25 พฤษภาคม 2022
3 K

ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากกว่าทางยุโรปมากนัก เมื่อมีความหลากหลายมาก ชื่อเรียกก็ต้องมากตามไปด้วย เพื่อใช้บ่งบอกรูปลักษณะ สี กลิ่น และรส ที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปแล้วการตั้งชื่อจะตั้งให้อิงกับชื่อของพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ เพื่อบอกให้รับทราบถึงแหล่งที่ปลูก เช่น เงาะโรงเรียน ส้มบางมด ข้าวหอมสกล ลำไยลี้ ทุเรียนนนท์ ส้มโอนครชัยศรี ชื่อเหล่านี้ไม่ใช่พันธุ์ แต่เป็นชื่อที่มาที่บ่งบอกพื้นที่เพาะปลูก 

นอกจากนั้นการตั้งชื่อของพันธุ์พืชผูกพันอยู่กับธรรมชาติ อย่างลักษณะทางกายภาพของสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง กลิ่น หรือรส อย่างทุเรียนก้านยาว ได้รับชื่อเพราะก้านยาว หรือมะม่วงน้ำดอกไม้ เพราะทั้งหอมและหวานเหมือนน้ำของดอกไม้ กระท้อนปุยฝ้าย แกะออกแล้วเหมือนปุยของดอกฝ้าย ขนุนแดงสุริยา ที่มีเนื้อแดงเข้มอมส้มเหมือนสุริยา 

ชื่อยังถูกตั้งจากพฤติกรรมของเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ในสังคม ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นด้วยความอร่อยของผักผลไม้นั้น ๆ อย่างข้าวลืมผัว กล้วยสาวกระทืบหอ และผักพ่อค้าตีเมีย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า 

“สำหรับการตั้งชื่อผักชนิดนี้ว่า พ่อค้าตีเมีย อาศัยเรื่องเล่าจากชาวบ้านว่า พ่อค้าเดินทางไปขายสินค้า พอกลับมาถึงบ้านจึงทั้งเหนื่อยและหิว ด้วยความหิวจึงเรียกภรรยาให้ยกสำรับมาให้ ในสำรับมีแกงผักชนิดหนึ่ง พอพ่อค้าได้รับประทานแกงผักชนิดนี้เข้าไป ผักในแกงยังกรอบและไม่นุ่ม จึงด่าภรรยาว่าแกงผักไม่สุกแล้วเอามาให้รับประทาน และด้วยความโมโหจึงคว้าไม้ไล่ตีภรรยา ซึ่งความจริงแล้วผักชนิดนี้เมื่อนำไปปรุงอาหารจะมีลักษณะเฉพาะคือ มีความกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนผักชนิดอื่น” 

หญ้าแห้วหมู เถาตดหมูตดหมา ผักพ่อค้าตีเมีย พืชผักชื่อแปลกที่สะท้อนธรรมชาติและสังคม

 มะม่วงพราหมณ์ขายเมียก็เช่นกัน นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม บันทึกไว้ว่า

มะม่วงชนิดนี้เป็นมะม่วงโบราณ ที่มาของชื่อพันธุ์เกิดจากความอร่อยของมะม่วง ทำให้พราหมณ์ต้องยอมขายเมียตัวเองเพื่อเอาเงินไปซื้อผลสุกมากิน จึงถูกเรียกว่า ‘มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย’ และยังมีหลักฐานปรากฏให้เห็นในหนังสือ พรรณพฤกษา กับสัตวาภิธาน ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ประพันธ์เป็นกาพย์ยานี 11 ว่า

“ม่วงพราหมณ์ขายเมียนี้ ดูท่วงทีรถขยัน

เมียรักดังชีวันยังสู้ขายจ่ายอัมพา

หญ้าแห้วหมู เถาตดหมูตดหมา ผักพ่อค้าตีเมีย พืชผักชื่อแปลกที่สะท้อนธรรมชาติและสังคม

ไม่เช่นนั้นก็ตั้งตามชื่อคนปลูก เช่น มะม่วงยายกล่ำ ทุเรียนตาท้วม แบบนี้ถือว่าให้เครดิตคนปลูก ถือว่าเป็นนักพัฒนาพันธุ์ที่สมควรแก่การได้รับผลประโยชน์จากการคัดพันธุ์และพัฒนาพันธุ์ รวมถึงคนในสังคมยังนำปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมาตั้งชื่อพืชผักผลไม้ อย่างมะม่วงฟ้าลั่น มีดีที่เนื้อกรอบ เคี้ยวแล้วเกิดเสียงเหมือนฟ้าลั่น เป็นต้น

การเรียกชื่อหรือการตั้งชื่อ สะท้อนให้เราเห็นถึงความใกล้ชิดและความผูกพันของคนกับธรรมชาติ ความเป็นคนช่างสังเกต ช่างเปรียบเปรย 

การตั้งชื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกหนึ่งวิธี คือ การตั้งชื่อโดยใช้ลักษณะของสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง 

หญ้าแห้วหมู เถาตดหมูตดหมา ผักพ่อค้าตีเมีย พืชผักชื่อแปลกที่สะท้อนธรรมชาติและสังคม
หญ้าแห้วหมู เถาตดหมูตดหมา ผักพ่อค้าตีเมีย พืชผักชื่อแปลกที่สะท้อนธรรมชาติและสังคม

เริ่มตั้งแต่มะม่วงหัวช้าง ลิ้นงูเห่า เขียวไข่กา และแรด น่าลองจับงูเห่ามาแลบลิ้นดูว่าเหมือนไหม แล้วเอามะม่วงเขียวไข่กาไปเทียบกับไข่ของอีกาว่า Pantone ถูกปกหรือเปล่า

ส่วนทุเรียนก็ไม่น้อยหน้า มาทั้งกบ มาทั้งนก อย่างกบชายน้ำ กบพิกุล กบตาเฒ่า กบทองคำ กลุ่มกบนี้คนเราพิจารณาจากรูปทรงดูแล้วว่าลักษณะคล้ายจึงใช้ชื่อกบ และยังมีนกกระจิบ รวมไปถึงชะนี ลิง ค่าง

เรื่องของการเล่าสังคมและธรรมชาติผ่านชื่อพืชผักผลไม้แปลก ที่สุดท้ายอาจจะเหลือแค่ชื่อ

กล้วยเองก็น่าสนใจ เพราะเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีความหลายทางชีวภาพสูงมาก ๆ ในประเทศไทย ต่างจากมังคุดที่เขาว่ากันว่ามีพันธุ์เดียวในไทย แยกเพียงแค่มังคุดจันทร์หรือมังคุดใต้ แต่ส้มแขกที่ไว้ใส่แกงส้มใต้ให้เปรี้ยว ๆ นี้เป็นวงศ์เดียวกัน

กลับมาที่เรื่องชื่อกล้วย ๆ ก็ใช้ลักษณะเฉพาะของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาบ่งบอกความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ อย่างเล็บช้างกุด ลักษณะของลูกกล้วยคล้ายกับเล็บของช้างที่กุด กล้วยนมหมี กล้วยนมแพะ กล้วยน้ำนมราชสีห์ กล้วยนิ้วจระเข้ กล้วยงาช้าง กล้วยกุ้งแดง กล้วยทองขี้แมว… เขียนมาเจอคำนี้พอดี ลักษณะอุจจาระของสัตว์ยังนำมาตั้งชื่อได้ ช่างพิจารณาจริง ๆ คนเรา

เราไม่ได้ใช้ลักษณะของขี้กับกล้วยอย่างเดียว แต่ใช้กับพริกด้วย อย่างพริกขี้หนู ดอกขี้เหล็ก มะระขี้นก เมื่อต้องแปลภาษาต่างชาติตรงตัว ต่างคนต่างทำหน้าไม่ถูก อย่างเถาตดหมูตดหมา ผักขี้หูด เห็นจะมีแต่คำว่าฟักนี่แหละ ยังไม่ทันได้แปลก็ทำหน้าเหวอกันเป็นแถว

เรื่องของสัตว์ในชื่ออาหารยังมีอีกอย่างในข้าว ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวมันปู ข้าวเล็บนก อันนี้ต้องไปจับนกมาสักตัวสองตัวดูว่าลักษณะทางกายภาพใช่หรือเปล่า และต้องเป็นนกที่พัทลุงด้วยนะ เพราะพื้นถิ่นมาจากที่นั่น จะจับนกเชียงใหม่มาดูอาจจะไม่ตรงกัน  

ถ้ายังจะว่ากันต่อด้วยเรื่องว่าน ๆ ก็ยังมีชื่อของสัตว์เข้ามาผสมโรงด้วย อย่างว่านกาบหอยแครง ว่านกีบแรด ว่านค้างคาวดำ พืชที่เข้าไม่เข้าพวกอย่างวัชพืช หญ้าแห้วหมู เนียมหูเสือ เครือหมาน้อย ก็ยังมีชื่อของสัตว์มาช่วยจำแนก

เรื่องของการเล่าสังคมและธรรมชาติผ่านชื่อพืชผักผลไม้แปลก ที่สุดท้ายอาจจะเหลือแค่ชื่อ

เท่าที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสังเกตลักษณะของสัตว์ ทั้งบนบก ในน้ำ บนฟ้า มากำกับบ่งใช้กับพืชผักผลไม้ต่างพันธุ์ เขียนมาตั้งยาว จริง ๆ แล้วประเด็นหลักอยู่ที่เราควรจะกินโดยสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น กินข้าวเหนียวมะม่วง ก็กินกับมะม่วงอย่างอื่นนอกจากน้ำดอกไม้ กินกับอกร่อง กินกับทองดำ กินกับหนังกลางวัน หรือจะจิ้มนำปลาหวาน ก็มีแก้ว โชคอนันต์ แรด ฟ้าลั่น บ้างก็ได้ จะกินข้าวก็ลองข้าวพันธุ์พื้นบ้าน อย่างโสมมาลี ทับทิมชุมแพ เล็บนก สังข์หยด ก่ำน้อย ก็สนุกดี 

ในฐานะมนุษย์ผู้ต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติ เราควรจะมีความกังวลต่อความหลายทางชีวภาพที่ลดลงหรือหายไป เพราะอาหารสำหรับเราในฐานะมนุษย์ ก็จะลดลงหรือมีขีดจำกัดมากขึ้น มีตัวเลือกในการผลิตอาหารน้อยตามไปด้วย สิ่งนี้ภาษาทางการเรียกว่า ความมั่นคงทางอาหาร 

เราต้องการความหลากหลายทางพันธุกรรมและชีวภาพเนื่องจากพืชพันธุ์ที่แตกต่างกัน ก็จะมีความแข็งแรงและทนทานต่อโรคไม่เหมือนกัน ความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่เท่านกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อโอกาสในการอยู่รอดและขยายพันธุ์ ดังนั้น การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ อาจหมายถึงการสูญพันธุ์ของพืชอาหารชนิดนั้นตลอดไป เหมือนสัตว์ป่าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งน่ากลัวมาก ๆ เพราะเราจะอาจหมดอิสรภาพในการเลือกกินอย่างสิ้นเชิง

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล