“รู้สึกไหมว่าวันนี้ลมพัดมาจากทางเหนือ”
คำถามแรกในตอนเช้าที่เราได้ยินเสียงสามีคนพื้นถิ่นเชียงรายแท้ๆ เอ่ยถามก่อนที่เราจะขับรถทวนลม กดปิดแอร์เปิดหน้าต่าง เอามือยื่นออกมารับลมแรกของฤดูหนาว มุ่งหน้าขึ้นดอยแม่สลอง ขับจากถนนใหญ่เข้าสู่เส้นทางที่เล็กลงเรื่อยๆ จนเหมือนหลุดเข้ามาในพื้นที่ลึกลับแห่งหนึ่ง แต่แล้วเราก็ใจชื้น เพราะมองเห็นป้าย Ahsa Farmstay

น้องผู้ชายใส่ชุดม่อฮ่อมวิ่งออกมาต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พาเราเดินจากที่จอดรถผ่านบ่อน้ำที่มีแก๊งห่านเจ้าถิ่นกำลังส่งเสียงทักทายผู้มาเยือน มองไปด้านหน้าเป็นนาข้าวเหนียวสีเขียวอมเหลืองพร้อมเข้าฤดูเก็บเกี่ยว ตัดกับสีแดงตุ่นของผนังปูนและสีน้ำตาลไล่สีสลับไปมาของบ้านทรงไทย 4 หลัง มองดูสวยงามแบบไม่ขัดหูขัดตา
ที่นี่คือ ‘อาสา ฟาร์มสเตย์’ ฟาร์มสเตย์ที่ยกระดับรูปแบบการท่องเที่ยวแบบลงลึกถึงชุมชมและธรรมชาติ ให้ง่ายสะดวกสบายมากขึ้น บนพื้นที่ 85 ไร่ มาพร้อมภูมิทัศน์ที่สวยดั่งต้องมนตร์ มองไปทางนั้นก็เห็นไร่นา สวน ป่า
เสน่ห์ของเชียงรายที่จะทำให้คุณตกหลุมรักไม่ยาก คือการผสมผสานของวัฒนธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่ง ถ้ามาเยือนที่นี่ คุณยังคงเห็นชายหญิงนุ่งชุดพื้นเมืองเดินห้างสรรพสินค้า พบชาติพันธุ์โดยไม่ต้องเดินขึ้นยอดดอยสูง
คว้าเสื้อผ้าและถุงอุปกรณ์ยังเที่ยว แล้วตีตั๋วขึ้นเหนือไป อาสา ฟาร์มสเตย์ กันเดี๋ยวนี้เลยเจ้า

ขออาสาแบบ Ahsa
“ทำไมเราไม่ลองทำโฮมสเตย์ที่มีมาตราฐานโรงแรมขึ้นมาล่ะ”
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามที่น่าสนใจ ของ อิม-รสวรรณ คำวัง ผู้บริหารและผู้จัดการ ที่ควบตำแหน่งมาร์เก็ตติ้งของฟาร์มสเตย์แห่งนี้ จากประสบการณ์การทำบริษัททัวร์ที่พานักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามาเที่ยวในประเทศ ภายใต้การดูแลของ บริษัท รุ่งรักษ์จัน จำกัด เธอเล่าให้เราฟังว่า ช่วง 3 – 4 ปีหลังเริ่มมองเห็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เมืองไทยไม่ได้มีดีแค่ วัด วัง หรือทะเลเท่านั้น คนเริ่มเที่ยวลึกลงไปถึงรากของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม วิถีชีวิต ประกอบกับการท่องเที่ยวแบบ Community Base Tourism เริ่มแพร่หลาย บริษัททัวร์จึงลองปรับเปลี่ยนโปรแกรมเที่ยวให้มีมิติมากขึ้น อย่างการพานักท่องเที่ยวไปในสถานที่ใหม่ๆ หรือทำกิจกรรมแบบใหม่ ไปจนถึงการเลือกหาที่พักแบบ ‘โฮมสเตย์’

“โฮมสเตย์มันลดทอนความสะดวกสบายบางอย่างลงไปนะ บางบ้านไม่มีพื้นที่ส่วนตัว บางครั้งเราต้องไปนอนกลางโถงบ้าน ใช้ห้องน้ำร่วมกับเขา ถ้าคุณเป็นสายลุยๆ หน่อยก็โอเค แต่จากที่เราทำทัวร์มา เรามองเห็นว่า ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังชอบท่องเที่ยวแบบเชิงประสบการณ์อยู่” เจ้าบ้านเล่าจุดเริ่มต้น
เพราะอิมมองเห็นช่องทางของธุรกิจ เธอไม่อยากให้โฮมสเตย์มีรายได้ต่อวันแค่หลักร้อย จึงนำวิธีการบริหารแบบโรงแรมมาใช้การท่องเที่ยวแบบชุมชน โดยเปลี่ยนตั้งแต่สิ่งอำนวยความสะดวก การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัย ให้มีความสะดวกสบาย อยู่ง่าย สบายใจ มีพื้นที่ส่วนตัว ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบวิถีชาวบ้านไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะทำสวน ดำนำ ทำอาหารจากแปลงผักสวนครัว ฯลฯ

แต่ที่น่ารักต่อเจ้าตัวน้อยคือ เด็กอยู่ร่วมและชื่นชมธรรมชาติได้ด้วยกิจกรรมหลากลาย ทั้งเล่นม้าก้านกล้วย เก็บลูกยาง ทำขนมห่อใบตอง เรียกว่าถ้าเคยซนแบบไหนที่บ้านสวนต่างจังหวัด ที่ อาสา ฟาร์มสเตย์ ก็ทำแบบนั้นได้
“อาสามาจากคำว่า ‘อะสะ’ เป็นภาษาลาหู่ แปลว่า ชีวิต แล้ว อาสา ยังล้อกับคำว่า Casa คำอิตาเลียนที่แปลว่าบ้าน เรารู้สึกว่าอาสาเป็นคำที่เหมาะกับที่นี่ เราอยากเป็นโมเดลที่สร้างโฮมสเตย์มาตรฐานโรงแรมขึ้นมา
“เราไม่จำเป็นต้องเป็นโฮมสเตย์แบบเดิม เราขอ ‘อาสา’ เป็นต้นแบบฟาร์มสเตย์แบบใหม่ให้คุณนะ”
โฮมสเตย์ที่เชื่อเรื่องความยั่งยืน
โจทย์หลักของอิมที่ส่งต่อให้กับสถาปนิก Creative Crews ออกแบบ คือความยั่งยืนและการอนุรักษ์
พอดีกันกับทีมสถาปนิกมีความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งก่อสร้างและวัฒนธรรมที่ไม่แปลกแยกไปจากชุมชน การออกแบบจึงไม่มีความทันสมัยเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ ทว่ายังคงไว้ด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น


“ตัววัสดุอย่างเดียวไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าเรายั่งยืนแล้วนะ ต้องมากกว่านั้น ตัวบ้านเราใช้วิธีการสร้างแบบโบราณ มีสล่าในชุมชนมาให้คำแนะนำและลงมือสร้างด้วยกัน” อิมพูดพลางชี้ไปที่บันไดไม้ “อย่างบันไดไม้ เราใช้การสลักขัดกันไปมา ไม่ใช่ที่ไหนก็ทำแบบนี้ได้ แต่สิ่งที่เรากำลังทำเป็นการสานต่อภูมิปัญญาของคนที่นี่ไปด้วย”
จากการมองด้วยสายตา บ้านทรงไทยถูกจัดวางอย่างมีระดับและสะดวกสบายเหมือนโรงแรม ร่องรอยการใช้ไม้เก่าที่มาจากหลากหลายที่เพิ่มความรู้สึกของความเป็นบ้านจริงๆ มีการเลือกใช้ดินผสมปูนมาช่วยทำให้ตัวบ้านเย็นแต่ไม่ชื้น การใช้เทคนิคการระบายอากาศธรรมชาติเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้านในช่วงฤดูร้อน และการสร้างกำแพงสองชั้นจะทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันความเย็นในช่วงฤดูหนาว ทั้งหมดนี้ถูกคิดมาตอบโจทย์อย่างเหมาะสมกับพื้นที่และชุมชน
จนทำให้ที่นี่ได้รางวัลด้านการออกแบบมากมายจาก Demark Award และ Good Design Award


เราอยู่ได้ ชุมชนต้องอยู่ได้
ภูมิทัศน์บนพื้นที่ 85 ไร่ มีทั้งเนินและที่ราบ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ร้านอาหาร ที่พัก และสวนบวกไร่
บ้านของแขกที่เข้าพักตั้งอยู่ด้านข้างซ้ายและขวา มี 4 ห้องนอน แต่ละห้องไม่มีส่วนที่ผนังชนกัน มีห้องน้ำส่วนตัวทุกห้อง สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับแขก แต่ไม่ได้ส่วนตัวไปเสียทั้งหมดจนละทิ้งเสน่ห์ของโฮมสเตย์ เรายังเปิดหน้าต่างมาทักทายเจ้าของบ้านได้ สังเกตว่าในห้องเจ้าบ้านพยายามให้มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด ด้วยเหตุผลว่าอยากให้แขกเกิดความสัมพันธ์แบบแชร์ประสบการณ์ จึงมีศาลาตรงกลางที่แต่งด้วยเสวียน เป็นสัญลักษณ์ของอาสา ฟาร์มสเตย์


พื้นที่ตรงนั้นคือที่ที่ทุกคนจะต้องมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน
“เรามีชีวิตเป็นของจริงที่นี่ เราทำเกษตรจริง เรามีครอบครัวที่อยู่ที่นี่จริงๆ” อิมเล่าแนวคิดของโฮมสเตย์
อาสาฟาร์มสเตย์เลยมีบ้านของเจ้าของบ้านอยู่ตรงกลาง โดยเธอชักชวนคนในพื้นที่เชียงรายมาอยู่ดูแลบ้าน พ่วงตำแหน่งดูแลแขกที่เข้ามาพัก โชคดีมากที่อิมเจอคู่คู่สามีภรรยาที่แต่งงานแล้วอยากแยกครอบครัวออกมาจากบ้านของพ่อแม่พอดี ประกอบกับทั้งคู่เคยทำงานโรงแรมกันมาก่อน โชคสองชั้น! นับรวมแล้วมีพนักงานทั้งหมด 6 คนถ้วน


“ถ้าคุณคาดหวังว่ามาแล้วจะอยู่เงียบๆ คนเดียว ที่นี่อาจไม่ตอบโจทย์นั้น” เธอพูดพร้อมรอยยิ้ม
“เพราะน้องๆ จะคอยชักชวนคุณทำอาหาร ดำนา เดินป่า เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของน้องๆ กับแขก บางคนทำงานเป็นเชฟก็มาแลกสูตรอาหารกับเรา ลงมือทำเองเลยก็มี บางคนทำเกษตรกรรมก็มาเล่าเรื่องการปลูกต้นไม้ บางคนพักวันเดียวกัน พอกลับกรุงเทพ เอ๊า อยู่คอนโดฯ เดียวกัน แต่ไม่เคยทักกัน มาเจอกันที่เชียงรายแทน”
ระหว่างฟังอิมเล่าเรื่องสนุก เรามองดูรอบๆ พื้นที่อาสา ฟาร์มสเตย์ สีสันที่แต่งแต้มกลับไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฟาร์มเท่านั้น ที่นี่ยังก่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่กลับไปสู่ชุมชนและแขกผู้หลงรักการท่องเที่ยวแบบชุมชนด้วยเช่นกัน

ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จบลงแค่วันเช็กเอาต์
“บางวันเราก็พาลูกค้าฝรั่งหรือคนไทยน่ารักๆ ไปคุยกับพ่ออุ้ยแม่อุ้ยแถวนี้ เขาก็ไม่เหงา ถัดจากเราอีกนิดมีศูนย์เด็กเล็ก แทนที่แขกจะทานอาหารในห้องอาหาร เราก็เปลี่ยนให้เขาไปช่วยกันทำกับข้าวเลี้ยงเด็กในศูนย์เด็กเล็กแทน
“บางทีลูกค้าอยากบริจาคของให้หมู่บ้านชาวเขา เราก็เป็นตัวกลางส่งต่อให้ มันเลยเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จบลงแค่วันเช็กเอาต์ แล้วลูกค้าก็ได้ความประทับใจในอีกรูปแบบหนึ่ง” เจ้าบ้านเผยความน่ารักของอาสา ฟาร์มสเตย์
อิมชวนเราเดินลัดเลาะขึ้นเนินไปในสวนยางพาราด้านหลัง เป็นทางเดินที่เต็มไปด้วยความแปลกตาของภูมิทัศน์ สุดทางที่เดินได้ก็เป็นจุดชมวิวที่มองออกไปเห็นเมืองในมุมสูง พร้อมทั้งสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอด ก่อนที่จะลงมาพบกับน้องเทียนผู้ดูแลไร่ กำลังพาควาย 3 ตัวของเขาลงไปเล่นโคลนจนขาวโพลนไปหมด ตัดสลับกับเสียงร้องดังของห่านเจ้าถิ่นที่วิ่งหลบลงไปในน้ำ เพราะเจอเจ้าบ้านจับได้ว่ามันกำลังแอบกินรวงข้าวเหนียวในไร่ ส่วนปูนาตัวใหญ่ยักษ์วิ่งหนีเจ้าห่านอีกที มีน้องหมาและน้องแมวที่อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ช่างเป็นภาพที่เราคงไม่มีวันเห็นได้จากที่ไหนง่ายๆ
“รู้สึกไหมว่าวันนี้ลมพัดมาจากทางเหนือ”
หรือจริงๆ ประโยคด้านบนจะเป็นคำถามเชิญชวนให้เรามาเที่ยว Ahsa Farmstay ณ เชียงราย ก็ได้

Ahsa Farmstay
ที่อยู่ : แม่สลองใน ซอย 1 ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย 57110 (แผนที่)
ติดต่อ : 09 7248 4674
Facebook : Ahsa Farmstay อาสา ฟาร์มสเตย์
เว็บไซต์ : www.ahsafarmstay.com