อาคารไปรษณีย์กลางคือ ‘แลนด์มาร์ก’ สำคัญของถนนเจริญกรุง ตั้งตระง่านโดดเด่นริมถนน

อาคารทรงกล่องสี่เหลี่ยมเรียบเกลี้ยงที่น่าจะแปลกตาไม่น้อยในยุคเริ่มสร้างนี้มีประวัติยาวนานถึง 80 ปีแล้ว

ที่สำคัญ อาคารหลังนี้ยืนหยัดสง่างามผ่านร้อนผ่านหนาว รอดระเบิดจากสงครามมาจนถึงปัจจุบันและยังคงให้บริการไปรษณีย์ โดยเป็นที่ตั้งของไปรษณีย์ที่สวยงาม แปลกตา และพิเศษกว่าที่ทำการไปรษณีย์อื่น ๆ ในประเทศไทย

คนรุ่นใหม่อาจรู้จักอาคารโมเดิร์นที่ยังมีความร่วมสมัยแห่งนี้ในฐานะหนึ่งในสถานที่สวยงามอลังการที่ต้องมาเช็กอินและเก็บภาพขณะเดินกินบรรยากาศคลาสสิกในย่านเจริญกรุงให้ได้

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

แต่ภายใต้อาคารหลังใหญ่รุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และประติมากรรมอันทรงคุณค่า ของไทยที่น่าเรียนรู้และค้นหา

และคงไม่มีใครเล่าเรื่องราวของกิจการไปรษณีย์และอาคารไปรษณีย์กลางหลังนี้ได้ดีกว่า เมธินทร์ ลียากาศ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้ที่ทำงานในองค์กรแห่งนี้มาเป็นเวลา 41 ปี และเคยทำงานอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลางมานานก่อนมีการรีโนเวทครั้งใหญ่

ประวัติความเป็นมาและเรื่องเล่าของอาคารอายุรุ่นคุณปู่แห่งนี้มีมากมาย รอให้ทุกคนมาทำความรู้จักไปพร้อมกัน

อาคารไปรสนียาคารแห่งแรก

อาคารไปรสนียาคารแห่งแรก

ย้อนไปเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ (ไปรสนีย์) ขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เพื่อประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสาร และเป็นการประกาศเกียรติภูมิของประเทศให้ทัดเทียมกับอารยประเทศในขณะนั้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ดำรงตำแหน่งอธิบดีสำเร็จราชการ ‘กรมไปรสนีย์แลโทรเลข’ เป็นพระองค์แรก

ส่วนตึกที่ว่าการฯ เรียกกันว่า ‘ไปรสนียาคาร’ คือตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเดิมเป็นเรือนของพระปรีชากลการ

ไปรสนียาคารแห่งแรกนี้เป็นสถานที่รับฝากและนำจ่ายไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่เมื่อเปิดทำการได้เพียง 48 วัน ปรากฏว่ามีคนใช้บริการมากเกินคาด

หลังจากดำเนินการได้ 2 ปี สยามได้รับเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากล จึงเปิดบริการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ณ ‘ออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 2’ บริเวณศุลกสถาน ตำบลบางรัก (หรือปัจจุบันคือสถานีดับเพลิงบางรัก) พร้อมกับขยายบริการออกไปในหัวเมืองต่างๆ จนทั่วประเทศ

ย้ายที่ทำการฯ เมื่อกิจการขยับขยาย

เมื่อกิจการเติบโตขยับขยายไปรสนียาคารอันเป็นศูนย์กลางจึงมีความแออัดจำเป็นต้องขยับขยายไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่อยู่ในย่านที่ผู้คนเข้ามาใช้บริการสะดวกยิ่งขึ้น

ไปรสนียาคารและออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 2 จึงถูกย้ายมาอยู่รวมกันเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง (General Post Office) โดยใช้อาคารสำนักงานและพื้นที่เดิมที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษ ณ ถนนเจริญกรุง เมื่อ พ.ศ. 2469

ในเวลานั้น ถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นถนนสำคัญสายแรกของกรุงเทพฯ ที่ก่อสร้างตามแบบตะวันตกถือเป็นย่านธุรกิจการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ชุมชนเมืองมีความหลากหลาย เป็นที่ตั้งของที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ ห้างร้าน สำนักงาน โรงเรียน สถานกงสุล โรงพยาบาล โรงภาษี จึงมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นหนาแน่น

กรมไปรษณีย์โทรเลขและออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 2

ที่ทำการไปรษณีย์กลางซึ่งดัดแปลงมาจากอาคารสถานกงสุลเดิมจึงไม่สามารถให้บริการประชาชนได้สะดวกนักประกอบกับที่ตั้งอาคารอยู่ติดทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต่อมาไม่ใช่เส้นทางสัญจรหลักในย่านนี้แล้ว

เหตุผลอีกประการคือ ในยุคนั้นแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับที่ทำการไปรษณีย์กลาง จึงสร้างเป็นสถาปัตยกรรมสวยงามโอ่อ่าเป็นหน้าเป็นตาได้ จนเกิดแนวคิดในการสร้างอาคารใหม่ให้สวยงาม และให้บริการผู้คนได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยการออกแบบให้อาคารส่วนบริการอยู่ติดถนนเจริญกรุง

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

อาคารไปรษณีย์กลางหลังใหม่

โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการฯ หลังใหม่ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2469 กว่าจะได้สร้างจริงก็เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2478 ในสมัยที่หลวงโกวิทย์อภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ดำรงตำแหน่งอธิบดี มีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นสถาปนิก นายหมิว อภัยวงศ์ เป็นผู้ช่วยสถาปนิก และนาย เอช. เฮอรมัน เป็นวิศวกรชาวเยอรมัน

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของอาคารไปรษณีย์กลางที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

อาคารไปรษณีย์กลางแห่งนี้ก่อสร้างเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมเรียบเกลี้ยงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) แนวนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) อันเป็นที่นิยมในตะวันตก ลดทอนการประดับประดาและความประณีตที่มีในสถาปัตยกรรมของไทยก่อนหน้านี้

ลักษณะอาคารเป็นรูปตัวที มีความสูง 5 ชั้น โครงสร้างเป็นเสา-คานคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายนอกเป็นหินล้างสีเทา เซาะร่องสลับเป็นลายอิฐ ตัวอาคารแบ่งเป็น 3 ตอนคือ ส่วนหัว กลาง และหางตัวที โดยเริ่มต้นสร้างจากท้ายอาคารก่อนแล้วจึงสร้างด้านหน้า

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของอาคารไปรษณีย์กลางที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

“การก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ช่วง เริ่มจากหางก่อน เป็นอาคารใหญ่สูง 3 ชั้น เดิมลำตัวกลางยาว 70 เมตร สูง 4 ชั้น ส่วนหัวตัวที มี 5 ชั้น ยาวเป็นร้อยเมตร แต่ในตัวตึกจะเป็นเพียง 3 ชั้นเพราะเป็นห้องโถงใหญ่ และในตัวตึกไม่มีเสาเลยสักต้นเดียว มีเนื้อที่เป็นพันตารางเมตร นับเป็นตึกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ สมัยนั้น”

อาคารใหญ่ระดับนี้ใช้เวลา 3 ปี 5 เดือนกว่า หรือ 1,259 วันพอดี โดยเสร็จสิ้นในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2482 ซึ่งตรงนี้ พี่เมธินทร์ บอกเกร็ดเล็กน้อยว่า การนับวันที่สร้างจนถึงวันที่เสร็จจะนับตามปฏิทินเก่าของไทยที่นับเดือนเมษายน เป็นเดือนแรกของปี หากนับตามวันที่แบบสากลในปัจจุบันจะได้ผลไม่ตรงกัน

งบประมาณการก่อสร้างรวมตกแต่งทั้งสิ้นมากถึง 976,967 บาท “ในคำกล่าวรายงานกับประธานในวันเปิดอาคารเขียนว่า รัฐบาลอนุมัติเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างอาคารอันมโหฬารในรูปแบบสมัยใหม่” พี่เมธินทร์เล่าเสริมให้ฟัง

อาคารไปรษณีย์กลางแห่งใหม่จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 พร้อมกับสถานที่ราชการอีกหลายแห่งที่เปิดในวันเดียวกัน เพราะถือเป็นวันชาติในขณะนั้น

หลากหลายหน่วยงานภายใต้อาคารอันมโหฬาร

กิจการของกรมไปรษณีย์โทรเลขได้พัฒนาเรื่อยมา โดยมีอาคารไปรษณีย์กลางแห่งนี้เป็นเหมือน Gateway ของระบบสื่อสารของไทย

นอกจากจะให้บริการไปรษณีย์และเป็นศูนย์กลางการรับ คัดแยก และส่งต่อสิ่งของทางไปรษณีย์แล้ว อาคารไปรษณีย์กลางยังเป็นที่ตั้งของงานบริการด้านโทรคมนาคมเช่นกัน

พื้นที่อาคารแห่งนี้แบ่งสำหรับงานอีกหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือเป็นทั้งที่ทำการโทรเลขกลาง ที่ทำการกองช่างวิทยุ ชุมสายวิทยุบริการ ชุมสายการถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียม รวมถึงที่ทำการชุมสายเทเล็กซ์ ที่ทำการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และห้องปฏิบัติการที่มีเจ้าหน้าที่เลขหมาย 100 (บริการโทรทางไกลต่างประเทศผ่านโอเปอเรเตอร์ ซึ่งยกเลิกไปแล้ว) เข้าเวรทำงานบริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

ที่ทำการไปรษณีย์กลางมีศูนย์กลางอยู่ที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 จนถึง พ.ศ. 2528 หน้าที่จึงยกเลิกไปเมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ ที่หลักสี่ขึ้นมาทดแทน

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

ภายหลังส่วนงานมากมายของกิจการไปรษณีย์แยกออกเป็นได้หลายหน่วยงาน คือธนาคารออมสิน องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศไทย

ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้แปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทยตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคม แยกกิจการไปรษณีย์ออกมาจัดตั้งเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งถึงวันนี้ก็ครบรอบ 16 ปีพอดี

การบูรณะครั้งใหญ่

หลังจากอาคารไปรษณีย์กลางยืนหยัดผ่านร้อนหนาวในหน้าประวัติศาสตร์ไทยมานานถึง 70 ปี คณะผู้บริหารบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินการบูรณะอาคารมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เริ่มจากส่วนโครงสร้างเพื่อชะลอการทรุดตัว

พี่เมธินทร์เล่าว่า การบูรณะดำเนินอย่างเนื่องยาวนานอยู่หลายปี

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

“เริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างด้านล่างใน พ.ศ. 2541 ต่อมาพ.ศ. 2546 ใช้วิทยาการสมัยใหม่โดยใช้ไฮโดรลิกยกอาคารสองด้านขึ้นให้เท่ากัน เมื่อมาถึง พ.ศ. 2551 จึงรื้อเสาสัญญาณขนาดใหญ่บนตัวอาคารออก จากนั้นก็มีการออกแบบเพื่อปรับปรุงอาคาร ผ่านการพิจารณาทบทวนอยู่นาน สุดท้ายมีมติให้ปรับรูปแบบอาคารเป็นศูนย์การประชุมสัมมนา พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ รวมถึงพื้นที่ให้บริการไปรษณีย์ โดยเริ่มลงมือบูรณะทั้งหมดใน พ.ศ. 2555

“เมื่อครั้งบูรณะก็เห็นได้ว่าอาคารหลังนี้สร้างอย่างดีและมีความแข็งแรง แม้แต่กระเบื้องที่โถงกลางก็ยังใช้ของเดิมจนทุกวันนี้ เป็นกระเบื้องโมเสกสั่งมาจากเยอรมนีด้านหลังมีประทับว่า Made in Germany ทั้งหมด”

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของอาคารไปรษณีย์กลางที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี
ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของอาคารไปรษณีย์กลางที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

การบูรณะอาคารหลังใหญ่นี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยใช้เวลาเพียง 1 ปี และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารในโอกาส 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย และ 10 ปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

เสา 6 ต้นนี้มีที่มา

หลังจากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอาคารไปรษณีย์กลางแล้ว ก็ถึงเวลาเยี่ยมชมอาคารกัน 

เมื่อเดินเข้ามาจากรั้วประตูด้านถนนเจริญกรุง จะเห็นส่วนตึกหน้าอาคารซึ่งเป็นส่วนหัวตัวที ที่ยาวสุดตาขนาดต้องเปิดกล้องโหมด Wide เก็บภาพนี้เพราะมีความยาวถึง 103.80 เมตร และสูง 5 ชั้น (รวมชั้นใต้ดินและดาดฟ้า) หลังคาตึกเรียบตัดแบบมีดาดฟ้า

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี
ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

อาคารนี้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ตอน มี 3 มุขสำหรับเข้าออก อาคารฝั่งมุขเหนือและใต้มีสัดส่วนเท่ากัน ส่วนมุขกลางที่นับเป็นแกนกลางนั้นเป็นทางเข้าออกหลักสู่โถงใหญ่ เป็นเนื้อที่สำหรับประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งเดิมมีทางเดินยาวเชื่อมต่อไปสู่ยังส่วนตึกด้านหลังซึ่งปัจจุบันตึกด้านหลังนั้นถูกทุบออกไปถึง 60 เมตร จากเดิม 70 เมตร

หากสังเกตดีๆ ที่หน้าอาคารประธานด้านหน้า ปีกทั้งสองของอาคารมีแนวเสาข้างละ 6 ต้น ตัวเลขนี้มีนัยแฝงที่สื่อถึงเนื้อหาแห่งรัฐธรรมนูญ หรือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ตามสมัยการสื่อความหมายในสถาปัตยกรรมในช่วงต้นสมัยการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

พี่เมธินทร์กระซิบว่า หากมาตอนช่วงพลบค่ำ หน้าอาคารจะเปิดไฟประดับหลากสีสันที่สาดส่องขึ้นบนผนังหน้าอาคาร ให้ดูสวยงามแปลกตากว่าที่เราเห็นในตอนกลางวัน

พระอนุสาวรีย์อธิบดีผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขพระองค์แรก

ด้านหน้าของอาคารมีพระอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญในกิจการไปรษณีย์ ‘สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช’ อธิบดีผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขพระองค์แรก พ.ศ. 2426 – 2433

พี่เมธินทร์เล่าถึงพระประวัติของพระองค์ไว้ว่า เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงเป็นพระราชอนุชาของรัชกาลที่ 5 ได้ตามเสด็จประพาสสิงคโปร์และปัตตาเวียใน  พ.ศ. 2413 ครั้งนั้นได้ทอดพระเนตรกิจการ ‘โปสต์’ ที่ส่งหนังสือเมล์ และตึกกิจการไปรษณีย์เป็นครั้งแรก

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

ขณะที่เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์มีพระชนมายุ 16 พรรษา และเจ้านายอีก 10 พระองค์ทรงร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวันที่ชื่อว่า COURT หรือข่าวราชการ และทรงริเริ่มระบบนำส่งหนังสือซึ่งเสียค่านำส่งตามระบบไปรษณีย์ โดยได้ทรงทำตั๋วแสตมป์ มีราคาอัฐหนึ่ง มีรอยปรุโดยรอบเช่นเดียวกับดวงตราไปรษณียากร ใช้ปิดผนึกเป็นค่าฝากส่งหนังสือข่าวราชการแก่สมาชิกบอกรับ และมีผู้นำส่งเรียกว่า ‘โปสตแมน’ (Postman)คือบุรุษไปรษณีย์ในเวลาต่อมา

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริที่จะตั้งกิจการไปรษณีย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์เป็นผู้นำในการจัดการและดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์และโทรเลขในวันที่ตั้งกรม

ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ ซึ่งนับเป็นวันครบรอบ 100 ปีกิจการไปรษณีย์ไทย

แหล่งรวมประติมากรรมของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี

ณ อาคารไปรษณีย์กลางแห่งนี้มีงานประติมากรรมภายใต้การกำกับดูแลของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มากที่สุดแห่งหนึ่ง

หากแหงนหน้ามองส่วนบนสุดของมุขกลางอาคาร จะเห็นครุฑ 2 ตนโดดเด่นอยู่มุมทางเหนือและใต้ ครุฑของอาคารไปรษณีย์กลางเรียกว่า ครุฑยุดแตรงอน ผลงานของลูกศิษย์แผนกช่างปั้นจากโรงเรียนศิลปากร ภายใต้การกำกับดูแลของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

ครุฑยุดแตรงอนทั้งสองนี้เป็นประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวขนาดใหญ่ 3 เท่าของคนจริง โดยประยุกต์จากครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นตราแผ่นดินของรัชกาลที่ 3 รวมกับแตรงอนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข เน้นถูกต้องตามลักษณะกายวิภาค ในท่ากางปีกอย่างมีพละกำลัง ลำตัว ลำแขน และขาแสดงกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ท่วงทีขึงขัง กำยำ น่าเกรงขาม โดยลดทอนลวดลายประดับตกแต่งอ่อนช้อยอย่างครุฑที่เห็นทั่วไป

มีเรื่องเล่ากันว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารไปรษณีย์กลางที่ตั้งสูงตระหง่านในย่านนี้แคล้วคลาดจากการจงใจทิ้งระเบิดมาหลายครั้ง พลาดบ้าง ระเบิดด้านบ้าง จนชาวบ้านร่ำลือกันว่า เห็นพญาครุฑ 2 ตนที่อยู่หน้าตึกบินไปปัดลูกระเบิดก็มี

หลังจากมีการบูรณะอาคารครุฑทั้งสองดูแปลกตาด้วยสีชมพู แต่นั่นเป็นการทาสีตามส่วนที่ไม่ได้เสียหายจากแดดฝนอันยาวนาน

“ระหว่างซ่อมแซมได้สังเกตเห็นว่าบริเวณที่ไม่ค่อยโดนแดดฝนปรากฏเป็นสีคล้ายกับปูนกินหมาก คล้ายผิวของมนุษย์ กรมศิลปากรผู้ดูแลจึงทาสีตามนั้น เพื่อให้ต่อไปข้างหน้าสีจะจางลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสีเหมือนผิวคน” พี่เมธินทร์เล่าถึงที่มา

นอกจากงานประติมากรรมนอกอาคารแล้ว ภายในอาคารยังมีชิ้นงานประติมากรรมในโถงอาคารอีก 8 ชิ้น นั่นคือประติมากรรมนูนต่ำขนาดใหญ่ประมาณ 2 เมตร ปั้นหล่อด้วยซีเมนต์เป็นรูปไปรษณียากรในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 8 จำนวน 8 ดวง ซึ่งเป็นผลงานของภายใต้การกำกับดูแลของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่นกัน

ส่วนด้านหน้าของมุขกลาง คือประตูเหล็กหล่อ 3 คู่ ซึ่งเป็นงานประติมากรรมหล่อโลหะ ลายเหล็กโปร่งประดับครุฑยุดแตรงอน อันเป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์แผนกช่างประณีตศิลปกรรมจำนวน 13 คน

ไปรษณีย์กลาง สู่ศูนย์กลางการเรียนรู้

ในวันนี้พื้นที่อาคารไปรษณีย์กลางมากกว่า50 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ชั้นหนึ่งของมุขใต้ ไปยังชั้นบน และอาคารด้านหลังเป็นของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (Thailand Creative and Design Center) หรือ TCDC ซึ่งนับว่าตรงกับจุดประสงค์ในการบูรณะครั้งใหญ่ที่วางหมุดหมายให้อาคารรุ่นคุณปู่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม

หากใครมาเยี่ยมชมสามารถขึ้นมาบนพื้นที่ดาดฟ้าชั้น 5 ของอาคาร ชมวิวย่านเจริญกรุงบางรักได้ไกลสุดลูกหูลูกตา และสามารถชมความงดงามและอลังการของประติมากรรมครุฑยุดแตรงอนได้อย่างใกล้ชิด

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

พื้นที่อื่น ๆ ในอาคารมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายส่วน มีสถานที่ที่พร้อมรองรับการจัดงาน การประชุมระดับชาติ ห้องแสดงนิทรรศการต่างๆ และอีกห้องหนึ่งซึ่งอยู่คู่อาคารมาแต่เริ่มสร้าง นั่นคือ โรงละครขนาดเล็ก

“ชั้น 3 มีโรงละครเพราะเมื่อก่อนเรามีหน่วยงานด้านวิทยุกระจายเสียง มีถ่ายทอดสด มีการบรรเลงปี่พาทย์ที่ใช้พื้นที่โรงละครแห่งนี้” พี่เมธินทร์บอกสถานที่ลับที่น้อยคนจะรู้นักกับเรา

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

ที่ทำการไปรษณีย์ที่สวยที่สุด

ถึงวันนี้อาคารหลังใหญ่จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางหลักของงานไปรษณีย์และโทรคมนาคมเช่นวันวาน แต่ยังคงมีบริการด้านไปรษณีย์อยู่ที่นี่

ใครอยากส่งจดหมาย ส่งพัสดุ หรือติดต่อกิจการไปรษณีย์ เดินตรงเข้ามาที่มุขเหนือ ก้าวเข้าสู่ที่ทำการไปรษณีย์ที่สวยและพิเศษกว่าแห่งใดในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี
ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

โถงอาคารสีขาวตกแต่งอย่างงดงามอลังการเข้ากับบรรยากาศของอาคาร โคมไฟระย้ารับกับความโอ่อ่า หลังเคาน์เตอร์บริการมีฉากจำลองแบบของประตูประดับอยู่ ส่วนบริการรวดเร็ว โดยมีการนำระบบสายพานเลื่อนเช่นเดียวกับสนามบินมาใช้กับการส่งของระหว่างเคาน์เตอร์สู่ระบบการคัดแยก

ส่วนพนักงานไปรษณีย์มีชุดยูนิฟอร์มแปลกตา ซึ่งออกแบบพิเศษเฉพาะให้กับบรรยากาศของอาคารแห่งนี้เท่านั้น

วันนี้อาคารแลนด์มาร์กแห่งบางรักยังคงทำหน้าที่บริการประชาชนอย่างต่อเนื่องดังที่เคยเป็นมา

พี่เมธินทร์บอกว่า เมื่อได้เห็นความยั่งยืนของอาคารแห่งนี้ หวนให้คิดถึงดังคำกล่าวของพลตรีพระยาพยุหเสนาเมื่อครั้งเปิดอาคารครั้งแรกที่ว่า

“…ขอให้ตึกที่ว่าการกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ข้าพเจ้ากระทำพิธีเปิดนี้จงยั่งยืนคงทน เป็นสง่าคู่กับพระนครของประเทศไทย ถ้าจะถูกเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัยในครั้งต่อไปข้างหน้าก็ขอให้เปลี่ยนในทางวัฒนาถาวรยิ่งขึ้นไป…”

ก่อนกลับพี่เมธินทร์เล่าความผูกพันที่ได้ทำงานอยู่ภายใต้อาคารหลังใหญ่นี้และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“หลายคนอาจจะไม่รู้จักไปรษณีย์กลาง แต่ถ้าได้มาสัมผัสจะรู้ว่าครั้งหนึ่งตึกแห่งนี้ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แห่งนี้ยังคงเป็นตึกที่ยังคงความสวยงามร่วมสมัย และนับได้ว่าเป็นความภูมิใจของคนไทย”

ประวัติศาสตร์กิจการไปรษณีย์ไทยผ่านเรื่องเล่าของ อาคารไปรษณีย์กลาง ที่อยู่คู่เจริญกรุงมา 80 ปี

เอกสารอ้างอิง หนังสือ ณ แห่งนี้…ไปรษณีย์กลาง จิตวิญญาณแห่งตำนานไปรษณีย์ โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan