“นี่ครั้งแรกเลยนะที่ผมมาถ่ายรูปตรงนี้” 

เพชร-ภณวาท โกชุม เอ่ยยิ้ม ๆ ก่อนวิ่งถลาไปอีกฝั่ง มองขวา แลซ้าย แล้วก้าวตัวเดินข้ามทางม้าลายมาช้า ๆ ท่ามกลางแสงแดดแจ่มจ้า แม้ล่วงยามบ่ายคล้อย

แรกได้ฟังประโยคบอกเล่าข้างต้น ผมเองค่อนข้างประหลาดใจ ก็ใครเล่าจะคิดว่าผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ‘iChiangmai’ เพจเฟซบุ๊กที่เปรียบเสมือนไกด์บุ๊กยุคใหม่ของคนที่สนใจเรื่องราวเชียงใหม่ จะไม่เคยมีรูปคู่กับมุมมหาชนหน้าร้านหวายน้ำผึ้ง ย่านช้างม่อย ซึ่งเขามีส่วนไม่น้อยในการปลุกให้ปัง จากการสร้างสรรค์คอนเทนต์ชวนสัมผัสมนตร์เสน่ห์ ฉบับ One Day Trip ย่านชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ มียอดไลก์ ยอดแชร์ กระจุยกระจาย

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังทำให้ผมฉงนอีกต่อ เมื่อบอกว่า iChiangmai ไม่ใช่สื่อรีวิวอย่างที่หลายคนคิดและไม่ได้คิดจะเป็นสื่อตั้งแต่แรก หากคือแพลตฟอร์มนำเสนอเรื่องราวของผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และกำลังจะกลายร่างสู่บริษัทพัฒนาเมือง

iChiangmai แพลต์ฟอร์ม City Branding ให้เชียงใหม่น่าอยู่ และตั้งใจเป็นบริษัทพัฒนาเมือง

เชียงใหม่ของคุณ

หลังเรียนจบด้านภาพยนตร์และการผลิตสื่อจากอังกฤษ เพชรตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาเปิดบริษัทครีเอทีฟเอเจนซี่ แต่ทำไปสักพักก็พบว่าไม่ใช่ทาง กอปรกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ฉายให้เห็นปัญหาของเมืองและธุรกิจท้องถิ่น เพชรและทีมจึงเปลี่ยนเป้าในวงการโฆษณา หันมาลงแรงกับสิ่งที่อิน นั่นคือปลุกปั้น ‘City Branding’ เพื่อพลิกฟื้นความมีชีวิตชีวาให้แก่เมือง!

“พอตกลงกันว่าจะทำ City Branding ผมก็เริ่มต้นถอดบทเรียนแบรนด์ของเมืองต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ‘I.Seoul.U’ ของกรุงโซล เกาหลีใต้ หรือ ‘I Love New York’ ของนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จากนั้นศึกษาค้นคว้าข้อมูลศักยภาพเมือง ซึ่งพบความโดดเด่นหลายด้านมาก ผมเลยเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า iChiangmai โดย i หมายถึง ตัวคุณ และไม่ว่าคุณจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน เชียงใหม่ก็เหมาะจะเป็นเมืองของคุณ” เพชรเล่าไอเดียการตั้งไข่ บนความตั้งใจอยากทำการตลาดให้เมือง ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น ควบคู่พัฒนาเมืองน่าอยู่อาศัย 

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือคือกุญแจสำคัญในการผลักดันแบรนด์เมืองให้ประสบความสำเร็จ เพชรจึงประเมินพลังขององค์กร พร้อมมองหาโอกาสสร้างเครือข่าย จนได้คำตอบว่าการทำเพจเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจ

มากกว่าเรื่องราว

หากใครเคยผ่านตารูปแบบเนื้อหาของ iChiangmai ผิวเผิน อาจอนุมานกันง่าย ๆ ว่าคล้ายเพจรีวิวร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวมากมายก่ายกอง แต่ถ้าใครเป็นแฟนตัวยงหรือเคยคลิกอ่านบทความสักชิ้น ย่อมสัมผัสได้ทันทีถึงความต่าง

“มันคล้ายสื่อรีวิวที่ไม่ได้รีวิวและไม่มีใครจ้าง แต่คนก็ยังนับว่าเป็นสื่อรีวิวอยู่ดี” เพชรหัวเราะร่วนกับภาพจำในมุมชาวโซเชียล แม้ตัวเขาเองยืนยันว่า นี่เป็นเพียงแพลตฟอร์มนำเสนอเรื่องราวของผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น 

“ผมไม่เคยพูดว่าอาหารจานนี้อร่อยมาก หรือร้านนี้บรรยากาศดีนะ แต่พยายามถ่ายทอดวิธีคิด ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจจากผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจต่าง ๆ ถ้าผู้อ่านได้ศึกษาตัวตนของแต่ละร้านก่อนตามไปอุดหนุน จะทำให้เขาดื่มด่ำและเข้าใจในบริการ หรืออาจมีเรื่องสานต่อประโยคสนทนากันสักอย่าง เราเชื่อว่าความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบ่มเพาะความสัมพันธ์และเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ” 

ไม่เพียงแนวทางนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์ จุดเด่นอีกข้อคือการเปิดลายแทงร้านลับ สารพัดที่กิน-เที่ยว และกิจกรรมฉบับลึกซึ้งถึงถิ่น โดยข้อมูลทั้งหมดได้จากกระบวนการลงสำรวจพื้นที่จริง เพื่อสร้างคู่มือนำเที่ยวท้องถิ่นและสร้างเครือข่ายชุมชน

“การได้ลงพื้นที่ ทำแคมเปญ หรือร่วมกิจกรรมกับชุมชน ทำให้ผมเจอข้อมูลอินไซต์หลายด้านที่นำมาแบ่งปันให้ผู้อ่าน รวมถึงสร้างชุดข้อมูลของแต่ละย่านเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ที่ชัดเจนได้” 

ที่ผ่านมา เพชรมองว่าย่านต่าง ๆ ของเมืองเชียงใหม่ ยังไม่มีชุดข้อมูลมากพอจะกำหนดอัตลักษณ์ โจทย์การทำงานของ iChiangmai จึงไม่ใช่แค่การเสาะแสวงหาคอนเทนต์ ทว่ามุ่งเน้นสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชน เก็บรวบรวมชุดข้อมูลของย่าน แม้แต่การทำความเข้าใจมุมมองความคิดผู้ประกอบการ ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดเมือง และต่อยอด City Branding ให้แข็งแกร่ง

iChiangmai แพลต์ฟอร์ม City Branding ให้เชียงใหม่น่าอยู่ และตั้งใจเป็นบริษัทพัฒนาเมือง
เพชร-ภณวาท โกชุม iChiangmai ทำ City Branding ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น และพัฒนาเชียงใหม่เป็นเมืองที่เอื้อต่อทุกชีวิต

เมืองน่าอยู่

สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปกับเนื้อหาแนวไลฟ์สไตล์ iChiangmai ยังหมั่นสร้างสรรค์ประเด็นเมืองเพื่อกระตุ้นสังคมให้ร่วมคิด ร่วมตั้งคำถาม และผลักดันเชียงใหม่ให้เติบโตไปในทิศทางที่ดียิ่งกว่าเดิม

“ตั้งแต่เริ่มเปิดเพจ ประเด็นเมืองเป็นเรื่องแรก ๆ ที่วางแผนไว้ว่าจะหยิบมานำเสนอ เพราะคิดว่ามันควรเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมากกว่านี้” เพชรเกริ่น ก่อนเล่าถึงที่มาของความตั้งใจนี้ให้ฟังต่อว่า “ตอนผมเรียนที่ประเทศอังกฤษ ผมอาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ชื่อ ลินคอล์น ผมมีโอกาสเที่ยมชมเมืองอื่น อาทิ แมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล กลอสเตอร์ ซึ่งทุกเมืองดูเป็นเมืองหลวงหมด เพราะมีความเจริญและเติบโตทางเศรษฐกิจมาก

“พอย้อนกลับมามองเชียงใหม่ มันทำให้ผมเกิดคำถามว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนั้นไม่ได้ ทำไมเพื่อนผมหลายคนย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ผมเองก็เคยมีจังหวะที่คิดแบบนั้น แต่ยังคงตัดสินใจอยู่ที่นี่ เพราะเชื่อว่าสักวันหนึ่งเมืองแห่งนี้จะออกแบบให้เราอยู่อาศัยได้จริง ๆ จะมีต้นไม้ร่มรื่นอยู่ริมทาง มีนักท่องเที่ยวน้อยลงและเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ หรือมีการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น นั่นคือความหวังและเป็นสิ่งที่ผมกับบริษัทกำลังก่อร่าง แต่พูดไปคนยังมองไม่เห็นภาพ จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามทำ City Branding

“ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวเชียงใหม่ก็ต้องตื่นตัวด้วย การนำเสนอประเด็นเมืองเลยเข้ามา Built-up จุดนี้ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพกว้างและรวมพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน” เพชรเล่าความมุ่งมั่น

‘คุณเหลือเพื่อนอยู่เชียงใหม่กี่คน? ถ้าเมืองมีงาน…สมองจะไม่ไหล’ 

‘ถ้าเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง?’ 

‘อาชีพนี้ที่เชียงใหม่รายได้เท่าไหร่?’ หรือ ‘เชียงใหม่ในมุมมองคนท่องเที่ยว vs คนอยู่อาศัย’

เหล่านี้คือบางส่วนของประเด็นเมืองน่าสนใจที่ iChiangmai หยิบยกมาชวนคิดชวนคุยในโปรเจกต์ ‘Reimagined Chiangmai’ มีเป้าหมายพลิกภาพลักษณ์เชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยสำหรับทุกคน

“ผมได้ยินมาตลอดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ผู้ใหญ่พูด ทุกคนพูด และหวังดีกับเมืองหมด แต่ไม่มีใครทำหรือร่วมมือกันทำจริงจังสักที ในฐานะที่เรากำลังผลักดัน City Branding และประกาศว่าจะทำให้เมืองนี้เป็นเมืองน่าอยู่ ทุกคนอยู่อาศัย ทำงาน และใช้ชีวิตในเชียงใหม่ได้ ฉะนั้นเราต้องแสดงจุดยืนให้ชัด ต้องมีกลยุทธ์ และทางออกให้กับปัญหา เบื้องต้นผมจึงวางประเด็นชวนคนมาแลกเปลี่ยนพูดคุยและตั้งคำถาม สักพักก็เริ่มมีหลายเสียงสะท้อนกลับมาว่า หยุดตั้งคำถามได้แล้ว ให้ลงมือทำเลยดีกว่า 

“นี่เป็นเหตุผลที่ในปีนี้เราจะต้องทรานส์ฟอร์ม” ผู้ก่อตั้งเฉลยก้าวถัดไปของ IChiangmai

เพชร-ภณวาท โกชุม iChiangmai ทำ City Branding ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น และพัฒนาเชียงใหม่เป็นเมืองที่เอื้อต่อทุกชีวิต

บริษัทพัฒนาเมือง

iChiangmai Group คือบริษัทพัฒนาเมืองที่เพชรกำลังเล็งเปิดตัวในเร็ววันนี้ เพื่อเดินหน้าแผนปั้น City Branding ควบคู่พัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการท่องเที่ยว ผ่านการขับเคลื่อน 3 แพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ได้แก่ ‘iC Life’ แพลตฟอร์มนำเสนอข้อมูลข่าวสารเชียงใหม่ไลฟ์สไตล์ ทั้ง กิน-เที่ยว-ช้อป พร้อมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ดึงดูดคนทำงาน ตลอดจนเป็นพื้นที่สนับสนุนและทำการตลาดแก่ธุรกิจท้องถิ่นกว่า 400 ร้านค้า จากฐานข้อมูลของเพจ รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่

ถัดมา ‘Chiangmai Move’ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนและผลิตแคมเปญพัฒนาเมือง และท้ายสุด ‘iChiangmai’ ที่ปรับสู่การเป็นแพลตฟอร์มชู City Branding อย่างเต็มตัว ภายใต้สโลแกน ‘The City of People’

“จากการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้คนมาตลอดระยะเวลาปีกว่า มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดเหมือน ๆ กัน คือ รู้สึกว่าเมืองมันหยุด แต่ความจริงเมืองไม่ได้หยุดหรอก มันแค่พัฒนาใน Direction ที่ไม่ถูกต้อง และพวกเขาไม่ได้อะไรเลยจากสิ่งที่กำลังโต ‘The City of People’ จึงหมายถึง ‘เมืองที่สร้างขึ้นเพื่อผู้คน’ 

“ผมคิดมาจากฐานว่าทุกคนต้องอยู่ได้ เพราะเมืองมีคน เมืองจึงพัฒนา และอยากสื่อสารเป้าหมายว่าเราจะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่เอื้อต่อทุกการใช้ชีวิต ทั้งคนท้องถิ่น คนทำงาน นักท่องเที่ยว และธุรกิจรายย่อย” เพชรอธิบายสโลแกนของแบรนด์เมืองเชียงใหม่ที่เขาวาดหวัง

นอกจากนี้ เขามีแผนผุด ‘กระทรวงวัฒนธรรมสร้างสรรค์’ ถอดโมเดลมาจาก ‘Korea Creative Content Agency’ (KOCCA) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะทำหน้าที่ออกแบบและต่อยอดสร้างสรรค์ต้นทุนทางวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ให้จับต้องง่าย และตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ 

ทั้งหมดนี้ คือ ก้าวต่อไปของ iChiangmai เพจเฟซบุ๊กของคนรักเชียงใหม่ ที่กำลังจะกลายร่างเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่คิดการใหญ่ เพื่อเป้าหมายพัฒนาบ้านเกิดให้น่าอยู่ และชวนอยากทุกคนมาร่วมทำความหวังนี้ให้เป็นความจริงด้วยกัน

เพชร-ภณวาท โกชุม iChiangmai ทำ City Branding ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น และพัฒนาเชียงใหม่เป็นเมืองที่เอื้อต่อทุกชีวิต

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย