เสียงเพลงสากลฟังสบายลอยมาเข้าหูทันทีที่เราก้าวเท้าเข้าไปในบ้านของคู่รัก ข้าวของหลายอย่างที่วางเรียงรายไว้ ดึงดูดให้เราเดินไปดูใกล้ ๆ หลังจากที่ทักทายเจ้าของบ้านบรรยากาศอบอุ่น น้อง-บุญยวีร์ บุนนาค และ ปั้น-ชาคริต ศุภคุตตะ เป็นที่เรียบร้อย

ที่นี่เป็นบ้านหลังล่าสุดของคนสองคนที่เกี่ยวพันกับการดีไซน์ สไตลิ่ง ทำนิตยสารตกแต่งบ้าน รวมถึงทำ Lifestyle Shop จนเป็นชีวิต ตั้งใจรังสรรค์เพื่อให้เข้ากับตัวเองที่สุด

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

บ้านหลังนี้ไม่ได้สร้างใหม่ แต่เป็นบ้านของคนรู้จักในแวดวงเดียวกัน มันถูกปล่อยทิ้งไว้นานนับ 10 ปี แต่น้องกับปั้นดันถูกตาต้องใจในระดับลึกถึงจิตวิญญาณจึงซื้อต่อมา

‘หยิบ จับ ยก วาง’ 4 สเตปการเป็นสไตลิสต์ของน้องกับปั้นถูกนำมาใช้ในการแต่งบ้านนี้อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้แตะโครงเก่าของบ้าน (เขาบอกว่าไม่มีเงินรีโนเวต!) น่าสนใจว่า คนที่อยู่กับบ้านคนอื่นเป็นอาชีพมานานนม เมื่อถึงคราวมีบ้านเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรกจะเป็นยังไง และจะมีวิธีจัดการกับข้าวของมากมายจากการทำอาชีพสไตลิสต์ยังไงบ้าง

“วันนี้มีอาหารไม่ผัก ไม่เผ็ดนะคะ” พี่น้องคอนเฟิร์มตามเงื่อนไขทางการกินของสมาชิกในทีมที่มาในวันนี้ ผู้ไม่ถนัดกินผัก ไม่สันทัดของเผ็ด

ก่อนจะไปเพลิดเพลินกับอาหารที่เชฟน้องเตรียมไว้ เราขอเล่าเรื่องราวสนุก ๆ ของบ้านนี้ให้ฟังก่อน ถ้าพร้อมแล้ว ถอดรองเท้าแล้วตามเข้ามาในห้องรับแขกเคล้าเสียงเพลงได้เลย

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

เราเริ่มการพูดคุยในบ่ายวันนั้นกันที่โต๊ะไม้ตัวใหญ่ซึ่งตั้งอยู่กลางพื้นที่ชั้นล่าง ปูด้วยผ้าลายตาราง ประดับประดาด้วยดอกไม้ในแจกัน มีโลแกน คิตแคต เดลี และดัสตี้ แมว 4 ตัวผลัดกันเดินมาทักทาย

“ส่วนใหญ่อยู่ข้างล่างกัน พี่อยู่ในครัว พี่ปั้นอยู่ในสวน พอทำสเปซชานบ้านใหม่ก็ได้ออกไปใช้เยอะขึ้น ส่วนข้างบนขึ้นไปแค่ตอนจะนอน” น้องที่นั่งหัวโต๊ะบรรยายพร้อมผายมือไปรอบ ๆ แนะนำให้เรารู้จักบ้านโดยคร่าว เชื่อเลยว่าปั้นชอบอยู่ในสวน ตอนที่เรามาถึงเขาก็กำลังง่วนอยู่กับการรดน้ำต้นไม้

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

น้อง เจ้าของบ้านและแม่ครัวประจำวันนี้มีพื้นฐานเป็นเด็กศิลปหัตถกรรมจากเพาะช่าง ก่อนจะจบออกมาทำงานเป็นสไตลิสต์ให้กับนิตยสารบ้านทั้งหลาย ใกล้เคียงที่แอบคิดไว้ตั้งแต่มัธยมว่าอยากเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ รวมถึงเป็นสไตลิสต์สารพัดอย่างที่เกี่ยวกับกับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยด้วย

ส่วน ปั้น เดินทางสายกราฟิกมาตั้งแต่มหาลัยจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับคนรัก เขาทำงานนิตยสารมาหลายหัว ตั้งแต่ยุครุ่งเรือง หัวนั้นปิดก็ต่ออีกหัว ย้ายไปเรื่อย ๆ จนนับไม่ไหว

“โต๊ะตัวนี้มาจากตอนทำ ‘บ้านอุ้ม’ พอปิดตัวแล้วก็แยกย้ายกัน ถ้าเป็นกราฟิกก็จะได้โต๊ะแบบนี้ไปคนละตัวเลย อยู่มาเกิน 15 ปีแล้ว เพราะเราเอาไปด้วยทุกที่” ปั้นพูดถึงโต๊ะที่ทุกคนนั่งล้อมกันอยู่ พร้อมชี้ให้ดูช่องเซอร์วิสสายไฟที่บ่งบอกประวัติการทำงานออฟฟิศของโต๊ะ

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย
บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

นอกจากงานส่วนตัวของใครของมัน ทั้งคู่ก็เปิดไลฟ์สไตล์ช็อปแสนเก๋ชื่อ ‘Punch Whale’ มาด้วยกันกว่า 10 ปีแล้ว 

พวกเขาเริ่มจากขายสิ่งที่เขาชอบ อย่างของกระจุกกระจิกตกแต่งบ้าน หรือเสื้อผ้าที่สั่งตัดจำนวนไม่เยอะ ตามงานเปิดท้ายขายของ (Art Market ในยุคถัดมา) โดยไม่ได้คิดว่าจะนิยามร้านว่าอะไร อาจเรียกว่าโชห่วยก็ได้ แต่ ‘ไลฟ์สไตล์ช็อป’ นั้น เป็นคำอธิบายเท่ ๆ ที่ตามมาทีหลัง

“ตอนเด็ก ๆ บ้านก็เป็นแค่บ้าน แต่พอโตขึ้น เราอยู่บ้านบ่อยแล้วก็แต่งบ้านไปด้วย จัดไปเรื่อย ๆ ถ้าอยู่บ้านคนเดียวก็จัดบ้านตลอดเวลา” ปั้นตอบเมื่อเราถามถึงความหมายของ ‘บ้าน’ ในแบบของตัวเอง เขาเป็นคนแอคทีฟที่อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ในเวลากลางวัน

ส่วนน้องตอบคำถามด้วยการเล่าย้อนตั้งแต่บ้านที่อยู่หลังแรก ซึ่งอยู่กับผู้ที่เลี้ยงดูเธอมาเหมือนลูก จนย้ายมาอยู่หอพักขนาดกะทัดรัดในวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น แล้วเขยิบไปซื้อคอนโดมือสองกับปั้น อยู่ราว 8 – 9 ปี จนผูกพัน แม้แต่ตอนนี้ก็ยังคิดถึงคอนโดนั้น

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

“ตอนยังไม่แต่งงานก็อยู่ที่นั่นกัน คน 2 คน แมว 3 ตัว อยู่ในห้องสตูดิโอเล็ก ๆ 29 ตารางเมตร ระเบียงก็คือห้องครัว ส่วนในห้องก็มีของที่ทำงานสไตลิสต์ทุกอย่าง” น้องพูดถึงคอนโดที่จากมา ทำเอาเราตกใจว่าของทั้งหมดที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ ใส่เข้าไปในห้องสตูดิโอนั้นได้ยังไง “คนอื่นเขาจะเรียกกลับห้อง กลับคอนโด แต่พี่เรียกที่นั่นว่าบ้าน นี่คือบ้านกู! (หัวเราะ) บ้านก็คือพื้นที่ของเรา

“สำหรับพี่ตอนนี้ บ้านก็คือสิ่งปลูกสร้าง แต่ความสำคัญของบ้านคือคนที่อยู่กับเรา ช่วงเวลาที่เราใช้ในบ้าน และข้าวของในบ้าน ส่วนความสุข ความทุกข์ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับพี่

“แต่บ้านฉันต้องสวยด้วยนะ” สไตลิสต์สาวหัวเราะอารมณ์ดีอีกครั้ง

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

ขณะที่บทสนทนากำลังดำเนินไปในตัวบ้าน แดดบ่ายที่กระทบต้นไม้ซึ่งชุ่มฉ่ำจากการดน้ำเมื่อครู่ ก็พาให้สวนด้านนอกดูมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง รวมถึง ‘เหลืองปรีดียาธร’ นักแสดงนำที่ตระหง่านอยู่กลางสวนด้วย

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

จากที่ต้องการแค่ตัวเองกับเตียงก็มีชีวิตอยู่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคู่เริ่มต้องการพื้นที่ที่มากกว่านั้น อยากมีพื้นที่ทำครัว มีตู้เย็น มีเสื้อผ้า และที่สำคัญ ต้องการพื้นที่เก็บสารพัดของจากการทำงานที่อัดแน่นในคอนโดขนาด 29 ตารางเมตรไม่ไหว จนบางครั้งที่รับจัดงานแต่ง ดอกไม้ก็เริ่มลามออกมาหน้าประตูและไหลไปตามทางเดินในบางครั้ง

“เราชอบบ้านมือสองอยู่แล้ว ถ้าไปเสิร์ชอ่านอะไรตามอินเทอร์เน็ต จะเจอว่าบ้านมือสองดีสำหรับการเป็นบ้านให้อยู่อาศัย แล้วเราก็พยายามเลือกจากชุมชนที่เคยชิน แถวซอยบางขุนนนท์”

บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย
บ้านมือสองของสไตลิสต์มากสัมภาระ ผู้ปฏิญาณจะเลิกช้อปและหันมาจัดของที่มีให้สวยหยิบง่าย

แต่นี่ก็ไม่ใช่แถวนั้นนี่ – เราแย้งขึ้นมา นึกขึ้นมาได้ว่าวันนี้เราเผชิญรถติดกันมาถึงบางใหญ่

“ไม่ แถวนี้ไม่คุ้นเลย ไม่เคยมา” เธอตอบเรียบ ๆ

กลายเป็นว่ามาเจอบ้านนอกโลเคชันเป้าหมาย เพราะพี่ที่รู้จักกันแนะนำให้มาดู เจ้าของบ้านก็เป็นคนรู้จักกัน 

“มันเชื่อมโยง เคยได้ยินคำนี้มั้ย บ้านเลือกเจ้าของ เราเดาว่าบ้านนี้เลือกเรา ละแวกบ้านก็ไม่คุ้น ตัวบ้านก็ใหญ่ไป แต่มาเห็นแล้วชอบพี่ก็ปักใจของพี่ พี่รู้สึกดีกับตัวบ้าน แล้วมันก็มีต้นไม้ที่ชอบอยู่ เราก็จินตนาการไปแล้ว” 

น้องชอบ เหลืองปรีดียาธร หรือตาเบบูย่ามาแต่ไหนแต่ไร แต่เวลาไปเดินตลาดต้นไม้ก็ไม่เคยเห็นว่าจะมีขาย เห็นว่าตามข้างทางมีปลูกเยอะ เธอถึงขั้นอยากไปถาม กทม. เลยทีเดียว เมื่อบ้านนี้มีเหลืองปรีดียาธรต้นใหญ่ปลูกอยู่กลางสวน จึงยากที่เธอจะเปลี่ยนใจไปรักบ้านหลังอื่นได้

ปลุกชีวิตบ้านที่เคยทิ้งร้าง ด้วย 2 คนดีไซน์ 4 แมวเหมียว และทักษะการจัดวางสารพัดข้าวของฝีมือสไตลิสต์

บ้านนี้ร้างมา 10 ปี เมื่อซื้อมาและตกลงกันว่าจะทำให้เป็นบ้านตัวเองโดยไม่ใช้เงินไปกับการรีโนเวตมากมาย ก็กลายเป็นว่าคาแรกเตอร์หลักของบ้านจะมาจากข้าวของที่ทั้งคู่จัดวาง

“พอมาแต่งบ้านตัวเองแล้วคิดเยอะนะคะ มันเป็นธรรมชาติของเราไปแล้ว เราเป็นสไตลิสต์เลยติดการ หยิบ จับ ยก วาง มาจากการทำงาน” การแต่งบ้านของเธอนั้นเป็นไปด้วยความชอบ ณ เวลานั้น แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลย คือความชอบของสีแดง ที่ไม่ใช่แดงทั้งผืน 

“มันเหมือนการวาดภาพที่ต้องค่อย ๆ หยอดให้สดใส พี่ปั้นเขาให้คำจำกัดความว่า ‘ชีวิตชีวา’ ” น้องว่า 

เรากวาดตามองไปรอบห้องนั่งเล่น จริงอย่างว่า พวกเขากระจายไอเทมสีแดงไปในจังหวะคอมโพสิชันที่น่ารัก จุดสะดุดตาเราที่สุดคงเป็นลังไม้สีแดงสำหรับใส่เครื่องดื่ม แต่นำต้นไม้ที่ปลูกในขวดมาวางแทน ทำให้ดูมีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก หากนี่ไม่ใช่บ้านพี่น้อง แต่เป็นร้าน Punch Whale เราคงควักกระเป๋าซื้ออย่างไม่ต้องสงสัย

ปลุกชีวิตบ้านที่เคยทิ้งร้าง ด้วย 2 คนดีไซน์ 4 แมวเหมียว และทักษะการจัดวางสารพัดข้าวของฝีมือสไตลิสต์

ของในบ้านที่สไตลิสต์สาวรักและภูมิใจในตอนนี้ คือตู้เก็บถ้วยชามที่เธอสั่งทำเองจากจตุจักร โดยถ้วยชามกองใหญ่ในตู้มาจากการที่เธอเคยทำ Food Styling มาก่อน

อย่างที่เล่าไปว่าเธอมีของเยอะมาก และการที่เคยอยู่แต่คอนโดทำให้ของพวกนั้นได้แต่นอนนิ่งอยู่ในกล่อง ไม่ค่อยถูกหยิบมาใช้ พอจะใช้ก็หาไม่เจอ หนักเข้าก็ลืมว่ามีจนต้องซื้อใหม่ซ้ำ ๆ การมีบ้านเดี่ยวที่มีสเปซใหญ่ขึ้น แล้วนำของมาจัดวางให้สวยและมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความฝันของเธอ

ปลุกชีวิตบ้านที่เคยทิ้งร้าง ด้วย 2 คนดีไซน์ 4 แมวเหมียว และทักษะการจัดวางสารพัดข้าวของฝีมือสไตลิสต์

ในตอนนี้ของทั้งหมดได้ระเบิดออกมาจากคอนโดเก่า และย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านหลังนี้อย่างเป็นระเบียบ เราถามพวกเขาว่าของเหล่านี้มาจากไหนบ้าง ได้ความว่าเป็นของที่ชอบซื้อตอนไปเที่ยว จากห้างร้านทั่วไปบ้าง ตลาดมือสองบ้าง โกดังญี่ปุ่นบ้าง โดยมีประเภทของแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

“ช่วงที่ทำอาหาร พี่ก็จะซื้อจาน ชาม ช้อน หม้อ ถ้วย ถัง กะละมัง” น้องเล่า

“ช่วงที่ทำสวน เราก็ซื้อต้นไม้ ดิน ปุ๋ย อุปกรณ์ทำสวน ออกจากซอยไปก็ซื้อ ไปสวนจตุจักรก็ซื้อ” ปั้นเล่าบ้าง “เหมือนเรามีกล่องความอยากได้ของเรา พออยากได้ก็ซื้อไอ้พวกนั้นมา พอเต็มกล่องเราก็ไปเปิดกล่องอื่น”

น้องชี้ให้เราดูไม้พายที่พิงอยู่ข้างประตู เธอซื้อมาเพราะความอยากได้และบอกตัวเองว่าวันหนึ่งจะได้ใช้เป็นพร็อปในการทำงาน แต่วันนั้นก็ยังไม่มาถึง พร้อมอธิบายถึงคำว่า ‘โรคเวรโรคกรรม’ ของคนทำงานสไตลิสต์

ปลุกชีวิตบ้านที่เคยทิ้งร้าง ด้วย 2 คนดีไซน์ 4 แมวเหมียว และทักษะการจัดวางสารพัดข้าวของฝีมือสไตลิสต์

“ถ้าจัดบ้านนี้ลงตัวจะไม่ซื้ออะไรเข้ามาอีกแล้ว มันเยอะเกินพอแล้วที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้” น้องปฏิญาณเสียงมุ่งมั่น ราชินีนักจับจ่ายวางมือเสียแล้ว “โตขึ้นพี่ไม่อยากเป็นแบบนี้ พี่ไม่อยากมีภาระกับข้าวของ”

ปั้นบอกว่าความสุขของพวกเขาคือการได้เลือกของสวยงาม เลือกมาขายในร้านบ้าง เลือกมาจัดบ้านให้คนอื่นบ้าง แต่สำหรับบ้านตัวเอง ตอนนี้พวกเขาเริ่มชะลอลง ตั้งใจว่าจะจัดการกับสิ่งที่มีอยู่ให้ดี

นอกจากซื้อน้อยลงแล้ว พวกเขากำลังจะฝึกปล่อยด้วย จากที่เคยคิดว่า “อย่าขายเลย เสียดาย เราต้องใช้ทำงานอีกมั้ยนะ ถ้าขายไปก็หาไม่ได้แล้วนะ” ก็ฝึกตัดใจให้ขาด

“เหมือนธรรมะ” น้องสรุป

“อย่างโต๊ะตัวนี้ ถ้าย้ายบ้านอีกทีก็คงไม่เอาไป” ปั้นกลับมาพูดถึงโต๊ะกลางบ้านอีกครั้ง ก่อนน้องจะเสริมถึงภาพอนาคตที่มองไว้ ว่าหากต้องมีบ้านอีกหลัง บ้านหลังนั้นจะเล็กมาก ๆ มีแต่สวนใหญ่ ๆ และของที่จำเป็น

ตู้ที่น้องภูมิใจ และข้าวของในนั้นคงเป็นสิ่งที่พวกเขาเลือกเก็บไว้ในชีวิตตอนนี้ แต่หากอนาคตต้องย้ายไปบ้านหลังเล็กซึ่งไม่มีพื้นที่พอดีสำหรับตู้ ก็เป็นไปได้ที่ตู้จะต้องออกเดินทางไปหาเจ้าของใหม่ ๆ 

ธรรมดาแค่นั้นเลย

ปลุกชีวิตบ้านที่เคยทิ้งร้าง ด้วย 2 คนดีไซน์ 4 แมวเหมียว และทักษะการจัดวางสารพัดข้าวของฝีมือสไตลิสต์

เดี๋ยวนี้ถ้วยชามในตู้ไม่เหงาอีกต่อไปแล้ว เพราะน้องตัดสินใจเปิด Nong’s Table (คล้าย ๆ Chef’s Table นั่นแหละ) ชวนเพื่อน ๆ มากินอาหารใต้ตอนเย็นเป็นระยะ จากเดิมที่เคยทำที่โรงแรมลอยละล่องมาก่อน

“พี่ปั้นเขาชอบพูดว่า บ้านนี้ชอบคน ชอบให้มีเพื่อนมาเยอะ ๆ” น้องยิ้มกว้าง เธอบอกว่าถ้าบ้านนี้มีชีวิต ก็น่าจะเป็นคนใจดีเหมือนกับน้องและปั้น

“พี่อยู่บ้านนี้ พี่ได้จูนกับพี่ปั้นเยอะขึ้น พอมาอยู่บ้านมันต้องแชร์กันมากขึ้น เพราะมีหลายอย่างต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ก็มีความสุข”

บทสนทนาในวันนั้นจบลงที่โต๊ะซึ่งมีอาหารไม่ผัก ไม่เผ็ด ฝีมือเชฟน้อง และบรรยากาศนอกบ้านที่มืดลง โดยคืนนี้เป็นคืนวาเลนไทน์พอดี

ปลุกชีวิตบ้านที่เคยทิ้งร้าง ด้วย 2 คนดีไซน์ 4 แมวเหมียว และทักษะการจัดวางสารพัดข้าวของฝีมือสไตลิสต์
ปลุกชีวิตบ้านที่เคยทิ้งร้าง ด้วย 2 คนดีไซน์ 4 แมวเหมียว และทักษะการจัดวางสารพัดข้าวของฝีมือสไตลิสต์

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์