เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้คือการไปถึงเมืองหลวงที่อยู่เหนือสุดของเส้นทางรถไฟสายยาวนี้ นั่นคือเวียงจันทน์ สปป.ลาว
ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าการเดินทางไปตั้งหลักครั้งนี้ไม่ได้เดินทางด้วยรถไฟตลอดเส้นทาง เราแอบนอกใจรถไฟไปต่อรถบัสที่อุดรธานีด้วยเหตุผลเดียวคือ ขี้เกียจไปถึงเช้าเกินไป
5 เมษายน 2561
การตั้งหลักของทริปนี้เริ่มต้นที่สถานีรถไฟบางซื่อ ในอนาคตสถานีรถไฟเล็กๆ แห่งนี้จะเป็นสถานีกลางขนาดใหญ่ที่รวบรวมระบบรางทางไกลเอาไว้ที่นี่แทนสถานีกรุงเทพฯ เราอยากให้การเดินทางครั้งนี้มีบางซื่อเป็นตัวละครนั้นด้วย
เรามาถึงสถานีบางซื่อก่อนเวลารถไฟออกประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อให้ได้เตรียมตัวซื้อของและทำท้องให้อิ่มตลอดการเดินทาง ไม่นานนักเสียงจากลำโพงสถานีรถไฟบางซื่อก็ดังขึ้นเพื่อให้ผู้โดยสารของรถเร็วขบวนที่ 133 กรุงเทพฯ – หนองคาย ไปรอขึ้นรถไฟ
ตู้นอนปรับอากาศของรถเร็ว 133 ไม่ได้บริการถาวร แต่เป็นตู้เสริมที่จะพ่วงเข้ามาพิเศษให้จองตั๋วล่วงหน้ากันได้แค่ทุกๆ 15 วัน ทางรถไฟสายหนองคายเหมือนเป็นลูกเมียน้อยที่มีรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปแค่วันละ 4 ขบวน เป็นรถกลางวัน 1 ขบวน และรถกลางคืนอีก 3 ขบวน โดยมีขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคาเป็น flagship ของรูทนี้
สาเหตุที่เราไม่เดินทางกับรถด่วนพิเศษอีสานมรรคาขบวนใหม่ไฉไลนั่นเป็นเพราะ “เวลา” ที่ไปถึงอุดรธานีเช้ามาก ยิ่งขอนแก่นไม่ต้องพูดถึง เช้ามืดเสียจนคิดว่าลงจากรถไฟก็ไปทำวัตรเช้าก่อนใส่บาตรกันเลยทีเดียว รถเร็วขบวน 133 ซึ่งเป็นขบวนที่น่าจะด้อยที่สุดในบรรดา 4 พี่น้องจึงกลายเป็นตัวเลือกแรกด้วยเหตุผลที่ว่าถึงขอนแก่นช่วง 6 โมงเช้า และถึงอุดรฯ ราวๆ 7 โมงครึ่ง ทำให้เรามีเวลาในการจัดแจงตัวเองก่อนลงจากรถไฟได้สบายๆ ไม่ต้องรีบตื่นและลงไปอยู่บนชานชาลาด้วยอาการเมาขี้ตา
เราเดินไปถึงที่นั่งตัวเองและพบว่ามีเพื่อนร่วมเตียง (บน) มานั่งอยู่แล้ว ชายหนุ่มอายุน่าจะรุ่นๆ เดียวกันกำลังเสียบหูฟังดูทีวีผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างมีสมาธิ พร้อมส่งเสียงฟืดฟาดเหมือนคนเป็นหวัดออกมาเป็นระยะๆ
ด้วยนิสัยชอบผูกมิตรกับชาวบ้านเขาไปทั่ว การทักทายเพื่อนร่วมทางจึงเกิดขึ้น ชายคนนั้นตอบกลับมาก่อนที่จะนั่งคุยกันไประยะหนึ่ง จึงทราบว่าเขากำลังเดินทางกลับไปบ้านแฟนเพื่อร่วมงานศพ
หนุ่มคนนี้ทำงานรัฐวิสาหกิจเหมือนกับเรา โดยเป็นวิศวกรอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เรานั่งคุยกันเรื่องความต่างระหว่างเจเนอเรชันของคนทำงานและอนาคตของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนแปลกหน้าสองคนถึงได้คุยเรื่องที่หนักหัวและซีเรียสแบบนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกันด้วย
ก่อนที่เวลาจะล่วงเลยไปถึงสี่ทุ่ม เราจึงแยกย้ายเข้าเตียงใครเตียงมัน
บนเตียงมีซองผ้าห่มวางอยู่ที่ปลายเท้า ผ้าม่านสีเขียวอ่อนถูกรูดปิดเพื่อบังตัวเองจากทางเดินส่วนกลาง ผมฉีกซองผ้าห่มออก กลิ่นหอมกรุ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าที่ซักรีดมาอย่างสะอาดเอี่ยมเตะเข้าจมูก
เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าทำไมผ้าห่มของตู้นอนรถไฟไทยถึงได้มีความอุ่นตั้งแต่แรกเปิดซอง ทั้งที่มันผ่านกระบวนการซักรีดมานานหลายชั่วโมงแล้ว
เราล้มตัวลงนอนและห่มผ้าอุ่นๆ นั้น ค่อยๆ มองแสงไฟของถนนวิภาวดีรังสิตที่ลอดมาเป็นจังหวะตามความเร็วของรถไฟที่กำลังจะถึงสถานีดอนเมือง จนเข้าสู่ห้วงนิทราในที่สุด
6 เมษายน 2561
“โปรดทราบ ที่นี่สถานีบ้านไผ่ ผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะลงสถานีบ้านไผ่โปรดนำสิ่งของและสัมภาระของท่านลงจากขบวนรถให้ถูกต้องและครบถ้วนด้วยครับ”
เสียงประกาศของสถานีบ้านไผ่แทรกเข้ามาในหูขณะที่ตายังมองอะไรไม่ชัดมากเพราะเพิ่งตื่น ตอนนี้เป็นเวลาตีห้าเกือบจะหกโมง รถไฟออกช้ากว่าตารางเวลาราวๆ 30 นาที คงเป็นเพราะการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตั้งแต่สถานีบัวใหญ่จนถึงขอนแก่นที่ทำให้รถไฟขบวนนี้ดีเลย์
ด้วยเพราะต้องวิ่งผ่านเขตก่อสร้างและต้องลดความเร็วลงในหลายๆ จุด เมื่อทางคู่เสร็จเรียบร้อยอะไรหลายๆ อย่างก็จะเข้าที่และดีกว่าเดิม ก็ไม่ต่างกับการยอมรถติดเพื่อให้สร้างรถไฟฟ้าเสร็จหรอก
ผมดีดตัวออกจากเตียงมาล้างหน้าแปรงฟันก่อนจะมุดเข้าเตียงอีกรอบเพื่อนั่งชมวิวในพื้นที่ส่วนตัว รถไฟค่อยๆ ผ่านสถานีรถไฟขอนแก่นแห่งใหม่ที่สร้างแบบยกระดับเหมือนสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพ ก่อนที่ล้อเหล็กจะพารถไฟทั้งขบวนเข้าสู่เขตชนบทอีกครั้งผ่านน้ำพอง และมาหยุดที่สถานีเขาสวนกวาง
ที่สถานีเขาสวนกวางมีไก่ย่างที่ขึ้นชื่อมาก เรียกได้ว่าใครผ่านเขาสวนกวางแล้วไม่ได้กินไก่ย่างนั้นถือว่ามาไม่ถึง ไม่นานนักแม่ค้าท้องถิ่นก็แบกตะกร้าใส่ไก่ย่างนับสิบไม้ขึ้นมาพร้อมเร่ขายไปในตู้รถไฟชั้นสาม ส่วนผู้โดยสารชั้นสองอย่างเราต้องเดินมาที่ชั้นสามเพื่อซื้อไก่นั้นในราคาตัวละ 70 บาท พร้อมข้าวเหนียวหนึ่งห่อ
ผมเปิดห่อไก่บนโต๊ะกินข้าวที่ตั้งอยู่ระหว่างที่นั่งซึ่งถูกแปลงร่างจากที่นอนเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องแทบผงะ เพราะไม่คิดว่าไก่จะมาทั้งตัวสมบูรณ์ตั้งแต่ปาก จงอย หงอน ขา ยันตูด ขนาดนั้น หนุ่มการไฟฟ้าฯ ที่นั่งตรงข้ามผมถึงกับหัวเราะในรูปร่างของไก่ที่แยกไม่ค่อยออกว่าเหมือนค้างคาวปิ้งหรือไดโนเสาร์ตัวเล็กๆ เสียบไม้กันแน่ แต่ด้วยความหิวไก่รุ่นเยาว์ในไม้นั้นสุดท้ายจึงเหลือเพียงซาก
รถเร็ว 133 จอดที่สถานีอุดรธานีล่าช้าไป 20 นาที เป้าหมายต่อไปคือสถานีขนส่งอุดรธานี
ที่ บขส. อุดรธานีมีรถบัสระหว่างประเทศจากอุดรธานี – เวียงจันทน์ ในราคา 80 บาท เราเลือกเดินทางรอบ 10.30 น. การเดินทางใช้เวลา 3 ชั่วโมงรวมเวลาที่ด่าน ซึ่งคนที่จะเดินทางกับรถบัสสายนี้ได้ต้องมีพาสปอร์ตมาแสดงด้วยเท่านั้น
รถที่จะพาเราข้ามประเทศวันนี้เป็นรถมือสองจากญี่ปุ่นที่นั่งสบายไม่ใช่เล่น สมาชิกร่วมทางที่สร้างความประทับใจบวกระทึกขวัญของเราคือครอบครัวเบาะหลังสุดที่มีหนูน้อยวัยกำลังซนสองคนที่เล่นสนุกกันแบบเหมือนโลกนี้เป็นของเราครอบครัวเดียว
ส่วนด้านซ้ายเป็นผู้หญิงลาวที่น่าจะผ่านการร้องไห้มาอย่างหนักหน่วง เพราะดวงตาแดงก่ำและมุดหน้าอยู่กับหน้าต่างตลอดเวลาพร้อมสะอื้นตัวสะเทือน ซึ่งผมไม่ควรยุ่งกับเธอ
และจบท้ายด้วยคณะคุณลุงที่ขนของปริมาณมหาศาลขึ้นรถมาด้วยและวางของไว้บนพื้นข้างๆ ผมก่อนที่จะยกวงสวิงขาข้ามไปนั่งเบาะหลังพร้อมเสียงหอบแฮกๆ แว่วอยู่ตรงหัวผม
ทำไมมันหรรษาขนาดนี้ล่ะ
สำหรับรถบัสจากอุดรธานีนั้นจะเข้าไปส่งเราถึงกลางนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อผมตรวจหนังสือเดินทางฝั่งไทยเรียบร้อยแล้ว รถบัสก็วิ่งขึ้นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถ้าใครสังเกตกลางถนนจะเห็นเหล็กเส้นใหญ่ 2 เส้น ความกว้าง 1 เมตร วิ่งยาวตามแนวเกาะกลางสะพานไป นั่นคือทางรถไฟ
ครับคุณอ่านไม่ผิด ทางรถไฟไทย-ลาว ใช้สะพานเดียวกับรถยนต์ เมื่อรถไฟวิ่งผ่านจะปิดการจราจรทางถนนจนกว่ารถไฟจะสะบัดตูดลงจากสะพานไป จากนั้นรถยนต์จะได้วิ่งขวักไขว่บนสะพานเหมือนเดิม
รถบัสเข้าจอดที่ท่ารถตลาดเช้า ความโกลาหลเกิดขึ้นเมื่อทุกคนพร้อมใจกันลงจากรถพร้อมสัมภาระเยอะแยะไปหมด ช่วงแรกๆ ก็เดินลงจากรถเร็วอยู่ สักพักการจราจรของคนที่ลงจากรถเริ่มติดขัด ผมใช้ส่วนสูง 180 ชะโงกไปดูข้างหน้าว่าเกิดอะไรขึ้นก็พบกับประชาคมแท็กซี่และสามล้อแห่งประเทศลาวที่ขึ้นมารับผู้โดยสารถึงบนรถ
นี่ว่าไทยพีกแล้วที่ยืนออกันตรงบันไดรถ แต่ที่ลาวขึ้นมาหาลูกค้ากันบนรถเลยทีเดียว ถึงเนื้อถึงตัวสุดๆ แถมขายทัวร์กันโหดมาก วังเวียง หลวงพระบาง ฯลฯ มากันให้ครบ แต่พี่ครับ ผมขอลงก่อนได้ไหมพี่ครับ…
กว่าจะหลุดจากพี่ๆ สามล้อและแท็กซี่มาได้ แค่เพียงระยะเบาะแถวที่สามถึงบันไดขั้นล่างสุดก็กินเวลาไปกว่า 5 นาที ผมปฏิเสธทุกคนที่ยื่นข้อเสนอให้เพราะไม่อยากเหมารถทุกกรณี ถ้ามาถึงเมืองนอกแล้วก็อยากสัมผัสกับประเทศนั้นให้เต็มที่จริงๆ เลยเลือกที่จะเดินจากตลาดเช้าไปโรงแรมมากกว่า
แต่มันไปทางไหนล่ะ?
ถ้าหลุดปากถามเมื่อไหร่ละก็จะมีคำถามยิงมาแน่นอนว่า “ไปบ่?” เพื่อไม่ให้ต้องตกอยู่ในภาวะบีบบังคับ สิ่งเดียวที่ช่วยชีวิตได้คือ Google Map แอปพลิเคชันผู้ช่วยชีวิตของเรา เดชะบุญที่ทางจากตลาดเช้าไปโรงแรมไม่ไกลนัก ผมจึงสามารถเดินไปได้โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท…ไม่สิ ผมไม่เสียเงินเลยสักกีบ
หลังจากเข้าโฮสเทลเป็นที่เรียบร้อย ความปรารถนาแรกคือการไปประตูชัย หรือที่คนลาวเรียกว่าปะตูไซ ด้วยการเดิน (ทริปนี้จะมีแต่เดิน เดิน เดิน และเดิน)
เมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงที่กะทัดรัด สงบ ไม่วุ่นวาย (ยกเว้นท่ารถ) เราเดินไปเรื่อยๆ จนถึงถนนล้านช้างซึ่งเป็นถนนสายใหญ่ในนครหลวงเวียงจันทน์ สุดสายตานั้นคือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ นั่นคือปะตูไซ แลนด์มาร์กแห่งแรกของทริปที่เรากำลังจะไปเยี่ยมเยียนนั่นเอง
ปะตูไซ แต่ก่อนเรียกว่า “อะนุสาวะลี” (อนุสาวรีย์) เป็นอนุสรณ์สถานตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของถนนล้านช้าง ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ก่อสร้างในระหว่างปี ค.ศ. 1957 – ค.ศ. 1968 เพื่อเป็นการสดุดีวีรชนผู้ร่วมรบเพื่อประกาศเอกราชจากประเทศฝรั่งเศส
ปะตูไซตกแต่งด้วยศิลปะแบบล้านช้าง มีการประดับด้วยสัตว์ในตำนานตามความเชื่อของศาสนาพุทธ เช่น กินรี และพญานาค รวมถึงเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
นอกจากนี้ปะตูไซยังถูกเรียกว่าเป็น Arc de Triomphe แห่งเวียงจันทน์ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับ Arc de triomphe de l’Étoile ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ที่นี่ไม่ได้ต่างกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ผมเคยไปมา เพราะรายล้อมไปด้วยพนักงานขายที่เสนอการถ่ายภาพกับปะตูไซแบบเต็มๆ พร้อมล้างรูปบวกกับ Photoshop ท้องฟ้าให้เป็นสีฟ้าสดใส ราวกับท้องฟ้าที่ดำครึ้มฝนจะตกแหล่ไม่ตกแหล่เหนือหัวผมตอนนี้ไม่เคยมีอยู่จริง
นอกจากนั้น ผมยังพบอีกหนึ่งสิ่งคือนักท่องเที่ยวที่มีหน้าที่เป็นตากล้องลงไปนอนถ่ายรูปกับพื้นให้คนที่มาด้วย เพื่อให้ได้ภาพความทรงจำที่มีคนกับปะตูไซ เต็มทั้งภาพ
ด้านบนของปะตูไซเป็นจุดชมวิวที่เราต้องเสียค่าเข้า 3,000 กีบ การไต่บันไดขึ้นไปจนถึงชั้นบนต้องใช้พละกำลังพอสมควร เพราะนอกจากบันไดที่เหมือนยังสร้างไม่เสร็จแล้วนั้น เรายังได้กลิ่นขี้ค้างคาวเป็นระยะๆ เมื่อเดินไปจนถึงโซนร้านค้านั่นหมายถึงเราใกล้ถึงจุดสูงสุดแห่งปะตูไซแล้ว และพอไต่บันไดเวียนขึ้นไปอีกก็จะพบว่าด้านบนสุดเป็นจุดชมวิวที่สวยทีเดียว
การข้ามถนนในลาวควรเป็นหนึ่งในหลักสูตรเวียงจันทน์ 101 เพราะที่นี่เลนจะตรงข้ามกับประเทศไทย การก้าวลงจากฟุตปาทนั้นต้องท่องไว้เสมอให้มองซ้ายก่อนนะ แล้วค่อยมองขวา แต่การหันหน้ากับสมองดันสั่งการไม่ตรงกัน เราเลยมักมองขวาก่อนแล้วค่อยมองซ้ายซะงั้น แรกๆ ก็เกือบโดนรถชนตายคาเวียงจันทน์ แต่สักพักก็เริ่มชิน เพราะใช้วิธีมองคู่มันซะเลย ซ้ายขวา-ซ้ายขวาเหมือนคนสับสนชีวิตยังไงก็ไม่รู้
จากปะตูไซ ถ้าเรายังรู้สึกสนุกกับการเดินก็สามารถลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยที่จะผ่านอาคารสวยๆ หลายแห่ง สัมผัสบรรยากาศที่มีเสน่ห์ของเวียงจันทน์ ไปริมโขงชมบรรยากาศยามเย็น ส่องดูหนองคาย เพื่อถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกกันให้หนำใจ
แต่ทว่าความซวยเหมือนไม่ได้ไหว้พระก่อนออกจากโรงแรมก็บังเกิดขึ้น เมื่อผมต้องติดฝนที่ตกลงมาอย่างหนักที่งานเทศกาลกาแฟ ทำให้แผนการเดินเล่นริมโขงยามเย็นต้องพังทลายอย่างไม่เป็นท่า
“ขอหลบฝนด้วยได้ไหมครับ” ผมถามชายคนหนึ่งที่อยู่ในเต็นท์ที่ใกล้ที่สุด โชคดีที่เขาอนุญาต ในเต็นท์มีคนอยู่ 3 คน คนแรกเป็นชายหนุ่มอายุประมาณ 20 ปี แต่งตัวดูดี คาดว่าเป็นพิธีกรของงาน อีกคนเป็นชายวัยกลางคนคาดว่าเป็นออร์แกไนซ์จัดงาน
ทั้งสองคนเชื้อเชิญให้ผมนั่งคุยด้วยระหว่างรอฝนหยุด น้องพิธีกรเป็นคนลาวที่ใช้ภาษาไทยได้คล่องมากทั้งอ่านและเขียน รวมถึงมีประสบการณ์การท่องเที่ยวในเมืองไทยที่เยอะอย่างคาดไม่ถึง
ส่วนพี่ออร์แกไนซ์เป็นคนไทย 100% แต่มาตั้งรกรากอยู่ในลาว พร้อมได้ภรรยาเป็นชาวลาวด้วย เราสามคนนั่งคุยกันหลายเรื่องมาก และผมได้รู้อะไรเกี่ยวกับคนลาวมากมาย
คนลาวกินเหล้าเก่งมาก ต่างจากคนไทยที่เน้นกินช่วงเย็น แต่กับที่นี่ไม่ต้องแปลกใจถ้าจะเห็นคนตั้งวงเหล้ากันตั้งแต่เช้า
ทุกวันหยุดคนลาวจะชอบไปปิกนิกนอกนครหลวงเวียงจันทน์ เช่น ไปน้ำตก ไปเขื่อน ไปป่า บ้างก็ข้ามไปอุดรธานี
คนลาวยิ้มเก่ง เก่งกว่าคนไทยเสียอีก
โรงหนังในลาวค่าตั๋วถูกกว่าไทย และระบบเสียง Dolby ดีกว่าบ้านเรามาก
และคนลาวหลายคนติดละคร บุพเพสันนิวาส มาก
อีกนิดอีกหน่อย
- ในลาวสามารถใช้เงินกีบ เงินบาท และดอลลาร์สหรัฐได้
- ถ้าคุณชอบชีวิต Night Life ริมโขงนับเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ มีร้านนั่งดื่มมากมาย และราคาถูกกว่าในประเทศไทยมาก
- อาหารในลาวจะให้ปริมาณค่อนข้างเยอะ โปรดติดสินใจก่อนสั่ง