ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) แต่ก็ห่างถนนใหญ่พอสมควรสำหรับกิจการคาเฟ่ 

ลัดเลี้ยวเข้าซอยท้าวสุระ 3 ราว 300 เมตร หลังประตูเหล็กสีดำสูงใหญ่ บดบังสายตาอีกชั้นด้วยกำแพงธรรมชาติสีเขียว คือ 382space คาเฟ่และบ้านในสวนหลังเล็กของ เน็ต-วาฑิต ตั้งใจ และ ฮุ้ง-ศันสนีย์ แสงบัณฑิต

ที่นี่ วาฑิตตั้งใจสร้างบ้านเองกับมือ เขาว่ามันเป็นบ้านหลังแรก ถ้าไม่ทำวันนั้น คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว

ที่นี่ วาฑิตตั้งใจทำคาเฟ่ไว้ใต้ถุนบ้าน เขาว่าหากมันเจ๊งก็ยังเหลือบ้านอยู่

ที่นี่ วาฑิตตั้งใจทำสวนแบบป่า เขาว่าอยากให้ต้นไม้ดูแลกันเองบ้าง ลำพังตื่นตี 4 มารดน้ำต้นไม้ในโรงเรือนและรอบๆ ก็ปันเวลาแห่งความสุขไปกว่า 6 ชั่วโมง

ที่นี่ วาฑิตตั้งใจทำทุกอย่างที่ชอบ เขาว่าเพื่อให้ได้อยู่ที่บ้านกับคนที่รัก

หาใช่แค่วาฑิตติดบ้าน เขายังติดดินด้วย

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

บ้านที่กลับมาสร้าง

7 ปีให้หลัง เน็ตและฮุ้งกลับจากอังกฤษ พวกเขาพกเงินหนึ่งก้อนที่เก็บหอมรอบริบจากการทำงานศิลปะ คาเฟ่ และเป็นแฮนดี้แมนรับซ่อมแซมบ้าน ตรงกลับนครราชสีมา พร้อมฝันแรกที่อยากทำกิจการคาเฟ่ขนาดอบอุ่น ส่วนฝันถึงการขายต้นไม้เป็นอย่างที่สองเพิ่งงอกจากงานอดิเรก

มั่นใจแน่ๆ แล้วว่าจะสร้างบ้าน ทั้งเน็ตและฮุ้งทยอยเก็บภาพมุมที่ชอบไว้เป็นข้อมูลอ้างอิง โชคดีที่ทั้งสองหลงใหลเหล็ก อิฐ ไม้ โดยปล่อยเปลือยสัจจะวัสดุ และโชว์โครงสร้างแบบอินดัสเทรียลเหมือนกัน ประกอบกับมีไม้เก่าจากการรื้อบ้าน และคุณตายังซื้อไม้เก็บไว้ให้ลูกหลานตามขนบคนโบราณ

ผลที่ได้คือบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ แปลนสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า เพราะตั้งใจหลบต้นไม้และบ่อปลา ด้านบนเป็นส่วนอยู่อาศัย ด้านล่างเป็นคาเฟ่ ข้างกันมีห้อง Reading Room ไว้ให้สมาชิกคาเฟ่มานั่งทำงาน อ่านหนังสือเงียบๆ ได้

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

“ฟังก์ชันมาก่อน” ชายสวมเสื้อสีเขียวปอนๆ เพิ่งวางมือจากสวนมาเริ่มต้นเล่าให้ฟัง

“คิดว่าจะทำบ้านสเกลไม่ใหญ่อยู่แล้ว อยู่ห้องเช่าที่นู่น เราชินกับการทำทุกอย่างในห้องเดียวกัน ขนาดล้างฟิล์ม อัดรูปก็ทำในนั้น มีครัว ห้องนอน ครัวก็ครัวนั้น ข้างบนเลยออกแบบบ้านเป็น Open Plan เพดานสูง ไม่กั้นห้องเลย มีที่นอน มีครัวเล็กๆ ไว้ทำอะไรกินนิดๆ หน่อยๆ ส่วนนั่งเล่นไว้ดูทีวีนี่เพิ่งเพิ่มขึ้นมา แต่ก่อนไม่มีเพราะเราคิดว่าไม่จำเป็น หลังๆ ฮุ้งเขาพักผ่อนด้วยการดูซีรีส์ ผมก็ดูด้วยบางเรื่อง

“ตั้งใจไม่ติดแอร์ กะว่าลมร้อนให้ระบายขึ้น บางวันร้อนหนักๆ ก็ลงมานอนในคาเฟ่บ้าง นอนใน Reading Room บ้าง ปีหนึ่งมีวันที่ทนไม่ไหวอยู่ไม่เกินอาทิตย์ ร่างกายจะรู้เองว่ามันนอนไม่หลับ เรามีอุปกรณ์แคมปิ้ง ก็หอบถุงนอนลงมา” เน็ตเล่าต่อพร้อมเสียงหัวเราะ

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

สำรวจห้องไม้สีขาวด้วยสายตาจะเห็นดีเทลที่ทั้งคู่แอบซ่อนไว้ เช่น หน้าต่างสามเหลี่ยมใต้คานอยากมีไว้ให้แสงเข้า แต่ช่างบอกทำไม่ได้หรอก เขาเลยทำเองให้ดูซะเลย ที่เก็บจักรยานเหนือฝ้าห้องน้ำ ช่วยประหยัดพื้นที่และกลายเป็น Installation อย่างแนบเนียน พื้นไม้ไม่ปิดผิวรอยตะปูเก่า ที่เขาว่าอยากเก็บไว้อย่างนั้น ก็เพราะมีเรื่องราวของมันให้นึกถึง

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ
382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

ความโชคดีที่ปลูกข้างบ้านคุณพ่อคุณแม่ บางส่วนจึงอาศัยใช้ร่วมกัน เช่น พื้นที่ซักล้างใช้ร่วมกันได้ ครัวใหญ่ และไม่ใช่แค่ชั้นบนที่ทำสเกลๆ เล็ก คาเฟ่ก็เช่นกัน บาร์ขนาด 2 คน โต๊ะเก้าอี้น้อยชิ้น แต่เกือบทุกชิ้นเจ้าตัวลงมือประกอบขึ้นเอง วางเข้ามุมอย่างพอดี เพื่อลดความแข็งกระด้างของโครงสร้างเหล็ก อิฐเปลือย ปูนเปลือย เขากรุกระจก 3 ด้านแทนผนัง ช่วยดึงแสงธรรมชาติ สร้างความโปร่งโล่ง มองลอดเฟรมกระจกออกไปเห็นต้นไม้ในสวนสวย ประดับแทนภาพศิลปะ

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

บ้านหลังน้อยมีพื้นที่ใช้สอย 70 ตารางเมตร ใช้เวลาสร้างราวปีกว่า ที่นานขนาดนั้นเพราะเน็ตลงมือสร้างเอง ตั้งแต่เขียนแบบด้วยวิธีวาดเป็นภาพศิลปะ แล้วให้เพื่อนสถาปนิกเติมเรื่องโครงสร้าง มีคุณพ่อรับบทเป็นนายช่างใหญ่ กับลูกมือ 5 คน 

2 ใน 5 คือเน็ตและฮุ้ง

บ้านที่มากกว่าบ้าน

“ในความรู้สึกเรา มันมากกว่าการสร้างบ้าน เราใส่รายละเอียดของบ้านได้ทุกอย่าง เป็นคนเลือกให้มันออกมาเป็นแบบไหน ตะปูจะตอกยังไง น็อตจะขันยังไง ไม้ลายฝั่งไหน อย่างก่อผนังอิฐ ช่องไฟต้องเท่านี้ ต้องเอาฝั่งที่ไม่มีลายออก กระเบื้องดินเผาที่ปูพื้น ถ้าเป็นช่างคงปูไปเลย แต่เรากับฮุ้งเอากระเบื้องออกมาเรียงให้ลาย สี จังหวะ มันกระจายสวยก่อน 

“ขนาดเราเรียงไว้เสร็จแล้ว ช่างยังปูเป็นคลื่น ก็เลยรื้อปูใหม่ กับกระเบื้องหลังคาเจาะไม่เรียงตรงกัน เราต้องมาตีเส้นใหม่ ใช้เชือกขึง ซึ่งไม่มีใครเห็นอยู่แล้ว แม้แต่เราทำเสร็จก็ไม่ได้ไปเห็นอีกเลย” ชายเจ้าของบ้านผู้อยู่ในทุกกระบวนการว่าขำๆ ก่อนสารภาพอีกเหตุผลที่เวลาบานปลายว่าถ้าไม่ได้ดั่งใจ ส่วนใหญ่จะรื้อทำใหม่ 

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

“เราคิดว่าจะทำครั้งเดียว ถ้าปล่อยผ่านมันไม่มีโอกาสกลับมาแก้ แต่ก็เชื่อนะว่า ไปสักพักเราก็จะชินกับมัน ณ ตอนนั้นเราก็อยากแก้ เพราะทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้ซื้อบ้านสำเร็จรูป มันเป็นสิ่งที่เราค่อยๆ ทำให้โตขึ้น สิ่งนี้ค่อนข้างพิเศษสำหรับเรา และเห็นเรื่องราวเวลาที่มองบ้าน เห็นตัวเราอยู่ในนั้น” 

ถึงอย่างไรการทำเอง ก็ช่วยเซฟทั้งค่าแรงและค่าวัสดุอยู่ดี

ส่วนคาเฟ่ ในชื่อ 382space ก็ตั้งใจให้มีขนาด 2 คนดูแลไหว จากประสบการณ์เป็นลูกมือคาเฟ่เล็กๆ ที่เจ้าของร้านทำเอง และพอมองเห็นช่องว่ามันรันไปต่อเองได้ 

(มีเสียงแว่วๆ มาว่าพอมีคนมามากกว่าที่คิด ได้น้องสตาฟมาช่วย ก็อยากย้อนกลับไปทำบาร์ใหญ่ขึ้น)

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ
382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

ที่นี่ พวกเขาใช้ระบบสมาชิก มีรหัสในการเข้าประตู และเข้าไปใช้งาน Reading Room ได้ตามต้องการ

แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะเน็ตชอบในบรรยากาศ Chelsea Arts Club ที่เขาเคยสัมผัส ความแปลกของคลับแห่งนี้ คือ ให้แต่สมาชิกผู้ทำงานสร้างสรรค์ เช่น ศิลปิน ครีเอทีฟ สถาปนิก นักดนตรี เท่านั้นที่เข้าไปใช้งานได้ โดยมีกฎเหล็กข้อสำคัญคือ ห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ห้ามใช้มือถือ ห้ามกางคอมพิวเตอร์ทำงาน แต่กลับดื่มกาแฟได้ ดื่มเบียร์ได้ ซึ่งในความคิดเขา ถือว่าเป็นการขอที่มาก แต่คนผู้โหยหาสถานที่แบบนี้ก็ยังมาเจอกันได้

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

“เราชอบไอเดียของคนเข้ามาใช้พื้นที่หนึ่งบนข้อตกลงเดียวกัน ได้เห็นคนนั่งคุยกัน นั่งอ่านหนังสือ โห มีเสน่ห์มาก โคตรเท่ คนก็ยอมรับที่มันเป็น เราก็เลยคิดว่าถ้าเราจะทำบ้างมันเป็นไปได้ อย่างน้อยให้คนได้ทำความเข้าใจแนวทางของร้านก่อน พอเขารู้คาแรกเตอร์ของร้าน คนที่ต้องการบรรยากาศเงียบๆ นั่งชิลล์ๆ ในสวน ก็จะมาร้านเรา

“กฎของร้านเราก็ไม่ได้ขออะไรมาก งดสูบบุหรี่ พาลูกมาก็ดูแลลูก เวลากฎเยอะคนจะรู้สึกว่าเยอะ แต่จริงๆ แล้วเราก็ขออะไรที่มันเป็นคอมมอนเซนส์ในการไปพื้นที่สาธารณะ เราแค่ต้องการให้คนอื่นรักษาสิ่งที่เราตั้งใจทำมากๆ พอๆ กับที่เราดูแล โดยหลักการเราไม่ได้ไม่อยากให้คนมา ดังนั้น สมาชิกจะพาเพื่อนมากี่คนก็ได้”

นอกจากข้อดีกับคนที่เข้ามาจะได้รู้จักตัวตนของ 382space และเป็นหูเป็นตาให้กับร้านแล้ว ระบบนี้ยังเป็นฐานข้อมูลเพื่อติดตาม COVID-19 ส่วนใครที่ไม่สะดวกหรือเป็นขาจร ก็มีระบบบัตรชั่วคราวให้แลก โดยไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก

บ้านที่อยากให้คนมาเยี่ยม

หากอยู่ท่ามกลางธุรกิจคาเฟ่จะรู้กันดีว่า ต้นทุนในกาแฟหนึ่งแก้วมักบวกค่าสถานที่เข้าไปแล้ว และยิ่งลูกค้านั่งนาน ก็ยิ่งทำให้เสียโอกาสในการรับลูกค้าใหม่ๆ แต่สำหรับเจ้าของร้านในบ้านอย่างเน็ตและฮุ้งกลับไม่ได้มองอย่างนั้น 

“มันค่อนข้างขัดกับหลักการตลาด ในแง่คนทำธุรกิจก็อยากให้คนมาร้านเยอะๆ แต่ของเรา เราอยากให้คนที่เข้าใจร้านมา ไม่ต้องเยอะมากก็ได้ เราชอบให้คนที่มาจมอยู่กับพื้นที่ เอางานมานั่งทำ เอาหนังสือมานั่งอ่าน เราชอบเวลาที่คนมาแล้วรู้สึกว่าสวนสวยจังเลย มาดูแล้วเอากลับไปแต่งสวนที่บ้าน เราว่าร้านกาแฟมันเป็นมากกว่าร้านกาแฟ วิถีของมันไม่เหมือนร้านก๋วยเตี๋ยวที่คนมากินอิ่มแล้วก็กลับ คนไม่ได้มาบริโภคแค่กาแฟ คนมาอินบรรยากาศ มาเพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง 

“เราอยากให้ที่นี่เป็นตัวเลือกหนึ่งให้คนที่อยากไปสวนสาธารณะ ซึ่งเมืองไทยไม่ค่อยมีสวนสาธาณะที่เป็นสวนๆ สักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อคนอื่น เราเอาตัวเองตั้งว่าอยากทำสวน แล้วให้คนอื่นมาแชร์สิ่งที่ทำ”

เน็ต-วาฑิต ตั้งใจ และ ฮุ้ง-ศันสนีย์ แสงบัณฑิต

ด้วยเหตุผลนี้ ทั้งคู่อยากมีห้องหนึ่งเอาไว้ให้สมาชิกที่มาคนเดียว หรือหาที่นั่งทำงานได้มีพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งต่อให้ร้านยุ่งแค่ไหน ห้องนี้ก็จะไม่เต็ม 

อดีตศิลปินเปลี่ยนแกลเลอรี่เก่าของตัวเองที่เคยรับบท Garden Shop มาเป็นห้องสูงโปร่งคงคอนเซปต์ปูน เหล็ก ไม้ รายล้อมด้วยโต๊ะ-เก้าอี้ ที่เขาทำเองบางส่วน ส่วนบางตัวเป็นเฟอร์นิเจอร์วินเทจจากร้านมือสอง ภายในตกแต่งอย่างเรียบง่าย เน้นแสงธรรมชาติจากหลังคาสกายไลต์ และกรอบกระจกบนใหญ่ โดยไม่ลืมเติมสีเขียวจากไม้ชวนสดชื่น และประดับภาพศิลปะไว้เบรกความดิบเท่ของผนังปูนเปลือย บอกเลยว่าเหมาะแก่การอ่านหนังสือหรือนั่งทำงานเงียบๆ มาก

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ
382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

บ้านที่ส่วนใหญ่ให้ต้นไม้อยู่

ถ้ามองจากมุมสูง แทบไม่เห็นตัวบ้านที่หลบใต้ร่มไม้สีเขียว พื้นที่ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินเป็นสวนป่าที่เขาลงแรงทั้งหมด เว้นก็เสียแต่ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีอยู่เดิม

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

คนที่อินทำคาเฟ่อยู่ดีๆ ก็เปิดประตูมาเจอความชอบใหม่และจริงจังขึ้นเรื่อยๆ จากแค่จัดสวน พอมีลูกค้าถามซื้อต้นไม้ ก็เริ่มแบ่งบางต้นมาชำขาย ก่อนลามไปสู่สะสมพันธุ์แปลกหายาก 

“ไปเจอกลุ่มคนที่เขาเล่นต้นไม้ เลยมาคิดว่าทำไมโคราชไม่มีร้านขายต้นไม้ดีๆ เราก็เลยเกิดไอเดียเปลี่ยนแกลเลอรี่ให้เป็น Garden Shop แต่เปิดเดือนละครั้ง และมีไปขายที่ตลาดนัดด้วย หลังๆ เราเล่นไม้ที่ลึกขึ้น เหมือนคนไม่ค่อยซื้อ เลยเปลี่ยนมาขายในกลุ่ม อย่างก้ามกุ้งด่างนี้ เจ็ดพันถึงหนึ่งหมื่น ถ้าด่างทั้งใบ ใบละหมื่นถึงสองหมื่น ด้วยกระแสช่วงนี้ราคามันเลยขึ้น ก็ดีเป็นโชคดีของเราด้วย จากเมื่อก่อนเสียเงินซื้อ ตอนนี้พอเป็นออนไลน์ ที่เราเลี้ยงๆ ไว้มันขายได้หมด บางต้นเราก็ผสมเกสรเอง” 

โรงเรือนอนุบาลต้นไม้ประเภทต่างๆ ทั้ง 6 โรงเรือน 1 โรงเรือนกระบองเพชร 2 โรงเรือนไม้แล้ง 3 โรงเรือนไม้ชื้น และลานสำหรับไม้แล้ง

เจ้าของงานอดิเรกปลูกต้นไม้ที่กลายเป็นฟูลไทม์ไม่ทันรู้ตัวเล่า ก่อนพาเดินลัดเลาะหลังสวน ไปยังโรงเรือนอนุบาลต้นไม้ประเภทต่างๆ ทั้ง 6 โรงเรือน 1 โรงเรือนกระบองเพชร 2 โรงเรือนไม้แล้ง 3 โรงเรือนไม้ชื้น และลานสำหรับไม้แล้ง

แน่ล่ะ แต่ละโรงเรือนก็สร้างเอง ศึกษาวิธีการปลูกเองจากการถามผู้ชำนาญ บ้างก็สังเกตเอาจากถิ่นกำเนิดแล้วค่อยๆ ทดลองปรับ นำเข้ากล้าต้นไม้จากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไม้สะสม

โรงเรือนอนุบาลต้นไม้ประเภทต่างๆ ทั้ง 6 โรงเรือน 1 โรงเรือนกระบองเพชร 2 โรงเรือนไม้แล้ง 3 โรงเรือนไม้ชื้น และลานสำหรับไม้แล้ง
โรงเรือนอนุบาลต้นไม้ประเภทต่างๆ ทั้ง 6 โรงเรือน 1 โรงเรือนกระบองเพชร 2 โรงเรือนไม้แล้ง 3 โรงเรือนไม้ชื้น และลานสำหรับไม้แล้ง

แม้ชอบทำสวน แต่งานรับจัดสวนไม่ใช่ทางเท่าไหร่ เพราะเน็ตอินกับการขยายพันธุ์มากกว่า วันๆ เลยชอบหมกตัวอยู่ในสวนของตัวเอง

ถึงอย่างไร เขาก็เอ่ยปากว่ามันไม่ได้โรแมนติก มีความยุ่งยาก ไหนจะต้องมาเพาะเมล็ด ไหนจะต้องถอนวัชพืชตอนหน้าฝน บางทีก็ดูแลไม่ทัน ยังดีที่ในโซนสวน เขาจัดระบบนิเวศให้ต้นไม้น้อยใหญ่เกื้อกูลกันเองแบบป่าไว้

“เราลงมารดน้ำต้นไม้ตอนตีสี่ครึ่ง ถ้าฝนไม่ตก ใช้เวลารดน้ำต้นไม้หกชั่วโมง ในสวนไม่ได้ใช้สปริงเกอร์ เพราะไม่ได้วางระบบไว้ แต่ในโรงเรือนใช้ อย่างท้องร่อง เป็นงานแก้จากเมื่อก่อน ทำไว้เกือบสี่สิบปีแล้วมันเริ่มตื้น ตอนฝนตกน้ำท่วมขึ้นมา เลยไปจ้างแม็คโครเล็กมาขุด มีบ่อน้ำด้านหลังให้มันไปรวมตรงนั้นก่อนรอระบาย พอมีคลองเราก็เอาต้นไม้ลงไปปลูกบ้าง ทำสะพานข้ามให้มันสวยหน่อย” 

เน็ต-วาฑิต ตั้งใจ และ ฮุ้ง-ศันสนีย์ แสงบัณฑิต

เน็ตชวนเข้าไปดูในโรงเรือนแคคตัส เขาเรียกให้เข้าไปดูฝักของต้นพาชีโพเดียม (Pachypodium) ซึ่งเป็นพันธุ์จากมาดากัสก้าใกล้ๆ คาดคะเนด้วยสายตา เขาว่ามีประมาณ 70 เมล็ด เมล็ดละ 20 บาท คู่นี้ก็ได้ประมาณ 3,000 บาท

ส่วนอีกสายพันธุ์ที่ปีหนึ่งออกดอกรอบเดียว ต้นนี้เขาว่ามันน่าจะอายุ 10 ปีได้ เลี้ยงมา 5 ปี เพิ่งออกดอกปีแรก หน้าตาแบบนี้ก็ มีคนซื้อเมล็ดละ 25 บาท หนึ่งฝักมี 200 เมล็ด ทว่านกตัวแสบแอบมากินไปหลายฝัก อาทิตย์ก่อนเขาเลยทำตาข่ายดักนก DIY จากของที่เหลือในบ้าน ปิดรูบนหลังคาเสีย

ทำไมคนเรียนศิลปะมาถึงได้พูดชื่อต้นไม้คล่องแคล่วขนาดนี้คะ-เราถามขณะเดินตามหลังเขา

“รักแล้วมันเป็นอย่างนี้” 

เราปล่อยให้รอยยิ้มตาหยีขานรับคำตอบ

เดินไปจนสุดโรงเรือน ด้านซ้ายมือเป็นแปลงสารพัดผักสวนครัว ด้านหลังเป็นเล้าไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อย หรือที่เรียกว่า Happy Chicken ความตั้งใจแรกหวังเก็บไข่มาทำขนมในร้าน แต่ไปๆ มาๆ เพิ่มเป็น 70 ตัวได้ อาทิตย์หนึ่งเก็บไข่ได้ประมาณ 14 – 15 ถาด จึงแบ่งขาย มีกำไรตรงที่ได้กินไข่ไก่สดๆ และรู้ที่มาที่ไป

เน็ต-วาฑิต ตั้งใจ และ ฮุ้ง-ศันสนีย์ แสงบัณฑิต

บ้านที่ค้นพบว่า ทำสิ่งเดิมๆ ได้ทุกวัน

เน็ตเป็นคนติดบ้าน การตื่นและเข้านอนด้วยกิจวัตรเดิมๆ จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา 

ความลับอีกข้อคือ เขาค่อนข้างกลัวผู้คน เช่นเดียวกับฮุ้ง

“ต้นไม้มันทำให้เราอยู่บ้าน ได้อยู่กับตัวเอง เป็นคนแพ้คน ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะเวลาเจอคน ถ้าไปขายต้นไม้ในงานแฟร์เจอคนเยอะๆ อย่างนั้นต้องกินพาราไว้เลย ตกเย็นน็อกแน่นอน ตอนอยู่อังกฤษนั่งรถไฟ Underground เจอคนเยอะ เลยปั่นจักรยานเอา” ชายเสื้อเขียวเล่าติดตลก

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

การกลับมาอยู่บ้านของคนเคยห่างบ้าน จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบความชอบหลายๆ อย่างในตัวเอง

“ไม่ได้อยากทำทีละหลายๆ อย่างนะ ไม่ได้แพลนอะไรที่มันไกลมากขนาดนั้น เรามีเป้าหมายอย่างหนึ่ง คืออยากทำร้าน แล้วสิ่งนี้มันเปิดประตูเราไปเรื่อยๆ จนค้นพบว่าทุกอย่างมันมีทางไปของมัน แล้วเราก็เลือกว่าเราจะทำหรือไม่ทำ เชื่อว่าโอกาสที่ให้ทำสิ่งใหม่ๆ จะมีมาเสมอ 

“เราว่าทุกอาชีพ ถ้าจริงจังมันโอเคหมด เมื่อก่อนเรามองว่าอาชีพต้องเป็นอาชีพ ตั้งแต่ไปอยู่อังกฤษ เราทำร้านอาหาร ทำคาเฟ่ ไปเป็นแฮนดี้แมนอย่างละหน่อย มันก็หาเงินได้ จริงๆ เงินที่เราได้มาไม่จำเป็นต้องแหล่งเดียวที่ใช้คำว่าอาชีพ ผมปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้คิดว่านั่นคืออาชีพ แค่รู้สึกว่าโอเค มันหารายได้ได้จากตรงนั้น ถึงจะฟูลไทม์ เราก็ไม่รู้ว่านี่เรียกเป็นเกษตรกรหรือยัง ไม่ได้คิดว่าตัวเองทำธุรกิจ แค่รู้สึกว่าชอบทำ แล้วสิ่งนั้นมันต้องไม่กินตังค์เราก็พอ (หัวเราะ)”

หลังบทสนทนาจบลง เจ้ายูเค น้ำตาล สเตล่า จินนี่ และปุย เจ้าของบ้านสี่ขาก็ผลัดกันเข้ามาเป็นนายแบบ-นางแบบ ให้ถ่ายรูปอย่างรู้งาน

382space โคราช บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ใต้ร่มเงาสวนป่า ที่สองคู่รักและคุณพ่อสร้างเองกับมือ

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ