ต้นไม้ทุกต้นมีเรื่องเล่า ยิ่งเราได้รู้จักต้นไม้เหล่านั้นมากขึ้น เราก็จะยิ่งสัมผัสความงามที่ซ่อนอยู่ได้มากขึ้น

ที่ผ่านมา เราอาจสัมผัสกับความสวยงามของสวนผ่านทัศนียภาพ แสงแดดสะท้อนผืนน้ำ ท้องฟ้ายามเย็น หรือฟอร์มของต้นไม้ใหญ่ แต่ในวันนี้เราจะชวนทุกคนมาสัมผัสความสวยงามของสวนในมุมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็นความงามที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียด

จากต้นไม้ที่เราเคยเดินผ่าน วันนี้เราจะเดินช้าลง สังเกตพวกเขาให้มากขึ้น ไปแอบพลิกดูลวดลายด้านใต้ใบไม้ สังเกตสีสันบนกลีบดอก แอบดูเกสรเล็ก ๆ ที่หลบซ่อน และเรียนรู้เรื่องราวสนุก ๆ เกี่ยวกับพืชพรรณแต่ละชนิด โดยมี ผศ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์บีน-วิชัย อัยกูล นักพฤกษศาสตร์ เป็นผู้นำทาง

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

การเดินทางครั้งนี้คือครั้งที่ 2 ของกิจกรรมพิเศษ 5 ครั้งที่ The Cloud ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ในการชวนคนเมืองมาเรียนรู้ธรรมชาติผ่านสวนเบญจกิติ จากที่เราได้เรียนรู้แนวคิดการออกแบบสวนและระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำในครั้งก่อนไปแล้ว คราวนี้เราจะไปเรียนรู้เรื่องพืชพรรณในสวนกัน

เดินผ่านต้นไม้ที่เคยคุ้น ในมุมมองใหม่

ก่อนที่เราจะเข้าไปชมสวนเบญจกิติเฟสใหม่ สองนักพฤกษศาสตร์ได้พาเราเดินดูต้นไม้ในสวนด้านนอกกันก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่เราคุ้นเคยกัน เช่น ทองอุไร ประดู่ เสลา แต่วันนี้เราจะได้รู้จักต้นไม้เหล่านั้นในมุมที่ต่างออกไป

อาจารย์บีนเริ่มต้นด้วยการหยิบดอกไม้สีแดงที่เตรียมไว้มาให้เราดู หลายคนจำได้ว่านั่นคือดอกหางนกยูง แต่เขาก็ชวนให้สังเกตสิ่งที่หลายคนไม่เคยมองเห็นมาก่อน นั่นคือกลีบดอกหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อน และมีสีสันที่แตกต่างโดดเด่นออกมา

“แมลงหลายชนิดมองเห็นสีในช่วงที่ต่างจากเรา สีที่โดดเด่นออกมาตรงนี้จะเป็นสิ่งที่เตะตาแมลง และเป็นการบอกตำแหน่งให้เขาลงเกาะ” เรานึกถึงแสงไฟบนรันเวย์ที่นักบินใช้เป็นจุดสังเกตเพื่อลงจอดยามค่ำคืน สีสันบนกลีบดอกนี้ก็คงทำหน้าที่แบบเดียวกัน

“ความพิเศษของตำแหน่งนี้ก็คือ เมื่อเกาะแล้ว เกสรตัวผู้จะห้อยลงมาแปะที่หน้าแมลงพอดี พอแมลงตัวนั้นบินไปตอมดอกอื่น มันก็จะพาเกสรนั้นไปด้วย ข้อดีของการผสมข้ามดอกคือทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนยีน สร้างพันธุกรรมที่หลากหลาย ทำให้อยู่รอดได้ดีกว่า ดอกไม้หลายชนิดก็เลยมีกลไกเพื่อป้องกันการผสมเกสรในดอกเดียวกัน เช่น เกสรตัวผู้กับตัวเมียยาวไม่เท่ากัน หรือฟังก์ชันไม่พร้อมกัน” อาจารย์บีนเล่าความรู้แรกที่ทำให้เรารู้สึกว้าวในความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

ส่วนทาง ดร.สาโรจน์ ก็พาผู้ร่วมทริปมาหยุดที่ต้นทองอุไร ต้นไม้ดอกสีเหลืองที่เราเห็นกันบ่อยตามข้างทาง พร้อมเล่าว่า ต้นนี้เป็นญาติในวงศ์เดียวกับต้นชมพูพันธุ์ทิพย์และเหลืองปรีดียาธร

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

“ในบรรดาต้นไม้ในเมือง จะมีอยู่ 2 วงศ์ที่เราเจอได้บ่อยมาก หนึ่งคือวงศ์ชมพูพันธุ์ทิพย์ จุดเด่นของวงศ์นี้คือ ดอกฟู ออกดอกเยอะ กลีบดอกเชื่อมกัน ถ้าสังเกตดอกที่ร่วงลงมา จะเห็นว่ามันร่วงมาทั้งดอก ไม่ได้แยกเป็นกลีบ ส่วนอีกวงศ์คือวงศ์ถั่ว เช่น ประดู่ มะขาม จามจุรี หางนกยูง พวกนี้เป็นใบประกอบ หนึ่งข้อมีหลายใบ กลีบดอกไม่เชื่อมกัน เวลาดอกร่วงก็จะร่วงเป็นกลีบ ๆ” เขาเล่าถึงจุดสังเกตเล็ก ๆ ที่อาจทำให้เราสนุกกับการดูดอกไม้ข้างทางมากขึ้น

“จะสังเกตว่าสวนในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้นอก ผมคิดว่าเหตุผลน่าจะเป็นเพราะในไทยมีป่าหลัก ๆ อยู่ 2 แบบ หนึ่งคือป่าผลัดใบ ซึ่งฤดูแล้งใบจะร่วง ถ้าเลือกต้นไม้พวกนี้มาปลูกก็อาจทำให้สวนดูไม่ร่มรื่น ส่วนป่าอีกแบบคือป่าดิบชื้น ซึ่งต้นไม้ในป่าแบบนี้เพาะยากมาก ก็เลยน่าจะเป็นเหตุผลที่เขามักเลือกไม้นอกมาปลูก” ดร.สาโรจน์ อธิบายเหตุผลที่ทำให้เราร้องอ๋อ

อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ไทย ๆ ในสวนนี้ก็มีให้เห็นบ้าง เช่น ต้นพิกุล ซึ่งเป็นไม้ที่มีใบทึบและทรงสวย ต้นข่อย ที่จุดเด่นคือใบสาก รวมถึงต้นไม้ในกลุ่มอินทนิล ตะแบก เสลา ที่มีดอกสีม่วง ไปจนถึงพืชเกาะอย่างเฟินข้าหลวงหลังลาย ที่เขาชวนว่า หากใครมีลูกเล็ก ๆ ก็ลองให้ลูกพลิกดูด้านใต้ใบและลองสัมผัส จะรู้สึกเหมือนมีฝุ่น ๆ เต็มไปหมด นั่นก็คือสปอร์ของเฟิน

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ
เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

“ความสนุกอย่างหนึ่งของการเดินสวนในเขตร้อนคือ เรามักจะเจอของประหลาดที่ในเขตอบอุ่นไม่เจอ บางครั้งเราอาจเดินผ่านมันทุกวันแต่ไม่เคยสังเกต” อาจารย์เกริ่นชวนให้เราสงสัย แล้วชี้ให้ดูกิ่งหนึ่งที่ย้อยลงมาจากต้นเสลา พร้อมเฉลยว่า นี่คือกาฝาก ทำเอาบางคนอุทานว่า ถ้าไม่บอกก็นึกว่าเป็นต้นเดียวกัน

“ถ้ามองดี ๆ ตรงกิ่งนั้น จะเห็นจุดหนึ่งที่มันบวม ๆ น่าจะเป็นจุดที่นกมาขี้เอาไว้ แล้วเมล็ดกาฝากในขี้นกก็งอกออกมาจากตรงนั้น”

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

มีคนสงสัยว่า ถ้าเราเจอกาฝากในสวนของเราควรตัดทิ้งหรือไม่ ดร.สาโรจน์ ก็ตอบว่า หากมองในมุมการจัดสวนเพื่อความสวยงาม เป็นระเบียบ ก็อาจต้องตัดออก แต่ถ้าเป็นสวนเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ก็แนะนำให้เก็บเอาไว้ เพราะพลังงานที่กาฝากแย่งจากต้นหลักไม่ได้มากถึงขนาดที่ทำให้ต้นแม่ตาย อีกทั้งผลกาฝากยังเป็นอาหารให้นกบางชนิดได้ด้วย

เราเดินต่อกันมาอีกไม่กี่ก้าว ก็เจอกับต้นไม้ที่โด่งดังในฐานะไม้ประดับในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่จริง ๆ แล้วในธรรมชาติ พืชกลุ่มนี้คือไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ – เรากำลังพูดถึงต้นไม้ในกลุ่ม ‘โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง’

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

“ต้นนี้น่าจะเป็นต้นกร่าง ความน่าสนใจของพืชกลุ่มนี้คือ มันวิวัฒนาการมาร่วมกับสัตว์ชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นคือ ต่อไทร หรือ fig wasp ที่ทำหน้าที่ผสมเกสรให้ไทร โดยช่อดอกของไทรซ่อนอยู่ในสิ่งที่ดูคล้ายผลกลม ๆ มีรูเล็ก ๆ ให้ต่อไทรมุดเข้าไปผสมเกสรข้างใน ถ้าเราลองแกะสิ่งที่ดูคล้ายลูกไทรนั้นออกมา จะเห็นแมลงเล็ก ๆ ข้างในเต็มเลย”

ชื่อ ‘ต่อไทร’ นี้อาจทำให้หลายคนกลัว แต่จริง ๆ แล้วต่อไทรไม่เป็นอันตราย และเป็นแมลงคนละกลุ่มกับต่อแตนที่มีเหล็กใน ซึ่งต่อไทรแต่ละชนิดก็จะผสมเกสรให้ไทรเฉพาะชนิด จำเพาะเจาะจงกันเหมือนแม่กุญแจกับลูกกุญแจ ซึ่งเมื่อดอกไทรได้รับการผสมเกสรแล้ว ก็จะกลายเป็นผลไทรสุกที่สัตว์นานาชนิดโปรดปราน ว่ากันว่าเมื่อใดที่ลูกไทรในป่าสุก ปาร์ตี้ของผืนป่าจะเริ่มต้นขึ้น

“ถ้าเราไปเที่ยวป่า อาจเคยเห็นป้ายสื่อความหมายที่บอกว่า ไทรคือ ‘นักบุญของผืนป่า นักฆ่าแห่งพงไพร’ ซึ่งฉายานักบุญของผืนป่าก็มาจากการที่ผลของมันเป็นอาหารให้สัตว์หลายชนิด เช่น นก ลิง ชะนี เวลาเดินป่าแล้วเจอไทรสุกจะโชคดีมาก จะเห็นสัตว์เต็มเลย แต่ที่บอกเป็นนักฆ่าแห่งพงไพร ก็เพราะว่าหลายครั้งเมล็ดไทรจะมากับขี้นกที่ไปขี้ไว้บนกิ่งไม้ เมล็ดไทรจะงอกรากมาจากตรงนั้น แล้วพอรากลงมาถึงดินเมื่อไหร่ก็จะโตไวมาก แล้วมันก็จะพันล้อมต้นแม่จนตาย ทำให้บางทีเราจะเห็นด้านในของต้นไทรกลวง ก็คือต้นเดิมที่ตายไป”

ส่วนต้นโพธิ์ที่เราเห็นบ่อย ๆ ก็อยู่ในกลุ่มไทรเช่นกัน โดยในกรุงเทพฯ จะเจอโพธิ์ได้ 2 ชนิดหลักคือ โพธิ์ขี้นก และ โพธิ์ศรีมหาโพธิ ซึ่งชนิดหลังมีจุดเด่นคือที่ปลายใบจะมีติ่งยาวออกมา ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ficus religiosa ที่มาจากคำว่า Religion

นอกจากไม้ยืนต้นแล้ว เราก็ได้ทำความรู้จักกับดอกไม้อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นดอกเอื้องหมายนา ดอกไม้ช่อดอกสีแดงที่ใบประดับเรียงซ้อนกันเป็นแท่ง หรือดอกประทัดไต้หวัน ดอกไม้สีส้มขนาดเล็ก หน้าตาเหมือนประทัดตามชื่อ

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ
เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

“อย่างต้นนี้คือพลับพลึงตีนเป็ด ถ้าช่วงออกดอกจะมีชันโรงมาตอมเยอะมาก อันนี้คือหนึ่งในแมลงที่อยากให้ทุกคนรู้จักและไม่กลัวมัน มันคือผึ้งตัวน้อย ๆ ที่ไม่มีเหล็กในและไม่เป็นอันตราย” ดร.สาโรจน์ เล่าถึงแมลงที่สำคัญอีกชนิดของโลก

“ดอกไม้แต่ละชนิดก็เหมาะกับสัตว์กินน้ำหวานต่างชนิดกัน อย่างผึ้งนี่จะเข้าดอกไม้กินน้ำหวานจากดอกไม้หลายชนิด ขอแค่ท่อน้ำหวานไม่ลึกเกินไป ส่วนผีเสื้อชอบดอกไม้ที่ลักษณะเป็นหลอด ๆ เพราะลิ้นเขายาว ส่วนนกชอบดอกที่มีสีสด เช่น สีแดง สีเหลือง และมีก้านแข็ง ๆ ให้มันเกาะ”

เมื่อเดินผ่านประตูเข้ามาสู่โซนสวนเฟสใหม่ ดอกไม้ชนิดแรกที่โดดเด่นอยู่ตรงคูกลางถนนก็คือดอกในสกุล เฮลิโคเนีย พืชจากทวีปอเมริกาที่หน้าตาคล้ายดอกปักษาสวรรค์ แต่จริง ๆ แล้วอยู่คนละวงศ์กัน ซึ่งเรื่องราวของดอกนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้ชนิดอื่น ๆ

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

“ดอกไม้ในสกุลเฮลิโคเนียเป็นดอกไม้ที่วิวัฒนาการมาคู่กับนกกินน้ำหวานของที่นั่นโดยเฉพาะ คือพวกฮัมมิงเบิร์ด เพราะตัวดอกแต่ละชนิดจะโค้งต่างกัน ซึ่งฟิตพอดีกับปากนกชนิดที่เป็นตัวผสมเกสรของมันพอดี” ดร.สาโรจน์ เล่าถึงความมหัศจรรย์และความซับซ้อนของธรรมชาติ ซึ่งแม้ในเมืองไทยไม่มีฮัมมิงเบิร์ด แต่เราก็มีนกกินน้ำหวานสีสวยอย่างนกกินปลี ทำหน้าที่ผสมเกสรให้ดอกไม้ไทยหลายชนิดเช่นกัน

“วันนี้สิ่งที่อยากให้ทุกคนได้กลับไป ก็คือคำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ ยิ่งเรารักษาความหลากหลายไว้มากเท่าไหร่ ลูกหลานของเราก็จะยิ่งมีอะไรให้ดูมากขึ้น ธรรมชาติก็จะสมบูรณ์ การเรียนรู้ธรรมชาติก็จะสนุกขึ้น”

รู้จักพืชข้างทางที่เราเคยเดินผ่านเลยไป

เมื่อเราเข้ามาสู่สวนเฟสใหม่ ความแตกต่างอย่างแรกที่เห็นเด่นชัดก็คือพื้นหญ้าข้างทาง จากที่เป็นหญ้าชนิดเดียวเตียนเรียบ ก็กลายเป็นพื้นที่ที่มีพืชหลายชนิดขึ้นปะปนกัน

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

ดร.สาโรจน์ ชวนเราก้มลงสำรวจ พร้อมบอกว่า หากนับดูก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 20 ชนิด พร้อมแนะนำให้เรารู้จักชนิดที่เห็นบ่อย ๆ อย่างเช่น หญ้าปากควาย ที่ช่อดอกตรงปลายสุดแตกออกเป็นแฉก หญ้าลิ้นงู ที่คล้ายดอกเข็มเวอร์ชันย่อส่วน ลูกใต้ใบ ที่เป็นใบประกอบเล็ก ๆ มีลูกกลม ๆ เรียงตัวกันอยู่ด้านใต้ตามแนวก้านใบ รวมถึงผักเสี้ยนผี ที่เป็นญาติกับผักเสี้ยนฝรั่งที่มักเป็นไม้ประดับตามเกาะกลางถนน

“ส่วนต้นนี้เป็นต้นที่เราเดินผ่านกันทุกวัน ต่อไปเวลาเดินตามฟุตพาท อยากให้ลองสังเกตตามพื้น เชื่อว่าภายใน 10 นาทีต้องเจอต้นนี้ มันคือต้นน้ำนมราชสีห์ ถ้าหักจะมีน้ำยางสีขาวไหลออกมา อยู่ในกลุ่มเดียวกับโป๊ยเซียน”

เรื่องเล่าจากพรรณพืช ประโยชน์ของวัชพืช ชีวิตใต้น้ำ และฟังก์ชันความรกในสวนเบญจกิติ

ลักษณะของต้นนี้นั้นคุ้นตา ใบเป็นขน ๆ ก้านสีแดง ช่อดอกเป็นกระจุกกลม ๆ ส่วนอีกต้นหนึ่ง คนในวัย 30 ขึ้นไปน่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะสมัยเด็กจะต้องเคยเก็บเมล็ดของต้นนี้มาเล่น นั่นก็คือ ต้อยติ่ง หรือที่บางคนเรียกกันว่า เมล็ดเป๊าะแป๊ะ เพราะถ้านำเมล็ดแก่ของต้นนี้ไปใส่ในน้ำ มันจะแตกกระเด็นขึ้นมา ซึ่งเป็นกลไกให้เมล็ดเดินทางไปไกลจากต้นแม่

ส่วนพืชชนิดถัดมาที่อาจารย์ชี้ให้ดู หลายคนได้ยินชื่อแล้วร้องอ๋อ มันคือต้นอ่อมแซบ หรือบุษบาริมทาง หรือบางคนอาจคุ้นในชื่อเบญจรงค์ 5 สี ที่ได้ชื่อนี้มาจากดอกที่มีได้หลายสี

“ต้นนี้ล่อผึ้งได้ดีมาก หากใครอยากปลูกดอกไม้เรียกแมลง ตัวนี้คือคำตอบหนึ่ง แถมกินได้ ปลูกง่าย บางทีก็ขึ้นเองด้วยซ้ำ”

ในยุคที่แมลงผู้ผสมเกสรที่สำคัญอย่างผึ้งลดจำนวนอย่างรวดเร็ว การเก็บรักษาความหลากหลายของพืชริมทางเล็ก ๆ เหล่านี้ จึงเป็นหนึ่งหนทางที่ช่วยฟื้นฟูประชากรของพวกมันในเขตเมืองได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดก็คือพืชต่างถิ่น (Alien Species) ที่หลายชนิดเป็นพืชต่างถิ่นรุกราน (Invasive Species) ซึ่งหมายถึงชนิดที่ขยายพันธุ์รวดเร็วมาก จนไปแย่งพื้นที่ของพืชพื้นถิ่นและทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่นั้น

“ตรงนี้ก็มีเอเลี่ยนสปีชีส์อยู่บ้าง แต่เท่าที่เห็นก็ไม่ได้รุกรานมากนัก ตัวที่น่ากลัวและรุกรานหนัก ๆ จะเป็นพวกที่อยู่ในวงศ์ทานตะวัน เช่น บัวตอง ปืนนกไส้ เพราะกระจายโดยลมและติดเมล็ดทีหนึ่งเยอะมาก”

ความสัมพันธ์ระหว่างแมลงกับพืชไม่ได้มีแค่การผสมเกสรเท่านั้น แต่ใบของพืชหลายชนิดก็เป็นอาหารแมลงเช่นกัน ซึ่งอาจารย์บีนก็เล่าเกร็ดสนุก ๆ ของวิวัฒนาการให้ฟังว่า ฝั่งพืชเองก็ไม่ได้ปล่อยให้แมลงกินตามอำเภอใจ แต่พืชหลายชนิดมีการสู้กลับ โดยสร้างสารเคมีออกมาต้าน ทำให้พืชหลายชนิดมีรสฝาด และสารเคมีหลากหลายที่พืชสร้างเหล่านี้ ก็คือสิ่งที่ทำให้พืชหลายชนิดมีสรรพคุณทางยา ไม่ว่าจะเป็นด้านยาสมุนไพรพื้นบ้าน ไปจนถึงงานวิจัยยาสมัยใหม่

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

ฟังก์ชันของความรก

เราเดินลัดเลาะตามทางเดินเข้ามาในโซนพื้นที่ชุ่มน้ำ สองข้างทางเต็มไปด้วยพืชน้ำหลากชนิด บางต้นสูงท่วมหัว ซึ่งวันนี้เราได้เรียนรู้ว่าในความรกนั้นมีความสำคัญ ทั้งในแง่การบำบัดน้ำ การยึดหน้าดิน การเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ

“ต้นหญ้าหรือกกพวกนี้ เป็นจุดที่นกมาสร้างรังกันเยอะ เมล็ดของมันก็มีนกบางชนิดมากิน ส่วนนกบางชนิดที่ไม่กินเมล็ด ก็อาจมาเกาะเพื่อรอกินแมลงที่ซ่อนอยู่ตามใบ” ดร.สาโรจน์ อธิบายถึงประโยชน์ของพืชเหล่านี้ในมุมที่มากไปกว่าความสวยงาม

“ตัวที่เด่นที่สุดที่สูงท่วมหัวเราตรงนี้ก็คือ คล้าน้ำ ที่นี่มี 2 ชนิด คือคล้าน้ำช่อห้อยกับคล้าน้ำช่อตั้ง ถ้าเราสังเกตตรงดอกดี ๆ จะเห็นว่ามันเป็นดอกคู่ที่เป็น Mirror Image คือเป็นเหมือนกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน” อาจารย์เล่าเกร็ดเล็ก ๆ ที่น่าจะทำให้การเดินสวนครั้งต่อไปของเราสนุกขึ้น

ส่วนพืชน้ำที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่างบัว วันนี้เราก็ได้เรียนรู้ว่าที่นี่มีบัวหลักอยู่ 2 ชนิด คือบัวหลวงและบัวสาย โดยบัวหลวงมีจุดเด่นคือใบจะชูพ้นน้ำ ส่วนบัวสายใบจะปริ่มน้ำ

“บัวหลวงเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนจริง ๆ ใบมาห่อข้าว กลีบดอกก็อยู่ในตำรับยา ส่วนบัวสายก็มีเรื่องน่าสนใจ คือวันที่ดอกบานวันแรก เกสรตัวเมียจะทำงาน ของเหลวตรงกลางเกสรตัวเมียจะดึงดูดให้ผึ้งบินตกลงไป เกสรตัวผู้ที่ติดมากับผึ้งจากดอกอื่นก็จะตกลงตรงนั้น แล้วผึ้งก็จะถูกขังไว้ในนั้นก่อน พอวันต่อมาเกสรตัวผู้ทำงาน ผึ้งก็จะพาเกสรตัวผู้ออกไป”

นอกจากประโยชน์ต่อผึ้งและแมลงในส่วนดอกเหนือน้ำแล้ว ความซับซ้อนของสายบัวใต้น้ำก็เป็นที่อยู่อาศัยและหลบภัยของเหล่าสัตว์น้ำเช่นกัน ซอกหลืบเหล่านั้นเหมาะต่อการวางไข่ของปลาหลายชนิด

ส่วนเกาะกลางน้ำก็มีไม้ยืนต้นหลายชนิดที่น่าสนใจ ทางฝั่งอาจารย์บีนก็ชวนให้เราดูต้นหนึ่งพร้อมบอกว่า นั่นคือต้นมะกอกน้ำ ไม้พื้นถิ่นที่เคยมีเยอะในกรุงเทพฯ และเป็นที่มาของชื่อ ‘บางกอก หรือ Bangkok’

ส่วนอีกต้นข้างทางที่หลายคนเห็นแล้วก็จำได้ว่าคือต้นสาละ แต่อาจารย์บีนก็เฉลยว่า นั่นคือความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ เพราะจริง ๆ แล้ว ต้นนี้มีชื่อว่า ‘กระสุนปืนใหญ่ (Cannonball Tree)’ ที่อยู่คนละวงศ์กับต้นสาละเลย ซึ่งเขาก็สันนิษฐานว่า ความเข้าใจผิดนี้น่าจะเริ่มมาจากคนที่นำเข้ามาปลูกคนแรก ๆ แล้วส่งต่อความเข้าใจผิดนั้นมาเรื่อย ๆ

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

“ส่วนต้นนี้คือกกอียีปต์หรือกกปาปิรุส ชื่อนี้หลายคนน่าจะคุ้น มันคือต้นที่นำมาทำกระดาษปาปิรุส กระดาษชนิดแรกของโลก” อาจารย์บีนพูดถึงพืชน้ำชนิดหนึ่งที่ตรงปลายมีลักษณะเป็นเส้น ๆ พู่ ๆ มีช่อดอกเล็ก ๆ สีน้ำตาล

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

เมื่อก้มลงดูผืนน้ำสองข้างทาง เราก็รู้สึกได้ว่าน้ำที่นี่ดูสะอาดชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่า เป็นน้ำที่มาจากคลองไผ่สิงโต ซึ่งสถาปนิกในทีมออกแบบจากอาศรมศิลป์อย่าง ชัชนิล ซัง ก็เผยเคล็ดลับว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของเหล่าพืชน้ำที่ถูกปลูกไว้ในเส้นทางบำบัดน้ำ 1.5 กิโลเมตร โดยช่วงแรก ๆ ที่น้ำมีคุณภาพต่ำ จะมีพืชบำบัดหลักอย่างกกและธูปฤาษี เมื่อคุณภาพน้ำเริ่มดีขึ้น ก็จะเริ่มมีพืชพื้นถิ่นตามท้องไร่ท้องนามากขึ้น เช่น ไคร้ย้อย สันตะวาใบพาย สันตะวาใบกลม กระจูด ผักบุ้ง ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมทริปที่เคยทำงานในโครงการแหลมผักเบี้ยก็ช่วยเสริมว่า จริง ๆ แล้วไม่ว่าพืชน้ำชนิดไหนก็บำบัดน้ำได้ เพียงแต่บางชนิด เช่น ธูปฤาษี อาจทำหน้าที่ได้ดีกว่าชนิดอื่นและทนต่อน้ำคุณภาพต่ำได้ดีกว่า

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'
บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

“น้ำเสียตามบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งเมื่อถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียจะกลายเป็นสารอนินทรีย์ เช่น ไนเตรต ฟอสเฟต ฟังก์ชันของพืชน้ำก็คือการดูดซึมสารเหล่านี้ไปใช้ ถ้าไม่มีพืชน้ำ สารเหล่านี้จะมีเยอะ สาหร่ายในน้ำจะโตดี พอกลางคืนสาหร่ายหายใจใช้ออกซิเจน ก็จะทำให้ออกซิเจนลดลง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและเกิดกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นผลจากแบคทีเรียที่ย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน”

ฟังแล้วก็รู้สึกขอบคุณการมีอยู่ของพืชน้ำเหล่านั้น

ความพิเศษของสวนที่ยังไม่เสร็จ

ด้วยความที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่นำมาปลูกเป็นกล้าไม้จากการเพาะเมล็ด ไม่ใช่ไม้ล้อม ทำให้สวนนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งในมุมของนักพฤกษศาสตร์อย่าง ดร.สาโรจน์ ก็บอกว่า นี่คือสิ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามต่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

“เสน่ห์อย่างหนึ่งของที่นี่คือมันยังไม่เสร็จ พวกผมในฐานะนักวิชาการก็สนใจกันว่า มันจะมีการเปลี่ยนแปลงยังไง เช่น ไม้บางตัวที่เอามาปลูกอาจตายไป แล้วอาจมีไม้พื้นถิ่นเข้ามาเกิดเอง หรือไม้ใหญ่ที่เขาเอามาลงจะรอดไหม เพราะดินที่นี่ค่อนข้างตื้นและน้ำค่อนข้างกร่อย เราก็อยากเห็นว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง”

เมื่อมีคำถามว่า การที่ต้นไม้จะเข้ามาเกิดเอง มันจะมาจากไหนได้บ้าง อาจารย์บีนก็ตอบว่าอาจเป็นได้จากหลายทาง เช่น เมล็ดปลิวตามลมมา ซึ่งบางครั้งเมล็ดที่เบา ๆ ก็อาจมาไกลได้นับร้อยกิโลเมตร หรือไม่ก็อาจมากับสัตว์ เช่น นก ไปจนถึงเมล็ดที่อยู่ในดินอยู่แล้ว พอดินถูกพลิกกลับขึ้นมาก็อาจเติบโตได้

ส่วนคำถามที่ว่าอยากให้ที่นี่มีต้นอะไรเพิ่มเติม ดร.สาโรจน์ ก็บอกว่าอยากเห็นพืชน้ำพื้นถิ่นที่เคยมีในอดีต เช่น ต้นเทียน ซึ่งแต่ก่อนมีเยอะมากในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันหายากแล้ว เพราะถูกพืชต่างถิ่นอย่างธูปฤาษีแย่งชิงพื้นที่ไปหมด รวมถึงสาหร่ายข้าวเหนียว ซึ่งเป็นสาหร่ายกินแมลง ใบของมันจะเป็นกระเปาะคอยดักสัตว์เล็ก ๆ ในน้ำ

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

“ยิ่งมีความหลากหลาย ระบบนิเวศก็จะยิ่งสมบูรณ์ขึ้น หลายคนอาจกลัวว่า ถ้ามีบ่อน้ำแล้วยุงจะเยอะ แต่จริง ๆ แล้วถ้าเรามีพืชหลากหลาย มีสัตว์หลากหลาย มันก็จะเริ่มกินกันเอง ทำให้จำนวนยุงถูกควบคุมและไม่เป็นปัญหา”

สิ่งที่ ดร.สาโรจน์ เล่านี้ก็เป็นประเด็นเดียวกับที่ โตมร ศุขปรีชา Chief Creative Director ของ OKMD ได้ยกตัวอย่างให้ฟังก่อนเริ่มเดินว่า ที่สิงคโปร์มีสวนแห่งหนึ่งที่มีบ่อน้ำสำหรับแมลงปอโดยเฉพาะ ชื่อว่า Dragonfly Pond ซึ่งมีแมลงปอบินว่อนมากมาย และแมลงปอเหล่านี้รวมถึงตัวอ่อนแมลงปอก็ทำหน้าที่กินยุง เช่นเดียวกับสวนเมจิจินกุที่โตเกียว ซึ่งออกแบบด้วยแนวคิดเดียวกันคือการฟื้นคืนธรรมชาติและระบบนิเวศหรือที่เรียกว่า Rewilding

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

หากจะสรุปสิ่งสำคัญสักข้อหนึ่งที่ทำให้สวนนี้แตกต่างจากสวนอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ เราก็คิดว่า น่าจะเป็นการที่สวนนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังออกแบบมาเพื่อสัตว์อื่น ๆ ที่อยู่ร่วมเมืองกับเราด้วย

“สวนนี้อาจไม่ได้มีต้นไม้ที่สวยงามออกดอกตลอดเวลา แต่เราอยากให้ที่นี่มีต้นไม้ที่มีประโยชน์มากกว่าแค่เรามอง หรือให้ออกซิเจน และเป็นที่อยู่ของสัตว์ต่าง ๆ เราพยายามเลือกต้นไม้ให้หลากหลาย มีต้นไม้ที่นกกินได้ เช่น หว้า ตะขบ ไทร แล้วก็อาจมีต้นไม้ที่เป็นยาและอาจเป็นอาหารของเราด้วยก็ได้” ชัชนิลเล่าถึงเบื้องหลังการคิดที่ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อมนุษย์

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

“เหตุผลที่เราออกแบบให้มีเนินอยู่ด้านในและล้อมรอบด้วยน้ำ เพราะเราอยากให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่คนจะไม่เข้าไปรบกวนเขา ส่วนทางเดินก็สังเกตว่าค่อนข้างแคบและคดเคี้ยวไปมา เพราะเราอยากให้คนระวัง และไม่มีกิจกรรมโลดโผนที่อาจไปรบกวนกัน”

ส่วนน้อง ๆ สรรพสัตว์ในสวนนี้จะมีใครบ้าง และพวกเขาเชื่อมโยงกับชีวิตเราในเมืองอย่างไร โปรดติดตามได้ในกิจกรรม Earth Appreciation ลำดับถัดไปในตอน ‘สวน สัตว์’

บันทึก Earth Appreciation 06 : เดินตามนักพฤกษศาสตร์ ไปทำความรู้จักพืชพรรณมากมายใน 'สวนเบญจกิติ'

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ