‘อัคคี มังกร และโลหิต’ 3 คำที่ใช้นิยามตระกูลมังกรทาร์แกเรียน (Targaryen) ผู้มีบทบาทสำคัญในการหลอมบัลลังก์เหล็ก (Iron Throne) และเป็นตระกูลทรงอำนาจที่ปกครองอาณาจักรทั้ง 7 แห่งดินแดนเวสเทอรอสในโลกของนวนิยายชุด A Song of Ice and Fire และซีรีส์ Game of Thrones มายาวนาน ที่ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะตระกูลนี้มี ‘มังกร’ สิ่งมีชีวิตที่ตระกูลอื่นไม่มี และมัน OP (Over Power) ยิ่งกว่าสรรพาวุธและสัตว์เลี้ยงประจำตราสัญลักษณ์ของบ้านไหน ๆ 

พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน และมังกรที่เป็นทั้งฐานอำนาจกับบันไดสู่อำนาจอันล้นพ้นของตระกูลนี้คืออะไรกันแน่

เนื่องจากซีรีส์ House of the Dragon บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับ Dance of the Dragons หรือศึกมังกรเริงระบำที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ทาร์แกเรียน รวมถึงยังมี Opening Credits ใหม่ที่ผู้สร้างตั้งใจเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่านี่คือหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ และสงครามนี้ไม่เพียงแต่นำไปสู่จุดจบของเหล่ามังกร แต่ยังทำลายประวัติศาสตร์ก่อนหน้าทั้งหมดที่บรรพบุรุษสร้างและพยายามอย่างหนักเพื่อคงไว้ให้ตระกูลเหลือรอด 

บทความนี้เลยขอพาย้อนเวลากลับไปยังต้นกำเนิดของสายธารเลือดและเปลวเพลิง เพื่อทำความรู้จักกับมังกรและเส้นทางอันยาวไกลของตระกูลทาร์แกเรียนบนบัลลังก์เหล็ก จากจุดเริ่มต้นก่อนหน้านั้น สู่ช่วงเวลารุ่งโรจน์ การเปลี่ยนผ่าน จนมาถึงไทม์ไลน์ซีรีส์ House of the Dragon ที่เป็นจุดพลิกผัน ก่อนที่จะเกิดแรงกระเพื่อม กลายเป็นเกลียวคลื่นมหึมาที่ซัดกวาดตระกูลนี้จนชื่อของทาร์แกเรียนจางหายไปพร้อม ๆ กับสิ่งมีชีวิตพ่นไฟได้ที่เริ่มจะกลายเป็นเรื่องเล่าปรัมปราในไทม์ไลน์ Game of Thrones

 ชาววาลีเรีย

4 ทวีปหลัก ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันในโลกของ A Song of Ice and Fire (ต่อไปนี้จะขอใช้ตัวย่อว่า ASoIF) คือเอสซอส (Essos), เวสเทอรอส (Westeros), อัลทอส (Ulthos) กับ โซโทรยอส (Sothoryos) และตระกูลทาร์แกเรียนเป็นใหญ่ใน 2 ดินแดนแรก โดยทั้งหมดเริ่มต้นจากเอสซอสในยุคที่ทุกอย่างแฟนตาซีกว่าตอนนี้เยอะพอสมควร มีทั้งพ่อมดแม่มด นักเวทย์ และการเห็นมังกรบินบนท้องฟ้าเป็นเรื่องปกติ

ย้อนกลับไปราวช่วง 8,000 ปีก่อนการพิชิต 7 อาณาจักรของ เอกอน ทาร์แกเรียนที่ 1 (Aegon I Targaryen) ยุคนั้นในเวสเทอรอสตรงกับยุคแห่งวีรบุรุษ (Age of Heroes) และราตรีอันยาวนาน (Long Night) ที่ปฐมบุรุษกับเด็กแห่งพงไพรต้องเผชิญหน้ากับพวกไวต์วอล์กเกอร์ (White Walker) ในขณะที่ฝั่งเอสซอสก่อตั้งจักรวรรดิโอลด์กิส (Old Ghis) อันเกรียงไกรขึ้นมา แต่แน่นอนว่าถ้าเกรียงไกรขนาดนั้นก็คงไม่มีคำว่า ‘Old’ นำหน้า นั่นเพราะการมาของกลุ่มอำนาจใหม่สั่นคลอนโอลด์กิส และกลุ่มอำนาจนั้นคือชาววาลีเรีย (Velyria) บรรพบุรุษของทาร์แกเรียนที่ราวกับโชคชะตากำหนดให้พวกเขายิ่งใหญ่ ชาววาลีเรียเริ่มจากเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ก็เหมือนในประวัติศาสตร์และหลายเคสในชีวิตจริง การตั้งถิ่นฐานบรรพบุรุษมีผลต่อลักษณะทางกายภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่งคั่ง และทรัพยากรในชีวิตของลูกหลานในหลายชั่วอายุคน ชาววาลีเรียแห่งคาบสมุทธวาลีเรียผู้อาศัยอยู่บริเวณปล่องภูเขาไฟ 14 เปลวเพลิง (Fourteen Flames) ซึ่งชาววาลีเรียอ้างว่าปล่อยภูเขาไฟแห่งนั้นคือสถานที่ที่พวกเขาค้นพบมังกร อาวุธทำลายล้างที่เปรียบได้ดั่งระเบิดปรมาณูของยุคปัจจุบัน

ลักษณะเด่นของชาววาลีเรียมีผมสีเงิน-ทองอ่อน ๆ จาง ๆ (ในยุคเราน่าจะประมาณแพลทินัม + ขาว) และมีดวงตาสีม่วง ทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องความงามเปรียบได้กับเอลฟ์ในจักรวาล The Lord of the Rings ของ J.R.R. Tolkien ซึ่งไม่แน่ใจว่าเอกลักษณ์ตรงนี้เกี่ยวอะไรกับการใช้ชีวิตใกล้ภูเขาไฟหรือไม่ แต่พวกวาลีเรียเคลมว่าตัวเองสืบเชื้อสายมาจากมังกร และยังเป็นญาติของมังกรที่ตัวเองควบคุมอยู่ด้วย แม้มีความเป็นไปได้ว่าชาววาลีเรียเสริมเติมแต่งเรื่องราวให้เผ่าพันธุ์ตัวเองมีความสูงส่งและไม่ควรหือมากขึ้น แต่จากหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึก กลับไม่พบเผ่าพันธุ์มนุษย์ชาติไหนเลยที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชาววาลีเรีย 

จึงคาดการณ์กันว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะชาววาลีเรียปักหลักอาศัยอยู่แต่กับพวกตัวเอง ไม่เปิดรับคนนอก ทั้งยังมีการคัดสรรพันธุกรรมอย่างตั้งใจ เพื่อให้สืบเชื้อสายแล้วส่งต่อลักษณะอันโดดเด่นนี้ต่อไป หรือพูดง่าย ๆ คือเพื่อรักษาจุดเด่นตรงนี้ การแต่งงานต้องเกิดขึ้นระหว่างชาววาลีเรียด้วยกันเท่านั้น ก่อนที่ภายหลังจะกลายมาเป็นธรรมเนียมแต่งงานกันเองในหมู่เครือญาติ จนถึงพี่น้องกันเอง และธรรมเนียมนี้ก็ส่งต่อมาถึงรุ่น Game of Thrones ส่วนการแต่งงานเพื่อการเมืองและอำนาจระหว่างชาววาลีเรียกับตระกูลอื่นก็เกิดขึ้นเช่นกัน แต่หากไม่จำเป็น พวกเขาจะไม่ทำเช่นนั้น

ชาววาลีเรียอยู่อาศัยกันอย่างอิสระภายในนครที่เรียกว่าปราการอิสระ (Valyrian Freehold) ระบบการปกครองของชาววาลีเรียคือผู้ครอบครองที่ดินทุกคนมีสิทธิ์ออกความเห็นเท่า ๆ กัน ดินแดนนี้จึงไม่มีพระราชาหรือผู้นำ เว้นแต่ในบางครั้งที่ต้องมีผู้นำเพื่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ชาววาลีเรียจะทำการโหวต จากนั้นคนที่ได้รับเลือกจะดำรงตำแหน่งผู้นำได้ แต่ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น กฎนี้มีไว้เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจปกครองของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการชิงอำนาจให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ เพราะต่างตนต่างมีมังกร ไม่ก็กำลังคน

ต่อมาเมื่อทรงอำนาจพอ กลุ่มอำนาจใหม่ของชาววาลีเรียก็ทำสงครามกับชาวกิสคาริ หรือชาวโอลด์กิสถึง 5 ครั้งด้วยกัน และในทุกครั้ง ชัยชนะเป็นของชาววาลีเรีย แน่นอนว่าการรบราฆ่าฟันต้องมีบาดเจ็บล้มตายไม่ว่าจะฝ่ายไหน ชาววาลีเรียจึงเผด็จศึกด้วยไฟมังกร จากนั้นก็ทำเหมือนที่โอลด์กิสเคยทำสมัยรุ่งเรือง คือล่าอาณานิคมและจับผู้แพ้เป็นทาส รวมถึงชาวกิสคาริเองที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ ส่งผลให้ภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ชาววาลีเรียอย่างภาษาวาลีเรียนชั้นสูง (High Valyria) ถูกใช้อย่างกว้างขวางจากชาวอาณานิคมในเอสซอส นอกเหนือจากชาววาลีเรียเอง

ในหมู่ชาววาลีเรียต่างก็มีมังกรกันเยอะไม่ต่างจากที่คนยุคนี้มีน้องหมาน้องแมว แต่มีเพียง 40 ตระกูลดรากอนลอร์ด (Dragonlord ที่ควรแปลว่า เจ้ามังกร แต่เพื่อไม่ให้ดูเป็นหนังจีนเกินไปจะขอเรียกทับศัพท์แทนนะครับ) เท่านั้นที่เป็นตระกูลที่มีอำนาจมากกว่าตระกูลอื่น ๆ และพวกที่ไม่ได้มีตระกูลจริง ๆ จัง ๆ แต่ใช่ว่าทั้ง 40 ตระกูลจะขี่มังกรทั้งหมด เพียงแต่มีฐานะดรากอนลอร์ดเพราะสายเลือดมังกร (ที่ว่ากันว่า) ไหลเวียนอยู่ในตัวอยู่แล้ว และมีความมั่งคั่งกับที่ดินและบริวารมากพอ ซึ่งดรากอนลอร์ดที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นคือออเรียน (Aurion) ไม่ทราบนามสกุลที่จะหยิบชื่อคนนี้มาพูดถึงหลังจากนี้อีกครั้ง, เจนารา เบลาริส (Jaenara Belaerys) แห่งตระกูลเบลาริส ขี่มังกรเทอร์แร็กซ์ (Terrax) ไปยังดินแดนโซโทรอส และที่ขาดไม่ได้คือตระกูลทาร์แกเรียน ตอนนั้นเป็นเพียงตระกูลดรากอนลอร์ดเหมือนกัน แต่เป็นพวกแถวล่าง

หลังจากที่ปราการอิสระของชาววาลีเรียเป็นใหญ่ในเอสซอส การเรืองอำนาจของพวกผมเงินนอกจากก่อให้เกิดอิทธิพลต่อเอสซอส อย่างเช่นการเกิดขึ้นของนครอิสระ (Free Cities) ตามแนวชายฝั่ง ยังส่งอิทธิพลต่ออีกทวีปอยู่ไม่น้อย มีความเชื่อว่าชาววาลีเรียตระกูลใดตระกูลหนึ่งเคยเดินทางไปที่เวสเทอรอสก่อนที่ชาวปฐมบุรุษ (First Men) 1 ใน 3 มนุษย์กลุ่มแรกในทวีปนี้จะเดินทางไปถึง โดยสถานที่ใกล้ที่สุดที่เดินทางไปถึงคือบริเวณโอลด์ทาวน์ (Oldtown เป็นเมืองของตระกูลไฮทาวเวอร์ในซีรีส์ House of the Dragon) แต่ตรงนี้ไม่มีข้อมูลว่าไปทำอะไรที่นั่น แต่หากเป็นจริง เท่ากับว่าชาววาลีเรียอาจเป็นผู้บุกเบิกที่แท้จริงก่อนปฐมบุรุษ

และยังมีความเชื่ออีกว่า ชาวแอนดัล (Andals) ที่เป็นอีก 1 ในมนุษย์ 3 กลุ่มแรก อพยพไปยังเวสเทอรอสเพราะหนีการล่าอาณานิคมของชาววาลีเรีย ในขณะที่ชาวรอยนาร์ (Rhoynar) เคยทำสงครามกับชาวปราการอิสระมาแล้ว ด้วยการยกทัพกว่า 250,000 คนไปปะทะกับมังกร 300 ตัว ผลคือมังกรเผาเรียบ มีแต่สีแดงฉานของไฟและเลือดกับเสียงโหยหวน ทำให้วีรสตรีนามว่า ราชินีนักรบไนมีเรีย (ภาคแยก Game of Thrones อีกเรื่องที่กำลังพัฒนาอยู่) สร้างตำนานด้วยการนำเรือ 10,000 ลำ อพยพชาวรอยนาร์จากพวกวาลีเรีย จนมาถึงดอร์น (Dorne) ที่ทวีปเวสเทอรอสในที่สุด

การล่มสลายของวาลีเรีย

ฟังดูเหมือนชาววาลีเรียไร้คู่ต่อสู้ที่กล้าจะต่อกรแล้ว ประมาณว่าถ้าพี่อยากได้ทวีปนี้ก็เอาไปคนเดียวเลย แต่เหมือนธรรมชาติจะมีวงจรบาลานซ์ไม่ให้สิ่งใดมีอำนาจจีรังยั่งยืนตลอดไป การล่มสลายของชาววาลีเรีย (Doom of Valyria) จึงมาถึง

หลังจากช่วงเวลา 200 ปีก่อนการล่มสลายที่ชาววาลีเรียสร้างปราสาทดรากอนสโตน (Dragonstone) ทิ้งไว้ที่เวสเทอรอส และกลายเป็นพระเจ้าเพราะมีมังกรในครอบครอง เป็นเรื่องตลกร้ายที่นำมาซึ่งอำนาจของพวกเขา (ว่ากันว่าเช่นนั้น) และนำมาซึ่งจุดจบ นั่นก็คือภัยพิบัติรุนแรงจากการระเบิดของภูเขาไฟ 14 เปลวเพลิงที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้อารยธรรมและจักรวรรดิในตำนานของชาววาลีเรียที่มีมายาวนานจบลงภายใน 1 วัน กลืนกิน กลบฝัง ทำลาย ทั้งดรากอนลอร์ด มังกร ปราสาทใหญ่โต และสิ่งปลูกสร้างมากมายจนไม่เหลือเค้าเดิม 

หลังจากการล่มสลายตามมาด้วยความโกลาหล ไม่ใช่ว่าดรากอนลอร์ดทุกคนและมังกรทุกตัวจะตายหมด ชาววาลีเรียที่ยังหลงเหลือมารวมตัวกันเพื่อหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ แต่ภายใต้ความโกลาหลชาวเมืองจากนครอิสระถือโอกาสนี้สังหารเหล่ามังกรที่กำลังระส่ำระสาย วีรบุรุษในช่วงเวลานั้นของชาววาลีเรียคือออเรียนที่แต่งตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งชาววาลีเรียคนแรก (แห่งเถ้าถ่าน) และคนสุดท้าย ด้วยการประกาศว่า ข้าจะกอบกู้จักรวรรดิพวกเรากลับคืนมา จากนั้นก็ขี่มังกรกับยกทัพพลเดินเท้า 30,000 คนไปยังปราการอิสระ และจากนั้นก็ไม่มีใครได้ยินหรือเห็นลอร์ดออเรียนแอนด์เดอะแก๊งอีกเลย ส่วนวาลีเรียก็กลายเป็นนครล่มสลายในนามของนครวาลีเรียเก่า (Old Velyria) และสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นหลังจากนั้นกลายเป็นนิทานปรัมปราที่มีการกล่านขานถึงแตกต่างกันออกไป 

ราชวงศ์ทาร์แกเรียน 

แล้วทาร์แกเรียนอยู่ตรงไหนในเรื่องราวนี้ คำตอบคือพวกเขาเป็นผู้เหลือรอดในฐานะสายเลือดวาลีเรียบริสุทธิ์ ที่กลายมาเป็นใหญ่ในภายหลัง แม้พวกเขาจะเป็นหางมังกรตอนอยู่ที่ปราการอิสระ แต่เมื่อมาถึงเวสเทอรอสพร้อมกับมังกร 5 ตัว พวกเขาได้กลายมาเป็นหัวมังกรแต่เพียงผู้เดียว โดยสุดท้ายใน 5 ตัวนี้มีเพียงบาเลอเรียนที่เป็นเพียงมังกรตัวเดียวที่รอดมาจากยุควาลีเรียแล้วอยู่มาจนถึงยุคก่อตั้งราชวงศ์ ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นที่เราเห็นคนนามสกุลนี้ขี่ เกิดที่ดรากอนสโตนและเวสเทอรอสทั้งหมด 

การก่อตั้งราชวงศ์ทาร์แกเรียนเกิดขึ้นที่เวสเทอรอส แต่ชื่อของตระกูลนี้อย่างที่บอกไปตอนต้นว่ามีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่แค่ไม่ดัง หรือไม่ใช่ตระกูลสะดุดตา โดยสาเหตุที่ตระกูลทาร์แกเรียนเหลือรอดจากเหตุการณ์การล่มสลายของวาลีเรียก็เพราะ 12 ปีก่อนการล่มสลาย หัวหน้าตระกูลตอนนั้นอย่าง เอนาร์ ทาร์แกเรียน (Aenar Targaryen) ขายที่ดินและปราสาทที่ปราการอิสระ จากนั้นขนทั้งลูก ภรรยา ญาติพี่น้อง ทาส มังกร และทรัพย์สินทั้งหมดที่มีเพื่อมาอยู่ที่ดรากอนสโตนในเวสเทอรอส ในช่วงเวลานั้นที่ปราการอิสระยังรุ่งเรืองสุดขีด และกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ในขณะที่ดรากอนลอร์ดแย่งชิงอำนาจกันอย่างเข้มข้น ป่าเถื่อน รุนแรง ตระกูลนี้กลับเลือกปลีกวิเวกจนถูกหาว่าแพนิก (อารมณ์ประมาณโนอาห์ใน ไบเบิล ที่สร้างเรือโนอาห์ทั้งที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะน้ำท่วม) แถมยังขี้ขลาดและกระจอก มีมังกรซะเปล่าแต่ทำได้แค่หนีไปอยู่ที่อื่น

แต่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะอยากย้ายก็ย้าย ลอร์ดเอนาร์ไม่ได้ขี้ขลาด เขามีธิดาชื่อ เดนิส ทาร์แกเรียน (Daenys Targaryen) หรือเดนิสนักฝัน ที่ฝันว่า 12 ปีต่อมาเปลวเพลิงจะกลืนกินวาลีเรีย และถ้าทาร์แกเรียนอยากรอด ต้องย้ายถิ่นฐานไปยังอีกทวีปเท่านั้น สุดท้ายเลยกลายเป็นว่าพวกเขาเป็นเพียงตระกูลเดียวที่รอดมาได้ และต่อมาเดนิสก็ได้แต่งงานกับพี่ชายตัวเองที่ชื่อ เกมอน (Gaemon) จากนั้นอีกราว 5 เจเนอเรชันถัดมา ก็ได้กำเนิดเป็นเอกอน ที่ภายหลังจะรู้จักกันในนามเอกอนที่ 1 ผู้พิชิต ผู้ขี่มังกรบาเลอเรียน (Balerion) หรือมฤตยูดำ ที่แต่งงานกับพี่สาวอย่างวิเซเนีย (Visenya) ผู้ขี่มังกรเวการ์ (Vhagar) และน้องสาวอย่าง Rhaenys ผู้ขี่มังกรเมอแร็กซิส (Meraxes) จากนั้นก็สถาปนาเป็นราชาแห่ง 7 อาณาจักร ถึงแม้ว่าจะไม่เคยพิชิตดอร์นได้ก็ตาม โดยมีสัญลักษณ์ของราชวงศ์คือมังกร 1 ตัว 3 หัวสีแดงเลือดบนธงสีดำ มีที่มาจาก 3 พี่น้องทาร์แกเรียน

ด้วยอำนาจแห่งมังกรและการเป็นผู้ปกครองสูงสุดแบบไม่มีใครเทียบรัศมีได้ ชื่อของราชาและราชินีแห่งเวสเทอรอสตั้งแต่การขึ้นสู่บัลลังก์ของเอกอนที่ 1 เลยยาวเหยียด นั่นก็คือราชาแห่งชาวแอนดัล รอยนาร์ และปฐมบุรุษ ลอร์ดผู้ปกครองแห่ง 7 อาณาจักร และผู้ปกปักษ์พิทักษ์ดินแดน (Lord of the Seven Kingdoms King of the Andals, the Rhoynar, and the First Men, Lord of the Seven Kingdoms, and Protector of the Realm) อย่างที่ได้ยินกันจนถึงยุคสมัยของ เดเนอริส ทาร์แกเรียน (Daenerys Targaryen)

แต่ไม่ใช่แค่ตระกูลทาร์แกเรียนที่รอดมาได้ในฐานะชาววาลีเรีย แต่ตระกูลที่เก่าแก่พอกันอย่างเซลติการ์ (Celtigar) ที่มีสัญลักษณ์ตระกูลเป็นรูปปู กับตระกูลอาจจะเก่าแก่กว่าอย่างเวลาเรียน (Velaryon) ก็เป็นอีก 2 ตระกูลที่เหลือรอดในเวสเทอรอสด้วย สำหรับตระกูลเวลาเรียนไม่ใช่ดรากอนลอร์ด แต่ในขณะที่ทาร์แกเรียนเป็นเจ้าแห่งท้องฟ้า เวลาเรียนเกรียงไกรทางทะเล ตั้งแต่สมัยปราการอิสระตระกูลเวลาเรียนขึ้นชื่อเรื่องการแลกเปลี่ยนค้าขายโดยมีเรือเป็นพาหนะสำคัญ ต่อมาพวกเขามาปักหลักอยู่ที่ดริฟต์มาร์​ก (Driftmark) ซึ่งว่ากันว่ามาอยู่ที่นี่ก่อนที่พวกทาร์แกเรียนจะมาอยู่ที่ดรากอนสโตนด้วยซ้ำ 

เอกอนที่ 1 

ในยุคสมัยของเอกอน ทาร์แกเรียน มีหลายอย่างเกิดขึ้น เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากตระกูลต่าง ๆ รบราฆ่าฟัน แก่งแย่งชิงดี ยุติลงภายใต้การปกครองของมังกร เนื่องจากไม่ว่าใครก็ไม่อาจต้านทานอำนาจของเปลวเพลิงได้ ทำให้หลายตระกูลที่อยู่เป็นคุกเข่าให้ ส่วนตระกูลที่ไม่คุกเข่ามีปลายทางคือถูกย่างสด ยุคสมัยของเอกอนเป็นกราฟที่พุ่งขึ้นเพราะเขาเป็นราชาที่ผู้คนทั้งเคารพและยำเกรง บ่อยครั้งที่เอกอนขี่มังกรไปฟังเสียงราษฎรถึงที่ พร้อมกับเป็นการประกาศไปในตัวว่าใครคือลูกพี่ของประชาชนเหล่านั้น รวมถึงเหล่าลอร์ดผู้ปกครองด้วย 

อีกทั้งในยุคสมัยนี้เป็นยุคที่มีการสร้างเมืองคิงส์แลนดิง (King’s Landing) ขยับขยายสิ่งปลูกสร้าง ตั้งชื่อสถานที่ต่าง ๆ การปกครองของเอกอนมีการใส่ใจรอบด้านไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนาศรัทธาทั้ง 7 การเก็บภาษี การออกกฎหมาย การรู้ว่าเมื่อไหร่ควรยื่นมือไปยุ่งและไม่ยุ่งกับตระกูลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โด่งดังที่สุด คือมีการใช้ไฟมังกรหลอมสร้างบัลลังก์เหล็ก (Iron Throne) ขึ้นมาจากอาวุธนับพันของศัตรูผู้ปราชัย เพื่อย้ำเตือนว่าพวกเขามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร และเพื่อเตือนผู้นั่งทั้งคนปัจจุบันและต่อจากนี้ว่าไม่ควรมีราชาผู้ใดนั่งอย่างไม่ระมัดระวัง และไม่ควรมีราชาผู้ใดปกครองอย่างไม่ระมัดระวัง 

เอนิส ที่ 1 

หลังจากรัชสมัยของเอกอนที่ 1 สิ้นสุดลงเพราะราชาเส้นเลือดในสมองแตก บุตรชายก็มาสานต่อบัลลังก์เหล็ก เอกอนมีลูก 2 คน คือ เอนิสที่ 1 (Aenys) องค์ชายรัชทายาทที่เกิดจากราชินีเรนิส และ เมกอร์ (Maegor) บุตรชายที่เกิดจากราชินีวิเซเนีย ผู้มีร่างกายแข็งแรงและเก่งกาจจนได้ฉายาว่าเป็นอัศวินผู้เก่งที่สุดและอายุน้อยที่สุดในอาณาจักร แต่มีนิสัยเหี้ยมโหด โดยทั้งคู่อายุห่างกัน 5 ปี แน่นอนว่าเอนิสผู้เป็นพี่ได้ขึ้นเป็นราชาก่อน แต่เอนิสต่างจากพ่อของเขา ราชาในยุคนี้ขาดสกิลล์การปกครองเป็นอย่างมากและมักจะตัดสินใจผิดจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายหรือย่ำแย่ลงบ่อยครั้ง จนบ่อยครั้งผู้คนมักจะพูดกันว่าเมกอร์ผู้ขี่มังกรบาเลอเรียนต่อจากผู้เป็นบิดาเหมาะสมกว่าที่จะไปนั่งบนนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนแออันเกิดจากการปกครองของเอนิสที่ 1 ทำให้ลอร์ดของบางตระกูลไม่เคารพยำเกรงจนรวมตัวกันก่อกบฏ แต่ก็ได้เมกอร์ที่เป็นคนกำราบ 

และแล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็ได้ถึงจุดที่เลวร้ายขั้นสุด เมื่อเอนิสประกาศว่า เอกอน (Aegon) บุตรชายผู้ขี่มังกรควิกซิลเวอร์ (Quicksilver) จะเป็นรัชทายาท และจะแต่งงานกับบุตรสาวอีกคนที่ชื่อเรนา (Rhaena) ผู้ขี่มังกร ดรีมไฟร์ (Dreamfyre) แม้ธรรมเนียมนี้ของทาร์แกเรียนจะมีมานานแค่ไหน แต่เนื่องจากอำนาจศาสนานั้นเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ทรงอานุภาพพอ ๆ กับสถาบันปกครอง (ส่วนหนึ่งเพราะเอกอนให้การสนับสนุนจุนเจือจนเติบโตด้วย) และศาสนารับไม่ได้กับเรื่องที่ดูบัดสีบัดเถลิงเช่นนี้ เอนิสจึงถูกต่อต้านโดยศาสนจักร จนต้องหลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่ที่ดรากอนสโตน จนสุดท้ายก็เสียชีวิตที่นั่น

เมกอร์ที่ 1

จริง ๆ แล้วหากนับตามลำดับ เอกอน รัชทายาทและบุตรชายของเอนิสจะต้องเป็นผู้นั่งบัลลังก์ต่อ แต่เมกอร์ผู้เป็นอากลับช่วงชิงและสวมมงกุฎที่เป็นมงกุฎเดียวกับเอกอนผู้พิชิตบิดาของเขา ทำให้ทั้งเอกอนและเรนาต้องหลบหนีไปกบดานที่อื่น ในยุคสมัยของเมกอร์เป็นยุคแห่งความโหดร้ายตามชื่อของเมกอร์ที่ได้รับฉายาว่า ‘ผู้เหี้ยมโหด (The Cruel)’ เรียกว่าใครทำให้ไม่พอใจ ใครทักท้วง ใครขัดแข้งขัดขา มันผู้นั้นย่อมไม่ตายดี สิ่งที่เมกอร์ทำเป็นอันดับแรก ๆ หลังขึ้นปกครองคือปราบกองกำลังคลั่งศาสนาที่ต่อต้านราชวงศ์และเป็นปัญหาเสี้ยนตำเท้ามาเป็นระยะเวลานาน ด้วยวิธีที่บ้าพลังคือท้าดวลโดยส่งตัวแทนมาฝั่งละ 7 คน (เมกอร์คือหนึ่งในนั้น) แทนที่จะทำสงครามให้มีคนตายไปมากกว่านี้

ยุคของเมกอร์มีการสร้างตำหนักแดง (สานต่องานจากยุคเอนิส) และวีรกรรมใหญ่ ๆ ในยุคนี้ที่โจษจัน คือเมื่อสร้างป้อมเสร็จ ราชาสายโหดก็เลี้ยงเหล้าและส่งสตรีสวยเช้งให้คนงานที่ทำงานบากบั่นมาตลอด จากนั้นก็สังหารทุกคนทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้รู้ความลับ และนอกจากนี้ ดรากอนพิต (Dragonpit) หรือบ่อมังกรก็ยังสร้างขึ้นในยุคนี้ด้วยเช่นกัน แต่ใครจะไปกล้ารับงานนี้ สุดท้ายเมกอร์เลยให้นักโทษมาทำแทน และจุดจบของนักโทษเหล่านั้นแน่นอนว่าไม่ต่างกัน

ในขณะเดียวกันเอกอนกับเรนาได้รวบรวมกำลังพลเพื่อไปทำศึกชิงบัลลังก์คืนตามความชอบธรรม แต่ขนาดมังกรต่างไซซ์กันเกินไปถึง 1 ใน 4 หลานชายจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ส่วนเมกอร์ไร้ผู้ใดมาเทียบเคียง หลังจากนั้นถึงแม้จะดูเป็นราชาที่คนไม่กล้าหือแค่ไหน เมกอร์กลับได้ฉายาว่าราชาต้องสาป เพราะไม่ว่าจะทำยังไงเมกอร์ก็ยังไม่มีบุตร จนสุดท้ายแล้ววันหนึ่งก็ได้มีคนพบเมกอร์นั่งสิ้นใจบนบัลลังก์โดยมีดาบเสียบแทงทะลุคออย่างปริศนาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเดาว่าใครเป็นผู้ลงมือในเมื่อโจทก์ของเมกอร์นั้นเยอะเหลือเกิน

เจเฮริสที่ 1

หลังการเสียชีวิตของเมกอร์ เจเฮริส ผู้เป็นน้องชายของเอกอนและเรนา และเป็นผู้ขี่มังกรเวอร์มิธอร์ (Vermithor) ที่ใหญ่รองมาจากบาเลอเรียนและเวการ์ ก็ได้ตั้งตนเป็นราชาคนต่อไปท่ามกลางความเห็นดีเห็นงามและแรงสนับสนุนของลอร์ดหลายตระกูล เจเฮริสได้รับฉายาว่า ‘ผู้ประนีประนอม (The Conciliator)’ และ ‘ผู้ชาญฉลาด (The Wise)’ จากการประนีประนอมกับทุกฝ่าย โดยเน้นพูดคุยเจรจาจนจบปัญหากับนักรบศาสนาได้ในที่สุด ยังประกาศตัวรับใช้ด้วยความยอมรับ เจเฮริสจัดการปัญหาอาณาจักรแบบค่อยเป็นค่อยไป ถึงกระนั้นก็เป็นราชาที่รู้ว่าเมื่อไหร่ควรแข็งกร้าว เมื่อไหร่ควรอ่อนโยน เจเฮริสถือเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ยอดเยี่ยมและปกครองยาวนานที่สุดของราชวงศ์ทาร์แกเรียน แถมยังเป็นตัวละครหลักไม่กี่ตัวในโลกของ จอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน (George R. R. Martin) ที่แก่ตายตามธรรมชาติอีกด้วย

หลังจากจบยุคของเจเฮริส จึงตามมาด้วยยุค Dance of the Dragons หรือยุคมังกรเริงระบำที่ชนวนสงครามเกิดขึ้นระหว่างรัชสมัยของวิเซริสที่ 1 สงครามเริ่มต้นในสมัยของเอกอนที่ 2 และราชินีเรนีรา และจบลงในสมัยของเอกอนที่ 3 ส่วนรายละเอียดนั้น เป็นไปดังเนื้อหาของซีรีส์ House of the Dragon ที่ได้ดูไป และกำลังจะได้ดูจากนี้

มังกร

ต้นกำเนิดที่แท้จริงของมังกรในโลกของ ASoIF นั้นคลุมเครือและเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ บ้างก็ว่าออกมาจากภูเขาไฟจริง ๆ บ้างก็ว่าครั้งหนึ่งเคยมีดวงจันทร์ดวงที่ 2 บนฟ้า แล้วอยู่ ๆ ความร้อนของดวงอาทิตย์ก็ฟักไข่แตก จากนั้นตามมาด้วยมังกรบินออกมาจากไข่ใบโตนั้นเป็นล้านตัว บ้างก็ว่าพวกมันมาจากสถานที่ลึกลับที่เรียกว่าชาโดว์แลนด์ (Shadow Land) หรือเงาทมิฬ สถานที่ที่ลึกลับยิ่งกว่าที่มาของมังกรหรือสถานที่ใดที่เรารู้จักในโลกใบนี้ ในทั้งหมดที่พูดมาคำบอกเล่าของชาววาลีเรียเองดูจะเป็นไปได้ที่สุดและหลุดโลกน้อยสุด และถ้าเป็นเช่นนั้น ตระกูลทาร์แกเรียนก็ไม่ใช่กลุ่มแรกที่นำมังกรเข้ามาในเวสเทอรอส เพราะก่อนที่พวกทาร์แกเรียนจะมา เวสเทอรอสมีมังกรอยู่ก่อนหน้านั้นตั้งแต่สมัยปฐมบุรุษและยุคแห่งวีรบุรุษ เช่นมังกรที่ชื่อ เออร์แร็กซ์ (Urrax) กับมังกรทะเล แน็กกา (Nagga) จึงเป็นไปได้ว่า ภูเขาไฟ 14 เปลวเพลิงอาจไม่ใช่แหล่งเดียวที่ค้นพบมังกรได้ หรือไม่ก็ที่นั่นอาจเป็นแหล่งเดียวจริง ๆ แต่เมื่อดูจากกระดูกที่ค้นพบ มังกรได้กระจายไปทั่วทั้ง 2 ทวีปหรือมากกว่านั้น 

จริง ๆ แล้วมังกรทั้งหมดที่เราเห็นกันในโลกของ ASoIF จะให้ถูกต้องเรียกว่าไวเวิร์น (Wyvern) แต่ผู้แต่งอย่างจอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน เลือกให้มังกรในโลกของเขามีดีไซน์เหมือนไวเวิร์นแทน เนื่องจากเขาไม่คิดว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการโดยมีอวัยวะควบคุมเยอะโดยไม่จำเป็นขนาดนั้น ถึงแม้ในบางอาร์ตเวิร์กของ ASoIF จะมีมังกรที่ดูเป็นมังกรจริง ๆ ก็ตาม

ข้อแตกต่างระหว่างมังกรกับไวเวิร์น คือมังกรจะมี 4 ขา มีปีก 2 ข้าง และพ่นไฟได้ ในขณะที่ไวเวิร์นที่ค้นพบในโซโทรอสจะมีหน้าตาเหมือนที่เราเห็นกันใน House of the Dragon และ Game of Thrones คือมีขาหลัง ส่วนขาหน้าทำหน้าที่เหมือนแขน จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปีก เพียงแต่พ่นไฟไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันอีกอย่างเวิร์ม (Wyrm) หรือไฟร์เวิร์ม (Firewyrm) ที่มีมาก่อนมังกรจะออกมาจากปล่องภูเขาไฟ 14 เปลวเพลิง แตกต่างตรงที่มีลักษณ์คล้ายงูยักษ์มากกว่า เลยมีทฤษฎีที่ว่า จริง ๆ แล้วมังกรเกิดจากการที่จอมเวทโลหิตชาววาลีเรียแห่งปราการอิสระ ใช้เวทมนตร์เลือดเพื่อดัดแปลงให้ไวเวิร์นกลายเป็นมังกรหรือไวเวิร์นที่พ่นไฟได้อย่างที่เราเห็น แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดยังคงเป็นทฤษฎี ‘มังกรเกิดจากภูเขาไฟ 14 เปลวเพลิง’

มังกรขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ ส่วนในเรื่องของเพศนั้น มีความเชื่อที่หลากหลายกันไป บ้างเชื่อว่ามังกรมีเพศที่ Fixed แน่นอนแล้ว คือเพศชายกับเพศหญิง บ้างก็ว่าไม่มีเพศ และบ้างก็ว่าเปลี่ยนเพศไปมาได้ แต่ข้อสังเกตที่อาจจะพอการันตีได้ คือมังกรตัวไหนที่ไม่เคยวางไข่เลยตลอดชีวิต ตัวนั้นเป็นเพศผู้ ส่วนตัวที่วางไข่เป็นเพศเมีย อย่างน้อย ๆ ก็ในตอนนั้น ซึ่งตามธรรมเนียมของพวกทาร์แกเรียนที่เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของเอกอนที่ 1 ทุกคนเกิดมาจะได้รับไข่มังกรไปวางไว้ในเปลเพื่อให้สายสัมพันธ์เกิดขึ้นเร็วที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่มังกรฟักออกมาเป็นตัว แต่ก็ใช่ว่าชาวมังกรทุกคนจะได้คู่กับมังกรในไข่ หรือไข่จะฟักเสมอไป บางทีก็มีเคสที่มังกรไม่ฟักจนไข่กลายเป็นหิน กับเคสที่มังกรพิกลพิการเช่นกัน 

สีของไข่มังกรอาจบ่งบอกถึงสีเกล็ดของมันได้ แต่เกล็ดก็ไม่ได้การันตีว่ามันจะมีนิสัยใจคอเหมือนกัน ส่วนขนาดขึ้นอยู่กับสถานที่ที่พวกมันเติบโต หากเติบโตตามธรรมชาติ พวกมันจะตัวใหญ่ได้ไม่สิ้นสุด (หากไม่ตายหรือแก่ตายไปซะก่อน) แต่หากเลี้ยงในสถานที่ปิด มังกรจะมีขนาดเล็กตามสถานที่เลี้ยง เช่นมังกรที่เลี้ยงในดรากอนพิต (Dragonpit) ซึ่งอายุของมังกรนั้นจะไม่เหมือนกับคน พวกมันมีอายุที่ยืนยาวเป็นร้อย ๆ ปีเลยทีเดียว

มังกรไม่ได้ทนไฟและถูกไฟเผาตายได้ (เช่นเดียวกับที่ชาววาลีเรียและพวกทาร์แกเรียนไม่ได้ทนไฟ) ไม่ว่าจะเป็นไฟมังกรด้วยกันหรือไฟอื่น เพียงแต่เมื่อพวกมันโตขึ้น เกล็ดจะเริ่มหนาและแข็งจนทนไฟได้มากขึ้น ยิ่งพวกมันโตขึ้นกับขนาดใหญ่ขึ้น ไฟที่พ่นออกมาก็จะยิ่งรุนแรงและมีอุณหภูมิสูง เช่นมังกรที่ทั้งตัวใหญ่และอายุมากอย่างบาเลอเรียนกับเวการ์ที่เผาหินเป็นเถ้าถ่านและเผาเหล็กให้หลอมละลายได้ 

นอกจากนี้ยังว่ากันว่ามังกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับเวทมนตร์แบบที่ยังไม่มีคำอธิบายได้ 100% เลยมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมังกรที่เป็นสัญลักษณ์ของไฟตายเกลี้ยง ฤดูร้อนไม่ร้อนเท่าเดิม และฤดูหนาวหนาวกว่าที่เคย อีกจุดที่เชื่อมโยงมังกรกับเวทมนตร์และเลือดได้ดี คือฉากที่เดเนอริส ทาร์แกเรียน เดินออกมาจากกองเพลิงและลูกมังกรที่ฟักเป็นตัวแล้วในซีซันแรก ๆ โดยไม่มีรอยไหม้หรือได้รับอันตรายใด ๆ 

การขี่มังกร

ข้อแตกต่างของทาร์แกเรียนและคนทั่วไป คือพวกเขารู้วิธีควบคุมมังกร และเป็นเชื้อสายเดียวที่ขี่มังกรได้ ซึ่งเชื้อสายที่ว่าหมายถึงเชื้อของชาววาลีเรีย นั่นหมายความว่าผู้ขี่ไม่จำเป็นต้องนามสกุลทาร์แกเรียนเสมอไป เพราะการจะเป็นผู้ขี่มังกรไม่ได้ขึ้นอยู่กับนามสกุลหรือสีผม คนตระกูลอื่นอย่างเวลาเรียนก็ขี่ได้ และผู้ที่เป็นลูกนอกสมรสที่มีเชื้อสายวาลีเรียวนเวียนอยู่ในเลือดก็ขี่ได้เช่นกัน คนเหล่านั้นจะถูกเรียกว่าดรากอนซีด (Dragonseed) และในศึกมังกรเริงระบำเราจะได้เห็นฝั่งดำของเรนีรา (Rhaenyra) เกณฑ์ดรากอนซีดมาทดสอบผูกจิตกับมังกร ซึ่งมันไม่ได้การันตีว่าจะสำเร็จ และหากไม่สำเร็จหมายความว่าผู้กล้าคนนั้นโดนเผาตาย

แล้วชาววาลีเรียควบคุมมังกรได้ยังไง ตรงนี้ที่ไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่ประวัติศาสตร์ของอัสชาย (Ashai) สันนิษฐานว่ามีคนโบราณจากชาโดว์แลนด์ที่เจอมังกรก่อน ค้นพบวิธีกำราบและควบคุมมังกรสำเร็จ จากนั้นจึงเอามาถ่ายทอดให้กับชาววาลีเรียต่อ ส่วนพวกเขาหายตัวไปอย่างลึกลับ อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้ก็มีความย้อนแย้งและทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วทำไมคนจากชาโดว์แลนด์ถึงไม่ควบคุมมังกรและครองโลกซะเองล่ะ พวกเขาเป็นคนไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หรือจริง ๆ แล้วไม่เคยมีอยู่เลยกันแน่

ในตำนานของ ASoIF เล่าขานกันว่าชาววาลีเรียควบคุมมังกรด้วย 2 วิธี คือเวทมนตร์และแตร จนเป็นที่พูดกันไปทั่วว่า หากใครได้ยินเสียงนี้ ผู้นั้นจะได้พบกับความตาย แต่จริง ๆ แล้วมังกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาด และหากจะควบคุมพวกมันให้อยู่ต้องมีการฝึกสอน อย่างที่เราเห็นกันในซีรีส์ House of the Dragon และ Game of Thrones ว่า เดเนอริสและทาร์แกเรียนทุกคนควบคุมมังกรได้โดยไม่ต้องใช้ 2 สิ่งนี้ แต่ใช้เสียงสั่งการหรือไม่ก็ใช้แส้ฟาดแทน โดยวิธีสั่งด้วยเสียงจะสั่งการด้วยภาษาวาลีเรียชั้นสูง (High Valyrian) เท่านั้น (จะมีการฝึกให้พวกมันเข้าใจภาษาตั้งแต่เกิดได้ไม่นาน) ส่วนวิธีใช้แส้ฟาดจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกับม้า เพราะมังกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่จะพุ่งเข้าสู่อันตราย หากผู้ขี่ฟาดข้างไหน มันจะหันไปทางข้างนั้น

ไม่ได้มีข้อมูลแน่ชัดที่ชี้ว่าอายุเท่าไหร่ชาววาลีเรียคนหนึ่งถึงขี่มังกรได้ แต่สายสัมพันธ์ระหว่างผู้ขี่และมังกรจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นหรือเมื่อถึงเวลาที่ใช้ ทำให้ชาวเชื้อสายวาลีเรียคนหนึ่งอาจจะมีมังกรตั้งแต่เด็ก ตอนโตถึงมีมังกร หรือตลอดชีวิตผูกจิตกับมังกรไม่ได้ นั่นจึงหมายความว่าทาร์แกเรียนเป็นผู้ขี่มังกร แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีมังกรหรือผู้ขี่ได้ แต่ในเมื่อมีทฤษฎีว่าชัวร์กว่าหากสายเลือดเข้มข้น ทาร์แกเรียนจึงเน้นแต่งงานกันเอง

การขี่มังกรจะเริ่มจากการผูกจิต เมื่อไหร่ก็ตามที่ชาวเชื้อสายวาลีเรียผูกจิตกับมังกรแล้ว มันจะไม่มีทางผูกจิตกับใครได้อีกเลยตราบใดที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ โดยที่ไม่เกี่ยวกับว่าบุคคลที่ต้องการจะเคลมต่อจะมีสายเลือดที่ใกล้ชิดแค่ไหน หรือเคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนบ่อยขนาดไหน โดยเมื่อเจ้าของตายแล้วเท่านั้น มังกรจึงจะผูกจิตกับเจ้าของใหม่ได้ โดยเป็นใครก็ได้ ตราบใดที่ทั้งสองรู้สึกเชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างเช่นมังกรบาเลอเรียนที่จริง ๆ แล้วเป็นของคนอื่นมาตั้งแต่สมัยวาลีเรียยังไม่ล่มสลาย แต่ภายหลังหลังจากที่บรรพบุรุษเสียชีวิตไปแล้ว เอกอนที่ 1 จึงเคลมมาเป็นของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนคือผู้ขี่มังกร 1 คน ขี่มังกรมากกว่า 1 ตัวพร้อมกันในขณะที่ตัวแรกมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ มังกรยังสัมผัสถึงความรู้สึกของเจ้าของได้เช่นกัน หากเจ้าของเศร้า พวกมันเศร้าตาม และหากเจ้าของตาย ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน พวกมันจะแสดงอาการทันที 

พวกทาร์แกเรียนจะมีผู้ดูแลมังกร (Dragonkeeper) ไว้ดูแลมังกร ส่วนมังกรหากไม่ได้เลี้ยงที่ดรากอนพิต ก็จะเลี้ยงที่ดรากอนสโตน ซึ่งการมีอยู่ของผู้ดูแลมังกรเป็นเครื่องยืนยันว่ามังกรไม่ได้เชื่อฟังแค่เจ้าของ แต่พวกมันฟังภาษารู้เรื่อง มีความคิดความอ่าน มีระบบระเบียบในการปฏิบัติ และมีความสามารถในการจดจำคนที่พบเจอได้ รวมไปถึงมังกรด้วยกันเองเช่นกัน 

แต่ถึงอย่างนั้นในหนังสือ ASoIF และ Fire & Blood ที่เป็นต้นฉบับของ House of the Dragon มักมีข้อความกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งว่ามังกรเป็นขุมอำนาจยิ่งใหญ่เกินตัวที่มนุษย์ไม่ควรมี และไม่อาจมีมนุษย์หรือชาวเชื้อสายวาลีเรียคนใดหยิ่งยโสจนอ้างได้ว่าเข้าใจมังกร หรือมั่นใจได้ว่ารู้วิธีควบคุมพวกมัน 100% มังกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่ Unpredictable และการอยู่บนหลังมันได้ไม่ได้การันตีว่าพวกมันจะเชื่อฟัง เช่นเหตุการณ์มังกรเวการ์งับและเคี้ยวมังกรอาร์แร็กซ์ (Arrax) ไปพร้อมกับลุคหรือลูเซริส เวลาเรียน (Lucaerys Velaryon) ที่เป็นเหมือนการราดน้ำมันบนกองไฟในสงครามมังกรเริงระบำ สุดท้ายแล้วมนุษย์อาจมีอำนาจด้วยมังกร แต่ไม่เคยยิ่งใหญ่ไปกว่า และหากปราศจากพวกมัน พวกเขาไม่ต่างไปจากคนธรรมดา 

เราอาจจะได้เห็นมังกรมากขึ้นในซีรีส์ House of the Dragon แต่ละซีซัน แต่ในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ของซีรีส์ก็กำลังมุ่งไปสู่จุดที่เราจะไม่ได้เห็นมังกรอีกเลยเช่นกัน Opening Credits ของซีรีส์กับทั้งหมดที่พูดมานี้ ทั้งสายเลือดของวาลีเรีย ความยิ่งใหญ่ที่เอกอนที่ 1 สร้างไว้ บัลลังก์เหล็ก เรื่องราวดีร้ายมากมายในแต่ละรัชสมัย สายเลือดทาร์แกเรียนกำลังจะมาถึงจุดพลิกผัน หากเหตุการณ์ Doom of Valyria คือจุดสิ้นสุดของชาววาลีเรีย เหตุการณ์ Dance of the Dragons ที่ทาร์แกเรียน VS ทาร์แกเรียน กันเอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุดของชาววาลีเรียอีกครั้งที่ใหญ่โตไม่แพ้กัน แต่แตกต่างตรงที่ครั้งแรกนั้นเกิดจากภัยธรรมชาติ แต่ครั้งนี้เกิดจากการตัดสินใจใช้อำนาจมังกรเพื่ออำนาจปกครอง จนเหตุการณ์บานปลายเกินควบคุม

เพราะ สิ่งเดียวที่จะทำลายตระกูลแห่งมังกรได้…ก็คือตัวมันเอง

ข้อมูลอ้างอิง
  • A Song of Ice and Fire
  • The World of Ice and Fire
  • Fire & Blood

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ