ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ ฉันเคยถามแม่ถึงต้นไม้ที่เห็นว่าชื่ออะไร แม่ตอบว่าดอกทรงพุ่มๆ แบบนี้รำเพยแน่นอน แต่ไม่ทันไรพ่อก็เถียงกลับว่า ใบเรียวยาวลักษณะนี้ยี่โถต่างหาก วันนั้นฉันไม่ได้คำตอบ แถมไม่ได้พยายามค้นหาคำเฉลยเพราะคิดว่าไม่ได้สำคัญอะไร จนกระทั่งโตขึ้นมาจึงรู้ว่ามันสำคัญ เพราะทั้งรำเพยและยี่โถเป็นไม้มีพิษทั้งคู่ ถ้าไม่รู้จักหรือใช้ผิด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ฉันนึกถึงเรื่องนี้เพราะมีโอกาสได้นั่งคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชอย่าง ผศ. ดร. ภก.ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน หรืออาจารย์ป๋อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อินกับการจำแนกพืชมาตั้งแต่ ป.2 และสานฝันความสำเร็จด้วยปริญญาเอกจากสวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew Gardens) ศูนย์กลางทางพฤกษศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ และมีพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นั่นทำให้ฉันแน่ใจว่าการจำแนกพันธุ์พืชให้ถูกเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก เพราะนอกจากจะเลี่ยงการหยิบ จับ สูด ดม พืชที่อันตรายได้แล้ว งาน ‘อนุกรมวิธานพืช’ ของเขา ที่ทำตั้งแต่การวิจัยพืชในอาคารยันออกภาคสนามเพื่อเข้าป่าไปเก็บตัวอย่างพรรณไม้ (Herbarium Specimens) ยังช่วยระบุพืชให้เรารู้ว่ามันคืออะไร ตั้งชื่อกลางให้คนทั่วโลกเข้าใจตรงกัน คอยคุ้มครองผู้บริโภคให้รู้เท่าทันยาสมุนไพรบางชนิด รวมไปถึงศึกษาวิวัฒนาการของพืชทั้งพันธุ์เก่าและใหม่ เพื่อเป็นต้นทางการกระจายความรู้ให้ผู้ศึกษาทั้งในและนอกประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด

อาชีพที่ใกล้ชิดพืชมาหลายร้อยปี

ก่อนที่คนจะให้ความสนใจในด้านอนุกรมวิธานพืชหรือด้านพฤกษศาสตร์ อาจารย์ป๋อมเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ในยุคของ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษคนนี้ล่องเรือหลวงบีเกิลสู่ทะเลชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลาถึง 5 ปี จนเขาได้สังเกตถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จากนั้นก็ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติความเชื่อบางอย่าง จนทำให้คนทั่วโลกตื่นตัวกับการศึกษาพรรณไม้แปลกถิ่น เริ่มอยากรู้ถึงวิวัฒนาการของธรรมชาติและมองว่ามันแสนจะ Exotic

“เมื่อก่อนเราเชื่อว่าพระเจ้าสร้างต้นไม้และสิ่งมีชีวิตขึ้นมา แต่ดาร์วินก็เข้ามาเปลี่ยนแนวคิดด้วยทฤษฎีและผลงานที่น่าเชื่อถือของเขา ว่าจริงๆ มันเกี่ยวกับวิวัฒนาการตามธรรมชาติต่างหาก นั่นแหละคือจุดเปลี่ยนสำคัญ และถึงแม้เวลาจะผ่านมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้เราก็ยังต้องเรียนรู้ทฤษฎีของเขาอยู่เลย” อาจารย์ป๋อมกล่าว

นอกจากความรู้เชิงประวัติศาสตร์สากลแล้ว ฉันแอบคิดเล่นๆ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับคนในมุมมองไทยๆ ว่ามันมีบ้างหรือเปล่า เพราะถ้ามี จะได้แอบเอาไปเล่าให้ที่บ้านฟัง พวกเขาน่าจะชอบและอินกันมาก

อาจารย์ป๋อมบอกว่า คนไทยเรามีความสัมพันธ์กับต้นไม้มาตลอด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และให้ความสำคัญต่อการเก็บตัวอย่างพันธุ์พืชมานานแล้ว เพราะจากประวัติการศึกษาพรรณพฤกษชาติของไทยในหนังสือ The Flora of SIam ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อร้อยปีก่อน ซึ่งแสดงถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าประเทศเรามีตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บจากเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา และแขวงไชยบุรี ประเทศลาว ที่ตั้งอยู่ติดจังหวัดในภาคเหนือของไทย 

มีเรื่องประวัติศาสตร์แล้ว ความสัมพันธ์เชิงพุทธศาสนาก็มีเหมือนกันนะ อาจารย์ป๋อมเสริมว่า เราและพืชเชื่อมโยงกันด้วยหลักปัจจัย 4 ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารที่เรากินเข้าไป ส่วนหนึ่งก็มาจากพืช เพราะร่างกายเราจำเป็นต้องได้รับกากใยจากผักเพื่อช่วยระบบย่อยอาหาร หรือแม้กระทั่งยารักษาโรค ที่ทุกวันนี้มีการใช้พืชสมุนไพรมารักษาอาการเจ็บป่วยมากขึ้น

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักพืช

ขนาดเพิ่งเริ่มบทสนทนา สายตาและคำพูดของเขา ก็ดึงความสนใจให้คู่สนทนาอย่างฉันอยากรู้มากขึ้นไปอีกว่าอาชีพที่เขาเรียกว่า ‘นักอนุกรมวิธานพืช’ มีหน้าที่ทำอะไรกันบ้าง ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่ไม่ได้คุ้นหูฉันสักเท่าไหร่นัก แต่ฉันก็อยากลองทำความรู้จักอาชีพ (ไม่) ใหม่ที่ใกล้ชิดธรรมชาตินี้ดู

“การทำ Herbarium Specimens คือกิจกรรมหลักของนักอนุกรมวิธานพืช เพราะงานของเราต้องจำแนกพืชให้ได้ว่ามันคืออะไร และศึกษา คลุกคลี จนรู้จักมันดีกว่าใคร” อาจารย์ป๋อมพูดเกริ่น

ก่อนจะมาเป็น Herbarium Specimens หรือแผงอัดพรรณไม้ที่เก็บตัวอย่างพืชหลากชนิดไว้ให้ผู้ศึกษาได้ใช้ประโยชน์ สิ่งที่นักอนุกรมวิธานพืชอย่างเขาต้องทำ คือการเข้าไปรู้จัก ตีสนิท และขอเป็นเพื่อนกับพืช

เริ่มแรก อาจารย์ป๋อมบอกว่า เราต้องรู้ก่อนว่าพืชที่จะศึกษาคือพืชชนิดใด เช่นสมอไทย เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือสมอไทยจริงๆ ถ้าไม่มีความรู้ ซึ่งความรู้ก็มาจากการสังเกตทั้งใบ ดอก ลักษณะภายนอก และใช้เอกสารอ้างอิงจำนวนมาก เช่นการอ่านหนังสือ Flora of Thailand เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของพืช หรือหากพืชที่ศึกษาเป็นพืชที่ถูกค้นพบเมื่อ 200 ปีที่แล้ว อาจารย์ป๋อมก็ต้องหาเอกสารเมื่อ 200 ปีที่แล้วมาอ่าน เพื่อจำแนก และยืนยันสปีชีส์ที่ถูกต้องของมัน (ฟังแล้วดูโหดพอตัว ที่อาจารย์ต้องหาเอกสารเมื่อ 200 ปีที่แล้วให้เจอ)

พอรู้ชนิดแล้ว ก็ถึงเวลารู้ชื่อ!

เพราะการจะเป็นเพื่อนกับพืช ก็ไม่ต่างจากการเป็นเพื่อนกับคน เราจะสนิทกันได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้จักชื่อกัน

แต่กับพืชที่บอกเราตรงๆ ไม่ได้ว่าชื่ออะไร อาจารย์ป๋อมจึงจำเป็นต้องตั้งชื่อเรียกให้มันเอง เพราะพืชบางชนิดแต่ละคนยังเรียกไม่เหมือนกันเลย ยกตัวอย่างน้อยหน่า คนเหนือเรียกมะน่อแน่ คนใต้เรียกน้อยแน่ คนอีสานเรียกบักเขียบ คนชาติอื่นๆ ก็เรียกต่างกันไปเป็นคนละภาษา ชื่อเรียกที่มากมายเหล่านี้ทำให้คนเกิดความสับสนในการเอาไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น นักอนุกรมวิธานจึงต้องตั้งชื่อกลางหรือชื่อวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วโลกเข้าใจตรงกัน ซึ่งชื่อเรียกสำหรับน้อยหน่าก็คือ Annona squamosa L.

หากมองผลกระทบที่ร้ายแรงขึ้นมาอีก ตัวอย่างใกล้ๆ ในบ้านเราก็คือฮิตการนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา หากใช้ผิดชนิดก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่นว่านชักมดลูก ตามตำราว่านชักมดลูกตัวเมียจะมีสรรพคุณทางยา แต่คนทั่วไปมักเรียกกันชินปากว่าว่านชักมดลูกเฉยๆ 

หากต้องการซื้อว่านชักมดลูกตัวเมียแล้วบอกแม่ค้าว่าว่านชักมดลูกเฉยๆ เราจะได้ตัวผู้มาด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เพราะว่านชักมดลูกตัวผู้เป็นพืชที่มีพิษต่อตับ กินเข้าไปแล้วแทนที่จะได้รับการรักษากลับตับพัง เพราะแบบนี้อาจารย์ป๋อมจึงต้องศึกษาและหาข้อมูลมากมาย ทั้งจากหนังสือ Botanical Latin เพื่อดูความหมายของพืชแต่ละชนิด รวมไปถึงหนังสือรายชื่อพรรณไม้ของประเทศไทย เพื่อคอนเฟิร์มความถูกต้อง

ถ้าดูลักษณะภายนอกแล้วยังไม่เคลียร์ การรู้จักนิสัยพืชให้ถ่องแท้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ

“พืชก็เหมือนคน ดูแค่หน้าตาภายนอกหรือรู้แค่ชื่อคงไม่พอ ต้องรู้จักลึกลงไปถึงการเอาไปใช้ประโยชน์ด้วย เพราะพืชบางชนิดรู้หน้าไม่รู้ใจ ข้างนอกดูดีแต่ข้างในมีพิษ เราอาจถูกหลอกได้” อาจารย์ป๋อมพูดจนฉันต้องพยักหน้าตามเพราะเห็นด้วยอย่างมาก

วิธีที่เขาทำคือการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ทั้งด้านเคมีในการตรวจดูดีเอ็นเอของพืช หรือกายวิภาค ศาสตร์แขนงหนึ่งของภาคชีววิทยา ที่นำพืชมาแยก Section แล้วส่องกล้องดูเซลล์เนื้อเยื่อ อีกทั้งยังศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของพืช โดยการนำเอาเนื้อเยื้อพืชมาตัดบางๆ ใส่ลงแผ่นสไลด์ เพื่อส่องกล้องดูว่าพืชที่ศึกษามีลักษณะเป็นอย่างไร 

เดินป่าเป็นงานอดิเรก

“แล้วอาจารย์เอาตัวอย่างพืชมาจากไหนคะ” ฉันถาม

“เข้าไปเก็บในป่าเลยครับ” เขาตอบยิ้มๆ

จากที่มองว่างานนักอนุกรมวิธานพืชคงทำงานแต่ในอาคารวิจัยหรือห้องแล็บอย่างเดียว ก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจริงๆ แล้วอาจารย์ป๋อมต้องเข้าไปเก็บตัวอย่างพรรณไม้ที่จะศึกษาถึงในป่า หรือที่เรียกกันว่า ‘ออกฟีลด์’ 

เขาต้องเข้าป่า กางเต็นท์ เดินตามหาสิ่งมีชีวิตสีเขียวที่ต้องการ บางครั้งเป็นสัปดาห์ 2 สัปดาห์ และนานสุดๆ 3 สัปดาห์ ทำให้เขาต้องเข้าๆ ออกๆ เพื่อส่งเสื้อผ้าและตัวอย่างพืชที่แสนจะหนักกลับบ้านก่อน เพราะในหนึ่งทริป เก็บได้ถึงวันละร้อยตัวอย่าง!

แค่คิดก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว นี่ยังไม่รวมที่อาจารย์ป๋อมต้องแบกอุปกรณ์ทำ Herbarium Specimens ใส่เป้ ลุยดง ตากฝน หลงป่า หรือเจอช้างไล่อีกนะ

แต่สำหรับเขาที่ทำงานด้านนี้มาสิบกว่าปี ความเหนื่อยทั้งหมดที่สะสมมาจึงแปรเปลี่ยนเป็นความสนุกในการหาของให้เจอแทน 

“ทุกครั้ง ผมจะตั้งเป้าหมายว่าเข้าป่าครั้งนี้ผมจะหาต้นอะไรให้เจอ เหมือนเล่นเกมหาของในป่า” เขาหลุดขำ

“เราต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังศึกษาพืชกลุ่มไหน แล้วไปเก็บข้อมูลว่าในไทย พืชที่เราจะศึกษามีอยู่ที่ไหนบ้าง เราก็จะรู้ตำแหน่งที่ตั้ง เดินแบบมีจุดหมาย ไม่ใช่เดินสุ่มๆ

“บางทีเราต้องไปดู Herbarium Specimens ที่มีคนเคยทำชนิดหรือวงศ์เดียวกันไว้ เพราะมีการบอกพื้นที่และตำแหน่งที่เก็บ เช่นอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เขาก็จะบอกว่าอยู่ตรงเส้นทางไหน ซึ่งถ้าเราอยากเห็นต้นนี้ อยากศึกษาต้นนี้ การไปที่จุดเดิมจะทำให้เราได้ข้อมูลมากขึ้น แถมการนำกลับมาศึกษาใหม่จะช่วยรีเช็กข้อมูลว่าตอนนี้วิวัฒนาการของพืชชนิดดังกล่าว มันก้าวหน้าหรือเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง” อาจารย์ป๋อมอธิบายให้ฟัง

กิจวัตรประจำวันของอาจารย์ป๋อมในการออกภาคสนาม คือการไปเก็บตัวอย่างพรรณไม้ ทั้งดอก ก้าน ใบ มาทำ Herbarium Specimens เพื่อใช้อ้างอิงข้อมูล นอกจากนี้ ส่วนใบยังใช้ในการศึกษาดีเอ็นเอและวิวัฒนาการพืชได้ด้วย

ทว่าพรรณไม้ที่เก็บมาเป็นตัวอย่างทุกชนิดนั้นจำเป็นต้องเป็นตัวอย่างที่แห้งสนิท เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บ และต่ออายุให้มันอยู่ได้นาน แต่อุปสรรคที่เขาเจอทุกครั้งคือความชื้นในป่า เขาจึงต้องหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวอย่างที่แห้งที่สุด

สำหรับการทำ Herbarium Specimens อาจารย์ป๋อมต้องเก็บตัวอย่างพืชมาอัดในแผงไม้อย่างแน่นหนาเพื่อดูดซับความชื้นออกไป (ถ้าใครอยากรู้วิธีการทำอย่างละเอียด ลองเข้าไปอ่านใน The Cloud Studio 05 : Herbarium ได้นะ) แต่บางครั้งพืชบางชนิดก็ชื้นเกินเยียวยา เขาจึงต้องจับแผงอัดพรรณไม้มาก่อไฟย่างเหมือนไก่ปิ้งทั้งคืน!

หากโชคดีพกอุปกรณ์เสริมอย่างแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์มา ก็ราดลงบนตัวอย่าง เพื่อทำให้เอนไซม์ตายและคงสภาพไว้เหมือนกับการสตัฟฟ์ หลังจากที่เซลล์พืชตาย ร่างกายไม่แอ็คทีฟ ก็จะเก็บไว้ได้นานขึ้น

ถัดมา ถ้าจะศึกษาเรื่องดีเอ็นเอหรือวิวัฒนาการพืช อาจารย์ป๋อมบอกว่า ต้องเก็บส่วนใบแล้วฉีกเป็นชิ้นๆ ใส่ถุงชาที่มีซิลิกาเจล เพราะสารนี้จะทำให้ตัวอย่างพืชแห้งสนิท โดยเหตุผลที่ต้องแห้ง ก็เพราะปกติสายดีเอ็นเอมีขนาดยาวมาก หากแห้งเอนไซม์จะไม่ทำงาน ทำให้สายดีเอ็นเอที่ยาวมากๆ ยังคงอยู่เหมือนเดิม ในทางกลับกัน หากตัวอย่างพืชไม่แห้ง จะทำให้สายดีเอ็นเอสั้นลง ข้อมูลที่ใช้ศึกษาก็จะไม่สมบูรณ์

“แล้วต้นไม้ใบใหญ่ ทรงแปลก จะจัดการยังไงคะ” (รู้นะว่าสงสัย ฉันเลยถามแทนทุกคนให้)

อาจารย์ป๋อมเฉลยคำตอบไว้ว่า ปกติแล้วถ้าเป็นตัวอย่างพืชขนาดไม่ใหญ่ เราจะนำมาอัดให้เป็นสองมิติ เพื่อให้มันแห้ง แบน ไม่ร่วง ไม่เหี่ยว แต่หากเป็นพวกมะพร้าว ปาล์ม หรือตาลใบใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องอัดเลยด้วยซ้ำ เพราะมันคงสภาพได้ แค่เก็บไว้ในกล่องกระดาษสูง 1 ฟุต แล้วเลือกเก็บใบมาแค่บางส่วนก็พอแล้ว หรือหากเป็นพืชตระกูล Cactus ก็ต้องใช้วิธีการอัดเฉพาะ โดยต้องอัดแยกกับต้นอื่น ต้องใช้แผงอัดพรรณไม้ที่แข็งมาก เพื่ออัดให้หนามและดอกของมันแบนได้

ยินดีที่ได้รู้จักนะพืช

คุยกันมาถึงตรงนี้ อาจารย์ป๋อมก็ยังไม่เบื่อที่จะเล่าเรื่องราวอันน่าสนุกให้ฉันฟัง เขาพูดไปเรื่อยๆ ยิ้มไปเรื่อยๆ โดยไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อย

จะว่าไป งานอนุกรมวิธานพืชดูจะใช้กำลังแรงมากกว่าที่คิด (เยอะเลย) ฉันจินตนาการไม่ออกว่าถ้าคนทำไม่มีใจรักธรรมชาติ หรืออินเรื่องต้นไม้มากๆ จะทำได้จริงๆ เหรอ

ฉันว่าไม่น่าได้

เพราะกว่าอาจารย์ป๋อมจะมาถึงจุดที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืช เขาต้องใช้ความชอบที่มีอยู่มากเหลือเกินตั้งแต่สมัยเด็ก ในการขับเคลื่อนตัวเองมาเรื่อยๆ จนจบปริญญาเอกในสถาบันที่คนรักพืชใฝ่ฝันจะเป็นส่วนหนึ่ง อย่าง Kew Gardens ประเทศอังกฤษ

จากเด็กชายตัวเล็กๆ ชั้น ป.2 ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มหลงใหลในธรรมชาติ ป่าเขา เพราะคุณพ่อชอบพาไปเที่ยวอุทยาน ชวนวิ่งกลางทุ่งนา แล้วชี้ให้ดูนกน้อยในป่าใหญ่ ทำให้เขาเริ่มสนใจและสงสัยว่าต้นไม้และนกที่เห็นมีชื่อเรียกว่าอะไร

ทุกครั้งที่ไปนอกเมือง เขาไม่ลืมถามพ่อทุกครั้ง พอเริ่มเข้ามัธยมก็สานต่อความชอบ ด้วยการตั้งชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ พาเพื่อนๆ น้องๆ ไปออกค่ายในป่า และเริ่มศึกษาชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นไม้ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็จริงจังในการต่อยอดเส้นทางที่ตัวเองชอบ จึงเลือกเรียนปริญญาตรีคณะเภสัชพฤกษศาสตร์ ปริญญาโทคณะวิทยาศาสตร์ และมั่นใจมากพอว่าสิ่งที่ทำอยู่คือความสุขของตน จึงรวบรวมประสบการณ์ความรู้ทั้งหมดเพื่อส่ง Proposal ยื่นเรียนปริญญาเอกที่ Kew Gardens จนสำเร็จ

“อาจารย์ที่คิวจะสอนผมตลอดว่า ‘Need to Know, Nice to Know’ คุณต้องพยายามขวนขวายในการเข้ามาเรียน ถ้าจะเอาตัวรอดต้องศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งผมว่ามันดีตรงที่ว่าอะไรที่เรายังไม่รู้แล้วอยากรู้ เราก็มุ่งไปตรงนั้นได้เลย แถมที่นี่ยังมีการ Train ภาษาละติน เพราะว่าชื่อพฤกษศาสตร์เป็นภาษาละติน อีกทั้งเรียนรู้ด้านการจัดการในสวนของคิวและ Herbarium ทั้งจากการสังเกต ทั้งเข้าไปซึมซับวิธีบริหารด้วยตัวเอง” อาจารย์ป๋อมกล่าว

ด้วยความที่ Kew Gardens เป็น Herbarium ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนตัวอย่างพรรณไม้กว่า 7,000,000 ชิ้น ทำให้นักอนุกรมวิธานพืชทุกคนต้องไปเก็บเกี่ยวความรู้ที่นั่นให้ได้สักครั้งหนึ่ง

การมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์พืชมีความสำคัญในการศึกษาเชิงความหลากหลายทางชีวภาพ สมมติว่าเราเก็บ Herbarium Specimens ไว้ อีก 10 ปีข้างหน้าอาจมีคนเข้ามาศึกษาพืชจากตัวอย่างกลุ่มนี้เช่นกัน นี่แหละเสน่ห์ของความอายุยืนของพรรณไม้พวกนี้ เหมือนที่อาจารย์ป๋อมมีโอกาสศึกษาต้นไม้ที่ไอดอลของเขาเคยค้นพบและตั้งชื่อไว้เมื่อสามร้อยกว่าปีก่อน นั่นก็คือ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน

“การที่ผมได้มาเรียนที่คิว ทำให้ผมได้ศึกษาวิจัยตัวอย่างต้นไม้ที่ลินเนียสเคยทำไว้ ผมได้ไปดูต้นไม้ต้นนั้นจริงๆ ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร และสืบค้นหนังสือ เอกสาร เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้วของลินเนียสทั้งหมด ซึ่งต้นไม้ต้นนั้นชื่อภาษาไทยคือ ‘สาบแร้งสาบกา’ 

“ลินเนียสเป็นเหมือนไอดอลของผม เป็นคนที่มีความสำคัญมาก เพราะเขาได้คิดทฤษฎีใหม่ และวางรากฐานในการศึกษาด้านอนุกรมวิธานพืชเมื่อสามร้อยปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันหลายคนก็ยังใช้ระบบการทำงานแบบเดียวกับที่เขาทำอยู่เลย” อาจารย์ป๋อมเล่าอย่างภูมิใจ

ความสุขเล็กๆ ในป่าใหญ่

การที่อาจารย์ป๋อมได้เรียนที่คิว ทำให้เขารู้ว่าระบบการทำงานมีความลึกต่างกับที่ไทย คิวจะเน้นการทำภาพใหญ่ ศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของพืชทั้งหมด ทุกวงศ์ สกุล และชนิดในโลก ที่นั่นจึงมีชิ้นงานและข้อมูลที่เยอะมาก  ทำให้มองเห็นภาพได้กว้างกว่าบ้านเรา เพราะมีตัวอย่างพืชหลายร้อยปีจากทุกมุม ทุกพื้นที่ การศึกษาจึงทำได้ไม่ยาก แค่ตัดใบไม้แห้งมาสกัด ก็ได้ข้อมูลที่จะศึกษาอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับในไทย Herbarium ยังมีแค่พืชในประเทศ ข้อมูลยังไม่เยอะเท่า จึงต้องศึกษาและค่อยๆ ต่อเติมจิ๊กซอว์ให้เต็มแผ่นต่อไป

แม้ฝรั่งจะทำข้อมูลได้เยอะกว่า แต่ประสบการณ์การเก็บตัวอย่างพืชในไทยก็สนุกไม่แพ้ชาติใดในโลก!

แม้ฝรั่งใช้โดรนหาพืชในป่า แต่เมืองไทยมีลิงช่วยเก็บตัวอย่างนะ!

ฟังไม่ผิดหรอก เพราะประสบการณ์ความสนุกที่อาจารย์ป๋อมเคยเจอ คือการได้รู้ว่าลิงก็ช่วยเราทำงานได้ สกิลล์การปีนต้นไม้อันช่ำชองของมันมาจากการฝึกลิงของคนไทยเรานี่แหละ ตัวอย่างพรรณไม้ที่ใช้ลิงเก็บมักอยู่บนต้นไม้สูงๆ เช่นวงศ์ยางนา คนใต้ก็จะใช้ลิงขึ้นไปดึงตัวอย่างพรรณไม้ลงมา

อาจารย์ป๋อมแอบกระซิบว่า เวลาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนชาวเวียดนามหรือจีนฟัง ทุกคนฮือฮาในนวัตกรรมของบ้านเรามาก (ไทยแลนด์โอนลี่จริงๆ)

นอกจากนี้ ยังสนุกตรงได้ของแถมเวลาศึกษาพืชชนิดหนึ่ง แต่กลับพบพืชสปีชีส์ใหม่ๆ โดยบังเอิญ หรือบางครั้งไปเจอต้นไม้ที่เป็นตัวอย่างชิ้นสุดท้ายของคนที่เคยเจอเมื่อร้อยปีก่อน อาจารย์ป๋อมก็นำมา Rediscover แล้วรายงานว่าต้นไม้ชนิดนี้ยังไม่สูญพันธ์ุนะ

“ในการเก็บทุกครั้งต้องดูจำนวนพืชในบริเวณนั้นก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ถ้าเป็นพวกพืชเล็กๆ เวลาขึ้นมันไม่ได้ขึ้นต้นเดียวเหมือนไม้ต้น มันก็จะมีเยอะอยู่ เราเอามาแค่บางส่วน ไม่ได้เอามาทั้งหมดเลย เวลาเก็บก็เก็บแค่สามถึงห้าชิ้น ขึ้นอยู่กับว่ามีเยอะมีน้อย บางชนิดก็เก็บแค่บางกิ่งเพื่อให้มันยังคงยั่งยืน” อาจารย์ป๋อมอธิบายถึงการเลือกเก็บ

ต้นน้ำสายแรก

หลายคนอาจมองว่างานด้านพฤกษศาสตร์หรืออนุกรมวิธานพืชเป็นการศึกษาที่ไม่เคลื่อนไหว แต่จริงๆ แล้วกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะอาชีพนักอนุกรมวิธานพืชที่อาจารย์ป๋อมกำลังทำอยู่ สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าพืชยังจำเป็นอยู่ และมีพืชบางกลุ่มที่คนอาจต้องศึกษาและทบทวนใหม่

แต่ก่อนเราจะคิดว่าต้นสักต้นเบ้อเริ่มจะอยู่ในวงศ์ Verbenaceae ซึ่งห่างไกลจากต้นไม้ต้นเล็กๆ อย่างกะเพราที่อยู่ในวงศ์ Lamiaceae อย่างแน่นอน แต่เมื่อเทคโนโลยีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น มีการศึกษาดีเอ็นเอ จนพบว่าแท้จริงแล้วต้นสักกับต้นกะเพราเป็นพี่น้องกัน!

ถึงแม้จะคนละขนาด แต่ช่อดอกก็ใกล้เคียงกัน ทำให้ปัจจุบันต้นสักถูกย้ายมาอยู่ในวงศ์กะเพราเป็นที่เรียบร้อย

คงจะจริงอย่างที่อาจารย์ป๋อมบอกว่า การทบทวนต้นไม้ที่คนเคยรีพอร์ตว่าถูก ตอนนี้อาจผิดก็ได้ ต้นไม้ที่เคยศึกษาเมื่อ 30 ปีก่อน มาวันนี้ ข้อมูลอาจจะไม่ถูกต้องและล้าสมัยไปแล้ว

ดังนั้น งานที่อาจารย์ป๋อมทำอยู่คงเป็นเหมือนต้นน้ำสายแรก นักอนุกรมวิธานพืชอย่างเขาจึงต้องพาเราเดินไปศึกษาอย่างถูกวิธีที่สุด

จากที่เคยมองว่าไกลตัว ตอนนี้กลายเป็นว่าใกล้ตัวเสียเหลือเกิน ตัวอย่างง่ายๆ ก็ผักที่เรากินอยู่ทุกวัน เช่นในพะโล้ที่พ่อค้าแม่ค้านิยมใส่โป๊ยกั๊ก เครื่องเทศรูปร่างคุ้นตาคล้ายดาว ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Chinese Star Anise บางครั้งชื่อพื้นเมืองนี้อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะพืชที่คล้ายกันทั้งชื่อและลักษณะอย่าง Japanese Star Anise อาจแฝงตัวเข้ามาจนคุณแยกไม่ออก แถมยังมีผลร้ายแรงต่อร่างกายเพราะเป็นพืชที่มีพิษ ดังนั้น การศึกษาข้อมูลพืชให้รู้แน่ชัดเและรีพอร์ตให้คนรู้ จึงเป็นสิ่งที่นักอนุกรมวิธานพืชช่วยคุ้มครองผู้บริโภคอยู่เบื้องหลัง

ก่อนจากกันไป อาจารย์ป๋อมพาฉันเดินดูตู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้ที่มีอยู่เยอะมากเต็มภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ละตู้กำกับรายชื่อพรรณไม้ มีทั้งที่เคยเห็นและไม่ใช่วัชพืชที่เห็นทั่วไป มีการจำแนกตามวงศ์และจังหวัดเพื่อง่ายต่อการหยิบมาศึกษา ดูไปดูมาก็คล้ายกับหนังสือที่เรียงในห้องสมุด

ในอนาคตข้างหน้า อาจารย์ป๋อมแอบบอกว่าจะมีการทำ Herbarium แห่งใหม่ โดยยกตัวอย่างพรรณไม้หลายหมื่นชิ้นไปไว้ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เพื่อให้คนที่มาได้เห็นทั้งตัวอย่างพรรณไม้แห้ง งานวิจัย งานศึกษา และเดินไปดูต้นไม้สดๆ ในสวนได้อย่างครบวงจรระหว่างรอข่าวดี ไปทำความรู้จักสวนพฤกษศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อคนในบทความ อุทยานธรรมชาติแห่งใหญ่ที่สอนวิชาสมุนไพรไทยหายากด้วยแนวคิด Universal Design กันก่อนได้นะ

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ