โปรดเรียกขานฉันด้วยนามอันแท้จริง

พบกันที่บ้านและร้านของเขา อิมเมจิ้น’ เฮ้าส์ จังหวัดเชียงใหม่

นักดนตรี คนเขียนเพลง สถาปนิก เจ้าของร้านเหล้า นักอ่าน และพ่อของลูกชายสองคน

บอย คือชื่อเล่น

บอย อิมเมจิ้น คือชื่อที่ถูกตั้งไว้สำหรับการเขียนเพลงและเล่นดนตรี

ชื่อจริงของบอยคือ รงค์ ดรุณ

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

ซึ่งก่อนหน้านั้นเขามีชื่อจริงๆ ว่า จตุรงค์ ดรุณ

ใช่ ถ้าคุณติดตามผลงานเพลงของเขา คุณจะทราบดีว่าเขาเป็นแฟนหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

และถ้าคุณเป็นแฟนหนังสือของ รงค์ วงษ์สวรรค์ คุณจะทราบดีว่าชื่อ ‘รงค์ ถูกเจ้าของของมันกร่อนมาจากชื่อเดิมว่า ณรงค์ วงษ์สวรรค์

ชื่อของบอย มีที่มาเช่นนี้

“แล้วอิมเมจิ้นล่ะ” ผมถาม คิดถึงความหมายงามงดในเพลงของ จอห์น เลนนอน

เปล่า บอยตอบผมว่าเขาแค่เอาชื่อมาจาก ‘อิมเมจิ้น สตูดิโอ’ สตูดิโอถ่ายภาพของเพื่อนแถวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ซึ่งเขามักไปแฮงเอาต์ที่นั่น หลายปีก่อน ไม่นานก่อนที่เขาจะเปิดร้านเหล้าเล็กๆ เป็นของตัวเองใกล้ๆ กัน เขาตั้งชื่อร้านว่า อิมเมจิ้น บาร์ ก่อนจะย้ายร้านมาในทำเลปัจจุบันชื่ออิมเมจิ้น’ เฮ้าส์ และชื่อนั้นก็ติดตัวเขาไปคล้ายนามสกุล

“ผมบอกเพื่อนไปตรงๆ ว่าขอชื่อมาตั้งร้านเหล้านะ เอาเขามาทั้งหมด กระทั่งโลโก้” บอยยิ้ม

บางทีก็ดูลึกซึ้ง บางครั้งอาจมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน แต่บอยบอกว่าส่วนใหญ่ชีวิตของเขาเรียบง่าย เหมือนความคิดเชิงปรัชญาที่เขาสมาทาน หรือหลากหลายหนังสือที่เขาอ่าน

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

ยินดี

บางส่วนจากหลายสิบเพลงของ บอย อิมเมจิ้น

โปรดเรียกขานฉันด้วยนามอันแท้จริง คือชื่อเพลงที่ถูกเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว บอยเขียนถึงผลพวงเลวร้ายและไม่สิ้นสุดของสงคราม โดยเขาหยิบยืมชื่อเพลงมาจากท่อนหนึ่งของบทกวีของ ติช นัท ฮันห์ และได้แรงบันดาลใจในเนื้อหามาจากพระสงฆ์เขมรรูปหนึ่งที่ครอบครัวเขาถูกกองทัพเขมรแดงสังหารระหว่างที่ท่านไปเรียนต่อต่างประเทศ หากท่านกลับมายังประเทศเพื่อให้อภัยบุคคลที่ฆ่าครอบครัวและเพื่อนบ้านของท่าน

ยินดี หนึ่งในเพลงที่ทำให้บอยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คงอาจเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง – ยินดีที่ยังมีรัก ยินดีที่ยังเสียใจ เป็นเหตุผลที่ยืนยันว่าความรักยังไม่หายไป ยังอยู่ในใจคน ในใจเรา ในใจ ขอให้ความรักอยู่กับคุณ’

แค่ไหน แค่นั้น หยิบสถานการณ์ที่นักเรียนคนหนึ่งไม่สามารถทำข้อสอบได้ทัน มาเปรียบกับสัจธรรมของชีวิตที่เราไม่อาจฝืนเงื่อนไขของกาลเวลา และทำได้เพียงทำใจยอมรับ

ความรัก ตู้ปลา กับสุราหนึ่งป้าน รำพันถึงความรักของคนที่ไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึก ถอดทอนอารมณ์ไปกับการดื่มสุราในยามค่ำคืน ประหนึ่งโกวเล้งที่ร่ำสุราใต้แสงจันทร์ก่อนเขียนนิยาย

ความรัก ความงาม เล่าถึงการให้ความหมายของความสวยงามซึ่งเกิดขึ้นได้ผ่านการจับจ้อง การตระหนักรู้ อันก่อให้เกิดความรัก ซึ่งบอยได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ ปฏิจจสมุปบาท ของพุทธทาสภิกขุ

พ่อกับลูกชาย เขียนถึงลูกชาย พูดถึงสัจธรรม ความรัก และการมอบอิสรภาพให้ตัดสินใจได้เองโดยไม่ครอบงำ

ฯลฯ

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี
คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

ตั้งอยู่กลางทุ่งนาบนรอยต่อระหว่างอำเภอสันทรายและแม่ริม ไกลห่างจากถนนใหญ่ และกระทั่งคุณเปิด GPS ขับรถมา GPS ก็อาจพาคุณหลง แต่นั่นล่ะ มีผู้คนมากมายทั่วประเทศต่างมาเยือนอิมเมจิ้น’ เฮ้าส์ ทุกค่ำคืน เพื่อรอฟังชายหนุ่มเล่นดนตรีสด เพราะที่นี่เป็นที่เดียวที่จะได้เห็นเขาเล่นดนตรี

กระนั้นหลายคนก็อาจต้องผิดหวัง เพราะบอยไม่เคยเล่นเพลงของเขาที่ร้านของตัวเองเลย

เขาให้เหตุผลว่าหากเล่นเพลงตัวเองบ่อยๆ ซ้ำ เขากลัวจะสูญเสียความรู้สึกไปกับมัน

“ผมทำเพลงออกมาเพื่อต้องการสื่อสารเป็นหลัก เมื่อสื่อสารออกมาแล้ว เลยไม่มีเหตุผลให้เราต้องกลับมาเล่นซ้ำ” ศิลปินวัย 38 ผู้เขียนเพลงด้วยการขุดลึกเข้าไปในความรู้สึก ประกอบสร้างกับแรงบันดาลใจที่เขาได้จากการอ่านหนังสือ และดูเหมือนจะให้น้ำหนักในบทเพลงในฐานะของ ‘สาร’ มากกว่าสื่อบันเทิงกล่าว

บอยไม่เคยมานั่งนับจริงๆ ว่าเพลงที่เขาทำออกมาเผยแพร่มีจำนวนเท่าไหร่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา กระนั้น Archimedes หนึ่งในเพลงที่เขาเขียนยุคแรกๆ ได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยมจากสีสัน อะวอร์ดส์ และตัวเขาก็เคยได้รางวัลศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยมจากคมชัดลึก อวอร์ด อย่างไรก็ตาม เขาก็ยืนยันว่าไม่คิดจะออกอัลบั้มส่วนตัว ไม่มีแผนทัวร์คอนเสิร์ต เพลงของเขาหาฟังได้ทีละซิงเกิ้ลผ่านยูทูบ ช่องทางเดียวที่จะได้ฟังเพลงที่เขาเขียนข้างต้น

แค่ไหน แค่นั้น

บอยบอกว่า เส้นทางชีวิตส่วนใหญ่ของเขา ได้รับการแผ้วถางและปูขึ้นมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ลูกชายคนเล็กของครอบครัวที่มีพื้นเพเป็นเกษตรกรในอำเภอสันทราย พ่อของเขาทำงานไปรษณีย์ ส่วนแม่เปิดร้านขายของชำ เติบโตในบ้านริมทุ่งนา ไม่ได้หรูหรา หากก็ไม่เคยขัดสน เขาจำได้ดีว่าชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก วาดลงบนกระดาษห่อพัสดุที่พ่อของเขาเอากลับมาบ้าน

หลังจบมัธยมต้น อาจารย์แนะแนวบอกว่า ถ้าชอบวาดรูป ก็ควรเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ เขาจึงเรียนต่อ ปวช. สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสถาปัตยกรรมคืออะไร

“เรียนไปเพราะอาจารย์บอกว่าเราน่าจะเรียน ไม่ได้มีแพสชันอะไรกับมันเลย แต่ก็เรียนได้นะ” เขากล่าวเสริม

บอยเรียนต่อ ปวส. สาขาวิศวกรรมโยธาในสถาบันเดียวกัน หากเขาก็พบว่าการเป็นวิศวกร ไม่ใช่ทางของเขา สุดท้ายจึงกลับมาเอนทรานซ์เข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เขาสรุปชีวิตช่วง 5 ปีที่นั่นว่าคือ เรียนและส่งแบบพอให้ผ่าน

“ผมมีพื้นฐานจาก ปวช. แล้ว และระหว่างเรียน ปวช. ลุงของผมเขาทำงานรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งก็จ้างผมเขียนแบบอยู่เป็นประจำ เลยเขียนเป็นตั้งแต่นั้น พอเรียนมหาวิทยาลัย จึงรู้ว่าเวลาอาจารย์สั่งงาน เขาต้องการอะไร ผมก็เลยทำงานให้แค่พอผ่านเท่านั้น เพื่อนร่วมชั้นเขาทำงานส่งอาจารย์หามรุ่งหามค่ำ เพื่อนอาจทำเต็มร้อย แต่ผมทำแค่ครึ่งเดียว ไม่เคยใช้เวลาข้ามคืนทำงานส่งเลย ไม่ใช่ว่าเก่งอะไรนะ แต่เรารู้ว่าทำแค่นี้ก็ผ่านแล้ว ไม่ใช่งานที่ดีเลิศอะไรนัก ผมเอาเวลาส่วนใหญ่เอาไปเล่นดนตรีกลางคืนตามร้านเสียมากกว่า” บอยเล่า

“แล้วเริ่มเล่นดนตรีตอนไหน” ผมถาม-เปลี่ยนเรื่องจากว่าที่สถาปนิก เข้าสู่โลกศิลปิน

นิ่งคิด “น่าจะตอน ป.2 นะ” เขาตอบ

เริ่มจากวันหนึ่งที่พี่ชายคนเดียวของเขาซื้อกีตาร์และนำมาไว้ที่บ้าน นั่นเป็นครั้งแรกที่เด็กชายผู้ฟังแต่เพลงลูกกรุงและลูกทุ่งจากวิทยุเครื่องเดียวกับพ่อ รู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้ เขาเริ่มหัดเล่น จนกระทั่งเวลาผ่านไป แม้เขาเล่นมันได้คล่องมือกว่าพี่ชาย เขากลับไม่เคยเห็นภาพตัวเองเป็นมือกีตาร์แบบวงไมโครหรือนูโว แบบที่วัยรุ่นสมัยนั้นชื่นชอบ เพลงที่เขาฟังประจำยังคงเป็นเพลงของ สุเทพ วงศ์กำแหง, หยาด นภาลัย ไปจนถึงเพลงพูดของ เพลิน พรหมแดน ซึ่งเขาบอกว่าคนหลังนี่ชอบจนร้องตามได้หมด

“ผมเล่นกีตาร์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือเล่นเพราะเห็นพี่เล่น ไม่ได้คิดว่าหล่อ ว่าเท่อะไรเลย” เขายืนยันเช่นเดียวกับการเลือกเส้นทางเรียน

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเขากลับพบแพสชันจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องนี้

“ผมเริ่มฟังเพลงเพื่อชีวิต ตอน ป.3 ตอนนั้นอัลบั้ม ทับหลัง ของคาราบาวกำลังดัง จำได้ว่าชอบเนื้อเพลงหลายเพลงในอัลบั้มนั้นมาก เลยขอคัดลอกเนื้อเพลงจากหนังสือเพลงของเพื่อน เพื่อเอามาอ่านและเก็บไว้ ผมวาดการ์ตูนไปแลก น่าจะเป็นครั้งแรกที่พบว่าทำไมเขาเขียนเพลงได้คมคายอย่างนี้”

แม้ภาพเลือนรางของนักดนตรีโฟล์กเพื่อชีวิตจะเริ่มปรากฏมาตั้งแต่เรียนประถม และเริ่มหาเงินได้เองจากการเป็นนักดนตรีกลางคืนในระหว่างเรียน ปวช. ที่เชียงใหม่ แต่กว่าบอยจะเริ่มเขียนเพลงจริงๆ ก็ผ่านพ้นไปกว่าสิบปีเมื่อเขาเข้าเรียนที่ลาดกระบัง

ใช่ นั่นเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกเรื่อง ที่จู่ๆ เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งนำหนังสือ บ้านนี้มีห้องแบ่งให้เช่า ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มาให้เขาลองอ่าน ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นใคร และหนังสือเล่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร เปลี่ยนให้เด็กหนุ่มที่ไม่เคยชอบอ่านหนังสือ กลายมาเป็นนักอ่านที่รื่นรมย์ไปกับสำนวนภาษา พร้อมไปกับความรักในการขุดลึกลงไปในความหมายของถ้อยคำ

“ข้อเสียของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ข้อเดียว คือพอผมอ่านหนังสือของเขา เมื่อไปอ่านงานคนอื่นแล้วจะพบว่ามีสำนวนไม่สวิงสวายหรืออ่านสนุกได้เท่าเขาเลย ช่วงแรกๆ ก็เลยอ่านแต่งานของ ‘รงค์ คนเดียว จนกระทั่งโตมาหน่อยก็พบว่ามันเป็นสไตล์การเขียนของใครของมันมากกว่า ไม่ใช่เขียนดีหรือไม่ดี พอหลังๆ ก็ชอบงานของ คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านนิยายกำลังภายในของ โกวเล้ง จนวัยทำงานก็อ่านพวกปรัชญาสายตะวันออก อย่างจวงจื่อ ฮวงโป หรือเว่ยหลาง ไปจนถึงงานของท่านพุทธทาส ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเขียนเพลงของเรา” บอยสืบสาวเส้นทางการอ่านของเขา

แล้วหนังสือที่มีอิทธิพลกับคุณที่สุดตอนเรียนล่ะ” ผมถาม

“พ่อรวยสอนลูก”

ผมถามเขาว่าอะไรนะ

เขาพยักหน้า ยืนยันว่าหมายถึง พ่อรวยสอนลูก ของ ชารอน เลคเตอร์ และ โรเบิร์ต คิโยซากิ หนังสือที่เป็น Super Best Seller เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

“ตอนนั้นหนังสือเล่มนั้นดังมาก เป็นกระแสให้คนรุ่นผมอยากเกษียณตอนอายุสามสิบ คิดอยากทำธุรกิจ ถึงขนาดเขียนจดไว้เลยว่าเราจะทำอะไรบ้าง ทำธุรกิจพวกพลังงานทดแทนหรือไม่ก็อสังหาริมทรัพย์ อะไรแบบนี้”

“อยากเป็นเศรษฐี” ผมถามต่อ

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

“ผมเล่นดนตรีกลางคืนมาตั้งแต่เด็ก ประเด็นก็คือผมชอบเล่นดนตรีโฟล์กและไม่ค่อยเล่นเพลงที่เขาฮิตๆ กันเท่าไหร่ เลยได้เล่นแต่ร้านเหล้าเล็กๆ ได้ค่าแรงชั่วโมงละหกสิบถึงแปดสิบบาท พอย้ายมาเรียนลาดกระบังก็เป็นอย่างนี้ ไปเล่นที่ไหน สักพักร้านนั้นก็ปิดตัว ผมเห็นเรื่องนี้มาตลอด เห็นถึงความไม่แน่นอน เคยคุยกับนักดนตรีที่มีรายได้ไม่ต่างจากเรา คิดว่าอายุสี่สิบแล้ว จะหิ้วกีตาร์มาเล่นแบบนี้อยู่หรอ พอมาเจอหนังสือ พ่อรวยสอนลูก มันเลยจุดประกายเรา

“แต่สุดท้ายจบมา ก็กลับมาหางานทำเชียงใหม่ ได้งานเป็นสถาปนิก แล้วพบว่างานสนุกดี ก็เลยเลิกคิดเรื่องนี้” อิทธิพลจากหนังสือเล่มดังเล่มนั้นยุติเพียงเท่านั้น

“เป็นไปตามจังหวะมากกว่า คือจังหวะชีวิตมันลงตัวแบบนี้ มีความสุขกับตรงนี้ ก็ปล่อยให้มันไปแบบนี้” เขากล่าว

“แค่ไหน แค่นั้น” ผมหมายถึงเพลงที่มีเนื้อหาว่าด้วยความพึงพอใจและการยอมรับความเป็นไปที่เขาเขียน

“แค่ไหน แค่นั้น”

ความรัก ตู้ปลา กับสุราหนึ่งป้าน

บริษัท ช่างรุ่งคอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อตั้งโดย รุ่ง จันตาบุญ เป็นบริษัทสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในการออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงประเพณีล้านนาในจังหวัดเชียงใหม่ ช่างรุ่งอยู่เบื้องหลังการออกแบบโรงแรมหรูหรา วัดวาอาราม และอาคารสไตล์ล้านนาหลายแห่ง รวมไปถึงหอคำหลวง แลนด์มาร์กของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ ที่ซึ่งบอยมีส่วนในการเขียนแบบก่อสร้างอาคารอันงามระยับหลังนี้

ในวัย 25 ปี บอยเริ่มงานที่แรกกับบริษัท ช่างรุ่ง แม้เขาจะยืนยันอีกครั้งว่า ลึกๆ ไม่ได้ชอบการเป็นสถาปนิก ไม่สนุกกับการคิดคอนเซปต์อันแปลกล้ำ และพบว่าไม่ใช่บุคลิกของเขาที่ต้องเขียนแบบเพื่อไปนำเสนอชักจูงลูกค้า แต่กับงานออกแบบเชิงประเพณีที่ช่างรุ่ง ก็กลับตอบโจทย์อาชีพของเขา

เป็นสถาปนิกที่ไม่มีแพสชันของการเป็นสถาปนิกเลย

ก็ไม่เชิง ผมชอบงานก่อสร้างนะ แต่ไม่ชอบที่จะไปคิดอะไรให้เขา คิดคอนเซปต์หรือคิดว่าบ้านหลังหนึ่งต้องมีอะไรบ้าง แต่ถ้ากำหนดมาเลยว่ามีอะไรบ้างชัดเจน ก็เป็นงานที่ผมทำได้ดี อย่างงานที่ช่างรุ่งก็เป็นคล้ายๆ กัน คือมีคอนเซปต์มาเรียบร้อยแล้ว องค์ประกอบครบ ผมเขียนแบบ ทำให้แนวคิดเป็นรูปเป็นร่างเพื่อนำไปก่อสร้างต่อ ไม่ได้ชอบงานสร้างสรรค์อะไรให้ใครใหม่นัก

แต่ว่าการเขียนเพลงของคุณ มันเป็นงานสร้างสรรค์ ต้องคิดคอนเซปต์ คิดโครงสร้างขึ้นมาใหม่

เพลงมันเป็นงานของผม ไม่เกี่ยวกับคนอื่น งานสถาปัตยกรรมคืองานออกแบบให้ลูกค้า เราจะเอาตัวตนเรามาใส่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้อาศัยเอง ผมเขียนเพลงจากความรู้สึกข้างใน ตอนเขียนจึงไม่เคยคิดว่าคนฟังจะต้องเป็นคนกลุ่มไหน หรือจะมีความรู้สึกตอบรับยังไง คนฟังชอบก็ดี แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่เสียหายอะไร แล้วผมมีรสนิยมเรียบง่ายแบบชาวบ้านๆ ด้วย เหมือนเป็นคนชอบรถกระบะเก่า ถ้าต้องไปออกแบบรถลัมโบร์กินี มันก็ขัดแย้งล่ะ เพราะผมไม่มีความสนใจมันจริงๆ

แต่หลายงานของช่างรุ่งนี่หรูหราระดับลัมโบร์กินีทั้งนั้นเลยนะ

งานเชิงประเพณีพวกงานออกแบบวิหาร มันมีคอนเซปต์ตายตัวอยู่แล้ว อีกอย่างฟังก์ชันมันไม่เยอะ มันเน้นความสวยงาม เราเหมือนทำงานไปตามสั่งเลย

ทำกับช่างรุ่งอยู่กี่ปี

น่าจะประมาณสองปี จำไม่ได้ รู้สึกว่านาน เพราะเราไม่มีวันหยุด ไม่ใช่เขาไม่ให้หยุด แต่เราไม่หยุดเอง สนุกกับงาน กินนอนอยู่ออฟฟิศ จำได้ว่ามีปีนึงหยุดแค่ห้าถึงหกวันช่วงสงกรานต์ เพราะคนงานก่อสร้างเขาต้องหยุด แต่วันอื่นๆ เสาร์-อาทิตย์ เราก็ทำงานหมด ไม่ได้กลับบ้านเลย

ไม่คิดว่าทำงานหนักไปหรอ

ไม่ คือพอรู้สึกว่ามันสนุก ก็เลยไม่คิดว่ามันเป็นงาน ทำงานกับเพื่อน พอเห็นว่าเราสิงอยู่ที่นี่ พี่รุ่งก็เลี้ยงข้าวเราทุกมื้อ แทบไม่ได้ใช้เงินตัวเองเลย นอกจากค่าเบียร์กับการไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน จำได้ว่าพี่รุ่งบอกว่าต่อไปจะโอนเงินเดือนไปที่ร้านคาราโอเกะแล้ว เพราะเงินเดือนออกมา พวกผมก็เอาไปลงที่คาราโอเกะเกือบหมด (หัวเราะ)

ไม่ได้เล่นดนตรีเลย

ไม่ได้อ่านหนังสือด้วย ทำอยู่เป็นปีๆ จนวันหนึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นเทศกาลอะไร เพื่อนร่วมงานทุกคนกลับบ้านกันหมดตั้งแต่สองทุ่ม คือปกติเวลานี้เราจะนั่งดื่มเบียร์กัน ค่ำนั้นก็เลยเหงาๆ เห็นกีตาร์ของเพื่อนร่วมงานวางอยู่ก็เลยหยิบมาเล่น มันเป็นช่วงเวลาที่เราไม่ได้นิ่งอย่างนี้มานานมาก ทำนองเพลง พระจันทร์ของฉัน มันก็ลอยมา เราก็ฮัมๆ เนื้อตาม

จนมาอีกครั้งหนึ่ง ไปรอพรีเซนต์งานออกแบบอาคารให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งห้องประชุมเขาอยู่บนดอย ช่วงที่รอคณะกรรมการเข้ามาครบ ผมเห็นกีตาร์เลยหยิบมาเล่นรอ บรรยากาศตรงนั้นมันดี มีลมพัดยอดไม้ มีหมอก แล้วก็นั่งคิดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องการจุดมุ่งหมายอะไร เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต แล้วมันก็ย้อนกลับมานึกถึงตอนเล่นกีตาร์ว่าเราไม่ได้เล่นมานานแค่ไหน หลังจากนั้นเราก็ไปดื่มเหล้า และเจอเพื่อนที่เคยเล่นดนตรีกลางคืนด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียน เลยเปรยๆ ว่ามีที่ไหนให้เล่นบ้าง จากที่รับเล่นดนตรีแทนเพื่อนบางวัน ไปๆ มาๆ ก็เริ่มมีร้านประจำ และพบว่าถ้าขืนเล่นอย่างนี้ต่อไป เราจะทำงานสเกลใหญ่ๆ ที่เดิมไม่ได้แล้ว สุดท้ายก็เลยไปบอกพี่รุ่งว่าจะลาออก

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

เขาว่าไงบ้าง

เขาถามว่าคิดดีแล้วหรือ ก็บอกว่าจะไปเปิดออฟฟิศเล็กๆ ของเราเองด้วย ไม่ได้เล่นดนตรีอย่างเดียว เพราะเล่นอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ พี่รุ่งก็โอเค

แต่พอมาเปิดออฟฟิศก็ต้องเริ่มออกแบบใหม่จากศูนย์ในแบบที่คุณไม่ชอบไม่ใช่หรือ

เรามีพรรคพวกอยู่ ถ้างานไหนไม่ถนัดก็ส่งให้เพื่อน บางงานเพื่อนรับมา เพื่อนออกแบบ เรารับทำแค่เขียนแบบก็พอ แล้วเราก็มีคอนเนกชันจากลูกค้าอยู่ประมาณหนึ่ง ก็พออยู่ได้

แล้วมีร้านของตัวเองได้ยังไง

เริ่มมาจากชุดเพลงที่ผมเล่นสมัยเรียนมาใช้เล่นในผับสมัยนั้นไม่ได้แล้ว เพราะพื้นฐานผมเล่นดนตรีเพื่อชีวิตกับสากล จำได้ว่ามีร้านหนึ่งเราเล่นเพลงเพื่อชีวิตไปเพลงเดียว เจ้าของร้านเดินมาบอกว่าขอไม่ให้เล่น เขาอยากให้เล่นเพลงฮิตสมัยนั้น ซึ่งผมไม่ค่อยฟังเพลงเหล่านั้น ก็เลยเล่นไม่ได้ ช่วงที่ทำงานกับช่างรุ่ง อยู่กับคนงาน ก็ฟังแต่เพลงลูกทุ่ง

จนเริ่มคิดว่าเราน่าจะมีร้านที่เราเล่นเพลงอะไรก็ได้และทำรายได้ให้เราด้วย ก็พอดีตอนนั้นมีเพื่อนชวนไปดื่มเบียร์ที่สตูดิโอถ่ายรูปของเขาชื่อ อิมเมจิ้น สตูดิโอ ซึ่งอยู่แถวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไม่ไกลจากบ้านเรา วนเวียนอยู่กับสตูดิโอแถวนั้นสักพัก ก็มาเจอห้องแถวใกล้ๆ กันเขาเปิดให้เช่า มันเก่าแล้ว แต่ค่าเช่าก็ถูก ก็เลยคิดว่าน่าจะทำร้านเหล้าเล็กๆ เลยขอชื่ออิมเมจิ้น เขามาตั้ง เอาโลโก้เขามาด้วย (หัวเราะ) ตั้งชื่อว่า อิมเมจิ้น บาร์ เปิดตอนปี 2550

ตอนนั้นเริ่มแต่งเพลงหรือยัง

ยังไม่ได้เขียนเพลงจริงจัง มีบ้าง แต่ยังไม่บันทึกเสียง ที่ร้าน ผมเล่นเพลงที่อยากเล่นก่อน พวก John Mayer, Jack Johnson เพลงเพื่อชีวิตบ้าง ช่วงแรกๆ ทั้งร้านมีผมคนเดียว เสิร์ฟเหล้าและเล่นดนตรีเองทุกคืน เป็นร้านเล็กๆ

ขายดีไหม

เรื่อยๆ เราสนุกที่จะทำมากกว่า กลางวันก็ยังทำงานสถาปนิกอยู่ รายได้หลักเรามาจากการเขียนแบบ ถ้าทำร้านอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ คือมาเจอของจริงแล้วมันคนละเรื่องกัน เราคิดว่าเล่นดนตรีมาสิบกว่าปี เข้าออกร้านเหล้ามาตลอด มาเปิดร้านเองคงไม่ยากอะไร แต่มันคนละชุดความรู้กัน กลายเป็นว่าหาเงินจากการออกแบบมาได้เท่าไหร่ ก็เอามาลงกับร้านหมด แต่ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป

แล้วย้ายมาเปิดตรงนี้ได้ยังไง

มันพอดีกัน ตอนนั้นปี 2557 มีกฎหมายเรื่องร้านเหล้าที่ต้องอยู่ห่างจากสถานศึกษา และร้านผมช่วงนั้นมันมีลูกค้ามากขึ้น รับแขกไม่ไหว อีกอย่างคือผมมีลูกคนแรกด้วย คิดว่าเราน่าจะต้องทำร้านให้เป็นธุรกิจหลักได้แล้ว ครอบครัวผมเขามีที่ดินอยู่ใกล้ๆ บ้านพอดี ก็เลยเอาที่หนึ่งไร่ตรงนี้มาทำ

ตอนนั้นหรือเปล่าที่ชื่อ บอย อิมเมจิ้น เริ่มดัง

จนทุกวันนี้ก็ไม่คิดว่าเราจะมีชื่อเสียงอะไร แต่ตั้งแต่ออกจากงานประจำ ก็เริ่มเขียนเพลงและบันทึกเพลงของตัวเองแล้ว ช่วงปี 2555 – 2557 ได้อ่านงานจวงจื่อ งานปรัชญาของเต๋าและของเซน ก็พบว่าสิ่งที่อ่านมันกลายมาเป็นหลักยึดของชีวิต แล้วมันไหลไปจนเป็นแนวทางการเขียนเพลงของเราได้ยังไงไม่รู้ จากนั้นก็เริ่มทำเพลง บันทึกเสียง มีเพื่อนมาช่วยทำเอ็มวีและเผยแพร่ในยูทูบ แต่ก็คิดว่าเพลงเราไม่ได้ดังอะไรมากมายอยู่ดี

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

ความรัก ความงาม

อะไรทำให้คุณหันมาสนใจปรัชญาตะวันออก

จำไม่ได้เหมือนกันว่าเริ่มมาได้ยังไง สมัยเรียนลาดกระบัง ได้อ่าน สายธารแห่งปัญญา ของหงอิ้งหมิงแล้วชอบทั้งหมดเลย จากนั้นหนังสือมันก็พาเราเชื่อมต่อไปเรื่อยๆ พบว่าหนังสือพุทธปรัชญาเหล่านี้มันตอบคำถามที่เราถามมาตลอดชีวิตได้ว่าชีวิตคืออะไร และเราควรใช้ชีวิตแบบไหน

แล้วเราควรใช้ชีวิตแบบไหน

ข้อนี้ตอบแทนกันไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตไม่เหมือนกัน หนังสือสอนให้เราคิดและดำเนินชีวิตให้มีความสุข และหลีกพ้นจากความทุกข์ตามแนวทางของแต่ละคน

การเขียนเพลงออกมาเผยแพร่โดยไม่คิดที่จะขาย เป็นแนวทางหนึ่งด้วยหรือไม่

ก็ไม่เชิง ผมเล่นดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ร้านมันเกิดขึ้นได้เพราะผมเล่นดนตรีสด แต่อีกทางหนึ่ง ผมก็เขียนเพลงของตัวเองโดยไม่คิดว่าสิ่งนี้คือธุรกิจ ผมเขียนเพราะอยากสื่อสารสิ่งที่เราคิด จึงไม่ต้องการสร้างรายได้อะไรจากมัน เพียงแค่เผยแพร่ผ่านยูทูบให้คนอื่นฟังเท่านั้น

แต่เพลงคุณเป็นที่นิยมมากๆ แถมยังได้รางวัลอีก

มันแตกต่างกัน ถ้าเกิดเริ่มต้นเขียนเพลงจากความคิดว่าจะทำขาย ผู้ฟังก็จะอยู่ในห้วงความคิดของผมขณะเขียน ตรงนี้จะเกิดความโน้มเอียงไปหาเขา เพราะเขาจ่ายเงินให้เรา ทีนี้ผมต้องมาให้เวลากับการรับฟังคำชมหรือคำติ เพื่อเอามาปรับปรุงหลังจากที่มันถูกเผยแพร่ออกไปอีก ซึ่งผมไม่ต้องการสร้างงานจากฐานคิดเช่นนั้น

จวงจื่อเคยเขียนถึงช่างไม้ชื่อชิ่ง ซึ่งแกะสลักระฆังได้งดงามราวกับเป็นผลงานของเทพเจ้า จนฮ่องเต้ที่เป็นผู้ออกคำสั่งให้เขาไปทำ ถามว่าเขาทำได้ยังไง ช่างไม้ไล่เรียงกระบวนการทำงาน เริ่มจากข้อหนึ่ง เขาออกบวชและทำสมาธิ สามวันแรกเขาทำสมาธิเพื่อที่จะลืมเงินค่าจ้าง ผ่านไปห้าวันเพื่อลืมคำชมในฝีมือหรือคำประณาม ผ่านไปเจ็ดวัน ฮ่องเต้ในฐานะผู้ว่าจ้างก็ไม่อยู่ในความคิด สมาธิของช่างไม้จดจ่ออยู่แต่กับภาพของระฆัง หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มเดินเข้าป่าเพื่อหาต้นไม้ที่เขาคิดไว้ ไหลเรื่อยอย่างเป็นธรรมชาติ จนเจอต้นไม้ที่ว่า เขาจึงแกะสลักมันออกมา ช่างไม้บอกว่านี่ไม่ใช่ความสามารถของเขาอย่างเดียว หากเป็นเพราะต้นไม้ที่เขาค้นพบต้นนี้มันเกิดและเติบโตขึ้นมาเพื่อจะเป็นระฆัง

เรื่องช่างไม้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมในการกำหนดทิศทางการเขียนเพลงและทำดนตรี เหมือนกับที่มิยาโมโต้ มูซาชิ บอกไว้ว่าวิถีดาบของข้าต้องพ้นจากคำวิจารณ์ของผู้คน จากคำชื่นชม และคำเหยียดหยาม

ไม่สนใจผลตอบรับจากคนฟังเลยหรือ

แฟนผมส่งคอมเมนต์ในยูทูบให้อ่านบ้างนะ ก็มีคนวิจารณ์ทางลบด้วย แต่ไม่มีผลอะไรกับผม

แล้วคุณเขียนเพลงด้วยความมุ่งหมายอะไรเป็นพิเศษ

ไปพบเห็นหรืออ่านเจอสิ่งไหนที่บันดาลใจต่อเรา ผมจึงเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราที่จะต้องสื่อสารมันออกมา อย่างแนวคิดของ เนลสัน แมนเดลา หรืออดีตประธานาธิบดีของประเทศรวันดา พอล คากาเม ที่สามารถยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้โดยไม่ใช้วิธีแก้แค้น พอรู้จักผู้คนเหล่านี้ ก็พบว่าโลกนี้มีความหวัง เราพบว่าสันติวิธีคือความชัดเจน คือทางสู่ความสุข เลยอยากสื่อสารออกไป ซึ่งสิ่งนี้เป็นหลักยึดหนึ่งของปรัชญาเต๋าและเซน

สาเหตุที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ไม่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ก็เพราะคอมมิวนิสต์ขับเคลื่อนด้วยความโกรธแค้น ท่านบอกว่าหากเราเปลี่ยนความโกรธแค้นเป็นพลัง อีกฝั่งก็จะเปลี่ยนมันเป็นพลังสู้กลับมา สงครามก็จะไม่มีวันยุติ ไม่มีวันสุขสงบ กาลเวลาที่ผ่านมามันก็พิสูจน์ว่าคอมมิวนิสต์อยู่ไม่ได้ แต่หลักคิดแบบสันติวิธี หรือหลักปรัชญาของแต่ละศาสนาก็ยังคงยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

ทุกวันนี้ยังรู้สึกถึงความโกรธอยู่บ้างไหม

มีสิ เป็นเรื่องธรรมดา ผมเป็นแค่คนถ่ายทอดสิ่งที่อ่านหรือสิ่งที่พบเจอมาแล้วประทับใจ ขณะเดียวกันที่เขียนเพลงขึ้นมาก็เพื่อเตือนใจตัวเอง ถ้าวันหนึ่งเราทำได้อย่างคนเหล่านี้ ความสุขก็น่าจะเกิดได้จากภายในเราเอง อย่างเพลง โปรดเรียกขานฉันด้วยนามอันแท้จริง ก็เป็นเพลงที่ผมเอาสิ่งที่ติช นัท ฮันห์ มาเล่า ไม่ได้มาจากความคิดของผมเอง

แต่เงื่อนไขชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน ไหนจะความเหลื่อมล้ำในสังคมอีก คิดว่าสันติวิธีเป็นทางออกของทุกอย่างได้จริงหรือ

อันนี้มันเรื่องภายนอก แต่ผมพูดถึงเรื่องภายใน สิ่งที่ผมจะสื่อสารคือเราจะยอมรับความเป็นไปของชีวิต หรือน้อมรับความตายอย่างไรมากกว่า คุณไปพบเจอความอยุติธรรม เป็นธรรมดาที่คุณต้องโกรธแค้น คุณจะแก้แค้นหรือไม่ หรือจะแก้ปัญหาด้วยวิธีใดนั่นก็เรื่องของคุณ แต่คุณก็ต้องน้อมรับผลที่มันจะตามมาด้วย ผมก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้ชัดเจนเหมือนกัน ถ้าจู่ๆ มีคนบ้ามาสังหารลูกชายผม หรือคนที่เรารักจากไปด้วยเหตุผลบ้าๆ บอๆ ผมก็ตอบไม่ได้ว่าจะจัดการอย่างไร

สิ่งที่ผมคิดคือชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งเดียวกัน ประสบการณ์หรืออะไรหลายๆ อย่างหล่อหลอมให้เราพบว่าทุกอย่างแตกต่างจนเกิดการแบ่งแยก แต่ถ้าคิดว่าชีวิตเขา ชีวิตเรา ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เราน่าจะรับมือกับความทุกข์ได้ และพบทางสู่ความสุขในแบบที่ไม่ต้องทำให้คนอื่นทุกข์ได้เช่นกัน

ถ้าคิดอย่างนี้ โลกจำเป็นต้องมีศาสนาไหม

ผมคิดว่าถ้าแนวคิดศาสนาใดตอบโจทย์กับชีวิต ก็เป็นเรื่องดีที่จะเรียนรู้ศาสนานั้น อย่างผมศึกษาพุทธศาสนา เต๋า เซน ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องสังกัดศาสนานั้นทั้งหมด เราปรับใช้กับชีวิตเราได้

ผมชอบแนวคิดของจวงจื่ออีกเรื่องหนึ่ง เขาบอกว่า ‘เราพอใจที่จะรั้งอยู่ข้างหลัง แต่เราก็ไม่ประณามคนที่รุดไปเบื้องหน้า เราไม่พอใจกับลาภยศเงินทอง แต่ก็ไม่อวดโอ่ว่าปฏิเสธมัน’ คำพูดนี้คือคำพูดของคนที่ผ่านประสบการณ์ ตกตะกอน และเข้าใจในชีวิต และผมพยายามปรับใช้แนวคิดนี้เข้ากับตัวเอง

ไม่พอใจในลาภยศสรรเสริญหรือเงินทอง

ทำเพลงออกมาคนฟังเยอะ และชอบมัน ผมก็ดีใจนะ

แต่ไม่อยากดังแบบพี่เบิร์ด ธงไชย?

อันนี้อันตราย ไม่ใช่ว่าการมีชื่อเสียงมากๆ แบบพี่เบิร์ดเป็นเรื่องไม่ดีนะ แต่ถ้าผมมีสติ แล้วถ้าเป็นไปได้ที่จะเป็นแบบนั้น ผมก็จะไม่มีทางพาตัวเองไปถึงตรงนั้นแน่นอน

ทำไมถึงคิดแบบนั้น

มันมีต้นทุนที่ต้องแลก เหมือนกระดาษสีขาว ถ้าคุณอยากเขียนเยอะๆ คุณก็เสียพื้นที่สีขาวไป มันไม่มีทางที่คุณได้ทั้งสีขาวและสีดำเพิ่มขึ้นพร้อมกัน เช่น ถ้าคุณมีเงินพันล้าน ก็ต้องมีสักอย่างที่คุณสูญเสีย คุณอาจจะไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัววันละหลายๆ ชั่วโมง โดยมีเงินพันล้านพร้อมกันไปด้วย ผมกล้าพูดเลยว่าไม่มีทางที่คุณจะไม่ต้องสูญเสียอะไรไป อาจเป็นความเป็นส่วนตัว เวลา หรืออิสรภาพ แต่ว่าคนที่คิดแบบนี้ก็ไม่ผิด เพราะเขามีเป้าหมายอย่างนั้น แต่นี่ไม่ใช่เป้าหมายของผมเท่านั้นเอง ผมไม่คิดที่จะนำมีสิ่งที่มีทุกวันนี้ไปแลกกับอะไร

คิดว่าอนาคตเราจะเปลี่ยนไปจากนี้ไหม

ไม่เปลี่ยนแน่นอน ผมพูดได้ว่าใช้ชีวิตมาพอสมควร จนค้นพบคำตอบที่ค้นหาจนเป็นแนวทางให้ผมไปต่อ ชีวิตทุกวันนี้ผมลงตัวอย่างที่ควรจะเป็น ได้ทำงานที่สร้างรายได้ไว้เลี้ยงร่างกาย มีครอบครัว มีลูก มีร้าน มีที่เล่นดนตรี มีเบียร์ให้ดื่มทุกคืน แน่นอน ย่อมมีความปรารถนาต่อหลายๆ เรื่องอยู่ มีกีตาร์ตัวหนึ่งที่อยากได้ แต่ราคามันสูง ก็เก็บเงินไว้ก่อน ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรที่ตอนนี้ไม่ได้ซื้อมันมา

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

พ่อกับลูกชาย

ชีวิตประจำวันของบอยเริ่มจากตื่นเช้า พาลูกไปโรงเรียน กลับมาเอาข้าวให้เป็ดและไก่ที่เลี้ยงไว้ในสวน จัดการธุระส่วนตัวก่อน 10 โมงเช้า และเริ่มทำงานในฐานะสถาปนิกจนบ่าย 3 โมง และไปรับลูกกลับจากโรงเรียน เขาใช้เวลาช่วงเย็นและมื้อค่ำกับครอบครัว จากนั้นจึงเข้าร้านอิมเมจิ้น’ เฮ้าส์ ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน บอยจะเล่นดนตรีตอน 2 ทุ่ม เล่นเพลงโฟล์กทั้งไทยและสากลโดยไม่เล่นเพลงของตัวเอง จะมีบ้างที่เขาไม่ขึ้นเล่น อาจเพราะลูกชายงอแงให้เขากลับไปเล่านิทาน อาจป่วย หรือมีธุระที่ต้องสะสาง แต่ส่วนใหญ่คุณจะพบเขาที่นั่นเป็นประจำ เขาเล่นจนถึงสามทุ่ม จากนั้นจะดื่มเบียร์จนดึก เป็นเช่นนั้นทุกวัน

บอยไม่คิดจะออกทัวร์คอนเสิร์ตแบบที่นักดนตรีส่วนใหญ่ทำ เพราะเขามีร้านและลูกที่ต้องดูแล ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ประสงค์จะเล่นเพลงของตัวเองพร่ำเพื่อ ซึ่งผมเขียนเหตุผลข้อนี้ไปตอนต้นแล้ว

เขาบอกว่าหน้าที่หลักของชีวิตทุกวันนี้คือการเลี้ยงลูกชายทั้งสอง ไม่มีเวลาเดินทางท่องเที่ยว แต่มีแผนว่าถ้าลูกชายทั้งสองโตกว่านี้ เขาจะพาครอบครัวไปต่างจังหวัด เปิดการแสดงดนตรีในสเกลกะทัดรัดตามที่ต่างๆ เพราะเห็นว่ามีคนต่างจังหวัดมาเยี่ยมเยียนร้านเขามากมาย เขาจึงจะหาโอกาสไปเล่นที่บ้านที่เมืองของคนฟังเพลงเขาบ้าง แน่นอน ถ้าถึงเวลานั้น เขาจะเล่นเพลงของตัวเอง

“เดี๋ยวนี้ยังคิดถึงการไปนั่งคาราโอเกะอยู่ไหม” ผมถาม นึกขึ้นได้ว่าสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ เขาบอกว่าร้านคาราโอเกะเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองรองจากที่ทำงาน

“ก็คุยๆ กับน้องๆ ว่าจะไปกันอยู่ มีคนมาชวนไป Take It อยากหาเวลาไป”

“ยังสนุกกับการร้องคาราโอเกะ?”

“ไปนั่งดื่ม ไปดูผู้คนเสียมากกว่า แต่หลังๆ พบว่าตัวเองแก่เกินไปแล้ว เล่นดนตรีที่ร้านเสร็จก็เหนื่อย ที่ว่าจะไปๆ พอถึงเวลาจริง สุดท้ายก็เลือกนั่งดื่มต่อที่ร้านทุกที”

คุยกับ บอย อิมเมจิ้น ศิลปิน สถาปนิก และนักคิดหลังแก้วเบียร์ผู้เชื่อในสันติวิธี

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ