The Cloud x TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง

คนยโสธรเป็นสายกรีนมาแต่กำเนิด พวกเขายึดถือการทำนาข้าวเป็นอาชีพเลี้ยงตัวมาแต่เก่าก่อน ผูกพันกับชีวิตชนิดแยกกันไม่ขาด ที่สำคัญคือต่อยอดเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์มาสักพักใหญ่แล้ว จากความร่วมมือของชาวนาชาวไร่ที่ผันตัวมาใช่วิธีดูแลพืชพรรณให้ปลอดภัยทั้งกับตัวเองและผู้บริโภค ขณะเดียวกันทางจังหวัดก็ส่งเสริมเต็มที่ เกิดเป็นตราบั้งไฟหลากสี แบ่งตามมาตรฐานอินทรีย์แต่ละขั้น เพื่อช่วยรับรองผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรโดยเฉพาะ

เมื่อได้พูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร พบว่าพวกเขาช่วยกันขับเคลื่อนสังคมเกษตรอินทรีย์กันอย่างคึกคัก สร้างช่องทางส่งขายอย่างเป็นระบบ รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายมากมายในพื้นที่ ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการปลูกพืชและปศุสัตว์ ทั้งยังมีตลาดให้จำหน่ายผลิตผลแทบทุกอำเภอ สับเปลี่ยนสถานที่ เวียนวันกันไปไม่ซ้ำในแต่ละอาทิตย์ 

หลังจากทำความรู้จักยโสธรผ่าน 10 สถานที่เก่า-ใหม่ของเมืองบั้งไฟ กันพอหอมปากหอมคอ คราวนี้มาสัมผัสอีกตัวตนของคนยโสฯ กับสารพัดพื้นที่สีเขียวปลอดสารพิษ ทั้งนาข้าวหอมมะลิ นาบัวหวาน ฟาร์มปศุสัตว์หลากหลายแนว หมู่บ้านอินทรีย์ที่ทำเกษตรปลอดสารกันทุกครัวเรือน รวมถึงคาเฟ่ที่เลือกนำเสนอความออร์แกนิกผ่านอาหารการกิน

เปลี่ยนบรรยากาศ Work from Home ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แสนอุดอู้ แล้วออกไปสูดอากาศสดชื่นรื่นรมย์ที่ยโสธรผ่านคอลัมน์ Take Me Out ด้วยกัน

01 

บัวหวานยโสธร

นาบัวอินทรีย์ที่รักษาความหวานกรอบเหมือนเพิ่งเก็บจากบึง

บัวหวานยโสธร
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

จากอาชีพทำนาข้าวและแม่ค้ารับบัวมาขายตามตลาด จันทร์-ธนพร จันทร์หอม ผันตัวเริ่มทำนาบัวด้วยตัวเองเพราะความหลงใหลในรสชาติ เลือกแนวทางอินทรีย์ในการปลูก โดยมีเหตุผลเพียงไม่อยากทำร้ายสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นเม็ดบัวที่มีคุณภาพดีตามไปด้วย เพราะระบบนิเวศสมบูรณ์ ทำให้เหล่าผึ้งและชันโรงที่อยู่กันอย่างสบายใจก็เป็นลูกมือช่วยผสมเกสร จึงได้หน้าบัวที่เต็ม กลมสวยไม่เว้าแหว่ง และขายได้ราคาดี

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

เมื่อผลตอบรับดีจนไม่พอขาย จันทร์จึงเพิ่มบ่อบัวให้มากขึ้น วางแผนปลูกแต่ละบ่อให้บานไล่เลี่ยกันจะได้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวทั้งปี นอกจากประคบประหงมด้วยความใส่ใจ บำรุงด้วยน้ำหมักสูตรพิเศษ และดูแลอย่างไร้สารเคมีแล้ว เคล็ดไม่ลับอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย คือการแช่น้ำแข็งทันทีตั้งแต่เก็บขึ้นจากบ่อ ทำให้หวานกรอบจนถึงมือลูกค้า และนอกจากเม็ดบัวสดที่คนนิยมกิน จันทร์มีเมนูแนะนำด้วย นั่นคือ ส้มตำเม็ดบัว อีกทางเลือกที่แซ่บหลายใช้ได้ไม่แพ้กัน

หากสนใจอยากมาพิสูจน์ความหวาน เข้ามาอุดหนุนได้ทุกเมื่อ หรือถ้าอยากมาเที่ยวถ่ายรูปกับดอกบัวสีขาวเต็มบ่อ ลองติดต่อมาถามจันทร์ล่วงหน้าได้ว่าดอกบัวเริ่มบานแล้วหรือยัง จะได้มาแล้วไม่เสียเที่ยว

ที่ตั้ง : ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 06 2990 1395

Facebook : บัวอินทรีย์ บัวหวานยโสธร

02

บ้านไร่รุ้งตะวัน 

ฟาร์มเมล่อนญี่ปุ่น นาข้าวอินทรีย์ และคาเฟ่กลางทุ่งนา

บ้านไร่รุ้งตะวัน
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

 เอก-ธนิสร จิตตะมา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านไร่รุ้งตะวัน กลับมาอำเภอเลิงนกทาบ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากทำงานในกรุงเทพฯ กว่า 20 ปี เขาเล็งเห็นว่าตำบลที่อาศัยอยู่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวก็พอมีอยู่บ้าง น่าจะต่อยอดที่ดิน 20 กว่าไร่ของตนให้มีประโยชน์มากกว่าการปลูกข้าว หลังจากหาข้อมูลอยู่นานว่าจะปลูกพืชอะไร เอกก็พบว่าเมล่อนญี่ปุ่นเป็นพืชที่น่าสนใจ ปลูกได้ง่ายทั่วประเทศ เจริญเติบโตไวเพียง 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมถึงมีมูลค่าในท้องตลาดสูง 

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

จากคนไม่มีความรู้เรื่องเกษตร เขาทำการบ้านอย่างจริงจัง ลองผิดลองถูก หาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตและเข้าอบรมตามที่ต่าง ๆ ลองปลูกทั้งสายพันธุ์ราคาแพงและถูกเพื่อเปรียบเทียบ ก่อนพบว่าคุณภาพต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งรูปร่างของลูกและรสชาติ เขาเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุด แม้ราคาสูงแต่ใครได้ลองลิ้มก็ติดใจ บางครั้งต้องรีบจองไว้ก่อนก็มี

แถมเอกยังมองการณ์ไกลแชร์พื้นที่นาที่ไม่ได้ใช้ให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชน โดยเขาช่วยจัดการ ให้คำปรึกษา และควบคุมวิธีการทำให้เป็นอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะรวบรวมผลผลิตไปจำหน่ายให้ ภายใต้แบรนด์บ้านไร่รุ้งตะวัน ที่มีสารพัดใบรับรองอินทรีย์ทั้งภายในจังหวัดและเกรดส่งออกเป็นเครื่องการันตี

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

หลังจากทำมาพักใหญ่ เพิ่มนู่นเติมนี่ในพื้นที่จนทุกอย่างเปลี่ยนไปแทบไม่เหลือเค้าเดิม เขาแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นคาเฟ่เล็กกลางท้องทุ่ง นอกจากจะมีเมล่อนคุณภาพดีรสชาติหวานไว้ชูโรง ยังมีไอศกรีมข้าวเม่าอินทรีย์ที่อยากให้ลอง รวมถึงเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่เอกอยากชวนให้นั่งลงมองนาข้าว พักเหนื่อยสักประเดี๋ยว แล้วค่อยออกเดินทางไปเที่ยวต่อ

ที่ตั้ง : 203 หมู่ 5 ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร 35120 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 20.00 น.

โทรศัพท์ : 09 8232 8961

Facebook : บ้านไร่รุ้งตะวัน Baan Rai Rung Tawan

03 

ดอกกระเจียวหวานอินทรีย์ บ้านโคกนาโก

ฟาร์มดอกกระเจียวหวาน อีกสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองบั้งไฟ

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

หลายคนรู้จักดอกกระเจียวในฐานะพืชดอกสวยงามที่จะบานเต็มทุ่งในช่วงฤดูฝน แต่สำหรับชาวบ้านโคกนาโก อำเภอป่าติ้ว กลับให้นิยามต่างออกไป เพราะดอกกระเจียวคือพืชเศรษฐกิจที่นำเม็ดเงินเข้าสู่หมู่บ้านตลอดปี

“เราผลักดันจนเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด เดี๋ยวนี้พูดถึงยโสธร คนไม่นึกถึงบุญบั้งไฟแล้ว นึกถึงดอกกระเจียว” โบ้-เมืองชัย ทองลา เล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจ ก่อนชวนเราย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ตอนบัณฑิตด้านเกษตรตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่เดินทางสายงานประจำ แต่อยากมาทำสวนเกษตรตามความถนัดที่บ้านเกิด 

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

วันนั้นเขามองเห็นอรรถประโยชน์หลายอย่างของดอกกระเจียว พืชท้องถิ่นคู่วิถีชีวิตลูกอีสานมาตั้งแต่เด็ก จึงลองหยิบเอาพันธุ์จากป่ามาสู่เมือง นำมาปรับเข้ากับวิธีการสมัยใหม่ที่ได้เล่าเรียนมา ปลูกบนโคกควบคู่ไปกับนาข้าว

วันนี้เขายังคงดูแลแบบปลอดสารเหมือนเดิม บำรุงด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ใช้ฟางข้าวมาคลุมดินเพื่อจัดการวัชพืช ทำให้ไม่ต้องพึ่งยาฆ่าหญ้า ด้วยความตั้งใจอยากควบคุมระบบการปลูกแบบอินทรีย์ จึงได้ผลผลิตออกมาดีและปลอดภัย เป็นที่สนใจของชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ ถึงขั้นซื้อพันธุ์และขอคำแนะนำลงใต้ไปปลูกถึงอำเภอเบตงเลยก็มี

โบ้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ดอกกระเจียวมีหลายพันธุ์ รสชาติแตกต่างกันออกไป ทั้งเผ็ดซ่าคล้ายหน่อข่าจนถึงหวานกรอบอร่อยกินง่าย สำหรับฟาร์มของโบ้เลือกปลูกพันธุ์อย่างหลัง หากใครถูกใจรสชาติหรืออยากลองปลูก ไม่ว่าจะแปลงเล็ก ๆ กินในครัวเรือน หรือทำเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ก็ขอคำแนะนำได้ถึงฟาร์ม หนุ่มบ้านโคกนาโกยินดีต้อนรับ

ที่ตั้ง : บ้านโคกนาโก อำเภอโคกนาโก อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร 35150 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 09 5593 9010

Facebook : ดอกกระเจียวหวาน บ้านโคกนาโก

04 

นัธรินทร์ฟาร์มปูนา

ฟาร์มและศูนย์การเรียนรู้เรื่องปูนาแห่งแรกของยโสธร

นัธรินทร์ฟาร์มปูนา

นัธรินทร์ฟาร์ม ศูนย์เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงปูนาที่เกิดจากความชอบกิน ตั้งต้นจากการเลี้ยงไว้แค่พอกินในครอบครัว ก่อนต่อยอดเป็นธุรกิจเสริมเพาะปูขยายพันธุ์จนเกินกิน

นัท-นัฐวุฒิ เงาฉาย เริ่มทำฟาร์มด้วยการหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับปูนา และขั้นตอนการเลี้ยงขั้นพื้นฐาน เขาเลือกเลี้ยงปูนาพันธุ์พระเทพฯ ที่มีขนาดตัวใหญ่ ก้ามโต ต่างไปจากปูนาในแถบภาคกลาง ทำบ่อ 2 แบบสำหรับ 2 ช่วงอายุ โดยปูแรกเกิดจะอยู่ในบ่ออนุบาลหรือที่เรียกว่าบ่อน้ำใส เมื่ออายุครบ 2 เดือนจึงย้ายไปลงบ่อดินที่จัดบรรยากาศเสมือน ใส่ผักตบชวา พืชน้ำต่าง ๆ ให้ปูนาได้ใช้ชีวิตเหมือนอยู่ตามธรรมชาติ

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

จากผู้เริ่มต้นแบบไม่มีความรู้ สู่ศูนย์เรียนรู้ด้านการเลี้ยงปูนาแห่งแรกของจังหวัดยโสธรที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และกำลังจะได้รับใบรับรองจากกรมประมงในฐานะผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นัทยินดีอย่างยิ่งหากมีผู้สนใจเริ่มลองเลี้ยงปูนาเข้ามาขอคำแนะนำ หรือถ้านักท่องเที่ยวผ่านมาซื้อกลับบ้านก็ทำได้ แถมที่นี่ยังมีปูนาแปรรูปเป็นน้ำพริกปูนาให้ลองด้วย

ใครที่เป็นปูนาเลิฟเวอร์ อยากเลี้ยงไว้ดูเล่นก็เพลินตา ประกอบอาหารก็สบายใจ เพราะสะอาดและไร้พยาธิ ที่นี่มีชุดเริ่มต้นที่มาพร้อมพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไว้จำหน่าย ลองดูได้ในเพจหรือจะโทรศัพท์ติดต่อไปก็ได้ พร้อมส่งถึงบ้านทั่วประเทศ

ที่ตั้ง : 61 หมู่ 7 บ้านหนองแหน ตำบลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร 35140 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 06 5536 2567

Facebook : นัธรินทร์ฟาร์มปูนา

05 

ฟาร์มแพะ ยโสธร

ฟาร์มแพะอินทรีย์ที่จำหน่ายตั้งแต่แพะจนถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม

ฟาร์มแพะ ยโสธร
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

สิทธิ์-คิดดี คนธรรมดี หนุ่มนครศรีธรรมราช ย้ายมาใชีวิตแบบพอเพียงยังบ้านเกิดของภรรยา บนพื้นที่นามรดกขนาด 6 ไร่ เขาค่อย ๆ ปรับพื้นที่ทีละน้อย วางแลนด์สเคปตามโคกหนองนาโมเดล ใช้ศาสตร์พระราชาเป็นหลักคิดนำทาง หาความรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้ในยูทูบ เช่น อาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร และ โจน จันได รวมถึงขอคำแนะนำจากปราชญ์ชาวบ้านที่ต่าง ๆ ช่วงแรกสิทธิ์ลองเลี้ยงสัตว์หลายชนิดเพื่อบริโภคและจำหน่าย ภายหลังลงตัวแล้วจึงเหลือแค่แพะเป็นหลัก เพราะทำเงินได้มากที่สุด

ฟาร์มแห่งนี้เลี้ยงทั้งแพะเนื้อและแพะนม ผลิตอาหารอินทรีย์เลี้ยงแพะเอง โดยใช้ต้นกระถินป่นและเมล็ดข้าวโพดเพื่อลดต้นทุน และยังเพิ่มรายได้ด้วยการขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เมื่อได้ผลผลิตจะส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักรับซื้อ

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

ถ้ามาถึงฟาร์มก็มีผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายให้ชอป ทั้งแพะแปรรูปทำเป็นบาร์บีคิวเพิ่มความเผ็ดร้อนสไตล์บ่าวใต้ และชานมที่ใช้ชามาเลฯ ผสมกับน้ำนมแพะ สิทธิ์บอกว่ามีคุณประโยชน์มากพอกันกับน้ำนมแม่เลยทีเดียว

ไม่ใช่แค่ได้สินค้าติดมือกลับไป แต่ทางฟาร์มยังเตรียมกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ทั้งที่เหมาะสำหรับกลุ่มครอบครัวที่อยากพักผ่อนวิถีเกษตรกร ได้ให้นมแพะและสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด มีเวิร์กชอปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ จากน้ำนมแพะ ทำเสร็จเอากลับบ้านไปใช้ ส่วนกลุ่มเกษตรกรแวะมาเรียนรู้ขั้นตอนการเลี้ยงได้เสมอ เพราะที่นี่คือฟาร์มแพะลำดับต้น ๆ ของภาคอีสาน และเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องแพะของผู้เลี้ยงแพะในละแวกนี้ 

ที่ตั้ง : 221 หมู่ 3 ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 18.30 น.

โทรศัพท์ : 08 9626 6642

Facebook : ฟาร์มแพะ ยโสธร

06

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไร่ฮักคัก

ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่สีเขียวของสองพี่น้องเกษตรกรแห่งยโสฯ

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไร่ฮักคัก
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

ไร่ฮักคักคือพื้นที่ทำการเกษตรแนวผสมผสานบนท้องทุ่งกว่า 30 ไร่ของ เอ้-โยษิตา วงศางามกิติ และ อี๊ด-จิตตนันท์ วงศางาม พี่น้องเจ้าของไร่ที่อยากแบ่งปันที่นาเพื่อทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เปรียบเสมือนต้นน้ำที่เชื่อมโยงเกษตรกรยุคใหม่กับเก่า มาแบ่งปันประสบการณ์ทำงานด้านเกษตรกรรมร่วมกัน มีปราชญ์ชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่ในนาม Young Smart Farmer เต็มใจช่วยกันเป็นวิทยากรให้กับเยาวชนและเกษตรกรมือสมัครเล่นที่เข้ามาอบรม ขณะเดียวกันเมื่อพืชที่ปลูกในไร่ออกผลผลิตก็ส่งตรงไปวางขายที่ร้านไร่ฮักคักในเมืองเก่า เป็นวิถีเกษตรอินทรีย์ครบวงจรจนถึงมือผู้บริโภค

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

ด้วยไอเดียอยากเปิดพื้นที่สีเขียวให้เด็กมาปล่อยพลัง มีการเตรียมฐานกิจกรรมที่ทั้งสนุกสนานและได้ความรู้ ตั้งแต่การจัดการพื้นที่แบบโคกหนองนาโมเดล วิธีปลูกข้าวแบบต่าง ๆ การย้อมผ้าจากดอกไม้ หรือเก็บไข่เป็ดไข่ไก่มาทำเป็นไข่เค็ม มีไฮไลต์เป็นพิซซาโฮมเมดเตาดินที่ใช้แป้งข้าวให้ได้ลองทำและชิมกันริมทุ่งนา แถมยังสอดแทรกเรื่องคุณค่าของเกษตรกรให้เด็ก ๆ ในทุกกิจกรรม 

ส่วนของผู้ใหญ่เป็นเวิร์กชอปที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรมาอบรมสร้างอาชีพ อาทิ เลี้ยงปลา ทำเห็ด เลี้ยงไก่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากมาเที่ยวชมฟาร์มเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ หรืออยากเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ขั้นต้น เอ้และอี๊ดยินดีต้อนรับ แต่โปรดติดต่อล่วงหน้าสักนิด เพื่อจะได้เตรียมกิจกรรมที่เหมาะกับเวลาและความสนใจ เนื่องด้วยไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ

ที่ตั้ง : 238 หมู่ 3 บ้านบ่อ ตำบลสำราญ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 09 2935 2451

Facebook : ไร่ฮักคัก Raihugkug

07

ไร่ฮักคัก เมืองเก่า

ปลายทางผลผลิตจากฟาร์มของเกษตรกรรุ่นใหม่

ไร่ฮักคัก เมืองเก่า
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

หลังจากไปเยือนต้นน้ำอย่างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไร่ฮักคักไปแล้ว เปลี่ยนบรรยากาศมาที่เมืองเก่าสิงห์ท่ากันบ้าง เพราะสองพี่น้องยังเปิดร้านในชื่อเดียวกับไร่ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อใช้เป็นจุดหมายปลายน้ำของงานด้านเกษตรให้เหล่าคนรักสุขภาพเดินทางมาอุดหนุนกัน

ความตั้งใจลึก ๆ อีกอย่าง เอ้อยากฟื้นฟูโซนนี้ให้คึกคักยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากเปิดเป็นร้านอาหารเช้าง่าย ๆ คัดสรรวัตถุดิบสดใหม่ปลอดภัย อาทิ ต้มเลือดหมูใส่จิงจูฉ่ายจากสวนผักอินทรีย์ ข้าวห่อใบบัว เมนูหากินยากก็ใช้ข้าวออร์แกนิกจากเครือข่าย หรือจะน้ำเงี้ยวและข้าวซอยจากฝีมือเอ้ สาวอีสานที่แวบไปเรียนอยู่เมืองเหนือมาหลายปีก็มีให้ลองชิม เมื่อท้องอิ่มแล้วอย่าเพิ่งรีบไปไหน มีของหวานเป็นไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี น้ำเต้าหู้ และกะทิสดไว้ช่วยดับร้อนด้วย

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

บางโอกาสอาคารเก่า 3 ห้องนี้ ก็เปลี่ยนเป็นที่พบปะของเครือข่ายเกษตรกร เช่น กลุ่ม Young Smart Farmer และกลุ่มตลาดเขียว โดยเอ้ยินดีเปิดหน้าร้านให้นำผลิตภัณฑ์จากไร่นาโดยตรงมาวางขาย มาเลือกหากันได้ในวันเสาร์ที่จะจัดถนนคนเดิน (ในห้วงย้ามปกติที่ไม่มีโรคโควิด-19)

ฟาร์มชอปแห่งนี้วางจำหน่ายพืชผักสดใหม่ที่ปลูกตั้งแต่หัวไร่ยันปลายนาในศูนย์การเรียนรู้ไร่ฮักคัก แปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น กล้วยตาก คุกกี้อัลมอนด์ ขนมปังโฮลวีต ทองม้วนจากแป้งข้าว ฯลฯ ซึ่งเอ้ลดความหวานกว่าปกติ รับประกันว่าถูกใจคนรักสุขภาพ และยังมีพริกลาบที่อยู่ในขั้นตอนปรับปรุงสูตร น่าจะเสร็จพร้อมวางขายเร็ว ๆ นี้

ที่ตั้ง : ถนนอุทัยรามฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 06.00 – 15.30 น.

โทรศัพท์ : 09 2935 2451

Facebook : ไร่ฮักคัก Raihugkug

08

Organic Cafe

คาเฟ่ออร์แกนิกฮิมเซบายสุดชิลล์ที่ชวนใกล้ชิดธรรมชาติ

Organic Cafe
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

Organic Cafe เกิดจากแพลนของคุณแม่และ เป๋า-ธราธร ประดับศรี ที่อยากปลูกผักออร์แกนิกบนที่ดินของบ้านเพื่อส่งออก พอดีกับเจอน้ำท่วมใหญ่ทั่วภาคอีสานเมื่อ พ.ศ.2562 ทำให้ต้องพับแผนไปก่อน ลดพื้นที่ปลูกให้เล็กลง แล้วเปิดเป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ที่ใช้ผักสดจากในแปลงมาเป็นวัตถุดิบในครัวแทน

 คาเฟ่ยอดฮิตของชาวเลิงนกทาแห่งนี้แบ่งเป็นโซนด้านในห้องแอร์ และด้านนอกริมฝั่งคลองเซบายสำหรับใครที่อยากดื่มด่ำบรรยากาศสุดชิลล์ แต่อาจต้องรอให้แดดร่มลมตกสักนิดจะเหมาะมาก เป๋าคุมโทนร้านทั้งหมดให้เป็นสีเขียวดูใกล้ชิดกับธรรมชาติสมชื่อ แถมฉากหลังยังเป็นทุ่งนาอินทรีย์ไกลสุดตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่ลูกค้านิยมมาถ่ายรูปเช็กอิน 

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

สำหรับในร้านมีอาหารตามสั่งง่าย ๆ แต่เลือกใช้ผักสดปลอดสารที่ปลูกเองมาปรุง นอกจากความอร่อยแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความปลอดภัย เป๋าบอกว่าอนาคตอาจทำแปลงผักใหญ่ขึ้น ให้ลูกค้าได้เข้าไปใกล้ชิดกับพืชผักอินทรีย์

มุมกาแฟเป็นส่วนที่เป๋าคลุกคลีดูแลเอง เขาตามหารสชาติกาแฟที่ถูกปากคนในพื้นที่ มีให้เลือกทั้งคั่วเข้มและคั่วกลาง หรือจะเป็นเมล็ดใหม่ ๆ ก็มีให้คอกาแฟได้ลองกันตามแต่โอกาสที่ได้มา แนะนำว่ามีเมนูซิกเนเจอร์ประจำร้านที่อยากให้ลองกันคือ OG SIG ด้วยรสชาติกาแฟบาง ๆ ผสานกับน้ำผึ้งและเลมอน ใส่น้ำสมุนไพรสูตรพิเศษ เป็นเครื่องดื่มออร์แกนิกที่ให้รสชาติฟรุตตีสดชื่นอย่าบอกใคร

ที่ตั้ง : 161 หมู่ 5 ตำบลสามแยก อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร 35120 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.30 – 21.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 08.30 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 06 3632 6644

Facebook : ออร์แกนิคคาเฟ่ – Organic Cafe

09 

หมู่บ้านอินทรีย์ บ้านโสกขุมปูน

หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ที่อยากชวนผู้มาเยือนลงดำนากันสักมื้อ

หมู่บ้านอินทรีย์ บ้านโสกขุมปูน

ชาวบ้านโสกขุมปูนยึดถืออาชีพทำนาข้าวแบบดั้งเดิมมาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งปุ๋ยเคมีเริ่มเข้ามาเมื่อหลายสิบปีก่อน แรกใช้ผลผลิตก็ได้เยอะขึ้น ข้าวก็งอกงามดี แต่เวลาผ่านไปส่งผลให้ดินในนาเริ่มแข็งขึ้น สุขภาพของเกษตรกรก็เริ่มแย่ลง พ่อมั่น สามสี เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงริเริ่มชวนชาวบ้านกลับมาทำนาข้าวด้วยวิธีอินทรีย์ ดูแลบำรุงจากปุ๋ยธรรมชาติอีกครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ในวันที่กระแสอินทรีย์ยังค่อยไม่แพร่หลายในสังคมไทย

“ส่งให้คุณด้วยรอยยิ้ม กินอิ่มปลอดภัย จากใจชาวนา สู่จานข้าวคุณ”

ชุ-ชุติมา ม่วงมั่น ทวนสโลแกนที่สื่อถึงความตั้งใจของ กลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ ให้เราฟังอีกครั้ง เธอคนนี้คือผู้รับไม้ต่อจากพ่อมั่น ช่วยดูแลแบรนด์ ‘ข้าวใจยิ้ม’ ข้าวไร้สารเคมีจากนาของเกษตรกรในชุมชน และเธอยังเป็นผู้วางหลักสูตรในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ปลูกฝังเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับเยาวชน เรียนรู้วัฒนธรรมงานบุญเกี่ยวกับข้าว ด้วยความหวังว่าอยากส่งต่อความรู้และปลูกฝังให้เด็ก ๆ ยึดถืออาชีพปลอดภัยนี้ต่อไปในอนาคต

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ทำเกษตรอินทรีย์กันแทบทุกครัวเรือน แถมยังมีธรรมนูญของตำบลนาโส่ช่วยกำกับไว้ คือห้ามใช้ยาฆ่าแมลง ชาวบ้านก็ร่วมกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา ช่วยให้นาอินทรีย์ปลอดภัยปราศจากเคมีด้วย

ทั้งนี้ชุมองว่าโรงสีไม่ใช่ปลายทางของเกษตรกร แต่สิ่งที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้คือการสร้างตลาด เธอทำวิจัยอยู่พักใหญ่ แล้วเกิดเป็น ‘ตลาดเขียว’ ของพี่น้องชาวยโสธร จุดนัดพบของเหล่าเกษตรกรกับผู้ซื้อ จัดขึ้นตามที่ต่าง ๆ ทั้งในอำเภอกุดชุมและอำเภอเมืองยโสธร 

ใครมาเยือนหมู่บ้านอินทรีย์แห่งนี้ รับรองจะตกหลุมรัก ทั้งมิตรไมตรีและวิถีชนบทของชาวบ้าน รวมถึงอากาศดีที่หายใจเข้าได้เต็มที่ไม่มีสารพิษลอยมาตามลม แถมชุยังอยากเชิญชวนแขกให้มากินข้าวหอมมะลิใหม่ ๆ ว่าดีงามแค่ไหน และทำความเข้าใจว่าทำไมข้าวหอมมะลิถึงมีราคาสูง ตั้งแต่ลองดำนาสาธิต ขั้นตอนการดูแลอย่างใส่ใจ จนถึงเก็บเกี่ยวยามข้าวออกรวง

ที่ตั้ง : บ้านโสกขุมปูน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร 35140 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 08 0798 2236

Facebook : ข้าวใจยิ้ม หมู่บ้านอินทรีย์ยโสธร บ้านโสกขุมปูน

10 

อินดี้ ออร์แกนิค

ร้านค้าที่รวบรวมสารพัดผลิตผลอินทรีย์จากชาวอำเภอกุดชุม

อินดี้ ออร์แกนิค
10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

อินดี้ ออร์แกนิค คือศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่รวบรวมสินค้านานาชนิดของชาวยโสธรไว้ครบครัน

ต๋อ-มาณิชรา ทองน้อย คร่ำหวอดงานด้านส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มาหลายปีในเมืองหลวง ตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนด มาทำนาข้าวและไร่อ้อยคั้นน้ำบนที่ดินของครอบครัว ก่อนจะสบโอกาสชวนเพื่อนบ้านโสกขุมปูน มาร่วมทำร้านค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้วยเหตุผลหลักคือ อยากเชื่อมเกษตรกรกับผู้บริโภคให้ใกล้กัน

“เราทำคล้าย ๆ สหกรณ์ เพื่อสนับสนุนให้คนได้กินอาหารดี ๆ และรองรับลูกหลานที่กลับมาอยู่บ้านให้มีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์อินทรีย์” ต๋อเฉลยถึงความตั้งใจเริ่มแรกเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน

ปัจจุบันร้านมีสารพัดสินค้าปลอดภัยวางจำหน่าย ส่วนใหญ่มาจากพี่น้องชาวนาในหมู่บ้าน นำโดยข้าวหอมมะลิเกรดดี ข้าวไรซ์เบอร์รี และข้าวพันธุ์พื้นเมืองหากินยาก มีหลายยี่ห้อให้เลือกลองซื้อไปหุงที่บ้าน มั่นใจได้ว่าเป็นข้าวออร์แกนิกแท้ ไม่ปนข้าวจากที่อื่น หรือหากแวะมาตรงฤดูกาล ก็จะเจอพืชผักประจำฤดูกาลนั้น ๆ จากสวนอินทรีย์มาวางร่วมด้วย ทั้งมะเขือเทศราชินีลูกเต่งกรอบอร่อย แตงโมของดีประจำจังหวัด และหอมกระเทียมก็มีให้เลือกซื้อ 

ถ้าสนใจอยากได้พันธุ์ไม้ไปปลูกเองที่บ้าน ต๋อก็เพาะชำไว้เป็นกระถางให้ยกกลับไปได้เช่นกัน

10 พื้นที่สีเขียวของเกษตรกรชาวยโสธร ที่ยืนยันว่าเมืองนี้โดดเด่นเรื่องเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ยังมีเนื้อโคขุนจากกลุ่มโคขุนหนองแหน มีให้เลือกตั้งแต่เนื้อทำสเต็ก เนื้อย่างเสียบไม้ จนถึงลูกชิ้นเนื้อ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต้นไผ่ตงอินทรีย์ของสวนไผ่ทองประสาร อย่างหน่อไม้ดอง หลอดไม้ไผ่ และถ่านไม้ไผ่

แต่สินค้าที่เหมาะกับช่วงนี้ที่โรคภัยกำลังถาโถม ต้องยกให้สมุนไพรจากสมุนไพรสูตรหมอยาพื้นบ้านแบบโบราณ และสูตรของโรงพยาบาลกุดชุมที่เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทย อย่างแคปซูลฟ้าทะลายโจร ก็มีวางจำหน่ายที่นี่ด้วย

ร้านเล็ก ๆ แต่อัดแน่นไปด้วยผลิตภัณฑ์อินทรีย์แห่งนี้ยังมีสินค้าอื่นอีกมาก เรียกได้ว่ามาที่เดียวได้ของฝากของดีของเด่นกลับบ้านแน่นอน

ที่ตั้ง : ปั๊มน้ำมัน ปตท. แยกตับเต่า ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.30 – 18.30 น.

โทรศัพท์ : 08 9718 2516

Facebook : อินดี้ ออร์แกนิค

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

ณัฐพล พุ่มสาขา

ช่างภาพสาระพัดประโยชน์ จริงๆ แล้วงานหลักคือ ตัดต่อวีดีโอ ทำวีดีโอโฆษณา วีดีโองานแต่ง ได้มาจับกล้องเพราะทีมขาดช่างวีดีโอ หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกเรียนรู้แบบ ครูพักลักจำมาเรื่อยๆ และแล้วอยู่มาวันนึง ช่าวภาพนิ่งในทีมก็ขาดอีก ผมจึงได้มาจับงานถ่ายภาพ จนถึงทุกวันนี้