“เมื่อ The Cloud มาสัมภาษณ์ ผมตั้งใจให้สารที่ส่งออกไปคือเรื่องความยั่งยืน ส่วนเรื่องบ้านนั้นเป็นเรื่องรองที่อยากจะพูด”
นุก-ทรงธรรม ศรีนัครินทร์ สถาปนิกหนุ่มเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนปิติศึกษา (ติดตามอ่านเรื่องราวใน The Cloud ได้เร็ว ๆ นี้) เปิดบทสนทนาเกี่ยวกับบ้านไม้หลังเล็กบนที่ดินตำบลนางแลใน เชียงราย จังหวัดเกิดของ นก-เพียงออ พัทธยากร คู่ชีวิตที่เป็นสถาปนิกเช่นกัน
เขาและเธอช่วยกันเล่าว่า เดิมทีคิดไว้ว่าบ้านจะมีขนาดเล็กกว่านี้ สร้างเพื่ออยู่ดูบรรยากาศของพื้นที่ ทิศทางแดด ลม ก่อนสร้างบ้านอยู่จริงในภายหลัง แต่มาขยายขนาดขึ้นมาอีกหน่อย เมื่อทั้งคู่กำลังจะให้กำเนิดน้องธรรม์เมื่อ 3 ปีก่อน แต่แนวคิดในการสร้างบ้านนั้นไม่เปลี่ยนจากที่ตั้งใจ
หัวใจหลักเกี่ยวกับเรื่องขนาดของบ้าน นุกและนกมองว่าบ้านขนาดเล็กเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สะท้อนถึงการลดการใช้ทรัพยากรในการสร้างบ้าน และการสร้างขยะที่ก่อให้เกิดบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเลือกใช้วัสดุอะไรก็ตาม และอีกเหตุผลหนึ่งของบ้านขนาดเล็ก คือการไม่สร้างภาระในการดูแลบ้านอีกด้วย
“เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว คือการเลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามองว่าไม้เป็นวัสดุที่ยั่งยืน เพราะทดแทนได้ในชั่วอายุคน อย่างตอนนี้ผมปลูกต้นไม้ มีต้นมะค่า พะยูง ยางนา น้องธรรม์ก็จะทันใช้ เอาไปสร้างบ้านได้อีกหลัง ขายก็ได้ หรือว่าเอาไปซ่อมแซมบ้านเก่าก็ได้ ไม้เป็นวัสดุที่ค่อนข้างยั่งยืนเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น เช่นปูนที่ต้องไประเบิดภูเขามา ซึ่งหมดได้สักวันหนึ่งเพราะมันสร้างขึ้นไม่ได้ หรือถ้ารอธรรมชาติฟื้นคืนมาก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ล้านปี แต่ต้นไม้ตัดแล้วปลูกใหม่มันทดแทนได้ในชั่วอายุคน ถ้ามีการจัดการที่ดี”

บ้านไม้หลังเล็ก จากบ้านเก่า 3 หลัง
“ถ้าให้ผมไล่เรียง ก็เริ่มจากพอเราคิดว่าไม้เป็นวัสดุที่ยั่งยืนแต่ทำไมคนไม่ใช้ เราก็มาดูกันว่า อ๋อ ไม้มีจุดที่คนกลัว หรือศัพท์สมัยนี้คือ Pain Point อยู่ 3 – 4 จุด คือ คนกลัวปลวก กลัวว่าไม่ทน กลัวราคาแพง และกลัวหาช่างที่ทำบ้านไม้ได้ยาก”
จากแนวคิดที่ชัดเจนเรื่องการใช้วัสดุที่ยั่งยืน นุกบอกว่าต้องมองหาแนวทางที่จะแก้ไขจุดอ่อน ซึ่งทางออกคือต้องศึกษา หาทางเรียนรู้ให้มาก ทั้งแบบชาวบ้านพื้นถิ่นและความรู้ระดับสากล รวมถึงเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
“เรื่องแรกคือปลวก เราก็จัดการได้ตามวิธีธรรมชาติ โดยใช้น้ำส้มควันไม้หรือทำบ้านยกใต้ถุน คือต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของปลวกเป็นยังไง กินไม้ในกรณีไหน กินไม้อะไรบ้าง ไม้เนื้อแข็งถ้าความชื้นสูงก็จะนิ่มหรือเปื่อย ปลวกจะกัดกินได้ เหมือนเราเวลากินข้าว เราก็อยากกินข้าวนุ่ม ๆ ใช่ไหม ดังนั้น ต้องทำไม้ให้อยู่ในสภาวะที่แข็ง เหนียว ปลวกจะได้ไม่อยากกิน”
โครงสร้างหลักของบ้านหลังเล็กนี้คือไม้ตะเคียน ซึ่งมาจากบ้านไม้เก่าหลังแรกที่ได้มา ไม้ตะเคียนเป็นไม้เนื้อแข็ง ทำงานรายละเอียดอาจไม่เหมาะ แต่ทำงานโครงสร้างได้ดี “คนชอบทำงานกับไม้สักเพราะเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความอ่อน ทำให้อ่อนช้อยได้ง่ายกว่าไม้เนื้อแข็งอื่น และยังรับแรงได้ดี แต่เมื่อเราได้ไม้ตะเคียนมาเยอะ เราซึ่งไม่มีประสบการณ์งานไม้มาก่อนเลย ก็อาศัยช่างแนะนำ ทดลองทำและเรียนรู้ไปด้วยกัน”


นุกเล่าว่าความคิดในการทำบ้านที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งคือ ใช้ไม้เก่าซึ่งได้มาจากบ้านที่ถูกรื้อทิ้ง ประเด็นนี้เขาชี้ให้สังเกตว่า ที่หลายคนรื้อบ้านเก่าทิ้ง เพราะบ้านไม่ตอบสนองกับชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นและเราพยายามทำอะไรก็ได้เพื่อยังคงใช้ไม้แต่ว่าร่วมสมัย ร่วมสมัยสำหรับเราคือ เรามีความเป็นคนเมือง เราชอบธรรมชาติ และสนใจสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งความรู้ต่าง ๆ ที่ผมนำมาเล่า หรือเรียนรู้ ผมไม่ได้คิดเอง แต่ศึกษา เก็บข้อมูล เอามาเชื่อมโยงและทำให้เป็นรูปธรรมในรูปแบบของเรา เป็นการตอบโจทย์ในแบบของเรา ซึ่งจริง ๆ คำตอบมีได้หลายแบบ แต่เราเลือกจะตอบแบบนี้เพราะนี่คือไลฟ์สไตล์ของเรา
“เรารื้อบ้าน 3 หลังพยายามใช้วัสดุนั้นให้มากที่สุด รวมถึงความประหยัดและการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าด้วย”

สำหรับข้อด้อยเรื่องความไม่ทน นุกบอกว่า พอศึกษาไปจะเห็นว่าวัดในญี่ปุ่นหรือยุโรปอยู่ได้ทนนานเป็นพันปี หรือแม้แต่วัดไทยบางแห่งก็หลายร้อยปี ซึ่งเกิดจากคนสร้างเข้าใจเงื่อนไขของการใช้ไม้ คือ ถ้าแห้งเกินไปไม้จะกรอบ หรือหากชื้นเกินไปก็จะผุ
“เราทำยังไงก็ได้ไม่ให้ไม้ร้อนหรือชื้นเกินไป นั่นคือพอมาดูว่าเราอยู่ในเขตสภาพร้อนชื้น เราก็ต้องทำให้บ้านไม่ร้อนเกินไป ดังนั้นจึงออกแบบหลังคา 2 ชั้น ให้มีช่องลมระบายความร้อน ส่วนเรื่องความชื้น เราก็ยกใต้ถุนบ้านขึ้นเหมือนบ้านพื้นถิ่น เพื่อให้ลมถ่ายเทได้ เป็นการรีดความชื้นออกไปตลอดทั้งข้างบนและข้างล่าง หลังคาชั้นบนก็เท่ากับเรากางร่มให้กับบ้าน”
ส่วนจุดที่คนกลัวเรื่องราคาแพง นุกบอกว่ามันแพง แต่ยังอยู่ในวิสัยที่คนรับได้ เพราะหาไม้เก่ามาใช้งานได้ ส่วนเรื่องที่ยากหรือเป็นจุดอ่อนสำหรับบ้านไม้ในปัจจุบันคือ ช่างหายาก
“ข้อนี้เป็นข้อที่คนจะกลัวและผมก็กลัวมาก่อน เพราะตอนเรียนวิชางานไม้ผมก็ไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ ข้อด้อยคือประสบการณ์ไม่มี ส่วนข้อดีคือเราได้เรียนรู้และมีอิสรภาพทางความคิดสูง เพราะเราไม่มีกรอบเลย ดังนั้น ต้องตั้งโจทย์ว่าจะทำยังไงให้ช่างทั่วไปทำได้ เราไม่ใช้วิธีแบบช่างโบราณที่ต้องเข้าลิ่ม นำเทคโนโลยีมาปรับใช้
“เราพูดว่าไม้เป็นวัสดุที่ยั่งยืนก็จริง แต่มันไม่ใช่วัสดุครอบจักรวาล มันควรอยู่ในที่ที่ควรอยู่ อย่างเสาที่นี่ก็ยังเป็นปูนอยู่นะครับ ส่วนคานเป็นเหล็กเพื่อความรู้สึกที่แน่นขึ้น เพราะบางทีถ้าเป็นไม้ก็ยังเสียงดัง หรือบางคนไม่ชอบบ้านไม้เพราะหน้าต่างไม่เยอะ กระจกน้อย เราก็ออกแบบพวกนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ตอนแรก ๆ เวลาทำงาน เราจะตั้งคำถามว่าทำไปทำไม และตั้งใจจะทำให้อะไรเกิดขึ้น”

ไม้สำหรับบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นไม้จริงอย่างเดียว บางส่วนเลือกผสมผสานไม้อัดเข้ามาใช้งานด้วย
บ้านหลังนี้มีพื้นที่ด้านในขนาด 3 x 9 เมตร ระยะเสาห่าง 3.6 เมตร แต่ทำผนังด้านในเข้ามาเพื่อให้เรียบ เสาทุกต้นจึงอยู่นอกบ้าน
“ถ้าพูดขนาดใช้สอยคือ 30 ตารางเมตร เล็กมาก เราจึงใช้การออกแบบหลาย ๆ อย่าง รวมถึงเรื่องจิตวิทยาที่จะทำให้รู้สึกว่าด้านบนไม่สูงเกินไป พื้นที่ไม่แคบเกินไป เราออกแบบให้บ้านเป็นมัลติฟังก์ชันที่สุด อย่างห้องนั้นกลางวันเปิดประตูแล้วก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เป็นพื้นที่นั่งเล่นได้ พอกลางคืนปิดประตูก็เป็นห้องนอนได้ ส่วนตรงกลางนี้เป็นส่วนทานอาหาร ทำงาน น้องธรรม์นั่งทำกิจกรรมในพื้นที่เดียวกันกับเราได้ เชื่อมต่อกับห้องครัว ซึ่งมีของใช้จำเป็น ทำครัวกึ่งหนักได้ มีตู้เย็นที่ซ่อนไว้หลังประตูไม้อัด มีเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ขาดก็แต่เครื่องล้างจาน (หัวเราะ)

“มันคือบ้านพื้นถิ่นที่ถ้าเราถอดเรื่องหน้าตาออกไป ก็คือยกใต้ถุน และเรื่องของการระบายอากาศ และเป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องที่ เราพยายามทำงานพื้นถิ่นให้ร่วมสมัย เพื่อให้คนเห็นว่างานไม้มันอยู่ได้นะ คนเมืองก็อยู่ได้ วัยรุ่นก็อยู่ได้
“มีสถาปนิกที่เราชอบเป็นคนออสเตรเลียบอกว่า กระจกเป็นตัวที่ปิดกั้นธรรมชาติ เขาใช้คำว่าพยายามเอาออก หรือถ้าจำเป็นต้องมี ทำยังไงก็ได้ที่จะพยายามเอามันออกให้ได้ ทำให้มันดูเนียน”
นกเสริมว่า “จริง ๆ มันคือคอนโดสตูดิโอ 1 ห้อง เป็นบ้านที่เป็นคอมแพค ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
“บ้านต้องอยู่ง่าย ต้องอยู่สบายค่ะ”

บ้านที่เป็นเหมือนโรงเรียนของสถาปนิก
นุกบอกว่าเมื่อสถาปนิกทำบ้านให้ตัวเองอยู่ นั่นคือการตั้งคำถามและตอบโจทย์ด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งคู่ใช้โอกาสนี้เรียนรู้และทดลอง เพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเองที่สั่งสมจากการทำงานในบริษัทหลังเรียนจบมาราว 4 – 5 ปี ซึ่งได้ตกผลึกและฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่องผ่านหลากหลายงาน
“สำหรับเราแล้วนี่เป็นเหมือนการทดลอง เราไม่เคยมีความรู้เรื่องบ้านไม้มาก่อน เราก็ลองลุยดู คือตอนนั้นตัดสินใจระหว่างจะไปเรียนต่อ ถ้าไปเรียนเมืองนอกก็อาจใช้เงินพอกัน เราเลยเลือกลงมือสร้างบ้านหลังนี้ ที่นี่จึงถือเป็นโรงเรียนของเรา
“และผมก็บอกช่างให้เปิดใจเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ต้องกลัวทำผิด ถ้าทำผิดผมจะจ่ายให้ เพราะนั่นหมายถึงผมอาจจะออกแบบได้ไม่ดีพอ”
“ใช่ค่ะ เราใช้เวลาลองผิดลองถูก ออกแบบไปพร้อม ๆ กับการก่อสร้าง” นกเสริมถึงการทำงานและมุมมองต่อการสร้างบ้านอย่างที่อยากอยู่ของทั้งคู่
“พูดง่าย ๆ เป็นการออกแบบปลายเปิด (หัวเราะ) ต้องบอกว่าเราไม่ได้เป็นสถาปนิกประสบการณ์สูงมากที่รู้ทุกอย่าง ไม่ใช่ แต่ที่เราทำทุกอย่างเป็นการพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้มีเซนส์ในการทำมากขึ้น ไม่ใช่ทำทีเดียวสวย มันต้องมีการทำ ปรับแก้ เพื่อเรียนรู้ว่า อ๋อ อย่างนี้จะพอดี ที่เราทำก่อนหน้านี้เยอะไปน้อยไป เราต้องปรับให้ลงตัว
“อย่างหน้าต่างด้านหน้าบ้าน บานใหญ่ แต่ก่อนเป็นหน้าตาแบบหน้าต่างตรงข้างบ้าน แต่พอทำเสร็จแล้วก็รื้อครับ เพราะพอมาอยู่ที่นี่จริง ๆ แล้วรู้สึกว่าด้านนี้มันมีศักยภาพมากกว่า ต้องเปิดออกให้กว้างได้ เราก็หาทางออกแบบ หาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเปิดให้กว้างทั้งบานได้ อันนี้เราใช้ระบบโช้คที่แข็งแรง”
อีกประเด็นที่น่าสนใจ นุกเล่าว่าหลังจากทำบ้าน เขาได้ความคิดและเรียนรู้ใหม่ว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายของบ้านหลังนี้ เป็นค่าวัสดุ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือส่วนใหญ่คือค่าทำงานของช่าง ซึ่งมีการปรับแก้เพื่อให้ลงตัวที่สุด
“ผมมาคิดได้ทีหลังว่า สัดส่วนของรายจ่ายในการทำบ้านจริง ๆ แล้วควรจะอยู่กับช่างมากกว่าของเพราะเขาได้ลงแรง เขาต้องเลี้ยงชีพ สำหรับผมบ้านหลังนี้ทำให้ได้เรียนรู้ในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ทีมช่างที่นุกเอ่ยถึงชื่อว่า สล่าบุญทัมม์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของสล่าหรือทีมช่างในพื้นที่แม่จัน ส่วนชื่อบริษัทสถาปนิกของนุกและนกคือ 1922 Architects

บ้านที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ
ด้วยรายละเอียดในการออกแบบที่คิดและปรับแก้ตลอดเวลา สุนทรียะจึงไม่ได้เกิดจากเพียงแค่เรื่องของความงาม ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว ทั้งคู่มองว่ารูปแบบหรือหน้าตาของบ้านนั้น มาทีหลังแนวคิดหรือต้นทางความคิดในการสร้างบ้าน เพื่อสื่อสารเรื่องความยั่งยืนที่เป็นหลักมากกว่า รวมถึงการใส่ใจทุกรายละเอียด ทั้งแสง ทิศทางลม หน้าต่าง หรือการเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยให้การใช้งานราบรื่น อย่างระบบ Soft Close ของประตู ตู้ หรือแม้แต่มือจับบานตู้เก็บของ ซึ่งนกเลือกก้อนหินกลมมนหลากสี หลายรูปทรง จากลำธารที่ไหลผ่านบ้าน เพื่อให้เกิดผิวสัมผัสอันแตกต่าง สร้างการเรียนรู้ให้กับน้องธรรม์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ-ธรรมดา
ด้วยความที่พื้นที่ในบ้านมีขนาดเล็ก กอปรกับบานประตูใหญ่ที่มีระบบเปิดปิดเบามือ น้องธรรม์จึงเปิดออกไปเล่นด้านนอกบ้านได้ง่าย
“นี่เป็นข้อดีเรื่องความเชื่อมโยง เนื่องจากมันง่าย ลูกเปิดประตูเองแล้ววิ่งออกไปเล่นได้เรื่อย ๆ ในขณะที่บ้านสมัยใหม่ การเปิดประตูสำหรับเด็กยาก เราจะเห็นเลยว่าความถี่ในการผลักประตูออกไปข้างนอกมันไม่สัมพันธ์กัน ทำให้เราเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ง่ายขึ้น”
นุกช่วยเสริมความเห็นว่า “ธรรมชาติมีความซับซ้อนสูง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เมื่อใกล้ชิดกับธรรมชาติ เด็กก็ได้เรียนรู้และได้มีความคิดสร้างสรรค์
“บ้านที่เล็ก มันผลักให้เราออกไปอยู่กับธรรมชาติได้ง่ายกว่า”

