัฒนาต่อเป็นพลาสเตอร์ปิดแผลด้วย เป็นต้น หลังจากได้ข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่ถูกต้อง แม่นยำ และรอบด้านแล้ว ก็จะนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่อไป”

ฟังถึงตรงนี้ก็ได้แต่รู้สึกทึ่ง และมั่นใจมากเลยว่าข้อมูลในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นของแท้และถูกต้องแน่นอน และอีกความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้น คือโชคดีจังเลยที่อีสานมีฐานข้อมูลดี ๆ แบบนี้ให้คนอีสานเข้าถึงได้ 

กว่าจะเป็นแอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทยที่ต้องการส่งข้อมูลเห็ดพิษแบบทันใจให้ทันการณ์

เมื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามเปิดพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา อันเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้น ประจวบเหมาะกับที่กลุ่มนักวิจัยของทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ซึ่งมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เล็งเห็นปัญหาเรื่องความล่าช้าของการค้นหาและส่งต่อข้อมูลเรื่องเห็ดพิษ จึงคิดประดิษฐ์และเกิดเป็นแอปพลิเคชันที่จะใช้สแกนเห็ดขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

การจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องเกิดกระบวนการ Machine Learning คือ ต้องมีฐานข้อมูลที่มากพอ เพื่อป้อนให้เครื่องมือได้เรียนรู้และประมวลผลเทียบเคียงเพื่อความถูกต้อง นำไปสู่การควานหาว่า แล้วที่ไหนล่ะจะมีข้อมูลของเห็ดมากมายขนาดนั้น ซึ่งคำตอบก็มาตกอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์เป็นยาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเกิดการเขียนโครงการขอทุนสนับสนุนและลงสัญญาทำวิจัยร่วมกัน เพื่อผลิต ‘แอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทย’ 

แม้ทางพิพิธภัณฑ์จะมีข้อมูลเรื่องเห็ดอยู่มากโข แต่กลับยังไม่มากพอที่จะนำไปทำ Machine Learning 

“ทางศูนย์วิทยาศาสตร์แจ้งมาว่า ด้วยไอเดียดังกล่าวจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลรูปภาพ เพราะกระบวนการ Machine Learning ต้องเอาข้อมูลไปสอนคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือนั้น ๆ ว่าเห็ดชนิดนี้หน้าตาเป็นอย่างไร จุดเด่นคือรูปร่างของเห็ดส่วนไหน ยิ่งระบบได้เรียนรู้เห็ดแต่ละชนิดผ่านรูปภาพมากเท่าไหร่ การประมวลผลก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น โปรแกรมเมอร์แจ้งมาว่า เห็ด 1 ชนิดควรมีภาพด้านต่าง ๆ 1,000 ภาพ ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลภาพถ่าย เราถ่ายกันแค่บางภาพ บางมุม เพื่อนำมาสอนหรือวิจัย ไม่ได้มีมากมายถึง 1,000 ภาพ พอเป็นเช่นนี้จึงปรับว่าอย่างนั้นลองดูว่าเห็ดชนิดไหนที่มีข้อมูลภาพมากที่สุด และเลือกมาได้ 100 ชนิดแรก

“ทีนี้ก็มาตั้งคำถามต่อไปว่า 100 ชนิด จะเยอะไปไหม เพราะพอข้อมูลเยอะ การประมวลผลก็ยิ่งต้องใช้เวลานานขึ้น จึงกลับไปดูวัตถุประสงค์ที่แท้จริงและได้คำตอบว่าเราต้องการฐานข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดพิษ โดยเฉพาะที่เกิดในป่าธรรมชาติว่าทำไมชาวบ้านจึงเข้าใจผิดว่าเป็นเห็ดกินได้ เกิดเป็นไอเดียว่า อย่างนั้นเฉพาะเจาะจงลงมาเป็น ‘เห็ดพิษที่คล้ายกับเห็ดกินได้’ ที่ชาวบ้านกินในชีวิตประจำวันแล้วมีปัญหา จึงเหลือหลัก ๆ อยู่ 20 กว่าชนิด 

“พอได้เป้าหมาย ทีนี้ก็ต้องดำเนินการเก็บข้อมูล โดยเริ่มจากต้องเดินป่าอีกครั้ง และมีส่วนที่ให้โปรแกรมเมอร์ทำเทรนนิ่งด้วย พอเทรนเสร็จ ทำแอปพลิเคชันเสร็จ ก็เอามาใส่ในโทรศัพท์ แต่ช่วงนั้นยังเป็นระบบปิดอยู่นะคะ ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์หรือเปิดให้คนทั่วไปใช้ ทดลองใช้กันเฉพาะกลุ่มนักวิจัยในโครงการเพื่อทดสอบประสิทธิภาพก่อน

“จากนั้นเข้าสู่กระบวนการที่ 3 คือย้อนกลับไปเดินป่าอีกเหมือนเดิม เพื่อนำโปรแกรมนี้ไปใช้หน้างานจริงว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า มีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เรากลับมาแก้ไขและทำอยู่หลายเวอร์ชัน มีแบบ 1.2, 1.3, 1.4, 2.1 และเวอร์ชันสุดท้าย ถ้าจำไม่ผิด คือ 2.4 สำหรับโทรศัพท์แบบ Android และมีเวอร์ชันสำหรับโทรศัพท์แบบ iOS เป็นเวอร์ชัน 1.2

“เราเริ่มต้นแอปพลิเคชันนี้ให้ใช้กับโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ก่อน ทดสอบกันอยู่หลายครั้ง ทั้งที่เป็นรูปภาพและเป็นเห็ดจริงด้วย เราใช้แอปฯ ไปส่องรูปภาพเพื่อวัดความแม่นยำ เพราะอยากวัดว่าถ้าเป็นรูปภาพที่คนทั่วไปถ่ายส่งมาให้ช่วยตรวจจะตรวจสอบได้ไหม แม่นยำและถูกต้องแค่ไหน ทีนี้เวลาระบบสแกนจะมี Dimension ถ้าเป็นดอกเห็ดจริง ๆ เวลาสแกนจะมี 3 มิติ พอเป็นรูปภาพจะมีมิติเดียว เลยต้องทดสอบว่าถ้าเป็นรูปภาพ Machine จะสแกนได้แม่นยำไหม”

รศ.ดร.ขวัญเรือน เล่าว่าครั้งแรกที่นำไปแอปฯ ไปสแกน เกิดความผิดพลาดทันที เหตุเพราะฐานข้อมูลที่ป้อนเข้าไปสู่ระบบให้เครื่องมือเรียนรู้ยังมีไม่เพียงพอ แต่ทางทีมนักวิจัยก็ร่วมกันทำ ร่วมกันพัฒนาต่อ จนนำมาใช้งานได้สำเร็จในที่สุด 

ฟังก์ชันต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทย

พอเล่าถึงตรงนี้ รศ.ดร.ขวัญเรือน ก็เปิดแอปพลิเคชันจากสมาร์ตโฟน และทดลองนำไปสแกนภาพเห็ดที่ติดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ให้เราได้ยลโฉมการทำงาน โดยพอเข้าสู่แอปพลิเคชันจะมีปุ่มชื่อ ‘24h REALTIME สแกนเห็ด’ คลิกเข้าไป ระบบจะค่อย ๆ เทียบเคียงภาพและแสดงภาพเห็ดที่ใกล้เคียงกับภาพต้นแบบขึ้นมาโดยมีเปอร์เซ็นต์กำกับ เมื่อครบ 95 เปอร์เซ็นต์ ระบบจะหยุดสแกน เพราะชัดเจนแม่นยำแล้วว่าเป็นชนิดอะไร 

พอคลิกเข้าไปในภาพเห็ดชนิดนั้น จะมีข้อมูลสำคัญต่าง ๆ กำกับไว้ ตั้งแต่ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อพื้นถิ่น ข้อมูลพื้นที่การเกิดและกระจายพันธุ์ รูปร่างลักษณะและจุดสังเกตสำคัญ เป็นชนิดกินได้หรือมีพิษ หากมีพิษเป็นพิษกลุ่มไหน ส่งผลอย่างไร และควรต้องดำเนินการรักษาหรือเฝ้าระวังอย่างไรบ้าง ในส่วนข้อมูลเรื่องเวลาการเฝ้าระวังนี้ รศ.ดร.ขวัญเรือน ย้ำว่าสำคัญมาก ๆ 

“หากเป็นเห็ดพิษ จะมีข้อมูลอาการเมื่อได้รับพิษว่าแสดงอาการเช่นไร มีอาการอะไรบ้าง มีวิธีปฐมพยาบาลอย่างไร และต้องใช้ระยะเวลาเฝ้าระวังนานเท่าไร จุดนี้สำคัญมาก เพราะพิษบางชนิดต้องใช้ระยะเวลาฟักตัวก่อนเกิดอาการ แม้ในช่วงแรกที่รับพิษจะเหมือนไม่มีอาการรุนแรงก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องให้คนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลตามระยะเวลาที่แจ้งไว้ เพราะบางทีเจ้าหน้าที่อาจเห็นว่าคนป่วยมีอาการแค่อาเจียนหรือท้องเสีย ให้คนไข้กลับบ้านไปกินยาเอง แต่หลังจากนั้นเกิดหัวใจวายเสียชีวิตก็มี 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของสารพิษในเห็ด หากในระบุให้เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องให้คนไข้ค้างในโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย หรือมีพิษบางชนิดจากเห็ดที่ระบุข้อมูลไว้ว่าหลังจากได้รับพิษ 1 วันจะมีภาวะตับและไตวายได้ก็มีเหมือนกัน ต้องเฝ้าระวัง 

“ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่คุณหมอหรือผู้ดูแลต้องการทราบว่าคนไข้ได้รับสารพิษชนิดนี้จากการบริโภคเห็ดชนิดนี้ ต้องให้กินอะไรเพื่อแก้ไขหรือต้องส่งต่ออย่างไร”

นอกจากนี้ ในแอปพลิเคชันยังลิงก์ไปยังข้อมูลต่าง ๆ ของเห็ดได้ เช่น หนังสือ คู่มือเห็ดพิษเล่ม 1 และ 2 ภาพ ข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดกินได้ต่าง ๆ หากเป็นเห็ดกินได้ ก็มีคำแนะนำวิธีการนำไปปรุงด้วย รวมถึงไฮไลต์สำคัญ คือภาพและข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดกินได้ที่มีความคล้ายคลึงกัน หรือหากไม่มั่นใจก็ส่งภาพมาให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบได้ ตลอดจนปักหมุดพื้นที่ที่มีการเกิดของเห็ดพิษ ซึ่งผู้ใช้แจ้งเข้ามาเพื่อเฝ้าระวังด้วย

เห็ดพิษดอกเดียวก็ทำให้ทั้งตะกร้าเป็นพิษ ถ่ายรูปก่อนกินเพื่อความปลอดภัย

รศ.ดร.ขวัญเรือน เล่าความอันตรายอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการเก็บเห็ดมีพิษมากินของชาวบ้านว่า

“การเก็บเห็ดของชาวบ้าน เวลาเก็บเขาจะเก็บใส่ตระกร้ารวมกัน ถ้าในตระกร้ามีเห็ดพิษ 1 ดอก เห็ดในตระกร้าก็จะเป็นพิษทั้งหมด เพราะพิษไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่ในทุกส่วนของเห็ด แถมเวลาเก็บเห็ดชาวบ้านมักเก็บกันในตอนกลางคืน ไฟที่ใช้ก็เป็นไฟส่องกบที่มีความสว่างไม่พอ จึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ 

“ในแกงเห็ด 1 หม้อที่ใส่เห็ดรวมกันแล้วมีเห็ดพิษปะปนมาแค่ 1 ดอก แกงเห็ดถ้วยนั้นกลายเป็นพิษได้ ทางที่ดีควรถ่ายภาพเห็ดที่จะแกงเอาไว้ก่อน เผื่อว่าเกิดมีเห็ดพิษปะปนและเราบริโภคเข้าไป อย่างน้อยก็ตรวจสอบจากภาพได้ว่าเป็นชนิดใด อีกส่วนที่อันตรายมาก คือเห็ดต้มที่ชาวบ้านชอบต้มรวมกันในถุงแล้วนำมาขาย เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อไปปรุงต่อ เพราะเห็ดที่ผ่านการต้มแล้ว รูปลักษณ์จะเปลี่ยนแปลงไป แยกไม่ได้เลยว่าเป็นเห็ดพิษชนิดใด”

รู้จักเห็ดคู่แฝดคนละฝา มีพิษ VS กินได้ อย่ากินมั่ว 

สำนวนไทยโบราณว่าไว้ สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง จึงไม่แปลกที่เซียนเก็บเห็ดจะพลาดพลั้งกันได้ โดยเฉพาะกลุ่มเห็ดพิษและเห็ดกินได้ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายกันดุจฝาแฝด เผลอ ๆ เกิดรวม ๆ อยู่ใกล้กันอีก ซึ่งประเด็นนี้อาจารย์เล่าถึงงานวิจัยหนึ่งของต่างประเทศให้ฟังว่า 

“มีนักวิจัยต่างชาติทำวิจัยและเราเคยอ่านเจอ คือเขาบอกว่าเห็ดมีเส้นใย เวลาที่เจริญเติบโตมาใกล้กัน เขาจะสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน นำไปสู่การปรับตัวให้คล้ายกันได้”

แต่อย่างว่า ต่อให้เป็นฝาแฝดก็ย่อมมีความแตกต่าง อย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า เห็ดมีพิษ VS เห็ดกินได้ ที่คล้ายกันดุจมุนินทร์-มุตตา มีอะไรบ้าง โดยขออ้างอิงจากข้อมูลในแอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทยผสานคำบอกเล่าของ รศ.ดร.ขวัญเรือน

เห็ดหมวกพิษจีน VS เห็ดปลวกหรือเห็ดโคน (กินได้)

เห็ดปลวกหรือเห็ดโคนกินได้ ต้องมีรากเทียมเชื่อมลงไปถึงรังปลวก เพื่อความชัวร์ให้ขุดดู หากมีรากเชื่อมไปถึงรังปลวกแสดงว่ากินได้ ผิวของหมวกดอกเห็ดจะเรียบ ครีบด้านล่างมีสีขาว เพราะมีสปอร์สีขาว จุกหมวกแหลม

เห็ดหมวกพิษจีน ก้านตรง ไม่มีรากเทียม ขุดลงไปจะไม่เจอรากเทียมที่เชื่อมกับรังปลวก แม้จะขึ้นใกล้รังปลวกก็ตาม ผิวของหมวกดอกเห็ดหยาบกว่า ครีบด้านล่างหมวกเห็ดเมื่อแก่มีสีน้ำตาล เพราะสปอร์มีสีน้ำตาล มีจุกหมวกเห็ดแหลมเช่นกัน กลุ่มพิษของเห็ดหมวกจีนพิษนี้เป็นพิษทาง Neurotoxin ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้น้ำลายไหล น้ำตาไหล 

เห็ดระงากดำพิษ VS เห็ดระโงกไส้เดือน (กินได้)

ความคล้ายของเห็ด 2 ชนิดนี้ คือสีของหมวกคล้ายกันคือสีเทา ๆ ดำ ๆ แต่มีจุดสังเกตคือ

เห็ดระโงกไส้เดือน (กินได้) หมวกดอกมีซี่หวี มีริ้ว ๆ ที่หมวกดอก ก้านเห็ดกินได้จะกลวง

เห็ดระงากดำพิษ หมวกดอกไม่มีซี่หวี แค่เป็นริ้ว ๆ และผิวหมวกเห็ดหยาบกว่า ก้านตัน มีกลุ่มพิษ Amatoxin ทำให้ตับและไตวาย หรือจัดอยู่ในกลุ่มเห็ดระงากนั่นเอง พบมากในเขตจังหวัดอุบลราชธานี

เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ VS เห็ดนกยูงกินได้

จุดสังเกตเห็ดนกยูงกินได้ คือเกล็ดสีน้ำตาลกระจายถึงขอบหมวกอย่างละเอียด ครีบติดก้านสีขาว จะมีวงแหวนแบบกระโปรงเป็นชายลงมา

เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ มีสะเก็ดด้านบนใหญ่ มีครีบสีเขียวเพราะมีสปอร์สีเขียว จะเห็นก็ต่อเมื่อแก่แล้ว แต่ตอนที่อ่อนอยู่จะมีสีขาวเหมือนกันกับเห็ดนกยูงกินได้ วงแหวนรอบก้านดอกหากเป็นพิษจะมี 2 ชั้นมีสารพิษกลุ่ม Gastrointestinal Irritants ทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย อาจไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าเกิดในกลุ่มผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพก็อาจจะเสียชีวิตได้ 

เห็ดระงากขาวพิษ VS เห็ดระโงกขาวกินได้

เห็ดระโงกขาวกินได้ ดอกตูมลักษณะเหมือนไข่ ชาวบ้านชอบเก็บมาขาย ให้ผ่าดู หากเป็นเห็ดระโงกซึ่งกินได้ ก้านจะกลวง มีครีบเห็ดหรือริ้วซี่ชัดเจน

เห็ดระงากขาวพิษ ส่วนใหญ่ที่เจอคือชาวบ้านกินแบบที่ดอกเห็ดยังเป็นไข่ ยังไม่ขึ้นก้าน แต่ตรวจสอบได้ด้วยการนำมาผ่า ถ้าเป็นเห็ดระงากขาวซึ่งมีพิษ ก้านจะมีลักษณะตันและไม่มีครีบเห็ด มีสารพิษเป็น Amatoxin ทำให้ตับวายไตวาย อันตรายมาก

เห็ดถ่านเลือดพิษ VS เห็ดถ่านใหญ่กินได้

เห็ดถ่านใหญ่กินได้ ดอกแก่จะมีครีบใต้หมวกเห็ดเป็นสีขาว เมื่อสัมผัสแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ อีกวิธีพิสูจน์คือให้ผ่ากลางดอกเห็ด หากเป็นชนิดกินได้ เนื้อเห็ดที่ผ่าตอนแรกจะมีสีชมพูระเรื่อแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ

เห็ดถ่านเลือดพิษ ครีบใต้หมวกเป็นสีเหลือง เมื่อแก่มีสีดำ เมื่อผ่าดูเนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ายเลือดตลอดเวลาและไม่เปลี่ยนไป พิษของเห็ดถ่านเลือดอยู่ในกลุ่ม Mycotoxin ออกฤทธิ์ทำลายกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง อันตรายมาก เพราะอาจทำลายกล้ามเนื้อหัวใจได้ 

เห็ดผึ้งเลือดพิษ VS เห็ดผึ้งทามกินได้

เห็ดผึ้งทามกินได้ ให้พิสูจน์ด้วยการผ่าดู ถ้าเป็นชนิดกินได้เมื่อผ่าแล้ว น้ำยางในเนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีครามน้ำเงิน

เห็ดผึ้งเลือดพิษ พิสูจน์ด้วยการผ่าเช่นกัน ถ้าเป็นเห็ดพิษ น้ำยางในก้านจะเปลี่ยนเป็นสีแดง พิษออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียน ถ่ายท้อง 

รศ.ดร.ขวัญเรือน เล่าข้อมูลเพิ่มเติมให้เราฟังว่า “ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไปเก็บข้อมูลเขาแย้งว่ามันกินได้นะ แต่อย่ากินเยอะ กินเพื่อเป็นยาระบาย แต่เราไม่แนะนำ เราส่งเห็ดผึ้งเลือดพิษไปลงในแอปพลิเคชันไม่ได้เพราะรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหมดเลย ระบบแยกไม่ออก จึงต้องใช้วิธีให้ความรู้กับ อสม. หรือ รพ.สต. เพื่อแจ้งเตือนชาวบ้าน”

เห็ดก้อนฝุ่นเหลืองทองพิษ VS เห็ดขลำฟานกินได้

เห็ดขลำฟานกินได้ มีลักษณะเป็นก้อนสีเหลือง มีเนื้อนิ่ม ๆ ผิวเรียบ เมื่อผ่าจะเห็นว่าผนังด้านนอกบาง ด้านในมีสีขาว แต่ถ้าเป็นดอกแก่ เนื้อในจะนิ่ม ๆ และมีสีน้ำตาล 

เห็ดก้อนฝุ่นเหลืองทองพิษ ลักษณะก้อนกลมเหมือนกัน แต่ผิวมีสะเก็ดค่อนข้างใหญ่ สีสันคล้ายกัน เมื่อผ่าดูผนังดอกเห็ดรอบ ๆ จะหนา สปอร์ที่อยู่ด้านในเมื่อแก่จะมีสีเทาและมีรากให้เห็นชัดเจน มีพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร แนะนำว่าก่อนกินเห็ดควรผ่าเช็กก่อน เพราะลักษณะบางประการที่แสดงว่าเป็นเห็ดพิษอยู่ข้างใน 

เห็ดบานค่ำ (พิษ) VS เห็ดถั่วโคนน้อย (กินได้) 

เห็ด 2 ชนิดนี้แยกได้ด้วยสีสันที่ต่างกัน

เห็ดถั่วโคนน้อยกินได้ มีดอกเห็ดสีขาว ผิวด้านบนหมวกดอกมีริ้วสีขาวประโดยรอบและมีมาก

เห็ดบานค่ำ หมวกดอกมีสีน้ำตาล ผิวบนหมวกดอกมีริ้วขาวจับเล็กน้อยประปราย เป็นสารพิษกลุ่ม Disulfiram-like Poisoning อาจมีพิษไม่รุนแรงมาก แต่ทำให้อาเจียนได้ เห็ดบางชนิดในกลุ่มที่มีสารพิษดังกล่าวนี้ตัวเขาเองไม่มีพิษ แต่หากรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดเป็นพิษภายหลังได้ ต้องระวังเป็นพิเศษ

เห็ดพิษก้านเทา VS เห็ดจั่น เห็ดตีนแฮด (กินได้) 

รศ.ดร.ขวัญเรือน เล่าให้ฟังว่ามีการแจ้งถึงเห็ด 2 ชนิดนี้มาจากทางภาคใต้ว่ามีชาวบ้านเก็บมากินผิด ด้วยลักษณะที่คล้ายกันมาก โดยจุดต่างของเห็ดพิษที่พอสังเกตได้ คือเห็ดพิษก้านเทานี้จะมีขนาดก้านไม่ใหญ่มาก แต่สีสันจะคล้ายกัน พิษออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร

เห็ดก่อหน้าแดงกุหลาบ (พิษ) VS เห็ดก่อน้ำหมาก (กินได้)

เห็ดก่อน้ำหมาก (กินได้) ผิวหมวกเห็ดจะมีสีแดงอมชมพูเสมอ ไม่มีรอยแตกที่ขอบหมวกดอก ก้านเป็นสีขาว 

เห็ดก่อหน้าแดงกุหลาบ (พิษ) สีหมวกดอกมีสีแดงเข้มกว่า ขอบหมวกมีรอยแตกแยกเป็นสีขาว จุดสังเกตสำคัญ คือเห็ดมีพิษชนิดนี้มีดอกสีแดง ก้านเป็นสีชมพูหรือแดง ต้องเฝ้าระวังเพราะเป็นเห็ดพิษ ทำให้เมา อาเจียน ท้องเสีย พิษของเห็ดก่อหน้าแดงกุหลาบคือสารพิษกลุ่ม Gastrointestinal Irritants ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ดี เห็ดกลุ่มเห็ดก่อและเห็ดน้ำหมากนี้ แม้จะเป็นชนิดที่รับประทานได้ แต่หากปรุงไม่สุก ก็ทำให้เกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหารได้เช่นกัน

เห็ดคันร่มชมพูพิษ VS เห็ดปลวกจิก

รศ.ดร.ขวัญเรือน ระบุว่าได้รับข้อมูลมาจากภาคใต้ น่าจะพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในป่าสวนยางของคนที่เก็บข้อมูลมา เห็ดคันร่มกลุ่มนี้มีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร โดยหน้าตามีลักษณะคล้ายเห็ดปลวกจิกที่มีขนาดดอกเล็ก ๆ ทางภาคอีสาน จุดสังเกตคือครีบใต้หมวกเห็ดมีสีชมพู เพราะสปอร์มีสีชมพู ขณะที่เห็ดปลวกจิกจะมีครีบดอกสีขาว เพราะสปอร์เขามีสีขาว

หนทางรอดเมื่อเผลอบริโภคเห็ดพิษ

หลังจากรู้จักเห็ดพิษและเห็ดกินได้ที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกันแล้ว คราวนี้มาดูแนวทางว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยจากการเลือกเห็ดผิดชนิดมากิน หรือหากพลาดพลั้ง ต้องปฐมพยาบาลอย่างไรกันดี 

ตามองค์ความรู้ที่ระบุไว้ในแอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทย และจากคำแนะนำของ รศ.ดร.ขวัญเรือน คือก่อนกินเห็ดป่าและก่อนปรุง ให้นำดอกเห็ดสดมาเรียงและถ่ายภาพเก็บไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลกรณีกินเห็ดพิษเข้าไป และปรุงให้สุก

ต่อมา หากกินเห็ดพิษเข้าไปแล้ว ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการกิน Activated Charcoal โดยนำมาบดให้ละเอียด 2 – 3 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 1 แก้วแล้วดื่ม เพื่อให้ถ่านดักจับสารพิษไว้ที่กระเพาะอาหาร แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ระบุในแอปพลิเคชันว่าไม่ควรใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และหากได้รับพิษจากเห็ดบางชนิดยังห้ามล้างท้องโดยการสวนทวารหนักเด็ดขาด

นอกจากนี้ รศ.ดร.ขวัญเรือน ยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่าไม่ควรทำให้อาเจียนด้วย เพราะอาจเกิดการสำลักจนสารพิษเข้าสู่หลอดลมและเป็นอันตรายได้ 

เห็ดป่าชะลอวัย ต้านอนุมูลอิสระได้เกือบเท่าวิตามินซี

มาถึงพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาทั้งที เราก็ไม่พลาดที่จะถามว่า แล้วอย่างนี้เราควรกินเห็ดป่าชนิดไหนที่ดีต่อสุขภาพแบบมีผลงานวิจัยรองรับ ซึ่ง รศ.ดร.ขวัญเรือน ก็แนะนำว่าการกินเห็ดหลากหลายชนิดที่ปลอดภัยรวมกันในแกงเห็ดตามวิถีพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพที่ดี เพราะแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่อสุขภาพแตกต่างกันออกไป เมื่อนำมากินรวมกันก็จะส่งเสริมและดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น และยังแนะนำให้รู้จักกับอีก 2 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง 

“ทีนี้มาดูกันว่าควรจะกินเห็ดอะไรดีที่ดีต่อสุขภาพ อย่างแรกเลยคือเห็ดกินได้ในกลุ่ม Amanita ก็คือ ‘เห็ดระโงก’ เราให้นักศึกษาตรวจดู พบว่าเห็ดระโงกมี Antioxidant สูงมาก เห็ดระโงกเหลืองมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าเห็ดระโงกขาว ‘เห็ดผึ้งขม’ ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเมื่อเทียบกับกรดแอสคอร์บิก (วิตามินซี) แล้วมีสารต้านอนุมูลอิสระเกือบเทียบเท่า

“สารชะลอวัยฟรีจากเห็ดป่า 2 ชนิดนี้มีข้อมูลยืนยันว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง แต่จริง ๆ แล้วในเห็ดกินได้ต่าง ๆ ก็มีเช่นกันในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งตอนนี้ทางเราให้นิสิตปริญญาตรีค่อย ๆ ทยอยทำงานวิจัยไปทีละชนิดเพื่อเก็บข้อมูล”

ระหว่างรออัปเดตเวอร์ชันใหม่ แอปพลิเคชันก็ยังใช้งานอยู่ 

ปัจจุบันแอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทย ยังอัปเดตให้สอดคล้องกับระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ ๆ ไม่ได้ จึงยังดาวน์โหลดมาใช้ไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่ อสม. หรือ รพ.สต. ที่โหลดเอาไว้แต่ต้นก็จะยังใช้งานได้ และยังใช้แอปฯ คัดแยกเห็ดไทยนี้ตรวจสอบเห็ดพิษทั้งในธรรมชาติและตามแผงขายในตลาด เมื่อฤดูแห่งการเก็บเห็ดมาขายและบริโภคมาถึง ก็จะช่วยป้องกันและเตือนประชาชนได้ 

นอกจากนี้ ทางทีมนักวิจัยยังมีแผนจะนำเอาชุดข้อมูลต่าง ๆ มาเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่น เช่น จัดทำเป็นเว็บไซต์หรือสร้างเพจเฟซบุ๊กที่อัปเดตข้อมูลได้เสมอ โดยบุคลากรที่เป็นแอดมิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ในระหว่างที่ตัวแอปพลิเคชันรอการอัปเดต

รศ.ดร.ขวัญเรือน เปิดแผนภูมิข้อมูลเทียบให้เห็นว่าก่อนที่จะมีแอปพลิเคชัน อุบัติการณ์การเจ็บป่วยจากการบริโภคเห็ดพิษตลอดจนการเสียชีวิตนั้นมีจำนวนมาก แต่เมื่อแอปพลิเคชันเปิดให้ใช้งาน การเกิดเหตุดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“นี่เป็นแผนภูมิแสดงจำนวนผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษ โดยเป็นผลการรายงานของ กรมควบคุมโรค เห็นว่า พ.ศ. 2560 มีจำนวนคน 1,200 คน และมีผู้เสียชีวิต พอ พ.ศ. 2561 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาเป็น 4,000 คน ตรงนี้เชื่อมโยงกับการที่คนบริโภคเห็ดค่อนข้างเยอะ และเห็ดในปีนั้นก็ออกเยอะด้วย ปีนั้นจึงมีคนตายค่อนข้างเยอะ 

“พอมา พ.ศ. 2562 ผู้ป่วยก็ยังเป็นพันกว่าอยู่ดี และมีผู้เสียชีวิตด้วย พอ พ.ศ. 2563 มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 คน ไม่ได้แล้ว เราต้องลงพื้นที่ ต้องใช้ข้อมูลที่อยู่ในแอปฯ ไปร่วมอบรมในพื้นที่ที่เกิดเหตุด้วย แล้วก็พบว่าหลังจากลงพื้นที่ ให้ความรู้ และเปิดให้ใช้แอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทย ใน พ.ศ. 2564 จำนวนผู้เจ็บป่วยและผู้เสียชีวิตก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเราหวังให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากเห็ดลดลงจนเหลือศูนย์ในที่สุด”

ข้อมูลข้างต้นชี้ชัดว่าแอปพลิเคชันคัดแยกเห็ดไทยเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากเพียงใด และคงดีไม่น้อยหากทางภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุน พัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าวให้ใช้งานได้ในเวอร์ชันอัปเดต สอดคล้องกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนไป เพราะหากคิดดูแล้ว การสนับสนุนนี้ไม่เพียงสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตให้ประชาชนไทย แต่ยังส่งเสริมให้ผู้คนหันมาพึ่งพิงอิงอาศัยธรรมชาติอย่างมีองค์ความรู้ อันจะนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ก่อนปิดบทสนทนา รศ.ดร.ขวัญเรือน ฝากแง่คิดในการบริโภคเห็ดที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ว่า

“เห็ดคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติและมีความสำคัญทางระบบนิเวศ ไม่ได้เป็นแค่อาหาร แต่ยังเป็นผู้ย่อยสลายในระบบนิเวศด้วย ดิฉันอยากให้เราตระหนักและช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะหากสิ่งแวดล้อมไม่มีพิษและป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเห็ดไม่ถูกทำลาย เห็ดก็จะเจริญเติบโตได้ดีไปด้วย

“ตามธรรมชาติ ถึงเห็ดจะไม่ออกเป็นดอกขึ้นมา สปอร์และเส้นใยก็อยู่ในดินอยู่แล้ว เหตุผลเดียวที่เขาสร้างดอกขึ้นมาก ก็เพื่อต้องการสร้างสปอร์และแพร่กระจายพันธุ์เท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าผลพลอยได้ของการกระจายพันธุ์ของเขา คือทำให้เราได้อาหารและยา ถ้าเมื่อไรที่เราไปทำลายแหล่งอาศัยของเขา เขาก็จะหายไปจากโลกนี้แบบสูญพันธุ์ แล้วเราก็จะไม่ทราบด้วยนะคะ เพราะเขาจะหายไปโดยที่สืบเสาะ หาซากไม่ได้ ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจยังทิ้งร่องรอยให้นำไปพิสูจน์ต่อ

“ถ้าเราช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลแหล่งอาศัยของเขา เขาก็ย้อนกลับมาให้คุณกับเราเหมือนกัน เห็ดเป็นทั้งอาหารและยารักษาโรค เรียกได้ว่าเห็ดเป็น 3F คือ Future Food, Functional Food และ Food Security ยิ่งตอนนี้เรามุ่งเน้นจะมี Future Food จะมีนวัตกรรมภายใต้การตระหนักถึงวิกฤติอาหารโลก เราจึงไม่ควรหลงลืมไปว่า สิ่งเหล่านั้นล้วนมีพื้นฐานมาจากธรรมชาติ 

“เราขยันที่จะออกไปเก็บเห็ด ก็อยากฝากให้ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย ดูแลที่อยู่อาศัยของเห็ด แล้วสิ่งแวดล้อมก็จะย้อนกลับมาให้คุณกับเราค่ะ”

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.00 น. เข้าชมได้ด้วยตนเอง เพื่อเก็บข้อมูลหรืออ่านข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ หรือหากต้องการผู้บรรยายหรือยืมตัวอย่างเห็ดเพื่อนำไปศึกษา โปรดติดต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อน

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น