“…จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า จะไปไขว่คว้าเอามาดังใจฝัน…”

เสียงเพลงที่บรรดานักล่าฝันช่วยกันร้องบนเวทีคอนเสิร์ต ยังคงกึกก้องอยู่ในใจใครหลายคน

หลายคนเป็นแฟนคลับคอยยกป้ายไฟเชียร์ผู้เข้าแข่งขัน

หลายคนเฝ้าติดตามความคืบหน้าของพวกเขาผ่านเว็บบอร์ด Pantip นาทีต่อนาที

หลายคนเป็นหนึ่งเสียงที่ช่วยโหวตให้นักล่าฝันได้เดินทางไปต่อ

หลายคนถึงขั้นหลั่งน้ำตา เมื่อนักร้องขวัญใจต้องลากกระเป๋าออกจากบ้านไป

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘Academy Fantasia’ เรียลลิตี้ดังจาก True Visions ที่นำนักล่าฝันมาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเป็นเวลา 3 เดือน

รายการนี้ไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิงที่ฉีกกรอบของวงการโทรทัศน์เมืองไทย เพราะถ่ายทอดชีวิตของนักล่าฝันแบบสด ๆ ตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่พลิกชีวิตคนธรรมดาให้กลายเป็นดาว บางคนแม้ไม่ไปถึงฝั่งฝันในตำแหน่งแชมป์ แต่ทักษะและความสามารถก็ส่องประกายให้พวกเขาโดดเด่นและเติบโตบนเส้นทางบันเทิง

อ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์, ตุ้ย-เกียรติกมล ล่าทา, บอย-พิษณุ นิ่มสกุล, มิ้น-มิณฑิตา วัฒนกุล, ซานิ-นิภาภรณ์ ฐิติธนการ, กรีน-อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล, นัท-ณัฐ ศักดาทร, นัททิว-ณัฏฐ์ ทิวไผ่งาม, ซาร่า-นลิน โฮเลอร์, ปอ-อรรณพ ทองบริสุทธิ์, ว่านไฉ-อคิร วงษ์เซ็ง, เต๋า-เศรษฐพงศ์ เพียงพอ ฯลฯ คือตัวอย่างผลผลิตที่บ่งบอกถึงคุณภาพของเวทีนี้เป็นอย่างดี

เพื่อย้อนเส้นทางของรายการที่เคยเป็นปรากฏการณ์ของวงการโทรทัศน์ไทย ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ชักชวน อรรถพล ณ บางช้าง หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านดิจิทัล คอนเทนต์ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะโปรดิวเซอร์ Academy Fantasia ตลอด 12 ปี มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย 

เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย

ต้องลองสักครั้ง

เมื่อ พ.ศ. 2547 หากมีใครสักคนบอกว่า จะทำรายการที่นำคน 12 คนมาอยู่รวมกัน แล้วตั้งกล้องติดตามชีวิต 24 ชั่วโมง เชื่อว่า คนส่วนใหญ่คงส่ายหน้า และถามกลับว่า “ใครจะไปดู”

คำถามนี้ก็เกิดขึ้นในหัวของอรรถพล ซึ่งรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายรายการของ UBC โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ของเมืองไทยเช่นกัน แต่ด้วยคำพูดของผู้บริหารชาวต่างชาติที่บอกว่า “ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ว่า แม้แต่รัฐมนตรีที่แอฟริกาใต้ยังต้องรีบกลับบ้านไปดู” นั่นเองคือจุดพลิกที่ทำให้เขาคิดว่า คงต้องลองดูสักตั้ง

 ก่อนหน้านั้น รายการส่วนใหญ่ของ UBC นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ละปีอรรถพลต้องเดินทางไปติดต่อซื้อรายการต่าง ๆ จากผู้ผลิตเจ้าใหญ่ ๆ อาทิ Warner Bros., Paramount, Walt Disney, Universal Studios ฯลฯ เพื่อนำมาเรียงร้อยรายการในช่องขึ้นมาเอง

แต่ช่วงหลังผู้บริหาร UBC เริ่มหันมาสนใจรายการที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ UBC Inside ซึ่งมีรายการที่ผลิตในไทยมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาทั้งหมด และหนึ่งในรายการที่ผู้บริหารบางท่านแนะนำให้อรรถพลลองศึกษา คือรายการเรียลลิตี้ เพราะกำลังเติบโตในตลาดโลก โดยที่ผ่านมา UBC ได้ซื้อรายการประเภทนี้มาออกอากาศหลายรายการ อาทิ Survivor, The Bachelor และ America’s Next Top Model 

“ตอนนั้น UBC มีผู้ถือหุ้นจาก MIH เป็นบริษัทของแอฟริกาใต้ ซึ่งเข้ามาช่วยบริหารที่เมืองไทยด้วย เขาบอกว่า เราน่าจะทำฟอร์แมตที่เกี่ยวกับเรียลลิตี้ เพราะทั่วโลกเขาทำกัน แล้วยกตัวอย่างว่า ที่แอฟริกาใต้ เขาทำอยู่ 2 รายการ คือ Pop Idol เป็นฟอร์แมตการร้องเพลงจากอังกฤษ อีกรายการคือ Big Brother ซึ่งนำคนอาชีพต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในบ้านแล้วถ่ายทอด ซึ่งปรากฏว่า ประสบความสำเร็จมาก”

ทว่าการหารายการที่เหมาะสมกับผู้ชมชาวไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พอดีช่วงนั้น อรรถพลต้องเดินทางไปเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเลือกซื้อรายการใหม่ ๆ เขาได้พบกับเพื่อนร่วมวงการจาก Astro ของมาเลเซียและ Indosiar ของอินโดนีเซีย ทั้งคู่แนะนำว่าควรศึกษา La Academia ของเม็กซิโก เพราะเป็นการผสมระหว่าง Big Brother กับ Pop Idol ด้วยการนำคนมารวมตัวกันอยู่ในบ้าน พอถึงช่วงสุดสัปดาห์ ทุกคนก็ต้องเข้าแข่งขันร้องเพลง โดยก่อนหน้านี้ ทั้งสองประเทศได้ซื้อลิขสิทธิ์นำไปผลิตแล้ว กลายเป็นกระแสไปทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งหากเมืองไทยทำบ้างก็น่าจะโด่งดังไม่แพ้กัน

เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย

อรรถพลจึงนำฟอร์แมตของ La Academia ไปเสนอต่อผู้บริหารของ UBC ในยุคนั้น และในที่สุดคณะกรรมการก็มีมติอนุมัติให้ทำรายการ ด้วยความเชื่อว่า นี่จะเป็นหนทางในการขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้น

หากแต่เรียลลิตี้ของเมืองไทยไม่เหมือนที่อื่น เนื่องจากตัวแทนจาก MIH แนะนำว่า เมื่อ UBC มีช่องสัญญาณหลายช่อง ก็ควรทำช่องพิเศษสำหรับถ่ายทอดสดรายการนี้โดยเฉพาะไปเลย

“รูปแบบของอินโดนีเซียกับมาเลเซีย คือเขาแยกบ้านระหว่างชายหญิง ด้วยข้อจำกัดภายในประเทศ แล้วก็ไม่ได้ถ่ายทอด 24 ชั่วโมงด้วย เม็กซิโกก็เหมือนกัน เขาถ่ายเป็นไฮไลต์มา ซึ่งพอได้รับโจทย์ว่าต้องถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ผมก็บอกเขาว่า โปรดักชันคงมหากาฬเลย เพราะถ้าถ่ายเป็นช็อต อย่างน้อยเรายังสามารถหยุดทีมงานได้ แต่พอถ่ายสดแบบไม่หยุดเลย เท่ากับต้องมีทีมงานอีกเพียบเลย และไม่ใช่แค่คนที่คอยสวิตช์กล้องหรือตัดต่อเท่านั้น แต่ยังมีแม่บ้าน คนทำอาหาร คนเอาเสื้อผ้าไปซัก สำหรับผมแล้วถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป”

อรรถพลใช้เวลาเตรียมตัวนานหลายเดือน เนื่องจากต้องเริ่มต้นเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ศูนย์ โชคดีที่รายการแม่ที่เม็กซิโกได้มอบคัมภีร์ที่เป็นเสมือนไบเบิลเพื่อแนะแนวทางว่า ควรจะจัดการอย่างไร หากแต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า คือการหาสถานที่เพื่อรับรองนักล่าฝันกว่าสิบชีวิต เพราะถ้าสร้างขึ้นใหม่เลยก็เท่ากับต้องลงทุนทั้งเวลาและงบประมาณมหาศาล

“สถานที่ที่ใหญ่พอ มีห้องน้ำชายหญิง มีห้องสำหรับปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้งร้องและเต้น ผมคิดอย่างเดียวเลยควรจะเป็นคลับเฮาส์ตามสปอตคอมเพล็กซ์ต่าง ๆ แต่เราจะไปหาสถานที่แบบนี้ได้ที่ไหน ผ่านมา 3 เดือน จนใกล้จะถึงช่วงเวลาถ่ายทอดแล้วก็ยังหาไม่ได้ กระทั่งวันหนึ่ง คุณองอาจ ประภากมล ซึ่งสมัยนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย เขารู้จักกับหมู่บ้านสารินซิตี้ จึงชวนผมว่าไปคุยด้วยไหม เผื่อจะขอบ้านสารินมาเป็นรางวัล ระหว่างที่รอกรรมการผู้จัดการของสาริน ผมก็เดินดูคลับเฮาส์ซึ่งยังทำไม่เสร็จดี ก็เลยถามว่า เขาใช้งานหรือยัง เขาก็บอกว่ายังไม่เปิด ผมเลยบอกว่าขอใช้ถ่ายทำสัก 3 เดือนได้ไหม เขาก็บอกว่าเชิญเลย แต่ถ้าทำอะไรเลอะเทอะแล้วต้องเก็บด้วยนะ สุดท้ายก็เลยได้บ้านสารินมาเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะ และยังได้คลับเฮาส์มาเป็นสถานที่ถ่ายทำรายการด้วย”

ครั้งนั้นมีการแปลงสถานที่ของคลับเฮาส์ออกเป็น 4 ส่วน คือ โซน A เป็นส่วนห้องน้ำและห้องนอน โซน B เป็นส่วนห้องนั่งเล่น โซน C เป็นส่วนห้องเต้นรำ และโซน D เป็นส่วนห้องเรียนและสระว่ายน้ำ แต่ละส่วนจะมีกล้องทั้งหมด 60 ตัว มากกว่าของเม็กซิโก ซึ่งมีอยู่เพียง 48 ตัว โดยจะพยายามซ่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ ไม่ให้ผู้เข้าแข่งขันเห็น ขณะที่ระบบเสียงก็ติดตั้งไวร์เลสและไมโครโฟนตามผนัง เพื่อให้ได้ยินเสียงของผู้เข้าแข่งขันอย่างชัดเจน

เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย
เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ บุคลากรที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการฝึกสอนนักล่าฝัน ซึ่งอรรถพลเลือกเฟ้นแต่มืออาชีพเข้ามาร่วมงาน อย่างเรื่องการขับร้อง ได้เชิญ เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน, กบ-นิมิตร จิตรานนท์ และ อิน-อินทิรา ยืนยง ศิลปินและนักแต่งเพลงที่ได้รับการยอมรับมายาวนาน และยังร่วมกันก่อตั้งสถาบันสอนร้องเพลงที่ชื่อ Studio 64 อีกด้วย ส่วนเรื่องการเต้นก็ได้ เป็ด-วาเนสซ่า กัณโสภณ เจ้าของสถาบันสอนเต้นรำ La Danse และยังอยู่เบื้องหลังท่าเต้นของศิลปินดัง อย่าง ธงไชย แมคอินไตย์, คริสติน่า อากีล่าร์ มาช่วยฝึกสอน ขณะที่เรื่องการแสดงนั้นได้ 3 พี่น้อง ทิพย์ธิดา-ดวงหทัย-ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งการแสดง เขียนบท และกำกับร่วมสิบปี มารับผิดชอบ

สุดท้ายคือ ครูใหญ่ของบ้าน ซึ่งต้องใช้ชีวิตร่วมกับนักล่าฝันตลอด 2 เดือน เขาได้เชิญ โอ๋-เบญญาภา บุญพรรคนาวิก ครูสอนการแสดงชื่อดัง ซึ่งลงทุนยอมปิดโรงเรียนของตัวเองหลังเปิดได้ 2 เดือน เพื่อมาช่วยดูแลผู้เข้าแข่งขันทั้ง 12 คน ตลอดจนช่วยประสานงานกับคนเบื้องหลังให้รายการออกมาราบรื่นมากที่สุด

สำหรับอรรถพลแล้ว เป้าหมายอย่างหนึ่งคือ การทำให้เวทีนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับผู้ชมทางบ้านทุกคน และสามารถเติบโตไปพร้อมกับผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งล้วนเป็นมือใหม่ที่เพิ่งมาเรียนรู้ในบ้านหลังนี้

“ทุกคนที่เราเชิญเข้ามา เขาเป็นครูจริง ๆ สอนจริง ๆ มันเหมือนเป็นการเปลือยวิธีการเรียนรู้ เพราะอย่างผมเองก็ไม่เคยรู้ว่า ก่อนที่แดนเซอร์จะเต้นได้ เขาซ้อมกันยังไง นับจังหวะกันแบบไหน บล็อกกิ้งกันอย่างไร เราก็ได้เรียนรู้จากตรงนี้ หรือแม้แต่การทำคอนเสิร์ต เราก็ใช้ตัวจริง ทั้งเรื่องแสง เสียง ไปเชิญคนที่จัดคอนเสิร์ตให้ฝรั่งมาเลย ทุกอย่างมันเลยสดหมด แน่นอนอาจจะมีบกพร่องไปบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะนี่คือรายการเรียลลิตี้”

เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย

จะไปเป็นดาวโดดเด่นอยู่บนฟ้า

“…12 ชีวิต 63 วัน 24 ชั่วโมง…ยูบีซีเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการทีวี กับเรียลลิตี้เต็มรูปแบบ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก โครงการ Academy Fantasia ‘ปฏิบัติการล่าฝัน’ สร้างโอกาสให้ทุกฝันที่จะเข้าสู่วงการบันเทิงให้เป็นจริง…” คือถ้อยคำแนะนำรายการใหม่ใน UBC Magazine ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2547 ที่แจกจ่ายให้สมาชิกกว่า 400,000 ครัวเรือน 

Academy Fantasia ออกอากาศทาง UBC ช่อง 34 ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน จนถึงวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยผู้เข้าแข่งจะได้รับโอกาสฝึกฝน ร้องเพลง เต้นรำ และแสดง ตลอด 9 สัปดาห์ และทุกวันเสาร์ก็จะได้แสดงความสามารถบนเวทีคอนเสิร์ตจริง ผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในแต่ละสัปดาห์จากการโหวตผ่าน SMS จะต้องออกจากบ้านไป โดยผู้ชนะจะได้รางวัลใหญ่เป็นบ้านและที่ดิน มูลค่า 4 ล้านบาทจากสารินซิตี้

แต่แน่นอนด้วยความเป็นเรื่องใหม่ UBC จึงต้องประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เนรมิตพื้นที่หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครองให้เป็นบ้านกระจกหลังใหญ่ พร้อมเชิญดารานักแสดง อย่าง โย-ยศวดี หัสดีวิจิตร, เข็ม-รุจิรา ช่วยเกื้อ, ออร์แกน ราศรี และ จัสติน ฟาร์ มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยระหว่างนั้นก็จะมีกล้องสิบตัวคอยจับภาพการดำเนินชีวิตทุกฝีก้าว ทำให้ผู้คนเริ่มเข้าใจว่า เรียลลิตี้ที่ UBC กำลังจะทำนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร 

นอกจากนี้ยังเดินสายเปิดรับผู้สมัครตามภูมิภาคต่างๆ โดยอรรถพลและทีมเทรนเนอร์ได้ลงไปดูการสมัครด้วยตัวเอง เพื่อค้นหาผู้ที่เหมาะสมที่สุด จนเหลือ 12 คนสุดท้าย ประกอบด้วย จีน-ธัญนันท์ มหาพิรุณ, วิทย์-พชรพล จั่นเที่ยง, แนน-ณัชธน์กมล ก่อสุวรรณ, เค-ณัฏฐพล ภมรพล, จุ้มจิ้ม-กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร, อ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์, น้ำตาล-ชนัตตาฎา ปฐมนุพงศ์, ท็อป-พลวิชช์ จั่นแย้ม, ซีแนม-ซีแนม สุนทร, ปอ-ปานเวทย์ ไสยคล้าย, แหม่ม-วัชรินทร์ จินะมุสิ และ นุ่น-ชเนษฏ์ผกา ก่อสุวรรณ

“การคัดคนถือเป็นหัวใจของรายการ ก็เหมือนกับว่าถ้าดาราเราไม่ดี รายการก็อาจไม่ดีตามไปด้วย ซึ่งซีซั่นแรก เนื่องจากเป็นรายการใหม่ คนที่มาสมัครไม่ได้เยอะ แต่เผอิญเราได้คนที่ดี อย่างวิทย์ ก็มีความฝันจริง ๆ ว่าอยากเป็นศิลปิน หรือจุ้มจิ้มเป็นหมอฟัน ซึ่งตรงกับไบเบิลของรายการที่อยากได้คนที่มีอาชีพหลากหลาย แต่ขณะเดียวกัน เขาก็มีบุคลิกภาพที่โอเค มีความสามารถอื่น ๆ ด้วย คือเราไม่ได้เน้นว่าต้องร้องเพลงเก่ง หล่อ สวย เท่านั้น แต่ต้องผสมกันเล็ก ๆ น้อย ๆ”

หลังคัดเลือกได้แล้ว ก็มีการจัดทำเวิร์กชอป อธิบายกฎกติกาเพื่อให้นักล่าฝันปฏิบัติตาม เช่น ห้ามออกไปข้างนอก เว้นแต่เวลาแสดงคอนเสิร์ต ห้ามสื่อสารกับคนภายนอก ห้ามดื่มของมึนเมา ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามเล่นการพนัน ห้ามพูดหยาบคาย ห้ามแพร่งพรายเรื่อง Academy เป็นเวลา 5 ปี หลังออกจากบ้าน เป็นต้น

“เนื่องจากเรามีคนอายุน้อยเข้ามาอยู่ในบ้าน ผมจึงอยากให้ทุกคนเป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างที่ดีของวัยรุ่น เพราะผมตั้งใจให้ Academy Fantasia เป็นรายการน้ำดี เราจึงมีการสอนธรรมะ เอาอาจารย์ที่มีความรู้เข้ามาช่วยสอนในบ้าน คือไม่ได้มองแค่ความสนุกหรือร้องเพลงเท่านั้น แต่ยังใส่จริยธรรมอันดีงามลงไปด้วย เช่น คุณต้องตั้งใจเรียนนะ เพราะครูที่เขามาสอนพวกคุณ เขาตั้งใจจริง ๆ แล้วพวกนี้มันมีผลต่อ Popular Vote ด้วย เพราะเด็กบางคนก็โดนวิจารณ์ เช่น กินข้าวไม่ล้างจาน ขี้เกียจเรียน ซ้อมเพลงก็ไม่ซ้อม ซึ่งครูก็ต้องเข้าไปบอก เข้าไปตักเตือน”

สำหรับการเรียนในบ้านนั้น เนื่องจากนักล่าฝันแต่ละคนมีทักษะและความสามารถไม่เหมือนกัน บางคนร้องเพลงเก่ง บางคนแสดงดี ครูจึงมีหน้าที่ค้นหาจุดเด่นและดึงความสามารถนั้นออกมาให้ได้ โดยแต่ละสัปดาห์จะมีโจทย์ต่าง ๆ ซึ่งไต่ระดับความยากไปเรื่อย ๆ เช่น ร้องเพลงตามสไตล์ของตัวเอง ร้องเพลงร็อก เพลงฟังสบาย เพลงประกอบภาพยนตร์

เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย
เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย

และระหว่างที่รายการออกอากาศ ผู้ชมทางบ้านก็จะเห็นข้อความต่าง ๆ ที่ถูกส่งเข้าไปเพื่อให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรายการด้วย และพอครบสัปดาห์ นักล่าฝันทั้งหมดก็จะต้องเก็บข้าวของลงกระเป๋า เพื่อเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตบนเวที ซึ่งจุผู้ชมได้ราว 500 – 600 คน โดยอรรถพลได้เชิญ อาต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินและพิธีกรรุ่นเก๋ามาเป็นผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งได้ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีหลายคนมาเป็นคอมเมนเตเตอร์ อาทิ กริช ทอมมัส ผู้บริหารค่ายแกรมมี่โกลด์ หรือ ครูเป็ด-มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร นักร้องนักแต่งเพลงที่รู้จักกันดีในชื่อ นายสะอาด ซึ่งมีลีลาการคอมเมนต์ตรงไปตรงมา จนกลายเป็นอีกภาพจำของเวที นอกจากนี้ยังมี ไก่-สุธี แสงเสรีชน และ ปั๋ง ประกาศิต โบสุวรรณ แห่งสุเมธแอนด์เดอะปั๋งด้วย

“เราขอความร่วมมือจากค่ายต่างๆ เอานักแต่งเพลง ศิลปินมาช่วยกันคอมเมนต์ ซึ่งบางคนผู้ชมทางบ้านอาจไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เช่น ครูเป็ด มนต์ชีพ แต่เราโชคดีที่เขาพูดเก่ง และพูดตรง คือเราไม่เคยเอาสคริปต์ให้นะ แค่อธิบายคาแรกเตอร์ของน้อง ๆ ให้ฟัง บวกกับเขาเองก็ติดตามรายการด้วย จึงคอมเมนต์ได้ถูกจุดว่าข้อบกพร่องเป็นยังไง” 

หลังออกอากาศเพียงไม่นาน ปรากฏว่า Academy Fantasia ได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยม โดยเฉพาะกระแสการโหวตที่หลั่งไหลมาไม่หยุด พอสัปดาห์ที่ 5 มีผู้โหวตเข้าเยอะมากถึงขั้นระบบล่ม จนต้องยกเลิกการประกาศผล 

ที่สำคัญคือเกิดกระแสพูดถึงในโลกออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ Pantip และ UBC ซึ่งมีกระทู้พูดถึงนักล่าฝันโดยไม่หยุด จนนักล่าฝันแต่ละคนมีแฟนคลับเป็นกลุ่มเป็นก้อนคอยติดตามให้กำลังใจอยู่ตลอด แถมเวลาจัดคอนเสิร์ตก็มีผู้ชมมากันอย่างล้มหลาม คนไหนที่ไม่มีบัตรก็พยายามอ้อนวอนขอเข้างาน รวมทั้งเกิดวัฒนธรรมป้ายไฟอย่างจริงจังอีกด้วย

“เวลามีคอนเสิร์ตของ AF สถานที่เที่ยวต่างๆ ก็จะเงียบเหงาเลย แล้วช่วงสัปดาห์ที่ 4 คนแน่นมาก จนสุดท้ายเราก็ต้องไปเช่าอินดอร์สเตเดียมมาจัดแทน ทีมโปรดักชันก็บอกผมว่า ถ้าเราย้าย เวทีก็ต้องรื้อทิ้งแล้วทำใหม่หมดเลยนะ แต่ผมก็บอกว่าต้องทำแล้วล่ะ จนกระทั่งถึงรอบชิง มีคนมาพูดกับผมเลยว่า จะให้ทำอะไรก็ได้ เขาขอเข้าได้ไหม จนผมต้องบอกให้เอาทีวีไปตั้งข้างหน้า แม้เราจะต้องทำอะไรเยอะมาก แต่ถือว่าเป็น Happy Problem นะ”

เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย

แต่ท่ามกลางความโด่งดังก็มีกระแสดราม่าเกิดขึ้นไม่น้อย เพราะถึงรายการจะอธิบายแต่ต้นแล้วว่า ผลแพ้ชนะมาจากคะแนนโหวต ดังสโกแกนที่ว่า ‘ใครคือผู้ชนะ ผู้ชมเท่านั้นเป็นผู้ตัดสิน’ แต่หลายคนก็อดรู้สึกไม่พอใจ เวลาเห็นนักล่าฝันที่มีทักษะการร้องเพลงดีกว่า ต้องเป็นฝ่ายลากกระเป๋าออกจากบ้านไป จนบางครั้งเขากับทีมงานก็ต้องลงมาอธิบายเอง

หลังต่อสู้อย่างดุเดือด ในที่สุดก็มาถึงรอบสุดท้าย โดยผู้ที่คว้าชัยคือ V2 วิทย์ พชรพล

แต่ด้วยเป้าหมายของ UBC คือการเพิ่มฐานสมาชิก ไม่ได้มีแผนจัดทำอัลบั้มเพลง จึงมอบหมายให้ GMM GRAMMY เข้ามาบริหาร จนนำมาสู่การออกอัลบั้ม V-Friend ของ 6 นักล่าฝันคือ วิทย์, จีน, อ๊อฟ, ซีแนน, ปอ และน้ำตาล

“ตอนรายการใกล้จบ เราก็คุยกันว่าจะจัดการกับศิลปินอย่างไรดี จะให้ใครมาช่วยดูแล หรือจะทำเอง ก็เลยลองถามไปที่เม็กซิโก ซึ่งของเขาทำเอง มาเลเซียกับอินโดนีเซียก็เหมือนกัน แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมเพลงของเขาสู้เราไม่ได้ คือบ้านเรามันใหญ่มาก หลังเจรจากันไปก็รู้ว่าเรายังไม่เหมาะ ผู้บริหารจึงตัดสินใจให้ Grammy มาช่วยดูแล ส่วนผมก็ถือว่า ได้ทำงานเสร็จแล้ว เพราะหน้าที่ของเราคือทำรายการใช่ไหม ขณะที่การตัดสินใจหลังจากนั้นเป็นเรื่องของกรรมการ”

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้เตรียมรับมือกับความสำเร็จมาก่อน แต่กระแสที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ไม่จำกัดแค่สมาชิกของ UBC ก็ทำให้เคเบิลทีวีเบอร์ 1 เริ่มคิดการพัฒนารายการจนกลายเป็นเรียลลิตีที่อยู่ในใจผู้คนมาถึงทุกวันนี้

เบื้องหลังการสร้างเวทีนักล่าฝันแบบ AF รายการเรียลลิตี้ 24 ชม. แรกของเมืองไทย

สานต่อปรากฏการณ์ความปัง

ความสำเร็จของ Academy Fantasia ส่งผลให้ UBC ผลิตรายการเรียลลิตี้ตามมาหลายรายการ Panda Channel ซึ่งถ่ายทำตั้งแต่หลินปิงยังแบเบาะ และก็มีฉากเด็ดที่หลายคนไม่ลืม เช่น หลินปิงตกต้นไม้

เช่นเดียวกับตัวรายการหลัก ซึ่งอรรถพลยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเพิ่มกล้องในรถระหว่างเดินทางจากคลับเฮาส์ไปยังสตูดิโอ เนื่องจากในฤดูกาลแรก ทางทีมงานยังไม่ได้คิดถึงจุดนี้ ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามชีวิตของนักล่าฝันได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงสร้างลูกเล่นใหม่ ๆ เช่น การโหวตกลับ ด้วยการจัดบ้านหลังเล็กให้คนที่ถูกโหวตออก ได้ฝึกซ้อมและมีโอกาสกลับเข้ามาในคลับเฮาส์อีกครั้ง รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาออกอากาศจาก 9 สัปดาห์เป็น 12 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังขยายช่องทางการออกอากาศไปสู่ฟรีทีวี อย่าง ITV ซึ่งนำเนื้อหาของ Academy Fantasia เป็นไฮไลต์สรุปเหตุการณ์ มาออกอากาศวันละครึ่งชั่วโมง ทุกวันจันทร์-ศุกร์ และช่วงคอนเสิร์ต ทุกวันอาทิตย์ เวลา 22.30 – 24.00 น. รวมทั้งยังออกอากาศคู่ขนานแบบ Live Streaming ทางเว็บไซต์ด้วย

ผลจากความนิยมที่มีมาต่อเนื่อง ผู้บริหารของ UBC จึงก่อตั้งบริษัท UBC Fantasia เพื่อบริหารศิลปินในสังกัดโดยเฉพาะ ตั้งแต่เรื่องการตลาด ภาพลักษณ์ รวมถึงระดมทีมมืออาชีพมาช่วยทำเพลง เช่น แชมป์ของซีซันที่ 2 คือ อ๊อฟ-ศุภณัฐ เฉลิมชัยเจริญกิจ มีผลงานอัลบั้ม Show Aof หรือรองแชมป์ พัดชา เอนกอายุวัฒน์ ก็รวมกลุ่มกับ เปรี้ยว-อนุสรา วันทองทักษ์ และลูกตาล-รุจนา อุทัยวรรณ์ ทำวงเกิร์ลกรุปที่ชื่อ Power Pop Girls 

ต่อมาเมื่อ UBC เปลี่ยนเป็น True Visions ก็เริ่มมีการลงทุนกับรายการ Academy Fantasia เพิ่มมากขึ้น เช่น การทำสตูดิโอที่บางนาเพื่อเป็นสถานที่ฝึกซ้อมของนักล่าฝันโดยเฉพาะ การเพิ่มจำนวนผู้เข้าแข่งขันจาก 12 คน เป็น 16-24 คน มีเซอร์ไพรส์และลูกเล่นใหม่ ๆ อย่างเช่น ซีซันที่ 3 มีการมอบรางวัลพิเศษให้ผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนสูงสุดประจำสัปดาห์ที่ 6 คือ ตุ้ย-เกียรติกมล ล่าทา ไปเที่ยวฮ่องกงกับแม่เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน หรือในซีซันที่ 4 มีการเชิญซูเปอร์สตาร์ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ มาโทรศัพท์ให้กำลังใจนักล่าฝัน สำหรับอรรถพลแล้วการเซอร์ไพรส์เหล่านี้ นับเป็นความสนุกของทั้งคนทำและผู้ชมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดเป็นรายการใหม่ คือ The Master ด้วยนำแชมป์และรองแชมป์ของฤดูกาลที่ 1 – 5 มาเข้าบ้านอีกรอบ แล้วแข่งขันกัน ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาทดลองใช้ เช่นการถ่ายทำด้วยระบบ High Definition หรือการนำรายการไปออกอากาศผ่านระบบดาวเทียม ทำให้ฐานผู้ชมกว้างขึ้นอย่างมาก

แต่ถึงอย่างนั้น คำถามหนึ่งที่อรรถพลต้องตอบเป็นประจำทุกปี คือ Academy Fantasia มีสคริปต์หรือไม่

ปฏิบัติการล่าฝันของ อรรถพล ณ บางช้าง โปรดิวเซอร์ True Academy Fantasia เรียลลิตี้ 24 ชั่วโมงรายการแรกของเมืองไทย

“เราเป็นรายการจริงที่เดินกล้อง 24 ชั่วโมง เราไม่มีเวลาไปทำสคริปต์ตลอด 3 เดือนได้หรอก สิ่งที่เห็น มันเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของคนสิบกว่าคนตามรูปแบบที่ควรจะเป็น คือเขาจะมีปัญหากันหรือรักกันเป็นเรื่องที่เราบังคับไม่ได้ หรือสมมติเราให้เขาร้องเพลง แล้วพอถึงวันจริงเกิดเขาร้องล่ม เราก็ต้องปล่อยให้ล่มนะ สิ่งเดียวที่เราบังคับได้คือ มีเวิร์กชอป มีกติกาการอยู่ร่วมกัน ซึ่งรุ่นหลังเราอธิบายไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเลยว่า ไม่อยากให้สปอยล์ลูกหรือเสียเงินโหวตเยอะแยะ ถ้าน้องเขาจะดังหรือไม่ดังก็เป็นเรื่องของมหาชน พ่อแม่ไม่ต้องกังวล การเข้ามาในรายการก็ถือเป็นกำไรชีวิตแล้ว

“เรื่องการเลือกช็อตก็เหมือนกัน เราพยายามเน้นช็อตที่มีปฏิสัมพันธ์ สมมติเขาเรียนเต้นก็ง่าย เราก็สวิตช์อยู่ในห้องเต้นเลย แต่ถ้าช่วงพักก็ยากหน่อย เราก็พยายามไปจับแอคชันที่น่าจะเป็นข้อถกเถียง เช่นเด็กสองคนนั่งบ่นเรื่องอะไร หรือคนนี้ฝึกซ้อมหนักมากก็เลือกมา แต่ทั้งนี้เราเคยบอกน้อง ๆ ตอนเวิร์กชอปเหมือนกัน ต่อให้คุณรู้ว่ากล้องอยู่ตรงไหน แล้วพยายามไปเก๊กอยู่ข้างหน้า ผมก็ไม่ตัดออกอากาศนะ เพราะบางคนคิดว่า ถ้าอยู่หน้ากล้องมาก ๆ จะป๊อปปูลาร์ เราก็บอกว่าอย่าไปทำเลย เรามีกล้องเป็นร้อย ต่อให้คุณเต้นให้ตาย ผมไปจับคนอื่นก็ได้ ทำตัวให้เป็นธรรมชาติดีกว่า”

สำหรับอรรถพลแล้ว การทำ Academy Fantasia เปรียบเสมือนการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับผู้ชม เพราะต้องคิด ต้องจัดการอยู่ตลอดเวลา จนแทบไม่ได้หยุดพักเลย แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้พบเจอกับคนใหม่ ๆ ที่มีความสามารถในสาขางานที่แตกต่างกัน ซึ่งมาช่วยกันทำงานจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

“เราทำงานกัน 7 วัน แทบไม่ได้เลิกเลย เพราะกลางสัปดาห์ก็ต้องประชุมคอนเสิร์ตแล้ว ทีมโปรดักชันหรือทีมทำคอนเสิร์ต เขาก็จะมาบรีฟเราด้วยว่า จะทำยังไง ไฟเป็นแบบไหน เวทีจะเป็นแบบนี้ คือมีรายละเอียดเยอะมาก หรืออย่างเซอร์ไพร์สต่าง ๆ ก็ต้องช่วยคิด เช่นนำคุณพ่อคุณแม่มาปรากฏตัวบ้าง เป็นงานที่เหนื่อยแต่ก็สนุก สิ่งหนึ่งที่ได้ผลจาก AF คือการทำงานกับคนที่เป็นมืออาชีพ เขาเก่งจริง เราไม่ได้เก่งคนเดียว เพราะผมไม่มีทางรู้หรอกว่า เขาจัดคอนเสิร์ตยังไง เสียงจะดีเลย์ไหม ทุกอย่างจึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน

“อีกอย่างคือ AF ทำให้เราได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ เรื่องที่ผมยังจำได้ดีคือ ช่วงซีซั่นสอง เราจัดคอนเสิร์ตที่ธันเดอร์โดม ซึ่งจุคนได้ 6,000 คน ปรากฏว่าประตูพังเลย เพราะเข้ามายืนกันเต็มไปหมด ตอนนั้นผมยกมือไหว้ทุกคนเลย ผมรู้ว่าเขาอุตส่าห์เสียเวลามาดูรายการเรา แล้ววันชิงชนะเลิศ เราไปจัดที่อิมแพ็ค อารีน่า ซึ่งมีที่นั่งประมาณ 10,000 ที่ เต็มทุกที่นั่ง แล้วพอคนอยู่กันเต็ม เวลาเสียงเฮดังถึงขั้นขนลุกเลยนะ นี่เป็นมันไม่เคยมีประสบการณ์นี้มาก่อนในชีวิต”

ปฏิบัติการล่าฝันของ อรรถพล ณ บางช้าง โปรดิวเซอร์ True Academy Fantasia เรียลลิตี้ 24 ชั่วโมงรายการแรกของเมืองไทย

งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา

หลังทำรายการมา 12 ปี Academy Fantasia ก็เดินทางมาถึงฤดูกาลสุดท้าย

แม้กระแสของรายการจะค่อนข้างน่าพึงพอใจ ยืนยันจากยอดโหวตที่มากถึง 30 ล้านโหวต แต่ในมุมของอรรถพลก็ยอมรับว่า เรียลลิตี้ 24 ชั่วโมงอยู่ในจุดที่อิ่มตัวแล้ว เนื่องจากรายการและสื่อใหม่ ๆ ที่มาดึงความสนใจของผู้ชม แถมช่วงหลังก็เริ่มหานักล่าฝันที่โดดเด่นและสดใหม่ยากขึ้นอีกด้วย

“พอถึงซีซั่นที่ 7 ที่ 8 มีรายการร้องเพลงในทีวีเยอะมาก ทรัพยากรบุคคลก็เลยลดลงไป เพราะเขาออกรายการอื่นหมดแล้ว ซึ่งเราก็ไม่อยากไปซ้ำ แล้วเราก็อยากให้สแตนดาร์ดของคนที่มาร่วมมีสูงขึ้น เราจึงมองหาตามมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อหาคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนที่มีความสามารถจริง แต่มีความเป็นศิลปินมาก ๆ บางคนก็ไม่อยากมานะ ยิ่งช่วงยุคหลัง ๆ เรื่องการร้องเพลงหรือการออกอัลบั้มก็เริ่มแผ่วลง ขณะที่งานแสดงหรืองานดาราขึ้นมาแทนมากขึ้น ทำให้เราหาคนได้ลำบาก”

หลังพูดคุยกันได้พักใหญ่ พิจารณาถึงความคุ้มค่าในแง่มุมต่างๆ ใน พ.ศ. 2558 ผู้บริหาร True Visions ก็มีความเห็นตรงกันว่า คงต้องหยุดพักเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมงนี้อย่างเป็นทางการ

หากมองย้อนกลับไป ต้องยอมรับว่า นอกจากความบันเทิงแล้ว ตลอด 12 ปี Academy Fantasia ยังเป็นเวทีสำคัญที่ปลุกปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพนับร้อยชีวิตสู่วงการบันเทิงไทย หลายคนกลายเป็นนักร้องเบอร์ต้น ๆ บางคนกลายเป็นนักแสดงแถวหน้าที่ทุกคนอยากร่วมงานด้วย และอีกหลายคนกลายเป็น YouTuber ที่มียอดผู้ติดตามทางออนไลน์สูงเป็นประวัติการณ์

ปฏิบัติการล่าฝันของ อรรถพล ณ บางช้าง โปรดิวเซอร์ True Academy Fantasia เรียลลิตี้ 24 ชั่วโมงรายการแรกของเมืองไทย
ปฏิบัติการล่าฝันของ อรรถพล ณ บางช้าง โปรดิวเซอร์ True Academy Fantasia เรียลลิตี้ 24 ชั่วโมงรายการแรกของเมืองไทย

สำหรับคนเบื้องหลังอย่างอรรถพลแล้ว นี่ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เวทีเล็ก ๆ ได้มีส่วนในการผลักดัน และสร้างความฝันของคนกลุ่มนี้ให้กลายเป็นจริงขึ้นมา

“คุณอาจจะอยู่ในบ้านแค่เดือนเดียว 2 เดือน หรือ 3 เดือน แต่อย่างน้อยคุณได้เพื่อน ได้เข้าใจในสายอาชีพ ได้มีประสบการณ์แสดงต่อหน้าคนดูจริง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครเขาทำให้คุณหรอก ไปหาคนดู 6,000 คนเพื่อดูคุณร้องเพลง มากรี๊ดคุณ มายกป้ายไฟ ซึ่งผมว่ามันสุดยอดแล้วนะ

“แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความรู้พื้นฐานเท่านั้น เพราะเมื่อจบรายการแล้ว ต่อไปนั่นแหละคือชีวิตจริงที่คุณต้องไปศึกษาไปเรียนต่อ อย่างน้องบางคนที่ทำแล้วชอบ เขาก็ได้อาชีพไป เราก็ดีใจกับเขาด้วย แต่หลายคนที่เปลี่ยนอาชีพ ก็ไม่เป็นไร เราคงไปบังคับเขาไม่ได้ เพราะสุดท้ายคุณจะเป็นอะไร เป็นสิ่งที่คุณต้องตัดสินใจเลือกเอง”

เช่นเดียวกับผู้ชมซึ่งอรรถพลมั่นใจว่า Academy Fantasia เป็นรายการดีที่มีประโยชน์ และเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระ เพราะเนื้อหาที่ครูแต่ละคนนำมาสอนนักล่าฝัน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งถ้ามาเทียบกับสมัยนี้ ก็คงเหมือนการเรียนออนไลน์ที่ผู้ชมได้ศึกษาและเติบโตไปพร้อม ๆ กัน

“เราอยากให้ Academy แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง ที่ไม่มียาพิษอยู่เลย คืออย่างน้อยนอกจากเรื่องความบันเทิง เขายังได้เรียนรู้เรื่องบุคลิกภาพด้วย เรียนเรื่องการร้องการเต้น เรียนเรื่องปรัชญาชีวิต เรื่องธรรมะ เพราะถ้าเราทำรายการดีมีสาระ แต่น่าเบื่อ เราเชื่อว่าคนก็ไม่อยู่นะ แต่พอเป็นรายการที่เปิดความจริงแบบนี้ มันจะทำให้เขาได้เสพสิ่งดี ๆ เข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว และนี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจตลอดมา”

แม้ Academy Fantasia จะเป็นเพียงแค่อดีต แต่สำหรับใครหลายคนแล้ว นี่คือความทรงจำที่งดงามซึ่งเปี่ยมล้นด้วยความสุข และไม่แน่เมื่อทุกอย่างเอื้ออำนวย วันหนึ่ง ‘ปฏิบัติการล่าฝัน’ ก็อาจกลับคืนมาอีกครั้งก็เป็นได้

ปฏิบัติการล่าฝันของ อรรถพล ณ บางช้าง โปรดิวเซอร์ True Academy Fantasia เรียลลิตี้ 24 ชั่วโมงรายการแรกของเมืองไทย

ภาพประกอบจาก หนังสือ TRUE ACADEMY FANTASIA • THE ANTHOLOGY

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

  • สัมภาษณ์ คุณอรรถพล ณ บางช้าง หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านดิจิทัล คอนเทนต์ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด วันที่ 20 ธันวาคม 2564
  • หนังสือ TRUE ACADEMY FANTASIA • THE ANTHOLOGY
  • รายงานโครงการเฉพาะบุคคล เรื่อง กิจกรรมพิเศษเพื่อการประชาสัมพันธ์ของบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ยูบีซี) กรณีศึกษา : โครงการ Academy Fantasia โดย อภิรดี ศรีจินดา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างสรรค์และมโนทัศน์ของวิทยากรในรายการทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเซีย ฤดูกาลที่ 1-11 (พ.ศ.2547-2557) โดย กาญจน์คณึง เนตรศรีทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว