เมื่อรู้ว่าจะได้พูดคุยกับ เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล ถึง #BKKY สารคดีเรื่องล่าสุดของเขาที่บันทึกชีวิตวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ยุคนี้ แทนที่จะนึกเชื่อมโยงไปถึงผลงานสารคดีเข้มข้นที่ผู้กำกับหนุ่มคนนี้เคยทำอย่าง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง และ สายน้ำติดเชื้อ หรือเหล่าเด็กหนุ่มสาวยุคนี้ที่เคยได้พบบนรถไฟฟ้า ฉันกลับอดไม่ได้ที่จะนึกถึงตัวเองเมื่อหลายปีก่อน ฉันที่เคยเป็นเด็กสาวชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่ง

แต่นั่นเป็นเรื่องที่ผ่านมานานแล้ว และวัยรุ่นตอนนี้กับฉันก็ไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงกัน หากขณะที่โลกวัยรุ่นยุคปัจจุบันไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของผู้ใหญ่อย่างฉัน (และอาจรวมถึงคุณ) เบิ้ลที่นั่งอยู่ตรงหน้าฉันกลับมองต่างออกไป

แม้ผ่านพ้นวัยนั้นมานาน งานของผู้กำกับหนุ่มคนนี้ยังก้าวเข้าสู่ดินแดนวัยรุ่นเสมอ นั่นเพราะมันคือช่วงชีวิตที่เขาชอบเป็นพิเศษและมองว่ามีศักยภาพเป็นวัตถุดิบชั้นดี#BKKY : สารคดีเรื่อง ‘เด็กกรุงเทพฯ สมัยนี้’ โดยผู้ใหญ่ชื่อ นนทวัฒน์ นำเบญจพล

“ตอนมัธยมปลายพ่อแม่ไม่ค่อยปล่อยเรา ตอนเย็นไปรับที่โรงเรียนทุกวัน เพื่อนไปเที่ยวต่างจังหวัดกันตอน ม.ปลาย เราก็ไม่ได้ไป จนพอเข้ามหาวิทยาลัย เราขอเขาจนอยู่หอได้ แล้วมันก็เปิดโลกใหม่ ชีวิตทุกอย่างเริ่มใหม่อีกครั้งตอนนั้น เพราะฉะนั้น ช่วงเปลี่ยนผ่านตอน ม.6 ไปสู่นิสิตมหาวิทยาลัยเลยเป็นช่วงที่เราชอบมาก แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นช่วงที่หลากหลายดี มีการตั้งคำถาม เปลี่ยนผ่าน หาคำตอบ แล้วการที่เราทำหนังในประเด็นเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ในพื้นที่ที่สนใจ ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวมีมิติมากขึ้น” เบิ้ลเอ่ยเล่า

อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับหนุ่มมักสนใจพื้นที่ชายแดนซึ่งมีปัญหาสังคมหนักหน่วง ในผลงานล่าสุด เขาจึงลองหันมองกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เกิดและเติบโตมา และคิดว่าทำแบบนี้ หนังน่าจะดึงดูดเด็กในเมืองที่ปกติไม่ค่อยสนใจผลงานเขา

นั่นคือที่มาของ #BKKY ที่ BKK ย่อมาจาก Bangkok และ Y อาจตีความถึง Youngster หรือ Why ที่สื่อถึงการตั้งคำถาม

#BKKY #BKKY #BKKY

“เรายังไม่รู้ว่าจะทำประเด็นอะไร เพียงแต่ตั้งใจไว้ว่าอยากรู้ เราไม่ได้เป็นวัยรุ่นมา 10 ปี ก็อยากรู้ว่าวัยรุ่นปัจจุบันมีความคิด ทัศนคติ เปลี่ยนแปลงหรือต่างจากยุคเรายังไง เหมือนอัพเดตชีวิตตัวเองด้วย เราเลยตั้งคอนเซปต์ว่า เริ่มจากสัมภาษณ์วัยรุ่น 100 คน แล้วค่อยมาหาดูว่าจะทำเรื่องอะไร โดยที่เรามีประเด็นหลักที่เป็นพื้นฐานมนุษย์ทั่วไปคือ ความรัก ความฝัน การศึกษา พ่อแม่ แล้วก็คุยไปเรื่อยๆ พอเขาตอบมา เราก็ค่อยๆ ถามลงลึกไป ดูว่าอะไรที่เด็กวัยรุ่นพูดซ้ำกันมากที่สุด แล้วเอามาทำเป็นหนังเรื่องนี้” เบิ้ลอธิบาย

#BKKY จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานสารคดีบันทึกชีวิตวัยรุ่นแห่งกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน  (เรื่องหลักมาจากไดอารี่ของ ‘โจโจ้’ สาวผมยาวบนโปสเตอร์ที่เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ) ผสมกับความเป็นเรื่องแต่งที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับข้อเท็จจริงจากเด็กๆ 100 คน

จะว่าไป บันทึกเล่มนี้ก็ไม่ค่อยเหมือนของวัยรุ่นยุคก่อนนัก

“สิ่งที่น่าสนใจคือ ในยุคเราเวลารับสื่อจะเกิดจากการที่คุณครูหรือทีวีบอกมา เราไม่ค่อยรู้ว่ามีทางเลือกอะไร จะเชื่อไปตามที่ผู้ใหญ่หรือที่สื่อพูด แต่ยุคนี้มันต่างกัน” เบิ้ลบอก “โดยพื้นฐานบริบทของมนุษย์ มีความรัก ความฝันเหมือนกัน แต่เด็กมีตัวเลือกมากกว่ายุคเราเยอะ เพราะมันเป็นยุคของ on demand ที่เลือกสื่อเองได้ เพราะฉะนั้น เด็กยุคนี้จะมีโลกกว้างกว่า โตกว่า กล้าแสดงออก เป็นตัวของตัวเองกว่า อย่างการพูดถึงเรื่องการศึกษา เขาก็วิพากษ์วิจารณ์อาจารย์มัธยมปลายว่าสอนให้จำ ไม่ใช่สอนให้คิด ซึ่งประโยคพวกนี้ตอนมัธยมปลายเราไม่มีทางมองเห็นเลย แล้วการมีตัวเลือกมากก็ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียน ความฝัน แต่รวมถึงเรื่องความรัก 70 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่เราสัมภาษณ์มีประสบการณ์มีคนรักเป็นเพศเดียวกัน เราเลยมีประเด็นนี้มาเป็นประเด็นที่ค่อนข้างที่จะเป็นแกนหลักของเรื่อง แล้วก็มีประเด็นอื่นๆ คือไม่ใช่แค่หลากหลายทางเพศอย่างเดียว”

แต่ความต่างที่เบิ้ลค้นพบ ไม่ได้มีเพียงระหว่าง ‘เด็กสมัยนี้’ และ ‘เด็กสมัยนั้น’ แต่ยังหมายถึงความต่างระหว่างพื้นที่ มองในภาพใหญ่ที่สุดคือเด็กในและนอกเมือง

#BKKY #BKKY #BKKY

#BKKY

“เราเคยทำหนังที่จับกลุ่มเด็กรุ่นนี้เหมือนกัน แต่เป็นเด็กต่างจังหวัดตามชายแดน เขาสนใจสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครองมากกว่าเด็กในเมืองหรือเด็กกรุงเทพฯ เรารู้สึกว่าเขาเข้าใจคนอื่นมากกว่า เด็กกรุงเทพฯ จะสนใจแต่เรื่องตัวเอง Generation Me น่ะ ไม่ค่อยได้มองว่า ตอนนี้สังคมเราเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบ นอกจากส่วนน้อยจริงๆ ที่เป็นพวกเด็กกิจกรรม

เราว่าเด็กทั้งสองกลุ่มอาจเสพสื่อได้เท่ากัน แต่นอกจากสื่อ กรุงเทพฯ มีอะไรให้ฆ่าเวลาเยอะ เวลาก็จะหมุนเร็วกว่าในระดับหนึ่ง ขณะที่บางทีเด็กต่างจังหวัดก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยออกไปข้างนอก ที่หน้าบ้านเป็นนา ชุมชนอยู่กันแบบต้องอาศัยการเจอกัน มีส่วนร่วมกันระหว่างคนจริงๆ หรือว่าเขาอาจประสบปัญหามากกว่า เหมือนพื้นที่ที่เราไปก็มีการสู้รบระหว่างชายแดนไทยกับกัมพูชา เขาก็จะมีความรู้สึกถูกกดทับบางอย่าง มีสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมบางอย่างที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจในประเด็นการเมืองและเรื่องพวกนั้น เพราะมันส่งผลต่อชีวิตเขา แต่เด็กกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ”

ที่จริงแล้ว ความต่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวาน เพราะย้อนกลับไปในอดีต ผู้กำกับที่มีผลงานสำรวจสังคมเข้มข้นอย่างเบิ้ลก็เป็นเหมือนเด็กกรุงเทพฯ ยุคนี้

“เราก็เป็นเด็กกรุงเทพฯ คนนึง ไม่ได้สนใจประเด็นสังคมการเมืองอะไรเลย จนมีม็อบในกรุงเทพฯ เราถึงเริ่มสนใจว่า เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้น แล้วเรารู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากการปิดถนนจากม็อบ จากทัศนคติสองขั้วที่จับข้อมูลเดียวกันมาชนกันแล้วมาต่อสู้กัน เราเลยอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องมีม็อบเกิดขึ้นทั้งสองฝั่ง

เราก็เริ่มอ่าน เริ่มหาข้อมูล แล้วก็เริ่มอยากทำหนัง จนมาถึงวันนึงที่มีม็อบตรงราชประสงค์ มีทหารมาสลายการชุมนุมแล้วมีคนตายเกือบ 100 คน เราตกใจมากที่มีคนตายเยอะขนาดนั้น แต่เราตกใจยิ่งกว่าที่เพื่อนบางคนซึ่งเกลียดม็อบกลุ่มที่ตายสะใจ พูดว่าตายไปได้ก็ดี เราตกใจมากว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคุณไม่ได้ทำความเข้าใจกลุ่มคนเหล่านั้น เขาเข้ามาด้วยเหตุผลอะไร เขาประสบอะไรบ้างถึงเข้ามากัน ณ จุดนี้ เพราะพอมีไดอะล็อกบางอย่างเกิดขึ้น กลุ่มคนที่อยู่ตรงนี้เขาอ่านไดอะล็อกแล้วก็ยิ่งเกิดความแค้น ก่อให้เกิดความรุนแรงสะท้อนกลับมา แต่คุณก็มองว่าพวกนี้ใช้ความรุนแรง โดยไม่ได้มองว่าตัวเองก็ใช้ความรุนแรงเช่นกัน” เบิ้ลย้อนเล่าจุดเปลี่ยนในชีวิต

ที่สำคัญคือ หลังได้มุมมองใหม่ต่อโลก ผู้กำกับหนุ่มก็หวังอยากให้วัยรุ่นคนอื่นลองมองออกไปนอกตัวเองบ้าง เขาให้เหตุผลว่า การเข้าใจคนอื่นจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

จริงเหรอ-ฉันที่เคยเป็นเด็กกรุงเทพฯ ผู้มีชีวิตสงบสุขดีอดถามไม่ได้

#BKKY

#BKKY

“จริง พอเราเข้าใจสภาพสังคม สภาพแวดล้อม บางทีมันก็ทำให้เราวิเคราะห์ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นได้โดยละเอียดขึ้น มองตามความเป็นจริงมากขึ้น” เบิ้ลยืนยันหนักแน่น

แล้วพอฉันดูยังไม่ค่อยแน่ใจ ผู้กำกับหนุ่มก็เปิดคลาสเลกเชอร์วิชาสังคม 101

“อย่างน้อยๆ  หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ในชีวิตกรุงเทพฯ คุณจะไปเจอคนที่มาจากส่วนอื่นของสังคม ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องเห็นพวกเขา หรือมองว่าพวกเขามีพื้นหลังยังไงก็จริง แต่วันหนึ่งพอโตขึ้นไป การมองเห็นสภาพทางสังคมว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นแค่ประเทศของชนชั้นกลาง มันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ผ่านมา พอคนมองเห็นแค่ส่วนที่ตัวเองอยู่หรือที่เข้าใจ ไม่รู้ว่าประเทศไทยมีคนกรุงเทพฯ มีชนชั้นกลางเป็นส่วนน้อย และคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอะไรจากภาครัฐหรือจากคนกรุงเทพฯ บ้าง เราก็รู้สึกเอาแต่ใจโดยไม่ได้สนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งพอเกิดความไม่เข้าใจกันก็ทำให้เกิดช่องว่างของชนชั้น และในทางอ้อม ก็ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันลึกๆ แล้วพอเกิดการกดทับมากขึ้น มันอาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องสภาพสังคมได้โดยเราไม่รู้ตัว เช่น เราอาจเผลอพูดจาดูถูกเขา อันนี้คือในทางตรง แต่ในทางอ้อม บางประเทศอาจเกิดการก่อการร้าย เพราะพอคนเราถูกกดทับ บีบคั้น ก็จะต้องปลดปล่อยออกมา ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบกลับมาที่ตัวเราเอง

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจบริบทของโลก เข้าใจโครงสร้างของสังคม ของประเทศเรา เข้าใจสภาพแวดล้อมด้านการเมือง มันจะทำให้เราอยู่ในประเทศได้ง่ายขึ้น สบายขึ้น ฉลาดขึ้น แล้วก็ทำให้แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น เพราะเราเข้าใจสภาพแวดล้อม มุมมองนี้เอาไปใช้ในทางส่วนตัวได้ด้วย เช่น เราทำงานกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน บางทีเราไม่ได้ทำความเข้าใจว่าคนนี้เป็นคนยังไง โตมายังไง บ้านเป็นยังไง แต่พอเราเริ่มทำความเข้าใจ เราก็จะรู้แล้วว่าต้องแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการที่เหมาะกับคนนี้ ซึ่งจะทำให้ปมถูกแก้ เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจคนอื่นหรือสภาพสังคม สภาพแวดล้อม ที่เราอยู่สำคัญมาก”

แน่นอน, มุมมองและสิ่งที่เบิ้ลคาดหวังนี้ถูกสอดแทรกไว้ใน #BKKY ที่หน้าฉากแสนจะป๊อป

#BKKY

#BKKY

#BKKY จะไม่ได้พูดถึงประเด็นพวกนี้ชัดเจน ถ้าอยากเห็นประเด็นนี้ชัดเจน ต้องไปดูหนังเรื่องก่อนของเรา ซึ่งไม่ดูกันอยู่แล้ว (หัวเราะ) ในเรื่องนี้เราจะพูดให้ง่ายกว่านั้น เพราะเราสัมภาษณ์เด็กมาร้อยคน รู้แล้วว่าเขาเป็นอย่างงี้นะ เราจะนำเสนอยังไงให้พวกเขารับฟัง  เด็ก Generation Me ใช่มั้ย เราก็จะเล่าเรื่องที่มีความเป็นส่วนตัว แต่พอทุกคนพูดเรื่องส่วนตัวออกมาอยู่ในหนังซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ส่วนตัว การมาดูเรื่องนี้คือการทำความเข้าใจคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่แค่กับตัวเอง เราจะได้รู้ว่าคนอื่นก็มีปัญหาเหมือนเรานี่แหละ แล้วปัญหาที่เรามีก็จะถูกแก้ไข ถูกทำให้เบาบางได้ เพราะเราเข้าใจคนอื่น

“ส่วนพ่อแม่ เขาอาจอยู่ได้โดยไม่ต้องสนใจว่าโลกหมุนไปถึงไหนแล้ว แต่ก็ทำให้เขาเลี้ยงดูลูกหลานโดยไม่ได้เข้าใจว่าเด็กเป็นยังไง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อเด็กโตขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องการให้หนังเรื่องนี้ลดช่องว่างของผู้ปกครองและเด็ก พอเขาได้มาดู ก็จะได้เข้าใจว่าโลกทุกวันนี้หมุนไปถึงไหนแล้ว ทำให้เราอยู่กันได้อย่างมีคุณภาพ มีความสุขขึ้น” เบิ้ลอธิบาย

อย่างไรก็ตาม เบิ้ลไม่ได้มองว่าตัวเองคือมนุษย์ที่ลุกมาเปลี่ยนแปลงโลก (ทั้งของวัยรุ่นและของผู้ใหญ่) เขาย้ำกับฉันอีกครั้งว่า #BKKY เริ่มต้นจากคำถามและการตามหาคำตอบของตัวเอง

#BKKY

“เราทำหนังสารคดีเพื่อตอบคำถามในสิ่งที่ตัวเองสงสัย” เขาบอก “มันเริ่มจากเราอยากรู้ว่าเด็กกรุงเทพฯ ทุกวันนี้เป็นยังไงแล้วบ้าง ซึ่งพอได้รู้ เราก็คุยกับเด็กๆ ได้ง่ายขึ้น อยู่ในสภาพสังคมกรุงเทพฯ ได้ง่ายขึ้น ส่วนอื่นๆ เป็นผลพลอยได้ คือเราหวังว่าสิ่งที่เราเข้าใจ ได้อะไรจากมัน แล้วเก็บไว้ในหนังเรา คงมีสักหนึ่งคน สิบคน ร้อยคน ได้รับสารนั้นเหมือนกัน แคนั้นเราก็ดีใจแล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าฉันจะต้องมาทำสารคดีเพื่อให้โลกนี้งดงามขึ้น เราไม่ได้คิดขนาดนั้น”

ถึงตรงนี้ บทสนทนาระหว่างฉันและผู้กำกับหนุ่มก็สิ้นสุดลง แต่ที่ยังลอยกรุ่นอยู่คือความตื่นเต้นใคร่รู้ ฉันอยากเห็นแล้วว่าบันทึกเล่มล่าสุดของเบิ้ลที่ชื่อ #BKKY จะมีเนื้อในทั้งหมดเป็นอย่างไร มันจะงอกงามสู่ดวงตาและหัวใจผู้ชมอย่างที่เขาตั้งใจหรือไม่ และวัยรุ่นทั้งหลายจะจดจำงานชิ้นนี้ในฐานะความทรงจำของรุ่น เหมือนที่ครั้งหนึ่งฉันจดจำหนังอย่าง รักแห่งสยาม หรือเปล่า

เบิ้ลไม่ได้ตอบอะไร เขาวางบันทึกเล่มนั้นไว้ ก้าวถอยออกมา

จากนี้คือเวลาก้าวสู่โลก ‘เด็กกรุงเทพฯ สมัยนี้’ ของผู้ชม

#BKKY

www.facebook.com l BKKY
ขอขอบคุณ : Surat Setsaeng

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan