หากลองสำรวจคนใกล้ตัวดูสักหน่อย คุณอาจเห็นตุ๊กตาคาแรกเตอร์ต่าง ๆ บริเวณคอมพิวเตอร์ของใครสักคน เหมือนกับที่เราเห็นรุ่นพี่ในออฟฟิศมีเจ้าเพื่อนตัวเล็กรายล้อมอยู่รอบตัว
เจ้าสิ่งนี้เรียกว่า ‘อาร์ตทอย’ (Art Toys)
ท่ามกลางตลาดอาร์ตทอยฝั่งตะวันตกและเอเชียที่ทำรายได้มหาศาลจากตัวละครดังในภาพยนตร์หรืออนิเมะ ประเทศไทยเองก็มีอาร์ตทอยศิลปินและครีเอเตอร์ไทยอย่าง HEARTROCKER, PASULOL และ MILLI ผลิตโดยบริษัทสัญชาติไทย ชื่อว่า ‘TOYLAXY’
แรกเริ่มเดิมที บริษัทนี้เป็นเพียงเว็บไซต์นำเข้าสินค้าประเภทอาร์ตทอยที่ ไมค์-ศรีภูมิ ทินมณี ก่อตั้งขึ้นด้วยความรักและความมุ่งมั่นทุ่มเทเกินร้อย เว็บไซต์นำเข้าเล็ก ๆ จึงกลายเป็นบริษัทผลิตอาร์ตทอยที่รวมพลคนที่ชอบและมีแพสชันเหมือนกัน และเป็น 1 ใน 2 บริษัทในเอเชียที่มีลิขสิทธิ์ของมาร์เวล ทั้งยังเป็นเพียงบริษัทเดียวของโลกที่ได้ลิขสิทธิ์ของ BLACKPINK
หลังจากพูดคุยถึงเบื้องหลังของการผลิตอาร์ตทอยกับไมค์ คนนอกวงการอย่างเราไม่อาจมองข้ามตุ๊กตาเล็ก ๆ เหล่านี้ได้อีกต่อไป สำหรับใครที่อยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยได้ยินชื่อ TOYLAXY ก็คงไม่อาจมองข้ามบริษัทเล็ก ๆ นี้ไปได้เหมือนกัน
“บริษัทยังอยู่ใน Curve ของการเรียนรู้” ไมค์ย้ำกับเราเสมอระหว่างการพูดคุย
เราจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับบริษัทอาร์ตทอยนี้ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง และมีแผนจะส่งศิลปินไทยไปตีตลาดโลกให้ได้

ทำด้วยใจรัก
จุดเริ่มต้นของธุรกิจคือความชอบ ไมค์ชอบเสพป๊อปคัลเจอร์ผ่านหนัง การ์ตูน และเกม เป็นทุนเดิม บวกกับทำงานด้าน E-commerce อยู่แล้ว จึงคุ้นเคยกับงานนำเข้าสินค้าเป็นอย่างดี
ช่วงแรกของการทำเว็บไซต์นำเข้าสินค้า ตลาดอาร์ตทอยในประเทศไทยยังไม่บูม ที่นำเข้ามาขายอิงตามกระแสภาพยนตร์ดังเป็นหลักเพื่อตอบรับความต้องการของตลาด หรือแม้แต่อาร์ตทอยของหนังคลาสสิกอย่าง Star Wars ก็นำเข้าเช่นกัน
เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี บริษัท E-commerce ถูกเทกโอเวอร์ ไมค์เลยถือโอกาสทุ่มเวลาให้ TOYLAXY เต็มที่ ยกระดับธุรกิจไปอีกขั้นด้วยการตั้งทีมผลิตอาร์ตทอยของตัวเองขึ้นมา ประกอบด้วยทีมออกแบบ ทีมปั้น และทีมลงสี
เมื่อเราถามว่าคนแบบไหนถึงจะได้ทำงานกับ TOYLAXY ไมค์ตอบกลับว่า ความชอบเป็นปัจจัยหลัก เพราะถ้าชอบแล้ว ความพยายามจะตามมา ส่วนอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน คือความคิดสร้างสรรค์
TOYLAXY ให้ความสำคัญกับงานออกแบบมาก ขั้นตอนนี้เป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ที่จะออกสู่ตลาด และเมื่อออกแบบแล้ว นำไปผลิตแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับแก้แบบกันหลายรอบ แม้แต่นักศึกษาฝึกงานฝ่ายออกแบบก็ต้องลองออกแบบอาร์ตทอยให้ Art Director ของบริษัทประเมิน 2 รอบ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อทำความรู้จักลักษณะนิสัย
แต่ถึงจะยากขนาดไหน ไมค์และทีมก็ตื่นเต้นทุกครั้งเวลาได้ดูผลงานออกแบบ
“มันสนุกทุกงานแหละครับ ความสุขของการทำ TOYLAXY คือเวลาที่เราคิดงานต่อจากงานที่ฝ่าย 2D สร้างออกมา มันสนุกทุกครั้งที่ออกมาเป็นตัวเป็นตน”


งานผลิตเองงานแรก TOYLAXY ตั้งใจทำเป็นงานปั้นซึ่งทำมือทุกตัว ดำเนินงานเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
“กระบวนการคือเราออกแบบมาเสร็จปุ๊บ ใช้มือปั้น พอปั้นเสร็จเราเกลี่ยให้เรียบร้อย ตัดส่วนออกมา หล่อด้วยตัวเองออกมาเป็นชิ้น ๆ ขัดแต่งอีกทีหนึ่ง แล้วก็ค่อยเอาตัวนั้นมาทำ Mass Production คือเอาตัวต้นแบบนั้นมาหล่อหลาย ๆ ตัว หล่อแขนหลาย ๆ แขนมาประกอบกัน ประกอบแล้วลงสีด้วยพู่กัน ทำกล่อง Protection เอง ทำใบ Certificate เอง ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นหมดเลย” ไมค์เล่า
กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาไม่น้อย และการทำงานแข่งกับเวลาเป็นเรื่องยากเสมอโดยเฉพาะกับบริษัทที่เพิ่งตั้งไข่ TOYLAXY จึงแก้ปัญหาด้วยการแบ่งผลิตที่ประเทศไทย 150 ตัว แล้วบินไปหาพาร์ตเนอร์ถึงประเทศจีน ดูโรงงานผลิต 8 – 9 แห่งกว่าจะเจอโรงงานที่ถูกใจ เพราะต้องดูทั้งกระบวนการทำ คาดคะเนระยะเวลาผลิต และเช็กเรตราคา
เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว TOYLAXY จึงได้เปิดตัว ‘Unleash The Beast’ อาร์ตทอยตัวแรกที่ผลิตเองในงาน Thailand Comic Con 2016
ทุกอย่างย่อมมีครั้งแรกเสมอ
ก้าวสำคัญของ TOYLAXY คืองานลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์แรกได้ บัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยชื่อดังระดับโลกมาทำอาร์ตทอย ไมค์เดินเข้าไปเสนองานกับผู้จัดการของนักมวยคนดังโดยตรง ทั้งเตรียมข้อเสนออย่างดี แถมลงทุนทำวิดีโอโปรโมตการขายไม่ให้เสียชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ผลประกอบการของงานลิขสิทธิ์แรกกลับไปไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้
“ขายได้ประมาณ 500 ตัว ซึ่งถือว่าดีนะ แต่จริง ๆ เราคาดหวังมากกว่านั้น” ไมค์กล่าว
งานลิขสิทธิ์ถัดมาเขาจึงลงทุนลงแรงกว่าเดิม ขยับไปเล่นลิขสิทธิ์เจ้าดังอย่าง ‘Marvel’
โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นเพราะได้ XM Studios บริษัทอาร์ตทอยจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเปรียบเสมือนรุ่นพี่ในวงการเป็นคนแนะนำให้มาร์เวลรู้จักกับ TOYLAXY ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 บริษัทในเอเชียเท่านั้นที่ได้ลิขสิทธิ์อาร์ตทอยจากค่ายดัง หนึ่งคือ XM Studios และสองคือ TOYLAXY จากประเทศไทย
เราฟังแล้วเดาได้ทันทีว่างานนี้ไม่ง่ายแน่ ๆ เลยถามต่อว่าดีลยังไงให้ได้ลิขสิทธิ์มาร์เวลมา

“การขอ License มาร์เวลไม่ใช่ว่ามีเงินก็ขอได้ คอนเซปต์ต้องได้ เขาต้องโอเค มาร์เวลต่างประเทศต้องโอเค ต้องชอบของเราถึงจะให้ ผมจำได้ว่าทำพรีเซนต์ส่งกลับไปกลับมาปีหนึ่งกว่าจะได้ตัวเลขมา แล้วพอได้มาเราก็แฮปปี้”
ไมค์เล่าว่าเตรียมรายงานเกือบ 100 หน้าเพื่อนำเสนออาร์ตทอยที่ออกแบบไว้ กระแสของตลาด ช่องทางการขาย และคาดการณ์การขายว่าจะขายได้เท่าไหร่ โดยติดต่อผ่านดิสนีย์ประเทศไทย เพื่อให้สำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯ อนุมัติอีกที
ในสัญญาที่ทำกับมาร์เวลยังมีข้อตกลงที่กำหนดกรอบงานออกแบบของ TOYLAXY ไม่ให้ซ้ำกับเจ้าอื่น สไตล์ของ TOYLAXY เรียกว่าสไตล์ไลต์ ซึ่งไม่เน้นความเสมือนจริง ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะไม่ให้มีสินค้ารูปแบบคล้ายกันจากบริษัทผลิตหลายเจ้าเพื่อป้องกันราคาสินค้าตก
แต่พอได้ลิขสิทธิ์และข้อจำกัดของการออกแบบมาแล้วใช่ว่างานจะง่าย เพราะกว่าจะเจอดีไซน์ที่ขายได้ บริษัทเคยผ่านจุดที่ขายงานมาร์เวลไม่ออกมาแล้ว
งานลิขสิทธิ์มาร์เวลชุดแรกของ TOYLAXY เป็น ‘Iron Man Hall of Action’ ซึ่งเป็นงานปั้นสเกล 1 : 10 ประกอบด้วยไอรอนแมน 3 ตัวที่เคลื่อนย้ายและเปลี่ยนหัวได้
ส่วนใหญ่แล้วงานสเกลเท่านี้มีราคาประมาณ 4,000 – 5,000 บาท แต่ไอรอนแมนชุดนี้ราคาโดดไปที่ 10,000 – 12,000 บาท มากกว่าราคาทั่วไป 3 เท่า ส่วนที่ทำให้ราคาพุ่งสูงคือฐานของอาร์ตทอยที่จำลองเป็นห้องปฏิบัติการไอรอนแมน
งานลิขสิทธิ์มาร์เวลชุดต่อมาจึงมีราคาจับต้องได้มากขึ้น ดูเป็นสไตล์ไลต์มากขึ้น และลดความเสมือนจริงลง มีขนาดเล็กลง วางตกแต่งหน้าคอมพิวเตอร์ได้ แต่ยังคงจุดเด่นไว้ที่ฐานที่ถึงแม้เรียบง่ายขึ้นแต่ทำให้อาร์ตทอยมาร์เวลของ TOYLAXY ไม่เหมือนใคร ดังนั้นจะเรียกว่าประสบการณ์นี้ทำให้ TOYLAXY หาสไตล์ของตัวเองเจอก็ไม่ผิด นับแต่นั้นงานลิขสิทธิ์มาร์เวลเป็นรายได้หลักให้กับบริษัทมาตลอด
ในระหว่างตกลงขอลิขสิทธิ์จากมาร์เวลจนถึงช่วงก่อนปล่อยงานลิขสิทธิ์มาร์เวลชุดที่ 2 ไมค์เผยว่าชีวิตส่วนตัวลำบากไม่แพ้กัน
“นั่นเป็นช่วงวิกฤตของบริษัทเลย เพราะว่าตอนนั้นเราทุ่มเงินกับการซื้อไอพีเยอะมาก แล้วในระหว่างทางเราไม่ได้มีตัวใหม่ออกมาเพื่อจะเอาเงินมาบริหารบริษัท ตอนนั้นออฟฟิศที่เราอยู่เราก็ต้องปล่อยไปก่อนแล้วย้ายออฟฟิศมาอยู่บ้านเพื่อน
“ตอนนั้นบ้าน รถ ผมไปหมดเลย เอาไปกู้ธนาคารหมด ลุย ด้วยความฝันที่ว่าเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยก็ต้องลองดู”


อะไรที่ไม่ทำให้ตาย มันก็ทำให้เราเก่ง
เส้นทางการเติบโตของ TOYLAXY เต็มไปด้วยด่านท้าทายความสามารถ ทั้งด้านการผลิตและการบริหารที่บีบให้บริษัทต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ
แต่ใครจะไปนึกว่าด่านหินที่แท้จริงที่ TOYLAXY ต้องเผชิญกลับเป็นงานลิขสิทธิ์ของไทย
ในปี 2018 ปีเดียวกันกับที่ TOYLAXY ได้ลิขสิทธิ์ของมาร์เวลและบริษัทยังอยู่ในช่วงวิกฤต บริษัทได้ลิขสิทธิ์ของ BNK48 มาครอง ส่วนโจทย์คืออาร์ตทอย เฌอปราง ซึ่งเรียกกระแสจากแฟนคลับและสื่อมหาศาล แถมมีแฟนคลับต่อคิวรอซื้อตั้งมากมาย
ช่วงเดียวกันนี้ TOYLAXY กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหลังบ้าน เว็บไซต์ยังเป็นเว็บไซต์ที่เขียนเอง ซึ่งไม่เสถียรเท่าที่ควร

“ตอนนั้นเราดันให้คนไปลงทะเบียนใน Google Form มีคนซื้อเกือบ 5,000 คน แต่เรามีคนทำข้อมูลอยู่ 2 คน ไล่ส่งอีเมลทีละคน ผมบอกเลยว่านั่นคือนรก”
โปรเจกต์อาร์ตทอยเฌอปรางล่าช้าในหลายขั้นตอน จนแฟนคลับที่สั่งซื้อออกมาตั้งกระทู้ถามถึง แม้แต่สื่อยังเอาไปทำข่าว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตอบกลับคำสั่งซื้อที่ใช้เวลานานเพราะคนไม่พอ นอกจากนี้คือการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ไปตรวจสอบสินค้า ณ โรงงานผลิตในประเทศจีนไม่ได้
“ตอนนั้นเราอับจน ไม่ได้เงินเดือนเลย จะตายอยู่แล้ว แต่อะไรที่ไม่ทำให้ตาย มันก็ทำให้เราเก่ง” ไมค์เสริม
สุดท้ายแล้ว TOYLAXY ก็จัดการจบโปรเจกต์เฌอปรางจนสำเร็จลุล่วง หลังจากนั้นบริษัทรื้อสร้างระบบการทำงานกันใหม่ตั้งแต่ต้น โดยเน้นความลื่นไหลของการสื่อสารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอีเมลตอบกลับอัตโนมัติถึงลูกค้า หรืออีเมลถึงโกดังเมื่อมีการสั่งสินค้า และยังมีระบบติดตามผลการทำงานในทุกขั้นตอนด้วย
ในเวลาไล่เลี่ยกัน TOYLAXY วางขายอาร์ตทอยมาร์เวลชุดที่ 2 ตรงกับช่วงที่หนังเรื่อง Avengers: Endgame กำลังเป็นกระแสพอดี เลยยิ่งขายดิบขายดีเข้าไปใหญ่ บริษัทจึงเริ่มลืมตาอ้าปากได้

มุ่งสู่ตลาดโลกด้วยอาร์ตทอย
งานลิขสิทธิ์ของบริษัทใหญ่เป็นหมุดหมายหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จของ TOYLAXY แต่ข้อจำกัดของมาร์เวลเป็นเหมือนดาบสองคมที่จำกัดไอเดียของ TOYLAXY ด้วยเหมือนกัน ไมค์จึงหันมาทำอาร์ตทอยร่วมกับยูทูบเบอร์ไทย เพราะต้องการความสดใหม่ และอยากใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงานเต็มที่ โดยไม่ติดกรอบดั้งเดิมที่เจ้าของลิขสิทธิ์วางไว้
ทั้งนี้ ไมค์บอกกับเราว่าสิ่งที่น่าเสียดาย คือป๊อปคัลเจอร์ของไทยควรโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ถ้ามีสินค้าต่อยอดจากสื่อต่าง ๆ เหมือนกับที่ญี่ปุ่นมี Merchandise ของโดราเอมอนเต็มไปหมด ทั้งในรูปแบบตุ๊กตา เสื้อ พวงกุญแจ ของเล่น จนต่อให้เด็กที่ไม่เคยดูก็ต้องรู้จักตัวการ์ตูนสีฟ้าตัวนี้
“เขาต้องการหลาย Categories เข้ามาอยู่ในตลาด เป็น Visibility ที่มากขึ้น นั่นแหละจะทำให้คนคุ้นว่า ฉันเคยเห็นตัวนี้มาจากที่ไหนนะ Point มันแค่นี้เอง”
ไมค์ยังบอกอีกว่า เขานิยามคำว่าศิลปินไทยว่าเป็นคนสร้างงานอาร์ตทุกรูปแบบ ไม่จำกัดแค่ดาราหรือนักร้องเท่านั้น แต่รวมถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างยูทูบเบอร์ด้วย
ศิลปินไทยที่ TOYLAXY เลือกทำอาร์ตทอยให้ คือคนที่ผ่านการลงความเห็นจากคนในบริษัทมาแล้วว่ามีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นและมีคาแรกเตอร์ชัดเจน อย่าง HEARTROCKER กับ PASULOL แต่ถ้าจะให้ยกตัวอย่างที่ชัดเจนกว่านั้น คงเป็นอาร์ตทอย ‘เจ้าแม่มิลลิ’ ซึ่งทำเลียนแบบนักร้องสาวชาวไทยที่กำลังมาแรง


“ถ้าซื้อแค่เพราะเป็นแฟนคลับ ผมไม่ทำ จะต้องซื้อเพราะมีจุดขายมากกว่า เวลาเขามองฟิกเกอร์ตัวนั้นที่วางอยู่บนโต๊ะแล้วเขารู้สึกอะไร เหมือนเราทำมิลลิ ไม่ได้ทำแค่มิลลิมานั่งถือไมค์ร้องเพลง เราทำให้มิลลิกลายเป็นเทพเจ้า กลายเป็นจุดขายคือสายมูกับแฟนคลับ มันต้องหลาย ๆ อย่างรวมกัน ต้องดึงคนที่มีคาแรกเตอร์มาทำ” ไมค์เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังเทพเจ้ามิลลิ
ทั้งนี้ TOYLAXY ไม่จำกัดงานผลิตแค่ในรูปแบบอาร์ตทอยเท่านั้น ยกตัวอย่าง Merchandise ของ PASULOL ที่นอกเหนือจากอาร์ตทอยยังมีแก้วและเสื้อ ซึ่งไมค์แอบกระซิบด้วยว่า ตอนนี้กำลังทำการ์ดเกมอยู่


ช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดอาร์ตทอยในไทยโตขึ้นมาก มีสินค้านำเข้าที่ต่อยอดมาจากภาพยนตร์หรือซีรีส์ตะวันตกและจากอนิเมะของญี่ปุ่น จนตอนนี้เราเริ่มได้เห็นงานของศิลปินไทยในตลาดบ้างแล้ว โดยมี TOYLAXY เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
แต่สิ่งมาพร้อมกับการเติบโตของตลาด คืออาร์ตทอยปลอมที่มีวางขายอย่างโจ่งแจ้งตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป หนึ่งในนั้นก็คือตู้กาชาปองที่ขายตุ๊กตาในราคาเพียงหลักสิบถึงหลักร้อยเท่านั้น
สำหรับไมค์ที่ตั้งใจทำธุรกิจด้วยความชอบ พอได้เห็นงานของปลอมราคาถูก เขาถึงกับยอมรับว่าปวดใจ ไม่คิดว่าจะมีออกมาวางขายในสถานที่ที่ควรมีความน่าเชื่อถือเกลื่อนกลาดขนาดนี้ ชวนให้นึกสงสัยว่า ทำไมสินค้าลิขสิทธิ์แท้ของตัวเองที่นำเข้าจากโรงงานผลิตในประเทศจีนถึงถูกตรวจสอบเสียเข้มงวด
นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือตลาดอาร์ตทอยในไทยดูไม่น่าเชื่อถือในสายตาชาวโลก นี่เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ไมค์ต้องก้าวข้ามให้ได้ในตอนที่ขอลิขสิทธิ์จากมาร์เวล เนื่องด้วยเจ้าของลิขสิทธิ์กังวลในความไม่โปร่งใส่ของตลาดไทย
หลังมีประสบการณ์การทำงานลิขสิทธิ์แท้ ไมค์เลยเชื่อว่า TOYLAXY ส่งศิลปินไทยสู่ตลาดโลกได้ วิธีที่ทำได้คือผลิตสินค้าของศิลปินไทยที่มีรูปวาดของศิลปินต่างชาติชื่อดังอยู่บนนั้น นั่นเพราะว่าการร่วมมือกับศิลปินต่างชาติจะช่วยกระจายชื่อเสียงของคนไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง แล้วหากวันหนึ่งคุณเห็นตุ๊กตาพระอิศวรที่มีงูพันรอบคอใส่ชุดลายคิตตี้ ขอให้เดาไว้ก่อนเลยว่า นั่นเป็นผลงานของ TOYLAXY
เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือไมค์ต้องการใช้แม่พิมพ์อาร์ตทอยให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อประหยัดต้นทุน โดยอาจผลิตหลายล็อต แต่ละล็อตมีลายจากงานวาดของศิลปินต่างชาติแตกต่างกันไป ด้วยวิธีนี้ นอกจากลดต้นทุนแล้ว ยังได้ขายอาร์ตทอยที่เป็นรุ่นลิมิเต็ด และเพิ่มโอกาสทำกำไรในตลาดรีเซล
ถึงวันหนึ่งที่งานอาร์ตทอยของศิลปินไทยดังไกลถึงต่างประเทศ ไมค์หวังว่า TOYLAXY จะได้ขายลิขสิทธิ์ของศิลปินไทยให้ผู้ผลิตเจ้าอื่นบ้าง หลังจากวิ่งซื้อลิขสิทธิ์คนอื่นตั้งมากมายเพื่อสร้างโปรไฟล์และหารายได้เข้าบริษัท อีกทั้งจะได้เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยากทำงานสายอาร์ตว่า หนทางในสายอาชีพนี้ยังโตได้อีกมาก ขอเพียงพยายาม บริหารให้เป็น และไม่ย่อท้อ
“In the Lifetime เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้” ไมค์พูดกับเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

