คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ คือ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล และ พี่ใหญ่ของ ‘เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)’ 

เซ็นทรัล ทำ เชื่อใน ‘พลังของการลงมือทำ’ มาพร้อมสโกแกนแสนจริงใจ ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ และเป็นโครงการที่กลุ่มเซ็นทรัลชวนทุกคนมาร่วมแรง-ร่วมใจกัน ‘ทำ’ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน เป็นไปตามแนวทางสากลของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) 

แม้จะเพิ่งคุ้นหูชื่อ เซ็นทรัล ทำ แต่นี่คือความตั้งใจและสิ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลทำมาตลอด 75 ปี ไม่ว่าเซ็นทรัลจะปรากฏตัวอยู่ย่านไหน ก็มุ่งมั่นนำความเจริญเข้าไปสู่ย่านนั้น พร้อม ๆ กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี โดยจับมือร่วมกันกับกลุ่มคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน ชุมชน ด้วยการอาศัยความชำนาญและเชี่ยวชาญในแบบที่เซ็นทรัลเป็น เข้าไปสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Values : CSV) ที่สำคัญต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเป้าหมาย ‘ความยั่งยืน’ 

กลุ่มเซ็นทรัลลงสนาม ‘ทำจริง’ เพียง 6 ปี แต่พัฒนาชุมชนไปมากถึง 44 ชุมชน สนับสนุนครัวเรือนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน พัฒนาคุณภาพชีวิตกว่า 500,000 คน สร้างรายได้ให้ชุมชนต่อปีมากกว่า 1,500 ล้านบาท ลดปริมาณขยะอาหารมากกว่า 1,600 ตัน และฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวกว่า 2,000 ไร่ ผ่านโครงการกว่า 100 โครงการ

พิชัย จิราธิวัฒน์ พลังของการลงมือทำ ‘เซ็นทรัล ทำ’ CSV ที่ทำจริงและทำอย่างยั่งยืน
พิชัย จิราธิวัฒน์ พลังของการลงมือทำ ‘เซ็นทรัล ทำ’ CSV ที่ทำจริงและทำอย่างยั่งยืน

นี่คือโครงการที่เราคิดว่าคุณพอจะคุ้นหูและเคยสนับสนุน เช่น โครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา โครงการจริงใจ Farmers’ Market โครงการตะกร้าสานคนพิการ โครงการพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ โครงการพิพิธภัณฑ์นาหมื่นศรี และโครงการ Journey to Zero – สมุยโมเดล ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนตอกย้ำ ‘พลังของการลงมือทำ’ ได้อย่างแท้จริง

ในวันนี้ คุณพิชัยเลือกถอดสูท สวมรองเท้าคู่เก่ง เดินเข้าป่า ขึ้นเหนือ ล่องใต้ ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน สำรวจปัญหา มองหาโอกาสและศักยภาพ เพื่อดึงของดี ทักษะฝีมือ และเสน่ห์ท้องถิ่น ออกมาให้ได้มากที่สุด โดยนำมาพัฒนาต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ สินค้า หรือการท่องเที่ยว ที่เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งความน่าสนใจ คือ เซ็นทรัล ทำ ไม่ได้ยัดเยียดโปรเจกต์ใส่มือแล้วก็หายไป แต่เริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ ว่า ‘อยากทำอะไร’ แล้วจับมือกันหาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาสิ่งนั้นด้วยกันจนยืนด้วยลำแข้งอย่างแข็งแรง ในวันที่ชุมชนแข็งแรง ขอเพียงอย่างเดียว ขอให้ ‘ทำ’ ต่อ และบอกต่อผู้คน ชุมชน หรือองค์กรอื่น ๆ ต่อไป

เป้าหมายของ เซ็นทรัล ทำ คืออะไร

เป้าหมายของผมคือความยั่งยืน ผมอยากเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยากลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ทั้งประเทศ อยากให้นักเรียนมีการศึกษา อยากเห็นชาวบ้านมีอาชีพที่แข็งแรง อยากให้สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเรากำลังทำผ่าน 6 แนวทางขับเคลื่อนของ เซ็นทรัล ทำ และผมอยากชวนคนอื่นมาทำในแบบของตัวเอง จึงเกิด Series Ad สร้างแรงบันดาลใจ ที่ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องเริ่มต้นลงมือทำ

พิชัย จิราธิวัฒน์ พลังของการลงมือทำ ‘เซ็นทรัล ทำ’ CSV ที่ทำจริงและทำอย่างยั่งยืน

ที่คุณชวน ไก่-ณฐพล บุญประกอบ มาทำหนังโฆษณา ‘วงจรชีวิตของการทำ’ ต้องการสื่อสารเรื่องอะไร

ผมต้องการสื่อสารให้ทุกคนเริ่ม ‘ทำ’ ถ้าทุกคนช่วยกันทำมันจะเร็ว ถ้าเราทำคนเดียวก็คงไม่ทัน และ เซ็นทรัล ทำ ก็เชื่อในการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เชื่อว่าความสามัคคีของทุกคนจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิม เลยเป็นที่มาของการสร้าง ‘พลังของการลงมือทำ’ หากดูหนังโฆษณาเรื่องนี้จบแล้ว ผมคิดว่าคนดูน่าจะพอเข้าใจว่า ตัวเขาจะเข้าไปช่วยตรงจุดใดได้บ้าง ผมว่าเนื้อหามันสื่อสารได้กับคนทุกระดับ ตั้งแต่แม่บ้าน วินมอเตอร์ไซค์ ยันผู้บริหาร อีกอย่างผมอยากสร้างการรับรู้ให้มากที่สุด ให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องราวพวกนี้ 

คุณเป็นผู้บริหารที่เชื่อใน ‘พลังของการลงมือทำ’ ด้วยมั้ย

แน่นอน เชื่อมากเลย (ตอบทันที) พลังของการร่วมมือกันทำมันยิ่งใหญ่มาก เราทำคนเดียวไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เก่งทุกด้าน เราต้องให้คนเก่งแต่ละด้านมาช่วยกันถึงจะประสบความสำเร็จ ในทุก ๆ โครงการของ เซ็นทรัล ทำ เกิดจากความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งสิ้น และสิ่งสำคัญคือ ‘ทุกคนต้องเชื่อในการลงมือทำ’

ตัวผมลงพื้นที่บ่อยมาก ถ้าผมไม่ลงไปทำ ไม่ลงไปเห็น ผมก็จะวิเคราะห์ไม่ออก ด้วยความที่ผมเป็นนักธุรกิจ จะมองเห็นอะไรที่คนอื่นมองไม่เห็น บางทีลงพื้นที่เจอเกษตรกร เขาปลูกอันนี้เก่ง แล้วผมดันไปเจอเชฟอีกร้านที่เก่งเหมือนกัน ผมก็จับแพะชนแกะเลย ชวนเขามาคุยกัน ถ้าผมไม่ลงพื้นที่เขาคงไม่โคจรมาเจอกัน 

หรือนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง มีช่างทอผ้าอยู่ 9 คน สินค้าเขาขายดีจนทอไม่ทัน ข้าง ๆ มีโรงเรียนอยู่ติดกัน แต่ไม่คุยกัน ผมเลยไปคุยกับ ผอ. ให้เอาหลักสูตรทอผ้าไปใส่ในวิชาเรียน กลุ่มเซ็นทรัลซื้อกี่ให้ด้วย ให้เด็กหัดทอง่าย ๆ เพื่อจะเอาผ้ามาส่งให้นาหมื่นศรี กลายเป็นว่าโรงเรียนมีรายได้ และรั้วที่เคยกั้นระหว่างโรงเรียนกับโรงทอก็ถูกรื้อออก กลายเป็นพื้นที่เดียวกัน เด็กในโรงเรียนถูกสอนให้เป็นมัคคุเทศก์ประจำที่พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ที่น่ารักคือ เด็กดึงพ่อแม่ ผู้ปกครองมาเป็นสมาชิกด้วย ตอนนี้ชุมชนเขาแข็งแรงมากเลย มีความรักและสามัคคี ผมว่ามันเป็นตัวอย่างของการทำด้วยกัน ทำด้วยใจ 

การบริหารคนและบริหารงานก็เหมือนกัน ต้องมีความร่วมมือกัน ต้องเชื่อใจในบุคลากรของเรา แต่ละคนมีความเก่งคนละด้าน เรานำความเก่งของแต่ละคนมารวมกัน ช่วยกันทำงาน ระดมความคิด วางแนวทางร่วมกัน และที่สำคัญคือการลงมือทำ

เวลาลงพื้นที่ สายตาคู่นี้ของผู้บริหาร มองเห็นอะไรในชุมชนนั้น ๆ

ส่วนใหญ่ผมจะคุยกับชาวบ้านมากกว่า ว่าที่นี่มีของดีอะไร แล้วก็ฟังจากเขา 

ไม่นานมานี้ผมลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เขาพาไปดูเขื่อนลำปาว มันใหญ่เท่ากับเขื่อนภูมิพลเลยนะ แต่ไม่มีคนเที่ยวสักคน ผมนั่งแพไปกลางเขื่อน ชาวบ้านก็กระโดดลงน้ำจับกุ้งก้ามกรามขึ้นมาทำให้กิน เขาบอกว่ากุ้งที่นี่ส่งอยุธยาเป็นหลัก คนไม่เคยรู้สิ่งนี้มาก่อน ถ้าอย่างนั้นผมช่วยเอากุ้งพวกนี้ไปขายที่ตลาดจริงใจให้มั้ย หรือทำเขื่อนลำปาวให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ดี ทำให้สะอาด คนน่าจะมาเที่ยวเยอะขึ้น 

อีกอันที่ผมสังเกต คือ คนมากาฬสินธุ์ไม่มีใครนอนค้าง เขาจะไปนอนขอนแก่น ร้อยเอ็ด แล้วทำไมเราไม่ทำโฮมสเตย์น่ารัก ๆ ให้คนมาพัก เพราะที่นี่อากาศดีมาก แม้กลางวันร้อน แต่กลางคืนอากาศเย็นสบาย เพราะอยู่ติดกับภูพาน นี่คือสิ่งที่ผมมองเห็น ผมพยายามให้วิธีการคิดและการต่อยอด

บางอย่างผมไม่เคยรู้มาก่อน แต่การลงพื้นที่ทำให้มองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ ที่ปรึกษาของ เซ็นทรัล ทำ ก็เห็นโอกาสในการต่อยอดของดีนั้น ๆ ด้วยเหมือนกัน ซึ่งแต่ละที่ผมก็จะมองไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนนั้นมีอะไร

พิชัย จิราธิวัฒน์ พลังของการลงมือทำ ‘เซ็นทรัล ทำ’ CSV ที่ทำจริงและทำอย่างยั่งยืน

คุณเป็นผู้บริหารแบบไหน

ผมเป็นผู้บริหารที่ชอบแชร์ความรู้ทั้งหมดที่ผมมี ที่สำคัญผมรับฟังทุกคน เวลาลงพื้นที่ยิ่งต้องฟัง ถ้าไม่ฟังผมจะไม่รู้ปัญหาหรือความต้องการของเขา และสังเกตดูได้เลย ลูกน้องทุกคนไม่ค่อยกลัวผม (หัวเราะ) มีอะไรเขาก็จะพูด เพราะเขารู้ว่าผมรับฟัง ผมไม่ดุ จากนั้นผมจะเอามาวิเคราะห์อีกที สอง ผมฟังเพราะต้องการรับรู้สิ่งใหม่ ๆ และอัปเดตตัวเอง ยิ่งเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่ผมไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมยิ่งอยากฟัง 

ผมว่าทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพียงแค่เราต้องเปิดใจฟังคนอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานอย่างเดียว มันรวมถึงเรื่องคน เรื่องลงชุมชน ตรงนี้อาจทำให้ผมชนะใจชาวบ้านก็ได้ เขาเลยพูดกับผมเยอะหน่อย ซึ่งหลายชุมชนที่เราลงไปเขาไม่ค่อยพูดปัญหาที่แท้จริง เพราะโดนหลอกมาสิบหนให้ทำนู่นทำนี่ 

คุณว่าอะไรเป็นเหตุผลให้ชาวบ้านเชื่อใจ เซ็นทรัล ทำ

สิ่งที่ผมเรียนรู้ คือ มันต้องใช้เวลานะ สอง การที่ชุมชนสอนชุมชนมันง่ายกว่า ชาวบ้านจะฟังชาวบ้านกันเอง ผมถึงพยายามสร้างโค้ชให้ส่งต่อองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน 

ซึ่งโมเดิลการสร้างโค้ช ก็มีมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ 

เป็นความคิดมาจากคุณปู่ คุณพ่อ และคุณลุงของผม ในสมัยก่อนเวลามีคนมาขายของในห้าง ที่บ้านเราจะ Coaching ให้ ทำไมไม่ดีไซน์แบบนี้ ทำไมไม่ทำสีแบบนี้ เรา Coaching จนเขาเริ่มเก่งและไปสอนคนอื่นต่อ ผมเลยคิดว่าทำไมเราไม่กลับไปทำแบบเดิม การสร้างโค้ชไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เป็นเรื่องเก่าที่เรามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว 

เซ็นทรัล ทำ พยายาม Coaching เพื่อสร้างโค้ช ในวันที่เราดูแลเขาจนถึงเป้าหมาย เรามีข้อตกลงกันว่า เมื่อไหร่ที่เขาแข็งแรง เขาต้องเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้ชุมชน โรงเรียน หรือเครือข่ายให้แข็งแรงเหมือนกันกับเขา นี่คือสิ่งที่เราตกลงร่วมกัน

พิชัย จิราธิวัฒน์ พลังของการลงมือทำ ‘เซ็นทรัล ทำ’ CSV ที่ทำจริงและทำอย่างยั่งยืน

แล้วคุณมีวิธีปรับมุมมองของพนักงานอย่างไรให้เห็นพ้องกับความเชื่อของ เซ็นทรัล ทำ

เริ่มจาก คุณเตียง, คุณสัมฤทธิ์ และ คุณวันชัย จิราธิวัฒน์ ที่สร้างดีเอ็นเอไว้ตั้งแต่ก่อตั้งเซ็นทรัล มองว่ารวมใจเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ให้เกียรติต่อผู้อื่นอยู่เสมอ มอบโอกาสให้ผู้อื่นในการรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเต็มความสามารถ ฝึกฝนและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะทุก ๆ ความสำเร็จของเราเติบโตขึ้นจากความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวไทยทุกคน

และด้วยภารกิจของกลุ่มเซ็นทรัลมีเป้าหมายระยะยาว นั่นคือการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับประเทศ โดยการเป็นผู้นำบุกเบิกความเจริญสู่ทุก ๆ ท้องถิ่นในทุกประเทศที่ธุรกิจของเราเข้าไปดำเนินกิจการ พร้อมช่วยพัฒนาคน ชุมชน สังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

ด้วยการปลูกฝังเรื่องนี้และมีการลงมือทำอย่างต่อเนื่องตลอด จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของกลุ่มเซ็นทรัล ความเชื่อนี้เลยถูกส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นโครงการ Central Tham ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ 

ในวันที่โครงการ เซ็นทรัล ทำ เกิดขึ้น วัฒนธรรมองค์กรที่ว่ายังเหมือนเดิมมั้ย

ไม่ต่างไปจากเดิมครับ แค่เปลี่ยนจากต่างคนต่างทำ มาเป็นร่วมกันทำภายใต้โครงการ เซ็นทรัล ทำ ที่คำนึงเรื่องการดำเนินธุรกิจเชิงคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของสังคม เลยยกระดับการทำงานจาก CSR เป็น CSV (Creating Shared Values) เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจและสังคมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แล้วการทำ CSV ในนิยามของคุณคืออะไร

ถ้าพูดให้ง่ายที่สุด คือ เราไม่เอาปลาไปให้เขากิน แต่เราสอนเขาจับปลา แบบนี้มันยั่งยืนกว่า 

การทำ CSV สำหรับผม คือการไปสัมผัสวิถีชุมชน ไปดูว่าแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ลูกค้า พันธมิตร ในทุกแง่มุม แล้วนำมาปรับและพัฒนาเพื่อทำงานร่วมกัน ที่สำคัญ ผมได้ให้องค์ความรู้และความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ชุมชนเอาไปต่อยอดหรือพัฒนาต่อ เพื่อให้เขาเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยตัวเขาเอง 

การเริ่มต้น การลงพื้นที่ และการทำอย่างยั่งยืน ของ พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล

แสดงว่าการทำ CSR ในทุกวันนี้ไม่เพียงพอแล้ว

ไม่พอ และไม่อยากให้ทำด้วย (ตอบทันที) จากเดิมกลุ่มเซ็นทรัลก็มีการทำกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบ CSR นะ ทุกวันนี้ปรับสู่ CSV ที่เป็นการเข้าไปให้องค์ความรู้ต่าง ๆ แก่ชุมชนและเกษตรกร จนเขาสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองได้ และเขาก็ส่งต่อความรู้ให้กับชุมชนใกล้เคียงด้วย จนเกิดการพัฒนาต่อในวงกว้าง 

การปรับเปลี่ยนการทำกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบ CSR สู่ CSV คุณต้องเผชิญอะไรบ้าง

อันดับแรกพนักงานไม่ค่อยเข้าใจ ช่วงแรกเหนื่อยนะ ต้องเวิร์กชอปให้พนักงานเข้าใจสิ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลกำลังจะทำ จากนั้นก็ชวนพนักงานลงพื้นที่ มีลงกันอยู่คนสองคน แล้วขยับเป็น 6 – 7 คน ตอนนี้ต้องจำกัดคน เพราะมีคนอยากลงพื้นที่กันเยอะเลย ผมว่ามันคงเป็นเพราะเขาเริ่มเข้าใจและสนุกกับโปรเจกต์ของ เซ็นทรัล ทำ

ทำไมองค์กรใหญ่ควรให้ความสำคัญและทำกิจการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อ ‘ความยั่งยืน’

อย่างกลุ่มเซ็นทรัล เราทำธุรกิจอยู่ในสังคม การที่เราจะเติบโตนั้น เราเติบโตคนเดียวไม่ได้ สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องเติบโตไปพร้อมกัน ตอนนี้เริ่มมีองค์กรใหญ่ ๆ มาจับมือกับเรา เช่น เบทาโกร มาสอนเรื่องการเลี้ยงไก่ SCG มาช่วยรีไซเคิลลังกระดาษเป็นเตียงภาคสนามช่วงสถานการณ์โควิด-19 โคคา-โคล่า ก็ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลทำโครงการโค้กขอคืน (จัดเก็บบรรจุภัณฑ์มารีไซเคิลใหม่ ลดปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) หรือ AIS เราก็จับมือทำโครงการ E-Waste โดยเราใช้พื้นที่ในศูนย์การค้า เป็นจุดติดตั้งรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการทิ้งอย่างถูกที่และถูกวิธี แล้วนำไปกำจัดและ Recycle อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลในรูปแบบ Zero Landfill

เวลากลุ่มเซ็นทรัลมีโปรเจกต์ใหม่ ๆ ก็จะแลกเปลี่ยนกับองค์กรต่าง ๆ ถ้าเขาปิ๊งอันไหนก็จะมาถามต่อและผมจะแบ่งปัน Best Practice ให้กัน เพื่อช่วยให้เขาไม่ต้องวนเวียนกับปัญหาที่เราเคยเจอ จริง ๆ ผมอยากให้ทุกคนทำเลย จะทำคนเดียว ทำเป็นหมู่บ้าน บริษัทใหญ่ทำได้ บริษัทเล็กทำได้ แค่ทุกคนเริ่มต้นทำมันก็จะเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 

คุณคิดว่าอะไรเป็นเหตุผลให้โครงการ เซ็นทรัล ทำ ประสบความสำเร็จ

ผมว่ามันคือการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ พันธมิตร คู่ค้า เอาความเชี่ยวชาญจากทุกคนมาต่อยอดจนสำเร็จ

การเริ่มต้น การลงพื้นที่ และการทำอย่างยั่งยืน ของ พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล
การเริ่มต้น การลงพื้นที่ และการทำอย่างยั่งยืน ของ พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล

แล้วตลอด 6 ปี ของการลงพื้นที่ในหลายชุมชนทั่วประเทศ คุณเรียนรู้อะไรกลับมาบ้าง

ผมเรียนรู้เยอะแยะเลย ภาพใหญ่ที่สุด คือ เมืองไทยมีของดีอยู่ทุกจังหวัด ทั้งสิ่งของ พืช ผลไม้ อาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว กลายเป็นผมชอบลงชุมชนไปเลย เวลาไปมักจะเจออะไรที่คาดไม่ถึง แล้วก็เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ละพื้นที่มีนิสัยไม่เหมือนกัน ต้องจูนกันดี ๆ บางที่ก็สามัคคีกันมาก บางที่ก็ปราบเซียน ถ้าไม่ลงพื้นที่ผมก็จะไม่รู้ พอลงแล้วผมจะเห็นวิธีพัฒนาให้มันดีขึ้น ไม่ใช่พัฒนาให้โมเดิร์นนะ แต่คงเอกลักษณ์ของจังหวัดนั้น ๆ เอาไว้

เซ็นทรัล ทำ เข้าไปทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตเขา 

ผมไม่อยากเปลี่ยนเลย มันควรจะคงไว้อย่างนั้น

ขณะเดียวกัน เซ็นทรัล ทำ ‘ทำ’ แล้วได้อะไรกลับมา

แน่นอนว่าผมมีตัวเลขคอยชี้วัด แต่ผมไม่ได้ต้องการแค่ Quantity ผมต้องการ Quality ด้วย 

ที่สำคัญผมได้เห็นการเติบโต ความแข็งแรงของชุมชนและสังคม ซึ่งในทุก ๆ โครงการที่ผมลงพื้นที่ ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสร้างอาชีพที่มั่นคง สังคมความเป็นอยู่ และสุดท้าย สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

ในวันที่ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เท่ากับ เซ็นทรัล ทำ บรรลุเป้าหมายแล้วหรือยัง

มากกว่าการอยู่ได้ด้วยตัวเอง ผมหวังให้เขาไปบอกต่อ ไปพัฒนาต่อ ไปทำต่อ นั่นคือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่าทุกคนลงมือทำได้ด้วยตนเอง คุณจะทำแบบไหนก็ได้ ขอให้เป็นสิ่งที่คุณถนัด

บทเรียนสำคัญของการเชื่อใน ‘พลังของการลงมือทำ’ สำหรับผู้บริหารคนนี้คืออะไร

ผมเริ่มจากการทดลอง ‘ทำ’ ทำในสิ่งที่เชื่อ ทำด้วยความมุ่งมั่น ทำด้วยความตั้งใจ ความต่อเนื่องเหล่านี้มันเกิดผลรูปธรรมในระยะยาว ในวันนี้ผมอยากให้เกิดการเริ่มต้นของการ ‘ลงมือทำ’ ถ้ามัวแต่คิด ไม่ลงมือ ก็ไม่เกิดผล 

ผมหวังว่าการลงมือทำของ เซ็นทรัล ทำ จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นทำ ขอแค่เริ่มต้นทำ

การเริ่มต้น การลงพื้นที่ และการทำอย่างยั่งยืน ของ พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล

Questions answered by Executive Director of Central Group

1. ถ้าแนะนำหนังสือให้คนอ่านได้ 1 เล่ม เล่มนั้นคือ

Climate Crisis for Beginners ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิดครับ เพราะจะส่งผลกับทุก ๆ ชีวิตบนโลกในระยะยาว หากไม่ช่วยกันทำความเข้าใจและช่วยกันแก้ไขคนละไม้คนละมือ

2. คำพูดติดปากของคุณคือคำว่า

ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ 

3. ถ้าแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ คุณจะลงแข่งตอนอะไร

เพลงสากลยุค 70 80 90 (ไม่รวม Boyband, Girlband นะครับ ฮ่า ๆ)

4. สิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ

กำกับภาพยนตร์ครับ เป็นแพสชันส่วนตัวตั้งแต่เด็ก ไม่เคยมีโอกาสได้ทำเต็มตัวจริง ๆ สักที ผมอยากทำหนังให้สนุกและบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจในประเทศไทย ชาวต่างชาติจะได้มาเยี่ยมชมกัน

5. วิธีการให้กำลังใจคนในทีมตามแบบฉบับของคุณเป็นแบบไหน

ผมจะแสดงออกให้เขารู้ว่าผมพร้อมจะซัพพอร์ตเขาในทุก ๆ เรื่อง

6. จังหวัดในประเทศไทยที่คุณอยากแนะนำ

จังหวัดตรังครับ มีโครงการผ้าทอนาหมื่นศรีที่ทำอยู่ และตรังเป็นจังหวัดที่มีอะไรเจ๋ง ๆ อยู่เยอะ มีเกาะกระดาน เกาะสุกร เกาะลิบง ซึ่งมีความสวยงามแบบธรรมชาติ และมีร้านอาหารไทยอร่อย ๆ อยู่ในตรังเยอะมาก

7. เรื่องใหม่ล่าสุดที่คุณเพิ่งค้นพบคืออะไร

วงการ NFT 

8. ความสามารถพิเศษของคุณที่คนไม่ค่อยรู้

ผมชอบวาดรูป (Painting) ถ้ามีเวลาว่าง ซึ่งหลัง ๆ ไม่ค่อยมี

9. ถ้าให้ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์กับเด็กจบใหม่ เป็นเวลา 10 วินาที คุณจะพูดว่า

ตั้งใจทำในสิ่งที่ตนเองชอบให้ดีที่สุด

10. เพลงในค่าย Spicydisc ที่ชอบที่สุด

เพลง เธอทั้งนั้น – Groove Riders ผมชอบเพราะความหมายของเพลงตีความหมายของความรักได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรักในศาสนา รักคนในครอบครัว รักเพื่อนฝูง หรือคนรักของเรา

11. จะหาคุณเจอได้ที่มุมไหนของเซ็นทรัล 

ตลาดจริงใจและร้าน Good Goods อยากให้ทุกคนมาเยี่ยมชมกันเยอะ ๆ ผมรับประกันความพึงพอใจ


สามารถรับชมภาพยนตร์โฆษณาได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Nj0ML9DnLYs

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ