23 กรกฎาคม 2020
10 K

สถานที่ที่ให้บุคคลทั่วไปเที่ยวชมได้ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่พิพิธิภัณฑ์ก็เป็นหอศิลป์ แต่วันนี้เราจะเปลี่ยนแนวดูบ้าง ฉันจะพาไปชมอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ถึงมีเนื้อที่กว้างใหญ่ถึง 5,800 ไร่ แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางให้เวียนหัว เพราะมีรถรับส่งของมหาวิทยาลัย (KKU Smart Transit) คอยบริการสำหรับชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นและประชาชนทั่วไป

เอาล่ะ… เริ่มจากประตูมหาวิทยาลัยฝั่งถนนมะลิวัลย์ เราจะใช้บริการรถสายสีส้ม อ้อมผ่านบึงสีฐานไปไม่ไกล จะพบอาคารหลังแรก ‘บ้านทรงหัวจุก’ เป็นชื่อเล่นที่เราเหล่านักศึกษาใช้เรียกอาคารหลังนี้ตามรูปทรงของมัน

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่า มข., KKU, สถาปัตยกรรม
เดิมบริเวณคุ้มสีฐานเป็นพื้นที่ของบ้านหัวจุก แต่กาลเวลาล่วงผ่านไปกว่า 30 ปี บ้านเหล่านี้ค่อนข้างทรุดโทรม ทางมหาวิทยาลัยจึงได้รื้อถอนออกไปเหลือเพียงไม่กี่หลัง

กระท่อมน้อยหลังนี้ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในหมู่บ้านพลัม ใช้เป็นบ้านพักสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยในยุคแรก ชายคาที่ยื่นยาวออกมาช่วยกันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี ส่วนหัวจุกที่มาของชื่อบ้านเป็นส่วนระบายอากาศร้อนที่ลอยตัวอยู่ด้านบนให้ระบายออกไปด้านนอก ทำให้ภายในบ้านเย็นสบาย

ในบริเวณเดียวกันยังมีบ้านทรงหัวจุกแบบนี้อีก 2 – 3 หลัง แต่มีการปรับปรุงต่อเติมออกไปตามการขยายขนาดของครอบครัว คงเหลือเพียงบ้านหลังแรกริมบึงสีฐานที่ยังมีลักษณะคงเดิม

“พักสายตาเถอะนะคนดี หลับลงตรงนี้…” 

รถบัสสีส้มพาฉันลอดผ่านอุโมงค์ต้นไม้บริเวณโรงสาธิต และข้ามผ่านแปลงหญ้าสาธิตของคณะเกษตร บรรยากาศสีเขียวชื่นตาชวนให้นึกถึงเพลง ตลอดเวลา ของปู พงษ์สิทธิ์ เพลงที่สมัยเป็นนักศึกษาชอบล้อมวงเล่นกัน นึกขึ้นมาแล้วก็รู้สึกอยากพักสายตาขึ้นมาจริงๆ แต่ก่อนที่จะหลับจริงจัง รถบริการก็พาฉันมาถึงหมุดหมายที่ 2 พอดี ‘คณะเกษตรศาสตร์’

ในช่วงทศวรรษแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2507 – 2516) มีเพียง 3 คณะ คือ เกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อาคารเรียนที่ดูล้ำสมัยในยุคนั้น เมื่อผ่านช่วงเวลา 30 – 50 ปีไปแล้ว กลับมามีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด

โชคดีที่มีโอกาสไปเรียนวิชาพื้นฐานช่วงปี 1 ที่อาคารเหล่านี้ ฉันจึงคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี ฉันก้าวลงจากรถสีส้มที่หน้ากองกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เดินข้ามถนนไปทักทายเพื่อนเก่าอาคารลำดับ 5 ของคณะเกษตรศาสตร์ ‘อาคาร AG 05’ 

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่า มข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่า มข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
อาคาร AG 05 ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อาคารหลังนี้ใช้เป็นอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการของ 3 ภาควิชา คณะเกษตรศาสตร์
สร้างเสร็จเมื่อ 22 มีนาคม พ.ศ. 2523 

อาคารหลังนี้ถ้าเปรียบก็เหมือนกับเป็นเพื่อนสนิทของฉัน ค่าที่มันอยู่ใกล้หอพัก ในช่วงเวลาที่หอสมุดปิดให้บริการ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่นั่งอ่านหนังสือที่เงียบสงบและเย็นสบายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ

อาคาร AG 05 ออกแบบโดยยงยศ สวัสดิ์พรภัลลภ โดยมี ผศ.โกวิท สุรโกมล และ ผศ.ดิลก ศรีนาวิน เป็นวิศวกร ด้านบนหลังคามีโครง 3 มิติ (Space Frame) เป็นโครงสร้างที่นิยมวางทับคอร์ดเพื่อกันฝน และในขณะเดียวกันก็รับแสงธรรมชาติเข้ามาในตัวอาคารด้วย

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
โครงสร้างคานภายในห้องสมุดคณะเกษตรศาสตร์และบรรยากาศภายหลังจากปรับปรุงใหม่ ซึ่งเดิมมีแต่ชั้นหนังสือ

บริเวณเดียวกันกับอาการ AG 05 ยังมีห้องสมุดประจำคณะ มองภายนอกไม่มีอะไรดึงดูดสายตา ทีแรกฉันตั้งใจว่าจะเข้าไปนั่งผึ่งไอเย็นของเครื่องปรับอากาศและรำลึกความหลังเท่านั้น แต่เมื่อผลักประตูกระจกติดฟิล์มทึบแสงเข้าไปเป็นต้องร้องว้าวกับคานรูปทรงใยแมงมุม

บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดเล่าว่า บังเอิญฝ้าเพดานนั้นเสื่อมสภาพจึงได้รื้อออกมา โครงสร้างคานสวยๆ จึงเผยโฉมออกมาให้เห็น แต่มีข้อเสียคือทำให้ภายในอาคารค่อนข้างร้อน เครื่องปรับอากาศจึงทำงานหนักจนครางหึ่ง

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
อาคาร AG 01 มุมต่างๆ ร่มเงาเขียวพรรณพฤกษาสมกับเป็นคณะที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก

ข้ามถนนเล็กๆ ที่คั่นระหว่างห้องสมุดและอาคารหลังแรกของคณะเกษตรศาสตร์ ‘อาคาร AG 01’ แอบอิงอยู่ใต้ร่มฉำฉา สวยงามมีเสน่ห์เหมือนหญิงที่อยู่ในวัยสาวสะพรั่ง อาคารหลังนี้ออกแบบโดยอาจารย์อมร ศรีวงศ์ และมี ศ. ดร. รชฎ กาญจนะวณิชย์ เป็นวิศวกร ถือว่าเป็นอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของมหาวิทยาลัย มีการนำแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปมาเป็นส่วนประกอบตกแต่งของระเบียง ทั้งเพื่อเป็นลูกเล่นเชิงดีไซน์และเพื่อประโยชน์ใช้สอยในการกันฝนสาด

ปัจจุบันอาคารหลังนี้ไม่ได้ใช้ในการเรียนการสอนแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นสำนักงานและเป็นทางผ่านไปยังอาคารเรียนหลังอื่นๆ ฉันก้าวยาวๆ ขึ้นทางลาดสำหรับเชื่อมต่อระหว่างอาคาร AG 02 เพื่อทดสอบความชัน พบว่าอยู่ในระยะการก้าวที่ไม่เมื่อยเกินไปนัก แสงแดดยามสายทาบทอลงมาประทับกับตัวอาคารให้ความรู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด เหมือนได้กลับมายังบ้านที่คุ้นเคยอีกครั้ง

อย่างที่ได้เล่าเมื่อข้างต้นว่า ไม่เพียงแค่วิชาพื้นฐานของคณะเกษตรศาสตร์ ฉันยังต้องไปเรียนวิชาพื้นฐานที่คณะวิทยาศาสตร์ด้วย และนี่คืออาคารเรียนที่ฉันรักมากที่สุด ‘ตึกกลม’ ชื่อเล่นนี้เรียกตามลักษณะของอาคารที่เป็นทรงกลม แต่มีความพิเศษตรงการเล่นระดับพื้น หลังคามีความลาดเอียง สมัยก่อนนักศึกษาแก่นๆ ขึ้นไปปั่นจักรยานบนหลังคานี้ต่างสนามกีฬาเอ็กซ์ตรีมก็มี

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
มุมต่างๆ ของตึกกลม มีทั้งพื้นต่างระดับและช่องสำหรับให้แสงธรรมชาติส่องผ่าน

อาคารรูปทรงเก๋ไก๋หลังนี้ออกแบบโดย อาจารย์อมร ศรีวงศ์ และมี ศ. ดร. รชฎ กาญจนะวณิชย์ ผู้ถือได้ว่าเป็นวิศวกรคู่ใจของท่าน เดิมใช้เป็นอาคารเรียนวิชาเคมีเพียงอย่างเดียว แต่ภายหลังธนาคารไทยพาณิชย์ที่เข้ามาเปิดสาขามหาวิทยาลัย ได้ขอใช้พื้นที่ร่วมชั่วคราว ( พ.ศ. 2521 – 2525) ทางฝั่งทิศตะวันตกของตัวอาคาร เมื่อสำนักงานถาวรทางด้านหน้าโรงพยาบาศรีนครินทร์สร้างเสร็จจึงย้ายออกไป

ในวันที่ฉันเข้าไปสำรวจ ตึกกลมได้เลิกใช้งานแล้วเนื่องจากความทรุดโทรม เจ้าหน้าที่นักการที่กำลังขนย้ายโต๊ะเก้าอี้ออกจากห้องอนุญาตให้ฉันเข้าไปสูดกลิ่นอดีตจนอิ่มหน่ำ ก่อนจะดึงเหล็กม้วนลงและคล้องแม่กุญแจปิดขังความหลังไว้ภายใน

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
อาคาร SC 01 ตึกแรกของคณะวิทยาศาสตร์ที่มีศิลปะแทรกอยู่ตามโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นคานหรือระเบียงตึกที่ใช้วิธีเรียงอิฐช่วยในการรับน้ำหนักและลิฟต์ที่อยู่คู่ตึกมาตั้งแต่ยุคแรก

ใกล้กับตึกกลมเป็นอาคารเรียนปฏิบัติการวิชาเคมี SC 01 มีโครงสร้างคานที่สานกันเป็นตาข่าย สวยงามทั้งในเชิงศิลปะโครงสร้างและช่วยรับน้ำหนักไปด้วยในตัว

ในสมัยเป็นนักศึกษา เราเริ่มเรียนวิชาปฏิบัติการทางเคมีตั้งแต่บ่ายโมง กว่าจะสรุปผลกันเสร็จเวลาก็ล่วงเข้า 2 ทุ่ม แม้ว่าโครงสร้างตึกจะสวยติดใจ แต่ท้องฟ้าที่มืดสนิท ผนวกกับความเก่าที่ดูขรึมขลังของตัวอาคาร และความหลอนของลิฟต์ทำให้พวกเราเลือกที่จะใช้บันไดแทน

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
ตึกหลอด SC 06 อาคารสำนักงานของคณะวิทยาศาสตร์ ได้ชื่อเล่นนี้มาจากโครงสร้างด้านข้างตึกที่ดูคล้ายหลอดสีขาว
แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
เวทีในร่มองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ลักษณะโครงสร้างหลังคาเป็นจั่วฟันปลาทำให้มีน้ำขัง แต่ได้มีการทำรางน้ำเพื่อแก้ไข
ปัญหานี้จึงหมดไป

ในเมื่อมาถึงถิ่นเก่าแล้ว จะไม่กลับไปเยี่ยมหอพักเดิมก็กระไร โชคดีที่ผู้วางผังมหาวิทยาลัยตอนนั้นออกแบบให้อาคารเรียน หอพัก และโรงอาหาร อยู่ไม่ไกลกันนัก จึงเดินเท้าชมอาคารต่างๆ ได้สบายๆ ที่พำนักเดิมของฉันคือ ‘หอพักหญิงที่ 2’ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเสียไพเราะว่า ‘หอดาหลา’

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม
ทางลาดด้านข้างหอพักหญิงที่ 2 ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องราวเข้าใจผิด

นับตั้งแต่กาลพฤกษ์ช่อแรกจนมาถึงรุ่นของฉันที่เป็นช่อที่ 36 (และรุ่นปัจจุบันคือรุ่นที่ 56) เสน่ห์ของอาคารหลังนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยผลงานการสร้างสรรค์ของ รศ. ธิติ เฮงรัศมี ที่ออกแบบให้อาคารมีการเล่นกับดับเบิล สเปซ (Double Space) มีช่องเปิดให้เห็นวิวข้างนอกและโชว์โครงสร้าง

หอพักหญิงหลังนี้ ด้วยความเก่าของมันจึงทำให้มีเรื่องเล่าเขย่าขวัญที่พวกรุ่นพี่ๆ ขนเอามาหลอกน้องๆ ขวัญอ่อนให้ได้ขนลุกขนชันกันไม่เว้นแต่ละวัน ที่ฮอตฮิตที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่เล่ากันว่า หอพักแห่งนี้เคยเป็นอาคารพักผู้ป่วยโรคเรื้อน และทางลาดด้านข้างตึกก็ทำไว้เพื่อเข็นเตียงผู้ป่วยขึ้นลงตึก มีคนตายมากมาย ตอนกลางคืนเห็นคนใส่ชุดผู้ป่วยเดินไปเดินมาบนตึก ฯลฯ

แต่ความจริงคือ เดิมพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเคยเป็นนิคมโรคเรื้อน แต่ตัวโรงพยายานและสถานพักฟื้นผู้ป่วยนั้นตำแหน่งเดิมอยู่ที่บริเวณโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะนิติศาสตร์ หอพักหญิงที่ 2 จึงทำหน้าเป็นหอพักมาตั้งแต่ต้น ส่วนทางลาดต้นเรื่องนั้นได้รับการเฉลยว่า สมัยก่อนระบบน้ำยังไม่ค่อยสะดวก พบปัญหาเรื่องน้ำไม่ไหลอยู่บ่อยครั้ง ทางลาดจึงมีไว้สำหรับการขนน้ำสำหรับอุปโภคขึ้นไปยังชั้นบนนั่นเอง

เดินสำรวจมาตั้งแต่เช้าจนสาย ตั้งใจว่าจะแวะไปดื่มน้ำผลไม้ปั่นที่โรงอาหารเล็กๆ ใกล้หอพักที่เรานักศึกษาตั้งชื่อเรียกเล่นๆ ให้ว่า ‘โรงเตี๊ยม’ เสียหน่อย แต่ปรากฏว่าโรงอาหารไม้หลังนั้นถูกรื้อไปเสียแล้ว ได้แต่ดื่มน้ำจากกระบอกที่พกมาดับกระหายแล้วออกเดินต่อไป โดยหมุดหมายต่อไปเป็น ‘แฟลตอาจารย์โสด’

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม, อาคารโมเดิร์น
บรรยากาศบริเวณด้านล่างแฟลตอาจารย์โสด

ตัวอาคารเปิดโล่ง ลมพัดผ่านสะดวก มีช่องรับแสงธรรมชาติส่องสว่าง ต้นไม้เขียว อาคารที่พักในสไตล์ทรอปิคอล (Tropical) หลังนี้ออกแบบโดย รศ. ธิติ เฮงรัศมี และวิศวกรคือ คุณณรงค์ กุหลาบ

นั่งรับลมสักหน่อยจึงออกเดินเท้าสู่บ้านพักอาจารย์หลังสุดท้ายที่ตั้งใจมาเยือน ‘บ้านหมอลำ’ คือชื่อเล่นของมัน 

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม, อาคารโมเดิร์น
บ้านหมอลำ

ทางไปบ้านหมอลำร่มครึ้มไปด้วยพรรณไม้ ซึ่งเป็นป่าที่มีอยู่เดิมของมหาวิทยาลัย ฉันรู้จักบ้านหลังนี้เพราะใช้เป็นเส้นทางลัดไปคณะ ที่บ้านหลังนี้ถึงจะได้ชื่อว่าบ้านหมอลำ แต่ไม่ได้เป็นที่พักอาศัยของนักขับเพลงพื้นบ้านแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะถ้ามองด้านข้างจะเหมือนสเต็ปเวทีหมอลำ

บ้านรูปทรงแปลกตาหลังนี้ออกแบบโดยคุณสถาพร และคุณวาณี เกตกินทะ ปัจจุบันบ้านพักชุดนี้ทรุดโทรมมากจนไม่มีบุคลากรพักอาศัยแล้ว บุคลากรยุคบุกเบิกของมหาวิทยาลัยเล่าว่า ตอนที่เห็นบ้านหลังนี้ถึงกับโอดครวญว่า “บ้านหน้าตาอย่างกับฮ้านหมอลำ จะอยู่เข้าไปได้ยังไง” แต่สุดท้ายไม่เพียงสร้างครอบครัวขยายจำนวนสมาชิก หากยังอยู่อาศัยจนเกษียณอายุราชการทีเดียว เข้ามาในมหาวิทยาลัยเมื่อใด เป็นต้องขับรถวนมาดูบ้านเก่าด้วยความคิดถึงทุกครั้งไป 

บ้านหมอลำที่มองดูเผินๆ เหมือนอยู่ในดงไม้หน้าทึบ แท้จริงห่างถนนหลักของมหาวิทยาลัยไม่ถึง 10 เมตร ฉันเดินทะลุหมู่แมกไม้ออกมารอรถสองแถวสาย 8 เพื่อกลับเข้าไปยังตัวเมือง

แกะรอยอาคารสไตล์โมเดิร์นยุคแรกของภาคอีสาน ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ตึกเก่าในมข., KKU, สถาปัตยกรรม, อาคารโมเดิร์น
สะพานขาวที่มาของเรื่องราวผีหัวขาดที่ยามค่ำคืนนักศึกษารุ่นเก่าไม่กล้าขับรถผ่าน ปัจจุบันมีการจัดงานถนนศิลปะ (Art Lane) ทำให้คึกคักขึ้นมาบ้าง

รถสองแถวสีฟ้าแล่นจ้วดจ้าดถึงใจวัยรุ่นข้ามผ่านสะพานขาว สะพานที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์เขย่าขวัญ แม้กาลเวลาจะช่วยเจือจางความสยดสยองนี้ลงไป แต่ฉันก็ยังเผลอกลั้นหายใจจนข้ามถึงอีกฝั่งอย่างวันเยาว์ที่เคยโดนรุ่นพี่หลอก เมื่อนึกขึ้นมาได้ก็ขำตัวเองอยู่ไม่น้อย

รถโดยสารพาฉันผ่านแปลงหญ้าสาธิตของเกษตรเหมือนเมื่อครั้งเข้ามา แล้วทิ้งประตูหน้าของมหาวิทยาลัยไว้เพียงเบื้องหลัง ฉันเหลียวกลับมามองบ้านหลังที่ 2 อีกครั้ง พร้อมคำมั่นในใจ 

“หากวันไหนมีเวลา จะกลับมาเยี่ยม มาชาร์จแบตที่นี่อีกครั้ง”

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

จบการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียนอิสระ นิยมศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่น