8 มีนาคม 2019
2 K

“แค่คนที่ส่งยิ้มให้ในวันที่แย่ๆ ของเรา เขาก็เป็นฮีโร่ได้เหมือนกัน” หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ บอกกับเราในวันที่มูลนิธิ Let’s be heroes เป็นรูปเป็นร่าง และหวังอยากให้ทุกคนเป็นฮีโร่เช่นกัน

เดิมความฝันของเด็กหญิงทโมน รักความสบาย การเรียนไม่เอาไหนคนนี้ คือ อยากรวยจนไม่ต้องทำอะไร แต่ความเพ้อฝันนั้นกลับสลายไปโดยพลัน เมื่อกระแสแห่งความทุกข์ทรมานกายทรมานใจของเพื่อนมนุษย์โหมกระหน่ำเข้ามากลางใจของเธอ

‘เราต้องทำอย่างไร’ คำถามผุดขึ้นในใจของเด็กสาวในวัย 18 ปี

“ต้องเป็นหมอรักษาคนไข้” คำตอบวันนั้นเป็นดังคำปฏิญาณ และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือ การเปิดฟรีคลินิกรักษาคนไข้ทุกคนอย่างดีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ภาพเหตุการณ์วันนั้นดูจะเปลี่ยนชีวิตของเด็กผู้หญิงช่างเพ้อฝันให้มุ่งมั่นค้นหาและเดินตามเส้นทางสู่เป้าหมายที่ไม่มีแม้เพื่อนร่วมทาง และเธอไม่เคยรู้ว่าต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง

นับจากวันนั้น ต้องใช้เวลาถึง 12 ปี กว่าที่หมอเจี๊ยบจะทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้ ย้อนมองเส้นทางที่เธอเลือกเดินมา เราบอกได้ว่าเธอกลายเป็นฮีโร่อย่างเต็มตัว และวันนี้เธออยากผลักดันให้ทุกคนเป็นฮีโร่เช่นกัน

“ฮีโร่ที่ไม่ได้มีพลังวิเศษใดๆ นอกจากหัวใจและความมุ่งมั่นยิ่งใหญ่” คือถ้อยคำที่อยู่ในใจเราเมื่อบทสนทนากับหมอเจี๊ยบจบลง

หมอเจี๊ยบ ลลนา
หมอเจี๊ยบ ลลนา

ปลุกพลังฮีโร่ในใจ

“เจี๊ยบเป็นเด็กขี้เกียจที่สุดขนาดที่เคยคิดอยากเป็นพยาธิในท้องแม่ จะได้ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนอนกินอยู่ในท้อง โตขึ้นมาหน่อยก็อยากเป็นอองซานซูจี เพราะเขาถูกกักขังอยู่ในบ้าน เราชอบอยู่บ้านเล่นเกม ก็เข้าใจผิดว่าเขาคงสบาย เราก็อยากเป็นแบบนั้นบ้างจัง” หมอเจี๊ยบเล่าถึงความเพ้อฝันในวัยเด็กที่มักคิดอะไรแปลกกว่าคนอื่น และคิดหาหนทางเสมอว่าโตขึ้นมาจะทำอาชีพอะไร ที่มีเงินเยอะที่สุด

อาชีพทั่วไปที่เด็กใฝ่ฝันอย่างหมอ พยาบาล หรือครู ไม่เคยอยู่ในความคิดของเธอ

จากเด็กเรียนย่ำแย่ ผลการเรียนอยู่ที่เกรดหนึ่ง กลับเกิดความฝันใหม่ที่อยากเป็นทันตแพทย์ เพราะ (เข้าใจผิด) คิดว่าเป็นงานง่าย รายได้มหาศาล ความมุ่งมั่นนั้นเปลี่ยนเธอจากเด็กที่อ่านหนังสือไม่เป็นกลายเป็นเด็กเรียนท็อปได้ย้ายมาอยู่ห้องคิง เธอเล่าถึงตัวเองอย่างขำๆ ก่อนตบท้ายจริงจังว่า

“เจี๊ยบต้องปรับตัวเยอะมาก แต่เวลาที่เรามีความมุ่งมั่นแล้วเราเป็นคนกัดไม่ปล่อย อะไรที่เคยทำไม่ได้ ก็ต้องทำเพื่อไปให้สู่เป้าหมาย”

อาจเป็นโชคชะตาที่เมื่อเธอเรียนอยู่มัธยมปลาย ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านตามข้อกำหนดในการสอบเข้าแพทย์ ที่เธอคิดเพียงว่าจะไปลองข้อสอบ แต่วันนั้นกลับกลายเป็น ‘วันเปลี่ยนชีวิต’

“เขาให้เราทำหน้าที่เดินบัตร แต่เรากลับไปเจอสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต ภาพตรงหน้าคือ มีคนไข้มานั่งรอรักษาเป็นร้อยคน เด็กก็ร้องไห้ คนไข้บางคนก็มีแผลเลือดสาด เพราะแถวนั้นเป็นแถบโรงงานอุตสาหกรรม โดยที่มีหมอออกตรวจเพียงคนเดียว

“พอเห็นคนไข้ที่ต้องทรมานกายทรมานใจ เรารู้สึกเจ็บปวดทรมานใจ อยากให้คนเหล่านี้พ้นจากสภาพนี้ไป เราไม่ชอบที่เห็นเขาเจ็บปวดเลย แต่เราทำอะไรไม่ได้ ถึงตอนนั้นมีเงินก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะหมอไม่พอ ตรวจไม่ทัน คนไข้ก็ต้องรอไปเรื่อย วันนั้นเจี๊ยบกลับมาบอกแม่ว่า จะเป็นหมอ เพื่อเปิดฟรีคลินิกรักษาคน เจี๊ยบมุ่งมั่นสุดชีวิตจนสอบติดแพทย์ได้จริง”

หมอเจี๊ยบ ลลนา

ฝ่าด่านทดสอบจิตใจ

การเดินทางสู่ความฝันเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาแพทย์ ขั้นต่อไปที่ท้าทายกว่าคือ การสละความเป็นตัวเองจนสิ้น เพื่อลงประกวดนางสาวไทยตามคำชวนของคุณแม่ เพราะเธอเชื่อว่านี่อาจเป็นทางลัดที่ช่วยให้ถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น

“คุณแม่รู้ความคิดเรื่องโรบินฮู้ดเปิดฟรีคลินิกมาตลอด บอกให้ไปประกวดนางงาม ถ้าเรามีชื่อเสียงก็จะขอความช่วยเหลือคนได้ในวงกว้าง ตอนแรกเจี๊ยบไม่ยอมท่าเดียว เพราะไม่ใช่ตัวเราเลย แต่คิดไปคิดมา ถ้ามีคนมาช่วยเราหลายๆ คนก็คงดีกว่าเราทำคนเดียวนะ ถ้าอย่างนั้น ลองดูก็ไม่เสียหาย แต่ลังเลใจทุกวันจนได้ไปสมัครประกวดเอาวันสุดท้าย”

เธอยังคงจดจำความรู้สึกนั้นได้ดี “ตอนนั้นฝืนมากนะ เพราะเราต้องสละความเป็นตัวเองไปเกือบทั้งหมด เพื่อเป้าหมายที่เราต้องการ แต่เจี๊ยบว่ามันก็คุ้มค่าที่ต้องเสียไป เจี๊ยบเป็นคนที่อดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อเดินไปสู่สิ่งที่ชอบได้ ก็ดูว่าจากเด็กขี้เกียจตัวเป็นขน ไม่ชอบอ่านหนังสือ ยังมุ่งมั่นจนสอบติดหมอได้เลย นั่นเพราะเราคิดเสมอว่า เราไม่มีทางได้สิ่งที่ชอบมาง่าย ๆ เราต้องอดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่ชอบ”

12 ปี สู่ความฝัน

12 ปีที่ผ่านมานี้ หมอเจี๊ยบผ่านบททดสอบมากมาย ทั้งการเรียนที่เกือบจะท้อ หรือทางเลือกในชีวิตที่ทำให้ไขว้เขวไปในบางครั้ง แต่สุดท้ายแล้วเป้าหมายยิ่งใหญ่ในใจไม่ได้หล่นหายไปไหน ทุกอย่างคงรอให้ถึงจังหวะที่เหมาะสม ระยะเวลาอันยาวนานหล่อหลอมให้เธอเติบโต ประสบการณ์บนเส้นทางทางวิชาชีพแพทย์พาเธอไปรู้จักโลกความเป็นจริงและระบบสาธารณสุขของประเทศ ความฝันที่จะทำฟรีคลินิกช่วยเหลือคนยังคงอยู่ แต่ปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับความเป็นจริง

“เป้าหมายหลักของเจี๊ยบยังคงเป็นการเปิดฟรีคลินิก แต่คิดต่อไปว่าทำอย่างไรให้คนได้ประโยชน์ที่สุด และครอบคลุมที่สุด โลกนี้ต้องการความช่วยเหลือเยอะ ไม่ใช่เฉพาะคน สัตว์ก็ด้วย อีกทั้งการที่เราเป็นหมอคนเดียวก็คงช่วยได้แค่คนที่มารักษา แต่ถ้าเราให้ความรู้คนอื่นด้วย เขาก็จะกลายเป็นฮีโร่ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อไปได้ จึงกลายเป็นคอนเซปต์ในการจัดตั้งมูลนิธิ Let’s be heroes เพราะเจี๊ยบรู้สึกว่า ใครๆ ก็เป็นฮีโร่ที่ช่วยเหลือคนได้”

หมอเจี๊ยบ ลลนา
หมอเจี๊ยบ ลลนา

Let’s be heroes ใครก็เป็นฮีโร่ได้

“เราไม่อยากจำกัดตัวเองว่าเราจะช่วยเหลือแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเวลาเห็นข่าวที่มีคนต้องการความช่วยเหลือต่างๆ เจี๊ยบก็อยากเข้าไปช่วย” หมอเจี๊ยบเริ่มอธิบายถึงงานของ Let’s be heroes มูลนิธิที่เธอร่วมจัดตั้งขึ้นกับเพื่อนคณะกรรมการ มีการจดทะเบียนมูลนิธิอย่างถูกต้องและเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560

Let’s be heroes เริ่มดำเนินงาน 3 โครงการหลัก โครงการแรกคือ ฟรีคลินิกแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ โครงการที่ 2 คือ การสอนกู้ชีพพื้นฐานและการใช้เครื่อง AED และโครงการสุดท้าย Let’s be heroes for animals โครงการช่วยเหลือสัตว์โดยทีมสัตวแพทย์

“ตอนนี้เรามีฟรีคลินิกแพทย์เคลื่อนที่เฉพาะทางไปยังจังหวัดที่อยู่ห่างไกล เพราะบางพื้นที่คนไข้เป็นคนไทย แต่ไม่มีบัตรประชาชนไทย จึงไม่อาจได้รับการรักษาพื้นฐานได้ และการไปหาแพทย์เฉพาะทางเป็นเรื่องที่ยากมาก เราอาจคิดว่าเขาเดินทางไม่กี่ชั่วโมง แต่รู้ไหมว่าการเดินทางของเขาเปรียบได้กับการที่เราเดินทางไปอเมริกาได้เลยนะ เพราะเขาต้องทิ้งครอบครัว หยุดงาน เสียค่ารถค่าเดินทางมาไกล

“ที่สำคัญคือ ในพื้นที่ห่างไกลอาจจะมีแพทย์เฉพาะทางด้านหนึ่งแค่คนเดียวที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หมอก็งานแน่น เพราะคนทุกเขตต้องมาหาเขาคนเดียว เราจึงพยายามรวบรวมแพทย์เฉพาะทางที่ขาดไปรักษาในชุมชนที่เขาต้องการในด้านนั้นๆ

“โครงการที่ 2 เกิดจากคำแนะนำของอาจารย์เจี๊ยบ ท่านเคยบอกว่า อยากให้เจี๊ยบเป็น Professional ในสิ่งที่เจี๊ยบเป็น นั่นคือ แพทย์ฉุกเฉิน จึงเป็นที่มาของโครงการสอนการกู้ชีพพื้นฐานที่เจี๊ยบสอนทำ CPR หรือการกดนวดหัวใจเพื่อให้คนกลับมามีชีวิตได้ และการใช้เครื่อง AED (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ) เจี๊ยบคนเดียวรักษาได้ 1 คน แต่ถ้าสอนคนอื่น เขาจะออกไปเป็นหูเป็นตาให้เรา และเป็นฮีโร่ช่วยคนอื่นที่เขาพบเจอได้ ตอนนี้ก็พยายามเปิดสอนให้ได้ทุกเดือน

“โครงการที่ 3 เป็นการช่วยเหลือสัตว์ เพราะตอนนี้มีสัตวแพทย์เป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ล่าสุดคือการไปฉีดยากันพิษสุนัขบ้าให้กับพื้นที่ห่างไกลที่เราไปเปิดฟรีคลินิกเฉพาะทาง”

เมื่อเหล่าฮีโร่ออกช่วยผู้คน

ฟรีคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ครั้งแรกของ Let’s be heroes เดินทางไปที่พื้นที่ห่างไกลในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยประสานงานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อจัดทีมแพทย์ให้เหมาะสมกับเคสคนไข้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ประโยชน์สูงสุด

“บางทีการให้ก็ต้องมีคนที่พร้อมจะรับ เพราะถ้าเราเข้าไปให้โดยที่เขาไม่ได้พร้อมรับก็กลายเป็นการสร้างภาระให้กับเขาได้ การลงพื้นที่แต่ละครั้งต้องประสานกับโรงพยาบาลพื้นที่ โชคดีมากที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่อุ้มผางให้ความสำคัญ เขาลิสต์เลยว่ามีเคสอะไรบ้าง วันที่เราไปก็นัดคนไข้มา และผู้อำนวยการก็น่ารักมาก เอาน้ำมันไปให้ชาวบ้านเพื่อให้เขานั่งรถกันเข้ามา เพราะการเดินทางลำบากมาก”

การเดินทางครั้งนี้หมอเจี๊ยบไปให้ความรู้เรื่องการกู้ชีพที่เธอเชี่ยวชาญ โดยมีผู้รับการอบรมเป็นชาวบ้านและหมอตำแยในพื้นที่ แม้จะพูดกันคนละภาษา สื่อสารกันผ่านล่าม แต่พวกเขาก็พร้อมรับคำแนะนำ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการทำคลอดแบบพื้นบ้านในท้องถิ่น

“เจี๊ยบเห็นแม่หมออายุ 70 เขานั่งฝึกนั่งทำของเขาอยู่คนเดียวแล้วหายเหนื่อยเลยจริง ดีใจมากที่เขาตั้งใจฝึก จากที่คิดว่าอุปสรรคทางภาษาจะทำให้ลำบากไหม กลายเป็นว่าเขาพร้อมที่จะรับและนำไปใช้ช่วยเด็กที่ทำคลอดเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด”

ความสุขของฮีโร่คงไม่พ้นการช่วยเหลือใครสักคนให้รอดพ้นจากความทุกข์ แต่ความสุขกลับขยายใหญ่เมื่อมีใครอีกหลายคนได้รับรู้ความรู้สึกเดียวกัน

“อิ่มใจที่สุดคือเพื่อนและคณะกรรมการที่ไปด้วยกันมีความสุขกันหมด ที่มากกว่านั้นคือ ช่างภาพจากมูลนิธิ Forward ที่ไปช่วยเก็บภาพเดินมาบอกว่า ‘หมอ ผมเข้าใจแล้วว่าความสุขเป็นยังไง ผมแค่เห็นรอยยิ้มของคนที่ผมถ่ายภาพก็สัมผัสได้ว่าความสุขเป็นอย่างนี้นี่เอง ครั้งหน้าถ้าหมอไปอีกผมไปถ่ายให้ฟรีเลย’”

เราสัมผัสได้ถึงความสุขที่สื่อออกมาจากสายตาของเธอ

หมอเจี๊ยบ ลลนา
หมอเจี๊ยบ ลลนา

จุดเล็กๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

คลินิกคุณหมอฮีโร่กลุ่มนี้ได้กลับไปที่อุ้มผางอีกครั้ง ครั้งนี้คณะใหญ่ขึ้น มีคุณหมอเฉพาะทางโรคหัวใจไปตรวจรักษา จึงเป็นที่มาของการส่งตัวผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่มีสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพเข้ามาผ่าตัดที่โรงพยาบาลราชวิถีได้สำเร็จด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย

ใครจะรู้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เพียงการช่วยผู้ป่วยให้พ้นจากโรคภัย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจและอาจถึงอนาคตของคนในอุ้มผางทีเดียว

“เจี๊ยบได้ไปเยี่ยมคนไข้คนนี้ก่อนที่เขาจะกลับบ้าน พี่สาวที่มาเฝ้าเขาเดินมาขอบคุณทุกคน เราไม่ได้ทำเพื่ออยากได้คำขอบคุณหรอก แต่ซึ้งใจที่เขาบอกประมาณว่า ‘เดี๋ยวจะกลับบ้านไป ไปบอกลูกหลานทุกคนให้ตั้งใจเรียนให้เป็นหมอ สมัยก่อนเราก็ไม่รู้ เห็นว่าปลูกข้าวก็ได้กินข้าวเหมือนกัน จะไปเรียนทำไมให้สูงๆ แต่ทุกวันนี้รู้แล้วว่ามันกลับมาช่วยคนได้ จะกลับไปบอกลูกหลานทั้งหมดเลยให้ตั้งใจ แล้วก็จะทำตัวเป็นคนดีให้ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เราฟังแล้ว โอ้โห การที่เราช่วยคนคนหนึ่งกลับเปลี่ยนคนรอบข้างเขาได้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ที่เราสัมผัสได้จริง”

เราคือฮีโร่ของตัวเอง

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเด็กตัวน้อยที่อยากเป็นพยาธิตัวน้อยในท้องแม่ให้กลายมาเป็นมนุษย์ที่เติบโตพร้อมทำความดี และเป็นฮีโร่ได้อย่างในทุกวันนี้คงหนีไม่พ้น ‘ความมุ่งมั่น’ ที่คอยผลักดันให้เธอก้าวเดินต่อไปจนถึงจุดหมาย

“ถ้าเจี๊ยบไม่มีความมุ่งมั่น ถ้าท้อถอยไปตั้งแต่แรก ก็คงไม่มีวันนี้ เจี๊ยบขอบคุณความมุ่งมั่นจริงๆ ที่ทำให้กัดไม่ปล่อย ไม่ว่าจะเจออุปสรรค ความท้อแท้ใดๆ ความมุ่งมั่นคอยผลักดันให้เจี๊ยบเดินไปตามความฝัน เดินมาสู่เป้าหมายได้ในวันนี้”

        เรามั่นใจว่า ณ เวลานี้หลายคนมองว่าเธอเป็น ‘ฮีโร่’ เต็มตัวแล้ว แม้เธอไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นได้ถึงขนาดนั้น

“เจี๊ยบขอเป็นฮีโร่สำหรับตัวเองแล้วกันที่ทำให้ความฝันเป็นจริงได้ และเจี๊ยบเชื่อเสมอว่า เราทุกคนเป็นฮีโร่ได้เหมือนกันหมด” คุณหมอทิ้งท้ายด้วยสายตาที่มีความหวัง

หมอเจี๊ยบ ลลนา
หมอเจี๊ยบ ลลนา
Facebook : Let’s be heroes foundation

I SHAPE MY WORLD คือแคมเปญระดับโลกของลีวายส์® ที่สนับสนุนผู้หญิงทุกคนในทุกรูปแบบ ถึงแม้ว่าผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างด้านทางเชื้อเชื้อ ภาษา วัฒนธรรม รูปลักษณ์ภายนอก และรสนิยมทางเพศ แต่ก็มีสิทธิ์ชอบธรรมที่จะเลือกเส้นทางของตนเอง และถ้าพบว่าที่ตรงนี้ไม่เหมาะกับเรา ก็สร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ด้วยมือของเราเอง ในวันสตรีสากลโลก (8 มีนาคม) ลีวายส์® จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงไทยภูมิใจในตัวเอง และมั่นใจกล้าแสดงออกในแบบของตัวเอง เป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทั่วโลกได้ โดยมีเหล่าสุภาพตรีผู้เดินตามฝันของตัวเองอย่างแน่วแน่เข้าร่วมแคมเปญนี้ด้วย เช่น หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรณินทร์, อาจารี เกียรติเฟื่องฟู และ สุพัตรา หมั่นแสวง

#IShapeMyWorld

ติดตามรายละเอียดได้ ที่นี่

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)