โลกยุคนี้น่าสนุกตรงที่มี ‘คำบัญญัติใหม่’ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปให้เราเรียนรู้อยู่เสมอ จริงอยู่ที่ว่าเราไม่ต้องตามทันทุกอย่างจนกลายเป็นคน FOMO (Fear of Missing Out) ขนาดนั้น แต่หลายครั้งการทำความเข้าใจที่มาที่ไปในเบื้องลึกของสิ่งเหล่านั้นก็สนุกดี ทำให้เราได้รู้จักโลกในแง่มุมใหม่ ๆ และมากไปกว่านั้น มันอาจนำไปสู่ทางเลือกใหม่ ๆ ในชีวิตเลยก็ได้

คราวนี้เราจะพูดถึง ‘Digital Nomad’ ซึ่งนิยามสั้น ๆ ของคนเหล่านี้คือ กลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก และใช้ชีวิตแบบไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง โดยต่างจากฟรีแลนซ์ตรงที่ไม่ได้โฟกัสที่สัญญาการจ้างงานที่เป็นอิสระ แต่โฟกัสที่สถานที่ทำงานที่เป็นอิสระแทน

เมื่อ Digital Nomad ครองเชียงใหม่ แล้วอะไรคือโอกาส-ความท้าทายในการพัฒนาเมือง

แต่ที่พิเศษ ไม่ใช่แค่นิยามศัพท์เพียงเท่านั้น

ข้อมูลทางสถิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ ช่วง 20 ปีหลังมานี้ เชียงใหม่ไม่เพียงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คนกรุงฯ ชอบมาพักผ่อน ต่างชาติชอบมาเยือน แต่กลายเป็นแหล่งสำคัญที่ชาว Digital Nomad หลากหลายประเทศทั่วโลกเลือกอาศัยอยู่

จังหวัดนี้มีดีอะไร ทำไมผู้คนต้องแห่กันมา เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง และเมืองอื่น ๆ ต้องปรับตัวให้รองรับเหล่า Digital Nomad รึเปล่า ‘เมียงเมือง’ คอลัมน์ใหม่แกะกล่องที่พูดถึงเรื่องเมืองในแง่มุมสนุก ๆ จะพาทุกคนไปหาคำตอบ 

โดย ดร.จิรันธนิน กิติกา อาจารย์หัวใหม่แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ แอม-เอมิลิญา รัตนพันธ์ Digital Nomad สาวไทยผู้ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปทำงานทั่วโลก ก็จะมาร่วมแสดงความคิดเห็นกับเมียงเมืองในวันนี้

Why moving?

จิรันธนินเล่าให้ฟังว่า จริง ๆ แล้ว Digital Nomad เป็น Term ที่ไม่ได้ใหม่นัก แต่เกิดมาตั้งแต่ปี 1997 ที่โลกกำลังเข้าสู่ศตวรรษแห่ง Digital Life โดย Tsugio Makimoto ชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน

ในปี 1997 Digital Nomad เป็นเพียงนิยามของคนที่ ‘ทำงานแบบหลุดพ้นจากเวลาและสถานที่’ แต่เมื่อปี 2004 คำนี้ก็ถูกนำมาวิพากษ์ต่อโดยนักวิจัยเชิงสังคม Tanya Mohn และมีการพูดถึง Gen N ซึ่งเป็นคนระหว่าง Gen Y และ Z เกิดตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นไป ซึ่งไม่เคยไม่มีคอมพิวเตอร์ ทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้ทุกเวลา

Tanya Mohn เรียก Gen N ว่าเป็นคน New Rich (ความรวยใหม่) ซึ่งความรวยนั้นไม่ได้หมายถึงอาชีพที่มั่นคง มีบ้าน มีรถอีกต่อไป แต่หมายถึงการร่ำรวยประสบการณ์ ความหมายของ Digital Nomad ในปี 2004 เป็นต้นมาเลยรวมถึงคุณค่าเหล่านี้ด้วย

เมื่อ Digital Nomad ครองเชียงใหม่ แล้วอะไรคือโอกาส-ความท้าทายในการพัฒนาเมือง

แล้วความน่าสนใจก็เกิด เมื่อความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และ Digital Nomad ยุคปี 2011 เป็นต้นไป เริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกประเทศกันแพร่หลายมากขึ้น ประเทศที่ต่างชาติมองว่า Exotic อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ก็ติดอันดับจุดหมายปลายทางหลัก โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ ก็เคยติด Top 10, Top 5 รวมไปถึงอันดับ 1 เลยทีเดียว

“พี่ไปอยู่ต่างประเทศยาว ๆ มา 3 ปี กับแฟนที่ทำงานออนไลน์เหมือนกัน” แอม สาว Digital Nomad ตัวจริงเสียงจริงเล่าให้เราฟัง

เธอเริ่มจากอเมริกาเหนือ ขี่มอเตอร์ไซค์ลงใต้เรื่อย ๆ บางที่ที่อินเทอร์เน็ตไม่ดีก็แค่ขับผ่าน ที่ไหนเหมาะ ๆ ก็อยู่ยาว ๆ เมื่อพร้อมแล้วก็ออกเดินทางต่อ โดยมีปานามาที่อยู่ 3 เดือน เม็กซิโก 6 เดือน เอกวาดอร์ 3 เดือน เปรูเกือบ 3 เดือน และอาร์เจนตินา 6 เดือน

“ที่ชอบที่สุดคืออาร์เจนตินา เพราะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม นิสัยคนก็ดี กิจกรรมก็เยอะ ได้คิดตลอดว่าเย็นนี้จะไปทำอะไรดี เราก็รู้สึกเอนจอย” แอมเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เธอบอกว่าที่ที่เหมาะต้องมีสถานที่ทำงานให้เลือก อาหารการกินดี ค่าครองชีพรับได้ และมีความเปิดกว้าง

“กับบางเมือง มีร้านกาแฟก็จริง แต่ถ้าเราเอาแล็ปท็อปเขาไปนั่งทำงานยาว ๆ คนในร้านกาแฟอาจจะไม่เข้าใจเรา” เพราะเหตุนี้ จึงไม่ใช่ทุกเมืองจะเหมาะ

ปัจจุบันแอมเลือกปักหลักที่เชียงใหม่มานานถึง 5 ปี แม้ว่าเธอจะสนใจที่นี่เพราะมี ‘โน้ส อุดม’ เป็นไอดอล (เธอเป็นติ่งนั่นเอง) แต่ก็อยู่ต่อเพราะเป็นเมืองที่ถูกจริตชาวดิจิทัลพเนจรอย่างเธอ

นอกจากคนไทยจะชอบไปทำงานที่เชียงใหม่ จิรันธนินเผยว่า เชียงใหม่เป็นที่นิยมสำหรับ Digital Nomad ต่างชาติ เพราะค่าครองชีพที่พวกเขาคิดว่าถูก ทั้งยังใช้ชีวิตแบบ Modern Man ได้ มีครัวซองต์ให้กิน มีกาแฟดี ๆ มีริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ตให้ซื้อของ มีสนามบินนานาชาติ ในทางกลับกันก็มีที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เดินทางไปได้แบบไม่ไกลนัก 

แม้ว่าเมืองเชียงใหม่จะขยายโดยไม่คำนึงถึงคนเท่าไหร่ งานในเมืองก็รายได้ต่ำ (เกินไป) แต่สำหรับจิรันธนิน เชียงใหม่ก็ ‘ดีสำหรับคนพลัดถิ่น’ ที่ทำงานรับเงินจากต่างประเทศ พวกเขาไปไหนมาไหนได้สะดวกเมื่อเช่ามอเตอร์ไซค์ ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะมีกลไกซื้อส่งต่อรถกันเองเป็นเครือข่าย

อาจารย์จิรันธนินวิจัยโดยใช้ตัวละคร 5 ตัว จาก 5 อาชีพหลักของเหล่า Digital Nomad ได้แก่ Digital Software, คนทำ Logistic, Content Creator, Designer และคนที่เชื่อในวัฒนธรรมอื่น เช่น สาย Sustainable หรือ Feminist

“5 คนนี้ เขาเป็นคนที่ได้เปรียบในการเข้ามาประเทศไทยหมดเลย เขาเป็นคนขาว” อาจารย์พูดถึง White Privilage เมื่อเราถามถึงอัตลักษณ์ของ Digital Nomad ในเชียงใหม่ “เขาได้เปรียบจากการถือสัญชาติ รายได้ต่อเดือนที่สูงกว่า และพลังบางอย่างของวีซ่า เขาสามารถ Hopping จากเชียงใหม่ ไปฮอยอัน ข้ามไปเสียมเรียบ บาหลีได้ ทั้งหมดเป็นประเทศที่เขาได้เปรียบในการถือวีซ่า

“เขามีชอยส์มากกว่าคนในประเทศด้วยซ้ำ”

เมื่อ Digital Nomad ครองเชียงใหม่ แล้วอะไรคือโอกาส-ความท้าทายในการพัฒนาเมือง

อย่างที่เราพูดเรื่อง New Rich ไปในตอนต้น แทนที่จะเป็นเงินหรือของแพง ๆ พวกเขาเหล่านี้ก็ ‘อวดรวย’ กันด้วยประสบการณ์แปลกใหม่อย่างการได้ขี่ช้าง นอนอาบแดด ลองชิมกาแฟผสมอะโวคาโด นั่นแหละ

ตอนนี้ Digital Nomad ต่างชาติในเชียงใหม่อยู่ได้โดยการเล่นแร่แปรธาตุ อาศัยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ใช้วีซ่านักเรียนและลงเรียนภาษาไทย แต่ในอนาคตคงไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะไทยกำลังจะปั้น Smart Visa ให้คนเหล่านี้อยู่ได้ฟรี ๆ ได้ถึง 4 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเกิดขึ้นจริง จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วแต่ว่าเราจะมองในแง่มุมไหน

โดยจากการค้นคว้าของผู้เขียน Migration Policy Institute รายงานว่า เกินกว่า 25 ประเทศเพิ่งออกวีซ่าที่เป็นมิตรสำหรับ Digital Nomad ซึ่งเป็นการปฏิรูปนโยบายคนเข้าเมือง และหวังว่าจะช่วยชดเชยรายได้ที่เสียไปในช่วงโรคระบาดได้ นี่ก็เป็นอีกข้อมูลที่น่าสนใจ

เมื่อ Digital Nomad ครองเชียงใหม่ แล้วอะไรคือโอกาส-ความท้าทายในการพัฒนาเมือง

What’s next?

เมื่อมีกลุ่มคนใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ แน่นอนว่าเมืองก็ต้องเปลี่ยนไป

จากการวิจัย จิรันธนินพบว่า ความ ‘ต้นทุนถูก’ ของเชียงใหม่ ทำให้ Digital Nomad ต่างชาติทั้งหลาย ทั้งเช่าบ้าน เช่าเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ ทั้งเช่าออฟฟิศกันมากมาย เวลาผ่านไป ผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ ก็เริ่มเห็นศักยภาพในหาลูกค้าต่างชาติ จนเกิดดีลพิเศษต่าง ๆ ในย่านสันติธรรมและช้างเผือก ส่วนผู้ประกอบการที่รู้ทันก็เริ่มทำธุรกิจ Co-working Space รูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ชาว Nomad เป็นพิเศษ

พื้นที่ที่เหล่า Nomad เข้าไปใช้ มักจะเป็นอาคารเก่า รีโนเวตใหม่ออกมาคลีน ๆ ไม่ได้มีคาแรกเตอร์เป็นพิเศษ และมีเฟอร์นิเจอร์ที่ ‘Anti-office’ ดูไม่เหมือนที่ทำงาน หากแต่เป็นโซฟา โต๊ะ Daybed ต่าง ๆ โดยทั้งหมดจะไม่เป็น Fixed Furniture เพราะจะต้องปรับพื้นที่เป็นห้องสัมมนาหรือห้องประชุมได้ ซึ่งย่านหลัก ๆ มี 3 ที่ คือ สันติธรรม เจ็ดยอด และหลัง ม.เชียงใหม่ ที่ทั้งใกล้หอพักและใกล้แหล่งอาหารการกิน

เมื่อ Digital Nomad ครองเชียงใหม่ แล้วอะไรคือโอกาส-ความท้าทายในการพัฒนาเมือง
เมื่อ Digital Nomad ครองเชียงใหม่ แล้วอะไรคือโอกาส-ความท้าทายในการพัฒนาเมือง

การมีอยู่ของ Digital Nomad ในเชียงใหม่ ทำให้เศรษฐกิจของเมืองเปลี่ยนไปไหม – เราถาม

“ผมว่าส่งผลกับเศรษฐกิจระดับกลาง กับนักธุรกิจที่หาเงินกับ Nomad แต่ระดับฐานรากหรือระดับรัฐไม่เกี่ยว รัฐไม่ได้อุปถัมภ์ให้ฐานรากดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ป้าขายข้าวแกงติดต่อกับ Nomad ได้ ไม่ได้ออกแบบ Smart City เพื่อ Nomad” จิรันธนินตอบ “รัฐมองเห็นว่าจะได้เงินจากกลุ่มที่มาอยู่ แต่ไม่ได้สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เมือง แล้วก็ไม่ได้เข้าใจการต่อรองของทั้งคนอยู่และคนพลัดถิ่นด้วย”

นอกจากนี้ เขายังมองว่ามีผู้คนน่าสนใจมากมายที่เข้ามาในเมืองเชียงใหม่ จะให้องค์ความรู้ที่หลากหลายแก่นักเรียน นักศึกษาได้ด้วย

ข้อหนึ่งที่เราเป็นกังวลหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Nomad เต็มเมืองเชียงใหม่ คือสักวันหนึ่ง เชียงใหม่จะเต็มไปด้วยคนต่างถิ่น สถาปัตยกรรมเดิม ๆ ก็จะถูกดัดแปลงเป็น Co-working Space หน้าตาเรียบง่ายไปเสียหมด ไปจนถึงการ Gentrification (การเปลี่ยนแปลงและเข้าไปแทนที่ของชนชั้นในชุมชน) อย่างชัดเจน แต่จิรันธนินเห็นต่าง

เขามองว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เมืองนี้ก็จะไม่ตอบโจทย์ชาว Nomad ที่มีค่านิยม New Rich อยากสัมผัสประสบการณ์เฉพาะท้องที่อีกต่อไป 

“ผมเชื่อว่าสุดท้ายมันจะสมดุล” นักวิจัยยืนยัน “เขามองว่าพวกนี้คือต้นทุนที่พวกเขาจะได้มาเที่ยว เขาไม่ทำลายต้นทุนตัวเองหรอก”

เมื่อ Digital Nomad ครองเชียงใหม่ แล้วอะไรคือโอกาส-ความท้าทายในการพัฒนาเมือง
Digital Nomad เป็นใคร ทำไม ‘เชียงใหม่’ ถึงติดท็อปโลกเมืองที่คนเหล่านี้รักมาเกือบ 20 ปี และเราจะต่อยอดอะไรได้บ้าง

นอกจากเชียงใหม่ ด้วยโลเคชันที่เป็นทางผ่านจากกรุงเทพฯ ไปอีสาน ตอนนี้โคราชก็กำลังสนใจ ‘ดัก’ Digital Nomad เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่โคราชต้องเข้าใจก็คือธรรมชาติของ Nomad ว่าชอบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่แข็งเกร็ง ไม่ใช่การไหว้พระ 9 วัด แต่เป็นการสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องที่ และต้องทำให้เมืองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสะดวกสบาย ไปไหนมาไหนง่ายด้วย

“ถ้าจะเป็น Nomad Destination ที่ดีกว่าเชียงใหม่ ต้องถอดบทเรียนจากเชียงใหม่ทั้งข้อดีและข้อเสียไปให้ดีขึ้น” เขาบอกว่าข้อเสียของสถานการณ์ที่เชียงใหม่คือ ตอนนี้เมืองกำลังพัฒนาไม่ทัน และกลางเมืองเป็นพื้นที่คนนอกอยู่ไปแล้ว

“โคราชต้องเป็นพื้นที่ที่คนอยู่และคนพลัดถิ่นอยู่ด้วยกันได้ ร่ำรวยด้วยกันได้ เป็น Sharing Economy ไม่ต้องไปโฟกัสที่ว่าจะเก็บเงิน Nomad ยังไง แต่ลูกหลานเราก็ต้องทำงานได้ดีขึ้นด้วย มันจะต้องถูกคิดเป็นระบบเชื่อมกัน”

แต่ถึงอย่างนั้น จิรันธนินก็ย้ำว่า ทุกเมืองเป็นเมืองแห่งอนาคตได้ และแต่ละเมืองก็มีอนาคตแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อ Nomad เหมือนกันทั้งหมด

Digital Nomad เป็นใคร ทำไม ‘เชียงใหม่’ ถึงติดท็อปโลกเมืองที่คนเหล่านี้รักมาเกือบ 20 ปี และเราจะต่อยอดอะไรได้บ้าง

When nomad becomes normal

แอมเล่าให้เราฟังว่า เธอจะปักหลักที่เชียงใหม่อีกไม่เกิน 5 ปี ตอนนี้เธอเพิ่งมีลูกน้อยมาเป็นสมาชิกคนที่ 3 ของครอบครัว และวางแผนจะใช้ชีวิต 5 ปีถัดไปที่แคนาดา

“พี่ไม่รู้สึกว่าเราต้องยึดติดกับที่ไหนเลย ยิ่งเห็นมาก ยิ่งเปิดโลกมาก” เธอเล่าอย่างสดใส “พี่อยากให้ลูกเห็นว่าโลกมันกว้าง และอยากให้ลูกเปิดกว้างเรื่องเจนเดอร์”

ชาว Nomad นั้นเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ๆ นี่คงเป็นโจทย์ท้าทายของเมืองต่าง ๆ ที่จะทำให้ Nomad รุ่นใหม่ มีทัศนคติและความต้องการใหม่ ๆ อยากมาสัมผัสประสบการณ์ และอยากมาร่วมขับเคลื่อนเมืองอยู่เสมอ ซึ่ง Digital Nomad Family อย่างครอบครัวของแอมก็ถือเป็นภาพใหม่และโจทย์ใหม่ของยุคนี้ ต่างจากเมื่อก่อนที่จะมีภาพเป็นคนซ่าวัย 20 กว่า

สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่า Digital Nomad ยุคนี้เดินทางไปทั่วโลก และทำให้เรารู้สึกถึงความเป็น Global Citizen ในตัวพวกเขา แต่สำหรับเรา ทุกที่ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน เพราะผู้คนยังไม่สามารถย้ายไปไหนมาไหนในโลกโดยไร้เงื่อนไขขนาดนั้น 

ต่างชาติที่เข้ามาอยู่เชียงใหม่ก็เป็นคนขาวจากประเทศโลกที่หนึ่งที่ถือเงินใหญ่กว่า และมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าหลายอย่าง

คนเอเชียยังต้องคำนึงถึงอันตรายจากกระแส Asian Hate แล้วทำการบ้านตอนเลือกประเทศให้ดี

ผู้หญิงยังต้องระวังตัวให้มาก ๆ อย่างที่แอมเล่าว่า หากแฟนหนุ่มไม่ได้ไปด้วย เธอก็คงไม่มีโอกาสได้ไปเยือนหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม Digital Nomad ก็จะเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาเมืองยุคใหม่แน่นอน

Digital Nomad เป็นใคร ทำไม ‘เชียงใหม่’ ถึงติดท็อปโลกเมืองที่คนเหล่านี้รักมาเกือบ 20 ปี และเราจะต่อยอดอะไรได้บ้าง

ขอบคุณสถานที่ Punspace สาขา Tha Phae Gate (แผนที่) และ สาขา Wiang Kaew (แผนที่)

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย