*** เนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับความสูญเสียและอุบัติเหตุในงานกู้ภัย ***

เราติดต่อ หนู-ประกาศิต เลาหะเดช ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าหน่วยกู้ภัย FROG Team Thailand เพื่อพูดคุยถึงปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เขาและทีมงานทำร่วมกันมากว่า 8 ปี แต่ก่อนที่เราจะล้มตัวลงนอน รอคอยรุ่งเช้าที่จะเดินทางไปยัง Bounce Dog Sport Center พื้นที่ออกกำลังกายสำหรับสุนัข ลึกเข้าไปเป็นศูนย์ฝึกของเหล่าอาสาสมัคร หัวใจของเรากลับตกไปอยู่ตาตุ่ม! เมื่อเวลาเที่ยงคืนครึ่งของวันที่เรานัด พี่หนูส่งข้อความมาแจ้งว่า

“ได้รับการประสานขอการค้นหาผู้สูญหายที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทีม K-9 (ไทยอาสาสมัครสุนัขกู้ภัย) เดินทางกลางคืนวันที่นัดสัมภาษณ์”

นี่คือสถานการณ์จริง! ไม่ใช่การฝึกซ้อม! เรารีบบอกพี่หนูว่า ยินดีเลื่อนการสัมภาษณ์เพื่อให้ทีมงานเตรียมพร้อมปฏิบัติการ แต่ทางพี่หนูยืนยันให้สัมภาษณ์เช่นเดิม เพิ่มเติมคือเราได้เห็นการอุ่นเครื่องสุนัข K-9 พริตตี้ และ จันหอม แห่งทีม Thai Volunteer SAR Dog ที่จะเดินทางไปช่วยค้นหาบุคคลสูญหายกันถึงที่ บอกเลยว่าศักยภาพของทีมและสุนัขทำให้คนนอกอย่างเราต้องอึ้ง

“ทุกชีวิตมีค่าครับ” 

พี่หนูพิมพ์ทิ้งท้ายก่อนปิดหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้เราอยากค้นหาที่มาที่ไปของการเห็นคุณค่า และประสบการณ์อันโชกโชนบนเส้นทางกู้ภัยตลอด 20 ปีมากกว่าเดิม

FROG Team Thailand อาสากู้ชีวิตที่มีภารกิจทำให้ทุกคนรู้จักวิธีเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน

เพราะกลัวจึงกล้าและเก่ง

หัวหน้าหน่วยกู้ภัยนั่งอยู่ตรงหน้าเราในชุดสีดำ ประดับด้วยสัญลักษณ์รูปกบ ซึ่งเป็นตัวแทนของ FROG Team Thailand (First Rescue Operation Generation) นอกจากรองเท้าที่ดูกะทัดรัดเหมาะจะออกวิ่งได้ทุกวินาที เข็มขัดของเขายังเต็มไปด้วยอุปกรณ์มีดพก ไฟฉาย กรรไกรหัวทู่ (ป้องกันเวลาตัดไม่ให้บาดเจ็บ) ไขควง คีม ที่จุดไฟ และของจำเป็นอื่น ๆ ที่ขาดไม่ได้

“ไม่มีแล้วผมไม่มั่นใจ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่รองเท้านี่เป็นรองเท้าวิ่งธรรมดานะ ปกติจะใส่รองเท้ากู้ภัยกันไฟดูด หัวเหล็กกันตะปูได้” เขากำลังบอกเราว่า นี่ยังไม่ครบชุดนะ

“มีอุปกรณ์ครบครันแบบนี้ เริ่มสนใจด้านกู้ภัยมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ” เราถาม

“เริ่มจากความชอบ ผมไปปีนหน้าผา จริง ๆ จะได้เป็นนักกีฬาปีนหน้าผา แต่เราตั้งคำถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุตอนที่เราไปปีนหน้าผา ใครจะช่วยเรา ก็เลยเริ่มเรียนรู้อย่างจริงจัง แล้วจะบอกว่าจริง ๆ แล้วผมกลัวความสูง ก็เลยคิดว่างั้นไปปีนผาเลยแล้วกัน”

เขาบอกกับเราว่า กีฬาปีนผาเป็นการเล่นกับตัวเอง แม้จะเห็นว่าเส้นทางด้านบนไปต่อไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วยังมีทางอยู่เสมอ เพราะคนที่ไปแขวนเชือกสำหรับปีนผา เคยผ่านเส้นทางนี้มาแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ชายผู้กลัวความสูงพยายามเอาชนะตัวเองจนสำเร็จ

ก่อนที่จะเริ่มเล่นกีฬาโลดโผน ชีวิตของพี่หนูเคยคลุกคลีอยู่ในวงการกู้ภัยมาตั้งแต่เด็ก เพราะญาติผู้พี่เป็นอาสาสมัครกู้ภัยมาก่อน

“อายุประมาณ 15 ปี ผมเป็นอาสาสมัครกู้ภัยของมูลนิธิร่วมกตัญญู แต่งานตอนนั้นก็แค่ช่วยเคลื่อนย้ายศพ ช่วยมอเตอร์ไซค์ล้ม และพาคนออกจากรถที่เกิดอุบัติเหตุ พอโตขึ้นค่อยได้ไปเรียนเทคนิคพิเศษ Rope Rescue (การช่วยเหลือกู้ภัยโดยใช้เชือก) จนกลายเป็นอาจารย์ ทางร่วมกตัญญูก็เชิญเราไปเป็นวิทยากรอยู่ช่วงหนึ่ง

“ตอนที่ผมอยู่ร่วมกตัญญู มีเคสหนึ่งที่ปลื้มใจที่สุด เพราะผมได้ช่วยคนในอาคารถล่ม 6 ชั้นที่คลองหก ปทุมธานี พ.ศ. 2557 เขาติดอยู่ใต้อาคารในชั้นที่ 1 ตึกมันล้มแบบแพนเค้ก เป็นแผ่นปูน 6 ชั้นทับลงมา ผมมุดลงไปข้างล่างที่ชั้นใต้ดินเพื่อคุยกับเขา วิเคราะห์ว่าจะต้องเจาะอะไรตรงไหน การเจาะใช้เวลา 2 วัน ตัวผมเองเป็นคนเอื้อมมือดึงเขาออกมาจนรอดชีวิต”

ในวันนั้นมีผู้ประสบภัยหลายราย ผู้บาดเจ็บที่อยู่บนซากมองเห็นได้ง่าย มีอาสาสมัครหลายกลุ่มรุมล้อมช่วยเหลือ กระนั้นบางรายก็เสียชีวิต เนื่องจากจำนวนคนที่เยอะและยังขาดความรู้ที่เหมาะสม ส่วนคนที่ติดอยู่ใต้ซากนั้นไม่มีใครมองเห็น

การเจาะวันแรกผ่านไป ชายที่อยู่ใต้ดินไม่มีน้ำดื่ม พี่หนูและทีมจึงส่งน้ำผ่านสายยางลงไป แต่แล้วเรื่องที่เกือบทำให้ผู้ช่วยเหลือถอดใจก็เกิดขึ้น

“เราได้ยินแค่เสียง แต่เสียงของเขาหายไปประมาณ 4 ชั่วโมง เราคิดว่าเขาไปแล้ว ก็กำลังจะขึ้นรถกลับบ้าน แต่วันนั้นผมขออีกหน่อย นอนพักอยู่ท้ายรถ จู่ ๆ ก็มีน้องวิ่งมาบอกว่า เสียงเขากลับมาแล้ว ผมก็ขุดต่อ

“ผมเป็นกู้ภัย เพราะผมอยากช่วยเหลือคนที่แทบเอาชีวิตไม่รอดแล้ว เราได้ช่วยเขาออกมา นี่คือที่สุด เขาได้กลับไปหาครอบครัว จริง ๆ ผมรับรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าทุกชีวิตมีค่า และเราเองก็มีค่าที่จะช่วยเหลือเขา ไม่ว่าจะเป็นใคร เขายังมีครอบครัวที่ต้องกลับไปหาอีกหลายชีวิต เราช่วยได้ 1 เท่ากับช่วยได้ 10”

FROG Team Thailand อาสากู้ชีวิตที่มีภารกิจทำให้ทุกคนรู้จักวิธีเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน
การฝึกกู้ภัยด้วยระบบเชือกโดย FROG Team Thailand

กว่าจะเป็นกู้ภัย

เราถามผู้เชี่ยวชาญตรงหน้าว่าการเป็นกู้ภัยนั้นยากไหม เขาตอบว่าการเป็นกู้ภัยในประเทศไทยไม่ยาก เพราะมีสถาบันเปิดสอนและอบรมจำนวนมาก แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับความใส่ใจ การขวนขวายความรู้ และการลงมือปฏิบัติด้วย

“อาสากู้ภัยในประเทศไทยทำทุกอย่างครบวงจร นี่คือสิ่งที่ต่างจากประเทศอื่น ต่างประเทศจะมีกำหนดเลยว่า อาชีพไหนรับบทบาทหน้าที่อะไร เช่น นักดับเพลิงและตำรวจรับหน้าที่ไม่เหมือนกันและไม่ซ้อนทับกัน”

เขาเล่าความแตกต่างให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนบอกว่าสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นนักกู้ภัยคือ การมีใจ ส่วนการเรียนคือ การเสริมความรู้ที่แต่ละบุคคลสนใจ ซึ่งพี่หนูเรียนมาแล้วทุกอย่างทั้ง Road Accident Confined Space (อาคารถล่ม) หรือ K-9 แต่เขาสนใจ Rope Rescue เป็นพิเศษ

“เชือกอยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดมามีเงื่อนมัดสายสะดือ ตายก็มัดตราสัง เสื้อผ้าก็คือสิ่งทอจากเส้นด้าย แล้วในหมวดงานอื่นอย่างการดับเพลิงหรือกู้ภัยทางน้ำ ก็ต้องใช้เชือกทั้งหมด มันคือสาขาใหญ่ที่คนไม่ค่อยมอง แต่เราประยุกต์ได้ทุกอย่าง สมมติน็อตไขไม่ออก เอาเชือกไปม้วนแล้วไขก็ออก ลูกกรงเหล็กดัด คนพยายามจะตัด แต่เราเอาเชือกมาพันแล้วขันชะเนาะ เด็กหัวติดอยู่ก็ออกได้ ผมลองมาแล้ว”

FROG Team Thailand อาสากู้ชีวิตที่มีภารกิจทำให้ทุกคนรู้จักวิธีเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน

นอกจากความรู้พื้นฐานและเฉพาะทางที่ต้องมี การคิดวิเคราะห์ของอาสาสมัครก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพึงฝึกและลงมือปฏิบัติอยู่เสมอ พี่หนูมักไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาทดลองทำเอง เพราะเขาเชื่อว่า กว่าใครสักคนจะเขียนคู่มือสักเล่มให้คนอ่าน ย่อมเกิดจากการทดลองจนเห็นประสิทธิภาพแล้วจึงนำมาบอกต่อ

FROG Team Thailand อาสากู้ชีวิตที่มีภารกิจทำให้ทุกคนรู้จักวิธีเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน
FROG Team Thailand อาสากู้ชีวิตที่มีภารกิจทำให้ทุกคนรู้จักวิธีเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน
การลงพื้นที่ของ FROG Team Thailand และมูลนิธิอื่น ๆ

จากที่ฟังเรื่องราวของเขามาสักพัก เรารับรู้ได้ว่าการเป็นอาสาสมัครกู้ภัย คือการใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์สถานการณ์และการประเมินความปลอดภัยจึงต้องมาเป็นอันดับแรก

“หน้าที่สำคัญของกู้ภัยคือการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและปลอดภัย ไม่ต้องรีบ เมื่อรีบอาจเกิดเหตุซ้ำเติม”

“กรณีไฟฟ้ารั่ว หากวิ่งเข้าไปช่วยทันทีอาจเกิดการบาดเจ็บเพิ่ม หรือเหตุการณ์ไฟไหม้ที่หมู่บ้านกฤษดานคร เมื่อ พ.ศ. 2564 ในตอนนั้นผมได้รับการร้องขอให้นำสุนัข K-9 ขึ้นไปค้นหา แต่พื้นที่มีความร้อนสูง ไม่ต่างจากเดินบนเตาย่าง ทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก สุนัขรับความร้อนได้เร็วกว่ามนุษย์ ตรงจุดนี้เราต้องประเมินความปลอดภัยของสุนัขด้วย ผมยังไม่เคยประเมินอะไรผิดพลาด เพราะคิดซับซ้อนมาก ๆ เรามองผลกระทบแล้วว่าอะไรน่าจะเกิด บางทีนั่งกินข้าว ผมยังคิดเลยว่า ถ้าหน้าจมลงไปในชามก๋วยเตี๋ยวจะตายไหม ต้องตะแคงซ้ายหรือขวา” 

หลายคนอาจมองว่าเขาพูดติดตลก แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงและเคยเกิดขึ้นแล้ว ส่วนหน้าที่ในการบรรเทาสถานการณ์ร้ายให้กลายเป็นเบา คือหน้าที่ของอาสากู้ภัยทุกคน รวมถึง FROG Team Thailand ที่ก่อตั้งมาได้ 8 ปีแล้ว

FROG Team Thailand อาสากู้ชีวิตที่มีภารกิจทำให้ทุกคนรู้จักวิธีเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน

กบสู้กู้ชีวิต

“ก็นั่นแหละ เพราะว่าผมไม่ชอบกบ” เขาเอ่ย เมื่อเราถามถึงเบื้องหลังชื่อและสัญลักษณ์รูป ‘กบ’ ของ FROG Team Thailand สมแล้วที่เป็นคนชอบเอาชนะตัวเอง ตั้งแต่เรื่องกลัวความสูงยันความไม่ชอบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

“กบมีความหมายในตัวของมัน เกิดมามีแต่หัวกับหาง ต่อมาเปลี่ยนสภาพมีขา หางก็หดกลับไป พอโตอีกก็เปลี่ยนสีได้ ความสามารถมันหลากหลายมาก ก็เลยเลือกกบ ไม่ชอบก็ต้องเอาชนะ จับกินเลย แต่ถ้ามันมาเกาะขา ผมไม่ไหวนะ”

FROG Team ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกู้ภัยที่เข้มแข็งอย่างในปัจจุบัน พี่หนูรวมพลอาสาสมัครจากทุกสายอาชีพมาเข้าทีม ด้วยตระหนักว่า ทุกอาชีพสำคัญและมีความสามารถในการช่วยเหลือคนได้ไม่ต่างกัน โดยนอกเหนือจากงานกู้ภัย พวกเขาก็ยังช่วยเหลือสังคมในงานเสี่ยงอันตรายต่าง ๆ ด้วย

FROG Team สรงน้ำหลวงปู่ทวดที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
FROG Team สรงน้ำหลวงปู่ทวดที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ทีมของเรามีวิศวกร พยาบาล แพทย์ สถาปนิก คนเลี้ยงสุนัข K-9 นักข่าว ไปจนถึงฝ่ายเสบียง คนขับรถรับจ้าง ซึ่งรับหน้าที่ดูแลเรื่องโลจิสติกส์ให้ทีม ตำรวจ ทหาร และหน่วยเฉพาะกิจ เราแบ่งหน้าที่ตามความเหมาะสม กระจาย FROG Team ไปทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ แต่ยังไปไม่ครบทุกจังหวัด” ซึ่งเราคิดว่าการไปไม่ครบก็เป็นเรื่องดี เพราะในแง่หนึ่งหมายถึงการไม่มีเหตุด่วนเหตุร้ายเกิดขึ้น

ปกติแล้วทาง FROG Team มักจะเลือกเคสที่ออกไปช่วยเหลือ เพราะออกปฏิบัติการไม่ได้ทุกครั้ง หากเป็นงานตึกถล่ม หรืองานในที่สูงก็จะใช้วิชาเชือกที่ถนัดได้ โดยหลัก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในเมืองไทยคืออุบัติเหตุรถชน และผู้สูงอายุเสียชีวิตโดยไม่มีใครทราบ

“เคสคนหายก็เกิดบ่อย ส่วนมากมักเป็นอัลไซเมอร์ มีอย่างน้อย 1 – 2 ครั้งต่อเดือนที่แจ้งเข้ามา ซึ่งคนหายส่วนใหญ่จะมีมูลนิธิกระจกเงาเป็นแม่งานหลัก การฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นบ่อยแม้ไม่ได้ออกข่าว เช่น ที่สะพานพระราม 8 หรือท่าน้ำนนท์ เพราะเราเองก็มีสมาชิกที่ทำหน้าที่อยู่”

อีกกรณีคือ คนหลงป่า อย่างเคสที่พี่หนูกำลังจะเดินทางพร้อมทีมและสุนัข K-9 ในคืนนี้

“การหลงเข้าไปในป่า ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เหมือนตึกในเมืองที่ไม่มีทางเติบโต อาจมีจำนวนถึง 100 เคสต่อปี โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับป่า”

“เคยไปหาคนหายที่เขาใหญ่ หากันอยู่ 3 วัน จุดที่เราไปหาคือจุดที่คาดว่าเขาจะไป แต่จุดที่เจอศพคือใกล้ ๆ เขาโดนสัตว์ทำร้าย”

สิ่งแรกที่ต้องทำหากหลงป่า คือ การหาน้ำ เป็นหนึ่งในกฎที่อาจารย์หนูคิดขึ้นมาเพื่อสอนอาสาสมัคร รวมถึงเด็ก ๆ 

“กฎหมายเลข 3 ครับ ขาดน้ำ 3 วัน เสียชีวิต ขาดอาหาร 3 อาทิตย์ เสียชีวิต ขาดอากาศ 3 นาที เสียชีวิต เสียเลือดเกิน 3 นาทีไม่ไปเลี้ยงสมอง เสียชีวิต เพราะฉะนั้นต้องหาน้ำก่อน ในฐานะที่เป็นวิทยากร ผมพยายามคิดวิธีที่ทำให้คนจำได้ง่ายที่สุด”

ก่อนที่จะพูดถึงบทบาทความเป็นอาจารย์เพิ่มเติม ตอนนี้ทีมสุนัขค้นหาของไทยอาสาสมัครสุนัขกู้ภัย (Thai volunteer Search and Rescue Dog) นำโดย เม๋-นุชนภางค์​ เกวลี ผู้ก่อตั้ง และ ภา-วิภาอร เศรษฐศิรินนท์ ผู้ควบคุมสุนัข รวมถึงพริตตี้ สุนัขพันธุ์บีเกิ้ล และจันหอม สุนัขพันธุ์เยอรมันเชเพิร์ด พร้อมอุ่นเครื่องการฝึกดมกลิ่นให้เราได้ชมแล้ว

FROG Team ระหว่างปฏิบัติการค้นหาบุคคลสูญหายที่จังหวัดเชียงใหม่

เราพาตัวเองไปหลบใต้เงาไม้ที่มีอยู่น้อยนิด ขณะที่แสงแดดยามบ่ายทำงานอย่างแข็งขัน ใต้ซากปรักหักพังจำลองสถานการณ์ตึกถล่ม มีอาสาสมัครที่เป็น ‘เป้า’ ในการค้นหาของสุนัขทั้งสองอยู่ เราเองก็ไม่รู้ว่าเป้าเหล่านั้นหลบอยู่ที่ไหน แต่ในครั้งแรกพริตตี้ใช้เวลา 10 กว่านาทีในการค้นหาจนเจอ

“สุนัขสามารถรับรู้จำนวนคนได้จากกลิ่นเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าสุนัขรับกลิ่นได้ 7 คน แต่มองเห็นแค่ 6 คน สุนัขจะพยายามหาว่าอีกกลิ่นอยู่ที่ไหน คนเรามีเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอยออกมาในอากาศอยู่ตลอดเวลา เซลล์ผิวหนังนี้จะผสมกับสารต่าง ๆ ในร่างกาย ออกมาเป็นกลิ่นเฉพาะของแต่ละบุคคล พอพริตตี้จับกลิ่นที่ 7 ได้เลยเห่าแจ้งตำแหน่งกับพวกเราในทันที”

เผื่อว่าจะไม่เชื่อ การฝึกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นโดยมีจันหอมเป็นผู้ตามหาเป้า ครั้งนี้เพิ่มความยาก เพราะเป้าหมายอย่าง นพ.สุระ เจตน์วาที แพทย์เวชศาสตร์การบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ชีพขั้นสูง ปีนขึ้นไปหลบบนหลังคารถประจำทางกันเลยทีเดียว

การเห่าส่งสัญญาณครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อจันหอมปีนขึ้นไปบนกองยาง เพราะลมพัดกลิ่นของเป้าหมายไปตกกระทบยังพื้นที่ที่สูงรองลงมา หลังจากที่จันหอมเห่าเพียงไม่กี่วินาที ลมได้เปลี่ยนทิศ จันหอมจึงวิ่งลงจากกองยาง แล้ววิ่งกลับไปมาบริเวณท้ายรถ เพื่อหาจุดที่กลิ่นตกเข้มข้นที่สุด พอจับกลิ่นได้ จันหอมก็นั่งเห่าและมองขึ้นไปบนหลังคาที่คุณหมอซ่อนอยู่ได้อย่างถูกต้อง

FROG Team ระหว่างปฏิบัติการค้นหาบุคคลสูญหายที่จังหวัดเชียงใหม่
FROG Team ระหว่างปฏิบัติการค้นหาบุคคลสูญหายที่จังหวัดเชียงใหม่

สุนัขจะเห่าแจ้งว่าพบผู้ประสบภัยในบริเวณที่มีกลิ่นเข้มข้นมากที่สุด ซึ่งในบริเวณที่มีกลิ่นตกเข้มข้นมากที่สุดมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ภูมิประเทศ กระแสลม ความชื้น อุณหภูมิ หรือโครงสร้างของอาคารที่ถล่มลงมา ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแปรในการกระจายกลิ่นทั้งสิ้น เมื่อสุนัขแจ้งแล้วก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมสุนัขและทีมกู้ภัยผู้มีประสบการณ์ในการอ่านข้อมูลจากสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้น เพื่อระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัย

“สุนัขไม่ใช่เครื่องตรวจจับกลิ่น ไม่ใช่ตัวระบุตำแหน่ง สำหรับเคสคนหายที่เชียงใหม่ที่เรากำลังจะพาสุนัขไป เขาใช้คนค้นหาก่อนและเก็บข้อมูล ตอนนี้ก็ใช้สุนัขในการช่วยค้นหา”

FROG Team ระหว่างปฏิบัติการค้นหาบุคคลสูญหายที่จังหวัดเชียงใหม่
ระหว่างปฏิบัติการค้นหาบุคคลสูญหายที่จังหวัดเชียงใหม่

พี่หนูเล่าเพิ่มเติมว่า ในการศึกษาดูงานที่ประเทศไต้หวันเมื่อ พ.ศ. 2560 เขาประทับใจการเรียนรู้พฤติกรรมสุนัขของหน่วย K-9 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการกู้ภัยค้นหา โดยความยากอยู่ที่สุนัขสื่อสารกับมนุษย์โดยตรงไม่ได้ การเรียนรู้พฤติกรรมตั้งแต่หัวถึงหางจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ผมอยากช่วยคนเป็น ถ้าเห็นแล้วว่าเขาเสียชีวิต เราจะให้เป็นหน้าที่ของหน่วยอื่น บางครั้งการพาคนเป็นไปช่วยคนตายในสภาพที่ยากลำบาก อาจทำให้เกิดการสูญเสียเพิ่ม เช่น ดำน้ำในคลองแสนแสบ น้ำสกปรกมาก กู้ภัยเสียชีวิตหลายรายแต่ไม่มีใครรู้ น้ำเข้าซอกเล็บ ติดเชื้อในกระแสเลือด เราจึงพยายามนำ K-9 เข้ามาช่วยในการค้นหาผู้จมน้ำ เพื่อช่วยระบุบริเวณที่ผู้จมน้ำติดอยู่ใต้น้ำ อย่างน้อยก็กำหนดพื้นที่ให้แคบลงได้ ดีกว่าการพาคนเข้าไปเยอะ ๆ มันเสี่ยง”

ปัจจุบัน K-9 นำโดยพี่เม๋ถือเป็นส่วนหนึ่งของ FROG Team โดยทำงานเป็นพาร์ตเนอร์กัน หากเคสไหนต้องการการค้นหา พี่หนูและพี่เม๋ก็จะแท็กทีมออกไปช่วยเหลือ

“INSARAG (คณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ) บอกว่า ในการตั้งทีมกู้ภัยแบ่งเป็น Heavy, Medium, Light ระดับกลางต้องมีสุนัขในทีม 2 ตัว ของอเมริกาคือทีมใหญ่ (Heavy) มีเครื่องบิน มีเรือ มีเงินทุน มีสุนัข 6 ตัว มันเป็นข้อกำหนดว่าจำเป็นต้องมี ของไทยตอนนี้กำลังสอบเป็น Medium ต้องมี 2 ตัว”

ก่อนจะเดินกลับไปยัง Bounce Dog Sport Center และปล่อยให้สุนัขพักผ่อนรอคอยภารกิจใหญ่ที่เชียงใหม่ พี่หนูบอกว่า “คนยังไม่ค่อยเห็นว่า K-9 มีความสามารถอย่างไร ถ้าได้รู้จะทึ่งกับมัน”

เราก็เป็นหนึ่งในนั้น

นอกจากการช่วยคนเป็น อีกหนึ่งภารกิจและเป้าหมายสำคัญของ FROG Team คือ การสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญงานกู้ภัยในประเทศให้มากขึ้น โดยทีมได้ไปมอบความรู้และอบรมทั้งทหาร หน่วย SWAT ทีมดับเพลิง มูลนิธิต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยมาแล้ว และเคยพูดคุยถึงการสร้างวิชาเอาชีวิตรอดขั้นพื้นฐานที่มีหน่วยกิตจริง เรียนเกี่ยวกับการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ทั้งการปฐมพยาบาลตัวเองและผู้อื่นขณะเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเหตุไฟไหม้ น้ำท่วม ไฟฟ้าลัดวงจร หรืออุบัติเหตุภายในบ้าน

“มันเป็นหลักสูตรที่สมควรจะมีแล้ว” เขาบอกเพื่ออนาคตอันปลอดภัยของทุกคน

จากสองมือที่ช่วยคนติดในอาคารถล่ม สู่การก่อตั้ง FROG Team Thailand อาสากู้ภัยที่รวมพลทุกอาชีพเพื่อช่วยชีวิตทุกคน

วิชาที่ควรมีติดตัว

คอร์สเรียนสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้เกิดขึ้นที่ Firefly Forest School – โรงเรียนหิ่งห้อย ซึ่งเป็นโรงเรียนของลูกสาวตัวน้อย พี่หนูเข้าไปร่วมเขียนหลักสูตร และแนะนำทางโรงเรียนว่า ต้องมีวิชาการเอาตัวรอดไปปลูกฝังให้เด็กตั้งแต่เล็ก ๆ

“เราสร้างเรื่องก่อนว่า จะสอนเรื่องทางน้ำก็มีโจรสลัดออกมา แล้วสอดแทรกว่า ถ้าจมน้ำต้องทำอย่างไร เราต้องตะโกน โยน ยื่น บอกคนอื่น ยื่นไม้ไป”

สาเหตุที่เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่สิ่งที่ไกลตัวคือโรงพยาบาล!

“มันจำเป็นเพราะเราไม่ได้อยู่ดูแลเขาตลอด 24 ชั่วโมง เด็กต้องมีทักษะ ต้องรู้ว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ อย่างไหนปลอดภัย เขาต้องช่วยเหลือตัวเองได้ก่อน”

“เรื่องพวกนี้สำคัญนะครับ คนไทยชอบให้เหตุเกิดก่อน กว่าจะโทร 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) มันอาจจะไม่ทัน ถ้าเรื่องพื้นฐานทุกคนทำได้ เก็บข้อมูลได้หมด บอกหมอได้ถูกก็จะดี ตอนนี้ที่คนเสียชีวิตเยอะ เพราะหลาย ๆ ครั้งคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นเก็บข้อมูลไม่ดี บอกข้อมูลผิด หมอรักษาไม่ตรงจุด งูกัดต้องทำอย่างไร บางคนให้ขันชะเนาะ แขนตายสิ ตัดทิ้งเลย เขาไม่ให้พัน ให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ให้เลือดมันวิ่ง หายใจเบา ๆ รีบไปโรงพยาบาล”

พี่หนูคือหนึ่งในคนที่เชื่อว่า มนุษย์ดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เด็ก ทัศนคติที่ผู้ปกครองต้องดูแลลูกตลอดเวลาจึงควรปรับเปลี่ยน หรืออย่างน้อยเด็กควรรู้วิธีดูแลตัวเอง

จากสองมือที่ช่วยคนติดในอาคารถล่ม สู่การก่อตั้ง FROG Team Thailand อาสากู้ภัยที่รวมพลทุกอาชีพเพื่อช่วยชีวิตทุกคน

“นอกจากเรื่องทางน้ำ ยังมีเรื่องการพัน ห้าม ดาม หรือพันแผล ห้ามเลือด ดามแขน-ขา ถ้าเลือดไหลเยอะต้องกดให้หยุดก่อน แผลเล็กค่อยล้างแล้วหยุดเลือด เราเข้าใจผิดว่าเจอแผลใหญ่ต้องล้าง ไม่ต้องครับ เอาให้มันหยุดก่อน แล้วต่อไปจะมีสอนการ CPR เอาตัวรอดตอนอาหารติดคอ ไปจนถึงสีป้ายที่แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่รู้ หรืออาจไม่เคยสนใจด้วยซ้ำ”

“ป้ายที่เห็นบนท้องถนน แต่ละสีมีความหมายเป็นสากล สีเขียวคือปลอดภัย สีแดง ทราบอยู่แล้วว่าห้าม หยุดการกระทำ สีเหลือง ต้องระมัดระวังสารเคมี แต่อย่างสีฟ้า คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้ คือบังคับใช้ ต้องทำตาม ป้ายห้ามจอด ลองสังเกตว่าเป็นสีแดง พื้นหลังเป็นสีฟ้า แปลว่าหยุดแล้วบังคับใช้ ต้องทำตาม มันสากลมากครับ แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ความหมาย”

พี่หนูยกตัวอย่างเพิ่มเติมถึงวิชาสุขศึกษาของไทยที่เด็กรู้ทฤษฎี CPR แต่ไม่เคยปฏิบัติ

“เขารู้ว่าต้องกดลึก 3 – 5 นิ้ว แต่ถ้าหุ่นผอมบางจะกด 3 – 5 นิ้วไม่ได้ กดลง 1 ใน 3 ของร่างกาย ต้องบอกแบบนี้มากกว่า” 

ได้แต่หวังว่าการปรับหลักสูตรจะเกิดขึ้นในเร็ววัน แต่อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการฝึกให้เด็กคิดและวิเคราะห์สถานการณ์ เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ คือ รู้ว่าอาหารติดคอจะทำอย่างไร ช่วยเหลือตัวเองอย่างไร จากนั้นค่อยเรียนรู้การช่วยเหลือคนอื่น

จากสองมือที่ช่วยคนติดในอาคารถล่ม สู่การก่อตั้ง FROG Team Thailand อาสากู้ภัยที่รวมพลทุกอาชีพเพื่อช่วยชีวิตทุกคน
อบรมกู้ภัย Mountain Rescue Training Camp

“อีกเรื่องใกล้ตัวที่คนมักมองข้าม คือเรื่องฮีทสโตรกและอาการวูบ รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ไฟฟ้าลัดวงจร การต่อปลั๊กพ่วงจำนวนหลายอันก็มีโอกาสเกิดความร้อนจนช็อตได้ คนไทยชอบวัวหายล้อมคอก ไปนำเสนอแล้วไม่ค่อยฟัง พอใกล้ตัวก็เพิ่งนึกถึง เดี๋ยวนี้โรงเรียนนานาชาติเริ่มเชิญวิทยากรหรือผู้มีความรู้จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปสอนเด็ก มันเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมานานแล้ว”

ในยุคหนึ่งพี่หนูเคยคิดว่า หากตัวเองเป็นอะไรขึ้นมา จะมีคนที่มีความรู้ด้านการกู้ภัยและเอาตัวรอดมาช่วยเหลือเขาไหม แต่ในปัจจุบัน โลกพัฒนาและคนพัฒนา เขาเชื่อว่าตนเองได้พบคนเหล่านั้นแล้ว แต่ถึงอย่างไรการเผยแพร่ความรู้ให้ทั่วถึงก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นเป้าหมายที่เขาอยากทำต่อไป

“การเป็นกู้ภัยมา 20 กว่าปี ทำให้เราได้คิดมากขึ้น วิเคราะห์เยอะขึ้น รอบคอบ เพราะเราไปช่วยเหลือชีวิตคนอื่น ถ้าพลาดก็ไม่เหลืออะไรเลย พลาดไม่ได้เด็ดขาด เพราะชีวิตทุกคนมีคุณค่า จากนี้ผมก็ยังทำงานกู้ภัยต่อไปจนถึงวันที่ทำไม่ไหว”

หากใครสนใจงานด้านกู้ภัย ต้องการความช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความรู้ หรือฝึกอบรมขั้นพื้นฐานตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไปจนฝึกปฏิบัติในสถานการณ์ตึกถล่ม ฝึก Rope Rescue หรือเทคนิคพิเศษอื่น ๆ สามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก FROG Team Thailand 

จากสองมือที่ช่วยคนติดในอาคารถล่ม สู่การก่อตั้ง FROG Team Thailand อาสากู้ภัยที่รวมพลทุกอาชีพเพื่อช่วยชีวิตทุกคน

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์