21 กุมภาพันธ์ 2022
4 K

นานแค่ไหนแล้วนะ ที่เราไม่ได้มีโอกาสเงยหน้ามองท้องฟ้าในค่ำคืนที่มืดมิด ปล่อยจิตใจและความรู้สึกนึกคิดไปกับฟ้ามืดที่งามสงัด ให้จุดแสงนับหมื่นแสนของดวงดาวสกาวฟ้า เป็นเพื่อนสนทนากับความคิดและจินตนาการของเรา 

เชื่อว่าตอนเด็ก ๆ เราทุกคนคงเคยมีประสบการณ์การนอนดูดาว ฟังนิทานตำนานดาวที่ถูกเล่าต่อ ๆ กันมาอย่างไม่รู้เบื่อ อย่างเรื่องดาวลูกไก่ หรือไม่ก็เรื่องราวของกระต่ายบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นความทรงจำที่มีค่าในวัยเด็กที่อยู่ในลิ้นชักความทรงจำ แต่พอเติบโตมา ดวงดวงดาวนับล้านที่เคยน่าตื่นตาตื่นใจในวัยเด็ก ก็อาจจะค่อย ๆ หมดความน่าสนใจไปจากชีวิตของเรา ความสนใจของเราถูกแทนที่ด้วยแสงสีฟ้าจากดาวดวงเล็ก ๆ ที่เราเป็นศูนย์กลาง เราต่างก้มหน้าอยู่ในดวงดาวของตัวเองทั้งกลางวันและกลางคืน โดยตัดขาดจากจักรวาลและสรรพสิ่งรอบตัว หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะเมืองที่เราอยู่อาศัยนั้นสว่างไสวจนเกินไป ทำให้เราไม่มีโอกาสได้กลับมาเชื่อมโยงกับท้องฟ้ายามค่ำคืน

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย กับการนอนดูดาวที่จะพาเราไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเรากับโลก

ช่วงปลายฤดูหนาวนี้ ผมจึงอยากจะชวนเพื่อน ๆ ล้อมวงพูดคุยกับ แจ็ค-ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของเรากับดวงดาว พร้อมกับบอกเล่าถึงความสำคัญของความมืดสนิทของฟากฟ้าในยามค่ำคืน

เราดูดาวทำไม

ในอดีตผู้คนใช้ดวงดาวเป็นเครื่องมือสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหาทิศทาง บอกฤดูกาลและเวลา รวมทั้งตรวจดูโชคชะตาราศี การเงยหน้ามองฟ้าก็เพื่อหาตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง ในโลกที่หมุนเปลี่ยนเวียนสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว เราเรียนรู้เวลาในแต่ละวันจากการขึ้นลงของดวงอาทิตย์และดวงดาว รู้เดือนจากดวงจันทร์ผ่านข้างขึ้นข้างแรม รู้ถึงการมาของฤดูกาลหนึ่งไปสู่อีกฤดูกาลหนึ่งในรอบปี จากการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาว 12 ราศีบนท้องฟ้า

ในอดีตมีตำนานเล่าขานกันว่า ผู้ที่จะเป็นทหารได้นั้น ต้องมองเห็นและวาดกระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) ได้ครบ 7 ดวง หากใครวาดไม่ได้หรือมองเห็นไม่ครบ แสดงว่าสายตาไม่ดีไม่เหมาะที่จะเป็นทหาร นอกจากดวงดาวยังใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดสายตาสำหรับทหารแล้ว ดาวโจร หรือ ดาวซิริอุส (Sirius) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ยังเป็นเครื่องมือบอกเวลาฤดูกาลเก็บเกี่ยวของชาวนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โจรป่าจะเข้ามาปล้นผลผลิตที่เก็บไว้ในยุ้งฉาง

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย กับการนอนดูดาวที่จะพาเราไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเรากับโลก
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย กับการนอนดูดาวที่จะพาเราไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเรากับโลก

แต่ในโลกปัจจุบันที่เรามีนาฬิกาและโทรศัพท์มือถือล้ำสมัย ซึ่งแทบจะเป็นทุกอย่างมากกว่าการบอกทิศ บอกเวลา และช่วยสแกนดูดาวได้ทั้งฟ้าแม้ในสายตาจริง ๆ เราไม่อาจจะมองเห็น การเงยหน้ามองท้องฟ้าด้วยตาเปล่านั้นมีประโยชน์อะไร นี่เป็นคำถามเก่าแก่แต่ทว่าคลาสสิก เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญาในขณะเดียวกัน สำหรับแจ๊ค การได้ดูดาวและอยู่กับท้องฟ้าที่มืดมิดนั้นให้ความสุข มันทำให้เรารู้สึกค้นพบ และอยากค้นพบวัตถุบนท้องฟ้าที่เรายังไม่รู้จัก ที่สำคัญ การดูดาวช่วยให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า จากภาระหน้าที่และเอกสารงานประชุมที่อยู่แต่ในหน้าจอ 

สำหรับผมที่ไม่ได้เป็นนักดาราศาสตร์และคนที่สนใจถ่ายภาพดวงดาว การได้มองท้องฟ้ามืดสนิทเห็นดาวกระจ่างเต็มฟากฟ้า คือประตูในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติอีกบาน ไปสู่โลกที่เราเล็กจิ๋วและไม่สลักสำคัญ เป็นแค่ฝุ่นเล็ก ๆ ในจักรวาลที่ไร้ขอบเขต

ดูดาว Stargazing 101

เราดูดาวได้ทุกฤดู แต่ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดกับการดูดาว คือเดือนพฤศจิกายนถึงปลายกุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ฟ้าเปิด ไม่มีเมฆบดบัง และยังเป็นช่วงเวลาที่เห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอื่น ๆ ได้อีก เช่น ทางช้างเผือก (Milky Way) ซึ่งจะเห็นชัดตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ตอนรุ่งเช้า

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย กับการนอนดูดาวที่จะพาเราไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเรากับโลก
ภาพถ่ายบริเวณใจกลางทางช้างเผือก สถานที่ถ่ายภาพ เหนือบริเวณอ่างเก็บน้ำวังชมพู จังหวัดลำพูน
ภาพ : สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ

ก่อนที่จะเริ่มดูดาว เราต้องหาทิศเหนือให้เจอเพื่อระบุตำแหน่งการมองเห็นของเรา เดี๋ยวนี้การหาตำแหน่งทิศเหนือนั้นง่ายดาย ด้วยเข็มทิศที่ติดมากับนาฬิกาหรือมือถือ แต่การหาทิศเหนือหรือดาวเหนือ (Polaris) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ของขั้วฟ้าเหนือ ด้วยความรู้ทางด้านดาราศาสตร์พื้นฐาน อาจจะทำให้เราสัมพันธ์กับดวงดาวและฤดูกาลมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญ มันทำให้เรารู้จักและจดจำกลุ่มดาวต่าง ๆ ได้ขึ้นใจ

ในช่วงฤดูหนาว เราหาดาวเหนือ (Polaris) ได้จาก กลุ่มดาวค้างคาว หรือ ดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) สังเกตได้ง่ายจากดาวสว่าง 5 ดวงที่เรียงกันคล้ายตัว M ซึ่งคนไทยจินตนาการเป็นรูปค้างคาว วิธีหาดาวเหนือจากกลุ่มดาวค้างคาว ก็โดยการลากเส้นสมมติเป็นเส้นตรงจากปีกค้างคาวทั้งสองข้างขึ้นไปบนท้องฟ้า จุดที่เส้นตรงสองเส้นตัดกันนั้น ให้ลากจากจุดนั้นผ่านกลางลำตัวค้างคาวหรือท้องตัว M มาเรื่อย ๆ ก็จะเจอดาวเหนือพอดี 

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย กับการนอนดูดาวที่จะพาเราไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเรากับโลก
ภาพถ่ายกลุ่มดาวหมีใหญ่และกลุ่มดาวค้างคาว สามารถใช้เป็นกลุ่มดาวนำทางไปยังบริเวณดาวเหนือหรือขั้วเหนือของท้องฟ้า ที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการหาทิศเหนือ สถานที่ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
ภาพ : สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ

แต่ในช่วงกลางปีที่อาจจะไม่เห็นกลุ่มดาวค้างคาว เราก็ใช้กลุ่มดาวจระเข้ หรือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ช่วยหาได้เช่นกัน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวสว่างเรียงกัน 7 ดวง ผู้คนแต่ละวัฒนธรรมอาจเห็นรูปร่างที่แตกต่างกันไป เช่น เห็นเป็นหมีหรือเห็นเป็นจระเข้ แต่ถ้าดูแบบบ้าน ๆ คนส่วนใหญ่จะเห็นเป็นรูปกระบวยตักน้ำ ให้ลากเส้นตรงผ่านดาวสองดวงแรกที่อยู่ตรงปากกระบวย แล้วลากเส้นตรงออกไปประมาณ 4 เท่าของระยะห่างของดวงดาวสองดวงนี้ ก็จะนำทางไปยังดาวเหนือพอดี นอกจากสองกลุ่มดาวนี้ เรายังหาทิศเหนือ ทิศตะวันออก-ตะวันตก ได้จากกลุ่มดาวอื่น เช่น กลุ่มดาวนายพราน (Orion) เมื่อเราเจอดาวเหนือเพื่อระบุทิศทางของเราในฟ้ามืดได้ เราก็จะใช้ทิศเหนือหรือกลุ่มดาวนั้นเชื่อมโยงไปยังกลุ่มดาวอื่น ๆ ได้ทั้งฟ้า ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีกลุ่มดาวจักรราศี (Zodiac Constellation) ที่เป็นดาวเด่นเห็นได้ชัดประจำทิศตะวันออกของช่วงหัวค่ำให้ได้เห็น

ไม่แน่ว่าการหาทิศเหนือบนฟ้าที่มืดสนิทพบ อาจเป็นอุปมาอุปไมยในการกลับไปค้นพบทิศทางภายในของเราแต่ละคนก็เป็นได้ หากความเงียบทำให้เราได้ยินเสียงภายในใจของตัวเอง ความมืดดำที่งามสงัดก็อาจจะมีพลังในแบบเดียวกัน เพียงแต่ปัจจุบันเราอาจตัดตัวเองออกจากความมืด หรืออยู่ในโลกที่สว่างไสวเกินไป เราเลยต่างหลงทางและค้นหาทิศเหนือของตัวเองไม่เจอ

ความงามในความมืด Dark Sky

อุปสรรคสำคัญของการดูดาว คือ แสงประดิษฐ์ที่เกินพอดี ซึ่งเดี๋ยวนี้เรารู้จักมันในนาม ‘มลภาวะทางแสง’ (Light Pollution) ที่ถูกเรียกว่าเป็นมลภาวะ ไม่ได้เพียงเพราะว่ามันทำให้เราดูดาวไม่ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นภัยเงียบของโลกยุคใหม่ ที่ส่งผลเสียกับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ลามไปยังพืชและสัตว์ต่าง ๆ ในระบบนิเวศที่เปราะบาง เช่น การหลงทิศทางของสัตว์ที่เกิดจากแสงไฟประดิษฐ์ อย่างที่เกิดขึ้นกับเต่าทะเลหรือเมืองที่สว่างมาก ๆ จนนกอพยพหลงทาง แมลงหลงฤดูกาล และที่สำคัญ พลังงานมากกว่าครึ่งหนึ่งในการผลิตแสงสว่างนั้น ร่วงและฟุ้งกระจายไปบนท้องฟ้าโดยไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย

ความทรงจำอันล้ำค่าของการนอนดูดาว และการแก้ปัญหามลภาวะแสงด้วยการทำเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
ชื่อภาพ ‘ฟ้าหลังฝนกับคนถ่ายดาว’ เป็นภาพถ่ายของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ใช้เวลาหลังเกษียณงาน มาเรียนรู้การถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าเป็นงานอดิเรก
ภาพ : สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ 

สำหรับมนุษย์อย่างเราที่ระบบร่างกายมีวิวัฒนาการสัมพันธ์กับเวลาและฤดูกาล เรียกว่าจังหวะของนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm) แสงประดิษฐ์ที่ผิดเวลามีผลทำให้ระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการเยียวยาร่างกายลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อที่มีอาการเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจ หรือแม้แต่โรคมะเร็ง

เพื่อจะทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เคยมืดมิดกลับมามืดอีกครั้ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จึงทำโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดขึ้น หรือแคมเปญที่เรียกกันว่า ‘Dark Sky Places’ เพื่อรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์เขตท้องฟ้ามืด โดยควบคุมการใช้แสงสว่างในเวลากลางคืน เพื่อให้สถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อุทยาน พื้นที่ชุมชน พื้นที่ส่วนบุคคล หรือพื้นที่บริเวณชานเมือง ได้เป็นเขตฟ้ามืดที่ผู้คนได้สัมผัสความงดงามของท้องฟ้า ดวงดาว และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้ นอกเหนือประโยชน์ที่พื้นที่นั้นจะได้รับจากกิจกรรมทางดาราศาสตร์ อย่างเช่น กิจกรรมการดูดาว แคมเปญนี้ยังช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน และสร้างพื้นที่มืดที่มีคุณภาพให้กับสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย แถมได้รายได้ที่อาจจะเพิ่มขึ้น จากต้นทุนที่ยิ่งใหญ่ของท้องฟ้ายามค่ำคืน 

หลายชุมชนก็ได้ริเริ่มและร่วมแคมเปญนี้ อย่างชุมชนที่บ้านปงห้วยลาน อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดการพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำห้วยลานให้กลายเป็นพื้นที่ดูดาวและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ อย่างฝนดาวตกเจมินิดส์ได้สวยงามที่สุด

ความทรงจำอันล้ำค่าของการนอนดูดาว และการแก้ปัญหามลภาวะแสงด้วยการทำเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
ภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยลาน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ : สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ

ลองคิดกันเล่น ๆ ว่า ถ้าทุกบ้าน ร้านค้า ที่พักโรงแรม หรือสถานที่ราชการในเมืองที่เราอยู่อาศัย เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าที่ให้แสงบาดตาอย่างหลอดคอมแพกฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ซึ่งมีโลหะหนักในกระบวนการผลิต มาเป็นหลอดประหยัดไฟ LED ที่มีครอบไฟเพื่อควบคุมทิศทางของแสง และไม่ให้ฟุ้งกระจายขึ้นท้องฟ้า ปิดหรือปรับองศาของหลอดไฟที่เคยส่องต้นไม้ให้กดต่ำลง บ้านเมืองของเราคงสวยงามและโรแมนติกมากกว่านี้ในยามค่ำคืน 

จากเมืองที่ไม่เคยหลับใหลและสว่างไสวด้วยไฟนีออนที่ชวนให้จิตใจอ่อนล้า จะกลับกลายเป็นเมืองดาวที่เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของจังหวะธรรมชาติ ในทุกค่ำคืนของฟ้าหน้าหนาวที่เป็นฤดูดาว เราคงอยากออกมาปูเสื่อหรือลากฟูกนุ่ม ๆ มานอนดูดาวด้วยกัน แบ่งปันเรื่องราวสารทุกข์สุกดิบต่าง ๆ ให้กันฟังท่ามกลางความมืด เด็ก ๆ ของเราคงจะมีนิทานตำนานดาวในความทรงจำมากกว่านี้

ความทรงจำอันล้ำค่าของการนอนดูดาว และการแก้ปัญหามลภาวะแสงด้วยการทำเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
ภาพทางช้างเผือกสะท้อนน้ำ บริเวณพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ นับเป็นจุดถ่ายภาพทางช้างเผือกในฝันของหลาย ๆ คน
ภาพ : สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ

คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์คนสำคัญของยุค เคยบอกเราว่า “เราต่างคือฝุ่นของดวงดาวในจักรวาล” นั่นเพราะธาตุพื้นฐานทั้ง 6 ที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตเรา ล้วนแล้วแต่มาจากธาตุพื้นฐานของดวงดาวต่าง ๆ ในกาแล็กซี การได้เงยหน้ามองฟ้าทุกครั้ง ก็เพื่อกลับไปรับรู้ว่าเรามาจากไหน และรู้สึกสัมพันธ์ (แต่อาจจะไม่สำคัญ) กับสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลมากกว่าที่เราเคยคิด

ความทรงจำอันล้ำค่าของการนอนดูดาว และการแก้ปัญหามลภาวะแสงด้วยการทำเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
ภาพถ่ายบริเวณเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ในเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ในเขตอุทยาน Death valley สหรัฐอเมริกา
ภาพ : สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ

Writer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ