31 ตุลาคม 2018
28 K

หากพูดถึง ‘สวนพันพรรณ’ หลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าสถานที่ที่เรากล่าวถึงคือที่ใด แต่หากพูดถึงชื่อเจ้าบ้านอย่าง โจน จันได เราเชื่อว่าใครๆ ก็คงเคยได้ยินชื่อนี้อย่างแน่นอน

เราเดินทางมาที่นี่กับ Alive Trip 02 : The Seed Collector ทริปที่ The Cloud ร่วมกับ TOYOTA และมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ชวนหนุ่มสาวออกเดินทางไปใช้ชีวิต ออกไปค้นหาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่กับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั่วประเทศไทย ครั้งนี้เป็นทริปที่ 2 แล้วที่เราร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Gap Year Program ของมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาเคลื่อนที่ที่พาคนหนุ่มสาวออกเดินทางไปเรียนรู้กับผู้รู้ตัวจริงในด้านต่างๆ ทั่วประเทศไทยตลอด 9 เดือน

สวนพันพรรณ, โจน จันได

การเดินทางในครั้งนี้ เรามาพบกับโจน จันได ที่สวนพันพรรณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตัวเองและค้นหาความเรียบง่ายให้ชีวิต

สวนพันพรรณ, โจน จันได สวนพันพรรณ, โจน จันได

สิ่งที่เขาสนใจและอยากถ่ายทอดให้กับทุกๆ คนที่มีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมเยียนที่พันพรรณไม่ได้มีแค่เรื่องของบ้านดินอย่างที่เราได้เห็นกันผ่านสื่อเท่านั้น แต่ที่นี่ยังสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการเป็นศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ และเก็บเมล็ดพันธุ์แท้ไว้แจกจ่ายให้กับคนทั่วไปที่ต้องการนำไปปลูกต่อกันฟรีๆ อีกด้วย

สำหรับคนเมืองที่ใช้ชีวิตภายใต้ระบบทุน การที่มีคนมาบอกว่า เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สร้างอาหาร สร้างบ้าน หรือสร้างปัจจัยสี่อื่นๆ ให้กับตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากนั้น ช่างเป็นเรื่องที่สวนทางกับชีวิตประจำวันที่เราเป็นอยู่

การเดินทางมาทริปนี้จึงเต็มไปด้วยคำถาม ที่เราต้องหาคำตอบด้วยการมาทดลองใช้ชีวิตด้วยตัวเองเท่านั้น 3 วัน 2 คืนในทริปนี้อาจจะไม่ได้ทำให้เราทำเป็นทุกอย่างที่ได้ลองทำ แต่เราเชื่อว่าทุกคนจะได้ค้นพบความง่ายในความหมายของตัวเอง

สวนพันพรรณ, โจน จันได

อยู่อย่างพันพรรณ

ก่อนจะเดินทางมาที่พันพรรณ เราเคยจินตนาการไว้ว่าที่นี่คือพื้นที่ทำการเกษตรแบบครบวงจร ทันสมัย และมีทุกอย่างที่สวนเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ควรมี

แต่ภาพความจริงที่เราเห็นตรงหน้า คือภาพของสวน 14 ไร่ ที่มีพื้นที่อยู่อาศัยผสมผสานกับพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ไม่มีโรงเพาะชำ ไม่มีเครื่องจักร หรือความทันสมัยที่เราคิดไว้เลย แต่เป็นภาพ ‘บ้านๆ’ ที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

สวนพันพรรณ, โจน จันได

สวนพันพรรณ, โจน จันได

โจน จันได บอกว่า ภาพของพันพรรณที่พวกเราเห็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้คือภาพที่เขาไม่ได้คิดไว้ และเกินจากความตั้งใจเอาไว้มาก

ความตั้งใจแรกในการบุกเบิกที่ดินผืนนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เขาอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ปลูกพืชผักไว้เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่กำลังจะสูญหายไป ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นที่อยู่อาศัย หรือคิดว่าจะมีใครอยากมาอยู่ที่นี่เหมือนเช่นทุกวันนี้

ก่อนพันพรรณจะเขียวชอุ่มและอุดมสมบูรณ์เช่นทุกวันนี้ ที่นี่เคยเป็นที่ดินราคาถูกเพราะหน้าดินถูกทำร้ายด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีมาก่อน การทำการเกษตรที่นี่จึงเป็นการพลิกฟื้นหน้าดินครั้งใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานกว่าที่หน้าดินจะฟื้นขึ้นมาได้

เขาเริ่มจากไม่มีทุน ไม่มีแรงงาน ปลูกพืชทุกชนิดที่ต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ และยกเลิกการใช้สารเคมีทุกชนิด จนในมาถึงวันนี้พันพรรณไม่ได้มีแค่โจน จันได คนเดียว แต่ยังมีอาสาสมัครที่เคยมาเข้าคอร์สฝึกอบรมย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชุมชนเพราะเชื่อในสิ่งเดียวกัน

เมื่อมีคนมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น โจน จันได บอกว่า สิ่งที่ต้องมีในการอยู่ร่วมกันไม่ใช่กฎ แต่เป็นสามัญสำนึก

สวนพันพรรณ, โจน จันได

“แต่ละคนที่มาอยู่ที่นี่ล้วนเป็นคนที่เคยอยู่ในเมืองมาก่อนทั้งนั้น ก่อนที่จะมาอยู่ด้วยกันเราก็มาคุยกันว่าแต่ละคนอยากมาเรียนรู้อะไรจากที่นี่ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะสร้างทางเลือกใหม่ให้กับชีวิตได้อย่างไร ชีวิตที่เรารู้สึกสบาย ง่าย และไม่เครียด ด้วยแนวคิดนี้เลยกลายเป็นที่มาของศูนย์การเรียนรู้เพื่อการอยู่แบบง่ายๆ ในตอนแรก ซึ่งคำว่าศูนย์การเรียนรู้ไม่ได้หมายความว่าให้ใครเข้ามาเรียนรู้หรอกนะ แต่หมายถึงให้พวกเรากันเองเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันได้

“ที่นี่เราอยู่กันแบบไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไร เพื่อทำลายความเป็นเจ้าของลง” นี่คือข้อตกลงร่วมกันข้อหนึ่งของพันพรรณที่สวนทางกับโลกภายนอก แต่กลับทำให้หลายคนที่นี่ได้พัฒนาตัวเองได้มากกว่าที่พวกเขาเคยคิดไว้

สวนพันพรรณ, โจน จันได

ที่บอกว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไร เพราะที่นี่ไม่มีใครถืออะไรเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ทุกอย่างเป็นของส่วนกลาง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้โดยที่ไม่มีกฎระเบียบ ไม่มีผู้นำ ไม่มีหัวหน้า แม้ว่าโจน จันได จะเป็นคนบุกเบิกที่ดินผืนนี้ แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้นับว่าตัวเองมีสิทธิมากกว่าเพื่อนร่วมชุมชนคนอื่นๆ

หลายคนคงสงสัยว่าแล้วเขาอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เพราะโดยปกติแล้วยิ่งมีคนเยอะก็ยิ่งต้องมีกฎมาก เพื่อป้องกันการละเมิดการอยู่ร่วมกัน

สวนพันพรรณ, โจน จันได สวนพันพรรณ, โจน จันได

“ผมมองว่าการมีกฎระเบียบทำให้คนไม่ใช้สามัญสำนึกในการอยู่ร่วมกัน เพราะเรารู้สึกว่ากฎระเบียบมันปกป้องเราอยู่ นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันดีมาก มันทำให้คนพัฒนาตัวเองได้เร็ว หลายๆ ครั้งที่เราเห็นกฎระเบียบ คนไม่ได้ทำตามกฎเพราะว่าเขาชอบมัน แต่ทำตามกฎเพื่อไม่ให้ขัดกับคนอื่น” นี่คือสิ่งที่โจน จันได เข้าใจหลังการเรียนรู้ร่วมกันมา 15 ปี

ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมาเขาบอกว่าที่นี่ยังไม่เคยมีการทะเลาะเบาะแว้งกันเลยสักครั้ง แต่กลายเป็นว่าทุกคนช่วยเหลือกันดีมาก ช่วยกันตัดสินใจ ช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน และช่วยกันดูแลสวนได้เป็นอย่างดี

“วิธีการแบบนี้มันสวนทางกับคนหมู่มากที่อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีผู้นำ ไม่มีหัวหน้า ไม่มีกฎระเบียบ แต่เราพบว่าการมีผู้นำมันทำให้ปัญหาทุกอย่างไหลมาอยู่ที่ผู้นำเป็นหลัก แล้วผู้นำจะต้องแบกรับภาระสูงมาก แต่พอเราไม่มีผู้นำ ทุกคนจะเป็นผู้นำของตัวเอง ตัดสินใจเองได้ เห็นปัญหาก็จะแก้ไขเอง ช่วยกันมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ”

ระบบการทำงานของพันพรรณ คนในสวนทุกคนไม่ได้มีหน้าที่หลักว่าใครคือคนขับรถ ใครคือคนทำครัว ใครเป็นนักบัญชี แต่ทุกคนจะได้เปลี่ยนหน้าที่กันและทำทุกสิ่งเวียนกันไป วิธีการแบบนี้จึงทำให้ทุกคนในสวนมีประสบการณ์ร่วมกัน เข้าใจในสิ่งเดียวกัน และเกิดความขัดแย้งน้อยลง

สวนพันพรรณ, โจน จันได สวนพันพรรณ, โจน จันได

ส่วนคนที่มีความสนใจเฉพาะอยู่แล้ว เช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์ ก็จะเป็นตัวหลักในการทำเรื่องนี้ เพราะเขาอยากทำ และต้องฟังเสียงของชุมชนด้วยว่าทุกคนอยากปลูกอะไรกันบ้าง ปลูกแล้วผลผลิตออกมาเป็นอย่างไร หรืออยากเก็บเมล็ดพันธุ์อะไรกันอีก

ตารางการทำงานบนผนังห้องครัวทำให้เราเห็นว่าระบบการทำงานของที่นี่เป็นอย่างที่เขาพูดไว้จริงๆ ในแต่ละวันเราจึงได้เจอพ่อครัวแม่ครัวที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำอาหารกันไม่ซ้ำหน้า และได้กินเมนูเด็ดใหม่ๆ ไม่ซ้ำเลยสักวัน

ปัจจุบันพันพรรณเป็นทั้งชุมชนที่มีคนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกทุกอย่างที่คนที่นี่อยากกิน และกินทุกอย่างที่ปลูก เป็นศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ทั้งพันธุ์ไทยและต่างประเทศ และยังแจกเมล็ดพันธุ์ให้กับคนที่เขียนจดหมายเข้ามาขอฟรีๆ มีพื้นที่เลี้ยงวัวนม เลี้ยงไก่ไข่ มีคาเฟ่เล็กๆ ที่กลิ่นอบคุกกี้และขนมปังหอมไปทั้งสวน และเปิดคอร์สให้คนภายนอกเข้ามาเรียนรู้ได้เรื่อยๆ ไม่ว่าคุณสนใจเรื่องไหนก็ตามที่เป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ ทุกคนก็ยินดีเปิดบ้านต้อนรับให้เข้ามาทำความรู้จักกัน

เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

หลายคนอาจจะจดจำภาพของโจน จันได จากกระแสการทำบ้านดินในยุคหนึ่งของเมืองไทย แต่ความสนใจอันดับหนึ่งของเขาคือการเก็บเมล็ดพันธุ์ ที่พันพรรณจึงมีศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง และยังส่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้กับผู้ที่เขียนจดหมายเข้ามาขอแบบฟรีๆ

งานหลักของที่นี่เป็นการปลูก เก็บเกี่ยว และเก็บเมล็ดพันธุ์ ทำซ้ำอย่างนี้ไปทุกฤดูกาล ซึ่งสิ่งที่พวกเขาปลูกและเก็บกันนั้นก็ต้องเป็นพืชพรรณที่คนในสวนอยากกินด้วยเช่นกัน เมื่อพวกเขาปลูกและสร้างอาหารเองได้ จึงไม่แปลกใจที่อาหารการกินของที่นี่จะรสชาติดีเป็นพิเศษ

สวนพันพรรณ, โจน จันได

และเขายังเชื่อว่าวิธีหนึ่งที่คนเราจะพึ่งตัวเองได้ คือเราต้องสร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง

แต่ในเมื่อมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ออกลูกเป็นผลเหมือนต้นไม้ก็ไม่ได้ แล้วเราจะสร้างอาหารของตัวเองได้อย่างไร?

คนที่มาให้คำตอบกับเราในวันนี้คือ นาง หนึ่งในสมาชิกของสวนพันพรรณที่สนใจการเก็บเมล็ดพันธุ์มากเป็นพิเศษ

เธอบอกว่าโจน จันได คือครูที่ปรึกษาที่ไม่เคยหวงเมล็ดพันธุ์เลยสักครั้ง ถ้าความผิดพลาดนั้นทำให้เธอได้เรียนรู้และเข้าใจการเก็บเมล็ดพันธุ์ได้มากขึ้น เธอลองผิดลองถูกด้วยตัวเองอยู่นาน จนเจอความง่ายในแบบของตัวเอง

นางชวนเราคิดง่ายๆ ว่า ทุกครั้งที่เราไปตลาดหรือไปซูเปอร์มาเก็ต เราเคยรู้ไหมว่าพืชผักที่เราเห็นอยู่นั้นมีที่มาจากไหน ปลูกอย่างไร หรือมีวิธีการดูแลอย่างไรก่อนจะมาถึงผู้บริโภคอย่างเรา

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ตามท้องตลาดที่เราปลูกจากซองกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เราไม่สามารถนำไปปลูกต่อได้ หรือถ้าปลูกแล้วก็จะไม่ได้ผลผลิตเหมือนกับรุ่นแรกที่เราได้กิน เนื่องจากมีการดัดแปลงทางพันธุกรรมเพื่อให้ได้พืชผลที่สมบูรณ์ในรุ่นแรกรุ่นเดียวเท่านั้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้สามารถสังเกตตัวอักษร F1 ได้ง่ายๆ ที่หลังซอง แม้ว่าเขาจะมีบอกไว้อย่างชัดเจน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายของคำนี้

แล้วถ้าซื้อเมล็ดซองมาปลูกแล้วได้ผลผลิตไม่ดี เราจะปลูกพืชได้อย่างไร?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เราต้องเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกเองซะเลย

สวนพันพรรณ, โจน จันได

การเก็บเมล็ดพันธุ์ คือการเก็บเอาเมล็ดพันธุ์แท้จากดอกหรือผลของพืชชนิดนั้นๆ มาเก็บไว้เพื่อเพาะพันธุ์ต่อในฤดูกาลต่อๆ ไป ซึ่งการจะรู้ได้ว่าพันธุ์ไหนแท้ไม่แท้ก็ต้องมีการปลูกเพื่อทดลองและทำการจดบันทึกกันมาก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าตอนนี้ปลูกไปถึงรุ่นที่เท่าไหร่แล้ว นางบอกว่า เมล็ดพันธุ์ที่ไม่แท้สามารถทำให้เป็นเมล็ดพันธุ์แท้ได้ แต่ต้องผ่านการปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ไปเรื่อยๆ ถึง 7 เสียก่อนถึงจะได้พันธุ์ตามที่ต้องการ  

นอกจาก F1 แล้วยังมีคำอื่นๆ ที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ เช่น GMOs (Genetically Modified Organisms) หรือพืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ที่เราได้ยินกันจนชินและลืมนึกถึงอันตรายของมันไปแล้ว แม้ว่าสิ่งที่เรากินเราใช้จะแปะป้ายว่าเพื่อสุขภาพมากแค่ไหน แต่เราก็ได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ทุกๆ วันไม่ว่าจะเป็นในสิ่งของอุปโภคหรือบริโภคก็ตาม

ความอันตรายของ GMOs อาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนการกินยาพิษที่กินแล้วตายได้ทันที แต่สารที่ผ่านการดัดแปลงและฉีดเข้าไปในพืชพรรณเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกายเราต่อไปอีกนาน และเราไม่มีทางรู้เลยว่าร่างกายเราดูดซึมสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไปในส่วนไหนบ้าง การกินอาหารที่เป็น GMOs ติดต่อกันเป็นเวลานาน วันดีคืนดีอาจจะทำให้เราแพ้อาหารบางชนิดที่เราไม่เคยแพ้มาก่อน ทำให้เกิดโรคต่างๆ และอาจทำให้อายุขัยของเราสั้นลง

สำหรับคนเมืองที่ไม่เคยเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง นางบอกกับเราว่า นี่คือวิธีการสร้างอาหารที่ง่ายที่สุดที่มนุษย์จะทำได้แล้ว

เธอยกถาดมะละกอแขกดำและแตงไร่จากสวนคนขี้เกียจมาให้เรา แตงไร่ลูกนี้ได้มาจากบ้านของ โอชิ-ชินดนัย จ่อวาลู ที่เราไปเรียนรู้วิถีปกาเกอะญอกันที่บ้านเขามาในทริปที่แล้ว โอชิจึงฝากแตงลูกนี้มาเพื่อให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ที่พันพรรณด้วย

สวนพันพรรณ, โจน จันได

สวนพันพรรณ, โจน จันได

นางบอกว่า “การเก็บเมล็ดพันธุ์คุ้มค่ากว่าการซื้อเมล็ด 1 ซองมาปลูก เพราะผลไม้ 1 ลูกที่เราเก็บมามันไม่ได้มีแค่เมล็ดเดียว พืชบางชนิดมีเมล็ดเยอะมาก เก็บ 1 ครั้งได้อีกหลายร้อยเมล็ด ปลูกต่อได้อีกหลายร้อยต้น ถ้าปลูกไม่ไหวก็แบ่งคนอื่นไปปลูกได้ ถ้าเราเอาไปปลูกแล้วมันออกลูก เราก็ได้เมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้นไปอีก เราปลูกแค่ครั้งเดียวแต่เราได้กินไปอีกนาน ถ้าเราปลูกมะละกอ เราก็ไม่ต้องซื้อมะละกออีกเลย”

และความสนุกอย่างหนึ่งของการเก็บเมล็ดพันธุ์คือ การกิน นางชวนทุกคนล้อมวงกินมะละกอสดๆ ปลอดสารเคมีจากสวนพันพรรณที่เธอปลอกให้ เราขูดและตัดเมล็ดออกจากผลกันออกมาคนไม้ละมือ ไม่น่าเชื่อว่าการเรียนไปกินไปจะทำให้เราเข้าใจความสำคัญของการเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ชัดเจนมากขึ้น

สวนพันพรรณ, โจน จันได

ต่างพันธุ์ ต่างวิธีการ

เมล็ดมะละกอเรียกว่าเมล็ดแบบเปียกเมือก’ เป็นเมล็ดชนิดที่มีเจลเคลือบอยู่ วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์แบบนี้ ถ้าบี้เมือกออกทีละเมล็ดจะเสียเวลามาก เทคนิคที่นางค้นพบและทำให้เก็บได้ง่ายขึ้นคือ เอาเมล็ดไปแช่น้ำไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แช่ให้มันเน่าเพื่อให้เจลมันออกง่ายขึ้น แต่ถ้าเราขูดเมล็ดออกมาทิ้งไว้รอให้มันแห้งจะไม่สามารถเก็บไว้นานๆ ได้ และทำให้เมล็ดขึ้นราได้ง่าย หลักการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญคือต้องสะอาด หลังจากแช่น้ำแล้วต้องเอามาล้างให้สะอาด แล้วเอาไปตากให้แห้งในวันแดดดีๆ สัก 3 วัน เมื่อแห้งสนิทแล้วก็ค่อยเอามาใส่ในถุงพลาสติก และใส่ซองกันชื้นเพื่อป้องกันเชื้อรา

สวนพันพรรณ, โจน จันได

ส่วนแตงไร่เรียกว่า ‘เมล็ดเปียก’ เพราะเมล็ดจะเปียกจากน้ำที่อยู่ข้างในผล แต่ไม่มีเมือกมาหุ้มไว้เหมือนมะละกอ เมื่อผ่าแล้วจะเห็นเมล็ดได้ทันทีเลย วิธีการเก็บเมล็ดเปียกเราจะล้างน้ำแล้วตากเลย ไม่ต้องแช่น้ำทิ้งไว้ แต่ถ้าพืชผลขนาดเล็กและต้องเก็บเยอะ เช่น พริก สามารถเอาใส่เครื่องปั่นแล้วปั่นเบาๆ ได้เลย กดปั่นแล้วหยุดสลับกันไปเรื่อยๆ แต่อย่าปั่นแรงเกินไป ปั่นเสร็จแล้วก็เอาไปล้างน้ำ ร่อนน้ำเพื่อกรองเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ออก แล้วก็อาไปตากเลย แต่ควรตากในช่วงเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เช่น แดดช่วงเช้าถึงสายๆ หรือแดดบ่ายแก่ๆ ถึงเย็น หลังจากแห้งแล้วค่อยคัดแยกเมล็ดที่แตกออกอีกรอบ

นอกจากนี้ยังมี ‘เมล็ดแห้ง’ ที่เราสามารถเก็บแห้งๆ จากต้นได้เลยโดยไม่ต้องล้างน้ำ เมื่อเก็บมาแล้วต้องร่อนทำความสะอาด เมื่อแน่ใจว่ามันแห้งดีแล้วค่อยใส่ในถุง แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น รอปลูกในฤดูกาลถัดไป

ซึ่งเมล็ดแต่ละอย่างก็มีอายุขัยไม่เท่ากัน เมื่อเราเก็บไปแล้วก็ต้องเอาออกมาปลูกตามฤดูกาลของมัน เพื่อไม่ให้เมล็ดพันธุ์เสียด้วยนะ

นางบอกว่าทุกวันนี้เมล็ดพันธุ์ในท้องตลาดราคาสูงมากถึงกิโลละหมื่นบาท คนที่ต้องแบกรับภาระนี้ไม่ใช่ใคร แต่เป็นชาวสวน ชาวไร่ ที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มาปลูก ถ้าหากพวกเขาเรียนรู้ที่จะเก็บด้วยตัวเองได้ก็จะช่วยลดภาระได้มาก ไม่ใช่แค่ได้พันธุ์แท้ แต่ยังได้ผลผลิตที่ดี รสชาติดี และดีกับสุขภาพของคนกินอีกด้วย

บ้านที่ทำให้เราได้พึ่งพาตัวเอง

เมื่อเราสร้างอาหารด้วยตัวเองได้แล้ว สิ่งต่อไปที่ท้าทายความสามารถในการพึ่งตัวเองได้มากขึ้นคือการสร้างบ้าน

สวนพันพรรณ, โจน จันได

สวนพันพรรณ, โจน จันได

โจน จันได มักจะบอกกับเราเสมอว่า “การใช้ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ถ้ารู้สึกว่ามันกำลังยาก แสดงว่าเรากำลังทำบางอย่างผิด” และวิธีคิดแบบนี้สามารถใช้กับการทำบ้านได้เช่นกัน

เขาย้ำกับเราว่า บ้านดิน คือบ้านที่ทำง่ายที่สุดในโลกแล้ว แค่มาเรียนรู้วิธีการ ใช้ความตั้งใจ และไม่ต้องไปสนสูตรหรือส่วนผสมมาก แค่ลองผิดลองถูกไปก็รู้แล้วทำอย่างไร ส่วนเรื่องของความสวยงามหรือความสมบูรณ์แบบคือเรื่องสมมติทั้งสิ้น

สวนพันพรรณ, โจน จันได สวนพันพรรณ, โจน จันได

ที่เขาเชื่อว่าง่าย เป็นเพราะกว่า 10 ปีที่มีโอกาสได้สอนทำบ้านดินมา กว่า 60% ของคนที่ทำบ้านดินในประเทศไทยเป็นผู้หญิง บ้านดินไม่ใช่แค่ง่ายจนผู้หญิงทำได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตผู้หญิงหลายๆ คน เป็นบ้านที่พิสูจน์ว่าผู้หญิงไม่ใช่เพศที่ด้อยกว่าและพวกเธอสามารถพึ่งพาตัวเองได้จริงๆ เจ้าของบ้านหลายหลังที่ทำในยุคแรกๆ จึงโกนหัวเพื่อเป็นการยืนยันว่าเธอสามารถทำลายกรอบความคิดนั้นได้ และเอาผมที่โกนออกไปเป็นส่วนผสมของอิฐในบ้าน เพราะบ้านหลังนั้นคือส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ

สวนพันพรรณ, โจน จันได

ถ้าต้องการแรงงานในการทำบ้านเขาแนะนำให้ไปชวนเพื่อนๆ มาลงแขกทำบ้านด้วยกันเพื่อความสนุก แบบนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็ทำบ้านดินได้ทั้งนั้น ถ้ามีเพื่อนมาช่วยกันมากพอ และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากแนะนำให้จ้างคนมาช่วยสร้าง เพราะจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

มาถึงพันพรรณทั้งทีถ้าไม่ได้คลุกดินคงเหมือนมาไม่ถึง เราจับจอบกันไปช่วยกันขุดดิน และฟังเรื่องบ้านจากโจน จันได กันถึงในหลุม เป็นห้องเรียนเรื่องบ้านที่เราได้มีประสบการณ์ในทุกขั้นตอน

สวนพันพรรณ, โจน จันได

ขั้นตอนการทำบ้านดินแบบบ้านๆ มีอยู่ว่า

  1. เลือกสถานที่ก่อนว่าจะปลูกบ้านตรงไหน บ้านดินเป็นบ้านที่ไม่กลัวร้อน ไม่กลัวไฟ ไม่กลัวฝน แต่กลัวอย่างเดียวคือน้ำท่วม ควรเลือกสถานที่น้ำท่วมไม่ถึง ถ้าอยู่ในที่ราบ ทุ่งนา หรือภาคกลาง แนะนำให้ขุดสระ แล้วเปิดน้ำขังไว้เพื่อทดสอบดินทรุด
  2. ออกแบบบ้าน การออกแบบบ้านเป็นส่วนที่สำคัญมากในการสร้างบ้าน ถ้าออกแบบไม่ดี เราก็ไม่อยากอยู่บ้าน กลายเป็นว่าเราต้องจ่ายเงินเยอะ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากบ้าน และคนที่ออกแบบบ้านได้ดีที่สุดคือเจ้าของบ้าน เพราะรู้ความต้องการของตัวเองอยู่แล้วว่าอยากใช้บ้านทำอะไร
  3. ดูทิศทางฝน ฝนที่เราต้องดูคือช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ให้สังเกตว่าลมฝนมาฝั่งไหน เพราะ 2 เดือนนี้ฝนจะมาเป็นพายุ ฝั่งที่ลมฝนมาควรมีชายคายื่นออกไปกว้างๆ  มีหน้าต่างน้อย หรือปลูกต้นใม้ไว้เพื่อบรรเทาลม
  4. แสงแดด แสงที่เราจะต้องคิดถึงคือแสงแดดช่วง 13.00 – 16.00 น. ต้องดูว่าแสงแดดมาจากฝั่งไหน โดยปกติแล้วแดดจะมาทางทิศตะวันตกเชียงใต้ วิธีแก้คือพยายามให้มีหน้าต่างฝั่งนั้นให้น้อยที่สุด ถ้าไม่ต้องการให้แดดเข้าถึงกำแพงมาก และจะทำให้บ้านเย็นสบายมากขึ้น
  5. ใช้ประโยชน์จากลม ลักษณะการสร้างบ้านของคนไทยโดยทั่วไปจะสร้างบ้านที่มีหน้าต่างอยู่สูงกว่าพื้น 80 – 100 เมตร แต่พฤติกรรมของคนไทยไม่ชอบนั่งเก้าอี้ เราชอบนั่งกับพื้น เมื่อนั่งพื้นหน้าต่างก็จะอยู่บนหัวเราพอดี เวลามีลมพัดมาก็จะผ่านหัวเราไป เราจะไม่รู้สึกเย็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากลม ถ้าเราความสูงของขอบหน้าต่างลงอีกนิด ลมก็จะเข้ามามากขึ้น แสงสว่างเข้าถึงมากขึ้น ลมเย็นขึ้น อยู่สบายมากขึ้น และได้ใช้ประโยชน์จากบ้านได้มากขึ้น
  6. เทคาน คานบ้านดินจะต่างจากบ้านทั่วๆ ไป ตรงที่เราจะเทคานบ้านเหนือดินเสมอ บ้านทั่วไปเราจะขุดร่องฝังลงไปในดินเพื่อเชื่อมเสาทุกเสาให้ติดกัน เพราะว่าบ้านธรรมดาเป็นเสารับน้ำหนัก และถ้าเสาใดเสาหนึ่งทรุดจะทำให้มีปัญหาทั้งบ้าน และซ่อมไม่ได้
  7. การทำอิฐ ประกอบด้วยดิน แกลบ น้ำ แต่ไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องใส่อะไรเท่าไหร่ โจน จันได ย้ำว่า “อย่าสนใจสูตร ให้ทดลองทำดูก่อน” และให้เอารอยร้าวเป็นตัวชี้วัด ก่อนจะทำอิฐสำหรับบ้านทั้งหลังให้เราลองผสมดินทำอิฐสักก้อนแล้วตากแดดไว้ดู ตอนเย็นให้มาดูอีกครั้งว่าร้าวหรือเปล่า ถ้ามันร้าวแสดงว่าเส้นใยไม่พอ ให้เราใส่แกลบเพิ่มหรือใส่ดินเหนียวเพิ่ม
  8. เอาอิฐไปตากแดด ถ้าไม่มีฝนตกจะใช้เวลาประมาณ 6 วันเพื่อให้อิฐแห้ง และสามารถเอาไปก่อบ้านได้เลยทันที ในระหว่างที่ก่อบ้านถ้าอยากใส่หน้าต่างตรงไหนก็ให้เอาวงกบหน้าต่างมากตั้ง แล้วก่ออิฐชนไปได้เลย ใช้วิธีเดียวกันกับการทำบ้านคอนกรีตทุกๆ อย่าง
  9. ทำหลังคา ในขั้นตอนการทำหลังคาให้จินตนาการว่า เหมือนโครงกำแพงเวลาเราเล่นเลโก้ ให้เอาคานพาดบนสันกำแพง ส่วนไหนที่วางอยู่บนสันกำแพงให้เอาดินพอก จะทำให้แน่นกว่าการตอกตะปูหรือขันน็อต การทำบ้านดินไม่จำเป็นต้องตอกตะปูเพิ่มเพื่อยึดหลังคาให้ติดกับกำแพง ส่วนหลังคาจะเป็นอะไรก็ได้ที่เราชอบ เพราะบ้านดินรับน้ำหนักได้มากกว่าบ้านธรรมดาถึง 50 เท่า บ้านธรรมดาใช้อิฐ สังกะสี กระเบื้องได้ บ้านดินก็ใช้ได้หมดทุกอย่างเช่นกัน
  10. ฉาบบ้านและทาสี การฉาบบ้านให้เอาดินชนิดเดียวกันกับที่ทำอิฐมาฉาบ ฉาบเสร็จแล้วปล่อยไว้ให้แห้งแล้วค่อยทาสี สีที่ใช้ทาบ้านก็เป็นสีดินเหมือนกัน วิธีทำคือให้เอาดินมาร่อนหรือละลายน้ำ เอาส่วนที่เป็นก้อนใหญ่ๆ ออกให้หมด เอาน้ำขี้โคลนมาตั้งไว้ให้มันตกตะกอน แล้วรินน้ำใสๆ ออก แล้วจะได้ดินที่สีสวยมาก เสร็จแล้วเราก็เอามาผสมเพื่อทาบ้าน สูตรผสมสีมีอยู่ 2 วิธีคือ สีทาภายนอก และสีทาภายใน สีภายนอก เราใช้ปูนขาวที่ร่อนแล้วผสมทรายแล้วก็ดินสีที่เราชอบ ถ้าหาดินสีที่ชอบไม่ได้ให้ใช้สีฝุ่นที่ใช้ผสมคอนกรีตแทน สีชนิดนี้มีขายตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป เมื่อผสมเสร็จแล้วก็ใช้เกรียงหรือใช้มือฉาบได้เลย สีภายใน เราจะไม่ใช้ปูนขาวเพราะมันแพง เราใช้แป้งมันสำปะหลังมาต้มเป็นแป้งเปียก ผสมทรายแล้วก็ดินสี และสีฝุ่นที่เราชอบแล้วก็ฉาบทาได้เลย
  11. เทพื้น หลังจากทำทุกอย่างเสร็จแล้วเราก็เทพื้น พอพื้นแห้งแล้วก็ย้ายเข้าอยู่ได้เลย

สวนพันพรรณ, โจน จันได สวนพันพรรณ, โจน จันได

บทเรียนจากการลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากวิถีชีวิตของคนที่นี่ ทำให้เรารู้ว่าความง่ายที่เราค้นหามาตลอด 3 วันที่พันพรรณ อาจะไม่ใช่การทำทุกอย่างให้เร็ว หรือทำสิ่งต่างๆ ที่เราเคยทำได้อยู่แล้วให้ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราไม่รู้จักความง่าย แต่เราเผลอปิดใจและไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำหรือเรียนรู้สิ่งใหม่มากกว่า จึงไม่รู้ว่าโลกใบนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่เราเริ่มได้ด้วยตัวเอง

สวนพันพรรณ, โจน จันได

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ