เมื่อปี 2012 คนไทยได้รู้จักและติดหนับกับ The Voice Thailand รายการประกวดร้องเพลงที่แหวกวงล้อมรายการประกวดและเกมโชว์ที่มีอยู่แล้วมากมายในวงการโทรทัศน์ไทย
เพียงซีซั่นแรก The Voice Thailand ก็ดังเป็นพลุแตก ทำให้ 6 โมงเย็นวันอาทิตย์กลายมาเป็นเวลาที่หลายครอบครัวมานั่งดูทีวีร่วมกัน สร้างปรากฏการณ์ให้วงการโทรทัศน์ไทยที่เคยมีแต่เวลาหลังข่าวเป็นไพรม์ไทม์ (เวลาที่คนดูโทรทัศน์มากที่สุดและเป็นเวลาที่ผู้ลงโฆษณาเชื่อมั่นมากที่สุด – ผู้เขียน)
The Voice Thailand สร้างศิลปินนามสกุล The Voice ออกมาในตลาดมากมาย รวมไปถึงโค้ชทั้ง 4 ที่กลายเป็นพระเอก-นางเอกของรายการที่ตรึงคนดูเอาไว้กับโซฟาที่บ้าน เป็นอรรถรสของวันพักผ่อนที่กลมกล่อมและอบอุ่น
ความสำเร็จนี้ ทำให้ The Voice Thailand มีซีซั่นใหม่รายปี แล้วก็ยังมี Sub Brand เป็น The Voice Kids และ The Voice Senior ออกมาเพื่อขยายฐานคนดูซึ่งก็ได้รับความนิยมไปไม่แพ้กัน
วันเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของ The Voice คือซีซั่น 3 เป็นซีซั่นที่เรตติ้งพุ่งทะยานไปถึง 12 เป็นเรตติ้งที่สูงที่สุดของ The Voice Thailand สูงพอ ๆ กับเรตติ้งละครหลังข่าวตอนอวสาน
มีแบรนด์สินค้าหลายแบรนด์ยอมควักเงินสูงถึง 20 ล้านบาทเพื่อเข้าร่วมสนับสนุนรายการ และก็ยังมีผู้สนใจยอมต่อแถวยาวเหยียด เพื่อเข้าร่วมการออดิชั่นทั่วประเทศจนกลายเป็นกระแสในทุกที่ที่ทีม The Voice ไป
หากแต่คืนวันดี ๆ ไม่อาจคงอยู่ตลอดไปได้
กระแสความดังของ The Voice ค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลาตั้งแต่ซีซั่นที่ 4
ซีซั่น 7 The Voice ย้ายบ้านจากช่อง 3 ไปที่ PPTV HD 36 และหยุดผลิตไปหลังจากจบซีซั่นที่ 8
ปี 2022 นี้ The Voice Thailand กลับมาใหม่ในรูปแบบ The Voice All Stars ทางช่อง one31
การกลับมาทวงบัลลังก์ 6 โมงเย็นวันอาทิตย์รอบนี้ถูกตั้งคำถามด้วยความห่วงใยจากหลาย ๆ คน กลัวว่าจะเป็นการหาทำ เพราะเป็นที่รู้กันว่าฉากทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ถูกกระจายไปในหลายสื่อมากขึ้น แล้วก็ยังเป็นเม็ดเงินที่น้อยลงด้วย จากพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้าทั้งสถานการณ์โลก และโรคระบาด เรียกได้ว่าไม่ใช่ยุคที่น่าดึงดูดใจให้กลับมาทำรายการทีวีที่ต้องลงทุนสูงแบบนี้นัก
แต่กระแสและการตอบรับที่เราได้เห็นในรอบ Blind Audition ที่ผ่านมาจนถึงรอบ Battle ที่เพิ่งผ่านไป ก็ทำให้เห็นว่ามนต์เสน่ห์ของ The Voice ยังมีอยู่ แม้เรตติ้งและสปอนเซอร์จะไม่ครึกครื้นเหมือนซีซั่นแรก ๆ แต่ก็เป็นรายการที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น มิตรภาพ และความรู้สึกขอบคุณของผู้เข้าแข่งขันและโค้ชที่เวียนกลับมาร่วมรายการกันอีกครั้ง
The Cloud ถือโอกาสนี้ ชวน โอ๋-พัฒนี จรียะธนา Executive Producer และผู้ถือลิขสิทธิ์ The Voice Thailand ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ มาเล่าให้เราฟังถึงการเดินทางตั้งแต่วันเริ่มต้น วันที่พุ่ง วันที่แผ่ว และวันที่ตัดสินใจกลับมาทำใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางการผันผวนของวงการสื่อที่กระทบไปทุกภาคส่วน
นอกจาก โอ๋ พัฒนี หรือที่ทีมงานเรียกว่า ‘พี่โอ๋เล็ก’ แล้ว ยังมี โอ๋-อาจกิจ สุนทรวัฒน์ หรือ ‘พี่โอ๋ใหญ่’ ผู้ไม่สะดวกมาร่วมกับเราในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งกุนซือผู้เสนอไอเดียการซื้อลิขสิทธ์จากบริษัทแม่ในเนเธอร์แลนด์มาทำในประเทศไทยหลังจากได้ดูการออกอากาศที่สหรัฐอเมริกา และก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายกลยุทธ์ด้านการผลิตรายการ เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของมาตลอด 8 ซีซั่นอีกคนที่จะเราจะลืมไม่ได้
รายการประกวดร้องเพลงที่ไม่เหมือนใคร
รูปแบบรายการที่คัดเลือกผู้เข้ารอบจากเสียงเพียงอย่างเดียว มีโค้ชที่เป็นตัวจริงในแนวเพลงต่าง ๆ และกติกาที่ทำให้ลุ้นทุกนาที จะการันตีความสนุกอยู่แล้ว
แต่การหากลยุทธ์เข้ามาเสริมเพื่อให้เข้ากับตลาดผู้ชมประเทศไทยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายการใหม่เอี่ยมอ่อง ในช่วงเวลาที่ไม่เคยเป็นที่นิยมมาก่อนประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่ซีซั่นแรก
“กระดุมเม็ดแรกที่เราติดถูกคือการเลือกโค้ช” โอ๋เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น
“เราเลือกโค้ชโดยอ้างอิงคาแรกเตอร์โค้ชใน The Voice USA ที่ต้องมีแรปเปอร์ ดีว่า ร็อก และนักร้องเพลงป๊อปรุ่นใหม่ ซึ่ง โจอี้บอย, เจนนิเฟอร์ คิ้ม, ก้อง สหรัถ, และ แสตมป์ อภิวัชร์ เป็นศิลปินที่เหมาะกับหน้าที่นี้มาก ทั้งในแง่ความเป็นตัวจริงด้านการร้องเพลง ความสนุกที่จะช่วยสร้างสีสันให้รายการ และความเป็นที่รู้จักในระดับที่เหมาะกับรายการทีวี”
กระดุมเม็ดต่อมาที่ทำให้ The Voice Thailand แตกต่างจากรายการประกวดร้องเพลงรายการอื่นคือการทุ่มทุนด้านการผลิต
โอ๋บอกว่า “เราไม่ได้ทำ The Voice เหมือนรายการทีวีปกติ แต่เราทำคอนเสิร์ตในรายการทีวี”
ด้วยความเป็นคนในวงการดนตรีมายาวนาน และมีประสบการณ์ในสายการพัฒนาศิลปิน ทำให้โอ๋จัดเต็มกับการทำโชว์ให้ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน เพื่อให้ไม่ว่าโค้ชจะกดหันเก้าอี้มาหรือไม่ โชว์ในวันนั้นจะต้องเป็นโชว์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้เข้าแข่งขันและผู้ชม
“ไม่รู้ว่าจะเชื่อกันไหม รายการเราไม่มีการเซ็ตหรือล็อกว่าโค้ชจะต้องกดหรือไม่กดให้ใคร ทุกอย่างเป็นไปตามความจริง เพราะเราเชื่อว่าการเช็ตจะทำให้รายการสนุกอยู่ได้ไม่นาน แล้วเราใช้งานโปรดักชันเข้ามาช่วย
“ทุกโชว์ตั้งแต่รอบ Blind Audition จะมีการออกแบบเวที เลือกเพลง เรียบเรียง วางกิมมิก เอฟเฟกต์ มุมกล้อง เหมือนกับผู้เข้าแข่งขันทุกคนเป็นศิลปินที่เราจัดคอนเสิร์ตให้”
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายการเป็นที่รักของคนดู โอ๋เชื่อว่าเป็นเพราะทีมงานที่เปรียบประหนึ่งทีม Avengers ที่รวมตัวกันมาจากหลากหลายวงการ
“ทีมงานที่เราชวนมาทำไม่ใช่การตั้งงบแล้วหาบริษัทใดบริษัทหนึ่งมาเหมาไป แต่เราไปชวนคนที่เป็นตัวจริงในแต่ละวงการมาทำด้วยกัน แล้วก็มีบางตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นมาจากการรายการทีวีปกติ ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกไดเรกเตอร์ โชว์ไดเรกเตอร์ มีหน้าที่ทำเรื่องเพลงและการแสดงโดยเฉพาะ เสริมจากผู้กำกับที่ดูภาพรวมของรายการ ทีมเวที ทีมฉาก ซึ่งเป็นทีมที่ทำคอนเสิร์ตมาก่อน ทีมกล้องที่มี 13 ตัวเพื่อความละเอียดในการจับเหตุการณ์ อารมณ์ และบรรยากาศ รวมทั้งทีมคัดเลือกผู้เข้าประกวดซึ่งใช้งบประมาณไปเยอะมาก”
เราอดถามไม่ได้ว่าต้นทุนการผลิตอยู่ที่ซีซั่นละเท่าไหร่
“ซีซั่นแรก ๆ ต้นทุนประมาณ 150 ล้าน” โอ๋กล่าว
วงจรที่แยกไม่ขาดของคุณภาพ เรตติ้ง และเงินโฆษณา
ต้นทุนที่สูงทำให้ได้รายการที่มีคุณภาพโดดเด่นกว่ารายการอื่นในตลาด
แต่ช่วงเวลาและช่องที่ออกอากาศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำคุณภาพนั้นให้ไปถึงสายตาผู้ชม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ชิ้นเด็ดอีกชิ้นที่ทำให้ The Voice Thailand เข้าตาผู้ชมตั้งแต่ซีซั่นแรก
เวลา 6 โมงเย็น วันอาทิตย์ ทางช่อง 3 เป็นการวางแผนที่ถูกต้องเป๊ะ เพราะเป็นเวลาครอบครัวที่สถานีโทรทัศน์อื่นไม่ได้เอารายการสไตล์วาไรตี้ซึ่งดูได้ทุกวัยแบบนี้มาลง ทำให้มีคู่แข่งไม่มาก
และช่อง 3 ก็ได้รับความนิยมในหมู่คนเมืองซึ่งเข้ากันได้ดีกับรูปแบบรายการที่มาจากต่างประเทศแบบนี้
The Voice จึงเรียกเรตติ้งมาประดับรายการได้อย่างสวยงาม อันนำไปสู่การถาโถมของเงินจากสปอนเซอร์
แต่ความไก่กับไข่ก็คือ กว่าสปอนเซอร์จะควักเงินก็หลังจากมั่นใจกับเรตติ้งที่รายการได้รับมา ซึ่งก็เป็นผลมาจากเงินลงทุนที่จะได้มาเพื่อคุณภาพ
โอ๋จึงต้องเลือกยอมขาดทุนในซีซั่นแรก เพื่อแลกกับคุณภาพที่จะสร้างทั้งเรตติ้งและความมั่นใจ
“เราลงทุนเต็มที่ตั้งแต่การออดิชัน ซึ่งใช้งบประมาณเยอะมากกับการหาทีมที่เชี่ยวชาญด้านการหาศิลปิน 7 – 8 ทีม ไปลงพื้นที่ทั่วประเทศ ชวนให้คนมาออดิชันด้วยรถแห่ จนมาถึงการออกแบบโชว์ที่ถึงขั้นสร้างฝนตกในสตูดิโอเพื่อให้โชว์ได้อรรถรสสูงสุด”
ผลก็คือ The Voice ดังเป็นพลุแตก และกลายมาเป็นรายการที่นักวางแผนสื่ออยากช่วงชิงมาใส่ไว้ในแผนเพื่อขายลูกค้ามากที่สุดอย่างแทบไม่เกี่ยงราคาในซีซั่นถัด ๆ มา
“ตอนนั้นเราขายสปอนเซอร์เจ้าละ 20 ล้าน ก็มีคนแย่งกันซื้อ” โอ๋เล่า
พอเงินมา บวกกับความสามารถของทีมงาน ซีซั่นที่ 3 ก็เป็นซีซั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ The Voice Thailand ทั้งเรื่องรายได้และเรตติ้ง
เรตติ้งที่สูงที่สุดของ The Voice คือช่วงซีซั่น 3 ที่เรตติ้งพุ่งไปแตะเลข 12 – 13
ถ้านึกไม่ออกว่ามันเยอะแค่ไหน เราขอเทียบกับคอนเทนต์ที่เป็นตำนานเรตติ้งของช่อง 3
ละคร บุพเพสันนิวาส ออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ เคยได้เรตติ้งสูงที่สุด 18.6
รายการ โหนกระแส ออกอากาศช่วงเที่ยง และกลายมาเป็นรายการที่สร้างช่วงเวลาเรตติ้งสูงใหม่ ๆ เหมือนกัน เคยได้เรตติ้งสูงที่สุด 2.98
พอรายการคุณภาพดี เรตติ้งก็มา เงินจากสปอนเซอร์ก็เพิ่มพูน แล้วก็วนกลับมาเป็นงบในการทำรายการที่คุณภาพดี ให้ได้เรตติ้งดี สปอนเซอร์เพิ่มเงิน วนลูปไปอย่างนี้จนยิ้มแก้มปริกันไปอย่างมีความสุข
หากแต่เส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ The Voice Thailand และวงการโทรทัศน์บ้านเราต้องมาเผชิญความท้าทายก้อนใหญ่ ในช่วงการเปลี่ยนการออกอากาศโทรทัศน์มาเป็นระบบดิจิทัล และการหยิบชิ้นปลามันในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปโดยสื่อออนไลน์
ยุคท้าทายของวงการทีวี
ตั้งแต่ปี 2014 – 2016 เป็นช่วงที่วงการโทรทัศน์ไทยปั่นป่วนที่สุดเท่าที่เคยมีมา
จากที่เคยมีฟรีทีวีให้ชมเพียง 5 ช่องมาหลายทศวรรษ ก็กลายมาเป็นฟรีทีวี 28 ช่อง ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตจะลำบากเพราะคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่ผู้ชมก็ลำบากเพราะต้องมีอุปกรณ์เสริมในการรับชมและช่องที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้บางบ้านถึงกับต้องจดเลขช่องโปรดแปะเอาไว้หน้าทีวี
ซ้ำเติมด้วยการรัฐประหารที่เข้ามาควบคุมการออกอากาศวิทยุ-โทรทัศน์ทุกช่องทาง
และปิดท้ายด้วยช่วงไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่มีการงดรายการปกติไปหลายช่วง
ในช่วงที่วงการโทรทัศน์เผชิญความยากลำบากนั้น อุปกรณ์ที่รองรับการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี ก็มีราคาถูกลงมาก แพลตฟอร์มออนไลน์เลยได้โอกาสเข้าถึงผู้คนมากขึ้น พร้อมนำเสนอเนื้อหาที่มีอิสระมากกว่า ผู้ชมทั้งหลายเลยปันใจไปหาช่องทางออนไลน์กันแบบกู่ไม่กลับ
ในช่วงปีนั้นคนในวงการโทรทัศน์ต่างรู้กันว่า หลังจากนี้วงการทีวีไทยจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว
หลังจาก ซีซั่น 4 ซึ่งเป็นช่วงปี 2015 ที่ช่อง Digital TV เริ่มมีรายการใหม่ ๆ ซึ่งเป็นวาไรตี้เหมือนกัน กลุ่มผู้ชมกลุ่มเดียวกัน และออกอากาศช่วงเวลาเดียวกันมาแย่งความนิยม เรตติ้งและกระแสของ The Voice Thailand ก็ตกลงเรื่อย ๆ
โอ๋ยอมรับว่าไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น แต่ด้วยการต้องเปลี่ยนโค้ช และรูปแบบรายการที่ไม่ได้มีอะไรใหม่แบบก้าวกระโดด การหาผู้เข้าแข่งขันที่จะทำให้คนดูตื่นเต้นได้เหมือนซีซั่นแรก ๆ ก็ยากขึ้น จึงทำให้ความนิยมไม่มากมายเหมือนเก่า พอเรตติ้งตก เงินโฆษณาก็ลดลง จนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
“ตอนซีซั่นที่ 7 ปี 2018 เราตัดสินใจลดต้นทุนด้วยการย้ายจากช่อง 3 ไป PPTV HD 36 เนื่องจากเขาเสนอจะร่วมลงทุนด้วย แต่เวลาที่ได้จะไม่ได้เป็นวันอาทิตย์ 6 โมงเย็นเหมือนเดิม เนื่องจากมีรายการกีฬาซึ่งเป็นรายการหลักออนแอร์ช่วงนั้นพอดี
“เวลาที่เราคิดว่าดีที่สุดตอนนั้นจึงเป็นตอน 2 ทุ่มวันจันทร์ แม้จะเป็นวันธรรมดาแต่ก็เป็นไพรม์ไทม์ และเป็นวันที่คนน่าจะอยู่บ้านมากที่สุด” โอ๋เล่าถึงการตัดสินใจที่จำเป็นต้องเลือกตัวเลือกที่แม้ไม่ดีที่สุด แต่ก็มีข้อเสียน้อยที่สุด
การเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลมากกว่าที่คิด เรตติ้งเฉลี่ยในซีซั่นที่ 7 ของ The Voice Thailand ลดลงไปอยู่ที่ 0.7 แม้จะเป็นเรตติ้งที่สูงสำหรับช่อง PPTV HD 36 แต่ก็เป็นตัววัดว่ารายการไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นตัวเลือกแข่งกับเนื้อหาช่วงไพรม์ไทม์ของช่องอื่น ๆ ได้
แต่โอ๋ก็บอกว่า “ยังโชคดีที่กลุ่มคนดูเป็นกลุ่มคนในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ย้ายไปดูสื่อออนไลน์ และยังตามดูเราในออนไลน์ เราก็เลยยังพอจะมีตัวเลขเอาไปคุยกับผู้ลงโฆษณาได้บ้าง”
“คนย้ายไปดูออนไลน์ ก็ไปทำรายการในออนไลน์อย่างเดียวสิ”
แม้เรตติ้งทางทีวีจะลด แต่ยอดวิวใน YouTube ของ The Voice Thailand กลับสูงมากถึง 400 – 500 ล้านวิวต่อซีซั่น หลายคนจึงสงสัยว่าในเมื่อกลุ่มคนดูย้ายไปดูในออนไลน์แล้ว ทำไมถึงไม่ไปทำเป็นรายการออนไลน์เสียเลย
เรื่องนี้โอ๋อธิบายว่า “เงินโฆษณาที่ได้จากออนไลน์มันน้อยมาก ไม่พอจะเอามาผลิตรายการในรูปแบบนี้ ทั้งค่าลิขสิทธ์ ค่าผลิต ค่าทีมงาน แม้ในซีซั่นหลัง ๆ เราจะพยายามลดต้นทุนด้านต่าง ๆ ก็ยังต้องมีไม่น้อยกว่า 90 ล้านอยู่ดี”
โอ๋เล่าว่าในขณะที่มีผู้ยินดีสนับสนุนรายการทางทีวี 20 ล้านบาท แต่ในออนไลน์ผู้ลงโฆษณายินดีจ่ายเพียง 2 – 3 แสนบาทเท่านั้น (เนื่องจากระดับราคาของสื่อออนไลน์ถูกกว่าทีวีมาก และมีตัวเลือกในการลงโฆษณาเพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายเดียวกันเยอะมาก – ผู้เขียน) แม้จะรับได้หลายเจ้ามากขึ้น แต่ใน 1 ซีซั่นค่าโฆษณาทางออนไลน์ก็รวบรวมมาได้ไม่ถึง 10 ล้าน
หลังจากจบซีซั่น 8 ในปี 2019 โอ๋ตัดสินใจเลิกทำด้วยทั้งปัจจัยด้านความนิยม และข้อจำกัดด้านการถ่ายทำในช่วงโควิด-19 ทำให้รายการห่างหายไป 2 ปี
โอ๋บอกว่า “คิดว่าเลิกแล้วแน่ ๆ ถึงขนาดกำจัดอุปกรณ์ พร็อพ สัญลักษณ์รายการไปหลายอย่างแล้ว เหลือแต่เก้าอี้โค้ชที่ยังเก็บไว้”
การกลับมาในเวลาที่ใช่
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา The Voice Thailand ก็ได้กลับสู่หน้าจอโทรทัศน์อีกครั้ง
การกลับมาของรอบนี้ เกิดจากการกระตุกต่อมความรักความคิดถึงรายการที่ปลุกปั้นมากับมือ
โอ๋เล่าว่า บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง one31 เป็นผู้ชวนให้กลับมาทำรายการด้วยการให้สิ่งที่อยากได้มากที่สุด
“เขาบอกว่า ผมมีเวลา 6 โมงเย็นวันอาทิตย์ให้ได้นะ” โอ๋เล่าถึงประโยคที่ทำให้ตั้งใจกลับมาสู้อีกสักตั้ง
“คิดว่ามันเป็นโอกาสที่จะปล่อยไปไม่ได้ เราได้เวลาที่มั่นใจที่สุดกลับมา มันเป็นเวลาของเรา ประกอบกับ The Voice ปล่อยรูปแบบใหม่เป็นการเอาผู้เข้าร่วมแข่งขันจากซีซั่นก่อน ๆ มารวมกันแข่งใหม่เป็น The Voice All Stars ซึ่งเหมาะกับการกลับมาทำใหม่รอบนี้มาก”
การทำ The Voice ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ มีหลายกลยุทธ์ที่โอ๋และทีมงานต้องปรับตาม
สิ่งแรกคือ ต้องลดต้นทุน
“The Voice All Stars นี่เราลดต้นทุนจากทุกส่วน ตั้งแต่การลดขอบเขตลิขสิทธ์เพื่อให้เจ้าของลิขสิทธ์ลดราคาให้ ลดต้นทุนเรื่องโปรดักชัน โชคดีที่ค่าอุปกรณ์และเทคโนโลยียุคนี้ถูกลงมาก ทีมงานหลายคนก็ยอมรับค่าตัวในราคาเป็นมิตร เพราะเขาอยากกลับมาทำรายการด้วยกันอีกครั้ง” โอ๋เล่า
“แต่รวม ๆ แล้วก็ยังเป็นต้นทุนการทำรายการทีวีที่สูงมาก คือ 50 ล้านบาท”
การกลับมาทำ The Voice ครั้งนี้ โอ๋ทำในนามบริษัท Exit365 ซึ่งเธอเป็นเจ้าของเอง และหาทุนด้วยการหานายทุนมาร่วมลงทุน ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับรายการที่คนจำไปแล้วว่าเป็นรายการที่ ‘เคยดัง’
“ตอนแรกมีคนตกลงร่วมทุนแล้ว คุณบอยก็แถลงข่าวแล้วว่าจะมี The Voice ฉายทางช่อง one31 แต่นักลงทุนเจ้านั้นก็มาถอนตัวตอนนาทีสุดท้าย
“ตอนนั้นเครียดมาก ถึงกับเดินน้ำตาตก เพราะเราแบกต้นทุนคนเดียวไม่ไหว และเวลาก็งวดเข้ามาแล้ว จะต้องตัดสินใจว่าจะทำต่อหรือพอแค่นี้” โอ๋เล่าถึงความเครียดที่ทำให้เธอรู้ว่าการไหว้พระขอพรที่จำเป็นที่สุดคือการไหว้ขอให้มีสติ
“ตอนนั้นคิดว่า ถ้าเลิกปัญหามันก็จะหมดไปแหละ แต่ความน่าเชื่อถือทั้งหมดที่สะสมมาในชีวิตการทำงานก็คงจะเสียหาย ช่อง one31 จะหาอะไรมาออนแอร์แทนได้ในเวลากระชั้นแบบนี้ แล้วก็ยังมีผู้ชมที่รอคอยการกลับมาของ The Voice อีก เลยตัดสินใจเดินหน้าหานายทุนต่อ โชคดีที่ได้บริษัท PlanB เข้ามาร่วมลงทุน”
บริษัท PlanB เป็นบริษัทเจ้าของสื่อนอกบ้าน ซึ่งอยู่นอกเกมการแข่งขันสื่อออนแอร์ (โทรทัศน์) และ ออนไลน์ (อินเทอร์เน็ต) เพราะยังไงคนก็ยังคงใช้ชีวิตตามท้องถนนอยู่
การมีบริษัท PlanB มาร่วมหุ้นก็เป็นช่องทางใหม่ ๆ ให้ The Voice เข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่เป็นคนเมืองที่ทุกวันนี้ดูโทรทัศน์น้อยลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่โอ๋เลือกมาใช้ให้เข้ากับยุคสมัย
“ซีซั่นนี้เราคิดใหม่ทำใหม่กับการโปรโมตเยอะ ใช้ทั้งสื่อนอกบ้านและสื่อออนไลน์มาช่วย แล้วก็ทำเนื้อหาโปรโมตให้เข้ากับคนดูยุคนี้ ที่ไม่ชอบรอลุ้น แต่อยากรู้เลยว่าจะได้ดูอะไร เราก็หยิบเนื้อหาในรายการมาโปรโมต บอกเลยว่าใครจะมาให้เขาคอยรอดู”
ใครไถ TikTok แล้วเจอคอนเทนต์จาก The Voice All Stars Official แล้วหยุดดูทุกครั้งเหมือนเราบ้าง ยกมือขึ้น
All the Love for The Voice All Star
การรวมดาวชาว The Voice ในรอบนี้มีความหมายมากกว่าการกลับมาของรายการที่คนดูชื่นชอบ แต่ยังเป็นเหมือนงานคืนสู่เหย้าของผู้เข้าแข่งขัน ทีมงาน และโค้ช ที่แยกย้ายกับไปเติบโต
‘ที่ผ่านมาไปทำอะไรมาบ้าง’ เป็นหนึ่งในเนื้อหาที่รายการพยายามเล่าถึงผู้เข้าแข่งขันที่กลับมาร่วมงานกัน ทำให้รู้ว่านามสกุล The Voice สร้างฝันของหลายคนให้เป็นจริง ให้โอกาสหลายคนได้ลืมตาอ้าปาก และสร้างศิลปินมากความสามารถประดับวงการบันเทิงไทยมากมาย
ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดอาชีพศิลปินก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก การกลับมาของ The Voice All Stars ก็ถือว่าได้เห็นอีกหนึ่งช่องทางให้ศิษย์เก่าทั้งหลายกลับมาอยู่ในสปอตไลต์อีกครั้ง
“ทีมงานที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ซีซั่นแรกอย่างทีมมิวสิกไดเรกเตอร์ ที่ออกแบบโชว์และเพลงให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนตั้งแต่รอบออดิชัน ไปจนถึงคนส่งไมค์ให้ศิลปินก่อนขึ้นเวทีก็มาทำกับเราในซีซั่นนี้ด้วย เวลาได้เห็นพวกเขาได้กลับมาเจอกัน ทักทายกัน เรารู้สึกว่ามันเป็นความพิเศษของรายการที่ทำให้ทุกคนผูกพันกันแบบนี้” โอ๋เล่าบรรยากาศการถ่ายทำที่แม้จะเหนื่อยเพราะต้องถ่ายจำนวนมาก ๆ ในเวลาจำกัดเพื่อลดต้นทุน แต่ก็อบอวลไปด้วยความอบอุ่นจากทีมงานและผู้เข้าแข่งขัน
แล้วก็ยังบอกด้วยว่า “เรตติ้งก็ค่อย ๆ กลับมา เริ่มมีกระแสคนพูดถึง เริ่มมียอดผู้ชมในออนไลน์มากขึ้นเรื่อย กำลังใจก็กลับมา สปอนเซอร์ก็เริ่มมาสนับสนุน”
การแข่งขันที่รวมผู้ผ่านรอบ Blind Audition จากทั้ง 8 ซีซั่นรวมทั้ง The Voice Kids นั้นเหมือนการรวมเอายอดฝีมือมาแข่งกันเอง ซึ่งเป็นทั้งโอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก และความเสี่ยงสำหรับคนที่กลายเป็นศิลปินชื่อดังแล้ว แต่โอ๋ยืนยันว่าทุกคนยินดีและมีความสุขที่ได้กลับมา
การกลับมาครั้งนี้นอกจากกลยุทธ์ในการลดต้นทุนและคิดใหม่ทำใหม่เรื่องการโปรโมตแล้ว โอ๋ยังบอกว่าเธอได้เรียนรู้เรื่องการสร้างสมดุลของการจัดเต็มกับโปรดักชันกับสิ่งที่คนดูต้องการด้วย
เธอบอกว่า “คนดูทีวีไม่ได้ต้องการดูโปรดักชันที่อลังการมากเหมือนดูคอนเสิร์ต แต่ต้องการความตลก ความบันเทิง อะไรที่ดูง่าย ๆ ไม่เครียด คราวนี้เราเลยลดความอลังการของแสงสีเสียง และมีการเชิญ โค้ชโจ๊ก โซคูล กับ โค้ชซานิ จาก The Voice Kids มาสร้างสีสัน”
และเราก็รู้สึกว่าหลังจากร่วมงานกันมาหลายปี โค้ชทั้ง 3 ก็มีลีลาแพรวพราวมากขึ้นมาก ยิ่งพอมี โค้ช ป๊อบ ปองกูล มาร่วม ก็ทำให้รายการตลก สนุกมากขึ้น โดยยังคงแก่นความเป็นตัวจริงเสียงจริงอยู่
หลังจากรอบ Battle เทปแรก ความสนุกของ The Voice ก็ยิ่งงวดขึ้นเรื่อย ๆ โอ๋แอบบอกว่าการรวมดาวครั้งนี้จะมีอะไรสนุก ๆ มากขึ้นอีกมาก
“คนเคยคิดว่าเมื่อจบรอบ Blind Audition แล้ว The Voice ก็ไม่มีอะไรให้ลุ้น เรายืนยันว่าจะไม่เกิดสิ่งนั้นใน The Voice All Stars” โอ๋ป้ายยาเอาไว้ทิ้งท้าย