ก่อนอ่านบทความนี้ ถ้าคุณผู้อ่านกำลังนั่งอยู่ เราขอให้คุณลองยืดกระดูกสันหลังให้สูงขึ้น ฝืนไหล่ให้เปิดกว้างขึ้น แล้วจะเริ่มรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย
นั่นเป็นคำแนะนำข้อแรกที่ ปัท–ปรัชญพร วรนันท์ นักศิลปะบำบัดและผู้ก่อตั้ง Studio Persona สตูดิโอที่บูรณาการศิลปะหลากหลายแขนงเพื่อใช้ในการพัฒนาจิตใจตัวเอง บอกเราทันที่ที่เริ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

Free Writing คือหัวข้อที่เราคุยกับปัทในวันนั้น เป็นหนึ่งใน Worries Free กิจกรรมคลายความกังวลของ Studio Persona ที่เกิดจากวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้หลายๆ คนต้อง Work from home อยู่บ้านนานมากว่า 1 เดือน หลายคนเกิดความเบื่อและความกังวล แต่ไม่รู้จะระบายกับใครดี
เธอจึงแนะนำการบำบัดแบบ Free Writing ซึ่งก็คือการสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้ได้ระบายความรู้สึก ความคิด อารมณ์ ความสร้างสรรค์ และปลดปล่อยอย่างมีอิสระบนกระดาษ ผ่านการเขียนหรือวาดไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีกระบวนการคิดอะไร มันต่างจากการเขียนปกติคือเราไม่ต้องการผู้อ่านคนอื่นนอกจากตัวเอง
ไอเดียตั้งต้นเริ่มตั้งแต่ตอนที่สตูดิโอต้องปิดเพื่อความปลอดภัย ทั้งการบำบัดและการรับคำปรึกษาจึงต้องย้ายไปทำบนออนไลน์ทั้งหมด แต่มันจะดีกว่าไหมถ้าสตูดิโอออกแบบการบำบัดด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน มีขั้นตอนหรือวิธีการที่ชัดเจนให้คนเข้าใจง่ายๆ เพื่อช่วยคลายความกังวลหรือระบายความรู้สึกบางอย่างได้บ้าง
“ช่วงนี้ร่างกายเราเก็บความกังวลไว้เยอะมาก นอกจากตัวเรา เราก็ห่วงครอบครัว สังคม แล้วก็โลกใบนี้ เราเริ่มสังเกตร่างกายตัวเอง เริ่มรู้ว่าเครียด คนในครอบครัวเครียด
“คุณแม่เราก็กังวลกับสถานการณ์มาก เราเลยชวนเขามาวาดรูป วาดความกังวลด้วยกัน เราวาดของเรา แม่วาดของแม่ แล้วเราลองมาคุยกัน ซึ่งกิจกรรมนี้มันเหมือนการไปบำบัดที่เราระบายและถ่ายทอดความคิด ความกังวล ความรู้สึกของตัวเองออกมา”



การทำ Free Writing ที่ปัทว่านั้นง่ายนิดเดียว ทำที่บ้านได้ ทำด้วยตัวเองคนเดียวได้ หรือจะชวนคนในครอบครัวมาร่วมทำด้วยสัก 2 – 4 คนก็ได้เช่นกัน อุปกรณ์มีเพียงสมุดหรือกระดาษ ปากกา ดินสอ หรือดินสอสี และพื้นที่ที่คุณรู้สึกปลอดภัย พื้นที่ที่ไม่มีใครรบกวนในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะเป็นมุมโปรดในบ้านหรือห้องส่วนตัวก็ได้
ถ้าใครไม่อยากวาดรูปก็เขียนเป็นคำ วลี หรือประโยค ที่ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องไตร่ตรอง ให้มันออกมาตามธรรมชาติ จริงๆ ก็คล้ายกับการเขียนไดอารี่ที่มีความเป็นส่วนตัว (Privacy) มีพื้นที่ได้สะท้อน ระบาย จดบันทึก หรือเขียนเพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง


“เราไม่อยากให้คนยึดติดกับรูปแบบในการทำงานศิลปะ หนึ่งคือ ถ้ายึดติดมากๆ มันจะกลายเป็นความเครียด เราอยากให้มันเป็นเครื่องมือ เป็นเพื่อนที่ดีที่ตัวเราจะไปพึ่งได้มากกว่า อย่างตัวเราเองก็ไม่ได้วาดรูปทุกวัน บางวันก็วาดรูปน้อย เขียนเยอะ เราค่อนข้างแนะนำการเขียนด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นทักษะที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เด็ก สองคือ มันไม่มีผิดถูกในเรื่องของคำและภาษาเมื่อมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เพราะฉะนั้น Free Writing คือการที่เราปล่อยให้พื้นที่บนกระดาษเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะรองรับความรู้สึกของเรา”
บางคนอาจจะใช้เวลา 2 – 3 นาที หรือมากกว่า 5 นาทีก็ได้ แล้วแต่ว่าเรารู้สึกโล่งใจขึ้นแล้วหรือยัง
“เมื่อเขียนรอบแรกเสร็จ เราจะแนะนำว่าถ้าคุณรู้สึกสบายขึ้น โล่งขึ้น ส่วนตัวเราจะไม่กลับไปอ่าน เพราะถือว่าเราจัดการและปลดปล่อยความกังวลออกไปแล้ว

“แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจแต่ละคน ถ้าใครรู้สึกว่าสิ่งที่เขียนมันมีผลกับตัวเองมากๆ อยากจะจัดการกับมันต่อก็ทำได้ ให้ลองไปอ่านสิ่งที่เขียน แล้วขีดเส้นหรือวงกลมคำที่ปรากฏซ้ำๆ ในงานเขียนนั้นๆ แล้วค่อยเอามาเขียนขยายต่อจากคำคำนั้น โดยที่ใช้เทคนิค Free Writing เหมือนเดิม เช่น คีย์เวิร์ดที่เจอบ่อยๆ คือ ท้องฟ้า ฝนตก ไม่สบายใจ อึดอัด เราจะเอาสี่คำนี้มาเขียนต่อแล้วดูว่ามันจะพาเราไปได้ถึงจุดไหน ขยายเขาไปเรื่อยๆ
“ถ้าเป็นการวาดรูปก็คล้ายๆ กัน ให้เราดูว่ามีส่วนใดที่รู้สึกว่าเชื่อมโยงกับเราเป็นพิเศษ อาจจะเป็นสีหรือรูปร่าง เราอาจจะเอาพาร์ตนั้นมาขยาย อย่างมีคนวาดพระอาทิตย์ในบ้าน เราก็จะแนะนำให้เขาลองขยายว่า การมีพระอาทิตย์ในบ้านเป็นยังไง อาจจะขยายเรื่องสีที่โดดเด่นออกมา หรือในทางตรงกันข้ามเป็นสีที่เจือจางกว่าสีอื่นในภาพมากๆ ก็ได้”
Free Writing ต่างจากการไปคุยกับนักบำบัดอยู่จุดหนึ่ง มันเป็นการระบายทางเดียว แต่ข้อดีของมันก็คือเราทำเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ที่เรารู้สึกมีความกังวล จะทำกี่ครั้งต่อวันก็ได้ ปัทเองก็ใช้วิธีนี้มานานแล้ว เธอพกสมุดและปากกาติดตัวตลอด เมื่อมีความกังวลเกิดขึ้นมาก็จะหยิบขึ้นมาเขียน และสังเกตอารมณ์ตัวเองผ่านสิ่งที่เขียน พอได้กลับไปอ่านอีกครั้งจึงได้เห็นแพตเทิร์นการเขียนที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงอายุ หรือแม้แต่กระทั่งในหนึ่งวันเอง อารมณ์ความรู้สึกก็อาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


“การเขียน Free Writing ช่วยเราได้มากเรื่องการรับรู้ในแต่ละแอคชั่นและอารมณ์ของตัวเอง พอเราเริ่มมีอารมณ์ เราจะหยิบจับมันได้ง่ายขึ้น เรารับรู้ถึงผลกระทบที่อารมณ์ส่งผลกับร่างกายได้เร็วขึ้น
“พอเรารับรู้ความคิดตัวเองได้เร็วขึ้น รับรู้ว่าเราโกรธ เราจะอยากหยุดโกรธ จะคิดว่าควรทำยังไงกับความโกรธนี้ ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ เราก็จะโกรธไปเรื่อยๆ จนมันส่งผลต่อการกระทำเรา ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม คนใกล้ชิด การฝึกเขียนทำให้ตัวเราสงบเร็วขึ้น
“การมีสมุดและปากกาหนึ่งด้ามไว้ในกระเป๋าหรือโต๊ะทำงานของเรา มันอาจจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในบางเวลาได้เลยนะ เพราะทุกคนก็ต้องการพื้นที่ที่จะน้อยใจ สะท้อนความอ่อนไหวที่ไม่อยากไปแบ่งปันกับใครเพราะมันอาจจะทำร้ายคนอื่น แต่ก็ไม่อยากเก็บไว้กับตัว วิธีนี้ก็ปลอดภัย มันเป็นวิธีสันติอย่างหนึ่งที่ช่วยเราจัดการกับอารมณ์ได้ดี”

นอกจากนี้ ปัทและ Studio Persona ยังจัดกลุ่มบำบัด Worries Free ที่เรียกว่า Open Heart Club ที่รวมคน 4 – 5 คน มาทำกิจกรรมศิลปะบำบัดผ่านวิดีโอคอลออนไลน์ทุกวันจันทร์และพุธ และไม่ต้องกลัวหากคุณผู้อ่านไม่คุ้นเคยกับศิลปะ เพราะเธอบอกว่าคนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมมีหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่นักบัญชีไปจนถึงนักจิตวิทยา และหลายคนไม่ได้วาดรูปมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน
เธอเล่าว่า คนส่วนใหญ่ที่มาทำงานศิลปะที่นี่ไม่เอางานศิลปะเขากลับบ้าน เขาจะมอบให้สตูดิโอ เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้กลับไปคือประสบการณ์บางอย่าง คุณค่าของมันเลยไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ ไม่ได้อยู่ว่าชิ้นงานนั้นจะสวยหรือไม่
ภาพ : Studio Persona
Open Heart Club จะเปิดอีกครั้งเดือนพฤษภาคม วันจันทร์ที่ 4, 11 และ วันพุธที่ 6,13 เวลา 11.00 – 12.30 น.
ทุกรอบไม่มีค่าใช้จ่าย สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสมัครได้ที่
Line : @studiopersona
Email : [email protected]
Instagram : studiopersona.bkk
Facebook : Studio persona