ซอยลุงแช่ม ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตั้งอยู่บนควน (เนินสูง) โอบล้อมด้วยแม่น้ำและภูเขา ส่งผลให้อากาศสดชื่นและหนาวชื้นตลอดแทบทั้งปี ท้องฟ้าที่ชื้นน้ำฉ่ำฝนกลายเป็นเสน่ห์ที่ภูมิประเทศมอบไว้เป็นมรดกแก่ชุมชน

ในทุกปีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เปลวไฟจากกรรมวิธีการคั่วกาหยี (เมล็ดมะม่วงหิมพานต์) แบบโบราณจะเริ่มลุกโชนขึ้น ควันไฟจาง ๆ จากแต่ละหลังคาเรือนคล้ายกำลังส่งเสียงทักทายกัน กลายเป็นความหอมที่คละคลุ้งไปทั่วซอย 

แต่ก่อนนี้ที่ซอยลุงแช่ม 

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

‘บางน้ำใส’ ชื่อเรียกที่แสดงถึงพื้นที่ไกลปืนเที่ยง คือนามดั้งเดิมของชุมชน ดังที่ ขวัญตา สุขดี หรือ น้าแมะ เล่าให้ฟังว่า “เดิมทีชุมชนแห่งนี้ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ชาวบ้านเห็นว่าตั้งอยู่ในหมง (พื้นที่ห่างไกลความเจริญ) จึงเรียกว่า บางน้ำใส ต่อมาเมื่อมีคนคัดค้าน เพราะเห็นว่าชื่อแสดงถึงความเป็นชนบทบ้านนอก ลุงแช่ม เจ้าของบ้านหลังแรกซึ่งตั้งอยู่ต้นซอย จึงเสนอให้ใช้ชื่อของแกเป็นชื่อเรียกประจำซอย” เมื่อชาวบ้านเห็นพ้อง ชื่อชุมชนซอยลุงแช่มจึงปรากฏขึ้นและดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน 

กว่า 50 ปีก่อน หรือราว พ.ศ. 2510 ในยุคสมัยที่ปากทางเข้าชุมชนยังปกคลุมไปด้วยกอไผ่ไร้ถนน การเดินทางจึงต้องใช้เท้าเป็นหลัก บ้านเรือนแต่ละหลังก็ตั้งอยู่ห่างไกลกันและมีจำนวนน้อยนิด เช่นที่น้าแมะบอกว่า “แต่ก่อนนี้ชุมชนซอยลุงแช่มมีบ้านเรือนอยู่เพียง 11 – 12 หลังคาเรือน ประกอบด้วย 3 ตระกูลหลัก ๆ คือ บุญเกิด บำรุงมิตร และรักชาติ”

เพื่อให้ภาพของชุมชนในอดีตกระจ่างชัด น้าแมะจึงเล่าเสริมว่า “แต่ก่อนคนเชื่อกันว่าพื้นที่ตรงนี้ปลอดภัย จึงพากันมาตั้งบ้านเรือน อีกทั้งดินยังอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชผลงดงาม อากาศสดชื่นตลอดทั้งปี แต่การเดินทางค่อนข้างลำบาก สมัยนั้นเด็ก ๆ จะเดินเท้าเปล่าลัดทุ่งที่มีดินเฉอะแฉะไปโรงเรียนย่านยาว พอถึงฝั่งโน้นพวกเราจึงค่อยสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ถือมา กว่าจะเจริญเหมือนทุกวันนี้มีไฟฟ้าเข้าก็ พ.ศ. 2532 เลยทีเดียว” 

ความอร่อยในวัยเยาว์

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

แทบทุกครัวเรือนในชุมชนซอยลุงแช่มนิยมปลูกกาหยีไว้รอบบริเวณบ้านและพื้นที่หัวไร่ปลายนา เพราะผลสดก็กินได้ ยอดกินเป็นผักเหนาะก็แสนอร่อย แถมเมล็ดเมื่อนำมาคั่วก็ให้รสชาติหวานมัน จนผู้คนชื่นชอบและสืบทอดวิธีคั่วเมล็ดกาหยีเอาไว้ 

ในยุคที่ปู่ ย่า ตา ทวด นิยมคั่วเมล็ดกาหยีไว้กินและปันบางส่วนห่อกระดาษสำหรับนำไปขายที่ตลาดย่านยาวนั้น ลูกหลานผู้มีประสบการณ์ร่วมสมัยเล่าให้ฟังว่า “ถึงฤดูกาหยีทีไร ก็จะเห็น ยายนี บุญเกิด นั่งคั่วเมล็ดอยู่ที่เรือน ตอนนั้นทำง่าย ๆ เพียงนำกระทะตั้งไฟอ่อน ๆ ใส่เมล็ดกาหยีลงไป คั่วจนไหม้ให้ความหอมคลุ้งกระจาย เมื่อกลิ่นตรงเข้าเตะจมูกก็เหมือนระบบเสียงเรียกเข้าอัตโนมัติให้ลูกหลานวิ่งกลับบ้านมาลองลิ้มชิมรสกาหยีคั่วสดใหม่ แม้หน้าตาของกาหยีที่ออกจากกระทะจะดำเหมือนถ่าน แต่ทุกคนต่างมีความเพียรทุบเปลือกหุ้มให้แตกออก ก่อนหยิบเมล็ดด้านในมากินให้อร่อยสมแรงที่ลงไป” 

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

ทั้งนี้ น้าแมะเล่าเสริมให้ฟังว่า “การได้กินกาหยีคั่วสมัยเด็ก ๆ ทำให้จำรสชาติความอร่อยในครั้งนั้นได้ จึงคอยสังเกตวิธีทำและพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะแต่ก่อนกาหยีคั่วมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน มัน อร่อย แต่ยังไม่กรอบทุกเมล็ด จึงคิดว่าหากได้ลองค้นคว้าและพัฒนาวิธีการทำ น่าจะส่งต่อความอร่อยของชุมชนออกไปสู่วงกว้างได้อย่างครบรสยิ่งขึ้น” 

การเดินทางของกาหยี

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

ระยะเวลากว่า 42 ปีที่น้าแมะคลุกคลีอยู่กับกาหยี เกิดเป็นความชำนาญทั้งวิธีการคั่วและคัดเลือกเมล็ด รู้แหล่งของการซื้อหาและขนย้าย ส่งผลให้น้าแมะมีประสบการณ์มากมายที่พร้อมแบ่งปัน เช่นวันนี้ที่ทุกท่านจะได้รับฟังเรื่องราวการเดินทางของเมล็ดกาหยี 

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2523 ยุคสมัยที่ซอยลุงแช่มและชุมชนใกล้เคียงเช่นโคกขนุนยังมีต้นกาหยี ใครที่ค้าขายกาหยีคั่วก็จะเดินไปซื้อเมล็ดตามบ้าน “การเก็บกาหยีสมัยนั้นต้องรอให้ลูกสุกคาต้นจนร่วงลงมาเอง แล้วเราค่อยใช้เหล็กแหลมแทงลูกที่อยู่บนพื้นดินใส่ลงในกระถางจนเต็ม จึงค่อยนำมาปลิดเอาเมล็ดออก ส่วนลูกจะทิ้งไป แต่มีบ้างที่นำไปกินโดยโรยน้ำตาลกับเกลือ สำหรับการซื้อขายก็จะมานั่งนับเมล็ดกันเลย 100 เมล็ด ราคา 8 บาท” น้าแมะเล่าให้ฟังอย่างออกรส 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายเมื่อต่อมาชุมชนขยายตัว ผู้คนจึงทยอยโค่นต้นกาหยีทิ้งไป วัตถุดิบที่ซื้อหาได้ในพื้นที่จำต้องหมดลงตามไปด้วย

ชุมชนนางย่อน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา คือตลาดชุมชนแห่งใหม่ที่มีกาหยีคอยท่า “ตอนนั้นน่าจะ พ.ศ. 2533 ที่เริ่มเข้าไปซื้อเมล็ดกาหยีจากสวนขนาดใหญ่แถวคุระบุรี เวลาจะขนกลับบ้านก็บรรทุกใส่มอเตอร์ไซค์มาคราวละ 50 กิโลกรัม ต่อมาเมื่อขายกาหยีเพิ่มมากขึ้น การขนส่งแบบนี้ทำให้เสียเวลาไปมาก จึงปรับเปลี่ยนให้รวบรวมได้ครั้งละ 400 – 500 กิโลกรัมแล้วขนส่งทีเดียว” ทั้งนี้ น้าแมะเล่าเสริมถึงเหตุผลที่ต้องซื้อเมล็ดกาหยีจำนวนมากให้ฟังว่า “เมล็ดดิบประมาณ 5 – 6 กิโลกรัมจะได้เมล็ดที่คั่วแล้วเสร็จเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น” 

เมื่อพื้นที่สวนในคุระบุรีปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและปาล์ม การเดินทางของกาหยีจึงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ดังที่น้าแมะเล่าให้ฟังว่า “ช่วง พ.ศ. 2550 ต้องไปซื้อเมล็ดกาหยีจากจังหวัดระนอง ซึ่งรสชาติไม่ต่างกัน กลับดีกว่าเสียด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะเมล็ดมีขนาดใหญ่และสวยงาม ยิ่งนำมาคั่วโดยวิธีแบบโบราณ ยิ่งหวาน มัน กรอบ เคี้ยวกรุบเต็มคำ” นอกจากนี้ น้าแมะยังแนะวิธีเสริมความอร่อยให้ฟังว่า “เราต้องเลือกเมล็ดกาหยีที่ไม่แห้งจนเกินไป ไม่อย่างนั้นจะนำมาคั่วแบบโบราณอย่างบ้านเราไม่ได้เลย ดังนั้นจึงกล้ารับรองว่ากาหยีคั่วของชุมชนซอยลุงแช่มยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลินอย่างแน่นอน” 

กาหยีคั่วแบบโบราณ ตามวิธีการชาวซอยลุงแช่ม

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

1) เริ่มต้นจากคัดเลือกเมล็ดกาหยีสดสีเขียว นำไปใส่ลงในทุ้งสังกะสี (ปี๊บสังกะสี) ที่เจาะรูแล้วจำนวน 4 ใบ 

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

2) นำทุ้งสังกะสีมาวางบนเตา 4 ขาที่ตั้งเรียงกัน ดงไฟไว้ 2 ใบ โดยให้ใบที่ 1 มีไฟลุกไหม้ เพราะถ้าไฟลุกขึ้นพร้อมกันจะคั่วไม่ทัน 

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

3) รอให้น้ำมันยางเชื้อเพลิงชั้นดีจากเมล็ดกาหยีค่อย ๆ ไหลลงไปหลอมรวมกับเชื้อฟืน จนเกิดความร้อนสูงและไฟลุกท่วม จึงใช้เหล็กยาว ๆ คนให้ความร้อนกระจายไปทั่ว ทั้งนี้ น้าแมะแนะนำว่าแต่ละทุ้งจะคั่วหมุนเวียนกันประมาณ 10 นาที มีเพียงทุ้งแรกเท่านั้นที่ต้องรอให้ร้อน จึงใช้เวลาถึง 30 นาที 

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา
คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

การคั่วเมล็ดกาหยีโดยใช้ทุ้งสังกะสีนับว่าสะดวก เพราะยกเทให้เป็นกองง่ายกว่า หากแต่ทำได้เพียงทุ้งละ 2 กิโลกรัมเท่านั้น น้าแมะจึงคิดค้นนวัตกรรมประหยัดแรงและเวลาขึ้น โดยเปลี่ยนมาใช้รางเหล็ก ทำให้คั่วกาหยีได้ครั้งละ 5 กิโลกรัม ในระยะเวลา 15 นาที เพราะหากปล่อยให้ไหม้มากเกินไป เมล็ดจะแตกหักเสียหาย โดยการคั่วกาหยีนิยมทำวันละ 2 รอบ คือช่วงหัวเช้า (รุ่งเช้า) และหัวค่ำ 

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

4) นำเมล็ดกาหยีที่คั่วเสร็จแล้วเทกระจายลงบนผ้ายาง โรยขี้เถ้าสำหรับซับยางจากเมล็ดกาหยี 

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

5) เมื่อเมล็ดกาหยีคั่วเย็นตัวลงจึงนำมาคัดเลือก โดยเมล็ดที่ยังสุกไม่ได้ที่ต้องนำไปคั่วต่อ ส่วนเมล็ดที่เสร็จสมบูรณ์จะนำไปใส่ถุงปุ๋ย รอทุบให้เป็นเมล็ดกาหยีคั่วพร้อมรับประทาน

คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา
คั่วกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ตามวิถีโบราณ ความอร่อยในวัยเยาว์ของชาวตะกั่วป่า จ.พังงา

6) ใช้เหล็กหรือไม้ทุบเมล็ดกาหยีทีละเมล็ดให้เปลือกแตกออกและคงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ ในขั้นตอนนี้ น้าแมะเล่าให้ฟังว่า “ต้องการให้กาหยีคั่วเป็นแหล่งรายได้เสริมของคนในชุมชน จึงนำไปส่งตามบ้านผู้ที่สนใจ โดยให้ราคากิโลกรัมละ 60 บาท” เมื่อแล้วเสร็จก็ให้นำกลับมาส่ง เพื่อคัดเลือกเมล็ดที่เน่าหรือแตกก่อนนำไปอบ

7) การอบคือนวัตกรรมร่วมสมัยที่เพิ่มความกรอบให้เมล็ดกาหยี ดังที่น้าแมะเล่าว่าหลังจากทุบแล้วจะนำเมล็ดที่หักออก แล้วนำเมล็ดสมบูรณ์ไปอบด้วยหม้ออบลมร้อนนานประมาณ 1 ชั่วโมง จนเมล็ดกาหยีแห้ง เพราะถ้ายังมีความชื้นอาจทำให้คันคอได้ ในระหว่างนี้ต้องคอยกวนเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไหม้ รวมถึงช่วยให้ความร้อนกระจายทั่วถึงทุกเมล็ดและกรอบเท่ากัน 

 หากเปรียบกาหยีคั่วสดใหม่ที่มากด้วยรสสัมผัสหวาน มัน กรอบ เป็นตัวแทนภูมิปัญญาของชุมชน กลิ่นหอมของมันคงทำหน้าที่บอกเล่าถึงเรื่องราวซึ่งเชื่อมโยงวิถีชีวิตผ่านความอร่อยข้ามยุคสมัยเอาไว้นั่นเอง

Writer

โสภา ศรีสำราญ

โสภา ศรีสำราญ

ลูกหลานลาวครั่งที่พันพัวอยู่กับวงการอาหารและงานเขียนหลากแนว ชื่นชอบงานศิลปะ วัฒนธรรม รักการท่องเที่ยวและการตีสนิทกับผู้คนในทุกที่ที่ไปเยือน

Photographer

Avatar

สุธาสินี บุญเกิด

ชาวตะกั่วป่า จบประวัติศาสตร์ ไม่เคยสนใจดาราศาสตร์จนรู้จักพลูโต เข้าร้านกาแฟแต่สั่งโกโก้ ชอบเดินโต๋เต๋แวะชิมริมทาง ริอ่านปลูกผักกระถางสไตล์คนเมือง