พ.ศ. 2547 เป็นคนเขียนบทละคร ผักบุ้งกับกุ้งนาง (1 – 2 ตอน) เวอร์ชัน วี-วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ และ ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม

พ.ศ. 2548 เป็นครีเอทีฟรายการ O:IC

พ.ศ. 2554 เป็นโปรดิวเซอร์รายการ Five Live

พ.ศ. 2566 ออก คลองถมโทเปีย หนังสือเล่มแรกในชีวิต 

นี่คือประวัติที่ผ่านมาของ ทิตยา ลิม คอลัมนิสต์คนใหม่ของ The Cloud ที่จะมาเปิดคอลัมน์ชื่อว่า Mind Their Own Business! หรือแปลเป็นไทยว่า ‘เรื่องของเขาเราใส่ใจ’ (เจ้าตัวบอกแปลสั้น ๆ ว่า เสือก) 

ทิตยา ลิม เป็นนามปากกาของ อร ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อด้วยบทบาทต่าง ๆ มาหลายสิบปี ก่อนจะลาวงการเพื่อไปรับช่วงต่อดูแลธุรกิจครอบครัว ค้าขายอะไหล่ล้อรถเข็นทุกประเภท และกลับมาทำงานเขียนอีกครั้ง โดยตั้งใจให้เป็นการทำงานอดิเรก 

คลองถมโทเปีย เป็นผลลัพธ์หนึ่งที่เกิดขึ้น อรอยากบันทึกคลองถมในช่วงเวลาที่เธอเติบโต ผ่านชีวิตเพื่อนบ้าน (เธอนิยามว่าเป็นเฮีย ๆ เจ๊ ๆ ของตัวเอง) 12 คน ที่ชีวิตพวกเขาสะท้อนความเป็นคลองถมได้ดี มีตั้งแต่คุณป้าบ้านตรงข้ามที่เป็นเจ้าของแผงหนังโป๊ขนาดใหญ่ คุณลุงที่ใช้ชีวิตให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นำทาง ไปจนถึงพี่สาวคนโตเจ้าของร้านขายน้ำหน้าโรงหนัง

ส่วนใหญ่คลองถมถูกพูดถึงในมุมเศรษฐกิจ ความเป็นย่านการค้า การพูดถึงคลองถมของอรเลยเป็นมุมที่ต่างออกไป มันพูดถึงความรัก ความฝัน ความผิดหวังของคนรุ่นแรก ๆ ที่ร่วมกันสร้างย่านนี้ขึ้นมา ผ่านสไตล์การเล่าเรื่องที่ลงรายละเอียดอย่างคนที่ชอบใส่ใจเรื่องคนอื่น (เป็นนิสัยที่อรบอกว่าได้จากการโตมาในคลองถม) และแฝงความเป็นละคร (ทักษะที่ได้จากคณะที่เรียนมา)

ในคอลัมน์ Mind Their Own Business! อรตั้งใจมาเล่าเรื่องคนและความน่าสนใจในแวดวงต่าง ๆ ด้วยสายตาของคนที่ชอบใส่ใจเรื่องคนอื่นเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือขยายขอบเขตออกจากคลองถม 

หลังจากบทความแรกที่เพิ่งปล่อยไป เป็นเรื่องของไหว้บรรพบุรุษ เราได้รับมอบหมายให้ไปคุยกับอร เพื่อให้ผู้อ่าน The Cloud รู้จักเธอมากขึ้น

พ.ศ. 2525

ถ้าคุณเป็นคนช่างสังเกต คุณจะพบว่าวันวันหนึ่งเจอเรื่องหฤหรรษ์เกินจริงมากมาย 

คลองถมโทเปีย หน้าที่ 19

เราเริ่มบทสนทนาด้วยการขอให้อรเล่าถึงช่วงเวลาที่เธอเป็นเด็ก เธอย้อนไป พ.ศ. 2525 ปีที่เกิด โดยมีฉากหลังเป็นคลองถม ตอนนั้นผู้อยู่อาศัยเกือบทั้งหมดเป็นคนจีนที่อพยพมาด้วยความหวังว่าที่นี่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น อาชีพส่วนใหญ่เป็นการค้าขาย คลองถมช่วงแรก ๆ เลยเป็นย่านที่ขึ้นชื่อด้านการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอะไหล่ต่าง ๆ 

ทุก ๆ วัน ย่านนี้จะเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งคนในพื้นที่และคนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย กลายเป็นความคึกคักที่บางคนเรียกว่าวุ่นวาย จนต้องรีบหาทางย้ายออก แต่สำหรับบางคนถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจให้ได้สังเกตเช่นที่อรเป็น

เสียงนกกาเหว่าและเสียงประตูเหล็กเป็นสัญญาณแรกของการเริ่มต้นวัน แต่ละบ้านจะเดินออกมาเปิดประตูเพื่อเตรียมทำงาน เด็ก ๆ ต่างก็หิ้วกระเป๋า สวมรองเท้า ตรวจเช็กว่าลืมอะไรไหมก่อนเดินออกมาหน้าบ้านไปรอรถโรงเรียน ให้พ่อแม่ไปส่ง หรือเดินทางไปเอง เมื่อเข็มนาฬิกาเคลื่อนไปที่เลข 10 ย่านคลองถมจึงเต็มไปด้วยคนที่มาด้วยจุดประสงค์ต่างกัน (อรบอกว่าถ้าไม่ได้จะมาซื้อของอย่างลูกปืนหรืออะไหล่รถยนต์ก็ไปที่อื่นเถอะ)

“ทุกบ้านเป็นตึกแถวจะรู้จักกันหมดเลย จริง ๆ เราไม่ได้เป็นเพื่อนบ้านที่โอบอ้อมอารีกันหรอก เพราะทุกคนทำมาหากิน แต่เรารู้ว่าบ้านหลังนี้เป็นยังไง มีหนี้เท่าไร ทำอาชีพอะไรบ้าง ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่จะรู้สึกว่าสิ่งที่เห็นเป็นความวุ่นวาย ส่วนเราเห็นสิ่งนี้ทุกวัน เห็นคนตลอดเวลา ทำให้เราจดจำได้ว่าคนนี้เป็นยังไง คนนั้นเป็นแบบไหน ติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลก อย่างตอนนี้ที่ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ หรือมีช่วงสั้น ๆ ที่เราไปอยู่แอลเอก็ติดนิสัยชอบสังเกตสิ่งรอบข้าง”

การอยู่ท่ามกลางสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นมากมายและตลอดเวลา บังคับให้คนต้องหาวิธีรับมือ ไม่ปิดต่อมรับรู้ ก็เปลี่ยนมาเป็นคนเฝ้าสังเกตการณ์แทน อรเลือกอย่างหลัง (ถือเป็นเรื่องดี เพราะถ้าเลือกอย่างแรก เราคงไม่มีเรื่องสนุก ๆ ให้อ่าน) 

วันเวลาผ่านไป คนเก่า ๆ ในคลองถมเริ่มทยอยออกไปอยู่ที่อื่น ทำให้การใช้ชีวิตในคลองถมไม่ได้เป็นเหมือนเดิม คนแปลกหน้าเยอะขึ้น หรือต่อให้ดึกดื่นแค่ไหนก็ยังออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ แต่หลัง ๆ ก่อนที่อรจะย้ายออกจากย่านนี้ เคยโดนจี้หน้าบ้าน ทำให้เธอรู้สึกว่าอยากให้คนอื่น ๆ ได้รู้จักคลองถมในแบบที่เธอเคยอยู่

“คลองถมเป็นย่านที่ค้าขายเต็มรูปแบบอยู่แล้ว แต่เป็นการค้าขายข้างล่าง ข้างบนเป็นที่อยู่อาศัย ไม่น่ากลัว เพราะคนแถวนั้นช่วยกันสอดส่องไม่ให้เกิดอันตราย แต่พอไม่มีคนอยู่ ตอนกลางคืนจะเริ่มน่ากลัว เกิดเรื่องอันตรายได้”

พ.ศ. 2543

เมื่อถึงช่วงเข้ามหาวิทยาลัย อรเลือกเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาศิลปการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถามว่าเพราะอะไร อรเท้าความว่าชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ความอยากแรกคือเข้าคณะนิเทศศาสตร์ แต่คะแนนสอบเข้าคณะนี้สูงมาก อรเลยได้เรียนที่คณะอักษรศาสตร์แทน (ยุคนั้นใช้ระบบสอบเข้ามหาลัยแบบเอนทรานซ์ สอบครั้งเดียว แล้วเลือกคณะที่ต้องการโดยเรียงเป็นลำดับ) ส่วนว่าทำไมถึงเลือกสาขาศิลปการละคร อรบอกว่า ‘สนุก’

หลังจบการศึกษา อรไปโลดแล่นในวงการสื่อ ทั้งฐานะ Copywriter หรือคนเขียนคำโฆษณา โปรดิวเซอร์รายการ Five Live (เจ้าตัวบอกว่านานมาก ๆ จนไม่รู้ผู้เขียนตายจากชาติที่แล้วรึยัง ผู้เขียนตอบไปว่ายังทันได้ดูช่วงหลัง ๆ ก่อนรายการจะเลิกทำไป) ไปช่วยเขียนบทละคร ผักบุ้งกับกุ้งนาง เวอร์ชัน วี-วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ และ ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม ได้ประมาณ 1 – 2 ตอน อรบอกว่าค่าแรงเขียนบทตอนนั้นอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตอน ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่ก็ใช้เวลานานกว่าจะได้ค่าตอบแทนสักตอนหนึ่ง 

มีช่วงที่อรตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการโฆษณาที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ช่วงเวลานี้อรบอกว่าได้ทำอาชีพเยอะมาก เพราะต้องหาเงินส่งตัวเองเรียน เธอเป็นทั้งบาร์เทนเดอร์ คนขับรถส่งอาหาร คนนวด และอาชีพที่อรบอกว่าสนุกสุด เหนื่อยสุด และรายได้สวนทาง คือคนถือกล้องถ่ายทอดสดการแข่งชกมวย

นัดที่อรได้ไปถ่ายเป็นการขึ้นชกของ บัวขาว บัญชาเมฆ ที่ยังใช้ชื่อในวงการว่า บัวขาว ป.ประมุข ทำให้ได้รับความสนใจจากคนเป็นอย่างมาก อรไปทำหน้าที่เป็นตากล้องถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที ความใกล้ชิดระดับที่ว่าเลือดและเหงื่อของคนชกกระเด็นมาโดนตัวช่างกล้องได้ 

สุขภาพแม่ของอรเริ่มไม่ดี เป็นสัญญาณที่บอกอรว่า รายได้จากการทำสื่อไม่เพียงพอที่จะดูแลแม่ อรตัดสินใจลาวงการสื่อมารับช่วงต่อกิจการครอบครัวแทน ค้าขายอะไหล่ล้อรถเข็นทุกประเภท แต่ชีวิตด้านนี้ไม่ค่อยสนุกเท่าไรเมื่อเทียบกับชีวิตที่ผ่านมา เธอเลยกลับมาหางานเขียนอีกครั้ง โดยทำเป็นงานอดิเรกเพื่อชุบชูใจในช่วงวัย 30 ปลาย ๆ 

“เรามีวัตถุดิบที่จะเขียนเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะมีชีวิตอยู่มานาน เราเห็นอะไรมาเยอะ ถ้ายิ่งเป็นคนช่างสังเกตก็จะเห็นรายละเอียดมากขึ้นอีก การค้าขายเป็นอีกโลกหนึ่ง ถ้าเราเป็นเจ้าของจะไม่ยุ่งมาก เพราะทุกคนทำหน้าที่แทนหมดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่คุณต้องจัดการ คือความเครียด เพราะฉะนั้น เวลาว่างเราก็มาทำอะไรที่ชอบ”

พ.ศ. 2565

เราถามอรว่าวิธีเลือกสิ่งที่เธอจะเขียนถึงยังไง เธอตอบว่าขึ้นอยู่กับความสนใจตัวเอง ซึ่งขยายกว้างมาก อรยกตัวอย่าง ‘พระเครื่อง’ เพื่อให้เราเห็นภาพมากขึ้น อรสนใจพระเครื่องในมุมงานศิลปะ การปั้นพระเครื่องในแต่ละยุคสมัยที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เนื้อดินที่ใช้ อรจะไปคลุกคลีในที่ที่เซียนพระอยู่กันเพื่อหาความรู้ ยิ่งคนถามรู้ข้อมูลมากเท่าไร ก็จะทำให้การพูดคุยสนุกตามไปด้วย

‘ปากกาหมึกซึม’ เป็นความสนใจล่าสุดของอร เพราะความหลากหลายของปากกาที่ผู้ผลิตแต่ละเจ้าทำออกมาวางขายในตลาด พื้นที่ขายก็ส่งผลด้วย อย่างประเทศแถบเอเชียจะเน้นเรื่องวัสดุ ถ้าใช้ทอง 18K ทำหัวปากกาจะช่วยให้เขียนลื่นขึ้น เพราะหมึกไหลได้ดี ข้ามไปฝั่งยุโรป เมื่อก้าวเข้าไปในร้าน สิ่งแรกที่พนักงานจะขอให้ทำ คือกางมือออกเพื่อวัดขนาดปากกาที่เหมาะสม

“อีกอันที่สนุก คือ ‘ไพ่นกกระจอก’ รู้จักไหม”

อรถามเรากลับบ้าง เราเคยเห็นไพ่ชนิดนี้จากการดูหนังเรื่องหนึ่ง เป็นฉากระหว่างนางเอกกับแม่พระเอกที่กำลังโต้เถียงอย่างเข้มข้นระหว่างเล่นไพ่นกกระจอก อรบอกว่าต้องลองเล่น เพราะสนุกมาก คล้าย ๆ การเล่นบอร์ดเกม และที่สำคัญคือเป็นหนึ่งในไม่กี่ไพ่ที่ให้ผลตอบแทนดีมาก 

ถึงเรื่องที่เขียนจะตั้งต้นจากความสนใจของอรเป็นหลัก จนคนอ่านอาจเดาไม่ได้ว่าเรื่องที่ตัวเองจะได้อ่านต่อไปคืออะไร แต่สิ่งที่พอมองเห็นได้ คือเรื่องที่อรเล่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรา ยิ่งถ้าใครมีเชื้อสายจีนแบบอรอาจรู้สึกคุ้นเคยเลยก็ได้

“มันกำลังพูดถึงสิ่งที่เราสนใจในมุมที่คนไม่ค่อยเห็นมากกว่า ซึ่งความไม่ค่อยเห็นมีความสนุกอยู่ข้างใน มีรายละเอียดที่ซ่อนอยู่”

วิธีเขียนงานของอรหลัก ๆ อยู่ที่การหาข้อมูล ทั้งหาในอินเทอร์เน็ต แหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไปจนถึงคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง การคุยกับคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับเธอ (ยกเว้นถ้าหน้าเขาดูไม่เป็นมิตรนะ) อรบอกว่าเวลาจะไปคุยกับใครต้องคิดถึงคนที่คุยด้วยให้มาก ๆ อย่าคิดเพียงว่าเราจะได้อะไรจากเขา คุยสิ่งที่เขาสนใจก่อนค่อยมาหาสิ่งที่เราต้องการ ต้องเตรียมตัวหาข้อมูลไปประมาณหนึ่งเพื่อเพิ่มความสนุกในการคุย

“เคยไปคุยกับใครแล้วเขาไล่หรือปฏิเสธไม่คุยด้วยไหม”

“เยอะ” อรตอบสั้น ๆ ก่อนอธิบายต่อว่า บางทีเป็นการโบกมือไล่หรือไม่ยอมคุยต่อ อรเคยสนใจประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง เป็นการไหว้บรรพบุรุษในภาคเหนือ คล้ายกับเทศกาลเช็งเม้งของคนจีน อรลองเดินไปดูตามบ้านต่าง ๆ ที่ทำพิธี บางบ้านไม่ให้เข้าหรือออกปากไล่ก็มี อรเข้าใจท่าทีที่เกิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว บางคนอาจกลัวว่าจะเข้าไปรบกวนหรือเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

“ไม่ต้องเก็บมาคิดมาก ไล่ก็คือไล่ จบ ถึงแม้เราจะเจ็บก็ต้องบอกว่ากูไม่เจ็บ”

เราไม่ถามว่าอรคุยมาแล้วกี่คน เพราะคนไม่ใช่หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ คงจำสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ไม่หมด สิ่งที่เราถามอร คือมีการคุยกับคนครั้งไหนที่ยังจำได้อยู่ไหม อรนิ่งคิดไปสักครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่าขอเป็นสถานการณ์แล้วกัน คือคนที่โกหกให้ข้อมูลเท็จ อรบอกว่าแย่กว่าการที่เขาไล่อีก เพราะมันเสียความรู้สึก

หลังจากคุยเสร็จอรต้องเอาข้อมูลมาตรวจสอบด้วย เพื่อความถูกต้อง เลือกข้อมูลที่ตรวจสอบได้ เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดปีไหน ตรงกับที่เจ้าตัวเล่าไหม ส่วนข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนเล่า อรบอกว่าใช้ความเชื่อล้วน ๆ เพื่อเป็นการเคารพคนที่คุยด้วย

“ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความทรงจำของเขา สุดท้ายก็ต้องใช้ความรู้สึกเราเหมือนกันว่าจะเชื่อได้หรือเปล่า เพราะเวลาคนมาอ่านถ้าเขาจะด่า เขาไม่ได้ด่านางเอ นางซีเจ้าของเรื่อง เขาด่าเราที่เป็นคนเขียน”

พ.ศ. 2567

เวลาที่ต้องเขียนเล่าเรื่องคนอื่น สิ่งที่นักเขียนมักกังวล คือเจ้าของเรื่องจะตำหนิหรือฟ้องร้องไหม ต้องขึ้นอยู่กับวิธีปรุงวัตถุดิบของนักเขียน สูตรของอรคือเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและถ่ายทอดลักษณะนิสัยบางอย่างของเจ้าของเรื่อง แต่ไม่ระบุวัน เวลา สถานที่ หรือชื่อเจ้าของเรื่องอย่างชัดเจน เพื่อปกป้องพวกเขา

“ที่สำคัญมันเป็นการปกป้องอาชีพเขาด้วย บางอาชีพพูดถึงไม่ได้ อย่างอาชีพเราถ้ามีใครมาเขียนเล่าว่าเรามี Supplier ที่ไหน เราก็คงด่าเหมือนกัน เพราะเป็นความลับทางธุรกิจ”

ถ้าตัดคำว่าคอลัมน์ออกไป Mind Their Own Business! เป็นอีกพื้นที่ที่ให้อรได้ทำสิ่งที่ชอบอย่างการเขียน อรบอกว่าข้อดีของการกลับมาเขียนงานตอนที่อายุมากขึ้น คือไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเหมือนตอนที่อายุน้อยกว่านี้ 

“ความสนุกสำหรับเรา คือจะได้ทำสิ่งที่ชอบแน่ ๆ แต่ความไม่สนุกยังคิดไม่ออกเลย ยังไม่เจอ”

ถึงอนาคตการทำคอลัมน์นี้จะยังไม่ได้ถูกวางไว้ นอกจากของคนเขียนที่ตั้งใจเขียนงานไปเรื่อย ๆ หาสิ่งที่สนุกและเป็นประโยชน์กับคนอ่าน (อรบอกว่าอย่างน้อยเอาไปเมาท์ต่อได้แน่ ๆ)  รอติดตามงานอื่นของอรได้ที่นี่ หรือจะไปลองหยิบหนังสือ คลองถมโทเปีย มาอ่านก็ได้ รับรองว่าการไปคลองถมของคุณจะไม่เหมือนเดิม

Writer

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตขับเคลื่อนด้วยแสงแดดและหวานร้อย

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ