หากไม่รู้ข้อมูลมาก่อน บอกไปใครก็น่าจะทึ่งตาม ๆ กันว่า George Miller ผู้กำกับวัย 79 ปีคนนี้เป็นชายสูงอายุคนเดียวกับท่ี่กำกับหนังแอนิเมชันเพนกวินร้อง เต้น ตบเท้าสุดหรรษาน่ารักอย่าง Happy Feet แต่หากย้อนกลับไปที่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับผู้กำกับชาวออสเตรเลียคนนี้อย่าง Mad Max ภาคแรก กับอีก 2 ภาคอย่าง Mad Max 2: The Road Warrior และ Mad Max 3: Beyond Thunderdome เขามีความดิบเถื่อนอยู่ในกระแสเลือดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่มาสุกงอมขั้นสุดก็เมื่อเทคนิค เทคโนโลยีการถ่ายทำ และทุนสร้าง เป็นใจให้ ‘ไปสุด’ มากขึ้นในยุคปัจจุบัน

ว่าแต่อะไรทำให้ Mad Max เป็นอิทธิพลสำคัญของ Pop Culture กันนะ

อะไรทำให้ภาค Mad Max: Fury Road ที่ฉายห่างจากภาคแรกถึง 30 ปี เข้าชิงออสการ์ 10 รางวัล คว้าไป 6 พร้อมกับได้รับฉายาว่าเป็น ‘หนึ่งในหนังแอคชันที่ดีที่สุดในศตวรรษนี้’

และอะไรทำให้ Furiosa: A Mad Max Saga เป็นการเสริมเกราะที่ดีให้กับโลกสุดอันตรายแห่งนี้

บทความนี้จะชวนเดินทางไปย้อนรอยถนนโลกันตร์แห่งโลกของ Mad Max ตั้งแต่จุดกำเนิด แรงบันดาลใจ แนวคิด และวิวัฒนาการก่อนที่จะเดินทางมาสู่การบอกเล่าที่สดใหม่ มีเอกลักษณ์ และบ้าคลั่งกว่าเดิมใน 2 ภาคล่าสุดอย่าง Fury Road และ Furiosa 

จากจุดเริ่มต้นของ Mad Max

เรื่องราวของ Mad Max ภาคแรกที่ตัวเอกชื่อ Max Rockatansky (รับบทโดย Mel Gibson) เกิดขึ้นในโลกอนาคตดิสโทเปียอันใกล้ของประเทศออสเตรเลีย เมื่อโลกเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมัน อารยธรรมของมนุษย์มุ่งไปสู่การล่มสลาย ระบบนิเวศกับธรรมชาติถูกทำลายเกินจะเยียวยา และมนุษย์ย้อนกลับสู่ความป่าเถื่อนอีกครั้ง แก๊งมอเตอร์ไซค์จึงเรืองอำนาจบนท้องถนนและก่ออาชญากรรมแบบไม่สนกฎหมาย เป็นเหตุให้ตำรวจต้องโต้กลับความรุนแรงด้วยความรุนแรง เพื่อพิทักษ์ความสงบสุขในดินแดนที่กำลังจะพังพินาศพร้อม ๆ กับจิตใจและอารยธรรมมนุษย์

ชีวิตของ George Miller เรียกได้ว่าใกล้ชิดกับแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเป็นพล็อตนี้แทบจะตลอดเวลาเลยครับ ก่อนที่ George จะมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ เขาเรียนจบแพทยศาสตร์ที่ University of South Wales และเคยทำงานเป็นหมอในแผนกฉุกเฉินมาก่อน ต้องพบปะกับคนไข้ที่บาดเจ็บสาหัส เฉียดตาย และเสียชีวิตอยู่เสมอ นอกจากนี้ การเติบโตมาในชนบทรัฐควีนส์แลนด์ที่เต็มไปด้วยพื้นที่โล่ง ๆ กับถนนยาว ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา ทำให้เขาพบเห็นและได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตบนท้องถนนอยู่เป็นประจำ ซึ่งเพื่อน ๆ ของเขาก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย 

แล้วเขามาเป็นผู้กำกับได้ยังไง – George Miller เป็นหมอก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสนใจในด้านภาพยนตร์ เขาเคยประกวดหนังสั้นกับเพื่อนและได้รางวัลกลับมา และ 8 ปีต่อมา ใครจะคิดว่าหมอฉุกเฉินคนนี้ค้นพบตัวเองแล้วผันตัวไปเป็นผู้กำกับเต็มตัว ด้วยการเอาประสบการณ์ที่ตัวเองเติบโตมา มาสร้างเป็นหนังที่ขึ้นชื่อในด้านความรุนแรง ความอันตราย และมีเอกลักษณ์ที่สุดเรื่องหนึ่ง 

เดิมที Mad Max เกือบจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักข่าวที่เข้าไปคลุกคลีกับอุบัติเหตุและความรุนแรง ก่อนที่จะเริ่มสูญเสียความเป็นมนุษย์และความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ (ฟังแล้วชวนนึกถึงหนังเรื่อง Nightcrawler อยู่ไม่น้อย) George ได้แรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครหลักหรือต้นแบบมาจากเพื่อนหมอที่ทำงานด้วยกัน ซึ่งวันหนึ่งกลายเป็นคนชินชา ไม่รู้สึกรู้สาไปซะแล้ว 

นอกจากนี้ เซตติงของโลกในหนังเรื่องนี้ก็เคยถูกวางไว้ให้เป็นหนังร่วมสมัยหรือมีไทม์ไลน์เกิดในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ตัวของ George Miller ที่เขียนบทเองก็ยังไม่รู้สึกเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังจะเกิดขึ้นในโลกใบนี้จริง ๆ ทั้งความป่าเถื่อนรุนแรงแบบ Outlaw และการที่ตัวเอกเป็นนักข่าวแต่ครอบครัวถูกแก๊งมอเตอร์ไซค์ตามล่า เขาจึงเปลี่ยนตัวเอกให้กลายเป็นตำรวจที่เหมาะจะเป็นเป้าหมาย และขยับไทม์ไลน์ให้เป็น ‘A Few Years from Now…’ ซึ่งหากนับจากวันที่หนังภาคแรกฉายปี 1979 ไทม์ไลน์ของ Mad Max ภาคแรกก็น่าจะอยู่ที่ต้นทศวรรษ 1980

ในขณะที่แบ็กกราวนด์และธีมของ Mad Max ได้แรงบันดาลใจมาจากวิกฤตน้ำมันปี 1973 การขาดแคลนน้ำมัน น้ำมันราคาสูง และการประท้วง ใช้เวลาเพียง 10 วันเท่านั้นก่อนที่จะมีการฆ่ากันตายเกิดขึ้น George Miller ที่จำช่วงเวลาน่าสยดสยองนั้นได้ดีเลยตั้งคำถามต่อว่า นี่แค่ 10 วัน แล้วถ้า 10 ปีล่ะ 

นั่นเลยกลายเป็นที่มาของโลกอันตรายที่คนเริ่มจะปกครองตัวเอง และทรัพยากรมีจำกัดที่เราเห็นในหนังแฟรนไชส์นี้ บวกกับที่ Mad Max เป็นหนังทุนต่ำ มีทุนสร้างเพียง 350,000 – 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 – 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสมัยนี้ จากการระดมทุนได้ส่วนหนึ่งและควักเงินตัวเองมาสร้าง ทำให้หนังถ่ายทำในที่ที่คนเยอะ ๆ หรือในตัวเมืองไม่ได้ ทุนสร้างที่น้อยนิดจึงได้ Shape ให้เนื้อเรื่องต้องไปดำเนินที่ตึกร้าง และถ่ายในที่โล่ง ๆ จนกลายเป็นหนังแอคชัน – ดิสโทเปีย – Road Movie ในที่สุด

ทุกอย่างที่ว่ามาได้กลายเป็น Core ของหนังแฟรนไชส์ Mad Max ทั้งความรุนแรงบนท้องถนน มนุษยชาติที่สูญสิ้น ความป่าเถื่อนของมนุษย์ ความโกลาหล และการเสียสติจากการอาศัยอยู่ในโลกแห่งนี้ นอกจากนี้ สไตล์พูดน้อยต่อยหนักของตัวละคร Max ก็เป็นความตั้งใจตั้งแต่เขียนบทภาคแรกเช่นกันครับ George Miller ต้องการให้เรื่องนี้มีความเป็น ‘หนังเงียบ’ แล้วให้แอคชันหรือภาพเป็นตัวเล่าเรื่องราว บทพูดเลยไม่ถูกเน้นมากนัก 

การถ่ายทำหนัง Mad Max ของ George Miller คือการถ่ายทำแบบกองโจรสุด ๆ เขากับทีมงานปิดถนนโดยไม่มีการขออนุญาตถ่ายทำ และเลี่ยงการใช้วิทยุสื่อสารในกอง เพราะอาจทำให้ตำรวจรู้ว่ากำลังมีการถ่ายหนังกันอยู่ (เอ็กซ์ตราที่มาเล่นเป็นแก๊งมอเตอร์ไซค์ ยังใช้แก๊งนอกกฎหมายตัวจริงกับมอเตอร์ไซค์ของคนเหล่านั้นจริง ๆ) แต่วันหนึ่งเมื่อตำรวจรู้เข้า ตำรวจกลับให้ความสนใจในหนังเรื่องนี้ซะอย่างนั้น ทำให้ทำไปทำมา การถ่ายทำหนังสะดวกขึ้น เพราะตำรวจมาช่วยปิดถนน ประสานงาน และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกองและยานพาหนะให้ 

หลังจากหนังออกฉาย ก็ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และยังโกยรายได้ไปมากถึง 100 ล้านดอลลาร์ฯ จนได้สถิติจาก Guinness World Records ว่าเป็นหนังที่ทำรายได้ได้คุ้มทุนสร้างที่สุดในช่วงเวลานั้น ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Pop Culture หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นมังงะ ฤทธิ์หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปิน Kesha ข้อเสนอตัดขาแลกชีวิตในหนัง Saw ของผู้กำกับ James Wan และซีรีส์สุดฮิตเรื่องล่าสุดที่มาในแนว Nuclear Apocalypse เหมือนกันอย่าง Fallout ของ Prime Video 

ในช่วงที่ George Miller สร้างโลกของ Mad Max แรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากโลกความเป็นจริง หรือเป็นจินตนาการที่ตั้งใจใกล้เคียงกับโลกของเราพอสมควร อีกทั้งโลกในหนังยังไม่ล่มสลายพอ แต่อยู่ในช่วง ‘เกือบล่มสลาย’ หนัง Mad Max ภาคแรกจึงไม่ใช่โลก Alternate Reality ขนาดนั้นซะทีเดียว และแบ็กกราวนด์ของหนังยังไม่ได้ถูกคิดมาแน่นเท่าไหร่

แต่เมื่อมีการสร้างภาคต่อทั้ง 2 ภาค George Miller จึงนำแรงบันดาลใจจากวิกฤตน้ำมันแพงปี 1979 มาเสริมเติมแต่งเป็น Lore ของ Mad Max อย่างจริง ๆ จัง ๆ (จะว่าไป เป็นเรื่องบังเอิญสุด ๆ ที่ 2 แฟรนไชส์ทะเลทรายที่สร้างปรากฏการณ์อย่าง Dune และ Mad Max มีแรงบันดาลใจค่อนข้างคล้ายกันไม่น้อย คือน้ำมัน) โดยทั้งหมดเริ่มจากประเทศซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเปิดสงครามกัน สงครามนี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก มีการประกาศกฎอัยการศึกในบางประเทศ ไฟดับทั่วออสเตรเลียที่เป็นโลเคชันหลักของเนื้อเรื่อง ลิฟต์ค้าง รถไฟขนส่งหยุดนิ่ง โทรศัพท์ใช้งานไม่ได้ ทีวีไม่มีให้ดู ท้องถนนเงียบงัน ซึ่งเมื่อทรัพยากรขาดแคลนและมีจำกัด มนุษย์จึงขุดสัญชาตญาณดิบออกมาเพื่อเอาตัวรอด เริ่มจากการขโมยข้าวของจากร้านค้าร้านสะดวกซื้อกลับบ้านในละแวกเพื่อนบ้าน ไปจนถึงฆ่าปล้น โลกใบนี้ถูกออกแบบมาให้ผู้แข็งแกร่งไม่ก็ชั่วร้ายเท่านั้นที่จะอยู่รอด ผู้แข็งแกร่งแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนที่อ่อนแอกว่า ความตาย ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ผู้คนเริ่มเดินทางด้วยยานพาหนะปรับแต่งจากชิ้นส่วนที่พบเจอหรือช่วงชิงมาเพื่อออกตามหาทรัพยากร และเป็นหน้าที่ของตำรวจ MFP (Main Force Patrol) ที่จะหยุดยั้งความรุนแรงพวกนี้จากแก๊งอันธพาลป่าเถื่อน

นี่เป็นภูมิหลังที่หนังใช้สำหรับภาค 1 – 2 โดยที่หนังเลี่ยงการอ้างอิงถึงสงครามนิวเคลียร์มาโดยตลอด เพราะ Nuclear War จะทำให้เกิดความยากลำบากในการเขียนบทและปัญหามากมายตามมา เช่น แล้วคนจะอาศัยอยู่ยังไง จะกลายพันธุ์มั้ย จนกระทั่งถึงภาค 3 ก็ได้มีการพูดถึงสงครามนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นใน ช่วงที่ขาดหายไประหว่างภาค 2 กับภาค 3 ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ Mad Max เป็นหนังแนว Post-nuclear Apocalyspe เต็มตัวที่นับว่าเป็นการเพิ่มความน่าสนใจและส่งผลกับตัวละครในภาคหลังจากนั้น

สู่ถนนโลกันตร์ของ Fury Road 

Fury Road หรือภาค ถนนโลกันตร์ เป็นหนังที่มีวิบากกรรมกับเส้นทางที่ยาวนานและขรุขระไม่แพ้ในหนังเลยครับ กว่ามันจะได้เกิดขึ้นจริง เพราะจริง ๆ แล้ว George Miller มีความคิดที่จะสานต่อ Mad Max มาตั้งแต่ช่วงหลังจากที่ภาค 3 ออกฉาย แต่เดินหน้าสร้างภาคต่ออีกทีก็ปลายปี 1990 เลย และกว่าจะได้ดูก็ปาเข้าไปปี 2015 อย่างที่เห็น

ก่อนมาเป็น Fury Road ผู้กำกับ George Miller เคยตั้งใจให้ภาค 3 เป็นภาคสุดท้ายที่ปิดไตรภาค Mad Max อย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นเขาปิ๊งแพลนที่จะสร้าง Mad Max เป็นฉบับทีวีซีรีส์แทน แต่หลังจากการเสียชีวิตของ Jon Blake นักแสดงที่ตั้งใจจะให้มารับบท Max แผนนี้จึงถูกพับไป และกลายเป็นแผนสร้างซีรีส์ของตัวละครหญิงในโลกเดียวกับ Mad Max ที่จะมีโทนคล้าย Xena: Warrior Princess (จากตรงนี้ เป็นไปได้สูงว่าตัวละครเอกเรื่องนั้นคือ Furiosa ซึ่งถ้าใช่จริง ๆ เท่ากับว่าเรื่องราวของ Furiosa ถูกคิดขึ้นก่อน Fury Road) แต่การมาของ Brendan McCarthy คนเขียนบทที่เป็นแฟนคลับหนัง Mad Max อยู่แล้ว ก็ได้จุดประกายไอเดีย ‘ช่างหัวซีรีส์ คนเขาอยากดู Mad Max 4 กันมากกว่า’ จนกลายไปเป็นหนังที่มีชื่อว่า Mad Max: Fury Road ที่จะเป็นเรื่องราวของ Max กับ Furiosa นอกจากนี้ George Miller ก็ยังมีแพลนที่จะสร้างหนังเดี่ยว Furiosa และยังมีแพลนสร้างหนังของ Max เดี่ยว ๆ ในชื่อ The Wasteland ที่เป็น Prequel ทั้งคู่อีกด้วย

ต่อมาหนังเข้าสู่ขั้นตอน Pre-production ช่วงต้นปี 2000 โดยในการเขียนบท Mad Max: Fury Road เบื้องหลังหนังบู๊แหลกที่เราได้ดูกันไป George Miller กับทีมเขียนบทและโปรดิวเซอร์จะให้ความสำคัญกับการสร้างแบ็กสตอรีอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นประวัติที่มาตัวละคร ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ สถานที่ ยานพาหนะ ซึ่งไอเดียของภาคนี้น่าสนใจตรงที่ ในตอนแรกถูกวางแพลนให้เป็นภาคสุดท้ายของแฟรนไชส์นี้ จะเล่าเรื่องราวของ Max Rockatansky ในวัยชราที่ถูกตามล่าเพราะขโมยน้ำมัน แต่ในโลกอนาคตที่การช่วงชิงน้ำมันและทรัพยากรเป็นเรื่องปกติแล้ว หนังภาคนี้จึงเปลี่ยนมาเล่าถึงการ ‘ช่วงชิงมนุษย์’ เป็นหลัก ด้วยการให้ Max กับ Furiosa มีส่วนในการขโมยตัวภรรยาของวายร้ายผู้ปกครองอาณาจักร 

เดิมทีแล้ว Mel Gibson จะกลับมารับบทเดิมเป็นครั้งสุดท้าย และเล็ง Sigourney Weaver (นางเอก Alien) มารับบทเป็น Imperator Furiosa 

ส่วนเนื้อเรื่องค่อนข้างคล้ายกับฉบับที่เราได้ดูแทบทุกประการเลยครับ เกี่ยวกับตำรวจที่กลายเป็นบ้าเสียสติหลังจากช่วยชีวิตเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไว้ไม่ได้ และเดินทางเร่ร่อนในแดนป่าเถื่อนอยู่นานจนสูญเสียตัวตน หลงลืมไปแล้วว่าตัวเองเป็นใคร โดยตรงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทหารญี่ปุ่นติดเกาะที่ยังคงต่อสู้ในฐานะตัวแทนสงครามโลกเป็นเวลา 29 ปี โดยที่ไม่รู้เลยว่าสงครามจบไปนานแล้ว 

ซึ่งการเดินทางในหนังเรื่องนี้จะนำ Max ไปสู่ตัวตนของตัวเองอีกครั้ง และพบกับ Peace of Mind เสมือนได้กลับบ้านในที่สุด แต่จะต่างกันตรงที่ในฉบับแรก Immortan Joe มีภรรยา 6 คน (แทนที่จะเป็น 5) War Boy มีชื่อว่า Necro Boy (ที่ลักษณะเหมือนเด็กพังก์และไม่ได้ทาตัวขาวแบบที่เราเห็น) Immortan Joe หน้าตาคล้าย Darth Vader ใน Star Wars: The Empire Strikes Back ตอนถอดหน้ากาก และตอนจบ Max กับ Furiosa จะรักกันตามขนบหนังที่มีพระเอกนางเอก

แต่แล้วทิศทางก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะ 2 อุปสรรคใหญ่ 

หนึ่ง เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลลูกโซ่ไปถึงค่าเงินทั่วโลกอีกที หนึ่งในนั้นคือค่าเงินของประเทศออสเตรเลีย อีกทั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ช่วงเวลาคุกรุ่นของสงครามอิรักส่งผลให้การเดินทางและขนส่งอุปกรณ์ถ่ายทำเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดขึ้น George Miller จึงตัดสินใจพับโปรเจกต์ไปก่อน แล้วไปทำ Happy Feet กับ Happy Feet 2 ที่เป็นแอนิเมชันและทำได้สะดวกกว่าแทน

สอง Mel Gibson พบมรสุมชีวิตและถูกต่อต้านอย่างหนักจากพฤติกรรมต่าง ๆ นานาที่ปรากฏในข่าวหน้า 1 หลายสำนักในช่วงนั้น แต่นั่นไม่เชิงว่าเป็นประเด็นหลักครับ เพราะหลังจากกลับมาเดินหน้าโปรเจกต์อีกครั้งในปี 2006 George Miller รู้สึกว่า Mel Gibson อายุมากเกินไปสำหรับบท Max และภาคปิดฉากของนักรบแห่งท้องถนนแก่ ๆ อาจมาช้าเกินกว่าที่คนจะสนใจ 

โปรเจกต์จักรวาล Mad Max จึงเดินหน้าโดยไม่มี Mel Gibson โดยตั้งใจว่าจะเบนเข็มไปเป็นแอนิเมชัน Furiosa เรต R (ที่ทำออกมาในแนวอนิเมะญี่ปุ่น แต่ผลิตโดย Dr. D Studios ของ George ที่เป็นฝรั่งและมีทาร์เก็ตคือ Audience ฝรั่ง) แทน แต่สุดท้าย George Miller ตัดสินใจสร้าง Furiosa เป็นหนัง Live Action และลุยกับ Mad Max ภาค 4 ก่อน (ที่เป็นเรต R เช่นกัน) ซึ่งด้วยความที่ Mad Max เป็นหนังที่ George Miller ต้องการให้มีบทพูดน้อย หรือเน้นภาพมากกว่าไดอะล็อก เขาจึงจ้างคนวาดสตอรีบอร์ด 5 คนมาวาดสตอรีบอร์ด 3,500 ช่อง ก่อนที่จะเขียนบทเป็นตัวอักษรซะอีก ทำให้ต่อมา หลาย ๆ ช็อตที่วางไว้ก็ได้นำมาใช้ในฉบับที่เราได้ดูกัน ส่วนตัวหนังจริงก็มีจำนวนช็อตที่ใกล้เคียงกับตัวเลขนี้เช่นกันครับ 

แต่เมื่อนักแสดงนำไม่ใช่ Mel Gibson แล้ว ใครจะมารับบท Max แทนล่ะ แคนดิเดตคือนักแสดงที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Michael Fassbender, Channing Tatum, Heath Ledger, Armie Hammer, Eric Bana, Jeremy Renner, Joel Kinnaman และ ป๋าเอ็ม Eminem ซึ่งว่ากันว่าคนที่เข้าตา George Miller ที่สุดและเป็นตัวเต็งคือ Heath Ledger แต่เนื่องจาก Heath เสียชีวิต Tom Hardy นักแสดงดาวรุ่งน่าจับตามองเลยได้บทนี้ไปแทน ในขณะที่บท Furiosa เคยเกือยเป็น Uma Thurman ก่อนที่ George Miller ตัดสินใจแคสต์ Charlize Theron ในภายหลัง ส่วนนักแสดงที่รับบท Immortan Joe เป็นการดึงตัว Hugh Keays-Byrne ที่เคยรับบทวายร้ายใน Mad Max 1 อย่าง Toecutter กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในอีกบทบาท

ซึ่งโดยปกติแล้ว หนัง Mad Max จะถ่ายทำที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่ง Fury Road ก็เป็นหนึ่งในภาคที่ตั้งใจไว้ว่าจะถ่ายทำที่ Broken Hill ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ แต่ปี 2011 ดันฝนตกหนักจนทะเลทรายกลายเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจี หลังจากที่รอมาเนิ่นนานถึง 18 เดือนเพื่อให้ที่นั่นแห้งแล้งเหมือนเดิม แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นไปตามที่คาดคิด George Miller จึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ และโลเคชันหลักย้ายไปเป็นทะเลทราย Namibia (ทะเลทรายเดียวกับที่ถ่ายฉากสั้น ๆ ของ Anya Taylor-Joy ใน Dune: Part Two) ในทวีปแอฟริกาตามแพลนเดิมที่เคยวางไว้ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ 9/11 เลยกลายเป็นว่าโลเคชันนี้ยิ่งกลายเป็นข้อดีที่ทำให้หนัง Mad Max ภาคนี้ดูดิบและแห้งแล้งยิ่งกว่าที่เคยมีมา

แต่ Fury Road อยู่ในไทม์ไลน์ไหนกันแน่ แล้วทำไมอายุของ Tom Hardy ถึงไม่เมกเซนส์ที่จะเป็นตัวละครเดียวกับตัวละครของ Mel Gibson คำตอบก็คือ ‘รู้ได้ไม่แน่ชัด’ ครับ แต่หาข้อสรุปจากหลักฐานที่พอจะมีได้ ภาค Fury Road ในช่วงที่มีการวางแผนสร้างปี 2010 คือฉบับที่เราได้ดูกัน และจากเดิมที่ตั้งใจให้เป็นภาคต่อของภาค 1 – 3 ภาคนี้มีความเป็นหนัง ‘กึ่งรีบูต’ หรือ ‘Soft Reboot’ ที่อยู่ ๆ ก็เล่าเรื่องราวราว ๆ ในปี 2050 – 2060 ที่โลกที่ผุพังและผิดเพี้ยนไปเยอะหลังเกิดสงครามนิวเคลียร์อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ถ้าหากนับนิ้วหรือกดเครื่องคิดเลขดูดี ๆ Max ภาคนี้จะต้องเป็นคนเฒ่าแก่ชราแล้ว แต่ปรากฏว่า Tom Hardy ดูจะเล่นเป็นชายวัน 30 – 40 มากกว่า 

ที่รู้แน่ชัดไม่ได้ก็เพราะความ (ดูจะ) ตั้งใจกำกวมของ George Miller ที่ทุกครั้งที่มีคนถามว่าหนังภาคนี้เชื่อมกับภาคอื่น ๆ ยังไง เขาจะไม่บอกชัด ๆ แถมยังตอบไม่เหมือนกันด้วยครับ (ฮา) เช่น ถามครั้งหนึ่ง ตอบว่าเล่าต่อจากภาค 3 ถามอีกครั้ง ตอบว่าเป็นการไปเยือนโลกใบเก่า ถามอีกครั้ง ตอบว่าคล้ายกับการย้อนเวลาไปยังโลกใบเดิม แต่เมื่อพิจารณาจากการที่ภาค Fury Road เป็นหนังที่ไม่ใช่แค่ย้อนวัยตัวละคร แต่ยังความเป็นหนังที่สดใหม่ในสไตล์การเล่าเรื่อง บวกกับที่ George Miller ต้องการให้ตัวละคร Max เป็นเหมือนตำนานปรัมปราและเรื่องเล่ารอบกองไฟที่ไม่มีทางรู้ว่าจะใส่เสริมเติมแต่งยังไงก็ได้ หรือเกิดช่วงเวลาไหน ด้วยรายละเอียดแบบไหนชัด ๆ กันแน่ เสมือนคนดูกำลังฟังเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา ทุกอย่างเลยชี้ไปที่คำว่า ‘รีบูต’ ในทำนองที่ไม่สนหน้าสิ่วหน้าขวานเท่าไหร่นัก แต่ด้วยคุณภาพและความเต็มพิกัดตั้งแต่ก่อนถ่ายยันตัดต่อ เรื่องไทม์ไลน์ตรงนี้จึงกลายเป็นรองไปโดยทันที หรือเป็นจุดที่ George Miller ไม่อยากให้เน้นมากไปกว่าประสบการณ์การรับชมที่เขาตั้งใจนำเสนอ 

นอกจากนี้ หนังยังได้มีการเปลี่ยนบทให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Max กับ Furiosa เป็นไปอย่าง Platonic และตอนจบ Max ไม่ได้ขึ้นแพลตฟอร์มไปด้วยกับ Furiosa และอดีตภรรยาของ Joe เพราะคำถามสำคัญสำหรับคนเขียนบท คือแล้ว Max จะขึ้นไปด้วยทำไม กลายเป็นว่าการไม่พูดอะไร แค่พยักหน้าก็เข้าใจ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายตามทางตัวเองในตอนจบของหนัง ทำให้หนังเรื่องนี้จบลงอย่างทรงพลังและตราตรึง ซึ่งนับว่าเป็นชอยส์ที่ถูกต้องอย่างมาก

พูดถึงตัวหนังแล้ว เดิมที George Miller สนใจที่จะนำเสนอ Mad Max: Fury Road ในโทนสีขาวดำทั้งเรื่องด้วยนะครับ จากความชอบตอนที่ได้ดูดราฟต์ตัดต่อช่วงสกอร์ดนตรีประกอบให้กับภาค 2 แต่สุดท้ายแล้วเขาเลือกที่จะไปสุดทางในอีกด้าน จากการสังเกตเห็นว่าในหนังดิสโทเปียหลายเรื่องชอบใช้สีที่ซีด ๆ เพลน ๆ หดหู่ ๆ George จึงตั้งใจทำให้ Fury Road ออกมาตรงกันข้ามสุด ๆ กับทุกเรื่องที่เคยมี ด้วยการเน้นไปที่สี 2 สี คือสีส้มของทะเลทราย และฟ้าอมเขียวของท้องฟ้า (ถึงอย่างนั้นเขาก็ปล่อยเวอร์ชัน Black & Chrome หรือฉบับขาวดำออกมาอยู่ดี) สาเหตุก็เพราะเขาและโปรดักชันดีไซเนอร์เห็นตรงกันว่าในโลกที่ป่าเถื่อน โหดร้าย รุนแรง ผู้คนยังสร้างสิ่งสวยงามได้ เหมือนบรรพบุรุษของเราที่วาดภาพวาดบนฝาผนังถ้ำ

โดย 80 – 90% ของฉากและฉากแอคชันที่เราเห็นคือ Practical Effects หรือเอฟเฟกต์ทำมือ ถ่ายจริง เล่นจริง ส่วน CGI จะใช้เพื่อลบสายสลิง ลบแขน Furiosa ดึงสีสันให้ฉูดฉาด สร้าง Citadel ไม่ก็พายุทรายที่ใช้ของจริงไม่ได้ ส่วนการถ่ายทำฉากกลางคืน หนังเรื่องนี้ก็ได้มีการใช้เทคนิค ‘Day for Night’ หรือถ่ายทำฉากกลางคืนตอนกลางวันให้เป็นสีฟ้าที่ดูผิดปกติ แต่เห็นดีเทลชัด ซึ่งดีกว่าทำให้มืดสมจริงจนมองไม่เห็น ซึ่งคาดว่าน่าจะเพราะแหล่งกำเนิดแสงในบทหนังมีน้อยด้วยครับ แบบนี้จะเป็นการตัดปัญหาไปเลย

หลังจากที่ภาคต้นฉบับมีการใช้แก๊งมอเตอร์ไซค์ Outlaw ตัวจริงเสียงจริงแล้ว หนังเรื่องนี้ที่ตั้งใจให้ระห่ำกว่าเดิม ก็ยังมีการใช้นักแสดงสตันต์ถึง 150 คน รวมถึงทีมที่แสดงพิธีเปิดงานแข่งกีฬาโอลิมปิกด้วย คนที่รับบทเป็น War Boy ต้องเป็นคนที่ผ่านการฝึกพิเศษมาก่อนเช่นกัน เช่นเดียวกับรถประกอบที่เราเห็นในหนัง ถึงดีไซน์จะจงใจให้จี๊ดและดูบ้าบอคอแตกสุด ๆ แต่ส่วนใหญ่เน้นให้ใช้ขับได้จริง 

ส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการนำเสนอสุดบ้าคลั่งของหนังเรื่องนี้ เบื้องหลังของมันคือมือตัดต่อที่ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็น Margaret Sixel ภรรยาของ George Miller เอง เขาจ้างเธอด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ถ้าให้ผู้ชายตัดต่อ มันก็จะเหมือน ๆ หนังแอคชันทั่วไปน่ะสิ’ ซึ่งภรรยาของเขาก็งานหนักพอสมควร เพราะหลังจากถ่ายทำจบ ฟุตเทจบานตะไทถึง 470 ชั่วโมง และเธอต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนเต็มเพื่อดูให้ครบทุกวินาที เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากการตัดต่อที่ฉึบฉับว่องไว หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังทั่วไปตรงที่หนังทั่วไปจะใช้ 24 เฟรมเรตต่อวินาที ในขณะที่เรื่องนี้มีทั้งการ Trim เฟรมออกในหลาย ๆ ช็อตของฉากแอคชัน และยังมีการเร่งสปีดเพื่อทำให้ภาพกระตุ้นอะดรีนาลีนคนดูได้ตลอดเวลา

และด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่ว่ามา Mad Max: Fury Road ได้กลายเป็นตำนานบทเก่าเล่าใหม่ของหนังแอคชัน ที่คว้าออสการ์ไปได้ถึง 6 สาขา ได้แก่ ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ตัดต่อยอดเยี่ยม เมกอัปและทรงผมยอดเยี่ยม โปรดักชันดีไซน์ยอดเยี่ยม ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม และมิกซ์เสียงยอดเยี่ยม

สู่โลกที่หล่อหลอม Furiosa

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนน่าจะสัมผัสได้จัง ๆ ว่า George Miller อยากทำหนัง Furiosa ใจจะขาดและอยากทำมาตลอด เขาใช้เวลาเขียนบทหนังเรื่องนี้อย่างยาวนานตั้งแต่ก่อน Fury Road ฉายจนถึงหลัง Fury Road ออกโรงไปนานแล้ว (หากจำไม่ผิดคือ 10 ปี+) และเรื่องราวแบ็กสตอรีของ Furiosa รวมถึงเรื่องราวของ Max และ Immortan Joe ก่อนจะมาเป็นผู้ปกครอง Citadel ในหนัง Fury Road กับดีเทลต่าง ๆ ทั้งมีชีวิตและไม่มีในหนัง ถูกคิดและจดบันทึกขึ้นมาอย่างละเอียดก่อนที่จะมีการถ่ายทำอีกครับ 

สาเหตุที่แบ็กสตอรีได้รับความใส่ใจ เพราะในหนัง Fury Road อาจไม่ได้มีเวลาอธิบายขนาดนั้น แต่เรา (คนดู) จะได้รับรู้ผ่านการเปิดเผยทางสตอรีและไดอะล็อก George ไม่ต้องการให้บทและตัวหนังกลวงและเกิดขึ้นอย่างแรนดอม การมีเนื้อหาพวกนี้เป็นฐานที่มีมวลแน่นแข็งแรงจะช่วยให้ทีมงานเห็นตรงกันกับผู้กำกับในการสร้างฉากแอคชัน ฉากหลัง พร็อป พาหนะ ออกแบบเครื่องแต่งกาย เมกอัป ทรงผม กับนักแสดงจะได้เข้าใจในบทบาทของตัวเองเป็นอย่างดี จากนั้นจะถ่ายทอดมันอย่างลึกซึ้งได้ (สาเหตุที่ทำไม Charlize Theron ถึงได้แสดงได้เข้าถึงบทบาทมาก ๆ)

Furiosa เป็นหนังที่ George Miller นิยามว่า ‘ขับเคลื่อนด้วยตัวละคร’ และได้กลับไปถ่ายทำที่ Broken Hill ประเทศออสเตรเลียอีกครั้ง โดยนอกจากจะมีธีมป็นหนังล้างแค้นและเล่าเรื่องด้วย Pacing ที่แตกต่างกัน สิ่งที่สังเกตได้ชัดคือสตอรีภาคนี้อัดแน่นกว่าภาคก่อน ๆ มาก เพราะในขณะที่ Mad Max: Fury Road เกิดขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 3 วันเท่านั้น หนัง Furiosa: A Mad Max Saga มี Span (ช่วงเวลาที่เรื่องราวเกิดขึ้น) ประมาณ 18 ปี หรือให้เห็นภาพกว่านี้ คือ Furiosa ถูกลักพาตัวตอนอายุ 10 ขวบ และหนังจะเล่าว่าภายใน 18 ปีนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง จนถึงอายุราว 28 ปีที่จะมาบรรจบกับเหตุการณ์ Furiosa พา 5 ภรรยาของ Immortan Joe หลบหนี พร้อม ๆ กับเดินทางกลับบ้านเกิดพอดิบพอดี

หนัง Furiosa ได้นักแสดงดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง Anya Taylor-Joy (ที่จะขอเรียกย่อ ๆ ว่า น้องจอย นับจากนี้ ตามที่เรียกในเพจ Watchman ตลอดมาเพื่อความคุ้นชิน) มารับบทเป็น Imperator Furiosa ตัวละครหญิงสุดแกร่งแห่งจักรวาล Mad Max ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความทรหดและบาดแผล พบเจอทั้งเหตุการณ์สะเทือนใจ และผู้คนดี เทา ชั่ว มามากมาย ก่อนจะหล่อหลอมเป็นตัวละครกร้านโลกอันโหดร้ายที่เราได้เห็นใน Fury Road

จริง ๆ แล้วแรกเริ่มเดิมที George Miller ก็เคยมีความคิดที่จะนำ Charlize Theron กลับมารับบทนี้อยู่เหมือนกันครับ แต่ขนาดผู้กำกับที่ George ยกย่องอย่าง Martin Scorsese กับ Ang Lee ยังทำให้ใบหน้าของ Robert De Niro กับ Will Smith ดูหนุ่มอย่างน่าเชื่อถือได้ด้วยการ Deepfake ไม่ได้ อีกทั้งในปี 2017 ที่ George มีคดีฟ้องร้อง Warner Bros. เรื่องค่าตอบแทน 7 ล้านดอลลาร์ฯ ที่ได้จากหนัง Furiosa (นี่คือสาเหตุที่ทำไมภาค Fury Road กับภาคนี้ถึงได้สร้างห่างกันขนาดนี้ ทั้งที่บทก็พร้อมแล้ว) Charlize จะอายุมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยี De-aging นักแสดงจะทำได้ยากขึ้นไปอีก บทบาทนี้จึงต้องเป็นของนักแสดงที่อ่อนวัยกว่าเท่านั้น ประจวบเหมาะกับที่ช่วงนั้นมีนักแสดงคนหนึ่งกำลังพุ่งทะยานจากซีรีส์ The Queen’s Gambit แถม George Miller ยังได้สปาร์กจอย (แบบ Literally) เข้ากับน้อยจอยในหนัง Last Night in Soho ของ Edgar Wright เขาเลยชวนน้องจอยมาออดิชันผ่าน Zoom และบทบาทนี้ก็ตกเป็นของเธอในที่สุด ซึ่ง George เล่าว่าเธอออดิชันได้ ‘โคตรบ้า’ มาก ๆ

ในการรับบทนี้ น้องจอยไม่ได้คุยกับ Charlize Theron ที่เป็นรุ่นพี่ในวงการและรุ่นพี่ที่รับบทเดียวกัน จนกว่าการถ่ายทำหนังจะสิ้นสุด (หลังถ่ายจบไม่ใช่แค่โทรคุย แต่นัดเจอกันเลย ในฐานะแฟนคลับกับนักแสดงที่ชื่นชอบ) เธอมีแนวคิดที่ว่าตัวละครในเวอร์ชันนี้ต้องมีเส้นทางของตัวเอง เลยเลือกที่จะตีความในแบบที่ตัวเองเข้าใจมากกว่า ในขณะที่ฝั่งของ Charlize เองก็เคยออกมาพูดเช่นกันว่าเธอเชื่อว่าน้องจอยจะทำได้ดีอยู่แล้ว

แน่นอนว่า Furiosa เป็นหนึ่งในบทบาทที่ดีที่สุดของ Anya Taylor-Joy อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในขณะ Tom Hardy ใน Fury Road มีบทพูดแค่ 63 ประโยค น้องจอยใน Furiosa พูดแค่ 30 ประโยคตลอดทั้งเรื่อง หรือเป็นหนังคนพูดน้อยอีกแล้ว แต่กลับถ่ายทอดตัวละครออกมาได้ลึกซึ้ง เข้มแข็ง และทรงพลัง ผ่านสีหน้า แววตา (โต ๆ) และแอคชัน แต่ที่ทำให้เซอร์ไพรส์เป็นอย่างมากช่วงที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก คือการแสดงของน้อง Alyla Browne (เคยร่วมงานกับ George Miller มาก่อนในหนัง Three Thousand Years of Longing) ในบท Furiosa วัยเด็กที่มี Screen Time ราว ๆ 40 – 50 นาที นอกจากแสดงได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว การแคสติงนักแสดงที่มีหน้าตา การแสดงออกทางสีหน้า และแววตา คล้ายคลึงกัน ทำให้ทั้ง 3 ช่วงวัยของ Furiosa ตลอดหนัง 2 ภาคนี้ มีความน่าเชื่อถือ 100% ว่าเป็นตัวละครเดียวกันจริง ๆ โดยไม่มีช่วงที่มองว่านักแสดงเหล่านี้คือนักแสดงเลย 

นอกจาก Charlize Theron จะเป็นนักแสดงในดวงใจของน้องจอยแล้ว หนึ่งในอิทธิพลที่ส่งต่อผ่านบท Furiosa คือ ‘ทรงผม’ สกินเฮด เพราะในทีแรกนั้น ตัวละครนี้มีผมมาตั้งแต่บทดั้งเดิมต้นปี 2000 จนมาถึงบทปัจจุบันของ Fury Road ซึ่งมีการลองหลายอย่างกับทรงผมของ Charlize Theron ไม่ว่าจะเป็นผมสีแพลทินัม หรือไว้ผมหางม้า แต่ในช่วงที่ Charlize Theron ออกงานบ่อย ๆ แล้วย้อม ฉีด พ่น จนผมเสียได้ที่ เธอก็ปิ๊งไอเดียและปลุก George Miller ตอนตี 3 เพื่อถามเขาว่า งั้นโกนให้มันจบ ๆ เลยมั้ย สิ่งที่ George กังวลคือรูปทรงหัวของเธอว่ามันจะสวยได้รูปรึเปล่า แต่ Charlize ไม่สนและโกนเลย ก่อนจะส่งไปให้ผู้กำกับดู และเขาชอบใจเป็นอย่างมาก ต่อมาจิตวิญญาณสาวสกินเฮดส่งต่อมาถึงน้องจอย น้องจอยพร้อมที่จะโกนหัวจริงเพราะมารับบทนี้และรอคอยมาตลอด แต่ทันทีที่ George Miller ได้เจอกับเธอตัวเป็น ๆ และเห็นผมอันสลวยสวยบลอนด์ของเธอ เขาห้ามน้องจอยโกนผมอย่างเด็ดขาด แล้วให้ใส่วิกสกินเฮดปลอมแทน (อีกเหตุผลคือตัวละครมีหลายช่วงวัย และกว่าจะโกนผมในบทก็ปาเข้าไปท้าย ๆ เรื่องแล้ว)

และขณะที่ดูไปก็ได้พบกับเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบท Dementus หลายสี การพิสูจน์ฝีมือการแสดงของ Chris Hemsworth ที่แสดงออกมาได้ชั่วได้ใจ (คำชม) ทะลุเมกอัปจมูกปลอมที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมงก่อนเข้ากองถ่ายทุกวัน และน่ายกยอปอปั้นให้เป็นบทบาทที่ทำได้ดีที่สุดของนักแสดงคนนี้ กับนักแสดงอีกคนคือ Tom Burke ในบท Praetorian Jack ตัวละครเข้มขรึมที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อโมทีฟ เส้นทาง ชะตากรรม และตัวตนของ Furiosa ในเวอร์ชันปัจจุบัน

อีกอย่างที่ทำให้หนังแฟรนไชส์นี้โดดเด่น คือไม่ว่า Mad Max จะเคยมีมาแล้วกี่ภาค George Miller ก็ผลักดันให้หนังบ้าคลั่งได้ตาม (หรือเกิน) ยุคสมัยได้ หลังจากไตรภาคต้นฉบับ ในครั้งที่แล้วเขาทำ Fury Road ฉายโรง และได้เสียงตอบรับแง่บวกล้นหลาม (แม้รายได้จะยังไม่ถึงขนาดชื่นใจเท่าไหร่) ในฐานะหนังแอคชันบล็อกบัสเตอร์ที่สนุกและยอดเยี่ยมทั้งโปรดักชันและบท และ Furiosa ก็เป็นอีกครั้งที่ George ใช้ความเป็นหนังฉายโรงได้คุ้มค่ากับความบ้าคลั่งในเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันภาพและเสียงผ่านการฉายโรงที่เหมาะสมที่จะดูหนังเรื่องนี้ที่สุดอย่างโรง IMAX ที่นอกจากเร้าอารมณ์กับประสบการณ์ได้ดีแล้ว ยังทำให้เราสังเกตเห็นดีเทลต่าง ๆ ที่ตั้งใจคราฟต์กว่าจะเป็นหนังเรื่องนี้มากขึ้นด้วย

ยังมีองค์ประกอบอีกมากมายที่รวม ๆ แล้ว นอกจากจะเป็นหนังที่ทำให้เรารู้จักตัวตนของ Furiosa มากขึ้น หนังเรื่องนี้ยังเสริม Lore ให้จักรวาล Mad Max แน่นและน่าสนใจมากขึ้นไปอีก ด้วยทั้งตัวละครที่เป็นหัวใจของหนังแฟรนไชส์นี้ และสตอรีที่วนรอบ ๆ 3 ป้อมปราการสำคัญแห่งดินแดน Wasteland อันได้แก่ Citadel, Bullet Farm และ Gas Town ส่วนน้องจอยที่ยังไม่มีใบขับขี่ ได้ผลพวงคือต้องฝึกขับรถสไตล์รถซิ่งจนชำนาญการ และการแสดงหนังเรื่องนี้ยังทำให้เธอหุ่นดีกว่าตอนที่ออกกำลังกายจริง ๆ จัง ๆ ซะอีกครับ

เห็นผ่าน ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า George Miller ยังไม่ละทิ้งความตั้งใจที่จะทำหนัง Mad Max: The Wastedland หรือเรื่องราวของ Max ก่อนฉากเปิดในภาค Fury Road แล้วก็รู้สึกชื่นใจ แม้ผู้กำกับรุ่นเก๋าที่เอเนอร์จีเหมือนจะเพิ่มขึ้นตามตัวเลขอายุจะไม่ได้ออกมาประกาศชัด ๆ ว่า ‘ผมจะทำหนังเรื่องนี้’ หรือปักหมุดให้ว่าจะมาเมื่อไหร่ แต่จากประวัติที่ผ่านมา เขาเคยคิดจะทำ Mad Max เป็นหนังภาคเดียวด้วยซ้ำ แต่ Mad Max กับ George Miller เป็นอะไรที่แยกออกจากกันไม่ได้ มันวนเวียนในหัวเขามาตลอด 45 ปีหลังจากภาคแรกออกฉาย หวังอย่างยิ่งว่ามันยังคงอยู่ในเส้นเลือดเขาในปริมาณที่เข้มข้นพอ และจักรวาลของ Mad Max ยังน่าสนใจพอที่จะสำรวจ ค้นหา และถ่ายทอดสำหรับ George Miller เพราะนั่นหมายความว่า เราจะได้ดูหนัง Mad Max อีกเรื่องหรืออาจมากกว่านั้น

แหล่งอ้างอิง
  • time.com
  • Mad Max Bible
  • www.slashfilm.com
  • ew.com
  • www.gamesradar.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ