คนไทยกินอาหารเป็นยามาแต่ไหนแต่ไร ทั้งสมุนไพรและวัตถุดิบในสำรับอาหารไทยล้วนเป็นคุณต่อสุขภาพทั้งสิ้น แน่นอนว่าอาหารหลักอย่าง ‘ข้าว’ เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยข้าวไทยหลายชนิดไม่เพียงให้พลังงานกับร่างกาย แต่ยังให้สารอาหารสูงในระดับที่เรียกว่า ‘อาหารสุขภาพ’ ได้เต็มปาก
‘ข้าวมะลินิลสุรินทร์’ ก็นับเป็นหนึ่งในข้าวพื้นเมืองที่มีสารอาหารโดดเด่น ยิ่งเมื่อมันถูกปลูกและแปรรูปอย่างพิถีพิถัน จากข้าวสีเข้มก็กลายเป็นสารสกัดที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงความจำ ทั้งยังลดความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่ามีคุณสมบัติไม่น้อยหน้าซูเปอร์ฟู้ดนำเข้าราคาแพงในท้องตลาด
และหนึ่งในคนที่ทำให้ข้าวมะลินิลสุรินทร์มีคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ก็คือ อาจารย์นันทวัตธ์ ไชยมงคล ผู้ร่วมก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ผู้เกริ่นเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟังอย่างเห็นภาพ
“ข้าวไทยมีจุดแข็งอยู่เยอะ เพียงแต่ต้องผลิตอย่างประณีตและยั่งยืน จึงจะดึงจุดแข็งขึ้นมาเป็นจุดขายได้” เขาขยายความต่อไปว่า การค้นพบความพิเศษของข้าวมะลินิลสุรินทร์นั้นเกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่การพัฒนาข้าวชนิดนี้ให้ตอบโจทย์ตลาดในระยะยาวต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจนานร่วมทศวรรษ
“จริง ๆ ตัวผมไม่ใช่ชาวนาแต่กำเนิด แต่เรียนมาทางด้านเกษตร ประกอบกับมาเป็นเขยลำปาง มีโอกาสลงมือทำเกษตรด้วยตัวเอง ทำให้ได้รู้ว่าข้าวไทยมีหลากหลายพันธุ์มาก ครั้งหนึ่งผมนำข้าวในแปลงไปประกวดชิมข้าวที่กรุงเทพฯ แล้วไปเจอคู่แข่งอย่างข้าวมะลินิลสุรินทร์ซึ่งพิเศษมาก ๆ คือ สีสวย หอมอร่อย จึงลองขอซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์มาทดลองปลูกที่ลำปาง จากปลูกกินในครอบครัว ก็เริ่มแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้คนในชุมชน แล้วก็เริ่มศึกษาถึงข้อดีของมันมาเรื่อย ๆ” เขาย้อนให้เราฟังถึงวันแรก ๆ ที่ทำความรู้จักกับข้าวสีนิลจากแดนช้าง ก่อนจะกลายมาเป็นพระเอกในท้องนาลำปางจนถึงทุกวันนี้
อาจารย์นันทวัตธ์ทดลองปลูกข้าวมะลินิลสุรินทร์ผสมกับพืชอาหารอีกหลายชนิด ในวิถีของเกษตรอินทรีย์อยู่นานนับปี พร้อมกับเดินทางทำงานเชิงความคิดกับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง สื่อสารให้เห็นถึงข้อดีของระบบเกษตรปลอดสารเคมีที่เขามั่นใจว่า คือทางออกของปัญหาหลายอย่างที่ภาคเกษตรกำลังเผชิญ ทั้งเรื่องหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ หรือความมั่นคงด้านอาหาร ที่ดูเหมือนจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ แม้ลำปางจะเป็นเมืองเกษตรกรรมมาหลายชั่วอายุคน
“การจะเข้าไปคุยกับเกษตรกรให้เขาเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ เราต้องสร้างแรงจูงใจ เช่น สื่อสารให้เห็นภาพว่า ในระยะยาวการไม่ใช้สารเคมีทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงนะ เพราะดินไม่เสีย จึงไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง และการปลูกพืชหลากหลายในแปลงก็ช่วยลดค่ากับข้าวได้มาก ที่สำคัญ ต้องสร้างความมั่นใจว่า ถ้าเขาเปลี่ยนมาทางนี้แล้วจะมีตลาดรองรับ รายได้ไม่ลดลง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่แบกรับความเสี่ยงไม่ได้ เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราตรงจุดนี้ด้วย” เขาอธิบายด้วยน้ำเสียงใจเย็น
หลังรวมกลุ่มเกษตรกรผู้พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ 19 ครัวเรือน ใน พ.ศ. 2558 อาจารย์นันทวัตธ์จึงตัดสินใจก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างขึ้น และเดินหน้าขอมาตรฐานการรับรองการผลิตทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agriculture Practices (GAP) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาด
โดยในระยะนี้สมาชิกในกลุ่มเลือกปลูกข้าวมะลินิลสุรินทร์และข้าวหอมมะลิแดงเป็นหลัก และเริ่มหาทางยกระดับคุณภาพข้าวของกลุ่มอย่างจริงจัง กระทั่งเกิดความร่วมมือพัฒนาระหว่างเกษตรกรกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นใน พ.ศ. 2560 ซึ่งพัฒนาต่อยอดร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน
“มันเป็นจังหวะพอเหมาะพอดีที่กลุ่มเราได้เจอกับคนที่คิดคล้าย ๆ กัน ได้เจอทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมหิดลที่ช่วยนำข้าวมะลินิลสุรินทร์ไปทดลองสกัดตรวจสารอาหาร และพบว่ามีสารชื่อ ‘แอนโทไซยานิน’ สูงมาก ซึ่งสารนี้มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
“ต่อมาจึงได้รับการสนับสนุนให้กลุ่มของเราเขียนขอทุนพัฒนาจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จนได้เงินทุนมาก้อนหนึ่ง มาทำห้องแล็บพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เราก็ได้พบกับ ‘ศาลานา’ แบรนด์ข้าวที่ต้องการรับซื้อข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปในราคาเป็นธรรม เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะการเข้ามาของศาลานาทำให้เกษตรกรมั่นใจว่า เขาจะมีรายได้ชัดเจนและต่อเนื่อง” เกษตรกรและนักพัฒนาข้าวอินทรีย์ย้ำอีกครั้งว่า การพัฒนาคุณภาพข้าวและพัฒนามิติการตลาดนั้นต้องเกิดขึ้นควบคู่กัน ขาดขาใดขาหนึ่งไปไม่ได้
หลังทุ่มเททำงานหนักมาร่วมสิบปี ปัจจุบันกลุ่มข้าวทิพย์ช้างมีผืนนาอินทรีย์ร่วมกันทั้งหมด 304 ไร่ แต่จำนวนนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบัน ผู้ร่วมพัฒนาและผู้รับซื้อหลักอย่างศาลานา วิสาหกิจเพื่อสังคม ปักหมุดสร้างความมั่นใจว่า ต้องการรับซื้อสารสกัดจากข้าวมะลินิลสุรินทร์จากเกษตรกรเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ทุก ๆ ปี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในชาข้าวกล้องแอนโทพลัส ชาไร้คาเฟอีนจากข้าวอินทรีย์ผสมสารสกัดแอนโทไซยานิน
นับเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้กลุ่มข้าวทิพย์ช้างเร่งก้าวให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงการพัฒนาอย่างอาจารย์นันทวัตธ์เอง ก็มองเห็นโอกาสในข้อจำกัดนี้อย่างน่าสนใจ
“ถ้ามองกันที่สัดส่วน ข้าวมะลินิลสุรินทร์ 1 ตัน สกัดสารแอนโทไซยานินได้ 7 กิโลกรัม ดังนั้น ที่นา 300 กว่าไร่จึงไม่ถือว่ามากมาย (หัวเราะ) ยิ่งลำปางมีที่นาส่วนใหญ่อยู่บนไหล่เขา ไม่ใช่นาที่ราบแบบภาคอีสานหรือภาคกลาง และต้องอาศัยน้ำฝนเลี้ยงต้นข้าวเท่านั้น ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกข้าวทำได้อย่างช้า ๆ
“ในแง่การค้าอาจดูเป็นจุดอ่อน แต่ในอีกแง่ การมีพื้นที่จำกัดทำให้เกษตรกรดูแลแปลงได้ทั่วถึง โดยเฉพาะการบริหารจัดการแปลงก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่สมาชิกตั้งใจไถกลบถึง 4 รอบ เพื่อทำให้ตอซังในนาข้าวย่อยสลายมากที่สุด ก่อนเริ่มฤดูการเพาะปลูก ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวลงได้มหาศาล” เขาขยายความพร้อมย้ำว่า การผลิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมของนาข้าวนั้นส่งผลต่อกลิ่นรสของข้าวโดยตรง เมล็ดข้าวจะอร่อยและมีสารอาหารสมบูรณ์หรือไม่ คุณภาพของดิน น้ำ และอากาศที่ต้องตรงตามฤดูกาล มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งสิ้น
“น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือที่ผ่านมาเป็นหลักฐานว่า เรากำลังเจอกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ และภาคเกษตรได้รับผลกระทบหนักเป็นส่วนแรก ๆ ปีนี้นาข้าวของเกษตรกรในกลุ่มข้าวทิพย์ช้างเองจมน้ำเป็นร้อยไร่ ฉะนั้น ถ้าไม่เริ่มปรับตัวกันทั้งห่วงโซ่การผลิตข้าว ผมมองว่าอนาคตน่าจะเกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ” เกษตรกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนกล่าวทิ้งท้าย ก่อนย้ำถึงโจทย์อันท้าทายที่วงการข้าวไทยต้องร่วมกันก้าวผ่าน
“การส่งเสริมให้ชาวนาผลิตข้าวให้ได้มาก ๆ แล้วไปแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่น อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยอีกแล้ว เพราะอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ว่า การเร่งผลิตโดยใช้สารเคมีนั้นกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง สุดท้ายผลผลิตข้าวจึงลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ” เขาย้ำเต็มเสียง
“ทางออกของวงจรปัญหาน่าจะเริ่มจากที่เกษตรกรต้องกลับมาค้นหาจุดเด่นของข้าวของตัวเองให้เจอ และผลิตมันออกมาอย่างประณีต อย่างใส่ใจคนกิน ประกอบกับแสวงหาตลาดไปพร้อม ๆ กัน เพราะผมมั่นใจว่า ตลาดข้าวคุณภาพสูงกำลังเติบโต และมีโอกาสเติบโตอีกมากทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญเราต้องทำให้ทั้งคนปลูกข้าว คนขายข้าว และคนกินข้าวเป็นภาพตรงกัน คือเห็นว่าแท้จริงแล้วเรื่องข้าวเชื่อมโยงกับชีวิตของเราทุกคน เราจึงต้องร่วมมือกันพัฒนาวงการข้าว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนไปพร้อม ๆ กัน”
Facebook : วิสาหกิจชุมชน กลุ่มข้าวทิพย์ช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง