ตุ๊กตา-นิศารัตน์ จงวิศาล เป็นมนุษย์ผมยาว วันที่เราเจอกัน เธอสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวพิมพ์ลายดอกไม้สีอ่อน คู่กับกางเกงยีนส์สบายๆ เราไม่ได้พยายามกะเกณฑ์ช่วงวัย แต่เธอเฉลยกับเราในตอนท้ายของบทสนทนาว่าอายุ 31 ย่าง 32 ปี

ตุ๊กตามีรอยสักทั้งหมด 8 จุดบนร่างกาย แรกเริ่มเดิมทีเธอตั้งใจสักแค่ลายดอกไม้ แต่สุดท้ายกลายเป็นทาสแมว เลยได้รอยสักลายแมวหน้ากวนที่เธอบอกว่าหน้าเหมือนแมวที่เธอเลี้ยงมาโดยไม่ได้วางแผน

อาชีพหลักของตุ๊กตาคือทายาทธุรกิจขายอะไหล่รถสิบล้อ ซึ่งเป็นธุรกิจกงสีของครอบครัวเชื้อสายจีน เธอเติบโตมากับการมุดใต้ท้องรถสิบล้อ ไขอะไหล่ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง โตขึ้นมาก็มีหน้าที่วิ่งไปขายสินค้าตามต่างจังหวัด เธอบอกว่า เธอต้องทำตัวสวย หรือไม่ก็ทำตัวเป็นทอมไปเลย เพราะลูกค้าในวงการสิบล้อต่างคาดหวังแบบนั้น

สิ่งหนึ่งที่คุณน่าจะรับรู้ได้โดยที่เราไม่ต้องบอกสักคำก็คือ ตุ๊กตาเป็นผู้หญิง

‘ทำทาง’ กลุ่ม NGO ที่กรุยทางแก้กฎหมายทำแท้งในไทยให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ปฏิเสธความเป็นแม่

ไม่ว่าจะรับรู้จากคำบรรยายรูปพรรณสัณฐานว่า ผมยาว สวมเสื้อลายดอกไม้ สรรพนามแทนตัวที่ใช้คำว่า เธอ แทนที่จะเป็นคำว่า เขา ไปจนถึงคำบอกเล่าว่าเธอถูกคาดหวังว่าต้องทำตัวสวย นี่เป็นหลักฐานเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยืนยันว่า สังคมของเรามีวิธีการแบ่งแยกที่เฉพาะเจาะจงระหว่างเพศหญิงชายอยู่หลากหลาย ทั้งทรงผม การแต่งกาย วิธีการใช้ภาษา ไปจนถึงการประพฤติวางตัว

อีกบทบาทหนึ่งของผู้หญิงชื่อตุ๊กตา คือการเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและประสานงานของกลุ่มทำทาง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีมาอย่างยาวนาน แต่ชื่อของกลุ่มทำทางเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจากความพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายการทำแท้ง

ท้อง / แท้ง

จากคำบอกเล่าของตุ๊กตา กลุ่มทำทางมีสมาชิกหลัก 6 คน นอกจากตัวเธอเองแล้วยังมี ชมพู่-สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม นุ่น กาน ออม พีช และผักกาด ที่สลับกันทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางสายด่วนช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อม และหน้าที่แอดมินเพจคุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง เพจเฟซบุ๊กที่สื่อสารประเด็นเดียวกัน

สมาชิกแต่ละคนมีที่มาหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักศึกษา นักขาย (อะไหล่สิบล้อและสินค้าอื่น) แต่สิ่งมีร่วมกันคือความคิดว่า

“การทำแท้งเป็นสิทธิ์ของผู้หญิงค่ะ” ตุ๊กตาเล่าเมื่อเราถามถึงประเด็นหลักที่กลุ่มทำทางรณรงค์มาต่อเนื่อง “เราเน้นไปที่สิทธิของผู้หญิง การทำแท้งของผู้หญิงต้องกระทำได้อย่างปลอดภัย”

เมื่อพูดถึงสิทธิ เราย้อนกลับไปดูสิทธิที่ถูกกำหนดตามตัวบทกฎหมาย ในกฎหมายอาญาไทยยังมีการเอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้งในมาตรา 301 ว่าผู้หญิงที่ทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งมีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แถมมาตรา 302 ระบุว่า แพทย์ที่ทำแท้งให้ผู้หญิงยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

พูดง่ายๆ คือ สิทธิในการทำแท้งนั้นยังไม่มีอยู่จริงตามกฎหมายไทย

‘ทำทาง’ กลุ่ม NGO ที่กรุยทางแก้กฎหมายทำแท้งในไทยให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ปฏิเสธความเป็นแม่

“หากถามว่าทำไมกฎหมายไทยยังกำหนดโทษแบบนี้ เราอาจตอบได้ตามความรู้สึก แต่ไม่ได้เป็น Fact เราคิดว่าสังคมไทยมีความเป็นห่วงเป็นใยกันมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ แต่เป็นห่วงเรื่องบาปกรรมแทนเรา” ตุ๊กตาให้ความเห็น “สังคมไทยขู่ผู้หญิงว่าทำแท้งแล้วมันเป็นบาป อ้างอิงตามชุดความคิดที่มีรากฐานจากศาสนาพุทธ แต่อันที่จริง การมองชีวิตและศีลธรรมเป็นเรื่องส่วนตัวมากเลยนะ”

หากคิดว่าการทำแท้งเป็นบาปตามแนวคิดศาสนาตะวันออก ชุดข้อมูลเรื่องกฎหมายทำแท้งในประเทศที่มีความเข้มข้นของศาสนามากกว่าไทยจากตุ๊กตาก็ทำให้เราฉุกคิดได้ไม่น้อย

“จริงๆ มันไม่มีกฎหมายที่ดีที่สุดในโลกใบนี้ แต่เทียบเคียงประเทศที่มีศาสนาใกล้เคียงกับไทยอย่างอินเดียและเนปาล อินเดียอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ถึงอายุครรภ์ยี่สิบสัปดาห์ ด้วยวิธีใดก็ได้ ไม่มีความผิดเลย หลังจากมีกฎหมายทำแท้งแบบนี้ออกมา ผู้หญิงก็เสียชีวิตจากการทำแท้งน้อยลง”

สถิติที่น่าสนใจอีกข้อคือ อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ทำแท้งในโรงพยาบาลมีเพียง 1เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อัตราการเสียชีวิตจากการทำคลอดยังสูงกว่าเสียอีก 

“กลุ่มทำทางกำลังจะไปยื่นหนังสือต่อราชวิทยาลัยสูตินารีเวช ซึ่งเป็นสมาคมของสูตินารีแพทย์ไทย” ตุ๊กตาเล่าถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พร้อมอธิบายเหตุผล “เพราะเขาตัดสินใจประกาศว่า ผู้หญิงมีสิทธิ์ทำแท้งได้ที่อายุครรภ์สิบสองสัปดาห์ เหตุผลคือเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง ซึ่งมันไม่จริง”

“การท้องนั้นหยุดได้สองวิธี คือหยุดตอนที่คลอด ซึ่งเราทำกันที่อายุครรภ์สามสิบเจ็ดถึงสี่สิบสัปดาห์ หรือหยุดตอนที่ทำแท้งซึ่งไม่ควรเกินยี่สิบสี่สัปดาห์ อ้างอิงจากงานวิจัยสากลมากมาย ยิ่งเราหยุดตอนที่อายุครรภ์น้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งปลอดภัย”

แต่เท่าที่เราเข้าใจ ร่างกฎหมายอาญาล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติให้แก้ไขมาตรา 301 เกี่ยวกับการทำแท้ง ก็ระบุตัวเลขที่ 12 สัปดาห์

“นั่นทำให้เรารู้ว่าเขาไม่ฟังเราเลย” ตุ๊กตาตอบพลางถอนหายใจ “ทางกลุ่มทำทางได้เห็นร่างฯ ตั้งแต่ก่อนจะเข้าไปขอมติแล้ว ซึ่งเราคัดค้านกันว่าสิบสองสัปดาห์เป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป แต่เขาก็ไม่ฟัง ทั้งในฐานะผู้หญิงที่เป็นเจ้าของปัญหาและคนที่ผลักดันเรื่องนี้ ตัวเลขสิบสองสัปดาห์เป็นเวลาที่พวกเขาสบายใจ ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงอย่างเรา”

น่าคิดเหลือเกินว่าเรื่องท้อง/แท้งเป็นเรื่องของใครกันแน่ เป็นเรื่องสิทธิของผู้หญิงเหนือร่างกายของตัวเอง หรือเป็นเรื่องที่สังคมควรรุมกันตัดสินโดยใช้ชุดศีลธรรมเดียว

“แล้วฉันไม่ใช่หนึ่งในสังคมหรือ ทำไมไม่ฟังศีลธรรมชุดของฉันบ้าง” ตุ๊กตาตั้งคำถาม

‘ทำทาง’ กลุ่ม NGO ที่กรุยทางแก้กฎหมายทำแท้งในไทยให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ปฏิเสธความเป็นแม่
‘ทำทาง’ กลุ่ม NGO ที่กรุยทางแก้กฎหมายทำแท้งในไทยให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ปฏิเสธความเป็นแม่

ท้อ / แท้

เมื่อตุ๊กตาแสดงออกอย่างไม่ปิดบังว่าตัวเธอและทางกลุ่มไม่ได้พึงใจในการเห็นชอบให้พิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่เพิ่งเกิดขึ้น เราจึงชวนให้เธอจิบน้ำเพื่อพักบทสนทนาสักนิด ก่อนถามถึงเส้นทางการพยายามผลักดันเรื่องสิทธิการทำแท้งที่ผ่านมา

เดาว่านี่คงไม่ใช่ความผิดหวังครั้งแรก แล้วเธอเคยท้อกับสิ่งที่ทำบ้างไหม

“เรานึกไม่ออกเลยว่าท้อเรื่องอะไร” ตุ๊กตาเอ่ยหลังจากเงียบไปช่วงสั้นๆ “ที่เงียบคือคิดอยู่ว่าเคยท้อไหม เราเคยโดนด่าจากสองสามหมื่นคอมเม้นท์เลยนะ เขาบอกว่าเราไร้ยางอาย ไม่มีทางได้ดี เราก็เป๋ไปสองสามวันเหมือนกัน แต่ไม่เคยท้อ”

ล่าสุดความพยายามในการผลักดันสิทธิ์ของผู้หญิงในเรื่องนี้ ไปไกลถึงการปราศรัยบทเวทีประท้วง ซึ่งเป็นประเด็นที่ว่าด้วยผู้หญิงกับการถูกคาดหวังให้ทำออรัลเซ็กซ์โดยคู่ของตนราวกับเป็นหน้าที่ ไม่ต่างจากที่ถูกคาดหวังให้อุ้มท้องทั้งที่อาจไม่พร้อมหรือไม่เต็มใจ

“ที่ผ่านมา เราโดนกดหัวจริงๆ ทั้งในแง่เปรียบเปรยและกดหัวตรงตามตัวอักษรเลยค่ะ” ตุ๊กตาเล่าติดตลก “ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของ Consent (ความยินยอม) และยังเป็นความเข้าใจผิดของผู้ชายด้วย ว่าการมีเซ็กซ์คือการ Serve ตัวเขาเอง และผู้หญิงที่ได้รับอวัยวะของเขาต้องรู้สึกฟิน ยินดี

“ถามว่าเรื่องที่ใครๆ มองว่าเล็กแบบนี้เป็นเรื่องเล็กหรือเปล่า มันไม่เล็ก เพราะเมื่อใดก็ตามที่คู่ของคุณไม่ให้เกียรติ Consent ของคุณ มันจะลามไปจากเรื่องออรัลเซ็กซ์ ไปเรื่องการคุมกำเนิด ไปถึงเรื่องการตัดสินใจท้องต่อหรือทำแท้ง เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด

“เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้ชายไม่ได้มี Mindset เรื่องนี้ เขาจะไม่เข้าใจเรื่องทั้งหมด และไม่ว่าจะเป็นคู่เพศเดียวกันหรือต่างเพศ ถ้าคุณไม่ได้เช็ก Consent ต่อกัน ถ้าหากเราไม่ได้อยากเข้าใจความต้องการของอีกฝ่าย ไม่ถามว่าจะกินอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไรเวลามีเซ็กซ์ มันลามไปทุกเรื่อง”

 น่าคิดเหมือนกันว่าที่ผ่านมาเราเคยเช็กความยินยอมของคนข้างๆ เราก่อนตัดสินใจอะไรหรือเปล่า หรือเราเองเป็นอีกคนที่คิดว่า แค่นี้เองไม่เป็นอะไร

“รู้ได้อย่างไรว่าไม่มีใครเดือดร้อนกับการถูกหวังให้ทำออรัลเซ็กซ์” ตุ๊กตาตั้งคำถาม

‘ทำทาง’ กลุ่ม NGO ที่กรุยทางแก้กฎหมายทำแท้งในไทยให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ปฏิเสธความเป็นแม่

ทำ / ทาง

เมื่อเราได้คำตอบชัดแจ้งว่าร่างกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำลังพิจารณาแก้ไขกันอยู่นั้น ไม่ได้ผ่านความยินยอมของเจ้าของปัญหา คำถามก็คือว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อไปดี

“สิ่งที่เราทำได้ในฐานะกลุ่มทำทางคือรณรงค์ต่อไปค่ะ เราจะรวบรวมรายชื่อเพื่อไปขอแก้กฎหมายก็ได้ หรืออาจประท้วงก็ได้ คนทั่วไปก็สามารถร่วมลงชื่อหรือมาประท้วงกับเราได้นะคะ” ตุ๊กตาตอบเรียบๆ “อย่าหยุด สำหรับเรา เราเอาแรงแค้นของการโดนด่าวันนั้นมาเป็นแรงผลัก ไม่ว่าใครจะพยายามกดให้เราจมเท่าไหร่ เราจะโงหัวกลับขึ้นมาให้ได้ (หัวเราะ)”

ถึงกับต้องถามว่าคำตอบนี้ลงในบทความได้ไหม ซึ่งตุ๊กตาให้ความยินยอมแล้ว

“ลงได้ค่ะ แต่นั่นเป็นเหตุผลของเราคนเดียว เหตุผลจริงๆ ที่หยุดผลักดันเรื่องสิทธิ์ในการทำแท้งไม่ได้ก็เพราะ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับทุกคน ตัวเราเอง เพื่อน พี่น้องของเรา ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีโอกาสอยู่ในสภาวะท้องไม่พร้อม หรือมีคนใกล้ตัวท้องไม่พร้อมได้ทั้งนั้น

“ซึ่งเราอยากบอกกับคนที่ท้องไม่พร้อมแค่ว่าคุณมีสิทธิ์เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเลือกทางของตัวเอง อย่าได้ไปหวั่นไหวกับสิ่งรอบๆ เพราะเขาไม่ใช่เจ้าของชีวิตคุณ”

แม้วันนี้ร่างแก้กฎหมายจะยังไม่ใช่สิ่งที่คาดหวังไว้ แต่สำหรับตุ๊กตาการเดินทางผลักดันของกลุ่มทำทางอาจเรียกได้ว่ามาถึงหมุดหมายสำคัญอันหนึ่ง

“กลุ่มทำทางเป็นหน่วยแนวหน้ากล้าตายของประเด็นทำแท้งในประเทศไทย เนื่องจากเราเป็น NGO เรามีอิสระในการเคลื่อนไหว ความสำเร็จของเราอันหนึ่งนอกจากการให้คำปรึกษา ก็คือเรื่องรณรงค์ ที่เราได้แก้ไขกฎหมายก็เริ่มมาจากการที่เราและเครือข่ายร่วมกันทำหนังสือยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นความสำเร็จที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มและเครือข่าย

“วันที่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ วันนั้นดีใจจนร้องไห้เลยนะ ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรในอีกหลายเดือนต่อมา (หัวเราะ) แต่การที่พวก NGO ตัวเล็กๆ นั่งประชุมกันอยู่ในห้องแคบๆ จนๆ มารวมกันแล้วเสียงของเราบอกศาลรัฐธรรมนูญได้ว่า คุณต้องเปลี่ยน แล้วเขาเปลี่ยนให้เรา อันนี้มัน Big Surprise จริงๆ”

มองจากสายตาที่มุ่งมั่นของตุ๊กตาแล้ว เราพอจะเดาไว้ว่าภารกิจทำทางที่เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงคนนี้ขยาดเลยแม้แต่น้อย

“นึกไม่ออกเลยว่าเราต้องกลัวอะไร ถ้าเราเป็นไม้ซีก เรายิ่งไม่ต้องกลัวเลย เราหักก็ไม่ได้มีใครหักไปกับเราเท่าไหร่ ไม่ได้หมายความว่าจะยอมตาย พลีชีพ ไม่หักก็ดี แต่ท้ายที่สุด เราไม่คิดว่ามันมีอะไรน่ากลัวขนาดนั้น เพราะเราไม่เคยทำสิ่งผิดกฎหมาย อย่างมากก็แค่ถูกด่า แล้วยังไง ก็กินข้าวอร่อยเหมือนเดิม”

เท่า / เทียม

อันที่จริงมีอีกเรื่องที่เราจงใจไม่บอกไปก่อนหน้า นั่นคือเหตุผลที่ตุ๊กตาเคยโดนด่าถึง 30,000 คอมเมนต์

“ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่เราเปิดหน้าตัวเองบอกว่าเราเคยทำแท้ง แล้วชีวิตเราก็มีความสุขดี ลงในเพจคุยกับผู้หญิงทำแท้ง โพสต์นั้นถูกซื้อโฆษณาโดยที่เราทราบล่วงหน้า เราแค่คิดว่าลองดูก็ได้ แต่รู้สึกตัวอีกทีมีสามหมื่นคอมเมนต์ว่าเราไม่มียางอาย เป็นคนใจบาปที่ไม่มีวันได้ดีอีกแล้วในชีวิต เป็นผี เป็นมาร ไล่เราไปตาย ด่าถึงพ่อถึงแม่

“เราคิดว่าเขาไม่ได้มองเราเป็นคน คนที่ด่าเรา เขามองผู้หญิงหรือคนที่มีมดลูกว่าเป็นอู่ที่ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธเมื่อมีตัวอ่อนเล็กๆ อยู่ข้างในมดลูก ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธความเป็นแม่ เพราะเป็นหน้าที่ที่สังคมแบบปิตาธิปไตยมอบให้กับมดลูก แต่เราไม่ได้อยากทำหน้าที่นี้สักหน่อย

“คนมักมองผู้หญิงที่เคยทำแท้งแค่มิติเดียว คือนี่เป็นผู้หญิงที่เคยทำแท้ง บาป ชั่ว ขายดราม่ามัน แต่ไม่ได้มองมิติอื่นอีกเลย” ตุ๊กตากล่าว “ปัญหามันคือเราพยายามจะเอาความรู้สึกของเราไปตัดสินคนอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำแท้ง”

ต่อให้ไม่นำข้อเท็จจริงว่าตุ๊กตามีมดลูกหรือไม่มาพิจารณา เราก็ยังคงรู้สึกว่าเธอเป็นมนุษย์ที่ห้าวหาญและมุ่งมั่นมากเหลือเกินในการผลักดันสิ่งที่เธอคิดว่าถูกต้อง และแม้เธอจะเคยทำแท้งหรือไม่เคย ก็ไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงในมิติอื่นของชีวิต ที่ว่าเธอยังเป็นลูกสาว เป็นเถ้าแก่เนี้ยร้านอะไหล่สิบล้อ เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง

เช่นเดียวกันกับที่ผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าเคยท้องไม่พร้อม ไม่ว่าเคยทำแท้งหรือไม่ มีมิติที่หลากหลายในชีวิต และมีความเป็นคนเท่าๆ กันกับเราและคุณ

การต่อสู้ของตุ๊กตาและเพื่อนกลุ่มทำทาง จึงไม่ใช่แค่การต่อสู้เพื่อสิทธิ์ให้ผู้หญิงได้ทำแท้งโดยไม่มีความผิด แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้คุณค่าของความเป็นผู้หญิงไม่เท่ากับการอุ้มท้องให้กำเนิดนั้นชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้คุณค่าของผู้หญิงเท่ากับความเป็นมนุษย์ และเพื่อให้เราเป็นคนเท่ากันโดยสมบูรณ์

“คุณค่าของความเป็นมนุษย์คือความเห็นอกเห็นใจ และการให้เกียรติการตัดสินใจของคนอื่น มีสองข้อนี้ คุณจะเป็นมนุษย์” ตุ๊กตากล่าวทิ้งท้าย

‘ทำทาง’ กลุ่ม NGO ที่กรุยทางแก้กฎหมายทำแท้งในไทยให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ปฏิเสธความเป็นแม่

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า