เมื่อคู่รักศิลปินลงมือปรับปรุงบ้านเก่าให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและร้านจำหน่ายงานอาร์ตและของสะสมของตัวเอง บ้านหลังนี้ย่อมไม่ธรรมดา ชวนให้ ‘ว้าว’ ตั้งแต่ด้านหน้าตัวอาคารเท่ ๆ สีดำไปจนถึงสวนหลังบ้าน ยันรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ 

และเรื่องราวการรีโนเวตที่ใช้เวลาถึง 2 ปี ตั้งแต่ตัดสินใจกลับมาอยู่เชียงใหม่ หลังจากชวนกันไปลองสนุกกับทำงานประจำที่กรุงเทพฯ แล้วพบว่าอยากกลับมาอยู่อย่างอยากที่เชียงใหม่มากกว่า

อิงฟ้า-ธัญญ์พิชชา สุริยะรังษี สาวสถาปนิก และ โบ๊ท-สราวุฒิ จันทร์หอม หนุ่มศิลปินสายเพนต์และนักวาดภาพประกอบ เล่าว่าหลังสถานการณ์โควิด บรรยากาศการทำงานที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ดึงดูดใจแล้ว 

“ตอนนั้นสถานการณ์หลายอย่างน่าหดหู่มาก เราเลยคุยกันว่ากลับมาเปิดช็อปที่บ้านพี่โบ๊ทกันดีกว่า เพราะเราทั้งคู่มีแบรนด์งานออกแบบของตัวเองอยู่แล้ว ของอิงฟ้าคือ ‘godo’ ของพี่โบ๊ทคือ ‘Mr.Smoke’ เลยวางแผนและทำพอร์ตเสนอออกบูทที่งานเชียงใหม่ดีไซน์วีก เพื่อจะได้กลับมาอยู่บ้านและปรับปรุงบ้านไปพร้อม ๆ กัน” 

“คุยกันว่าเรามาทำสิ่งที่ถนัดดีกว่าครับ”  

จากห้องเหลี่ยมเล็ก ๆ กลายเป็นตึก 2 ชั้นสีดำบนโครงสร้างเดิม 

บ้านพี่โบ๊ทที่อิงฟ้ากล่าวถึงเป็นบ้านบนเนื้อที่ราว 57 ตารางวา หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพ่อและแม่ของโบ๊ทซื้อบ้านมือสองไว้เมื่อลูก ๆ (โบ๊ทและน้องชาย) มาเรียน มช. ตัวบ้านเป็นอาคารปูน 2 ชั้นเหมือนแบบบ้านทั่วไป ตั้งอยู่ด้านในถัดจากร้านทำผมที่เป็นอาคารชั้นเดียว เดิมเคยเป็นร้านส้มตำก่อนมาเป็นร้านทำผม ซึ่งพ่อและแม่ของโบ๊ทยังคงให้เช่าต่อหลังจากซื้อมา เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายของสองหนุ่มพี่น้องขณะเป็นนักศึกษา

บ้านเดิม ๆ มีหน้าต่างแคบ ด้านในแบ่งสัดส่วนไม่ฟังก์ชันนัก ห้องนอนด้านล่างเล็ก ห้องน้ำอยู่นอกห้องนอน ส่วนห้องนั่งเล่นค่อนข้างมืด และฝ้าในบ้านทำให้ห้องด้านในชั้นล่างดูคับแคบ   

แต่แรกทั้งคู่ตั้งใจรีโนเวตเฉพาะร้านทำผมชั้นเดียวให้กลายเป็นอาคาร 2 ชั้นเพื่อทำช็อปก่อน แล้วค่อยเก็บเงินมาปรับปรุงบ้านทีหลัง แต่คุยกันไปคุยกันมา โบ๊ทเสนอว่าไหน ๆ ปรับปรุงแล้ว ก็รีโนเวตชั้นล่างของบ้านให้อยู่สบายอย่างที่ชอบไปเลยดีกว่า 

อิงฟ้าเล่าที่มาเบื้องหลังการรีโนเวตว่า 

“อาคารด้านหน้าที่เป็นช็อปของ CINDER AND SMOKE ทุกวันนี้ เราทุบผนังออกหมดเหลือแต่เสา และขุดลงไปดูตอม่อเสารับน้ำหนักเพื่อความชัวร์ เพราะเป็นงานรีโนเวต เราไม่รู้ว่าบ้านเดิมเขาทำไว้รับน้ำหนักได้แค่ไหน แบบที่เขียนไว้จะได้คำนวณน้ำหนักได้ถูก พอเหลือแต่เสาก็เสริมเหล็กขึ้นไปเป็นชั้น 2 ข้างบนก็เป็นโครงสร้างเหล็กเพราะเบา แข็งแรง และดูแลง่าย  

“การรีโนเวตบ้านแบบนี้ยากตรงที่เราไม่รู้ว่ารื้อ ๆ ไปแล้วจะเจออะไรบ้าง ปัญหาจุกจิกอย่างที่ไม่คาดก็เยอะค่ะ อย่างฝ้าในบ้านรั่ว หรือรากต้นไม้ทะลุท่อน้ำในห้องน้ำแตก ต้องรื้อกระเบื้อง นี่ขนาดคุณพ่ออิง ซึ่งเป็นช่างไฟมาช่วยดูแล้วนะคะ เราเลยต้องเสียเวลาไปเป็นปีเลย พี่โบ๊ทกับอิงเลยคุยกันว่า งั้นเรามาทำกันเอง จ้างช่างเป็นส่วน ๆ ไป วิ่งหาซื้อของกันเอง” 

ทั้งคู่ตกผลึกว่าจะทำช็อปเป็นแนวคอนเซปต์สโตร์ โดยมีงานดีไซน์ของตัวเองและของสะสมแนววินเทจเป็นหลัก เลยตั้งใจให้อาคารที่ออกแบบออกแนวอินดัสเทรียล ใช้โครงสร้างเหล็กและกระจกเปิดให้เกิดช่องแสงที่สวย และยิ่งสวยในหน้าหนาวเมื่อแสงสาดเข้าด้านใน

ออกแบบให้ด้านล่างเป็นส่วนของร้านค้า และด้านบนมีบันไดทางขึ้นเหล็กจากด้านนอกอาคารเป็นสเปซให้เช่าแสดงงานศิลปะหรือเวิร์กช็อป ส่วนด้านหลังตึกที่เดิมเป็นพื้นที่ซักล้างของร้านทำผม ออกแบบใหม่ให้กลายเป็นครัวได้อย่างลงตัวมาก ๆ เพราะเปิดโล่ง ทำอาหารไทยหนัก ๆ กลิ่นฉุน ๆ ได้ไม่รบกวนร้านและบ้าน ตรงนี้มีเรื่องเล่าที่น่าประทับใจว่า “ตอนออกแบบพื้นที่ใช้สอยในครัว พ่อพี่โบ๊ทมาช่วยดูค่ะว่าจะวางเตา วางของใช้อะไรยังไง เพราะพ่อพี่โบ๊ทเป็นกุ๊กค่ะ (ยิ้ม)”  

ประตูกว้างเปิดเข้าด้านข้างของตัวตึกสีดำ มองเข้าไปด้านในโล่งทะลุเห็นบันไดเหล็กขึ้นชั้น 2 ถัดไปคือครัวที่เชื่อมกับช็อป ส่วนที่ติดกันคือตัวบ้านที่โบ๊ทและอิงฟ้ารีโนเวตใหม่ด้วยคอนเซปต์เดียวกับตัวตึก เปิดช่องแสงให้บ้านเต็มที่ด้วยเหล็กและกระจก แก้ปัญหาความมืดที่โบ๊ทบอกแต่แรก 

“ประตูเข้าบ้านเดิมไม่ได้อยู่ด้านนี้ค่ะ แต่อยู่ตรงผนังที่เปิดออกไปเป็นลานซักล้างที่ตอนนี้เป็นครัวไปแล้ว เราปิดตรงนั้น แล้วมาทุบด้านข้างที่เคยเป็นหน้าต่างกับผนังออกให้หมด แล้วดีไซน์ให้ผนังฝั่งนี้ซึ่งจริง ๆ รับแสงได้เต็มที่ ให้เป็นประตู หน้าต่างกรุกระจกและช่องแสง เพื่อเปิดออกรับแสงดีกว่า 

“ส่วนด้านใน ไม่ได้ทำอะไรมากค่ะ แค่ทะลุห้องนอนให้กว้างขึ้นเชื่อมกับห้องน้ำ ทีแรกประตูห้องน้ำเปิดออกทางห้องโถงหรือห้องนั่งเล่น เราก็ดีไซน์ปิดประตูด้านเดิม ย้ายประตูให้กลายเป็นห้องน้ำในห้องนอนไปเลย” 

“ถ้าในมุมมองผม แต่ก่อนมันเละเทะมากครับ แบบประตูห้องน้ำอยู่ด้านนอกตรงส่วนโถงแบบนี้ เพื่อนฝูงมา คนนี้เข้าคนนั้นออก ก็จัดการให้ดูเป็นสัดเป็นส่วนขึ้นครับ”  

“แล้วอิงก็จัดสเปซให้มีที่ทำงานของผมกับอิง ตรงที่มีแสงเข้าถึงโต๊ะทำงาน เอาจริง ๆ สำหรับผม บ้านเปลี่ยนไปไกลเลยครับ เดิมมืดมาก พอเปลี่ยนมารู้สึกว่าสว่างขึ้นเยอะเลย” 

มุมโต๊ะทำงานของโบ๊ท แขวนเสื้อยืดและโปสเตอร์ งานออกแบบแรกของเขาในนาม Mr.Smoke 

 

แล้วบ้านเคยมีครัวไหม – เราถามโบ๊ท 

“เดิมบ้านเก่าที่ผมอยู่ไม่มีครัวเลยครับ เมื่อก่อนตอนเป็นนักศึกษา ก็ง่าย ๆ นะครับ ใช้พื้นที่หลังบ้าน เอาเตาวางบนโต๊ะเล็ก ๆ ตัวเดียว ทำง่าย ๆ มีหม้อ กระทะ ตะแกรงเก็บถ้วยจาน แค่นี้ครับ แต่ผมชอบทำอาหาร น้องอิงฟ้าเลยคิดว่าถ้าทำครัวจะทำตรงไหน เพราะด้านในบ้านแน่นไปหมดแล้ว ตอนแรกที่คุยกันว่าถ้าออกแบบให้ครัวอยู่ในบ้านจะดูแน่นมาก แล้วเราก็วางไว้แต่แรกอยู่แล้วว่าอยากเก็บด้านหลังบ้านไว้เป็นสเปซให้ลูกค้านั่ง เลยมาลงตัวที่เห็นอย่างนี้ครับ” 

โบ๊ทเล่าเพิ่มอีกนิดว่า แต่แรกพ่อแม่แนะนำให้ทุบบ้านทะลุกันให้ยาวเชื่อมต่อเพื่อทำเป็นส่วนของร้านทั้งหมด แล้วขึ้นไปพักผ่อนบนชั้น 2 แทน “แต่ปกติผมไม่ค่อยขึ้นข้างบนอยู่แล้วครับ และผมว่ามันน่าจะเป็นร้านที่ใหญ่ไปด้วย อีกอย่างที่ทำงานก็อาจจะไม่พอ เพราะด้านบนต้องเว้นไปเป็นห้องเก็บของและเป็นห้องให้พ่อกับแม่เวลามาหาด้วย ตอนนั้นเลยคิดว่าทำแบบนี้แล้วค่อย ๆ ขยับไปดีกว่า” 

เดินไปจนสุดหลังบ้าน คือพื้นที่เอาต์ดอร์ที่ทั้งคู่ตั้งใจให้ลูกค้านั่งเล่น อ่านหนังสือ ทำงานได้ อิงฟ้าบอกว่าไม่ได้รีโนเวตอะไรมาก แค่จัดพื้นที่ให้เรียบร้อย เสาและหลังคามีอยู่เดิม 

“ด้านหลังมีที่นั่งเล่นอยู่แล้วค่ะ ใช้โครงหลังคาเดิม เสาเดิม แต่เราแค่เอาไม้ไปหุ้มเสาปูนก็เลยเหมือนทำเสาขึ้นไหม่ ดูร่มรื่น และเราอยากให้ฟีลมันต่างจากในร้านหรือว่าข้างนอกหน่อย หน้าบ้านจะดูเข้ม ๆ ด้านหลังให้ออกแนวธรรมชาติ สบายตา ต้นไม้เดิมมีน้อยหน่าต้นเดียวในกระบะเล็ก ๆ ก็ปรับให้ใหญ่ขึ้น เติมต้นไม้ที่ชอบ และก็ห้องน้ำนี่จริง ๆ ก็โครงสร้างเดิมนะคะ มีตั้งแต่ตอนเป็นร้านส้มตำแล้ว แต่เดิมขนาดใหญ่ เราเลยมาแบ่งเป็น 2 ห้อง ออกแบบตกแต่งให้น่าใช้มากขึ้นค่ะ”  

เดินสายไฟให้เป็นงานศิลปะแต่งบ้าน

“ตอนรื้อฝ้าออก เราก็ต้องรื้อโครงต่าง ๆ ที่ยึดฝ้าออกด้วย ตรงนี้แหละค่ะที่พอคนรีโนเวตบ้านจะไม่ค่อยชอบเอาฝ้าออกเพราะกลัวสายไฟรกรุงรัง ถ้าเปิดฝ้าจะทำให้บ้านไม่สวย เราก็คิดกันว่าถ้าใช้ข้อจำกัดนี้ให้มาเป็นงานแต่งบ้านไปเลยน่าจะเวิร์ก อีกอย่างคือในบ้านเส้นคานมันเยอะ ก็คิดว่าต้องดึงสายตายังไงไม่ให้ไปโฟกัสที่เส้นคาน เลยใช้สายไฟดึงสายตาให้มองไปที่สายไฟแทนคาน เส้นสายไฟแนวตั้งทำให้ภายในบ้านดูสูงขึ้น” 

อิงฟ้าเล่าถึงที่มาของการเดินสายไฟที่แสนจะเท่ และกลายเป็นงานตกแต่งภายในในคราวเดียวกัน โบ๊ทจึงเสริมว่า “ทำให้คานสวยขึ้น” (ยิ้ม) 

“ทีแรกคือผมเห็นในหนังแนวพีเรียดสักเรื่อง จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว แต่ถ่ายภาพไว้เลย แล้วเอาไปให้พ่อน้องอิงดู ถามพ่อว่าเราอยากทำแบบนี้จะทำได้ไหม ตอนหาของก็คิดว่าจะไม่ได้แล้ว เพราะหายากมาก ผมไปดูพวกหมุดไฟ มันมีขนาดใหญ่สีน้ำตาล พ่อบอกว่าหมุดแบบนั้นต้องใช้กับสายไฟขนาดใหญ่ ก็ไม่ได้อีก ผมก็พยายามหาว่าคืออะไร หาข้อมูลแล้วสั่งมา แต่ละอย่างสั่งนำเข้ามาจากแต่ละแหล่งเลย สายไฟ หมุด บ็อกซ์ ซื้อมาก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าได้ไหม ลองสั่งสายไฟมา 10 เมตร แล้วทดลองทำ พยายามหาไปเรื่อย ๆ เหนื่อยที่สุดก็คือตัวบ็อกซ์เก็บสายไฟนี่แหละครับ อันแรกที่ได้เป็นบ็อกซ์พลาสติก แต่ผมไม่โอเค ค้น หา และรอ ทั้งหมดที่เห็นเป็นเซรามิกครับ เอาจริง ๆ ตอนนี้ให้ไปหาก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนนะ ร้านที่ขายบ็อกซ์ก็ไม่ขายอย่างอื่น ไม่ขายหมุด ไม่ขายสายไฟ ไม่ขายตัวสวิตช์ แยกกันหมดเลย”  

การเดินสายไฟให้เป็นงานศิลปะเป็นงานค่อนข้างซับซ้อน อิงฟ้าบอกว่าขอให้พ่อช่วยคำนวณระบบ และเดินไฟให้ มีพี่โบ๊ทเป็นลูกมือ โดยตัวเองต้องสเกตซ์การเดินสายไฟให้ละเอียด โบ๊ทเล่าถึงช่วงเวลาทำงานเดินสายไฟนี้ว่า 

“ต้องดูครับว่าเส้นหลักเข้าตรงไหน สายพาสต้องมีกี่อัน อย่างตรงนี้โซนปลั๊กมันจะเบิลเยอะ ตรงนี้ที่เราเตรียมไว้ทีแรกจะเป็นเครื่องทำกาแฟ ต้องเบิลตัวทองแดงให้เยอะสุด พ่อก็แนะนำว่า 4 สายซึ่งเดินยาก และพ่อแนะนำว่าแบบข้างในบ้านที่เป็นสายแอร์ก็จะเป็นเส้นใหญ่ ที่เป็นเส้นใหญ่อันนั้นจะเป็นพวกที่ใช้ไฟเยอะ ๆ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น แอร์ พอขนาดสายไฟเส้นใหญ่มา ก็ไม่รู้จะทำไง พ่อก็บอกว่าเอาตัวกิ๊บธรรมดานี่แหละติดสายไฟ แต่ผมก็ยังไม่อยากได้ ต้องไปหาหมุดเพื่อสายใหญ่มาอีก งานมันเลยละเอียดและยากหน่อยอย่างนี้อะฮะ  

“ผมคิดไว้แล้วว่าพอมีบ้าน บ้านเสร็จมันก็ต้องมีไฟ ผมอยากให้ระบบไฟจบก่อนจัดวางเฟอร์ฯ ทั้งหมด ให้งานไฟจบเรียบร้อยดีจะได้ไม่ต้องมาแก้ทีหลัง ส่วนอื่นมันก็ง่ายแล้ว”

กว่าจะได้สีที่ต้องการ ก็ต้องลงมือกันเอง

สีดำทำให้อาคารแห่งนี้ดูสะดุดตามาก แต่เบื้องหลังที่มาของสีนั้นไม่ใช่เพียงไปยืนเลือก ๆ แพนโทนสีแล้วให้ช่างทาก็จบลง เพราะสีที่อยากได้บางทีก็ไม่ได้มาง่าย ๆ โดยเฉพาะกับศิลปินสายเพนต์ที่มีสายตาแยกแยะเฉดสีได้ละเอียดมากอย่างโบ๊ท ฟังเขาเล่าถึงที่มาของสีดำ หรือสีที่ทาเนื้อไม้และภายในบ้านแล้วเพลิดเพลินมาก ทว่าเมื่อย้อนคิดไปถึงขั้นตอนกว่าจะได้สีแต่ละสีที่เห็นนี้ไม่ใช่เรื่องเพลิน ๆ เลย 

“ตอนออกแบบก็ตั้งใจแต่แรกว่าอยากได้สีดำออกแนวดำควัน ๆ ค่ะ เพราะรู้สึกว่าตึกแถวนี้ยังไม่มีสีลักษณะนี้ แล้วเราก็ชอบสีนี้ด้วย” อิงฟ้าเปิดเรื่องเล่าของสีก่อนที่โบ๊ทจะเสริมว่า  

“ช่วงทำบ้านชอบสีดำด้วยครับ แต่ยังไม่ถูกใจสักที ที่เห็นนี่คือดำต้องผสมเอง คือเราคิดว่าถ้าเราทำอาคารเป็นสีดำ จะตัดตัวหนังสือสีขาวชัด จริง ๆ วินเทจมีตัวหนังสือสีทองด้วย แต่ผมดู ๆ แล้วไม่เข้ากับคอนเทนต์ของเรา และดูเข้าถึงยาก ดูหรูไปนิดหนึ่ง เลยเลือกทำให้ออกโทนขาวดำ ดูเป็นงาน Illustration หน่อย”   

“สีที่ช่างทาออกมาทีแรกดูออกดำอมเขียว ช่างทาไปได้ครึ่งหนึ่งผมสั่งให้หยุดเลย ไปซื้อดำมาใหม่ ก็ยังเป็นดำผสมน้ำเงิน ยิ่งผิดไปจากภาพในหัวเราเข้าไปอีก สุดท้ายที่เห็นนี่คือสีดำผสม ไปซื้อสีดำที่ใกล้เคียงที่อยากได้แล้วไปซื้อแม่สีที่เป็นขวดสีดำมาผสมเลย เพราะดำแบบที่เราต้องการมันไม่มี ดำจริง ๆ ที่มีส่วนใหญ่เป็นดำที่อมเทา อมน้ำเงิน หรืออมเขียว ไม่ดำสนิทแบบที่เราอยากได้ สีในร้านก็เป็นสีผสมเอง เป็นสีขาวที่มีเบอร์สี แล้วเพิ่มสีขาวธรรมดาเข้าไปอีกเป็นครีมขาว สีขาวในบ้านก็ทากันเองเลย รั้วก็ทำเอง ทาสีเองกันอยู่สองคน ส่วนหนึ่งเพราะอยากให้อยู่ในงบประมาณที่มีด้วยครับ”  

“ส่วนสีของไม้ชั้นบน แต่แรกเขาทาออกมาเป็นสีส้มไม้สัก ส้มมาก ๆ ผมก็ให้เขาแก้ แก้ออกมาก็แดงอีก ผมก็ให้แก้อีก เขาแก้มาก็ส้มอีก ไม่ตรงใจสักที จนเขาบอกว่า ตกลงจะเอาสีไหน! ผมเลยบอกให้หยุดงานไป 2 วัน แล้วไปเอาสีมะฮอกกานีกับประดู่ดำมาผสมเอง นั่งทาสีไม้อยู่ข้างบ้านนี่แหละ”   

งานวินเทจคืองานควอลิตี้ ที่ทั้งคู่เลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

9 ปีกว่าที่ทั้งคู่รู้จักและรักกันก็มีที่มาจากงานดีไซน์สไตล์วินเทจของ godo อิงฟ้าไปออกบูทที่คณะวิจิตรศิลป์ มช. ทำให้ได้พบกัน ทั้งสองคนชอบงานที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันแค่ในรายละเอียดประเภทงานเหล็ก งานเฟอร์นิเจอร์ ผีเสื้อ ดอกไม้ และของวินเทจกระจุกกระจิก ส่วนที่คล้ายคลึงที่สุดคือความคิดหลงใหลต่องานวินเทจว่าเป็นงานที่มีควอลิตี้ ส่งต่อมายุคต่อยุค ยังอยู่ได้ แสดงถึงความพิเศษและคุณภาพที่ยืนยาว 

“อิงฟ้ารู้สึกว่าความวินเทจเชื่อมโยงกับเรา เหมือนกับทุกอย่างมันเข้ากันไปหมด อาจเพราะเราคลุกคลีกับพ่อสมัยเด็ก ๆ เห็นข้าวของ เห็นอะไรต่าง ๆ ก็ซึมซับมาด้วย แต่วินเทจที่เราชอบคืองานที่ดูร่วมสมัย ไม่ใช่แบบวินเทจที่ลึกจนจับต้องไม่ได้ เป็นวินเทจที่ยังมีความร่วมสมัยอยู่ มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง” 

“เมื่อก่อนเคยสะสมวินเทจแนวยุโรปนะครับ แต่ผมว่ามันดูหรู จับต้องยาก สำหรับผมวินเทจแนวอเมริกันเข้าถึงได้ง่ายกว่า” 

งานสะสมของโบ๊ทและอิงฟ้ามีหลากหลาย แต่ที่โดดเด่นคือโคมไฟ O.C. White โบ๊ทเล่าว่ามองมานานแล้ว แต่เริ่มสะสมจริง ๆ ตอนที่เริ่มทำงาน มีรายได้เป็นของตัวเอง จนกระทั่งลองเอามาแต่งบูทเวลาไปออกงานดีไซน์ คนเริ่มถาม ขอซื้อกันมากขึ้น ทีแรกยังไม่นึกขาย แต่พอมองบูทที่ไปจัดในปีถัด ๆ ไป ก็พบว่า ร้านดูไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะของตกแต่งยังคงเหมือนเดิม เลยลองแขวนป้ายราคา พบว่าคนสนใจมาก ทำให้โบ๊ทยิ่งศึกษา หาของ และลงลึกกับงานที่ชอบสะสมมากขึ้น 

“กลับมาบ้านคือโล่ง ก็เลย โอเค หาใหม่ กลายเป็นสนุกได้หาของ อย่างเมื่อก่อนมีตราประทับหรือตัวปั๊มอันหนึ่งซึ่งยึดติดและรักมันมาก ก็วางโชว์อย่างนั้นไม่ขาย พอมีคนขอซื้อเยอะ ๆ เข้า ลองขายในราคาที่พอใจ ขายปุ๊บก็หาใหม่ ค้นหาทั้งคืน ดูโน่นดูนี่ ดูว่ามีปีอะไรบ้างยังไงบ้าง เราก็ได้เรียนรู้ข้อมูลมากขึ้น ได้ศึกษาด้วยว่าแต่ละอย่างเป็นอย่างไร คือตอนแรกที่เราซื้อเก็บเราซื้อด้วยสี ด้วยโทนบางอย่างที่เราชอบ แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นร้านขายของเก่า หลัก ๆ คือเอามาเพราะชอบก่อน”  

“เราอยากให้ร้านเหมือนเป็นพื้นที่ที่รวมของที่เราชอบ เราใช้ เป็นของคราฟต์ เป็นงานวินเทจ คือมีทั้งของเก่าและงานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ด้วย เหมือนงานรีโปรดักต์นิด ๆ ยังมี Vibe ความเป็นวินเทจอยู่”  

ส่วนชื่อ CINDER AND SMOKE อิงฟ้าเล่าที่มาว่าทีแรกจะใช้ godo and Mr.Smoke ก็ดูจะเรียกยากไม่ติดหู และเพราะตัวเองชอบฟังเพลงของ Iron & Wine ด้วย เลยนำชื่อเพลงนี้มาตั้งเป็นชื่อร้าน “คำว่า CINDER ฟังเสียงก็ให้ความรู้สึกเป็นผู้หญิงดีด้วยค่ะ”  

“บ้านเหมือนเป็นจุดเริ่มต้น ผมกับอิงฟ้าตั้งใจรีโนเวตร้านให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ทำงานก่อน ส่วนบ้านของเราตรงนี้เหมือนกับเป็นโครงให้เราเห็นภาพในอนาคตมากขึ้น พอเปิดร้าน เราสะสมของไปเรื่อย ๆ ขายไปด้วย พอได้ของมาเพิ่มเราก็เอาเข้าไปตกแต่งในบ้าน ให้เราได้ชื่นชมกันก่อน แล้วพอถึงเวลาค่อยเอาออกมาวางหน้าร้าน บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังแรกของเราด้วยครับ วางแผนไว้ว่าคงจะมีการรีโนเวตชั้นบนเพิ่มขึ้นให้เป็นห้องทำงานในส่วนน้ำหอมให้เป็นสัดเป็นส่วนให้ทำงานง่ายขึ้นครับ”

ภาพของสะสมวินเทจต่าง ๆ อย่างโคมไฟ เก้าอี้ ลูกโลก หนังสือ กล่องไม้ ฯลฯ ถูกจัดวางที่มุมโน้นมุมนี้ เป็นเหมือนตัวแทนความรักที่จับต้องได้ เป็นความสุขที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศ บ้าน และผลงานที่ทั้งคู่สร้างสรรค์ออกมา

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ