ทำเลเหมือนจะเป็นทางผ่านมากกว่าจุดหมาย
ส่วนที่ตั้งก็เป็นชุมชนในชนบทธรรมดา ๆ มากกว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่ต้องมาให้ได้
แต่นั่นแหละ – พอจอดรถหน้า Jaga ความดูเหมือน ‘ไม่มีอะไร’ ที่ว่ากลับมีเสน่ห์ขึ้นมาอย่างน่าประหลาด
Jaga (จาก้า) เป็นชื่อที่กร่อนมาจาก Just a Gate Away คล้ายว่าเจ้าของบ้านตั้งใจพ้องเสียงกับคำว่า Gateway เพื่อทำให้ความหมายของคำเรียบง่าย
เรียบง่ายเหมือนบ้าน เหมือนชุมชนที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่
‘Jaga’ ตั้งอยู่ข้างลำธารเล็ก ๆ ในชุมชนหัวฝาย อำเภอแม่ออน – ทิศตะวันออกของตัวเมืองเชียงใหม่ เลี้ยวขวาออกจากสนามบิน ข้ามสี่แยกไปทางถนนมหิดล และเข้าทางหลวง 1317 ตรงยาวอย่างไม่ต้องลังเลไปอีกราว 40 กิโลเมตร บนถนนสายเดียวที่จะไปหมู่บ้านแม่กำปอง บ้านอยู่ในซอยหลังร้านสะดวกซื้อ ลึกเข้าไปจนสุดซอย ในชุมชนที่ใครจะคิดว่ามีคนกล้าทำบ้านพักให้นักท่องเที่ยวเช่าอยู่

บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล เป็นหนึ่งในเจ้าของบ้านหลังนี้
มากกว่าข้อสงสัยว่าทำไมเขาจึงเลือกมาทำในชุมชนไกลปืนเที่ยง คือ “ตกลงพี่จะเลิกทำหนัง แล้วหันมาทำธุรกิจ Hospitality อย่างจริงจังแล้วหรือครับ”
ปลาย พ.ศ. 2566 บาสร่วมกับน้องสาว จ๊ะจ๋า-แพรว พูนพิริยะ และโปรดิวเซอร์คู่ใจ แมน-อมร นิลเทพ เปิดตัว Secret Window บ้านพักสไตล์อเมริกันเคบิน (American Cabin) ในอำเภอแม่ริม หลังจากที่เพิ่งเปิด The Colony พูลวิลล่าสไตล์มิดเซ็นจูรี โมเดิร์น (Mid-century Modern) ที่หัวหินไปไม่นาน
ขณะที่ต้นปีที่ผ่านมาพวกเขาก็เพิ่งเปิดตัว Greenpoint Post House ห้องโพสต์โปรดักชันให้เช่าที่มีลุคอย่างกับคลับเฮาส์ในซอยประดิษฐ์มนูธรรม 10
และใช่ กลางเดือนเมษายน หลังจากฤดูฝุ่นควันจางหายจากเชียงใหม่ไปหมาด ๆ Jaga หลังนี้ก็ปรากฏ
บาสเล่าให้ฟัง เขากับแมนบังเอิญขับรถมาเจอบ้านหลังนี้หลายปีก่อน เป็นบ้าน 2 ชั้น ข้างล่างเป็นปูนเปลือย ข้างบนเป็นไม้สัก ตั้งอยู่สุดซอยเล็ก ๆ ที่รอบข้างเป็นฟาร์มปศุสัตว์


บ้านถูกทิ้งร้างและยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งเอาเข้าจริง รูปลักษณ์ของมันก็ไม่ได้น่าสนใจอะไร บ้านหลังคาจั่วแบบที่ตอนเด็ก ๆ เรามักจะชอบวาดกัน สี่เหลี่ยมอยู่ข้างล่าง ซ้อนทับด้วยรูปทรงสามเหลี่ยมข้างบน บ้านธรรมดา ๆ แบบโลโก้ขนมปังฟาร์มเฮาส์
แต่อาจเพราะทำเล บรรยากาศ ความเรียบง่ายที่แสนจะเป็นชนบท หรืออะไรสักอย่าง มันกลับตรึงใจพวกเขา
กระทั่งเมื่อทราบภายหลังว่าเจ้าของประกาศขาย บาส จ๊ะจ๋า และแมน จึงตัดสินใจซื้อ โดยตั้งใจจะรีโนเวตให้คงโครงสร้างเดิมของอาคารไว้ให้มากที่สุด
“ตอนซื้อมา เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าด้านข้างบ้านมีลำธารไหลผ่าน เพราะพงหญ้ามันบังไว้หมด จนเข้ามารีโนเวตนั่นล่ะ เพิ่งรู้ว่าเราได้โบนัส” บาสกล่าว

บ้านหันหน้าไปทางทิศใต้ ทิศตะวันออกคือซอยเล็ก ๆ ของชุมชนที่ถ้าเดินเลยไปหน่อยจะพบกับสนามกอล์ฟเขียวขจีปรากฏขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ขณะที่อีกฝั่ง พระอาทิตย์ยามบ่ายจะค่อย ๆ เคลื่อนตกฝั่งสนามหญ้าที่มีลำเหมืองจากเขื่อนแม่ออนตัดผ่าน
Rustic Lanna (รัสติก ล้านนา) คือนิยามที่เจ้าของทั้ง 3 ร่วมกันวางเป็นดีเอ็นเอให้บ้านหลังนี้
พวกเขาตั้งใจเก็บความไม่สมบูรณ์แบบของอาคารเดิมไว้เป็นสารตั้งต้น เติมเต็มด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งจากไม้และหวายถักฝีมือสล่าท้องถิ่นในเชียงใหม่ เสริมด้วยบานเลื่อนกระจกใสที่ช่วยเปิดมุมมองและสร้างภูมิทัศน์ลื่นไหลระหว่างภายนอกและภายในที่ไร้การกั้นห้อง

ผนังโซนนั่งเล่นและโซนครัวกรุกระจกเงาจนเต็มพื้นที่ สะท้อนทิวทัศน์ของต้นไม้ใหญ่ ธารน้ำ และสวนภายนอกให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
เว้นก็เพียงประตูทางเข้าและผนังฝั่งห้องน้ำที่ยังคงเป็นพื้นผิวทึบ เปลือกของบ้านชั้นล่างจึงเต็มไปด้วยกระจก จนบางครั้งเราที่อยู่ข้างในจะเผลอคิดไปว่าที่อยู่อาศัยแห่งนี้ไม่มีผนัง
บ้านมีเพียง 3 เฉด สีเทาจากผิวปูน และพื้นเทอร์ราซโซ รวมถึงเทาเงินจากพื้นผิวสเตนเลสในครัว สีน้ำตาลจากงานไม้ที่แทรกอยู่แทบทุกมุมของบ้าน และสีเขียวของต้นไม้ภายนอกที่กระจกเงาสะท้อนเข้ามา รวมถึงสีเขียวมินต์ของบันไดวนที่ตระหง่านราวกับประติมากรรมกลางบ้าน
บาสเล่าถึงเกร็ดที่มาของบันไดวน องค์ประกอบที่ดูแปลกแยกที่สุด เนื่องจากเดิมบ้านมีบันไดขึ้นชั้น 2 อยู่นอกตัวอาคาร เมื่อเขาเริ่มเขียนแบบรีโนเวตบ้าน จึงได้แต่เกาหัวว่าจะทำอย่างไรให้ขึ้นชั้น 2 ได้ โดยไม่ต้องเดินออกไปข้างนอกในวันฝนตก
และแมนก็ได้ไอเดียในการใช้บันไดวน ซึ่งไม่เพียงประหยัดพื้นที่ หากยังเสริมลูกเล่น


พวกเขาลงมือเจาะพื้นไม้ชั้น 2 เพื่อติดตั้งบันไดวนเชื่อมพื้นที่ มอบสีเขียวมินต์ให้มัน เพื่อตัดความขรึมของไม้และปูน ก่อนที่จะเอาไม้จากบันไดเดิมที่ถูกรื้อมาทำเป็นซุ้มประตูทางเข้า
จากบ้านที่มีความรัสติกผสมกลิ่นอายพื้นถิ่นล้านนา บันไดวนสีเขียวได้เข้ามาช่วยสร้างชีวิตชีวาในภาพรวมอย่างน่าสนใจ ทั้งในเชิงรูปลักษณ์และการใช้งาน
เมื่อเดินขึ้นบันไดวนมาถึงชั้น 2 โคมไฟหวายแขวนเพดานขนาดใหญ่เปล่งแสงนวลต้อนรับ กำจายบรรยากาศอบอุ่นฟุ้งทั่วห้องนอน


อย่างที่บอก – เว้นเสียแต่ห้องน้ำ บ้านหลังนี้ไม่มีการกั้นห้อง ซึ่งชั้น 2 ก็เป็นเช่นเดียวกัน พื้นที่ห้องนอนเปิดโล่งรอบด้านเชื่อมถึงกันหมด ต่างเพียงจากชั้นล่างที่ใช้บานเลื่อนกระจกเพื่อเปิดรับทิวทัศน์ ‘บานเกล็ดไม้’ ถูกนำมาใช้เป็นเปลือกของห้องนอนรอบทิศ
นอกจากมันจะช่วยพรางสายตาจากภายนอกอย่างแนบเนียน บานเกล็ดเหล่านี้ยังเปิดช่องให้แสงธรรมชาติลอดผ่านจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งได้อย่างตราตรึง


เพราะความตั้งใจจะเก็บโครงสร้างเดิมไว้ทั้งหมด ห้องใต้หลังคาที่เชื่อมพื้นที่ชั้น 2 ด้วยบันไดลิง จึงปรับให้เป็นห้องนอนเล็กอีกห้อง เตียงเดี่ยว 2 เตียง วางชิดผนัง 2 ด้าน ตรงกลางคือเตาผิงไฟ LED และไม้แกะสลักลิง 3 ตัว พร้อมเบาะนั่งทรงกลมวางอยู่ข้างเตียง – Cozy ตรงตามความหมายไม่ผิดเพี้ยน

เราชอบที่องค์ประกอบของบ้านไม่เพียงตั้งใจเล่นล้อกับทิวทัศน์ภายนอก แต่ยังเหมือนสร้างมาเพื่อให้เราจมเข้าไปในอ้อมกอดของธรรมชาติอย่างเต็มอิ่ม โต๊ะกินข้าวตั้งอยู่ในสวนชั้นล่าง โต๊ะทำงานวางไว้บนระเบียงชั้น 2 อาร์มแชร์จัดมุมให้หันออกไปทางทิวทัศน์ลำเหมือง กระทั่งเตียงในห้องนอนหลัก เรายังปรับตำแหน่งให้ตื่นเช้ามาเจอกับแสงแดดและวิวเขียวขจีได้ทันที
น่าคิดว่าทำไมคนเมืองอย่างเราต้องจ่ายเงินเพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนบ้านกับชาวบ้าน เพียงเพื่อสัมผัสธรรมชาติและความเงียบสงบที่ควรจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่เมื่อได้มาอยู่บ้านนี้จริง ๆ ข้อสงสัยเหล่านั้นก็เลือนหายไป

อย่างไรก็ตาม การบอกว่า Jaga ตั้งอยู่ในชุมชนที่ดูเหมือน ‘ไม่มีอะไรเลย’ ดังที่เขียนไว้ตอนต้น ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว
เมื่อไล่ดูแผนที่ในกูเกิลกันจริง ๆ บ้านหลังนี้ก็กลับตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวของอำเภอแม่ออนและสันกำแพงในระยะปลายจมูก
เยื้องปากซอยบ้านคือถ้ำเมืองออน ไม่ไกลจากกันคือเขื่อนแม่ออน ขับเลยไปอีก 4 กิโลเมตรก็เจอน้ำพุร้อนสันกำแพง รวมถึงทางเข้าบ้านยังเป็นทางผ่านไปยังหมู่บ้านแม่กำปองซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงครึ่งชั่วโมง ส่วนร้านอาหารและคาเฟ่เจ้าดังของอำเภอก็อยู่ห่างจากบ้านเพียงขับรถไม่เกิน 10 นาที
แต่ทั้งหมดที่กล่าว ตลอดช่วงที่เข้าพัก เราไม่ได้ไปเยือนที่ไหนเลย อาจจะเป็นเหมือนที่บาสเล่าถึงเหตุผลในการตัดสินใจซื้อและทำบ้านหลังนี้
บ้านไม่ได้อยู่ในโซนท่องเที่ยว ไม่ได้มีวิวหลักล้าน มันเป็นเพียงบ้านหลังหนึ่งในชุมชนธรรมดา ๆ ชุมชนหนึ่ง
แต่ราวกับว่าทุกสิ่ง ทั้งภายในและนอกบ้าน ตรึงให้เราไม่อยากย่างเท้าออกไปไหน
