ผมลังเลนิดหน่อยที่จะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า “ผมกำลังจะไปอิหร่าน”
ทั้ง ๆ ที่ผมจ่ายค่าอะไรต่อมิอะไรไปเรียบร้อยแล้ว เพราะผมกลัวว่าท่านจะกังวล ด้วยความที่ช่วงเวลาที่ผมเดินทางนั้น (พฤศจิกายน 2022) สถานการณ์ภายในอิหร่านไม่สู้ดีนัก เกิดการประท้วงรัฐบาลมากมาย มีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายคน ที่สำคัญเราทุกคนต่างก็รู้ว่าที่นั่นเป็นประเทศปิด การติดต่อสื่อสารยากลำบาก ทุกอย่างดูมีข้อจำกัดที่ทำให้เป็นประเทศที่ไม่น่าเดินทาง แต่ในที่สุด เมื่อถึงเวลาผมก็ต้องบอกจุดหมายปลายทางกับคุณพ่อคุณแม่ พร้อมทั้งให้หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินเอาไว้เสร็จสรรพ ว่าผมเดินทางกับใครบ้าง บริษัททัวร์ที่รับผิดชอบผมชื่ออะไร และพักที่ไหนบ้างในแต่ละวัน
อันที่จริงแล้วความกังวลเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะภาพจำของอิหร่านที่รับรู้จากสื่อกระแสหลักของโลกเต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้ง ความรุนแรง ความเคร่งครัด และกฎเกณฑ์นานัปการที่ชวนอึดอัด แต่ด้วยความที่ผมสนใจประวัติศาสตร์และการสื่อสารมวลชนเป็นทุนเดิม ผมไม่เคยเชื่อว่าสิ่งที่สื่อกระแสหลักหรือกระแสรองบอกกับเราจะเป็นความจริงทั้งหมด ทุกคนต่างเสนอแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่เลือกมาแล้วว่าอยากให้เรารับรู้ (รวมถึงเรื่องเล่าชิ้นนี้ของผมด้วย) เพราะฉะนั้น ผมอยากไปสัมผัสและรู้จักอิหร่านด้วยตัวเอง และแรงผลักดันสำคัญที่สุดก็คือ ที่นี่เป็นอู่อารยธรรมเปอร์เซียที่ก่อร่างสร้างเมืองจนยิ่งใหญ่มาแล้วตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาล อิหร่านจึงกลายมาเป็นประเทศลำดับที่ 60 ในชีวิตของผม
อย่างไรก็ตาม กติกาการส่งบทความ Travelogue ของ The Cloud อนุญาตให้ผมเขียนต้นฉบับได้เพียง 8 หน้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผมจะเลือกเฉพาะเมืองที่ผมประทับใจสุด ๆ มาเล่าสู่กันฟัง
ส่วนเมืองที่เหลือ ไว้คงมีโอกาสได้นำเรื่องราวมาแบ่งปันในโอกาสต่อไปนะครับ
ชีราซ : แรกพบอิหร่าน
เมืองแรกที่ผมเดินทางไปถึงคือเมืองชีราซ (Shiraz) เมืองสำคัญทางตอนใต้ของประเทศ เป็นเมืองแห่งสีสันของมัสยิดอันสวยงาม สวนเปอร์เซียอันแสนร่มรื่น และอดีตศูนย์กลางแห่งอาณาจักรในหน้าประวัติศาสตร์เปอร์เซียโบราณถึง 2 สมัย ประวัติศาสตร์ของชีราซย้อนกลับไปได้ถึง 2,000 ปี
ด้วยความที่ชีราซตั้งอยู่ทางตะวันออกของอ่าวเปอร์เซียและเชิงเขาซากรอส ทำให้ชีราซเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งผลิตไวน์ชื่อดัง แต่หลังจากการปฏิวัติ ค.ศ. 1979 รัฐบาลใช้นโยบายอย่างเข้มงวดทางศาสนา จึงทำให้การผลิตไวน์ในเชิงอุตสาหกรรมหายไป คงเหลือแต่การ (แอบ) หมักไวน์กันเองในครัวเรือนเท่านั้น
ชีราซเป็นเมืองที่ร่ำรวยด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมถึงขนาดที่ครั้งหนึ่ง ดินแดนอิหร่านถูกรุกรานครั้งใหญ่จากชนชาติมองโกลเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่ชีราซก็ไม่ถูกทำลาย เนื่องจากผู้ปกครองแคว้นชีราซยอมถวายเครื่องราชบรรณาการแด่เจงกิสข่าน
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 – 14 ชีราซถูกมองโกลยึดครองแต่ก็ยังคงสถานะของการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และบุคคลสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือมหากวีชาวเปอร์เซียนามว่า ฮาเฟซ (Hafez) ชื่อจริงคือ คาเจห์ ชามส์ อัด ดิน โมฮัมเหม็ด (Khajeh Shams-al-Din Mohammed) ชื่อฮาเฟซเป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักมากกว่า ฮาเฟซ หมายความว่า ผู้ที่ท่องคัมภีร์อัลกุรอ่านปากเปล่าได้
ฮาเฟซถือว่าเป็นกวีเอกของเปอร์เซียโดยแท้จริง แทบทุกครัวเรือนมีบทกวีของเขาอยู่บนชั้นหนังสือ นักเรียนชาวอิหร่านต้องท่องจำบทกวีของฮาเฟซเป็นอาขยาน และนักดนตรีในสมัยต่อมายังนำเอาบทกวีนี้ไปใส่ทำนองเป็นเพลงพื้นบ้านที่ร้องกันอย่างแพร่หลายด้วย
ความพิเศษในบทกวีของฮาเฟซคือ การกล่าวถึงความรักและเหล้าองุ่น ทั้ง ๆ ที่เหล้าองุ่นเป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติในศาสนาอิสลาม ปริศนาข้อนี้ทำให้เกิดการตีความเกี่ยวกับเรื่องความรักและเหล้าองุ่นในบทกวีของฮาเฟซว่าเป็นตัวแทนของอะไร
นักวรรณกรรมบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่าความรักที่กล่าวถึงอยู่ในบทกวีอาจหมายถึงความรักอย่างสูงสุดที่ฮาเฟซถวายแด่องค์พระอัลเลาะห์ และเหล้าองุ่นนี้อาจเป็นตัวแทนของพิธีกรรมบางอย่างที่ฮาเฟซทำถวายพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้บทกวีของฮาเฟซได้รับการตีความอย่างหลากหลาย และอาจกล่าวได้ว่า ผู้คนทั้งหลายที่ได้อ่านบทกวีของฮาเฟซ ต่างคนก็ต่างมี ‘ความหมายแห่งบทกวี’ ในใจของตนเองซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และนี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของวรรณกรรมฮาเฟซ

ร่างของฮาเฟซฝังอยู่ในสุสานฮาเฟซ (Tomb of Hafez) เมืองชีราซ และกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งผมได้ไปเยือนด้วย ใกล้ ๆ กันกับสุสานเป็นที่ตั้งของ มัสยิดนาเซอร์ ออล มอล์ก (Nasir ol-Molk Mosque) เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวด้วยชื่อ ‘มัสยิดสีชมพู’ (Pink Mosque) เพราะโครงสร้างหลักสร้างด้วยหินสีชมพูอ่อน ๆ ในช่วงเช้าแสงอาทิตย์จะสาดส่องผ่านกระจกสีเข้ามา วาดลวดลายเป็นสีสันบนผืนพรมดูสวยงามแปลกตา

ต่อด้วยไปชมสวนเปอร์เซียอย่าง สวนนาเรนเจสตาน (Narenjestan Garden) เคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของเจ้านาย คำว่า นาเรนจ์ หมายถึง ส้มชนิดหนึ่ง ชาวเปอร์เซียนิยมนำมาปรุงอาหาร มีรสเปรี้ยวคล้ายส้มจี๊ด แต่ผลใหญ่เท่าส้มเขียวหวาน ยังมี สวนอีแรม (Eram Garden) ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่ามีอายุกว่า 1,000 ปีด้วยอีกแห่ง


ตกบ่ายผมกลับเข้าไปพักที่โรงแรมสักหน่อยพอให้หายเหนื่อย ก่อนออกมาลุยตลาดและย่านเมืองเก่าของชีราซต่อในช่วงค่ำ
หลังจากช่วงเวลาที่มองโกลยึดครองอิหร่านผ่านพ้นไป ราชวงศ์ซานด์ (Zand Dynasty) ขึ้นมามีอำนาจปกครองดินแดนแถบนี้ โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองชีราซ ราชวงศ์ซานด์เป็นราชวงศ์ที่มีเอกลักษณ์พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ เจ้าผู้ปกครองมิได้ทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็นกษัตริย์ แต่ทรงใช้คำว่า ‘วากิล’ (Vakil) หรือ ผู้สำเร็จราชการพื้นที่ (Regent) วากิลพระองค์สำคัญคือ คาริม คาน ซานด์

ช่วงเวลาที่เมืองชีราซเจริญมาก มีหลักฐานที่สำคัญคือ ตลาดวากิล (Vakil Bazaar) และ มัสยิดวากิล (Vakil Mosque) สถานที่ 2 แห่งนี้อยู่ใกล้ป้อมคาริม (Karim Khan Fortress)
สำหรับมัสยิดวากิลนั้นถือเป็นหนึ่งในมัสยิดหลวงที่สง่างามที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ประเทศอิหร่าน โดยคาริม คาน ซานด์ ทรงตั้งพระทัยเนรมิตเมืองชีราซให้มีความยิ่งใหญ่สวยงาม

มัสยิดวากิลสร้างขึ้นโดยมีโถงใหญ่ที่มีเพดานโค้ง 2 ห้อง ประดับประดาด้วยจิตรกรรมและหินสีอันวิจิตร มีลานใหญ่โตอยู่ตรงกลาง รอบด้วยซุ้มประตูซึ่งประดับประดาอย่างวิจิตร ด้านในมีห้องละหมาด มีเสาที่แกะสลักอย่างประณีต ดูมั่นคงสง่างามค้ำส่วนเพดานโค้งที่ออกแบบอย่างดีถึง 48 ต้น
นักท่องเที่ยวหลายคนตั้งหน้าตั้งตาจับจ่ายซื้อของใน Vakil Bazaar จนเลยผ่านมัสยิดอันอลังการแห่งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ผมอยากแนะนำให้ขาช้อปเผื่อเวลาสำหรับซึมซับความงามของมัสยิดแห่งนี้สักหน่อย แล้ว 1 วันในชีราซของทุกคนจะสมบูรณ์แบบมาก ๆ ครับ

มหานครเพอร์ซีโพลิส
เช้าวันรุ่งขึ้น ผมมีนัดกับเมืองโบราณขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนหลงใหลอารยธรรมโบราณ นั่นคือเมืองเพอร์ซีโพลิส (Percepolis) เป็นที่มาของการเรียกดินแดนแถบนี้ว่า เปอร์เซีย (Persia)
เพอร์ซีโพลิส หมายถึง เมืองของชาวเปอร์เซีย เป็นโบราณสถานมรดกโลก เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาราห์บัตในที่ราบสูงอิหร่าน มีทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายและขุนเขาเป็นปราการโอบล้อมเมือง ส่วนเขตพระราชฐานตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินเขา

สถานที่แห่งนี้คือหมุดหมายสำคัญที่ พระเจ้าดาริอุสที่ 1 (Darius I) มหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์อาร์คีเมนิดทรงเลือกให้เป็นศูนย์กลางของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ซึ่งเป็นที่นับถือกันในจักรวรรดิของพระองค์ในช่วงเวลานั้น เทพเจ้าสูงสุดของศาสนาคือ เทพอะหูระ มาซดา (Ahura Mazda) ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความจริง ความดี และความยุติธรรม และประทานคำสอนให้ โซโรอัสเตอร์ (ศาสดาชื่อเดียวกับศาสนา) นำเอาพระวจนะมาเผยแผ่ให้ประชาชน พื้นที่ของเมืองเพอร์ซีโพลิสเป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อเวสตะ (Avesta) คัมภีร์ชุดสำคัญของศาสนาโซโรอัสเตอร์


ผมเดินขึ้นบันไดขนาดใหญ่ (Grand Stairway) จนเข้าไปถึงประตูพระเจ้าเซอร์ซิส (Xerxes’ Gateway) สร้างขึ้นในรัชกาลของ พระเจ้าเซอร์ซิส พระราชโอรสในพระเจ้าดาริอุสที่ 1 ไปจนถึงพระที่นั่งอะพาดานา (Apadana Palace) ท้องพระโรงที่กษัตริย์แห่งอาร์คีเมนิดใช้เสด็จออกทรงรับราชทูตซึ่งสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตอลังการ เมื่อเดินต่อไปด้านหลังพบกับพระที่นั่งมหาสมาคมในพระเจ้าเซอร์ซิส (Xerxes’ Hall of Audience or Tripylon) ที่ชวนให้นึกถึงความอลังการในอดีตได้เป็นอย่างดี

พระที่นั่งสำคัญอีกองค์หนึ่งนั่นคือพระที่นั่งหะดีษ (Hadish) เป็นฉากอวสานแห่งเมืองเพอร์ซีโพลิส เพราะเมื่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งมาซิโดเนียทรงเข้าโจมตีเมืองเพอร์ซีโพลิสจนได้รับชัยชนะ พระองค์จัดให้มีการฉลองสมโภชอย่างใหญ่โตมโหฬารจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เพราะมีอุบัติเหตุไฟไหม้ที่พระที่นั่งหะดีษ ซึ่งมีเสาเป็นไม้บนฐานหิน ไม้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีทำให้เปลวไฟลามไปยังพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ ที่เรียงรายกัน นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเพลิงไหม้ครั้งนั้นไม่น่าจะใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการตั้งใจวางเพลิงของของทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเอง ที่ต้องการแก้แค้นที่กองทัพของพระเจ้าเซอร์ซิสเคยไปทำลายวัดวาอารามในเอเธนส์มาก่อน

ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง แปลว่ามนุษย์เราก็อาฆาตพยาบาทกันมาทุกยุคทุกสมัยเลยนะครับ
ยาซด์ : เมืองหวานอันศักดิ์สิทธิ์
หลังจากออกจากเพอร์ซีโพลิส ผมมุ่งหน้าสู่เมืองยาซด์ (Yazd) ศูนย์กลางของศาสนาโซโรอัสเตอร์ในปัจจุบันที่ยังเหลือผู้คนนับถืออยู่ประมาณหลักแสนคน แต่จากคำบอกเล่าของคนท้องที่พบว่า ผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ในอิหร่านกลับมีลักษณะเหมือนพลเมืองชั้นสอง เพราะนโยบายรัฐศาสนาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชาวโซโรอัสเตอร์ก็มีชีวิตโดยภาพรวมผาสุกดี และมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตน

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ชาวโซโรอัสเตรียนหรือผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์นั้นบูชาไฟ แต่อันที่จริงการกล่าวเช่นนั้นก็ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากชาวโซโรอัสเตรียนไม่ถือเอาไฟเป็นเป็นหนทางไปสู่ความหลุดพ้น เพียงแต่พวกเขาให้ความสำคัญแก่ไฟมากเป็นพิเศษ เนื่องจากในบรรดาธาตุทั้ง 4 (Four Elements) คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ชาวโซโรอัสเตรียนมองว่าไฟถือเป็นธาตุที่นำความเจริญมาสู่มนุษยชาติ เพราะใช้หุงหาอาหารได้ ทำให้มนุษย์มีอาหารสุก หลากหลาย และทำให้สุขภาพดีขึ้น

ประการต่อมา ไฟทำให้มองเห็นในช่วงเวลากลางคืนได้ ทำให้การพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ไฟเป็นจุดกำเนิดของพลังงานทั้งหลาย เราพัฒนาเทคโนโลยีได้ก็ด้วยการอาศัยพลังงานความร้อนเป็นส่วนหนึ่งของจักรกลที่เคลื่อนอารยธรรมของมนุษย์ให้ก้าวไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นไฟจึงมีความสำคัญและกลายเป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ และโซโรอัสเตรียนถือว่าไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งการชำระล้างความทุจริตของมนุษย์ออกไป คงเหลือไว้แต่ความสุจริตเท่านั้น

ที่เมืองยาซด์มีวิหารไฟ (Fire Temple) สำคัญของเมืองมีไฟศักดิ์สิทธิ์ลุกโชนมานานหลายศตวรรษที่ดึงดูดให้ศาสนิกชนเดินทางมาแสวงบุญยังเมืองแห่งนี้ ผมเดินทางไปถึงวิหารแห่งนี้ในตอนค่ำ บรรยากาศเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์มาก ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ผมไปเยี่ยมชม คือ หอคอยแห่งความเงียบ (Silent Tower) สถานที่ปลงศพของชาวโซโรอัสเตรียน บนหอคอยนี้ สัปเหร่อเป็นผู้จัดการนำร่างไร้วิญญาณไปวางไว้ให้แร้งจิกทึ้งจนกระทั่งเหลือแต่กระดูก และกวาดกระดูกของผู้ตายลงไปในหลุมตรงกลางหอคอยเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี โดยที่ญาติพี่น้องของผู้ตายแทบไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับพิธีกรรม สุดท้ายชีวิตของเราก็เหลือแค่นี้ สิ่งนี้เป็นสัจธรรมจริง ๆ ไม่ว่าชีวิตของเราจะสั้นหรือยาว



เมืองยาซด์ยังมีเรื่องน่าทึ่งมากมายให้พบเห็น ระหว่างเดินเข้าไปในเมืองเก่า ผมถึงมัสยิดจาเมห์ (Jameh Mosque) ผมรู้สึกว่ามัสยิดในอิหร่านนั้นสวยบาดตาบาดใจไปหมดทุกแห่ง ลวดลายที่ร้อยเรียงต่อกันตั้งแต่ผนัง เสา ไล่ไปถึงโดมเพดาน ละเอียดลออและประณีต ยากจะหาศิลปะไหนเทียบ

ระหว่างเดินอยู่ในเขตเมืองเก่าอันซับซ้อน มัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้ข้อมูลกับพวกเราว่า
เมืองยาซด์เป็นเมืองที่ขนมหวานเลื่องชื่อมาก ความหวานก็หวานแสบทรวงจริง ๆ เพราะโดยสถิติแล้ว เมืองยาซด์มีผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ฟังอย่างนี้แล้วผมก็ขอให้มัคคุเทศก์ช่วยพาพวกเราไปเติมระดับน้ำตาลในเลือดที่ร้านขนมประจำเมืองเสียหน่อย
เมื่อไปถึงก็พบว่าร้านคลาคล่ำไปด้วยผู้คน มีเสียงจ้อกแจ้กจอแจไปหมดทั้งคนซื้อคนขาย แค่เห็นบรรยากาศก็อร่อยแล้วครับ สุดท้ายผมเลยซื้อขนมกล่องใหญ่ ๆ มา 2 กล่อง แต่ไม่ได้กินคนเดียว เพราะกลัวเบาหวานขึ้นตาเอาเหมือนกัน ผมเอาขนมกล่องนั้นมาแจกจ่ายสมาชิกร่วมทริปคนอื่น ๆ รวมถึงพี่คนขับรถและพนักงานประจำรถด้วย อิ่มหนำสำราญหวานเจี๊ยบไปตาม ๆ กัน
ขนมหวานของเมืองยาซด์อร่อยจริง ๆ ผมอยากกลับไปซื้อขนมเพิ่มอีกสักกล่องเลยครับ
หลังม่าน – ใต้พรม
หลังจากเดินทางในอิหร่านมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผมพบว่าโดยเนื้อแท้ของคนที่นี่มีลักษณะคล้ายคนไทยมาก คือมีใบหน้าแต้มไปด้วยรอยยิ้มตลอดเวลา มีน้ำใจ แบ่งปัน และพร้อมช่วยเหลือ ไม่มีลักษณะน่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจจากการบริโภคสื่อกระแสหลักเลย แม้ว่าคนอิหร่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้มาก และบ่อยครั้งที่สื่อสารกันแทบไม่เข้าใจเลย แต่อวัจนภาษาสำคัญยิ่งกว่าวัจนภาษา ผมสัมผัสได้ถึงมิตรไมตรีที่พวกเขาหยิบยื่นให้แก่ผู้มาเยือนได้เต็มที่ นอกจากนี้คนที่นี่ยังมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทยด้วย เพราะมีชาวอิหร่านเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยเยอะมาก ๆ ผมจึงรู้สึกจริง ๆ ว่า หลังม่านอันมืดทะมึนที่โลกนำมาบดบังอิหร่านเอาไว้นั้นคือความสวยงามโดยแท้ ไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรมอันล้ำค่า แต่ยังหมายถึงความงามระหว่างวัฒนธรรมที่พวกเขามอบให้แก่พวกเราด้วย บางทีคนเราเผลอตัดสินกันและกันไปเองทั้งที่ยังไม่รู้จักกันดี ถ้าลองได้รู้จักกันสักที เราอาจจะรักกันมาก ๆ ก็ได้นะครับ
เบื้องหลังของรอยยิ้มที่ชาวอิหร่านส่งมาให้เรา กลับมีความทุกข์ยากมากมายซ่อนอยู่ จากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในระบอบสาธารณรัฐที่กินเวลายาวนานเกือบค่อนศตวรรษ อิหร่านเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และยิ่งโดนซ้ำเติมจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสคุยกับคนท้องที่ (ขออนุญาตสงวนชื่อไว้เพื่อความปลอดภัย) เขาเล่าให้ผมฟังว่าค่าแรงประเทศนี้แทบไม่พอใช้ ราคาข้าวของสูงขึ้นพรวด ๆ ของกินของใช้จำเป็นหลายอย่างคำนวณเป็นสัดส่วนแล้วแพงกว่าค่าครองชีพในไทยถึง 4 -5 เท่า ขณะที่รายได้ของเขาน้อยกว่าเราหลายเท่าตัว
ก่อนหน้าปี 1979 อิหร่านปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดย 2 ราชวงศ์สุดท้ายคือ ราชวงศ์กาจาร์ (Qajar Dynasty) และ ราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlavi Dynasty) ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่กรุงเตหะรานซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์กระแสหลักของอิหร่านระบุว่า แม้ทั้งคู่เป็นราชวงศ์ที่สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแก่ประเทศได้จริง แต่ก็มีราชสำนักใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเช่นกัน
พร้อมกับในศตวรรษที่ 20 อิหร่านต้องประสบกับผลพวงของความขัดแย้งที่ลุกลามไปทั่วโลก นั่นคือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งและสงครามเย็น ยังไม่รวมกับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ย่ำแย่ และนโยบายการกระจายที่ดินให้กลุ่มชาวนานำไปถือครอง แต่ขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซ้ำร้ายความเชื่อที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนว่า ราชสำนักปาห์ลาวีเอียงข้างตะวันตกและทำลายจารีตประเพณีดั้งเดิมที่ดีของชาวมุสลิมได้บานปลายไปจนถึงขนาดว่า ราชวงศ์ปาห์ลาวีเป็นพวกขายชาติ ทำให้เกิดความเชื่อเชิงจิตวิทยามวลชนว่าราชสำนักคือต้นเหตุความตกต่ำของประเทศ นำโดย อิหม่ามโคมัยนี (Ayatollah Khomeini) กลุ่มคนเคร่งศาสนา และกลุ่มฝักใฝ่ความคิดฝ่ายซ้ายร่วมกับขบวนการนักศึกษา โค่นล้มราชวงศ์ปาห์ลาวีลงในปี 1979 พร้อมขายความหวังว่า ประเทศจะเจริญก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจและการรักษาความเป็นตัวเองไว้
การปฏิวัติของอิหร่านเป็นการปฏิวัติที่แปลกเมื่อเทียบกับการปฏิวัติอื่น ๆ ในโลก เนื่องจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สังคมอิหร่านมีสิทธิเสรีภาพมาก เช่น สตรีแต่งกายอย่างไรก็ได้ ทั่วประเทศมีชีวิตกลางคืนที่สนุกสนานได้ แยกเรื่องชีวิตประจำวันกับข้อห้ามทางศาสนาออกจากกัน เรียกว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างตามกระแสโลกาภิวัตน์ แต่การปฏิวัติ ค.ศ. 1979 กลับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การต่อต้านตะวันตก กลายเป็นรัฐศาสนา (Guardianship of the Islamic Jurists หรือ Velayat-e Faqih) ถือศาสนาเทวนิยมเป็นใหญ่ สถาปนาตำแหน่งอยาโตลเลาะห์ (Ayatollah) ให้แก่โคไมนีขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) ทำให้เสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะสตรีถูกลิดรอน สุภาพสตรีทุกคนต้องสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมผมก่อนออกจากบ้าน ห้ามแต่งกายด้วยชุดว่ายน้ำ ชายหญิงห้ามชมกีฬาหรือมหรสพในพื้นที่เดียวกัน เป็นต้น ซึ่งสวนทางกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เคยมีมา
แม้ว่าจะมีข้ออ้างในการปฏิวัติที่สำคัญเกี่ยวกับปากท้อง คือการที่ราชสำนักแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้นั้น รัฐบาลสาธารณรัฐก็แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เช่นกัน เพราะสกุลเงินริยาลของอิหร่าน (Iranian Rial หรือ RIs) อ่อนค่าลงมากกว่า 4,400 เท่าในรอบ 45 ปี นับตั้งแต่ปี 1979 เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเลยตกต่ำลงเรื่อย ๆ
เมื่อเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา Iran International (สื่อสำนักหนึ่งของอิหร่าน) รายงานว่าสภาแรงงานสูงสุด (Supreme Labour Council) มีมติให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิมที่ 26,550,000 IRs ต่อเดือน เป็น 41,790,000 IRs เทียบเท่ากับ 170 USD หรือประมาณ 6,000 บาท ซึ่งก็ยังคงน้อยมากและไม่เพียงพอ คู่สนทนาของผมยังเล่าต่อไปอีกว่า อันที่จริงแล้วเขารู้สึกว่าสังคมอิหร่านไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไหร่นัก เพราะผู้ที่มีศักยภาพต่างก็พยายามย้ายออกจากประเทศไปจนหมด น่าเป็นห่วงว่าในวันข้างหน้าจะไม่เหลือทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพที่จะนำพาประเทศต่อไปได้เลย
นี่คือบทเรียนที่โลกควรต้องเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราวาดฝันหรือคิดไปเองว่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นนั้น อาจนำมาซึ่งผลพวงที่เลวร้ายอย่างที่คิดไม่ถึง ผมไม่กล้าถามคู่สนทนาต่อไปว่าเขาคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ในอดีตอย่างการปฏิวัติ ค.ศ. 1979 หรือเขามองอนาคตของอิหร่านไว้อย่างไร เพราะสีหน้าและแววตาของผู้เล่าตอบคำถามที่อยู่ในใจของผมทั้งหมดแล้ว
อิสฟาฮาน : อลังการงานสร้าง
ผมเดินทางมาถึงเมืองอิสฟาฮาน (Esfahan) เมืองที่เป็นตัวแทนความรุ่งเรืองสูงสุดของจักรวรรดิเปอร์เซียในสมัยราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid Dynasty) ราชวงศ์ของเปอร์เซียที่มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรต่าง ๆ ในโลกตะวันออกอย่างกว้างขวาง รวมถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย จากสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองนี้หลายแห่งที่ได้ไป สถานที่ที่ผมประทับใจที่สุด คือ จัตุรัสแนคช์ อี ฟาฮาน (Naqsh-e Jahan Square) ประกอบด้วยตลาด มัสยิด และพระราชวัง โอบล้อมสวนตรงกลางที่ออกแบบขึ้นบนพื้นฐานของความสมดุลอย่างสวยงาม จัตุรัสแห่งนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน ประเทศจีน สร้างขึ้นโดย กษัตริย์ ชาห์อับบาส ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ซาฟาวิด

มัสยิดที่เป็นพระเอกของจัตุรัสแห่งนี้ คือ Shah Mosque แม้ว่าชื่อแปลว่า มัสยิดแห่งกษัตริย์ แต่กลับทำหน้าที่เป็นมัสยิดของประชาชน ปัจจุบันทางการอิหร่านเรียกชื่อมัสยิดแห่งนี้ว่า Imam Mosque ตามชื่ออิหม่ามโคไมนี แต่ผมขอเรียกด้วยชื่อเดิม เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าชาห์อับบาส ผู้ทรงสถาปนามัสยิดแห่งนี้ขึ้น และเป็นผลงานของพระองค์อย่างแท้จริง
มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นอย่างเร่งด่วนโดย อาลี อักบาร์ อิสฟาฮานี (Ali Akbar Isfahani) เนื่องจากพระเจ้าชาห์อับบาส ทรงเกรงว่าพระองค์จะสวรรคตไปก่อนได้ทอดพระเนตรมัสยิดแห่งนี้เสร็จสิ้น สุดท้ายแล้วก็สร้างเสร็จทันเวลาพอดีในปี 1629 อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลของพระเจ้าชาห์อับบาส และเนื่องจากสถาปนิกผู้นี้ต้องพยายามหาวิธีสร้างมัสยิดให้แล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เกิดความรู้ในงานช่างของเปอร์เซียที่ก้าวหน้าขึ้น จนทำให้สร้างงาน ‘สำเร็จรูป’ ได้ในระยะเวลาไม่นาน
มัสยิดแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้เสียงของผู้พูดดังกังวานกึกก้องได้คล้ายกับมีไมโครโฟน จึงเกิดเสียงสะท้อนของอิหม่ามเมื่อนำสวดมนต์หรือแสดงเทศนาที่น่าทึ่ง ซึ่งเราเข้าไปยืนพิสูจน์ได้ด้วยเสียงของเราเอง


อีกด้านหนึ่งของจัตุรัสมี มัสยิดชีค ลอตฟอลเลาะห์ (Sheikh Lotfollah Mosque) สร้างโดยพระเจ้าชาห์อับบาสเช่นเดียวกัน มัสยิดแห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของ เรซา อิสฟาฮานี (Ostad Mohammed Reza Isfahani) สร้างเสร็จเมื่อปี 1619 มีขนาดเล็กและซับซ้อนน้อยกว่า Shah Mosque เพราะใช้เป็นมัสยิดส่วนพระองค์สำหรับพระราชวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น มัสยิดชีค ลอตฟอลเลาะห์จึงไม่มีหออะซานสำหรับเรียกคนให้มาละหมาด เพราะไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ด้วยนั่นเอง

เมื่อเดินไปฝั่งตรงข้ามก็ถึง พระราชวังอาลี คาปู (Ali Qapu) มีความหมายว่าประตูของท่านอิหม่ามอาลี (Imam Ali) เป็นที่เคารพนับถือของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ เมื่อขึ้นไปถึงพระระเบียงที่ชั้น 3 ของพระราชวัง มองเห็นความงดงามของจัตุรัสได้ทั้งหมด เห็นตลาดหลวง (Imperial Bazaar) รายล้อมพระราชวังและมีอาณาเขตยาวไปจนถึงมัสยิดจาเมห์ (Jameh Masjid) ที่สร้างขึ้นก่อนหน้าพระราชวังแห่งนี้หลายร้อยปีโดยผู้ปกครองเชื้อสายเติร์ก (Seljuk Turk) เย็นวันนั้นผมมีโอกาสใช้เวลาว่างเดินลัดเลาะตลาดไปตามตรอกเล็กตรอกน้อยจนถึงมัสยิดแห่งนี้ตอนพลบค่ำพอดี แม้ว่าความงามหย่อนกว่ามัสยิดที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซาฟาวิดสักหน่อย แต่บรรยากาศความขลังนั้นไม่น้อยลงเลย เพราะศาสนิกชนยังหลั่งไหลเข้ามาละหมาดภายในมัสยิดแห่งนี้อยู่เสมอ รอบตัวของผมเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและสันติสุขจริง ๆ


ผมได้ยินมาตลอดตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยว่า อิสฟาฮานคือสุดยอดแห่งความอลังการงานสร้างในศิลปะเปอร์เซีย พอมาพบเห็นด้วยสายตาของตนเองแล้ว ผมว่าคำกล่าวที่เคยได้รับรู้มานั้นไม่ได้เกินกว่าความเป็นจริงแต่อย่างใด
อิหร่านในห้วงคำนึง
เราออกเดินทางจากเมืองอิสฟาฮาน แวะเที่ยวหมู่บ้านอับยาเนห์ (Abyaneh) ซึ่งเป็นหมู่บ้านมรดกโลกบนภูเขาสูง ก่อนเข้าไปเยี่ยมชมเมืองคาซาน (Kashan) ซึ่งเป็นเพชรน้ำเอกอีกดวงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เปอร์เซีย หลังจากนั้นก็ปิดท้ายเส้นทางของเราที่กรุงเตหะราน (Tehran)

ผมใช้เวลาวันสุดท้ายในอิหร่านไปกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและสถานที่สำคัญในกรุงเตหะราน ก่อนอำลาฉากสุดท้ายในความทรงจำสำหรับการเดินทางไปอิหร่านครั้งนี้ที่ Shahyad Tower (หอคอยพระเจ้าชาห์) ปัจจุบันเรียกว่า Azadi Tower หมายถึง หอคอยแห่งอิสรภาพ ชื่อใหม่นี้ได้รับหลังจากการปฏิวัติ ค.ศ.1979
หอคอยนี้สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 2,500 ปีแห่งอาณาจักรเปอร์เซียในสมัยราชวงศ์ปาห์ลาวี ทรงของหอคอยที่พุ่งทะยานขึ้นไปสู่ท้องฟ้า เปรียบเสมือนความหวังอันเรืองรองของอิหร่านที่จะก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่เราก็คงทราบจากข้อเท็จจริงแล้วว่า อิหร่านต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อย่างไรบ้างหลังจากการปฏิวัติเป็นต้นมา

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมได้ตกตะกอนความคิดของตัวเองทั้งหมด 2 เรื่อง
หนึ่ง คือ อิหร่านย้ำเตือนผมว่า จะตัดสินอะไรเพียงเพราะจากสื่อที่เราเสพไม่ได้ อย่าเชื่อเพียงเพราะเขาเล่า หรือเขาฉายภาพให้เราเห็น แต่หนทางในการแสวงหาคำตอบให้กับคำถามหนึ่ง ๆ นั้นมีมากมาย การพาตัวเองไปสัมผัสกับผู้คนและวัฒนธรรมจริง ๆ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะได้พบคำตอบอันน่ามหัศจรรย์เสมอ
ผมยังนึกต่อไปอีกว่า อันที่จริงแล้วมนุษย์ควรเป็นผู้ผลิตสื่อ มากกว่าให้สื่อเป็นผู้ผลิตมนุษย์มิใช่หรือ ถ้าผมบริโภคสื่อมวลชนอย่างเดียวโดยไม่ได้เดินทางมาถึงอิหร่านเอง ผมจะไม่มีทางทราบเลยว่าประเทศนี้มีโบราณสถานที่สวยงาม อลังการ และมีผู้คนที่น่ารักมากขนาดไหน
สอง คือ ประวัติศาสตร์มักให้บทเรียนซ้ำ ๆ ที่มนุษย์ไม่ค่อยจดจำเสมอ บทเรียนประการสำคัญที่อิหร่านน่าจะเป็นกรณีศึกษาของโลกได้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังว่าจะนำประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นด้วยวิธีการรุนแรง กลับทำให้ประเทศที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมไม่เจริญรุดหน้าอย่างที่ควร เรื่องเหล่านี้ปรากฏชัดด้วยข้อเท็จจริงเชิงสถิติอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น สังคมอาจไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการห้ำหั่นกันเสมอไป โลกมนุษย์เราก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยการมีสติยั้งคิดของคนทุกฝ่าย ใช้ความรอบคอบ และความประนีประนอม สังคมก็จะไม่บุบสลาย และประชาชนทั่วไปก็ไม่ต้องรับวิบากกรรมที่ตนเองไม่ได้มีส่วนก่อรุ่นแล้วรุ่นเล่า อย่างที่เราเห็นจากการเดินทางครั้งนี้
Write on The Cloud
Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ