บางคนมองว่า สิ่งที่รักที่ชอบน่ะ เก็บไว้เป็นความสนุกของงานอดิเรกจะดีกว่า

บางคนก็มองว่า เลือกทำสิ่งที่ชอบไว้เถอะ แล้วจะประกอบอาชีพต่อไปอย่างมีไฟ

อาจารย์ออม ไม่ได้เป็นทั้ง 2 อย่างที่ว่ามา เขาดูอนิเมะเป็นบ้าเป็นหลังมาตั้งแต่เด็ก เล่น Final Fantasy จนเข้ากระแสเลือด อ่านหนังสือทฤษฎีดนตรีทุกเล่มในห้องสมุดตั้งแต่ ม.3 ทั้งหมดนี้ก็เพราะว่า ‘คลั่งไคล้’ ล้วน ๆ ไม่ได้วางแผนด้วยหลักการใด ๆ 

แต่ในที่สุดความชอบทุกทางก็รวมร่างกันเป็นสิ่งที่เขาทำทุกวันนี้ เขาเป็น ‘วาทยกร’ หรือ ‘คอนดักเตอร์’ ที่ออกเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อแสดงเพลงประกอบอนิเมะบ้าง เกมบ้าง ภาพยนตร์บ้าง จนผู้คนมากมายที่ไม่เคยสนใจออร์เคสตรามาก่อน ได้สัมผัสประสบการณ์ตราตรึงใจเป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน ธนพล เศตะพราหมณ์ เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำรงตำแหน่งประธานหลักสูตรปริญญาตรีของคณะ และเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายดนตรีของ Thailand Philharmonic Orchestra หรือ TPO วงที่หลายคนอาจรู้จักในโปรเจกต์ TATTOO COLOUR X TPO อันลือชื่อ

ณ มหิดลสิทธาคาร ก่อนนักดนตรีทุกคนเข้ามาซ้อมการแสดงที่จะเกิดขึ้นในวันถัดไป อาจารย์ออมจะเล่าชีวิตน่าสนใจของเขาให้เราฟัง ตั้งแต่ช่วง ม.ต้น ที่ทุกอย่างเริ่มก่อร่างสร้างตัว แม้เด็กชายคนนี้จะไม่ได้ออกไปกู้โลกเหมือนคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน (ในอนิเมะนะ) แต่เขาก็ตั้งอกตั้งใจฝึกปรือด้านดนตรีจนมาถึงทุกวันนี้ได้

แม้จะมีคำครหาเพราะประเภทเพลงที่เขาชอบเล่นก็ตาม

ธนพล เศตะพราหมณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายดนตรีของ Thailand Philharmonic Orchestra หรือ TPO

ผม คอนโซลเกม อนิเมะหุ่นยนต์ และเสียงเพลงของพ่อ

พอรู้ว่าทำโชว์แบบไหนบ้างก็นึกภาพทันที คนนี้ต้องเป็นเด็กติดเกมติดอนิเมะท่านหนึ่งแน่เลย จริง ๆ คุณเป็นแบบนั้นมั้ย

คิดว่าใช่ ดูการ์ตูน อ่านการ์ตูนเยอะ เข้าสังคมไม่เก่ง ไม่ถนัดอยู่กับคนอื่น อยู่กับตัวเองเยอะ ชอบเรียนหนังสือ พักกลางวันก็เข้าห้องสมุด ส่วนกีฬาเป็นสิ่งท้าย ๆ ในชีวิตที่เลือกทำ เขาเรียกว่าเด็กเรียนรึเปล่านะ ไม่แน่ใจ แต่ก็เป็นเด็กดีที่เนิร์ด ๆ ซื่อบื้อ ๆ หน่อย 

ตอนเด็กบ้าคลั่งอ่านหนังสือที่คนอื่นไม่อ่าน ป.4 ไปนั่งอ่าน Phonetics เรามาทางสายมนุษยศาสตร์ค่อนข้างเยอะ เคยใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์บ้าง แต่ก็จะเป็นดาราศาสตร์ในเชิงแบบเรื่องเล่าซะเยอะ ประวัติศาสตร์ ภาษา Mythology นี่ได้หมดเลย เมื่อก่อนท่องได้หมดทุกชาติ

พวกหนังอะไรเราก็ดูหมดเลย แต่ดูการ์ตูนหรืออนิเมะเยอะที่สุด

ทำไมคุณถึงเอนจอยกับการ์ตูนขนาดนั้น มันพิเศษยังไงบ้าง

จริง ๆ ถ้าถามคนรุ่น ๆ เดียวกัน ช่วงยุค 90 – Millennium คนส่วนใหญ่จะมีวัฒนธรรมการเสพสื่อเหมือนกัน วันเสาร์-อาทิตย์ตื่นตี 5 ดูการ์ตูนช่องหนึ่ง พอ 6 โมงก็ย้ายไปอีกช่องหนึ่ง อาจดูละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ช่อง 7 นิดหน่อย พอสัก 8 โมง ช่อง 9 การ์ตูนมาแล้ว เขาจะฉายตั้งแต่ 8 โมง ยาวไปจนถึง 11 โมง

อีกหน่อยพอมีพวกเคเบิลทีวีพวก IBC สมาชิกก็จะได้ผังรายการทั้งเดือนของช่องการ์ตูนมาดูว่า ตอนกี่โมงจะมีเรื่องอะไรบ้าง เราก็ต้องตั้งเวลาไว้ แล้วเมื่อก่อนมีร้านเช่าวิดีโอแถวบ้าน ม้วนหนึ่ง 20 บาท 40 บาท เราก็ไปนวดคุณย่าแลกตังค์ ผมว่านี่ก็เป็นช่องทางที่ทำให้ได้ดูเยอะและอ่านเยอะ

พอดูเยอะ ก็ผสมความเนิร์ดไปด้วย สมมติกำลังอินดาราศาสตร์อยู่ แล้วใน เซเลอร์มูน มีสัญลักษณ์ดวงดาว เราท่องได้หมด เพราะอ่าน Mythology มาแล้ว มันก็จะเชื่อมโยงกันได้

การ์ตูนเรื่องไหนที่ส่งอิทธิพลกับชีวิตคุณมากเป็นพิเศษ

ค่อนข้างจะทั้งแผงนั้นนะ แต่จริง ๆ เมื่อก่อนชอบหุ่นยนต์มากเลย พวกหุ่นยนต์แนวแปลงร่าง รวมร่างง่าย ๆ พวกขบวนการ 5 สี เช่น ขบวนการไรจินโอ อุลตร้าแมน ก็ดู การ์ตูนผู้หญิงก็ดู แต่ส่วนที่ทำให้สนใจดนตรีมากขึ้น น่าจะเป็นสาย Disney กับ Warner Bros. ที่มีเพลงในเรื่องเยอะ ๆ เหมือนละครเพลง

ผมเป็นคนฟังเพลงเยอะ และเพลงที่ฟังก็ได้อิทธิพลมาจากคุณพ่อ เพราะชีวิตเราอยู่ในรถ มีพ่อแม่ไปส่ง หรือเวลาไปไหนก็จะฟังซีดีตามที่คุณพ่อฟัง ตั้งแต่ลูกกรุง เพลงป๊อปฝรั่ง ยุค 70 – 80 ก็ได้ฟังเยอะ หรือแม้กระทั่ง เพลิน พรหมแดน ยังฟังเลย เขาน่าจะมีอิทธิพลกับผมสูงมากโดยไม่รู้ตัว อย่างเรื่องคำคล้องจองต่าง ๆ และตอนเด็ก ๆ เราก็ชอบเขียนกลอนด้วย 

นอกจากนั้นคุณพ่อก็ซื้อพวกวิดีโอหนังบรอดเวย์สมัยก่อนมาให้ดูด้วย เช่น The Sound of Music, The King And I เราก็อินเฉยเลย พวกหนังดิสนีย์ก็อิน เรามีสมุดเล่มหนึ่ง เวลาดูพากย์ไทย ต้องฟังแล้วกดหยุดเป็นช่วง ๆ เพื่อจดเนื้อมาหัดร้อง

ตอนนั้นชอบร้องเพลง แต่ไม่ได้คิดฝันเลยนะว่าจะมาทำดนตรี

ทำไมไม่ไปทางเป็นนักร้องล่ะ

เฮ้ย! เคยคิดอยู่นะ คือคุณพ่อทำงานอยู่กรมประชาสัมพันธ์ และตอนนั้นมีวงของกรมประชาสัมพันธ์อยู่ เคยพูดว่าเหมือนจะส่งไปเรียน แต่สุดท้ายไม่เกิดขึ้น ตอนนั้นก็กลัวการ ‘Perform’ ด้วยแหละ สาเหตุหนึ่งที่เลิกเรียนเปียโนตอนเด็กไป คือต้องมีการสอบเลื่อนชั้น ซึ่งเราไม่โอเคกับการไปเล่นหน้าชั้นให้คนอื่นดู

เป็นคนขี้อายเหรอ

อาจจะไม่มั่นใจมากกว่ามั้ง จริง ๆ บนเวทีก็ยังไม่มั่นใจอยู่จนถึงทุกวันนี้

ปกติโชว์ตัวเองจะมีหลายแบบ อย่างคลาสสิกก็เล่นอย่างเดียว หรือโชว์ที่มี Interactive กับคนฟังก็มี เราดีไซน์เป็นกึ่ง ๆ Stand-up Comedy อันนั้นไม่เป็นปัญหาเลย เมื่อไหร่ที่จับไมค์ โลกนี้เป็นของเรา ไม่ว่าจะเป็นห้องเลกเชอร์ หรือเวที 5,000 คนก็ตาม

ย้อนแย้งเหมือนกันนะ เพราะตอนเด็ก ๆ ไม่กล้าออกไปแสดง อาจเป็นเพราะนั่นเป็นสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้รึเปล่า

ใช่ ๆ ถ้าเราดีไซน์เอง แม่นสคริปต์ จัดการได้ก็จะโอเค

ไม่ได้ไปร้องเพลง เปียโนก็เลิกเรียนไป แล้วตอนไหนที่สปาร์กกับดนตรีจริง ๆ ล่ะ

สปาร์กครั้งแรกตอนขึ้น ม.1 หรือ ม.2 นี่แหละ ผมใช้คำว่าโชคชะตาดีกว่า ตอนนั้นเราเป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวดทักษะคอมพิวเตอร์ ขนกัน 10 ทีม ไปแข่งที่ท้องฟ้าจำลอง ปรากฏว่าเขารับแค่ทีมเดียว เราก็เลยต้องไปหาที่เตร่ แล้วพอดีว่าบ้านพี่คนหนึ่งในทีมอยู่แถวนั้นก็เลยไปกัน

บ้านเขาก็มีกลองชุด แอมป์ กีตาร์ อิเล็กโทน เหมือนห้องซ้อมดนตรีเลย เพื่อนคนหนึ่งไปเล่นอิเล็กโทนแล้วร้องเพลง หัวใจกระดาษ เราก็สนใจ นี่มันเครื่องอะไรวะ มีคีย์ 2 ชั้น ร้องเพลงไปด้วยได้ กลายเป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่วันนั้นว่าจะเรียนอิเล็กโทน 

ความดีงามของอิเล็กโทน คือการที่เราใช้มือขวาเล่นทำนอง มือซ้ายเล่นคอร์ดเป็นเสียงประสาน เท้าเหยียบเบส ใส่จังหวะในเครื่องตัวเองได้ และเปลี่ยนเสียงเครื่องดนตรีได้ด้วย พอเล่นเยอะ ๆ สิ่งหนึ่งที่ได้มาเองคือเซนส์ของการใช้เครื่องดนตรีต่าง ๆ ในออร์เคสตรา โอเค เราจะเล่นเพลงมาร์ช ทำนองเป็นทรัมเป็ตดีกว่า มือขวาเป็นพวกเครื่องทองเหลืองเสียงต่ำดีกว่า เอาทูบาไปอยู่ที่เบสดีกว่า คิดว่าเป็นตัวสำคัญเลยที่ทำให้ได้สกิลล์ที่มีทุกวันนี้

และช่วงใกล้ ๆ กันนั้นผมได้ไปดูออร์เคสตราเพราะคุณพ่อได้บัตรเชิญ เห็นคนเล่นไวโอลินแล้วรู้สึกว่าเขาเท่ อยากเล่นบ้าง กลับบ้านก็มานั่งเล่นไวโอลินลมอยู่หน้ากระจก

วัยรุ่นก็ต้องสนุกกับชมรมสิ!

สุดท้ายคุณก็ไม่ได้เล่นไวโอลิน แต่ไปเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีจริงจังกับวงโยธวาทิตของโรงเรียนแทน

ด้วยความบังเอิญอีก ตอนนั้นวงโยธวาทิตโรงเรียนกำลังรับสมัคร แล้วก็มีเพื่อนบอกว่า มีใครอยากสมัครบ้าง ไอ้นี่ก็ เฮ้ย ๆ อยากไปด้วย ตอนแรกอยากเล่นฟลูต แต่ก็ไม่ได้เล่น เพราะว่าเขาดูโครงสร้างปากด้วย เลยไปเล่นคลาริเน็ต ตอนนั้นอ่านหนังสือเจอว่าคลาริเน็ตมีฉายาว่าเป็นไวโอลินของเครื่องเป่า แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็อะ เล่นคลาริเน็ตในวงโยฯ ละกัน (หัวเราะ) แล้วก็อยู่จนจบ ม.6 เลย

ชีวิตในวงโยฯ ของเด็กเนิร์ดเป็นยังไงบ้าง

เข้าวงโยฯ ปลาย ม.2 ก็มีความยากเหมือนกัน ด้วยความที่เข้าสังคมไม่เก่ง และวงโยฯ ก็เป็นสังคมอีกแบบหนึ่ง ทำให้เกิด Trauma หลายอย่างในชีวิตมาก ๆ แล้วก็ฝึกฝนและมอบหลายอย่างให้เรามาก ๆ หล่อหลอมให้เราเป็นเราทุกวันนี้

ที่วงโยฯ เราไม่โดนรุ่นพี่แกล้ง แต่โดนรุ่นน้องแกล้ง อาจจะเพราะเนิร์ด ๆ มั้ง ไม่ก็ดูไม่เข้าสังคม พอเข้ากลางคันก็มีความยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เหล่า

อีกอย่างหนึ่ง คือเวลาเข้าวง เราต้องเล่นให้เก่งในระดับหนึ่งก่อนจะได้ไปเล่นกับคนอื่น ถ้าฝีมือยังไม่ถึงก็จะไม่ได้เข้าไปเล่นในวง มีวันที่ทั้งวงไปออกงานแล้วเราซึ่งเป็นรุ่นพี่อยู่เฝ้าห้องคนเดียว สแตนด์โน้ตยังไม่มีใช้เพราะทุกคนเอาไปใช้ออกงานหมด เรานั่งดราม่าอยู่คนเดียวในห้องเรียน

การได้อยู่ในวงโยฯ ทำให้ตัดสินใจเข้าเรียนดุริยางคศิลป์รึเปล่า

ใช่ มันคือสิ่งหนึ่งที่เติบโตมาพร้อม ๆ กัน 

อะไรก็ตามที่เราไปแตะ เราก็จะเข้าไปหามันเยอะมาก ดังนั้น พอเล่นดนตรีปุ๊บ เราก็ไม่ได้ซ้อมอย่างเดียวแล้ว เราเข้าห้องสมุด อ่านนนน (ลากเสียง) หนังสือดนตรีทุกเล่มบนชั้น จนท่องทฤษฎีระดับปริญญาตรีได้หมดเล่ม

ตอน ม.3 เลยเริ่ม Arrange (เรียบเรียง) เพลง ยกตัวอย่างเช่น มีทำนองเพลงหนึ่งหรือเพลงป๊อปสักเพลงหนึ่ง แล้วทำให้มันเป็นเวอร์ชันวงโยฯ เรามีสกิลล์นี้อยู่ในตัวเพราะเล่นอิเล็กโทนมา พวกแผ่นเพลงของคุณพ่อ ทุกอย่างที่เคยฟังในตอนเด็กก็กลายมาเป็นคลังทางความคิดสร้างสรรค์ จำได้ว่าเพลงแรกที่ลอง Arrange คือ Do-Re-Mi จาก The Sound of Music 

ความหลงใหลในอนิเมะ-หนัง กับความหลงใหลในดนตรีมีอะไรเชื่อมกันบ้าง

เราชอบเสียง และชอบเสพสื่อที่มีเสียง เราก็ต้องสนใจอะไรที่อยู่ในสื่อด้วยแหละ คิดว่านะ และผมว่าการรู้จักเพลงประกอบหนังก็อยู่ในสายเลือดตั้งแต่เล่นวงโยธวาทิต

ต้องบอกก่อนว่าการเล่นวงโยฯ ที่โรงเรียนมีคุณูปการมหาศาลมาก เพราะว่าเราได้เล่นเพลงทุกแบบ ทำให้เราซึมซับความหลากหลายทางดนตรี และทำให้สนใจเพลงประกอบหนังด้วย

ทีนี้พอเราไปทำอย่างอื่นอย่างเล่นเกม ม.1 เล่น Final Fantasy ครั้งแรก ภาค 8 ออกปุ๊บ เราก็อินเพลงมาก อินจนเพลงอยู่ในใจ ต้องบอกว่าสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่สุดคือ Final Fantasy เวลาไปไหนก็จะบอกทุกคนว่า ที่ได้เป็นคอนดักเตอร์ก็เป็นเพราะ Final Fantasy ด้วยนะ 

ขนาดนั้นเลยเหรอ

เหตุการณ์มันเป็นอย่างนี้ (ตื่นเต้น) ไม่รู้ว่าเล่าแล้วจะดูเป็นนิยายไปมั้ย แต่มีครั้งหนึ่งตอน ม.3 ไปเข้าค่ายทำคอนเสิร์ตกับ 4 โรงเรียนในเครืออัสสัมชัญ ตอนพัก ทุกคนก็ออกไปกินข้าวแล้วเตะฟุตบอล แต่แน่นอนว่าผมอยู่คนเดียวในห้องนอนรวม จำได้ว่ามี Walkman แล้วก็เปิดเพลงของ Final Fantasy หลับตาฟัง อิน แล้วเราก็คอนดักต์ตาม ปรากฏว่ามีรุ่นพี่มาเห็นเว้ย! เขาอาจจะกลับมาเอาของเลยแอบดู แล้วก็ตะโกนบอกพี่คนหนึ่งว่า เฮ้ย ปีหน้าเอามันเป็นคอนดักเตอร์ดิ

นี่เลยเป็นจุดที่คนเริ่มเห็นว่า อ๊ะ ไอ้นี่มีแววนี่หว่า 

เพลงแรกที่ได้ทำเอาไปเล่นงานโรงเรียนคือ ลอยกระทง จากนั้นก็ได้ทำหลายอย่าง พวกเพลงป๊อปสมัยเก่า เพลงวันแม่ ยิ่งทำเยอะยิ่งได้ฝึกฝีมือ แล้วข้อดีคือพอได้เล่นจริงก็ได้เรียนรู้ว่า คีย์นี้เวิร์ก คีย์นี้เสียงไม่ดี ตอนนั้นจำได้ว่าฝันอยากเป็นนักแต่งเพลงประกอบหนังเลย

ทำไมถึงอินกับเพลงของ Final Fantasy ขนาดนั้น

ผมคิดว่าอยู่ที่ทำนองและกลิ่นบรรยากาศ

มันมีกลิ่นอายดนตรีในประวัติศาสตร์ ดนตรีคลาสสิก ดนตรีพื้นเมืองพื้นบ้าน อะไรพวกนี้เข้าไปอยู่ด้วย ประกอบกับฝั่งเวอร์ชันออร์เคสตราเขาได้คนเรียบเรียงดีด้วย พอได้ฟัง Arrangement ก็ หูววว นั่งแกะเลยนะ ตรงนี้มันเอาเครื่องอะไรผสมกับอะไร เหมือนกับ Arranging Lesson เลย

เมื่อผมคือหัวหน้าแผนกออกแบบสร้างสรรค์อารมณ์

ทุกวันนี้คนมองว่าคุณคือวาทยกรทำโชว์เพลงประกอบสื่อที่ประสบความสำเร็จ จุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้คืออะไร

ต้องเล่าเท้าความก่อนว่า ปกติออร์เคสตราจะเล่นเพลงคลาสสิกเป็นหลัก อาจมีบ้างในสหรัฐอเมริกาที่เขาไม่ได้เล่นเพลงคลาสสิก แต่เล่นเพลงจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรืออย่าง Pop Concert ในไทย

ที่ผมมาเริ่มทำ จุดเริ่มต้นมาจากการได้ทำกับวงนักเรียน ตั้งโจทย์เองว่าจะทำเพลงประกอบหนังแอนิเมชันญี่ปุ่นและวิดีโอเกม ปรากฏว่ามีคนสนใจจำนวนมาก หอประชุมเล็กจุได้ 300 คน ตอนนั้นคนมา 700 – 800 คน ต้องมาฟังผ่านลำโพง ดูจออยู่ข้างนอก 

สมัยนั้นยังไม่เคยมีอะไรแบบนี้นะ พอเกิดขึ้นก็เลยได้รับโอกาส สิ่งที่ผู้ใหญ่บอกตอนนั้นคือ งั้นให้อาจารย์ออมลองทำ 3 โปรแกรม หนัง เกม อนิเมะ แยกกันไปทั้งรายการเลย ตอนที่เริ่มด้วยรายการหนัง เลยคิดว่าอยากทำครึ่งแรกเป็นหนังไทย

เล่าถึงกระบวนการในการออกแบบโชว์ของคุณให้ฟังหน่อย

ผมว่าแต่ละคนก็มีสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ผมมองโชว์เหมือนกับเวลาเข้าไปในนิทรรศการหนึ่ง
สมมติเราเข้าไปในนิทรรศการ วินเซนต์ แวน โก๊ะ เขาจะมีวิธีเล่าหลายแบบ เล่าเป็นไทม์ไลน์ เล่าเอางานนำ เล่าเรื่องส่วนตัวนำ หรือจะเล่าโดยเอาคนรอบ ๆ เอาหลักฐานแวดล้อมมาใช้ การจัดคอนเสิร์ตของผมคิดคล้าย ๆ อย่างนั้น ว่ามีโจทย์แล้วเราจะเล่าเรื่อง ‘Item’ ซึ่งในที่นี้คือชิ้นเพลงยังไง

สำหรับผม การทำคอนเสิร์ตคือการ ‘Curate’ ที่ต้องมีอารมณ์ มีกราฟของเพลง เราต้องออกแบบว่าโชว์จะดำเนินเรื่องให้มีขึ้น-ลง ยังไง และจะจัดวางแต่ละเพลงยังไง

ยกตัวอย่างเป็นโชว์สักโชว์หนึ่งได้ไหม

ยกตัวอย่างเป็นตอนได้โจทย์เป็น ‘เพลงประกอบหนังไทย’ ผมเลือกจากหนังที่มีรางวัลการันตีหรือมีเครดิตอะไรบางอย่าง แล้วเริ่มเปิดด้วยความเป็นไทยจ๋า ๆ อย่างประวัติศาสตร์ไทย ผมเริ่มด้วยหนังขาวดำ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งใช้ดนตรีไทยเดิม แล้วต่อด้วย นางนาก ซึ่งเป็นผีไทย ใช้ดนตรีไทย แล้วต่อด้วย โหมโรง ซึ่งเป็นชีวประวัติของครูดนตรีไทย และใช้ดนตรีไทย ผมกรุ๊ปวัฒนธรรมไทยเอาไว้ในกรุ๊ปแรก

ต่อมาผมเล่าเรื่องที่ใหม่ขึ้นหน่อย มี มหา’ลัย เหมืองแร่ รักแห่งสยาม และ Seasons Change เป็น Coming of Age 3 เรื่องในยุคนั้น แต่เป็น Coming of Age ในคนละแง่มุม ผมจับมันไว้อยู่ด้วยกัน

แล้วผมก็จบท้ายด้วย ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนเรศวรนี่มีช้างเนอะ แล้วปิดด้วย ก้านกล้วย ซึ่งตัวแรกสุดก็คือ พระเจ้าช้างเผือก เป็นช้างเหมือนกัน

ช้างเป็นสัญลักษณ์ไทย ๆ ปิดหน้าปิดหลัง ข้างในแซนด์วิชเป็นชีวิตไทยแบบใหม่ที่ไม่ใช่ไทยประวัติศาสตร์

ดีมากเลย

บางโชว์ก็เป็น Stand-up Comedy เล็ก ๆ ที่มีการ Interactive กับคอมมูนิตี้เฉพาะกลุ่มที่พูดภาษาเดียวกัน เช่น เราทำโจทย์ของเกมหนึ่ง เกมนั้นก็จะมีมุกเฉพาะกลุ่ม มีการแซวตัวละคร ซึ่งเป็นอะไรที่ 99% ของผู้ชมจะเข้าใจ Stand-up Comedy ก็จะเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ต้องคิดไปพร้อมกัน

ผมเป็นคนบ้าการ Curate มาก ถ้าว่าง ๆ ไม่มีอะไรทำก็นั่ง Curate คอนเสิร์ตในจินตนาการ ถ้าวันหนึ่งฉันมีอำนาจในการดีไซน์คอนเสิร์ตทั้งฤดูกาลฉันจะทำอะไรบ้าง ก็คิดไว้เหมือนกัน ไม่ค่อยมีคนอินด้วยเท่าไหร่นะครับ บางทีอธิบายให้นักเรียนฟังเขาก็จะไม่เก็ต แบบ อาจารย์ฟินอะไรของอาจารย์!

ตัดภาพมาที่ TATTOO COLOUR X TPO คุณคิดยังไงกับการแสดงของวงออร์เคสตราที่ทำให้คนลุกขึ้นมาเต้นได้

ตอนแรกไม่มีคนกล้าลุกนะ

ต้องบอกก่อนว่าแต่ละ Venue จะมีบรรยากาศของมัน การที่คนมานั่งในที่แบบนี้ที่ดูเป็นทางการแล้วจะลุกขึ้นมาเต้นไม่ใช่เรื่องปกติอยู่แล้ว แค่ตบมือ กรี๊ด ยังไม่กล้าเลย ต้องละลายพฤติกรรมคนดูเยอะมาก จริง ๆ คนดูคนไทยแค่ Standing Ovation ยังไม่ค่อยกล้าเลย อาจจะเพราะไม่รู้ธรรมเนียมด้วย

งานนี้คนออกแบบเซตลิสต์ไม่ใช่ผม แต่คือทาง Tattoo Colour เขาคงคิดมาแล้ว ดูออกเลยว่าตรงนั้นเป็น Medley สุดท้ายที่แบบเน้นรัวเพลงเร็ว พี่ดิม (หรินทร์ สุธรรมจรัส) นักร้องนำเขาก็บิลด์ การลุกขึ้นมาเต้นของคนดูเวลานั้นถูกต้องแล้ว สำหรับคนทำมันเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ด้วย จุดนั้นมันต้อง (ดีดนิ้ว) อย่างนี้แล้ว

เขามีการคุยกันตอนแรกว่า พี่ดิมจะทำได้จริงเปล่า แต่ก็ทำได้จริง

พอทำโชว์ Non-classical บ่อย ๆ กระแสตอบรับของผู้คนเป็นยังไงบ้าง

Demographic ของคนดูจะไม่เหมือนกับงานคลาสสิก อาจจะ Overlap กันบ้างนิดหน่อย แต่โดยส่วนใหญ่ของคนดูในทุกคอนเสิร์ตแนวนี้จะเป็น First Timer สำหรับออร์เคสตรา ซึ่งแต่ละคนก็สนใจในคอนเทนต์

เรารักออร์เคสตรามาก ๆ มันเป็นสื่อที่มีพลังมาก ทำได้หลายอย่าง และอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เราดูหนังที่ได้ยินออร์เคสตราตลอดเวลา ฟังเพลงป๊อปสมัยนี้ก็ได้ยินอยู่ข้างหลัง แต่เราไม่รู้ว่าคืออะไร โชว์แบบนี้ก็ทำให้เห็นแหละว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างนี้นะ

ชอบมีคนพูดว่า เป็นการปรับตัวของออร์เคสตรา ออร์เคสตราสมัยนี้เล่นแต่เพลงคลาสสิกไม่ได้ อาจารย์ออมปรับตัวแบบนี้ดีแล้ว ผมแบบ ไม่ ๆๆๆ ผมไม่ได้ปรับตัวอะไรเลยครับ มันมีศักยภาพของมันอยู่แล้ว แน่นอนว่าคนออร์เคสตราส่วนใหญ่เล่นเพลงคลาสสิกเป็นหลัก แต่ว่าทุกวันนี้ทำอย่างอื่นด้วย เราแค่ไฮไลต์ออกมาให้คนเห็น เป็นการใช้งานให้เต็มศักยภาพ

ในขณะเดียวกัน เราต้องเผชิญคำครหาเหมือนกัน เพื่อน ๆ ในวงการอาจมองว่าเราเป็นคอนดักเตอร์ศักดิ์ศรีต่ำกว่า เพราะเน้นเพลงป๊อป ทำงานคอมเมอร์เชียลเพื่อให้ได้สตางค์ ลึก ๆ เราก็รู้ว่ามีประโยชน์แบบนั้นด้วย อันนั้นไม่ใช่จุดประสงค์หลักของเรา แต่ฝั่งบริหารจัดการได้ประโยชน์ด้านนั้นไปด้วยโดยปริยาย ซึ่งเราก็บาลานซ์งาน Classical กับ Non-classical ทุกวันนี้ไม่มีออร์เคสตราไหนที่อยู่ได้ด้วยการเล่นคลาสสิกล้วน ๆ ถ้าในยุโรปคือรัฐช่วย แต่เราช่วยเหลือกันเอง

คิดยังไงกับระดับชั้นของดนตรี ที่ว่าดนตรีประเภทไหนคือ High Culture หรือ Low Culture

สำหรับออร์เคสตรา จะเรียกว่า High ก็เข้าใจได้

ผมว่าศิลปะทุกแขนงเหมือนกันเลยนะ คือต้องการความรู้และประสบการณ์ในการเสพสิ่งนั้น คำว่า High ของผม ก็คือระดับความซับซ้อนของงานที่ต้องการความเข้าใจ อย่างคำว่า ‘ปีนบันไดฟัง’ แต่จริง ๆ งานคอมเมอร์เชียลเป็นศิลปะในตัวเองเหมือนกันนะ เช่นว่าจะแต่งเพลงยังไงให้ขายได้ 

ถ้าอย่างนั้นคุณจะเรียกการเล่นเพลงประกอบหนังและอนิเมะของคุณว่าอะไร

หลายอย่างซ้อนกันอยู่ในนั้น ผมก็ชอบเป็นการส่วนตัว ในแง่คนเล่นก็เป็นการใช้ออร์เคสตราให้เต็มศักยภาพ และสำหรับคนดู เขาได้เสพสิ่งที่อยากเสพ เอาจริงๆ ในฮอลล์นี้คนมานั่งฟังแล้วร้องไห้เยอะมาก เพราะว่ามาแล้วอินกับคอนเทนต์ต่าง ๆ เหมือนเราเป็นหุ้นส่วนชีวิตของกันและกัน นักดนตรีรักดนตรีก็ได้เล่น คนฟังรักดนตรีก็ได้ฟัง

และในใจลึก ๆ ก็คิดว่า ถ้าเป็นก้าวแรกในการเข้าไปสู่อะไรที่ยากขึ้นของหลาย ๆ คนได้ก็จะดีมาก

คุณมองว่าถ้าเข้ามาได้จะได้อรรถรสในอีกเลเวลหนึ่ง

อีกเลเวลหนึ่งไหมเหรอ ใช้คำว่าอีกเลเยอร์หนึ่งดีกว่า

หลังจากทำโชว์สนุก ๆ มามากมาย โชว์ไหนที่รู้สึกว่านี่คือ ‘ที่สุด’ ของทั้งหมดที่ทำมา

Symphonic Anime เป็นงานที่ชอบที่สุด เพราะว่า Curate เองทั้งโชว์ และผู้ชมมีเอเนอร์จีที่ดี รับมุกตลอดเวลา ณ จุดหนึ่งของโชว์เหมือน Stand-up Comedy จริง ๆ พูด หัวเราะ พูด หัวเราะ ตลอด จึงเป็นงานสนุกที่ทำ ตอนยกวงไปโชว์ที่ฮานอยกับโฮจิมินห์ บัตร Sold Out เลย

Stardew Valley เป็นงานที่เป็น Milestone สำคัญของชีวิตเหมือนกันนะ งานนี้เป็น World Tour เขาทำอยู่ 60 โชว์ 30 เมืองทั่วโลก ผมได้คอนดักต์เพลงในรอบเอเชีย เป็นครั้งแรกที่งานเรียบเรียงของเราเห็นภาพชัดเหมือนกันนะ จากวันแรกที่ก๊อกแก๊ก ๆ อยู่บนหน้าคอมพิวเตอร์ตัวเองตอนอยู่ ม.3 จนวันนี้อยู่ดี ๆ งาน Arrange เราไปเล่นอยู่ทั่วโลกแล้ว มาไกลเนอะ

จะสร้างงานดี ๆ ประดับโลกให้ได้เลย

ตอนนี้ทิศทางของออร์เคสตราในโลกกําลังจะไปทางไหน

ออร์เคสตรา Struggle มาสักพักใหญ่แล้วก็ยัง Struggle อยู่ เพราะเป็นรูปแบบของศิลปะและเอนเตอร์เทนเมนต์ที่เริ่มห่างไกลจากคนรุ่นใหม่ ๆ ในสหรัฐฯ นี้ยุคหนึ่งเขาใช้คําว่า ถ้ามองไปเนี่ย คนดูมีแต่ Grey Hair

ตอนนี้ในวงการมีการผลักดันให้นำเสนองานของคอนดักเตอร์และคอมโพเซอร์ที่เป็นผู้หญิง คนผิวดำ คนละติน LGBTQ+ หรือ Minority ทั้งหลายมากขึ้น

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ มีอะไรที่คุณอยากส่งต่อให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่รึเปล่า

อยากให้ตัวเองเป็นโรลโมเดลที่ดี เพราะเราเติบโตมาจากการที่มองหลายคนเป็นต้นแบบ ซึ่งไม่ใช่คนดังคนเด่นเลยนะ เป็นคนรอบรอบตัว เช่น ครูแนะแนว ครูวงโยฯ ที่สอนเราแต่งเพลง

แล้วก็อยากให้มี Work Ethics ทำงานโดยจริงใจกับมัน เพราะนี่เป็นสิ่งสําคัญที่สุดสําหรับคนทํางาน นักเรียนหลายคนหาตัวเองไม่เจอเพราะพยายามจะเป็นคนอื่น คนที่มีความสุขในการสร้างงานน่ะ คือคนที่สร้างงานแล้วรู้สึกว่า ฉันชอบของฉันอย่างนี้ ไม่จําเป็นต้องรอให้ใครมาแสตมป์ว่านี่คืองานที่ดีหรือไม่ดี

ซึ่งผมเรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมาว่า ทุกงานคืออุปสรรค เราเคยคิดว่าเวลาเลเวลสูงขึ้น ไอ้มอนฯ (มอนสเตอร์) ที่เคยยาก ๆ เนี่ย เราจะสู้มันได้ ปรากฏว่าไม่จริง มอนฯ มันเลเวลสูงไปเรื่อย ๆ อุปสรรคในโปรเจกต์ใหม่ ๆ ยากขึ้นเรื่อย ๆ เลย แต่ถ้าเราจริงใจและจริงจังกับงานที่ทำ เดี๋ยวก็ก้าวผ่านไปได้ อุปสรรคมีไว้เป็นสีสันนะครับ

เป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร

เป้าหมายในชีวิตเหรอ มีหลายอย่าง เช่น อยากอ่านหนังสือที่ดองไว้ให้จบให้หมด

และอยากมีเวลาสร้างงานตัวเองมากกว่านี้ เขียนเพลง เขียนหนังสือเยอะขึ้น อยากทํางานที่ท้าทายขึ้นไปเรื่อย ๆ งานพวกนี้ทําแล้วสนุก อยากจะเปิดวิชาใหม่ด้วย 

เคยมีหลายคนถามนะว่าอธิบายความสําเร็จยังไง ผมก็จะบอกว่าความสําเร็จรวมถึงการที่ได้ทําสิ่งที่อยากทําด้วย

คุณดูเป็นคนที่นำความสนใจส่วนตัวมาทำเป็นงานหลักหมดเลย บางคนเขาแยกกันนะ

ไม่ได้คิดอะไรแบบนั้นนะ รู้ตัวอีกทีก็เป็นอย่างนี้แล้ว 

แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกเหมือนกันว่าไม่มีอะไรให้พักผ่อน (หัวเราะ) ฟังเพลงไม่ได้จริง ๆ ดูหนังก็เครียด คิดตลอดเวลาเลยว่าทิศทางการวางองค์ประกอบภาพเป็นยังไง พล็อตเรื่องเป็นยังไง นี่เป็นอิทธิพลมาจากอะไร พยายาม Twist Norm อะไร หนังแบบเดียวที่ดูแล้วผ่อนคลายได้น่าจะเป็นพวกคอมเมดี้ หรือคลิปรีวิวร้านอาหาร (หัวเราะ)

ถามเรื่องไกลตัวมาเยอะแล้ว สุดท้ายนี้อยากรู้ว่า คุณตั้งเป้าหมายอะไรให้กับโชว์พรุ่งนี้บ้าง

ฝั่งเราคือการทำให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ส่วนคนดู แน่นอนว่าเราอยากให้เขาสนุก มีความสุขกับงาน แล้วก็อาจจะเป็น First Door, First Step ให้หลายคนมารู้จักออร์เคสตราครั้งแรก แล้วอยากมาทำความรู้จักเพิ่มเติมว่ามันทำอะไรได้อีก

สําหรับผม ผมอินกับการนั่งมองเก้าอี้เปล่า ๆ พวกนี้ (มองไปบนเวที) เพราะว่าทุกคนที่มานั่งอยู่บนเก้าอี้มีสตอรีของตัวเองทั้งนั้น กว่าที่เขาจะมานั่งเก้าอี้ตัวนั้น มันคือเหงื่อและน้ำตา ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยซ้อมแล้วร้องไห้ เพราะเล่นไม่ได้สักที เจอครูดุ ๆ หรือถ้าเล่นตั้งแต่เด็กพ่อแม่ก็บังคับให้ซ้อม ฝ่าฟันกว่าจะออดิชันมานั่งตรงนี้ได้ ผมว่ามันคือเส้นทางเลือดนะ เหมือนไปฝึกวิทยายุทธ์ที่วัดเส้าหลินเลย ดังนั้น ผมก็เลย Appreciate กับทุกคนตลอดเวลา

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

สรรค์ภพ จิรวรรณธร

สรรค์ภพ จิรวรรณธร

แพ้ทางสีเขียวและน้ำตาล ชอบเดินทางพอ ๆ กับชอบนอนอยู่บ้าน