ยังจำความรู้สึกวัยเด็กตอนเล่นบ้านกระดาษได้ไหม 

ความตื่นเต้นที่เห็นกระดาษแผ่นเรียบแปลงร่างตั้งตรงตระหง่าน

ช่างเป็นมนต์ขลังที่ไม่เคยจางหายในทุกยุคสมัย

ผู้ประกอบการในคอลัมน์นี้ได้นำศาสตร์ Paper Engineering มาต่อยอดธุรกิจโรงพิมพ์ ซึ่งจัดอยู่ในอุตสาหกรรมดาวร่วง กลายมาเป็นดาวรุ่ง เมื่อโลกต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง แต่ยังส่งมอบความแข็งแรงและสื่อสารได้อย่างทรงพลัง

การออกแบบกระดาษไม่ได้ใช้แค่ความคิดสร้างสรรค์ ต้องมีทั้งความรู้ตรีโกณมิติ ฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ และวิชาธุรกิจต้องรอด เส้นทางชีวิตที่โลดโผนของ ต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บางกอกแพค จำกัด สนุกเหมือนการพับกระดาษ พับผิดก็พับใหม่ ไม่ติดกาวก็แกะรื้อได้สบาย ประสบการณ์กว่า 2 ทศวรรษ เติมรอยพับให้กับชีวิตและสร้างหลักยึดให้ธุรกิจ จนวันนี้ต่ายกล้าพูดได้ว่า “งานบีบหัวใจเราจะไม่ยุ่ง พอเลิกวิ่งตาม ก็มีคนมาตามหาเราเอง” 

ไฟแรง งานพุ่ง งานยุ่ง ไฟมอด

(ปี 1999 – 2004)

ต่าย ลูกสาวข้าราชการที่ไม่ขอตามรอยอาชีพหมอ เลือกเส้นทางนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ไฟแรง เดินสายประกวดออกแบบล่ารางวัลจนเข้าตาบริษัทใหญ่ ทำงานประจำ 2 ที่พร้อมกัน ขอเข้างานสัปดาห์ละวันแต่รับเงินเดือนเต็ม ออกแบบสินค้าใหม่ตามใจฝ่ายการตลาด เพิ่มยอดขายไม่จบไม่สิ้น วันหนึ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้า พร้อมที่พักและรถส่วนตัว ต่ายไม่รอช้า ขอลาออกทันที! 

ความสุขจากก้อนน้ำแข็ง

(ปี 2005)

เมื่องานไม่สนุกอีกต่อไป ต่ายแพ็กกระเป๋าไปเรียนภาษาที่อินเดีย เที่ยวจนเบื่อ ขึ้นเหนือสู่ทิเบต จับพลัดจับผลูไปเป็นอาสาสมัครสอนคอมพิวเตอร์กราฟิกให้เจ้าอาวาสในวัดแลกอาหาร ตลอด 6 เดือนที่ได้เห็นความกระจ้อยร่อยของชีวิตมนุษย์ท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ใช้ชีวิตแบบไม่มีอันจะกินจนซูบผอม เมื่อวีซ่าหมดจำต้องกลับไทย แค่ได้ดื่มน้ำใส่น้ำแข็งในศูนย์อาหารก็รู้ทันทีว่า “เราสัมผัสความสุขได้ง่ายจัง” 

ชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีอะไรเลยแม้แต่น้ำแข็งที่อินเดีย ทำให้ต่ายเรียนรู้ว่ามนุษย์จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมีตัวตนและเป็นประโยชน์

เปิดบริษัทกันเถอะ

(ปี 2006 – 2010)

ต่ายกลับมาตั้งหลักชีวิตใหม่ ตัดสินใจเปิดบริษัทบางกอกแพค พร้อมกับ หนึ่ง-ศิริชัย แย้มวาทีทอง แฟนนักเดินป่าและทายาทโรงพิมพ์ ใช้บ้านแถวเมืองนนท์ฯ เป็นออฟฟิศ ไม่เกี่ยงงานพิมพ์ทุกประเภท นั่งรถสองแถวไปส่งของ พอครบ 1 ปีถึงเริ่มรับพนักงาน และกัดฟันซื้อรถกระบะแฟมิเลียราคา 30,000 บาท ชีวิตวนอยู่กับการเดินทางเสนองาน บางวันลูกค้าไม่รับก็ต้องขนกลับ เรี่ยวแรงหมดไปกับการคุยและจัดซื้อที่ต่อรองราคาอย่างเอาเป็นเอาตาย คู่แข่งกลั่นแกล้ง ตกม้าตายกับเอกสารราชการ

“ทำไมคนทำธุรกิจใจร้ายจัง” ต่ายคิดกับตัวเองเมื่อโลกธุรกิจไม่เหมือนกับโลกข้าราชการประจำที่เติบโตมา ได้แต่ปลดปล่อยผ่านการร้องไห้ทุกสัปดาห์ คิดถึงการเดินป่าแทบขาดใจ 

ไม่มีโรงพิมพ์ไหนทำ ฉันทำ

(ปี 2011 – 2015)

จิตวิญญาณนักออกแบบยังคงลุกโชน ต่ายสนุกกับการรับงานในแบบที่ซับซ้อนเกินขีดจำกัดงานพิมพ์ทั่วไป เมื่อลูกค้าไปถามโรงพิมพ์ทุกแห่งแล้วไม่มีใครทำได้ ต่ายจึงนำเสนอวิชา Paper Engineering ต่อยอดจากพื้นฐานงานแพตเทิร์นตุ๊กตาผ้าที่เคยทำวิทยานิพนธ์ ออกแบบโครงสร้างจากกระดาษด้วยการพับ เช่น กล่องสินค้า ชั้นวางของ จนได้คุยกับฝ่ายการตลาด ไม่ต้องแข่งขันต่อรองราคากับฝ่ายจัดซื้อ 

โจทย์เปลี่ยนชีวิตสำหรับต่ายเกิดขึ้นช่วงก่อนปีใหม่ เมื่อลูกค้ามาบ่นว่า “ตะกร้าของขวัญปีใหม่ถือลำบากจัง เดินทางหน่อยขวดก็แตกเละเทะ เอาชั้นวางใส่ในตะกร้าให้หน่อยสิ” 

กระดาษฝอยที่ขยำลงตะกร้าหนัก 3 กิโลกรัม แทนที่ด้วยชั้นวางกระดาษหนักเพียง 3 ขีด ช่วยลดน้ำหนัก ลดฝุ่นละออง ประหยัดเวลาแพ็ก แถมอวดโฉมสินค้าชัดเจนขึ้น

งานออกแบบเปลี่ยนโฉมกระเช้าปีใหม่ของบางกอกแพคได้วางขายในทุกห้างจวบจนทุกวันนี้ ทำยอดขายไม่แพ้โรงพิมพ์ขนาดกลาง ทั้งที่ไม่มีเครื่องพิมพ์แม้แต่เครื่องเดียว 

ล้างไพ่

(ปี 2016)

ตลอด 10 ปีที่การงานก้าวหน้า แต่รถยังติดเหมือนเดิม ต่ายใช้เวลาส่วนใหญ่บนท้องถนน จนลืมใส่ใจลูกน้อง 10 กว่าชีวิต กลับออฟฟิศมาต้องเล่นแมวจับหนูประสานรอยร้าวในองค์กร ส่วนหนึ่งที่ทำงานประจำในโรงพิมพ์ก็กลับบ้านดึกดื่นจนลูกจำหน้าไม่ได้ 

ในที่สุด ต่ายและหนึ่งตัดสินใจย้ายออฟฟิศมาใกล้เมืองมากขึ้นแถวย่านปุณณวิถี บอกลาพนักงาน ให้เงินชดเชยตามกฎหมาย เหลือเพียงพนักงานธุรการตามมาด้วย 3 คน 

ต่ายหันมาโฟกัสกับวิธีคิดตามแบบฉบับบางกอกแพค ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุน้อยชิ้นแต่พอดี ไม่มีชิ้นส่วนสิ้นเปลือง ลดการเคลือบผิวด้วยพลาสติก ให้รีไซเคิลได้ 100% 

ตัด หมุนกลับหัว ตัด หมุนอีกที

(ปี 2017)

นี่คือหนึ่งในเทคนิคเฉพาะตัวของบางกอกแพค เนรมิตกระดาษเป็นช่อดอกไม้จากแผ่นพิมพ์แบบเดียวนำมาซ้อนทับกัน กลายเป็นพวงหรีดกระดาษ โดยใช้กาวที่กรอบนอกเพียงเล็กน้อย เพื่อมาทดแทนพวงหรีดดอกไม้สดแบบดั้งเดิมที่ใช้วัสดุทำลายธรรมชาติมหาศาล ทั้งโฟม พลาสติก ไม้ ลวด เหล็ก สารเคมี จนได้รับรางวัลการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ปี 2018 จากผลงาน ‘พวงหรีดกระจายบุญ’ พวงหรีดกระดาษเจ้าแรกของเมืองไทย 

แต่เมื่อถามถึงการจดสิทธิบัตรการออกแบบ ต่ายตอบยิ้ม ๆ ว่า “กว่าจะจดเสร็จ 18 เดือน มีคนเอาไปทำถึงไหนต่อไหนแล้ว ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องใจกว้างเข้าไว้ เราอยู่เมืองไทย ใครถูกกว่าชนะ”

 บรรจุภัณฑ์ที่เป็นไปได้ 

(ปี 2019)

ครั้งหนึ่ง ต่ายได้รับงานผลิตกล่องไข่เค็มสุราษฎร์ฯ โดยไปรษณีย์ไทยสนับสนุนค่ากล่องให้ ชาวบ้านได้ใช้เพียงชั่วครู่ เมื่อหมดการสนับสนุน ชาวบ้านต้องสั่งกล่องเองจากโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ ตกกล่องละ 7 บาท บวกค่าส่งอีก 5 บาท แล้วจะยั่งยืนได้อย่างไร

ต่ายหาคำตอบให้ความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์ไทย ด้วยการเป็นครูสอนออกแบบ เดินสายสอนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในวิชา ‘บรรจุภัณฑ์ที่เป็นไปได้’ งานดีไซน์ที่ดีไม่ต้องมาจากไอเดียที่เจ๋งที่สุด แต่ต้องอยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม ออกแบบมาแล้วต้องใช้ได้จริง

ต่ายจึงชวนดีไซเนอร์และผู้ประกอบการในพื้นที่ มองหาวัสดุท้องถิ่นที่ไม่กินพื้นที่ ไม่เปลืองน้ำหนัก ไม่พึ่งการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ไม่มีความประนีประนอม สั่งผลิตร้อยชิ้นไม่มีทางได้ราคาเท่ากับแสนชิ้น ต่ายเปรียบเทียบได้เจ็บจี๊ดว่า “หากทุกอย่างต้องผลิตด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ก็ไม่ต่างอะไรกับเกษตรพันธสัญญา”

อะไรที่เป็นประโยชน์ได้ก็ทำไปก่อน

(ปี 2020)

ปีที่เจอโควิด-19 กันถ้วนหน้า ลูกค้าติดต่อมาทุกวัน ไม่ได้สั่งของเพิ่มหรอกนะ มีแต่ยกเลิกการสั่งซื้อ เลื่อนการส่งสินค้า ผ่อนผันการชำระหนี้ แต่ในวิกฤตครั้งนั้น ต่ายเห็นวิดีโอการทำหน้ากากใสแบบ DIY โดยพยาบาลในชุดทำงานเหมือนที่แม่เคยใส่ ทำให้เริ่มคิดว่าน่าจะทำให้ใช้งานง่ายขึ้นกว่านี้ได้ นำมาสู่โปรเจกต์ออกแบบข้ามโลกอัดวิดีโอส่งกลับไปกลับมาร่วมกับนักออกแบบจาก 3 มุมโลก จนกลายเป็น ‘หน้ากากเราจะชนะ’ หน้ากากไม่ขึ้นฝ้า ถอดล้างได้ ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ทั้งหมด ในปีนั้นมีการแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์กว่า 60,000 ชิ้น

ดิสนีย์ หรือ โรงพิมพ์อาแปะ

(ปี 2021 – 2024)

เรื่องฝีมือไม่เป็นที่กังขาอีกต่อไป ผลงานบางกอกแพ็กเป็นที่ถูกใจของลูกค้าต่างประเทศ เบา ขนส่งง่าย เปลี่ยนได้หลากหลายตามซีซัน รวมถึงกล่องขนมแบรนด์ดังหรือชั้นวางสินค้ากระดาษในดิสนีย์แลนด์ แต่เมื่อคู่ค้าต่างประเทศถามถึงมาตรฐานการผลิตระดับสากล ต่ายหันกลับไปมองบรรดาโรงพิมพ์เล็ก ๆ อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีที่ใช้บริการกันมาตลอด เห็นกันทุกวันว่าไม่มีแรงงานเด็กหรือไม่ได้ปล่อยของเสียจากอุตสาหกรรม แต่ต้องจ้างผู้ตรวจหลายแสนบาทมาออกเอกสารรับรองมาตรฐานทุกปี เมื่ออาแปะเจ้าของโรงพิมพ์บอก “อั๊วไม่ไหว” ต่ายก็ไม่ไหวเหมือนกัน หากต้องจ่ายค่าตรวจจนแทบไม่เหลือกำไรเลย จึงบอกลาคู่ค้าต่างชาติ กลับมาดื่มน้ำชากับอาแปะสบายใจกว่า

การเดินทางในโลกธุรกิจ

ไม่ว่าการเดินทางนี้จะดำเนินไปอีกกี่ปี ดูเหมือนว่าต่ายมีเส้นทางที่ชัดเจนของตนเองแล้ว ช่วงชีวิตหนึ่งของสาวนักเดินป่าที่ได้มาผจญโลกธุรกิจ บาดแผลเต็มตัว จากความหวาดกลัวในการแข่งขันของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ความเหนื่อยล้าที่ต้องวิ่งออกแบบตามโจทย์ลูกค้า ในวันนี้ ต่ายกับพนักงานไม่ถึง 10 คนวิ่งนำลูกค้าให้กล้าออกแบบนอกกรอบ 

โดยยังยึดหลักคิดแบบ 4L 

Learn ฟังจึงฝัง – ฟังให้มากก่อนฝังความคิดลงไป

Life ฟันตามฝัน – สนุกและฝ่าฟันทำฝันให้เป็นจริง

Love ไฟปลุกใฝ่ – พลังแห่งรักเป็นดั่งไฟในการใฝ่ดี

Leave ฟากที่ฝาก – ทำแล้วเหลืออะไรไว้อีกฟากที่ฝากให้คนรุ่นหลัง

ทำในสิ่งที่รัก เรียนรู้จากทุกคนและทุกอย่างรอบตัว คำนึงถึงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ตั้งคำถามในงานออกแบบว่าใช้เสร็จแล้วไปไหน สร้างภาระให้ใครหรือเปล่า 

เพื่อให้สังคมไทยได้เข้าใจวงจรชีวิตของวัสดุ ไม่ผลักภาระให้คนใช้งานต้องมาแยกขยะ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้นทางต้องออกแบบและผลิตให้แยกได้ง่ายด้วยเช่นกัน ต่ายจึงร่วมมือกับ World Packaging Organisation จัดทำคู่มือการออกแบบบบรรจุภัณฑ์หมุนเวียนที่เป็นมาตรฐานระดับโลก (ดาวน์โหลดได้ฟรี

การกลับไปหาธรรมชาติทุกครั้งที่เหนื่อยล้า ให้ข้อคิดชุดใหญ่อะไรกับมนุษย์ตัวจ้อยอย่างคุณ – เราถาม 

“ธรรมชาติปรับตัวด้วยการหลีกเลี่ยงและสร้างความแตกต่าง ไม่ได้ยึดความต้องการของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นหลัก แล้วเราจะยึดแต่มนุษย์ไปทำไม ธรรมชาติรอบตัวให้อะไรมา เราก็หยิบมาใช้เพียงเท่านั้น และสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด” ต่ายตอบ

Website : bangkokpack.com

Lessons Learned

  • ธุรกิจอยู่ได้ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน เป็นดีเอ็นเอข้างในที่ลูกค้าสัมผัสได้ โดยไม่ต้องใช้การโฆษณาชวนเชื่อ
  • ไม่จำเป็นต้องลดทอนคุณค่าตัวเองด้วยการตัดราคาหรือยอมทำงานสีเทาที่เขาทำตามกันมาจนเป็นธรรมเนียม 
  • รักษากระแสเงินสด โดยเฉพาะอาชีพดีไซเนอร์บ้าพลัง ต้องมีฝ่ายการเงิน (สามี) คอยสะกิดว่าช่วงนี้หยุดใช้เงินก่อน หาลูกค้าเพิ่มได้แล้ว

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพ และ baker ฝึกหัด