ผมเข้ามาในถนนบางพรม ถนนเล็กๆ ที่แยกมาจากถนนราชพฤกษ์ เพียงไม่กี่ร้อยเมตรจากถนนใหญ่ก็ได้เจอตึก 3 ชั้นหน้าตาเหมือนยานอวกาศ ด้วยเส้นโค้งมนแบบฟรีฟอร์มของอาคารด้านนอก แต่ยังคงแวดล้อมไปด้วยต้นไม้เขียวครึ้มที่ให้ร่มเงาแสนผ่อนคลาย

ด้วยสีขาวของอาคารตัดกับวัสดุอย่างไม้และต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้ม ถ้าไม่มีคนบอก (หรือถึงมีก็คงไม่เชื่อ) คงไม่มีทางรู้ได้หรอกว่า ตึกรูปทรงแสนสวยตรงหน้านี้คือตึกเรียนพิเศษ แล้วเหตุผลที่หน้าตามันแตกต่างไปจากตึกเรียนพิเศษแบบที่เราคุ้นชินกันนั้น ก็เพราะว่าที่นี่คือ โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ วัยอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษา และชื่อของที่นี่คือ Kensington Learning Space

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ตึกเรียนพิเศษในความคิด ความทรงจำ ของผมและคนอีกหลายคน ส่วนมากคงเป็นตึกทรงสี่เหลี่ยม มีห้องเรียนสี่เหลี่ยมบรรจุอยู่ภายในมากมาย เด็กๆ ก็จะถูกส่งเข้าไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการเพื่อผลสอบ หรือด้านความสามารถพิเศษอย่างศิลปะ ดนตรี กีฬา หรืออะไรก็ว่าไป

ด้วยวิธีการเรียนการสอนแบบ ‘เรียนพิเศษ’ ที่เน้นให้เห็นผลลัพธ์การเรียนอย่างชัดเจน จึงมีการเรียนที่เข้มงวด เด็กหลายคนมีผลสอบที่ดี มีความสามารถพิเศษรอบด้าน อย่างเล่นกีตาร์หรือดีดเปียโนได้ราวกับศิลปินมาเล่นเอง แต่เด็กจำนวนมากมักจะมีตอนจบคือ ความสนุกในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ หมดลงไป และเกลียดวิชาเหล่านั้นในเวลาต่อมา แน่นอนว่าผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้นกับหลายวิชาที่เรียน

นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเมื่อการเล่นจะกลายเป็นการเรียน หรือการเรียนเกิดขึ้นได้แบบเล่นๆ ในวันที่โรงเรียนส่วนมากของประเทศนี้ยังคงใส่ใจกับการใช้อำนาจผ่านกฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องทรงผมบนหัว จนสร้างให้โรงเรียนเป็นสถานที่น่าชังในสายตาเด็ก

ถ้าไม่เป็นแบบนั้น ในอนาคต เด็กๆ หลายคนก็อาจจะยังรักในการเรียน รักในการได้ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ และคงจะเหมาะอย่างยิ่งกับโลกในปัจจุบัน ที่เราทุกคนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อทำงานกันตลอดเวลา

แม้คอนเซปต์ของโรงเรียนแห่งนี้จะน่าสนใจ แต่สิ่งที่เราเคยเจอและฝังหัวมาตลอด ก็ทำให้เราตั้งคำถามถึงวิธีการเล่นว่ามันจะเป็นการเรียนรู้ได้ยังไง และโรงเรียนหน้าตาแบบนี้เอื้อให้การเรียนแบบเล่นๆ นี้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าผู้ก่อตั้ง ผมเลยนัดกับผู้ก่อตั้ง Kensington Learning Space อย่าง โน้ต-นิติพันธ์ พันธุ์วิโรจน์ และ หนุ่ย-วราภรณ์ กาญจนวัฒน์ พันธุ์วิโรจน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาล Kensington International Kindergarten ที่อยู่ข้างๆ กันนี้อีกด้วย เพื่อให้มาช่วยตอบคำถามเรื่องการเล่นให้เป็นเรียน 

ถ้าพร้อมแล้ว ขอให้ทุกคนทิ้งตัวตนผู้ใหญ่ และคิดย้อนกลับไปในวันที่เรายังเป็นเด็ก ที่ชอบลุยบ่อลูกบอล เล่นสไลเดอร์ ว่ายน้ำ วิ่งไปรอบสนามหญ้า และเข้าไปยังตึกเรียนพิเศษแห่งนี้กันเลย ผมขอรับรองว่า การได้เห็นด้านในนั้น จะทำให้คุณอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเลยจริงๆ และขอสปอยล์ไว้ตรงนี้เลยว่า ค่าเรียนแต่ละคอร์สนั้นไม่แพง เริ่มต้นที่หลักไม่กี่ร้อยบาทต่อครั้งเท่านั้นเอง

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

คบเด็กสร้างโรงเรียน

โน้ตและหนุ่ยเล่าให้ฟังถึงไอเดียตั้งต้นของที่นี่ ซึ่งความคิดในการก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลเมื่อราวสิบปีก่อน มาจากหลังทั้งสองรู้ว่ากำลังจะมีลูกคนแรก

“ตอนนั้นที่เราสองคนรู้ว่ากำลังจะมีลูก ผมและภรรยาก็มานั่งคุยกันว่าจะทำอะไรให้ลูกได้บ้าง ก็มาเจอว่าสิ่งที่เราทั้งสองคนได้ใช้ประโยชน์อย่างมากในการทำงานจนได้รับการยอมรับจนถึงทุกวันนี้ ก็คือระบบการศึกษาที่สอนให้เรามีวิธีคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งนำไปต่อยอดกับการเรียนต่อและการทำงานได้ ซึ่งสิ่งที่เราทั้งสองคนอยากให้ลูกโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมและโรงเรียนแบบนั้นมันยังไม่มี เราเลยเกิดแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นคิดทำโรงเรียนขึ้นมา 

“หลังจากนั้นเราเริ่มค้นคว้าหลักสูตรการศึกษาจากหลายประเทศ จนมาเจอกับหลักสูตรการเล่นเพื่อเรียนรู้หรือ Play-based Learning ซึ่งพอได้ศึกษาไปมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้เราเชื่อมั่นและเห็นประโยชน์ของการเรียนแบบนี้ เลยได้เริ่มต้นทำโรงเรียนอนุบาลเคนซิงตันขึ้นมา โดยมีทั้งหลักสูตรการเล่นเพื่อเรียนรู้ให้เด็กได้เป็นเด็ก ไปจนถึงทำตัวอาคารที่มีพื้นที่รองรับรูปแบบการเรียนแบบนี้ด้วย” ทั้งสองคนเล่าถึงตอนที่เริ่มต้นทำโรงเรียนอนุบาล

ผมถามทั้งคู่ต่อไปว่า อะไรทำให้เชื่อมั่นในระบบการเรียนแบบเล่นๆ นี้ ในวันที่ผู้ใหญ่ทุกคนแยกเรื่องเรียนออกจากเรื่องเล่น

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

“เราทั้งสองคนทำการบ้านหาหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละประเทศ จนมาค้นเจอว่า ที่ประเทศอังกฤษ เขาใช้ระบบการเรียนแบบเล่นนี้อย่างจริงจัง พอเราได้ศึกษาไปมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งเห็นว่ามันไม่เหมือนกับที่เราเคยเรียนมาเลย และรู้สึกว่าใช่ คือด้วยแบ็กกราวด์ของผมที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้าน Leadership Development ให้หลายองค์กรมาหลายปี

“ผมทำงานเป็นคนสอนทักษะ วิธีคิด และวิธีการแก้ปัญหาให้กับบรรดาผู้บริหารในองค์กรมาโดยตลอด เลยมีความมั่นใจมากว่า ต่อไปในอนาคต วิธีคิด ทักษะการทำความเข้าใจในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทักษะ Critical Thinking ไปจนถึงทัศนคติที่ติดตัวเด็กไป จะช่วยให้เขามีโอกาสมากกว่า ในโลกยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ ซึ่งพอได้ลองอ่านรายละเอียดไปมากๆ เราก็เริ่มเข้าใจและเห็นว่ามันสมเหตุสมผล อย่างการเล่นนี้มันจะทำให้เด็กอายุสามขวบมีพัฒนาการทางร่างกาย ช่วยให้สื่อสารและควบคุมอารมณ์ตัวเองเวลาอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

“โดยส่วนตัว เราทั้งคู่เชื่อว่า เด็กทุกคนนั้นไม่เหมือนกัน มีความสนใจคนละอย่าง มีนิสัยคนละอย่าง การต้องมาเรียนหนังสือไปพร้อมๆ กันตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายจึงเป็นอุปสรรคต่อเด็กหลายคนมาก ถ้าให้อธิบายคือ โรงเรียนทั่วไปมีหลักสูตรมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เปิดหน้าหนึ่งแล้วไล่ไปเรื่อยๆ หน้าสอง หน้าสาม จนหมดเล่ม

“แต่ของที่นี่เราไม่ได้มีหลักสูตรเป็นหนังสือหนึ่งเล่มแบบนั้น เรามีกรอบหลักสูตรวางแบบหลวมๆ แยกไว้ คอนเซปต์มันคือการเล่นและทดลองจนได้รับรู้สิ่งที่อยู่ในบทเรียนด้วยตัวเอง อย่างในห้องเรียนก็จะมีมุมห้องด้านหนึ่งที่เป็นโต๊ะต่อบล็อกไม้ อีกมุมมีการเล่นสวมบทบาทตัวละคร อีกด้านหนึ่งเป็นประตูที่เชื่อมต่อกับสวนด้านนอก ให้เด็กได้ไปหยิบจับผสมสีด้วยมือตัวเองจริงๆ ว่าสีแดงผสมกับเหลืองคือส้มโดยไม่ต้องมาท่องจำเอา

“แล้วเราก็ไม่ได้บังคับให้เด็กทั้งห้องไปเล่นที่มุมนั้นพร้อมกันทั้งหมด แต่เราปล่อยให้เขาไปเล่นด้วยความสนใจของตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้เราเห็นถึงบุคลิกในตัวเด็กด้วย เพราะบางคนอาจชอบเล่นแต่แบบเดิมๆ ครูที่นี่จึงมีหน้าที่คอยช่วยให้เด็กแต่ละคนได้ออกมาเล่นในสิ่งอื่นที่ตัวเขาอาจไม่ได้สนใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ครบทุกด้าน

“อย่างการวาดรูป ด้วยกล้ามเนื้อของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เด็กจับพู่กันวาดรูปไม่ค่อยถนัด ซึ่งจะทำให้เด็กหงุดหงิดและไม่อยากวาด ที่นี่ก็เปิดให้เด็กวาดด้วยมือได้เลย เด็กจึงไม่เครียดและยังคงมีความสนใจอยู่ จึงทำให้เด็กที่เรียนที่โรงเรียนอนุบาลเคนซิงตันนั้นเรียนอย่างมีความสุข อยากไปโรงเรียนอยู่ตลอด และมีวิธีคิดการมองและแก้ปัญหาในรูปแบบที่เป็นแบบของตัวเองอยู่ด้วย แม้ว่าในตอนหลังจะย้ายไปยังโรงเรียนปกติแล้วก็ตาม” ทั้งสองคนเล่าถึงความเชื่อมั่นในระบบการเรียนแบบเล่น

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

โรงเรียนอนุบาลสู่ศูนย์เรียนพิเศษ

หลังจากก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลขึ้นมาจนตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว แม้โรงเรียนแห่งนี้จะได้รับการยอมรับอย่างมาก แต่แทนที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนจะขยายโรงเรียนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา แต่พวกเขากลับหยิบเอาไอเดียที่เป็นแกนหลักอย่างการเล่นมาขยายสู่วงกว้างแก่เด็กคนอื่นๆ แทน และเป็นที่มาของการสร้าง Kensington Learning Space แห่งนี้

“เราเรียกที่นี่ให้เข้าใจง่ายๆ ว่าคือที่เรียนพิเศษ แต่จริงๆ มันคือสถานที่ในการสร้างวิธีคิด ทักษะ และทัศนคติให้เด็กๆ รักในการเรียน ซึ่งเรามั่นใจมากว่าจะหาไม่ได้ในสถานที่อื่น

“ผมขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ สักสองคอร์สแล้วกัน อย่างคอร์สแรกคือคอร์สทำอาหาร ที่เราอยากให้เป็นมากกว่าห้องเรียนทำอาหาร ถ้าโรงเรียนอื่นๆ สอนทำอาหาร ก็จะเช็ตเมนูมาเลยว่าให้เด็กทำอะไรในวันนั้น แต่สิ่งที่เราสอนคือ ให้โจทย์ว่าอยากเปิดร้านอาหารอิตาลี โดยให้เด็กๆ เป็นคนจัดการ และพยายามผลักดันให้ภายในหนึ่งเดือนข้างหน้าร้านอาหารนี้เกิดขึ้นได้ 

“เด็กๆ ก็ต้องมาตั้งชื่อร้านกันเอง มีการถกเถียงพูดคุยและแบ่งงานกันว่าจะตกแต่งร้านนี้ยังไง เมนูอาหารที่จะทำก็ให้ทุกคนกลับบ้านไปถามพ่อแม่ว่า ในร้านอาหารอิตาลีนั้น พ่อกับแม่ชอบกินเมนูอะไร พอได้เมนูกลับมาคนละหลายเมนู ก็ต้องมีการตกลงกันว่าจะเลือกเมนูไหนบ้าง เป็นการสอนให้เด็กได้รู้จักการเจรจาตกลงโดยไม่ทะเลาะกัน ซึ่งเป็นวิธีของผู้ใหญ่ บางทีผู้ใหญ่ในองค์กรยังทำไม่ได้เลย (หัวเราะ)

“พอถึงตอนที่สรุปเมนูได้ ก็มาฝึกทำอาหารกันว่าแต่ละอย่างที่ว่ามามันทำยังไง คีย์เวิร์ดอีกสิ่งหนึ่งที่เราจะสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ คือการได้ลองผิดลองถูก คนเราทำผิดพลาดกันได้ เด็กไม่จำเป็นต้องทำอาหารออกมาอร่อย ครั้งแรกกินไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดว่าเกิดจากอะไร ครั้งที่สองดีขึ้น มาครั้งที่สามโอเคนี่อร่อยละ 

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

“ทีนี้ถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อย เราก็พาการเรียนให้ไปได้ไกลกว่านั้นอีก อย่างการสอนเด็กถึงวิธีคิดว่าจะขายอาหารพวกนี้เท่าไหร่ดี คิดราคาต้นทุนของวัตถุดิบทั้งหมดยังไง และในตอนจบก็เป็นพ่อแม่ของเด็กทุกคนนี่แหละที่จะมายังร้านอาหารอิตาลีแห่งนี้ และชิมอาหารของเด็กทุกคนไปพร้อมกัน

“มันเป็นวิธีคิดที่ง่ายมากๆ ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้จากการคิดกันเองโดยเด็กๆ ทั้งหมด ถ้าเด็กเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตต่อไปได้จริง มันจะทรงพลังมากๆ เลย หลังจากนี้ถ้าเด็กได้รับโจทย์อะไรที่มากกว่านี้ เขาจะมีคำถามต่อมาว่าจะทำยังไง ต่างกับเด็กยุคก่อนที่ได้รับคำสั่งมาทั้งหมดเลยว่าต้องทำยังไง 

“หรืออีกคอร์สหนึ่งที่เด็กๆ และผู้ปกครองชอบกันมาก ก็คือคอร์สเรียนจากการเล่นเกมอย่าง Minecraft เราให้โจทย์เขาไปว่า อยากให้ช่วยกันสร้างพระราชวัง เด็กๆ ก็ไปค้นคว้ากันมาว่าพระราชวังนั้นมีหน้าตายังไง พื้นที่ด้านในเป็นแบบไหน จุดเด่นคืออะไร แล้วพวกเขาก็วางแผนและจัดสรรแบ่งงานกันเองว่าพระราชวังต้องสร้างอะไรบ้าง ก่อนสร้างขึ้นได้ตามแผนแล้วเขาก็เอาพระราชวังนั้นไปเล่นกับเพื่อนๆ คนอื่นต่ออีกด้วย มันคือการสอนทักษะการทำงานแบบผู้ใหญ่ ให้เขาได้ฝึกหัดในขณะเล่นเกมไปด้วยน่ะครับ” ทั้งสองอธิบายการเรียนแบบเล่นๆ ที่พอฟังแล้วก็ทำให้เราอยากมีโอกาสเล่นอะไรแบบนี้บ้าง

โรงเรียนของเราน่าเล่น

หลังจากที่คุยจนเข้าใจเรื่องหลักสูตรการเรียนแบบเล่นนี้แล้ว ทั้งสองคนเลยขออาสาพาเราเดินชมสถานที่ทั้งหมดก่อนจะพูดคุยลงรายละเอียดกันต่อ เมื่อเดินผ่านประตูหน้าเข้ามา เราก็ได้เจอกับผนังไม้ที่หมุนพลิกเล่นได้ ด้านข้างเป็นบ่อลูกบอลพร้อมสไลเดอร์ขนาดยักษ์ที่ตอนนี้เก็บลูกบอลไปชั่วคราวเพราะสถานการณ์โรคระบาด อีกฝั่งหนึ่งเป็นร้านกาแฟที่มีผนังร้านโค้งๆ พร้อมติดหินเล็กๆ ไว้ให้เด็กปีนเล่นได้ 

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ด้วยความที่อาคารมีรูปทรงบิดเกลียวเป็นก้นหอย สื่อความหมายถึงการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้มีพื้นที่ตรงกลางอาคารเป็นลานโล่งที่เล่นระดับเป็นเนินเล็กๆ เพื่อให้เด็กวิ่งหรือไถรถได้ มีเครื่องเล่นให้เด็กปีนป่ายอยู่อีกด้าน ส่วนพื้นที่รอบๆ ก็เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ซึ่งให้ความร่มรื่นกับตัวอาคารอย่างมาก

ในขณะที่ห้องเรียนต่างๆ นั้นก็กระจายกันอยู่รอบๆ ลานกลางนี้ทั้งหมด ความพิเศษของการใช้พื้นที่แบบนี้อยู่ที่พื้นที่ของแต่ละชั้นจะถูกผสานเข้าด้วยกัน ทำให้พื้นที่ในบางห้องมีเพดานสูงเป็น 2 เท่าของปกติ การใช้งานในห้องนั้นจึงเกิดความน่าสนใจขึ้นมาเป็นอย่างมาก แม้แต่กับผู้ใหญ่อย่างผมเองก็ตาม

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

อย่างพื้นที่ของชั้นล่างก็ประกอบไปด้วยสระว่ายน้ำที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากถ้ำ ด้วยเพดานสูงตามที่ว่ามาจึงสร้างบรรยากาศที่แตกต่างออกไปได้จริงๆ มีที่เล่นน้ำคล้ายกับการเล่นน้ำฝนเพื่อให้เด็กปรับตัวก่อนลงว่ายน้ำในสระ มีโรงอาหารสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ห้องเรียนของที่นี่ก็มีอยู่หลายห้อง ภายในห้องไม่ได้มีโต๊ะวางอยู่เยอะ แต่จัดที่นั่งไว้ตามมุมห้อง แต่ละมุมก็มีของเล่นและอุปกรณ์คนละอย่าง ความน่าสนใจที่สุดก็คือการที่เปิดประตูห้องเรียนออกมายังพื้นที่สีเขียวภายนอกได้เลย 

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

เมื่อเดินขึ้นมายังชั้นสองและชั้นสามที่เชื่อมต่อกัน เราก็จะเจอกับเลาจน์หรือห้องพักสำหรับให้เด็กนั่งรอก่อนเข้าเรียน ที่มีของเล่นต่างๆ อย่างบล็อกไม้ เลโก้ วางให้เล่นได้เลย ชั้นสองและสามก็มีห้องเรียนพิเศษเฉพาะทางมากขึ้น ทั้ง ห้องเรียนทำหุ่นยนต์ ห้องครัว ห้องเรียนคลาสดิจิทัลที่ติดกระจกเงาไว้เต็มผนังทั้งหมด มีโรงยิมที่ช่วยเน้นพัฒนาการของเด็กเล็ก สนามกีฬาในร่มซึ่งเล่นกีฬาอย่างฟุตบอลหรือบาสเกตบอลได้ มีห้องประชุมขนาดใหญ่ที่หน้าตาอลังการเหมือนในศูนย์การประชุมแต่แค่มีขนาดที่เล็กลงมาเฉยๆ

นอกจากนี้แล้วถ้าเราสังเกตดีๆ ก็จะเห็นรายละเอียดของกราฟิกต่างๆ ที่ซุกซ่อนข้อมูลและความรู้ไว้เต็มไปหมด โดยกระจายไปในจุดต่างๆ เหมือนกับต้องการให้เด็กได้สำรวจและเรียนรู้ด้วยตัวเองในทุกจุดของอาคาร นับว่าทั้งการออกแบบและการวางผังการใช้งานแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปเป็นอย่างมาก เราได้ถามทั้งสองคนถึงที่มาของการออกแบบพื้นที่แบบนี้

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

“ผมเป็นคนให้คุณค่าในเรื่องการออกแบบมากๆ เพราะด้วยการเรียนในเชิงที่ให้เด็กได้เล่น เด็กจึงต้องรู้สึกสนุกที่ได้มา พื้นที่ในตึกเรียนพิเศษแห่งนี้ก็เลยเป็นตึกสี่เหลี่ยมแบบธรรมดาทั่วไปไม่ได้ รวมถึงทุกห้องเรียนจะต้องเชื่อมต่อกับพื้นที่กลางแจ้ง ซึ่งเด็กออกไปได้ตลอดเวลา เพราะมีงานวิจัยมาแล้วว่า เด็กเรียนรู้ได้ดีกว่าในพื้นที่เปิด นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Learning Ecosystem หรือบรรยากาศที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งเราหยิบเอามาปรับใช้ในการบรีฟทางสถาปนิก

“อย่างห้องเรียนที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น ไม่ง่วงไม่เบื่อ ก็ต้องมีการเปิดแสงสว่างจากภายนอกเข้ามา การใช้เส้นโค้งเส้นเว้าแบบฟรีฟอร์มของอาคารที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆ ซ่อนอยู่เหมือนกัน อย่างห้องเรียนทุกห้องของเราปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนได้หลากหลายมาก เพราะด้วยการที่โลกและเทคโนโลยีต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ห้องเรียนจึงควรยืดหยุ่นต่อการใช้งานให้มากที่สุด หรือพื้นที่ร้านกาแฟของเรา เวลาเด็กมาอยู่ในพื้นที่นี้ อย่างแรกที่จะทำคือปีนผนัง เพราะร้านกาแฟทั่วไปมันปีนไม่ได้ พอตรงนี้มันปีนได้เขาก็มาปีนกัน” โน้ตเล่าถึงเบื้องหลังการออกแบบอาคารแห่งนี้

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ โน้ตยังเล่าให้ฟังต่อถึงเทคนิคการทำงานและการเลือกทีมออกแบบอาคารว่า เขาตั้งใจเลือกบริษัทสถาปนิกและอินทีเรียซึ่งทำงานร่วมกันได้ และมีการนำสถาปนิกและนักออกแบบภายในมาร่วมกันทำเวิร์กช็อปด้านแบรนดิ้งกันตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อออกแบบในสิ่งที่เป็นเคนซิงตันออกมาเลย ซึ่งก็เป็นวิธีการทำงานร่วมกันที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

เราทุกคนชอบไปโรงเรียน

เราประทับใจกับรายละเอียดต่างๆ มากมายที่ตั้งใจคิด ตั้งใจสร้างขึ้น เพื่อให้ที่นี่เป็นสถานที่เรียนที่ทำให้เด็กๆ ‘ชอบไปโรงเรียน’ ได้สำเร็จแล้ว เราตั้งคำถามกับโน้ตและหนุ่ยต่อว่า เขามองเห็นอะไรในอนาคตของ Learning Space แห่งนี้

“เราอยากสร้างให้ทุกคนมีวิธีคิดต่อการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป การเรียนมันคือการเรียนรู้ ไม่ใช่การเรียนเพื่อสอบเข้าหรือทำคะแนน แต่มันดึงให้คนได้กลับมาคิดว่า เด็กอยากเรียนอะไร แล้วเราจะทำยังไงให้เขาไปได้ไกลกว่าแค่สิ่งที่เขาอยากเรียน วันนี้เขาอาจจะตั้งใจมาเรียนภาษา แต่เราอยากจะสร้างวิธีคิดให้เขามากกว่าแค่มาเรียนภาษาหรือทำอาหารนะ พื้นฐานวิธีคิดนี่แหละที่ทำให้เด็กทำในสิ่งที่ชอบ และสร้างความมั่นใจให้กับเด็กได้ ซึ่งความมั่นใจนี้จะทำให้เขานำไปลองผิดลองถูกเรียนรู้ด้วยตัวเองต่อไปตลอดทั้งชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นทักษะสำคัญในการใช้ชีวิตในโลกอนาคตต่อไปจากนี้ไปจริงๆ” ทั้งคู่กล่าวทิ้งท้าย

Kensington Learning Space โรงเรียนสอนพิเศษที่เชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ติดตาม Kensington Learning Space ได้ที่ Facebook : Kensington Learning Space

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan