พ.ศ. 2557 บริเวณเขตนครวัด นครธม จังหวัดเสียมเรียบ พบศพชายนิรนามหนึ่งคน โดยเบื้องต้นคาดว่าเป็นร่างของ นายเดวิด เอ็ดเวิร์ด วอล์คเกอร์ นักข่าวชาวแคนนาดาที่หายตัวไปนานกว่า 10 สัปดาห์ แต่ร่างที่พบกลับเน่าเปื่อยจนดูไม่ออกว่าเป็นศพของใคร
พ.ศ. 2560 ในพื้นที่ป่าไม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว พบชิ้นส่วนกะโหลกเปรอะเปื้อนดิน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นของ นายเด่น คำแหล้ ชายผู้สูญหายจากหมู่บ้านเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่ชิ้นส่วนหน้าผากจนถึงบริเวณกรามหายไปทั้งหมด ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นชิ้นส่วนของผู้ที่กำลังตามหาหรือไม่
จากร่างและชิ้นส่วนไร้หน้า ไร้ชื่อ ไร้คนรู้จัก จะตามหาบุคคลหายสาบสูญได้อย่างไร
ครั้งนี้เราได้โอกาสมาฟังคำตอบจาก พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผู้ที่จะเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หน่วยงานที่สามารถประกอบตัวตนและชีวิตบางส่วนจากชิ้นส่วนปริศนาเหล่านี้ รวมทั้งพูดคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแต่ละครั้ง ซึ่งมีน้อยคนที่จะรู้ว่านี่คือหนึ่งในผลลัพธ์จากความร่วมมือระหว่างประเทศที่ก้าวข้ามขอบเขตพรมแดนและเชื้อชาติ โดยมีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้สนับสนุนและสะพานเชื่อมสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์อัตลักษณ์ศพจากประเทศอาร์เจนตินา


กฎหมาย + วิทยาศาสตร์
ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและอาร์เจนตินาเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ภายใต้ความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) หรือความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ซึ่ง TICA เป็นกำลังหลักในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาแรงงาน การเกษตร สาธารณสุข รวมไปถึงวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับที่อาร์เจนตินาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศไทย จนในปัจจุบัน เราส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวไปถึงประเทศอื่นในอาเซียนได้
“ตอนนี้มีกระดูกอยู่ด้านบน กองกันอยู่ประมาณ 900 โครง” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการพาเราแหงนหน้ามองเพดาน เพิ่งจะรู้ตัวเดี๋ยวนี้ว่าเหนือศีรษะ คือที่เก็บโครงกระดูกที่ยังไม่มีญาติมารับกลับ
แต่ที่น่าตกใจกว่านั้น กระดูกเหล่านี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่งของทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ “ยังมีอีกประมาณ 2,000 ศพ ซึ่งทางมูลนิธิเอกชนให้เอาไปฝากไว้ที่สุสานนครนายก” เขาว่า


พ.ต.อ. ทรงศักดิ์ คือผู้ที่นำทีมดูแลโครงกระดูกกว่า 3,000 โครง ตั้งแต่เริ่มค้นหาวัตถุพยานจนถึงการช่วยตามหาญาติให้มาพบกับบุคคลที่หายสาบสูญอีกครั้ง
ผู้อำนวยการเล่าว่า เขาไม่ได้เข้าใจประโยชน์ของนิติวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เริ่ม แต่พอได้ทำงานจริงกลับเห็นความสำคัญของสาขาวิชานี้
“นิติวิทยาศาสตร์อยู่ในความสนใจของคนที่ทำงานด้านกฎหมาย เพราะเป็นการนำวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์หาข้อเท็จจริงโดยไม่ต้องใช้พยานบุคคล ทำให้การบังคับเชิงกฎหมายมีความยุติธรรมและน่าเชื่อถือมากขึ้น
“คดีสำคัญหลายคดี เช่น คดีห้างทองหรือคดีฆาตกรรมแพทย์หญิงที่จุฬาฯ ก็ใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เมื่อเกิดข้อโต้แย้งกันในเรื่องข้อเท็จจริง เราสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบาย ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ และช่วยลดข้อพิพาทได้ เพราะฉะนั้น วิชานี้จึงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในประเทศ”
หลายคนคิดว่านิติวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วมันคือเรื่องใกล้ตัวที่จะช่วยให้ใครคนหนึ่งกลับไปสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง แม้เขาคนนั้นจะไร้ลมหายใจ
เพื่อให้เห็นภาพ พ.ต.อ. ทรงศักดิ์ พาเราเดินขึ้นไปชั้นบนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อดูกระบวนการพิสูจน์และจัดเก็บโครงกระดูก พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวซึ่งเป็นเหตุให้ประเทศไทยพิสูจน์ศพนิรนามจำนวนนับไม่ถ้วนได้สำเร็จ

เปิดแฟ้มความร่วมมือ
กะโหลก กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกนิ้วมือ ชิ้นส่วนกระดูกที่จัดวางเป็นร่างไว้บนโต๊ะ นอนเรียงรายกันเป็นระเบียบ
ไม่นึกว่าครั้งแรกที่ได้ยืนประจันหน้ากับโครงกระดูกมนุษย์จริง จะเป็นเพราะมาเยือนศูนย์ราชการฯ
มีห้องหนึ่งห้องสำหรับเก็บชิ้นส่วนกระดูกในกล่องกำกับหมายเลข จัดเรียงเต็มชั้นวาง ทั้งหมดคือร่างของบุคคลสูญหายที่ยังรอการกลับไปพบกับครอบครัวอีกครั้ง
แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของการตามหาบุคคลสูญหาย ใน พ.ศ. 2547คุณหญิงพรทิพย์ทำงานพิสูจน์เอกลักษณ์ผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิ แล้วพบว่าประเทศไทยยังขาดประสบการณ์และวิทยาการที่ทันสมัยในด้านการตรวจวิเคราะห์กระดูก
“ตอนนั้นคุณหญิงไปสัมมนาที่ออสเตรเลีย แล้วได้พูดถึงปัญหาที่พบด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของไทย พอดีมีชาวอาร์เจนตินาซึ่งเป็นประธานของ Argentine Forensic Anthropology Team (EAAF) เข้าร่วมฟังด้วย ซึ่งเขามีแนวคิดพัฒนานักวิทยาศาสตร์ตรวจวิเคราะห์กระดูกอยู่พอดี”
แต่เนื่องจากไม่ทราบช่องทางติดต่อสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อาร์เจนตินาจึงติดต่อไปทางกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ให้ช่วยประสานงาน
“TICA ช่วยดำเนินการให้ไทยกับอาร์เจนตินาได้ทำ MOU ร่วมกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของไทย”

อาร์เจนตินานำความรู้ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลและวิเคราะห์กระดูกมาแบ่งปันผ่านวิธีการหลากหลาย บางครั้งมีการส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเทศไทย เพื่อมอบความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานอย่างละเอียด ตั้งแต่การเก็บวัตถุพยานและชิ้นส่วนกระดูก กระทั่งการถ่ายภาพและร่างภาพวัตถุพยานที่ค้นพบ บางครั้งก็เป็นบุคลากรชาวไทยที่เดินทางไปอบรมทักษะที่อาร์เจนตินา อาทิ การทำแล็บดีเอ็นเอและระบบดำเนินการรับคดี รวมถึงวิธีการจัดเก็บพยานวัตถุ
“ข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้ทำให้เราสร้างโปรไฟล์ของศพได้อย่างละเอียด เวลาญาติมาหาข้อมูลยืนยันอัตลักษณ์ศพก็ทำได้เลยโดยไม่ต้องใช้โครงกระดูก อัตลักษณ์คือความโดดเด่นของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น อัตลักษณ์ของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน”


การร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ของไทย TICA จึงพร้อมสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันได้พัฒนาประสิทธิภาพและศักยภาพของบุคคลากรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอาร์เจนตินา โดยไม่ต้องเสียเงินทุน
“เรานำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในคดีหลายคดี เช่น คดีนักข่าวแคนนาดาที่หายตัวไปในกัมพูชา คดีของเด่น คำแหล้ และคดีบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ) ต้องบอกว่าความสำเร็จเริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ขอบคุณ TICA ที่ทำให้เกิดความร่วมมือนี้”
2 ประเทศรวมใจทำให้ไทยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการติดตามศพนิรนาม คนนิรนาม คนหาย และมีระเบียบกฎหมายที่ทำให้การทำงานด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคลหรือการตรวจวิเคราะห์กระดูกมีมาตรฐานที่ดีขึ้น เกิดความชัดเจนในการทำงาน และเป็นการยกระดับความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเก่า จนเกิดผลสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ
มองการณ์ไกลและไปให้ถึง

การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และกฎหมาย เหล่านักนิติวิทยาศาสตร์ยังต้องประลองปัญญากับอาชญากร ใช้จินตนาการปะติดปะต่อเบาะแสที่พบประปรายราวกับการต่อจิ๊กซอว์ นอกจากนั้น ขนาดของงานยังไม่สามารถกำหนดตายตัว บางครั้งต้องกั้นป่าเป็นผืน ๆ หรือสูบน้ำทั้งบ่อออกจนเกลี้ยง เพื่อค้นหาวัตถุพยานสักชิ้น
สุดท้ายน้ำพักน้ำแรงทั้งหมดที่ลงไปอาจจบด้วยการค้นพบว่า วัตถุพยานที่เจอเป็นกระดูกสัตว์ ก้อนหิน หรือใบไม้ แต่บุคลากรทุกคนก็พร้อมทำสุดความสามารถ
แม้ผลลัพธ์อาจไม่ใช่สิ่งที่อยากให้เป็น แต่ทุกคนต่างเชื่อมั่นว่าทุกแรงที่ลงไปจะทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างขึ้น และเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับศพที่พูดไม่ได้
“อย่าลืมว่างานเราเป็นงานระดับชาติ ไม่ใช่งานทำวันนี้ พรุ่งนี้เสร็จ อยากให้มองไกล ๆ มองไปสูง ๆ นึกถึงประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าว
ครั้นถามถึงข้อจำกัดขององค์ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ไทยในปัจจุบัน สิ่งแรกที่ผู้อำนวยการเห็นว่าควรพัฒนาเพิ่มเติม คือความรู้ด้านกระบวนการจัดการกับศพหลังการชันสูตร
“เรายังต้องการองค์ความรู้ในด้านนี้อยู่ จึงกำลังศึกษาว่าต่างประเทศมีวิธีจัดการศพเหล่านี้อย่างไร ก็พบว่าแต่ละประเทศมีกระบวนการแตกต่างกัน บ้างก็เผา ไม่ก็เอาไปใส่ตู้ละลายเลยก็มี หรือบางประเทศเอาเข้าเตาเพื่อย่อยสลาย แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อ”
แต่สุดท้าย หากจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง จะต้องเริ่มปรับตั้งแต่ระดับกฎหมาย
“เรื่องสำคัญที่สุดคือ เราพยายามยกระดับกฎหมายศพนิรนาม การไม่มีกฎหมายในด้านนี้บังคับใช้ ทำให้เราจัดการศพเหล่านี้ไม่ได้ตามประเพณีไทย
“ในเชิงกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ควรพัฒนาระบบนิติวิทยาศาสตร์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ส่งตรวจที่ไหนต้องมีความแม่นยำเท่ากัน เพราะจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของหน่วยงานราชการมากขึ้น สุดท้ายจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและคนของเราเอง”


ข้อจำกัดอีกอย่างคือจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอในหลายสายงาน ยกตัวอย่าง บุคลากรที่ทำงานพิสูจน์ลายมือเขียน ซึ่งต้องใช้ทั้งประสบการณ์และเทคนิค ผสมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ยังมีไม่เพียงพอ หนึ่งในวิธีผลักดันให้มีทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น คือการเสริมสร้างวิชาชีพ
“เด็กหลายคนอยากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ แต่ไม่รู้จะไปทำงานอะไร ทั้งที่งานด้านวิทยาศาสตร์มีหลากหลาย การสร้างวิชาชีพทางด้านนิติวิทยาศาสตร์จะผลักดันให้เกิดการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานในสายงานนี้มากขึ้น ส่งเสริมให้มีให้มีบุคลากรรุ่นต่อรุ่นในอนาคต”
เรื่องสุดท้ายที่ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เชื่อว่ามีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาวงการนิติวิทยาศาสตร์ คือ
เรื่องความร่วมมือระหว่างนักนิติวิทยาศาสตร์ในไทยและนานาชาติ
“เราอยากให้มีความต่อเนื่องในการร่วมมือกัน เพราะถ้าเราไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว งานก็จะไม่เดินต่อ สำหรับความร่วมมือภายในประเทศ ก็พยายามให้นักนิติวิทยาศาสตร์ที่เคยได้ร่วมงานกันแล้ว คุยติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอด ในส่วนของความร่วมมือระหว่างประเทศ เชื่อว่า TICA จะช่วยประสานงานได้ เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน บางทีเราไม่รู้ว่าตำรวจเมียนมา ลาว กัมพูชา มีกระบวนการทำงานอย่างไร ก็จะประสานไปทาง TICA ให้ช่วยดูว่า เราร่วมมือกับเขาในส่วนไหนได้บ้าง”
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เชื่อว่า TICA เป็นสื่อกลางระหว่างไทยกับประเทศยุโรป ละติน และอเมริกา ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกด้วย
“ตอนนี้เราต้องการความรู้เรื่องการตรวจพิสูจน์ทางดีเอ็นเอ และกำลังติดต่อไปทางอเมริกา แต่อเมริกาอาจไม่ใช่ที่เดียวที่มีองค์ความรู้นี้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องคอยประสานงานและศึกษาจากประเทศต่าง ๆ อยู่ตลอด ถ้าเราไม่รู้ว่าเขาพัฒนาไปถึงระดับไหน เราจะพัฒนาได้อย่างไร” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวด้วยแววตาที่อยากยกระดับให้นิติวิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยเหลือประชาชนและประเทศได้ยิ่งกว่าเก่า


เขาทิ้งท้ายด้วยคติประจำใจที่ไม่ว่าจะร่วมงานกับประเทศไหนก็ยึดถือเสมอมา
“ใครให้อะไรเรามา เราต้องจำ ผมเป็นคนอย่างนั้น
“Caring and Sharing คือคำที่ผมชอบ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวไว้ ถ้าเรารู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเราแบ่งปันกับเขาในส่วนที่เรามี คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ทัศนคติแบบนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีในอนาคต และทำให้องค์ความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาตร์ของไทยก้าวไกลขึ้นด้วย”
ความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและอาร์เจนตินาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ ต่อจากนี้ TICA และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังมีโครงการที่จะส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่ประเทศอาเซียน เพื่อให้ศพได้กลับบ้าน โดยเป้าหมายไม่ใช่การช่วยคนตาย แต่เป็นการช่วยคนเป็นเยียวยาจิตใจให้พวกเขาได้พบบุคคลในความทรงจำเป็นครั้งสุดท้าย
