12 กุมภาพันธ์ 2021
3 K

‘โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก’ คือโปรเจกต์ที่ชวนคนจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างชาติ อยู่ในเมืองหรือชนบท มาร่วมกันรักษาลมหายใจของเพื่อนร่วมโลก ผ่านการสนับสนุนเงินทุนรายปีให้ชาวบ้านที่ทำวิจัยในพื้นที่

ไม่เพียงได้ช่วยนกเงือกตามชื่อเท่านั้น แต่ภารกิจนี้ส่งผลดีต่อทั้งป่าไม้ ชาวบ้าน และคนรุ่นลูกหลาน

ดูแลโดยนักวิจัย ‘โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก’ (Thailand Hornbill Project) ที่เดินเข้าพงไพร สำรวจ ศึกษา และสื่อสารให้ผู้คนเห็นความสำคัญของสัตว์ป่าคุ้มครองไทยที่อยู่คู่โลกมานาน 50 ล้านปีชนิดนี้ ตลอดระยะเวลา 43 ปีที่ผ่านมา

“คนอาจคิดว่านกเงือกหายไปสักตัวไม่เห็นเป็นอะไร แต่นกเงือกทำให้เรามีป่า สิ่งที่ตามมาคืออากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาด มีต้นไม้คอยเก็บรักษาหน้าดินไว้ไม่ให้ถล่มลงมาจนเกิดน้ำท่วม แค่ชีวิตเดียว แต่มันส่งผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ” ศิริวรรณ นาคขุนทด นักวิจัยผู้ทำงานในโครงการฯ มานานเกือบ 3 ทศวรรษ นั่งลงเล่าผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบเด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว 

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

อาจฟังดูไกลตัว แต่เรื่องนี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด หากมนุษย์ยังคงคุกคามนกนักปลูกป่านี้ต่อไป เหมือนเหตุการณ์ยิงนกเงือก 7 ตัวในอุทยานแห่งชาติไทรโยคเสียชีวิตเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ป่าหลายแห่งคงไม่มีชีวิตเหมือนอย่างเคย และลูกหลานเราเองที่จะเดือดร้อน

โชคดี นักวิจัยของโครงการฯ ยังทำงานอย่างขยันขันแข็ง เดินลุยเข้าป่าใหญ่ส่องกล้องดูนก แม้เสี่ยงภัยบ้างก็ตาม แต่เพื่อรักษาความงดงามของธรรมชาติและสมบัติส่วนรวมของประเทศให้คงอยู่ไว้

หากคุณเห็นเหมือนกันว่าสัตว์ป่าและธรรมชาติถูกรุกรานมากเกินไปเสียแล้ว ถึงเวลาทำอะไรสักอย่างฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง ในวาระวันรักนกเงือกที่ตรงกับ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เราขอชวนเดินตามศิริวรรณเข้าป่าไปสำรวจโลกของนกเงือก การเดินทางของโครงการฯ และสิ่งที่เราเริ่มทำได้ด้วยกำลังทรัพย์ที่พอมีตั้งแต่วันนี้ 

เพื่อแสดงความรักให้กันแบบไม่ต้องมีดอกไม้ใด

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

คน-นก

ก่อนอื่น ขอชวนคุณมารู้จักนกเงือก (Hornbill) หนึ่งในผู้ช่วยชีวิตมนุษย์โลก

อาจสังเกตเห็นไม่ได้ด้วยตาในระยะเวลาอันสั้น แต่คำกล่าวนี้ไม่เกินจริง หากพิจารณาพฤติกรรมและคุณสมบัติของนกผู้อยู่อาศัยอยู่ทั่วผืนป่าเขตร้อน

“นกเงือกคือดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า มันกินผลไม้สุกหลากหลายมากถึงสามร้อยชนิดแล้วบินไปมา ขย้อนเมล็ดทิ้งตามที่ต่างๆ เติบโตเป็นต้นไม้ เกิดการแพร่กระจายพันธุ์ในป่า มีการวิจัยด้วยว่า เมล็ดบางพันธุ์ที่ผ่านการขย้อนจากนกเงือกเติบโตได้ดีกว่าเมล็ดที่เก็บจากต้นมาปลูก” นักวิจัยหญิงเล่า นกเงือกบางสายพันธุ์อาจมีอายุยืนได้ถึง 30 ปี ทำให้ในหนึ่งชีวิตอาจปลูกป่าได้มากหลายแสนต้น

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

ด้วยจะงอยปากที่หนาใหญ่ นกเงือกกินผลไม้ขนาดใหญ่ที่นกตัวเล็กกินไม่ได้ และพาเมล็ดไปปลูกในบริเวณที่สัตว์อื่นๆ เข้าไม่ถึง รวมทั้งกินสัตว์ตัวจิ๋วเป็นอาหาร ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ให้สมดุลอีกด้วย 

นกเงือกจึงถือเป็น Keystone Species ที่หากมีจำนวนน้อยลง จะส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศ ป่าจะขาดทั้งความอุดมสมบูรณ์และความสมดุล ผลไม้บางชนิดอาจถึงขั้นเลือนหายไป

แม้บทบาทเป็นระดับพระเอกที่กอบกู้ธรรมชาติ แต่ก็มีคนปองร้าย อยากฆ่าผู้พิทักษ์ป่ารายนี้อยู่ดี

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

ส่วนหนึ่ง เกิดจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของพรานชาวบ้านที่ล่าเพื่อความอยู่รอด หรือตอบความเชื่อโบราณโดยไม่รู้ผลกระทบที่ตามมา

อีกส่วน เกิดจากผู้ที่รู้อยู่บ้าง แต่ล่าเพื่อสนองอัตตา นำลูกไปจับกรงหรือตัดอวัยวะเพื่อค้าขายเชิงพาณิชย์ในตลาดมืด ลูกนกเงือกหนึ่งตัวอาจขายได้ราคามากถึง 30,000 บาท โหนกของนกชนหิน สายพันธุ์หนึ่งของนกเงือกที่มีโหนกตันสีเหลืองแดงและหายากระดับเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ในไทย นำไปขายเพื่อแกะสลักเป็นเครื่องประดับแทนงาช้าง ตีมูลค่าได้สูงเทียบเท่ากับหยก

“คนอาจรู้สึกว่าการทำอะไรได้มากกว่าคนอื่นเป็นเรื่องเท่ เข้าไปในพื้นที่ที่เข้าไม่ได้ มีของที่คนอื่นไม่มี แปลว่าเราไม่ธรรมดา เป็นแบบนี้กันเสียเยอะ เคยลงพื้นที่เจอชาวบ้านที่รู้ว่าเรามาจากโครงการฯ เขาถามว่าเราเคยกินนกเงือกหรือเปล่า มันอร่อยจะตาย” ศิริวรรณเล่าปัญหาที่เจอ

ยังมีผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยทางอ้อมด้วย เช่น การตัดไม้ทำลายป่า เพราะนกเงือกต้องอาศัยโพรงในช่วงฤดูทำรัง ซึ่งสร้างเองไม่ได้ ต้องอาศัยต้นไม้ที่มีขนาดโพรงพอเหมาะ หรือมนุษย์ต้องปีนต้นไม้สูงขึ้นไปช่วยซ่อมแซม ประดิษฐ์โพรงรังเทียมขึ้นมาใหม่ แต่ข้อเสียคือยังควบคุมอุณหภูมิภายในให้คงที่ไม่ได้นัก และนกเงือกหลายสายพันธุ์ยังไม่ใช้

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

การปฏิบัติผิดๆ และความรู้ที่ยังไม่แพร่หลายในวงกว้างเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ต้องมีคนลุกมาศึกษาและสื่อสารเรื่องนี้ ก่อนสายเกินไป

นกวิจัย

ใน พ.ศ. 2521 วันที่ผู้คนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาเพื่อนร่วมธรรมชาติเท่าทุกวันนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิไล พูลสวัสดิ์ คือนักวิทยาศาสตร์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เห็นความงดงามของนกเงือกผ่านงานที่ทำ ลุกขึ้นมาก่อตั้งโครงการฯ ผลักดันจนเกิดเป็นมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกใน พ.ศ. 2536 เพื่อระดมทุนอย่างโปร่งใส และอุทิศทั้งชีวิตให้งานนี้ จนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการขนามนามให้เป็น ‘มารดาแห่งนกเงือก’ ในเวทีระดับโลก

อาจารย์และคณะศึกษาเพื่อเข้าใจนกเงือกในทุกแง่มุม โดยมีพื้นที่ทำงาน 3 แห่งหลัก คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา แต่ละป่ากว้างใหญ่มีเจ้าหน้าที่โครงการฯ ประจำอยู่ราว 2 – 4 คน เป็นประจักษ์พยานการกำเนิดของลูกนกเงือกออกสู่ธรรมชาติมาแล้วมากกว่า 4,600 ตัว

นอกจากศึกษาเรื่องนกแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันที่พวกเขาต้องทำคือ การสื่อสารเพื่อให้เปลี่ยนใจคนให้มาร่วมมือกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ล่า

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย
โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

จากล่าเป็นรัก

“พื้นที่ตรงบูโดเป็นหย่อมป่าที่มีหมู่บ้านของชาวบ้านล้อมรอบ เมื่อประชากรมากขึ้น ก็มีคนบุกรุกเข้ามาล่าสัตว์ในพื้นที่ป่า แต่เราอยากให้เขามาร่วมดูแลด้วยกัน” ศิริวรรณเล่าย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2537 ที่โครงการฯ เพิ่งเริ่มเข้าไปทำงานในพื้นที่บูโด-สุไหงปาดี และต้องเปลี่ยนใจชาวบ้านที่บางส่วนเคยเป็นพราน ให้มาช่วยกันอนุรักษ์

การสื่อสารระหว่างกันใช้เวลานาน เพราะชาวบ้านแทบไม่พูดภาษาไทย แต่ใช้ภาษายาวีเป็นหลัก วงสนทนาช่วงแรกๆ เต็มไปด้วยความเคลือบแคลง

“มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ บางคนคิดว่าเรามาหลอกหาผลประโยชน์ เขาทำแล้วได้อะไร ขายนกตัวเดียวก็อยู่ได้เป็นเดือนแล้ว

“แต่เราบอกว่านกก็ไม่ต่างจากเราหรอก ถ้าเรามีลูก คงไม่อยากจับใส่กรงขังหรือให้คนอื่นไป เราต่างรักชีวิตกันทั้งนั้น นกก็อยากสืบทอดสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ถ้าวันหนึ่งเกิดหมดป่า รุ่นลูกเรียนหนังสือแล้วเห็นนกเงือก แต่ไม่มีให้ดูเพราะถูกฆ่าไปหมดแล้ว วันนั้นลูกคุณอาจอยากขุดกระดูกคุณขึ้นมาด่า” 

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

เมื่อมีคนเริ่มเปลี่ยนใจ ภารกิจของสมาชิกใหม่ คือแบ่งกันช่วยเฝ้าดูรังนก และคอยเก็บข้อมูลว่านกตัวผู้ป้อนอาหารให้ตัวเมียในโพรงกี่โมง กินอะไรบ้าง ลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อรับค่าตอบแทนรายวัน เมื่อมีนกเข้ารังและออกลูกจนโบยบิน แต่ละคนจะได้รับรายได้เสริม แม้ไม่มากเท่าการขายนก แต่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย ซึ่งมีทั้งคนที่ตั้งใจทำจริงจัง และคนที่ทำแบบขอไปที 

แต่ขอแค่ไม่ไปทำร้ายนกเงือก ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากแล้ว

“ช่วงแรก ได้ข้อมูลแบบไหนเราก็ไม่ว่าอะไร บางคนเขียนหนังสือไม่ได้เลย แต่เขามุ่งมั่นมาก ไปเฝ้าทุกวัน วาดรูปนกตามที่เห็นแล้วให้ลูกมาช่วยแปลภาษาแทน กลายเป็นว่าคนแก่ๆ เริ่มหัดเขียนหนังสือได้เพราะเราเข้าไป ทั้งที่ไม่ได้สอนภาษาเลย”

เมื่อเฝ้าดูนกไปเรื่อยๆ เป็นกิจวัตร เห็นช่วงเวลาที่ชีวิตใหม่ถือกำเนิดและกระพือปีกครั้งแรก มีหรือจะไม่ตกหลุมรักและหวงแหน

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็เริ่มเปลี่ยนใจ เพราะเห็นการกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์

“เราใช้ความซื่อสัตย์ สัญญาอะไรก็ทำตามสัญญา ไม่เคยเอาเปรียบ ไม่เคยเอาอะไรกลับไปนอกจากกระดาษข้อมูล ตอนเขาไปในป่า เราก็ไปด้วย เขานั่งจด เรานั่งด้วย จริงๆ เขาจะฆ่าเราก็ได้นะ เพราะเขามีอาวุธ แต่เราใช้ความจริงใจจนได้ความจริงใจกลับคืนมา” ศิริวรรณเผยวิธีเปลี่ยนใจบรรดาเหล่าพรานมือฉมังให้กลายเป็นมิตรร่วมอุดมการณ์

ผ่านไปมากกว่า 25 ปี เหล่ารุ่นลูกหลานในพื้นที่เริ่มมารับช่วงต่อภารกิจปกปักษ์รักษานกเงือกแทนคุณพ่อคุณแม่ของพวกเขาแล้ว

รักนก รักป่า ต้องอุปการะ

นอกจากทำงานกับชาวบ้าน โครงการฯ ยังอยากชวนผู้คนทั่วไปมาช่วยดูแลนกเงือกไปด้วยกัน ผ่านการอุปการะครอบครัวนกเงือกที่แสนน่ารักและเป็นประโยชน์

“เหมือนอุปการะเด็กให้ได้โอกาส แต่อันนี้ทำให้นกมีชีวิตอยู่ เงินอุปการะจะนำไปมอบให้ชาวบ้าน เพื่อไม่ให้พวกเขากลับไปทำอาชีพล่าสัตว์แบบเดิม” 

ผู้อุปการะสามารถติดต่อทางโครงการฯ เพื่อเลือกชนิดครอบครัวนกเงือกที่อยากอุปการะ จาก 6 ชนิดที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดยสนับสนุนจำนวนเงินมาตรฐานที่ 2,700 – 3,700 บาทต่อปี หรือจะอุปการะตามกำลังทรัพย์ที่มีก็ไม่ติดขัด เพื่อได้ทำความรู้จักนกเงือกที่เลือก ผ่านรายงานประจำปีที่รวมข้อมูลทุกอย่าง

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

“ชาวบ้านจะเลือกเป็นเจ้าของแต่ละโพรงรัง เขาเก็บข้อมูลมาให้เราทำวิจัย ทั้งนกเงือกหน้าตาเป็นอย่างไร กินอะไร พฤติกรรมตอนเกาะรัง ขนาดโพรงและต้นไม้ เราจะวิเคราะห์และทำเป็นรายงานให้ผู้อุปการะ พร้อมบอกว่าชาวบ้านคนไหนเป็นคนดูแลด้วย” 

เงินตรงส่วนนี้มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะเคยเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมวิจัยไม่ต้องถอนตัวออกจากพื้นที่ และดำเนินงานต่อได้ตามปณิธานของอาจารย์พิไล ผู้คิดไอเดียเรื่องการอุปการะขึ้นมาแก้ปัญหา

“ในอดีต มีช่วงหนึ่งที่พื้นที่ตรงบูโดดูน่ากลัว (จากความขัดแย้งและการแสวงหาผลประโยชน์จากธรรมชาติ) คนคุยกันว่าเราออกจากพื้นที่ตรงนี้ดีไหม ไปดูแลพื้นที่อื่นที่ต้องรับผิดชอบอีกเยอะแทน ทุนเรามีจำกัด แต่อาจารย์พิไลบอกว่าไม่ได้ ในเมื่อเราขอให้ชาวบ้านมาร่วมมือกันแล้ว ก็ต้องดูแลตลอดไป หรือทำให้เขาอยู่ได้ตัวด้วยตัวเอง” 

การอุปการะนี้ยังช่วยต่อชีวิตของชุมชนอีกด้วย ในช่วงที่พื้นที่ปลอดภัย หากใครประสงค์อยากไปทักทาย ดูเงือกให้เห็นกับตาตัวเอง ทางทีมวิจัยยินดีอำนวยความสะดวกในการพาเข้าป่ากับชาวบ้าน เกิดเป็นความภาคภูมิใจที่ได้พาดูนกเงือกที่ตัวเองเฝ้าดูแล และสร้างรายได้เสริมจากบริการต่างๆ ด้านการท่องเที่ยวตามมา

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

ทั้งนี้ ทางทีมวิจัยจำเป็นต้องสอบถามชาวบ้านก่อนลงพื้นที่ทุกครั้ง

“ถึงเดินไปเองได้ แต่เราจะเชื่อฟังชาวบ้าน ถ้าเขาบอกว่าวันนี้อย่าขึ้นเขานะ ไม่ปลอดภัย เราจะไม่ไป ชาวบ้านรู้ว่าพื้นที่เป็นอย่างไร และเขาถือเป็นเจ้าของรังแล้ว เราต้องให้เกียรติเขา” ศิริวรรณอธิบาย พร้อมบอกว่าถึงไปได้ ก็ต้องเผื่อใจไว้ผิดหวังบ้าง หากนกไม่มาที่รังตามธรรมชาติ

ปัจจุบัน นอกจากคนไทยที่อุปการะแล้ว ยังมีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย เพราะเห็นความตั้งใจจริงของโครงการฯ

หากใครสะดวกและสนใจ เราขอเชิญชวนมาอุปการะผู้ช่วยรักษาชีวิตของเราไปด้วยกัน

นกเงือกคือชีวิต

ปัจจุบัน มีนักวิจัยราว 12 คนที่อายุล้วนเกิน 40 ปี ทุ่มเทชีวิตให้กับโครงการฯ นี้ เดินทางเข้าป่าเขาสูงชัน พูดคุยกับชุมชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง

แม้บางคนไม่ได้จบด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง เช่น ปรีดา เทียนส่งรัศมี แต่เขาเริ่มจากใช้วิชาศิลปะที่ถนัด ชักชวนเด็กๆ มาวาดรูป พร้อมสอนให้รักธรรมชาติ และค่อยๆ พัฒนาเก็บเกี่ยวความรู้ผ่านการพลิกตำราและลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอจนเชี่ยวชาญ

และมีบุคคลเบื้องหลังที่รวมแล้วเป็นทีมที่ทรงพลัง พาการวิจัยนกเงือกในไทยไปออกรายการสารคดีระดับโลก

หัวใจสำคัญที่ขาดไปไม่ได้สำหรับปรากฏการณ์เช่นนี้ คือ ผู้นำที่ดี

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย
โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

“อาจารย์พิไลเป็นต้นแบบการทำงานที่ทำให้ทุกคนศรัทธาและไม่ทิ้งสิ่งนี้ไป อาจารย์ไม่ได้นั่งในห้องแล้วสั่งให้คนอื่นไปเก็บข้อมูลมาเขียนเอง แต่ลงพื้นที่ไปกับเรา อะไรที่ยากลำบาก อาจารย์จะทำเอง เข้างานก่อน กลับทีหลังเสมอ ให้เครดิตและความสำคัญกับทุกคน ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่องานนี้จริงๆ

“ทุกคนเลยไม่ได้ทำเพราะอยู่ไปให้ได้เงินแต่ละเดือน แต่เพราะใจรักเหมือนกัน” นักวิจัยผู้เลือกทำงานนี้เป็นงานแรกและงานเดียว กล่าวถึงบุคคลต้นแบบที่ยังคงช่วยทำงานอยู่ในวัย 74 ปี

ความเข้มแข็งของทีมทำงานทำให้ชุมชนต่างๆ เชิญชวนให้โครงการฯ ไปส่งต่อวิชา หรือยินดีตีตั๋วมาเรียนรู้ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

ทั้งในไทย เช่นที่บางกะม่า จังหวัดราชบุรี ฮารา-บาลา จังหวัดนราธิวาส และรีสอร์ตในเกาะยาวน้อยจังหวัดพังงา ที่สร้างโพรงเทียมให้นกแก๊ก อีกหนึ่งสายพันธุ์ของนกเงือก แวะเวียนมาโบยบินได้อย่างอิสระ

และต่างประเทศ เช่น รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ที่มีฉายาว่าเป็น Land of the Hornbills

โดยทีมวิจัยเน้นการส่งต่อความรู้ให้ชุมชนทำได้เอง

“เราเข้าไปสอนให้ว่าทำยังไง แล้วคุณทำเองเลย เพราะคนในชุมชนต้องเห็นความสำคัญและร่วมอนุรักษ์ด้วยกัน มันถึงคงอยู่ได้ตลอดไป”

นกวิจัยรุ่นใหม่

“เราอยากสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่มากขึ้น ตอนนี้พวกเราเริ่มแก่กันแล้ว (หัวเราะ)” ศิริวรรณในวัย 53 ปีบอกภาพความฝัน

“ไม่ต้องมานั่งเฝ้าดูนกเหมือนเราทุกวัน ข้อมูลพื้นฐานเรามีเก็บไว้หมดแล้ว ขอแค่คนรุ่นใหม่ลองหยิบออกไปต่อยอด เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวไกล มันอาจเกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึง”

ในซีกโลกตะวันตก มีการประยุกต์นวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้กับนกเงือก เช่น กล้องขนาดจิ๋วติดภายในโพรงนกเงือกสำหรับการสอดส่อง และระบบติดตามนกเงือกแบบเรียลไทม์ผ่านมือถือ เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาการวิจัยขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งต้องฝากความหวังให้คนรุ่นถัดไป มาช่วยสานต่องานนกเงือกไทยจากคนรุ่นเก่าที่วางรากฐานไว้

“แต่ถ้าไม่ได้สนใจอะไร ก็แค่อย่าไปทำอะไรนกเงือก ให้มันได้มีชีวิตและไม่หายไปจากโลกนี้” ศิริวรรณกล่าวปิดท้าย ด้วยความหวังว่าองค์ความรู้ที่นักวิจัยทุกคนได้ร่วมสั่งสมกันมา จะช่วยให้นกเงือกโบยบินเคียงคู่ธรรมชาติสืบต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น

โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก หนทางของคนเมืองในการรักษาชีวิตสัตว์ป่าคุ้มครองไทย

อ่านรายละเอียดและร่วมอุปการะครอบครัวนกเงือกได้ที่ Facebook : Thailand Hornbill Project

หรือที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พระราม 6 พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์ : 0 2201 5532

อีเมล : [email protected]

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน