ชีวิตของฉันเติบโตท่ามกลางผู้คนแบบใกล้ชิดอย่างหนำใจ เพราะโตมาในคลองถม มันคือย่านการค้าที่ความเป็นส่วนตัวเป็นที่ต้องการของทุกคน เนื่องจากทันทีที่ตื่นจะมีคนอยู่รอบตัว พ่อแม่ พี่น้อง คนงาน ฯลฯ เมื่ออาบน้ำเสร็จ ออกจากห้องนอน สิ่งที่จะได้ยินคือเสียงคนจากภายนอกที่ดังเข้ามา เพราะเยื้อง ๆ บ้านเป็นร้านขายแตรรถบรรทุก และการลองแตรจะเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้า อีกฝั่งคือร้านขายเครื่องเสียงที่จะเปิดเครื่องเสียงให้ลูกค้าลองตั้งแต่ 8 โมงเช้าเช่นกัน
รวมถึงชีวิตในตึกแถว ผนังบ้านไม่ได้หนามาก อย่างไรก็ได้ยินคนข้างบ้านใช้ชีวิต มีคนอยู่กับคุณ 24 ชั่วโมงแน่นอน ถ้าเขาทะเลาะกันแล้วเถียงกันผิด Logic เราตะโกนข้ามไปแก้ Logic ของผู้ด่าระหว่างการฟังได้ เช่น “อ๊อด กินข้าวแล้วทำไมไม่ล้างจาน ถ้าไม่ล้างกลากจะขึ้นหัวนะ” อันนี้ผิด Logic สิ้นดี การล้างจานหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโรคผิวหนัง
แต่เขาจะรวมหัวกันกลับมาด่าเราหรือเปล่า นั่นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อเริ่มกินข้าวเช้าที่ชั้นล่างซึ่งเป็นสถานที่อเนกประสงค์ ทั้งห้องกินข้าว หน้าร้านค้า ห้องทำการบ้าน ห้องอ่านหนังสือ ฯลฯ นั่นคือชีวิตได้เปิดออกสู่สาธารณชนแล้ว เพราะเป็นร้านค้าที่เปิดร้าน คนเห็นเรา เราเห็นคน
ทุกคนที่เติบโตในย่านแบบนี้น่าจะติดนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เฝ้าสังเกตการณ์ผู้อื่นเงียบ ๆ ก็ปิดการรับสัญญาณของตัวเอง นี่คือ 2 ทักษะที่สำคัญ ไม่อย่างนั้นคุณจะประสาทแดกค่ะ เพราะสิ่งเร้ามันอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา
ฉัน (คิด) ว่าฉันยังไม่ประสาทแดก เลยมั่นใจว่าน่าจะมีทักษะนี้ติดตัวมาอย่างเหนียวแน่น ฉันจึงหายเข้าไปในโลกที่ตัวเองสนใจเหมือนตกหลุมลงไป รวมถึงการสังเกตคนอื่น (เสือกนั่นเอง) ส่วนหนึ่งคือร้านค้า เวลานั่งด้านในและมองออกไปจะมีกรอบประตูร้านสี่เหลี่ยมบังคับการมอง เหมือนจอทีวีหรือโรงละคร สายตาของคนที่บ้านเป็นร้านค้าจึงมักจะถูกบังคับให้มองออกไปเสมอ
ไม่ว่าชีวิตพาฉันไปที่ไหน สิ่งนี้ก็ตามติดไปด้วย
เวลาผ่านไป ฉันพัฒนาตัวเองให้เลือกมองแต่สิ่งที่น่าสนใจ นั่นคือคนที่ตั้งใจและจริงจังกับงานที่ทำ มันจะเพลินมาก เพราะคนที่ตั้งใจทำอะไรก็ตาม จะไม่ค่อยนำพากับการที่เราไปสังเกตเขา ที่สำคัญมากคือการตามดูคนที่ตั้งใจ จะเห็นพัฒนาการของเขา เพราะคนเรา ถ้าใส่ใจกับอะไรก็ตาม มันจะพัฒนาขึ้น จริง ๆ นะคุณ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฉันจึงตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่า ‘Mind Their Own Business!’ เรื่องของเขา เราใส่ใจ มันคือการสนใจ ใส่ใจ เรื่องคนอื่นเป็นพิเศษ
อารัมภบทมาสักพักแล้ว เริ่มดีกว่า

เริ่มตอนแรกด้วยเหล่าผู้ผลิต ผู้ค้า กระดาษที่เผาให้คนตายในเทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งเป็นเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ อยู่ในช่วงเมษายน สิ่งที่จะทำในวันนี้คือการสังสรรค์ เยี่ยมเยียนบรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่หลุมฝังศพ รวมญาติที่หลุม ทำความสะอาดและรีโนเวตบริเวณหลุมศพ เช่น เขียนสีใหม่ ปัดกวาดเช็ดถู ประดับประดาหลุมให้สวยงาม
ยิ่งหลุมศพที่อยู่ติดกับคนอื่น การแต่งให้ไม่น้อยหน้ากับหลุมบ้านอื่นต้องมี
สิ่งที่ต้องนำไปคือของไหว้ต่าง ๆ มีทั้งของกินอย่างพวกหมู เป็ด ไก่ ผลไม้ ถ้าเป็นธรรมเนียมเดิมคือจะกินที่หลุมเลย ไม่ต่างอะไรกับการแวะมาหาอาม่าผู้ล่วงลับ แล้วแวะกินข้าวด้วยซะเลย
มีของกินแล้วก็ต้องมีของใช้ที่จะมอบให้ผู้ล่วงลับด้วย สมัยโบราณจะเผาเพียงเงินกระดาษเท่านั้น เพื่อให้คนตายเอาไว้จับจ่ายใช้สอยในโลกหน้า แต่การได้เงินไป คนตายต้องลำบากไปหาซื้อของที่อยากได้อีก ยุคนี้จึงอำนวยความสะดวกให้บรรพบุรุษด้วยการพัฒนาของใช้ต่าง ๆ จำลองจากกระดาษ


โลกหลังความตายเป็นโลกแห่งแฟนตาซีค่ะ จากกระดาษในโลกมนุษย์ จะกลายเป็นของจริงในโลกวิญญาณได้
ของฮิตที่ต้องเผาให้คนตาย คือบ้าน รถ ที่ดิน (เป็นโฉนดนะคะ) นาฬิกา เฟอร์นิเจอร์ หมา คนใช้ ตั๋วเครื่องบิน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เงิน บัตรเครดิต ทอง ครีมทาผิว ฯลฯ อีกมากมาย
ของไหว้ที่เป็นของใช้พัฒนาขึ้นมาก ฉันชอบแวะสังเกตดูที่ร้านเหล่านี้เสมอว่า ตอนนี้เทรนด์ในโลกวิญญาณเป็นอย่างไรบ้าง และแอบชื่นชมความตามเทรนด์ของผู้ขายของเหล่านี้มาก ๆ ว่าอะไรทำให้เขาคิดว่าจะถูกใจคนตาย จนได้มาเขียนคอลัมน์นี้
ร้านแรกที่ไป ร้าน A (นามสมมติ จริง ๆ ขอถ่ายรูปแล้ว ขอชื่อแล้ว เขาไม่ให้ เหตุผลคือไม่ได้เพิ่มยอดขายขึ้นเท่าไหร่ ไม่ต้องค่ะ ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปก็จะไม่ได้ซื้อ มาถ่ายอย่างเดียว เขาไม่ให้)
ร้านนี้อยู่ติดถนนเจริญกรุง ฉันเดินเข้าไปดูในร้าน เขาแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ เมื่อเดินไปประเภทสินค้าม็อกอัปกระดาษ มีสินค้าในชีวิตประจำวันเวอร์ชันอัปเดตเยอะมาก ทั้ง iPhone พาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน เครื่องชงกาแฟ โซฟา ทีวี ตู้เย็น เครื่องเพชร นาฬิกา Patek Philippe รองเท้า New Balance 990 ฯลฯ ที่เป็นเทรนด์ตอนนี้
ถือว่าเป็นการพัฒนาอัปเดตตลอดเวลา จากที่สมัยก่อนจะเป็นพวกเครื่องเล่นซีดี นาฬิกาโรเล็กซ์แบบเรือนทองฝังเพชร จนฉันอยากรู้เพิ่มเติม เลยตะโกนเรียกเจ๊คนขาย เจ๊ตะโกนถามกลับมา “ที่บ้านใครตาย ไหว้ใคร พ่อแม่ตายหรือเปล่า…”
“พ่อแม่ยังไม่ตายค่ะ” ฉันตอบ “อยากถามข้อมูลเฉย ๆ ได้ไหม อยู่แถวนี้เหมือนกัน” นี่คือบทสนทนาธรรมดานะคะ ไม่ได้ชวนทะเลาะแต่อย่างใด


“ไม่ได้ ไม่รู้เลย” เจ๊ตอบในขณะที่มีลูกค้าคนอื่นในร้านแบบมีพิรุธมาก (เหมือนเจ๊พะยูนใน หอแต๋วแตก)
ฉันแอบไม่เชื่อ แต่เจ๊แกยังดีที่โบ้ยให้ถามคนอื่นที่เจ๊คิดว่าเขารู้ “ไปถาม เจ๊ บ. (นามสมมติ) ร้าน พ.ร.พาณิช (นามสมมติ) อีรู้ดี ถ้าแกไม่บอก บอก เจ๊ A บอกว่าอีรู้”
นับถือเจ๊ A ในการเอาตัวรอด และการคิดหาวิธีช่วยเหลือด้วยการโบ้ย
เดินไปไม่เกิน 20 ก้าวก็ถึงร้านเจ๊ บ. เพราะอยู่ในเทือกตึกแถวเดียวกัน
เจ๊ บ. ยังคงไม่ให้บอกชื่อและห้ามถ่ายรูปแกเหมือนเดิม แต่ความดีงามคือแกยินดีให้ข้อมูลว่าใครออกแบบของไหว้เหล่านี้
แกบอกว่าบอกเป็นชื่อไม่ได้ แต่ว่าอะไรที่เป็นของฮิต จะสั่งให้โรงพิมพ์ทำมาให้ ถ้าเป็นของเฉพาะอย่างยาสีฟัน แปรงสีฟัน (ความรู้ใหม่ คือถ้าในพิธีกงเต๊ก ต้องมีห้องน้ำและแปรงสีฟัน เพราะในสมัยก่อนคือของสวยงาม หรูหรา) คนซื้อบางทีจะเอารูปมาให้ แกบอกว่ามีเอาแปรงสีฟันไฟฟ้ามาด้วย ก็จะสั่งทำเป็นกระดาษให้ไป เมื่อมีคนเอาของมาให้ทำ แกก็จะทำออกมาขายด้วย เพราะอย่างน้อยรู้ว่ามีคนเริ่มสั่ง ก็คือมีคนอยากได้
แกยังไม่ได้บอกแบบตรง ๆ ข้อมูลแบบนี้ต้องคุยไปเรื่อย ๆ



แล้วแกก็คายความลับออกมาอีก เมื่อเฉไปคุยเรื่องไปเช็งเม้งที่ไหน ของแกคือที่ชลบุรี ดินแดนยอดฮิตของสุสานจีน
แกว่าถ้าเป็นของนำเข้า จะมาเป็นแค็ตตาล็อกให้สั่งจากจีน ไต้หวัน หรือเวียดนาม ของที่มาก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นของอินเทรนด์เหมือนกัน
เจ๊แกบอกว่าคนตายจากไป คนที่ยังอยู่ย่อมอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ ฉะนั้น ของไหว้จึงเป็นสิ่งที่คนรวยในตอนนี้มีแบบอัปเดตที่สุดเสมอ
ไอเดียในการทำของไหว้ คือเปิดแค็ตตาล็อกของห้างใหญ่ ๆ ดูว่าตอนนี้ขายอะไรกัน คนเป็นใช้อะไร คนตายก็ใช้แบบนั้น แต่ไม่ได้เป็นยี่ห้อนั้น ๆ โดยตรง เพราะน่าจะผิดลิขสิทธิ์
วิธีเลี่ยงคือใส่เป็นยี่ห้อที่ล้อไปกับโลกหน้า เช่น ตั๋วเครื่องบินจากสายการบิน Paradise Airline บัตรเครดิตจาก Hades Bank เป็นต้น
เราเช็กความฮิตของโลกเราตอนนี้ได้จากสินค้าในโลกวิญญาณ
และการมาดูของแบบนี้ทำให้การจากไปของคนตายไม่ได้ไกลตัวมากเกินไปนัก
ธรรมเนียมนี้คลายความคิดถึงได้มาก เพราะญาติเรายังใช้ของตามเทรนด์โลกมนุษย์อยู่เลย ยังนั่งเครื่องบิน รูดบัตรเครดิต ดูนาฬิกาข้อมือ ต้มกาแฟแก้ง่วง (ตายแล้วก็ง่วงได้) ทาครีมบำรุงผิว (แปลว่าตายแล้วไม่ใช่ตัวใสมองทะลุ แต่มีผิวที่ต้องบำรุง)
ทั้งหมดนี้ผู้ตายจะไม่ได้รับ ถ้าไม่มีใบผ่านทาง หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ

ความแตกต่างระหว่างการไหว้บรรพบุรุษกับไหว้เจ้า คือกระดาษเงินกระดาษทอง ไหว้ร่วมกันได้ เพียงแต่ไหว้เจ้าต้องพับ ไหว้คนตายไม่ต้องพับ ส่วนของใช้ต่าง ๆ จะใช้ไหว้คนตายเท่านั้น
ฉันคาดว่าสินค้าที่ใช้ประกอบพิธีความเชื่อเหล่านี้น่าจะขายได้น้อยลง ตามสภาพสังคมที่คนไม่เคร่งครัดกับพิธีกรรมเหมือนเดิม แต่เจ๊ บ. บอกว่าตรงกันข้าม เพราะตอนนี้คนนิยมไหว้ใหญ่โตมากขึ้น ใช้ของอลังการขึ้น ลามไปถึงคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนด้วย เพราะเชื่อว่าการดูแลบรรพบุรุษให้ดีจะทำให้ลูกหลานร่ำรวยไปด้วย ยิ่งซื้อของที่อลังการ ลูกหลานยิ่งร่ำรวย (ถ้าเป็นความจริง)
ที่สำคัญ ของไหว้แบบนี้ คนซื้อมักไม่ต่อราคา และคนขาย (ที่ดี) จะไม่โก่งราคามาก คนซื้อมักจะถามราคาร้านแรกแล้วซื้อเลยโดยไม่ต่อราคา เพื่อแสดงถึงความใจใจ และความรักให้กับผู้ตาย คนซื้อสบายใจ คนขายยิ่งสบายใจ เพราะไม่ต่อราคา แต่เดี๋ยวนี้บางคนก็ต่อราคาบ้างตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ยังถือว่าน้อยอยู่
ฉันถามเจ๊ บ. ว่า บ้านแกไหว้ใหญ่โตหรือไม่ เจ๊แกบอกว่า “อี้ซือ อี้ซือ” (ภาษาจีน แปลว่า พอประมาณ) เน้นไหว้อาหารเยอะ ๆ มากกว่า เพราะที่บ้านชอบกิน ไม่ได้เผาเยอะ


ฉันแอบคิดว่าถ้าเจ๊แกไหว้ของพวกนี้เยอะ เท่ากับเผาของซื้อของขายตัวเอง บรรพบุรุษแกที่ค้าขายของแบบนี้เหมือนกันน่าจะไม่ชอบ ถ้าลูกหลานกำไรน้อยลง
แต่ไม่ว่าอย่างไร ตราบใดความเชื่อที่ว่า ‘ยิ่งไหว้ ยิ่งได้’ ยังอยู่ ของไหว้แบบนี้น่าจะยังคงอยู่ และตามเทรนด์แบบนี้ไปอีกนานค่ะ
ส่วนฉันเองชอบดูชอบสังเกตสินค้าชนิดนี้ แต่ยังไม่อยากได้ค่ะ เพราะยังยินดีกับการอยู่ในโลกมนุษย์อยู่ แต่ก็ทำให้ความตายน่ากลัวน้อยลง เพราะถ้าฉันตาย ฉันว่าฉันคือเศรษฐินีเลยทีเดียวถ้าดูจากของไหว้ที่จะได้รับ
ไปละ บาย
