ทุกครั้งที่ดู มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) ราชินีแห่งการจัดบ้าน จับนู่น ย้ายนั่น เรียงนี่ เธอเหมือนกำลังใช้ศิลปะการร่ายรำสักอย่าง เปลี่ยนบ้านที่ไม่เป็นมิตรต่อสายตาให้มีระเบียบเหนือความคาดหมาย
คนที่รักการจัดบ้าน ไม่ได้มีแค่ มาริเอะ คนโดะ คนเดียวแน่นอน แต่คนที่จัดบ้านจนทำเป็นธุรกิจในไทยนี่สิ ยังไม่เยอะมากนัก ทั้งที่มีหลายคนอยากขอความช่วยเหลือให้มาจัดระเบียบบ้านของตนให้น่ามอง น่าอยู่ และมีสไตล์มากขึ้น
นักจัดบ้านเจ้าหนึ่งที่เราอยากแนะนำให้รู้จักคือ ‘JudgeBaan (จั๊ดบ้าน)’ บริการจัดระเบียบบ้านที่เขียนคำบรรยายสรรพคุณว่า
“จั๊ดบ้านคือบริการจัดระเบียบบ้านแบบครบวงจร ที่เราใช้คำว่าครบวงจร เพราะเราตั้งใจไปวางระบบในบ้านให้ลูกค้ารักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านได้อย่างยั่งยืน เพราะบ้านที่ดีควรเป็นบ้านที่เราควรจะขี้เกียจได้มากที่สุด หรือถ้าเราป่วยไปเป็นอาทิตย์ มันจะต้องยังดูเรียบร้อยอยู่”
จีน่า-จินาภรณ์ พุ่มศิริ แห่ง JudgeBaan บอกเรา ข้าง ๆ เธอ คือ โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์ หรือ โบ๊ท The Yers แฟนหนุ่มที่เป็นทั้งมือเบสของวงดนตรีดัง และมือขวาในการจัดระเบียบบ้าน ถ้าเธอเป็นนักจัดระเบียบบ้านตัวแม่ เขาก็เป็นฝ่ายช่างตัวพ่อที่คอยร่ายรำไปพร้อมกัน

หากธุรกิจจัดระเบียบบ้านที่หลายคนคิด หมายถึงการทำให้บ้านดูเป็นระเบียบขึ้นเฉย ๆ JudgeBaan ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะพวกเขาจะจัดใหม่ให้เป็นสไตล์ที่ลูกค้าต้องการ และให้ความสำคัญกับการออกแบบตามสไตล์เด็กศิลปกรรมศาสตร์อย่างจีน่า และศิลปินวงอินดี้อย่างโบ๊ท
ทั้งหลักบุคลิกภาพ (Enneagram) หลักวิเคราะห์มนุษย์ (Human Design) ศาสตร์เรื่องสีเฉพาะบุคคล (Personal Color) หรือความรู้ด้านฮวงจุ้ย ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งที่พวกเขานำมาใช้จัดระเบียบบ้าน เพื่อให้ลูกค้าได้อยู่บ้านที่บ่งบอกตัวตนมากที่สุด ที่เจ๋งไปกว่านั้น การจัดบ้านของทั้งคู่ยังเคลมไว้เลยว่า เจ้าของบ้านจะต้อง ‘หาของเจอ’ และ ‘เก็บของคืนถูกที่’ จากการวางระบบบ้านใหม่อย่างเฉียบคมและตรงจุด
ธุรกิจจัดระเบียบบ้านของคู่รักนักจัดระเบียบจะเป็นอย่างไร จีน่า-โบ๊ท เปิดประตูให้เราเข้าไปพูดคุยในบ้านของพวกเขาที่ใช้สเปซคุ้มค่าและมองเพลินมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมี ‘ซีโร่’ แมวประจำบ้าน รอต้อนรับอยู่แล้ว
ความสามารถพิเศษที่เพิ่งรู้ว่าพิเศษ : จัดบ้าน
“ตอนเด็ก ๆ เวลาคนถามว่ามีความสามารถพิเศษอะไร หลายคนจะตอบว่าวาดรูป ร้องเพลง แต่เราไม่เคยนึกว่าไอ้ความชอบจัดระเบียบจะเป็นความสามารถพิเศษหรือหาเลี้ยงชีพได้จริง ๆ”
จีน่ากำลังนั่งอยู่ในบ้านที่เธอจัดเองกับมือ บ้านหลังนี้ซื้อมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การมีบ้านแยกออกมาจากครอบครัว ทำให้เธอได้ทดลองและค้นหาความเป็นตัวเองผ่านพื้นที่แห่งนี้
“บ้านหลังนี้เป็นเหมือนพื้นที่ของเราจริง ๆ ไม่ใช่บ้านของพ่อแม่ ไม่ใช่คอนโดที่เช่าอยู่ เราซื้อด้วยความรู้สึกว่า นี่คือพื้นที่อิสระที่จะทดลองอะไรบางอย่าง แล้วเราก็ทำผิดพลาดมาเยอะมากกับบ้านหลังนี้” เรื่องพลาด ๆ ที่จีน่าเล่าให้ฟังมีตั้งแต่การเจาะนู่น เติมนั่นผิดพลาด เมื่อก่อนไม่ชอบพื้นครัวบ้านตัวเอง แต่ไม่มีงบทำใหม่ เธอก็ซื้อสีมาทาเอง สุดท้ายพังจนต้องเอากระเบื้องมาปูใหม่ แต่ก็ถูกใจเธอกับโบ๊ทได้ในที่สุด

“เราไม่ใช่เศรษฐีที่อะไรไม่ถูกใจก็โปะเงินสร้างขึ้นมาใหม่ได้เลย (หัวเราะ) ฉะนั้น การแก้ปัญหาในบ้านจึงเป็นการแก้ปัญหากันเอง ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ เรียนรู้ ตอนนั้นกรุ๊ปงานบ้านที่รักยังไม่มีเลยนะ ไม่มี Reference อะไรให้ดูได้เลย ต้องศึกษาเอง สมัยยังเป็นแอร์โฮสเตสชอบซื้อของและหนังสือแต่งบ้านจากญี่ปุ่นกลับมาตลอด” ว่าแล้วจีน่าก็ชี้ให้ดูหนังสือแต่งบ้านจำนวนมากที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบบนชั้นหนังสือให้ดู
“บ้านหลังนี้มันเปลี่ยนไปหลายเวอร์ชันมากครับ ถ้ามาบ้านเราเรื่อย ๆ จะเห็นว่าเปลี่ยนตลอดเวลา ผมเข้าบ้านมาที บ้านอาจจะเปลี่ยนไปอีกแล้ว ไม่อยู่กับที่” โบ๊ทเอ่ยปากขึ้น การเปลี่ยนบ้านมาหลายเวอร์ชันของจีน่า ทำให้เขาได้ทักษะการคัดของเพิ่มขึ้น เหมือนกับว่าจะซื้อของเข้าบ้านแต่ละที ต้องคิดหน้าคิดหลังเมื่อพื้นที่บ้านมีจำกัด แต่ก็ทำให้บ้านของทั้งคู่มีแต่ของที่ชอบจริง ๆ และของชิ้นไหนที่ไม่ได้ใช้ ทั้งคู่จะนำไปบริจาคอยู่ตลอด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บ้านเวอร์ชันปัจจุบันของจีน่า-โบ๊ท เป็นการจัดบ้านสไตล์ฝรั่งเศส อบอุ่นและเงียบสงบ ทั้งการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์คุมโทนสีขาว-น้ำตาล มีเตาผิงโชว์เพิ่มความคลาสสิก ข้างบันไดมีกีตาร์วางไว้ มีงานศิลปะ เรียงรายไปด้วยของที่คนและแมวชอบ ตั้งแต่เปิดประตูเข้ามาเราเห็นของเล่นแมว ที่นอนแมว หรือของใช้ของแมว วางอยู่รอบ ๆ เป็นสัดส่วน เพื่อคนสำคัญของบ้านตัวนี้โดยเฉพาะ แต่ก่อนมาจบที่สไตล์นี้ บ้านก็เปลี่ยนหน้าตามาอยู่บ่อย ๆ

“แรก ๆ เราจัดแบบมีดอกไม้แห้งเต็มบ้านเลย เพราะมันเป็นตัวเรามากที่สุด มีบ้านทั้งที เราก็อยากเป็นตัวเองให้เต็มที่ แต่สิ่งที่ทำให้เรียนรู้ คือเราต้องชั่งน้ำหนักความชอบและเผื่อให้กับสมาชิกใหม่ที่สำคัญมาก ๆ เหมือนกัน นั่นก็คือตอนเรารับแมวเข้ามา แมวเขาจะคุ้ยดิน กัดนู่นนี่นั่น โจทย์ของเราเลยต้องเพิ่มพื้นที่ให้แมว แต่ทำยังไงให้ยังดูสวยและเป็นสิ่งที่ชอบอยู่ ก็ได้เรียนรู้จนมาเป็นเวอร์ชันนี้
“เราพยายามไม่ให้ดูหญิงเกินไปหรือแมนเกินไป เรามีของที่เราชอบ และมีของที่โบ๊ทชอบอยู่รวมกัน คนเข้ามาจะรู้เลยว่าบ้านนี้มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และแมวอยู่แน่ ๆ และคาแรกเตอร์ของบ้านนี้เราตั้งใจให้เป็นพื้นที่สงบสำหรับการพักผ่อน อาจไม่ได้เหมาะกับการปาร์ตี้อะไรทำนองนั้น”

จีน่าพูดตาเป็นประกาย และอย่างที่เธอบอกตอนต้นว่าเธอไม่คาดคิดมาก่อนว่าการชอบจัดบ้านจะถือเป็นความสามารถพิเศษหรือทำเป็นอาชีพได้ เธอเพิ่งมาสะระตะได้ไม่นานจากหน้าตาของบ้านที่เปลี่ยนไปบ่อย ๆ และจากนิสัยส่วนตัวที่เธอมองข้ามมาตลอดว่า นี่แหละ ความเจ๋งในตัวเธอที่ไม่ใช่ทุกคนจะมี
“เราเป็นลูกคนเดียว เวลาอยู่บ้านจะชอบหยิบของในบ้านมาเรียง ทำอยู่อย่างนั้นเป็นวัน ๆ เลย หรือตอนสมัยเป็นแอร์โฮสเตส เราเป็นคนชอบการแพ็กกระเป๋ามาก หยิบเข้า หยิบออก เป็นสิ่งที่เราทำได้ทั้งวัน ค่อนข้างเพลิน เลยรู้สึกว่ามันอาจเป็นแพสชันที่เราไม่เคยมองว่าเจ๋งหรือเท่ด้วยซ้ำ เราเคยรู้สึกว่าความสามารถพิเศษต้องเป็นสิ่งที่ยากกว่านี้หรือเปล่า (หัวเราะ)” จีน่าเล่าให้ฟังก่อนโบ๊ทจะเสริมว่า
“แอร์โฮสเตสมีจุดเด่นหลายแบบ บางคนคุยเก่ง บางคนแข็งแรง แต่คนคนนี้เป็นฝ่ายจัดแจงในสโตร์ ต้องเป๊ะ ต้องเนี้ยบ เวลาจะไปทำงานแต่ละที เขาจะนั่งทำกระดาษผู้โดยสาร เขียนวางแผนก่อนตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมว้าวมาก”
จีน่าขำออกมาเวลาที่คนรักสะท้อนตัวตนของเธอออกมาเป็นคำพูด เธออธิบายให้เราฟังว่า “ ในไฟลต์ เช่น ยุโรป มันจะเป็นไฟลต์ 10 – 11 ชั่วโมง เวลาทำงานเราเสิร์ฟแป๊บเดียวแหละ แล้วจะมีช่วงที่ต้องอยู่เวร รอเฝ้าผู้โดยสาร 4 – 5 ชั่วโมง ระหว่างนั้นเราหยิบทุกอย่างในครัวบนเครื่องบิน และนั่งจัดไปเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่เราทำโดยอัตโนมัติ ยิ่งช่วงโควิด อยู่บ้าน บ้านเปลี่ยนทุกวัน จัดบ้านทุกวัน ดูรายการจัดบ้านทุกวัน มันก็เป็นอะไรที่อัตโนมัติของเราเหมือนกัน”
อาชีพแอร์โฮสเตสเป็นอาชีพที่จีน่าทำมายาวนานกว่า 10 ปี ก่อนจะเลิกทำในช่วงโควิด-19 ที่ทุกคนหยุดบิน เธอเริ่มมองหาเส้นทางอื่น ๆ มากมาย ทั้งเปิดเพจแมวของตัวเองในชื่อ ‘เมาแมว’ ไปเรียนเขียนเพิ่ม ไปลองทำ Digital Marketing ไปทำงานร้านกาแฟ ลองตัดคลิป ถ่ายรูป ทำกราฟิก ลงเพจท่องเที่ยวของตัวเอง จนมาจบที่ JudgeBaan อาชีพที่มาจากแพสชันจริง ๆ ของเธอ

จุดที่จีน่ามองเห็นความสามารถพิเศษในการจัดบ้านจนมาเปิดธุรกิจกับโบ๊ทซึ่งรับหน้าที่ช่างคู่ใจก็แสนเรียบง่าย เพียงแค่เหล่าเพื่อน ๆ แวะเวียนมาบ้านเป็นระยะ และออกปากชมเรื่องการจัดบ้านแสนเนี้ยบ จนออกปากชวนทั้งคู่ไปจัดบ้านให้ พอผลลัพธ์ออกมาดี ก็เริ่มบอกต่อกันปากต่อปาก ไปถึงเพื่อนอีกคน เพื่อนอีกคนก็บอกต่อเพื่อนที่ทำงานของเขา ทำให้ JudgeBaan เป็นที่รู้จัก และจีน่า-โบ๊ท ก็ทำมันอย่างจริงจังในที่สุด
“เป็นการยากที่เราจะมองเห็นความสามารถของตัวเอง จนกว่าคนข้าง ๆ จะมาบอก หรือเชื่อใจให้เราแสดงออกมา เราจะไม่เห็นค่า เพราะไม่รู้ว่ามันพิเศษ การทำอะไรแบบนี้เหมือนการไปสแกนดูบ้านคนอื่นทีหนึ่ง และเราคิดออกได้เลยว่าเดี๋ยวจะวางอันนี้ตรงไหน วางอันนั้นอย่างไร มันเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา ที่คิดว่าคนอื่นเขาคงทำได้เหมือนกัน แต่พอได้มาทำจริง ๆ และทุกคนพึงพอใจในสิ่งที่เราทำมาก มันทำให้จีน่ารู้ว่า อ๋อ นี่เป็นความสามารถพิเศษของจีน่านี่หว่า”
ให้จั๊ดบ้านช่วยวางระบบ ไม่มีคำว่าจั๊ดง่าว
จีน่า และ โบ๊ท ใช้เวลาครึ่งปีในการตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจดีไหม เพราะนี่ถือเป็นการออกจากคอมฟอร์ตโซนของจีน่า ซึ่งเคยเป็นทั้งแอร์โฮสเตสและเป็นสาวออฟฟิศที่มีเงินเดือนประจำมาก่อน เธอยอมรับว่าค่อนข้างชินกับลูปชีวิตแบบนั้นไปแล้ว และเผลอใช้ชีวิตตอบโจทย์สังคมมานาน จนลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าตัวตนจริง ๆ เป็นอย่างไร
“ถ้าเราเผยตัวตนนี้ออกมาแล้วแป้กล่ะ มันมีความกลัวเยอะ” จีน่าว่า แต่สุดท้ายเธอก็ได้กำลังใจจากโบ๊ทและคนรอบข้างที่ทำให้เธอมั่นใจ ถึงแป้กก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้ลองทำ ซึ่งเธอได้ใช้ความรู้ด้าน Digital Marketing สร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา โดยวางทาร์เก็ตหลักเป็นคนเจนฯ วาย รุ่นราวคราวเดียวกัน หรือเจนฯ เด็กกว่าที่อาจไม่ได้หวงของมาก แค่ต้องการคนช่วยจัดการบ้านให้ดีขึ้น ที่สำคัญ เวลาทำความสะอาดเองหรือให้แม่บ้านมาทำ จะ ‘ต้อง’ สื่อสารได้ว่า ของสิ่งนั้นที่วางไว้ตรงนี้ ทำความสะอาดเสร็จต้องเก็บคืนที่เดิมอย่างถูกต้อง นี่คือการสร้างระบบที่ทั้งสองวางไว้ และเป็นหัวใจในการทำธุรกิจ

JudgeBaan หรือ จั๊ดบ้าน ที่มาของชื่อธุรกิจก็สนุกจนเราว้าว เพราะมาจาก ‘จั๊ดง่าว’ คำด่าภาษาเหนือ! จีน่าเล่าว่า “ชื่อนี้มาจากตอนที่เพื่อนขอให้เราช่วยไปทำครั้งแรก เราจัดเต็มมาก ทำพรีเซนต์ไปเสนอเขา แล้วก็คิดว่าใช้ชื่ออะไรดีที่จะเล่นกับคำว่าจัดบ้านได้ บังเอิญว่าแม่บ้านของบ้านเราเขาชอบอยู่เชียงใหม่ เราก็นึกถึงคำด่าภาษาเหนือคำหนึ่ง (หัวเราะ) เป็นคำด่าที่ออกเสียงมัน ๆ ดี แต่ไม่ได้หยาบคายมาก ก็คือ จั๊ดง่าว หรือโง่มาก ๆ เราอยากเอาคำว่าจั๊ดตรงนี้มาใช้ เลยเอามาใช้เป็นจั๊ดบ้าน ก็เลือกระหว่าง Judge ตัดสิน หรือ Just แค่บ้าน ซึ่งตัดสินดูตรงกับที่เราต้องการสื่อ”
ที่สำคัญ ความลับที่ไม่เคยบอกใครมาก่อน คือทั้งคู่คำนึงถึงความคล่องปากและติดหูกลุ่มทาร์เก็ต โบ๊ทถึงต้อง “เทสต์เสียงก่อนเลยครับ จริง ๆ อาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งของผมคือนักลงเสียงโฆษณา เราใช้เสียงบ่อย จึงควรเอามาอ่านเทสต์ก่อน จัดบ้านแบบไหนที่ออกเสียงแล้วเข้าปาก ซึ่งจั๊ดบ้านโอเคเลย นี่ความลับนะเนี่ย (หัวเราะ)”
JudgeBaan จึงเป็นมือที่เข้ามาช่วยลูกค้าตัดสิน (ใจ) ว่าจะจัดบ้านให้เป็นระเบียบแบบไหน เพราะทั้งคู่เข้าใจดีว่าโลกหลังโควิด-19 ทุกคนกลับมาทำงานหนักและค่อนข้างยุ่ง บางทีจึงต้องการคนมาช่วยเหลืออีกแรง
“เวลาเราเข้าไปจัดบ้าน ทุกครั้งต้องเข้าไปวัดพื้นที่ ดูภาพรวม ถ้าเขาให้จัดทั้งหลัง เราก็ต้องแบ่งงาน พรีเซนต์ส่งเขาว่าเราจะเข้าไปทำงานกี่ครั้ง ครั้งหนึ่งจัดห้องไหนบ้าง ตู้ไหนควรขยับ ตรงนี้ควรเพิ่มชั้นไหม ทุกอย่างเราจะถามลูกค้าก่อนว่าคุณเต็มใจแค่ไหนกับการเจาะผนัง เพิ่ม หรือลดอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเอาของมาดีไซน์ตามงบที่ลูกค้าสบายใจ อย่างถ้าเขาเลี้ยงแมว จะรู้เลยว่าต้องใช้พื้นที่ประมาณไหน เพราะเราก็เลี้ยงแมว เราก็จะแบ่งพื้นที่บ้านให้เขา สำหรับอาหารแมว ทรายแมวไว้ด้วย

“เราพยายามแบ่งโซนบ้านว่าห้องนี้มีหน้าที่ทำอะไร และควรเก็บอะไรบ้าง เราตั้งใจวางระบบที่แม้แต่เด็กก็ต้องเอาไปคืนได้ ต้องง่ายระดับนั้นเลย ไม่งั้นคนจะขี้เกียจทำเพราะยากเกิน อย่างที่บอกว่าบ้านที่ดีคือบ้านที่ควรจะขี้เกียจได้มากที่สุดแต่ก็ยังดูดี” เราพยักหน้าตามจีน่า
“มันแก้พฤติกรรมของลูกค้าให้ดีขึ้นได้ด้วย ถ้าเราไม่รู้ว่าของอะไรอยู่โซนไหน คนที่ซื้อมาก็จะวางสุ่มไปเรื่อย ๆ พอไปจัด เขาจะรู้ว่ามีโซนนี้ เป็นที่วางอันนี้ อันนั้น มันดีขึ้นเยอะมากในแง่พฤติกรรม แต่ก็ท้าทายตรงที่เราจะไม่บังคับให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมไปเลย ว่าคุณควรวางกุญแจตรงนี้แทนบริเวณเดิมที่คุณเคยวางนะ เราไม่ทำแบบนั้น เราอยากให้เขาวางไว้ที่เดิม ใช้ชีวิตประมาณไหนก็เอาให้คล้ายเดิมที่สุด แต่เราจะจัดโซนนั้นให้ดีที่สุดสำหรับการวางกุญแจ ทำให้คุณเห็นกุญแจชัดขึ้นโดยที่ไม่รกรุงรัง” เราพยักหน้าตามโบ๊ท
ระบบที่ช่วยให้คนหาของเจอ เก็บของถูกคืออะไร – เราถามคู่รักทันทีด้วยความอยากรู้
“ตอนสมัยเป็นแอร์โฮสเตส พื้นที่การทำงานบนเครื่องบิน เราเจอเพื่อนร่วมงานใหม่ทุกครั้ง ที่เก็บของเปลี่ยนทุกครั้ง ทำไมลูกเรือทุกคนถึงรู้ว่าจะต้องไปหยิบของชิ้นนี้ตรงไหน สิ่งหนึ่งที่เขาทำคือแบ่งพื้นที่ให้ของประเภทหนึ่งอย่างชัดเจนและแปะฉลากเอาไว้เท่านั้นเอง บางครั้งก็ใช้สีในการช่วยแยกว่านี่คือของประเภทอะไร เรารู้สึกว่าการมีระบบแบบนี้จะทำให้จำได้ว่าจะหยิบถาดนี้ให้ผู้โดยสาร ต้องไปหยิบตู้นี้ ไปเอาแก้วต้องไปหยิบตู้นี้ เหมือนกับการจัดบ้านเลยค่ะ


“ไม่ว่าพี่แม่บ้านเข้ามาหรือพ่อบ้านที่ไม่รู้ของอยู่ตรงไหน เขาเปิดบ้านหรือคอนโดมาต้องเห็นว่าของอยู่ตรงนี้ ตรงนั้น เพราะจริง ๆ คนที่เหนื่อยที่สุดของบ้านมักเป็นผู้หญิง ทยอยเก็บของคืนที่ หรือคอยตอบคำถามคนในบ้านว่าของตรงนี้อยู่ตรงไหน เราว่าถ้าการวางระบบแบบนี้ช่วยลดภาระเขาได้ ก็น่าจะทำให้การอยู่บ้านผ่อนคลายขึ้น ไม่อยากให้อยู่บ้านแล้วเครียดกว่าเดิม
“มีอยู่หลังหนึ่ง เราประทับใจมาก ลูกค้าเป็นผู้หญิงคนเดียว อยู่บ้านเดี่ยว ญาติหรือพ่อแม่จากต่างจังหวัดแวะเวียนมาอยู่บ้าง ตอนเราไปถึงเขามีตู้เสื้อผ้า 3 ห้อง เราก็เลยขอดีไซน์โดยการเอาเสื้อผ้าทุกชิ้นมาใส่ไว้ในห้องเดียว แล้วอีกตู้หนึ่งขอใส่พวกเครื่องนอนทั้งหมด เพื่อให้เวลาคนมาค้างที่บ้านจะได้แบ่งชัดไปเลยว่านี่คือตู้ของคนที่มาพัก เราจัดไว้ให้เขาพร้อมติดป้ายบอกชัดเจนว่า ตรงนี้คือเครื่องนอน ตรงนี้คือห้องเสื้อผ้าทั้งหมดของเจ้าของบ้าน และทำราวใหม่เพิ่มอีกราวสำหรับญาติโดยเฉพาะ จะได้แขวนผ้าเป็นสัดส่วน
“ปัญหาของบ้านนี้คือเสื้อผ้าเขาจะปนกันไปหมด พอเวลาซักที เจ้าของบ้านจะงานเยอะและเหนื่อยมาก พอเราเข้าไปวางระบบให้ ล่าสุดเขาเล่าให้ฟังว่า พ่อแม่มาพัก ก่อนกลับเก็บเครื่องนอนทุกอย่างเข้าคืนที่ถูกหมดเลย เรียบร้อยจนลูกค้าทักมาขอบคุณ นี่แหละค่ะประโยชน์ของการสร้างสัญลักษณ์บางอย่าง ประทับใจมาก”
จีน่าเสริมต่อว่าการใช้จุดนำสายตาก็มีผลในการออกแบบพฤติกรรมของลูกค้า เช่น สมมติวางของไว้บนโต๊ะลอย ๆ เราอาจจะต้องควานหาของกว่าปกติ แต่แค่เราวางถาดไว้ให้เขา แล้วโยนทุกอย่างลงถาด หนึ่งเลย พื้นที่ของโต๊ะจะมีขึ้นมาทันที สอง นี่คือจุดนำสายตาที่ทำให้เขามองเห็นของชัดขึ้น

มีงานไหนยาก ๆ ไหม – เราถามจีน่าต่อ เธอบอกว่างานเอกสารหินสุด เพราะ “บ้านที่มีเอกสารเยอะ ๆ เราอาจต้องขอเข้าไปจัดเพิ่มอีกวันเต็ม ๆ เพราะถึงจะเป็นกระดาษแบน ๆ แต่ใช้เวลาเยอะ ถ้าไม่วางระบบให้ดีจะไม่เกิดประโยชน์ เช่น คนนี้ทำงานฟรีแลนซ์ เขาควรมีแฟ้มที่เก็บรายได้ทั้งหมดสำหรับไปยื่นภาษี หรือช่องเก็บจดหมายโดยเฉพาะ ไม่งั้นทุกอย่างจะกองไว้ที่เดียว มารื้อทีเหนื่อยค่ะ ฉะนั้น การทำช่องที่อยู่ใกล้ ๆ เขาและให้เขาแค่หย่อนลงไป ชีวิตจะง่ายขึ้น”
“หรือบ้านหนึ่งชอบกินขนมมาก เราก็ช่วยจัดการด้วยการเพิ่มรถเข็นขนมให้เขา จอดได้ทุกที่ เพื่อเสิร์ฟไลฟ์สไตล์เขาโดยตรง บางครั้งจัดไปจัดมาจะเจอของที่เขาไม่อยากหาด้วยนะ บางบ้านมียาเยอะมาก หมดอายุเยอะมาก เขาไม่มาดูแน่ ๆ เราต้องจัดออกให้จนหายไปครึ่งหนึ่งเลย ไม่งั้นอันตราย การจัดบ้านจึงเป็นอะไรที่ต้องทำเรื่อย ๆ เหมือนกัน” โบ๊ทเสริม

นักจัดบ้าน ผู้หาตัวตนใต้ความรกของเจ้าของบ้านเจอ
แพ็กเกจของ JudgeBaan ที่มีให้ลูกค้าเลือกใช้บริการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Minimal เน้นให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า เน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย เปิดห้องมากี่ทีจะรู้สึกสบายตา เพราะเน้นการใช้สีขาวเป็นหลัก ทั้งกล่องจัดระเบียบหรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งถือเป็นแพ็กเกจที่ทำราคาได้คุ้มค่าที่สุด จีน่าบอกว่าบางครั้งของที่บ้านไม่ได้สวยมาก แต่หากซ่อนไว้ในกล่องสีขาวก็ดูดีขึ้นมาได้
2. Classic ข้อดีของกลุ่มนี้คือมองเห็นของชัดเจน เนื่องจากจีน่า-โบ๊ทเน้นใช้วัสดุที่เป็นไม้ อะคริลิกใส หรือโหลแก้วที่มีราคาสูงกว่าแพ็กเกจ Minimal ซึ่งของเหล่านี้จะช่วยคุมโทนบ้านให้ดูสวยคลาสสิก และเป็นจุดนำสายตาให้เจ้าของบ้านเห็นของได้ง่าย
3. Expressionism แพ็กเกจที่แสดงคาแรกเตอร์ของเจ้าของบ้านชัดเจน แม้แต่พื้นที่ที่แขกจะไม่เห็น แต่ถ้าเจ้าของบ้านเห็น ต้องมีความเป็นตัวเขาอยู่ในนั้น เสมือนเห็นความเป็นตัวเองทุกพื้นที่ในบ้านเลยก็ว่าได้
“บางคนชอบสีดำ ชอบเหล็ก เขาอยากได้ตะแกรงเหล็กสีดำแปะผนังเพื่อแขวนกระเป๋าของเขา เพราะเขาไปเห็นจากคอนโดญี่ปุ่นที่เป็นสไตล์นิปปอนบอย การจะเอาตะแกรงเหล็กมาแปะผนังคงไม่ใช่ว่าทุกคนจะโอเคแน่นอน หนึ่ง มันดูเละได้ ไม่สบายตาด้วย แต่ถ้าลูกค้าชอบ เราก็จะสนุก ผลลัพธ์ก็ออกมาดีมาก ทำคลิปลงใน TikTok คนดูเยอะมาก แล้วเข้ามาถามกันใหญ่เลยว่าตะแกรงนี้ทำยังไง” จีน่าบอกถึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีแพ็กเกจ Expressionism
“ยิ่งคาแรกเตอร์เขาชัด ความต้องการชัด เรายิ่งจัดบ้านให้ได้ตรงจุด เขาชอบความนิปปอนบอย เขาเป็นนักดนตรีเหมือนผม โซนดนตรี เราเลยช่วยกันจัดจนออกมาดี” โบ๊ทเสริมและเล่าต่อว่า นอกจากงานฝ่ายช่างที่รับหน้าที่ประกอบเฟอร์นิเจอร์ ใช้แรงยกของ หรือเจาะชั้นวาง เจาะผนังต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนมาจากพ่อตาหรือพ่อของจีน่าซึ่งเป็นช่าง เขายังรับหน้าที่ ‘นักคุย’ ที่ Break the Ice ให้ลูกค้าเปิดใจกล้าบอกความต้องการ เพื่อให้รู้สไตล์และตัวตนของเจ้าของบ้านที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความรกเหล่านั้น

“เวลาเราถามลูกค้าว่าชอบสไตล์ไหน ลูกค้าบางคนจะชอบตอบให้เราสบายใจ หรือบอกอะไรที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสวย ไม่ได้ตอบที่ตัวเองชอบจริง ๆ โบ๊ทเลยจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นคนพูดคุยเก่ง ให้ลุคสบาย ๆ จนลูกค้าเปิดใจค่อยๆ บอกเรา” จีน่าเล่าถึงความเก่งกาจของคุณแฟน
โบ๊ทยกตัวอย่าง “เราไปบ้านหนึ่ง ของบางอย่างของเขา เช่น อุปกรณ์กีฬาหรือฟิกเกอร์ มันเด้งเข้าตาผมมาเลย ผมมักจะถามว่า เห็นบ้านคุณมีสิ่งนี้เยอะ ชอบอันนี้เหรอ พอจีน่ารู้ เขาจะได้ข้อมูลว่าเจ้าของบ้านชอบสิ่งนั้น และนำไปจัดโซนให้ลูกค้าเห็น เพราะบางอย่างเจ้าของอาจลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าฉันชอบและฉันมีสิ่งนั้นเยอะมาก”
ทั้งคู่บอกว่าบางทีเมื่อบ้านรกมาก ๆ จะทำให้บดบังของเจ๋ง ๆ ที่เจ้าของบ้านมีอยู่ การมีอยู่ของ JudgeBaan จะช่วยให้เขาได้เจอพื้นที่ที่ไม่ต้องปิดสิ่งเหล่านั้นไว้ ซึ่งการที่โบ๊ทคอยถามถึงของต่าง ๆ รอบบ้านจนเขาเล่าสตอรี่ของสิ่งนั้นออกมา ทำให้ทั้งคู่รู้เลยว่าของที่ซ่อนอยู่คือตัวตนของพวกเขาจริง ๆ

“บางทีเคยไปจัดบ้านที่เขาแต่งบ้านทึมมาก ดูขรึม ๆ โทนสีดำ พอเราได้คุยกับเขา เขาดูเป็นคนเฮฮา และสดใสมาก ๆ จนเขาเผยออกมาว่าเขาชอบสี ๆ ชอบสีฉูดฉาดด้วยซ้ำ เราก็เลยค่อย ๆ ปรับโทนห้อง โดยการจัดของ เลือกของที่สดใสขึ้น ซึ่งเขาก็แฮปปี้” จีน่าบอกว่าจริง ๆ ลูกค้ารายนี้มาเผยทีหลังว่าเขาชอบของแนวจีน ๆ ด้วยซ้ำ
“ผมเข้าไปเพิ่มไฟสี ๆ ให้เขา กลายเป็นว่าเขาเปลี่ยนไฟทุกหลอดไปตามที่ผมไกด์ไว้ให้ จะแดง เขียว ไว้เปิดปาร์ตี้ตอนไหนก็ได้ กลายเป็นว่าพาร์ตของเรื่องไฟเป็นสิ่งที่ผมไปศึกษาเพิ่ม เพราะลองทำให้ลูกค้าแล้วชอบเอง จนให้คำแนะนำบ้านอื่นที่สนใจไฟสมาร์ตไลต์ ไฟซ่อน หรือไฟที่ควบคุมผ่านมือถือ หลังจากงานนั้นผมก็ซื้อของทุกอย่างกลับมาเหมือนที่ซื้อให้ลูกค้าเป๊ะ ป้ายยาให้ตัวเองด้วยไปเลย” โบ๊ทเล่าไปหัวเราะไป
ความประทับใจสูงสุดของการจัดบ้านที่จีน่า-โบ๊ท ได้รับ คือจังหวะที่ ค่อย ๆ จัดแล้ว รื้อของลูกค้าออกมาทั้งหมด บางทีบอกได้เลยว่าลูกค้าคนนี้เป็นคนแบบไหน และทุกครั้งที่จัดเสร็จ เมื่อเห็นรีแอ็กของลูกค้าที่ว้าวกับสไตล์ที่ตัวเองตามหา ทั้งคู่รู้สึกฟินมาก
นอกจากการพบของแรร์ ๆ ของลูกค้าแล้วดึงสไตล์ที่แท้จริงของลูกค้าออกมาได้แล้ว จีน่ายังใช้ความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ เช่น Enneagram, Human Design, Personal Color และฮวงจุ้ย มาประกอบการจัดบ้าน เพื่อให้เข้ากับบุคลิก และการใช้งานของลูกค้าได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“จีน่ามีโรคประจำตัว คือช่วงหนึ่งไทรอยด์เป็นพิษหนัก วัน ๆ ทำอะไรไม่ได้ นั่งดูทีวีอย่างเดียว เราเลยเปิดพวกศาสตร์พัฒนาตัวเอง เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ มีทั้ง MBTI, Enneagram, Human Design, อิคิไก, นาโงมิ และศาสตร์รูปร่าง แต่งตัว สีผิว ซึ่งจริง ๆ ตอนนั้นไม่เห็นอนาคตเหมือนกันนะว่าจะรู้ไปทำไม แต่พอมาจัดบ้าน มันทำให้เรามีเรื่องคุยกับลูกค้าเยอะขึ้นจริง ๆ
“เคยไปจัดห้องลูกค้าที่เป็น Enneagram ไทป์เดียวกัน คุยไปคุยมา เอ้า ไทป์เดียวกัน เรารู้เลยว่าเขาต้องการอะไร เขาเป็นคนทำงานที่บ้าน ชีวิต 80 เปอร์เซ็นต์อยู่หน้าคอม แต่ปรากฏว่าโต๊ะคอมเขาเมตรเดียว เล็กมาก เราก็แบบ เอ๊ะ จริง ๆ ตรงนี้ควรให้ค่ามากที่สุดด้วยซ้ำ เพราะอยู่ทั้งวัน คุยไปคุยมาเขาเป็น Enneagram ไทป์ 3 ซึ่งคือคนที่เน้นทำงานจนลืมตัวเอง เขาไม่ได้รีเควสต์ว่าอยากให้ทำอะไรตรงนั้นนะ แต่เขามีงบเยอะ เราเลยไปซื้อท็อปโต๊ะให้เขาใหม่ ใหญ่บึ้ม จัดโต๊ะคอมให้ใหม่เลย เพราะรู้ว่าเขาไม่รีเควสต์ แต่ลึก ๆ แล้วเขาต้องการ เพราะเขาจะนึกถึงตัวเองเป็นอันดับสุดท้าย สรุป เขาก็ชอบมันมากจริง ๆ
“เรื่อง Personal Color เป็นอีกเรื่องที่เราเรียนมา แล้วไปเจอลูกค้าที่เรียนมาเหมือนกัน คุยกันปุ๊บ แทนที่จะเรียงสีเสื้อผ้าเป็นสีสายรุ้ง เราเลยแบ่งสีตาม Personal Color ของเขาซึ่งเป็น Spring และ Autumn ให้ง่ายต่อการใช้งานของเขา Spring จะเป็นสีสดใส Autumn จะเป็นโทนฤดูใบไม้ร่วง เขียวเข้ม แดงเข้ม น้ำตาลเข้ม พอเราแบ่งสองฝั่งชัดเจน เวลาเขาเก็บเสื้อผ้าคืนที่ หัวเขาคิดออกทันทีว่าเก็บคืนตรงนี้ ไม่ใช่ตรงนั้น

“Human Design ก็เป็นศาสตร์ที่เราได้ใช้ ตอนนั้นบังเอิญมาก เจอลูกค้าที่มีห้องกว้าง ๆ ในบ้านแต่ไม่ได้ใช้งาน ตอนแรกเราจะเปลี่ยนห้องนั้นให้เป็นห้องนอน เพราะตอนนี้เขานอนในห้องที่มีเสื้อผ้าเต็มไปหมด มันจะกวนเขาไหม เพราะไม่ใช่ทุกคนนอนได้ ซึ่งเราไม่แน่ใจลูกค้าคนนี้ว่าเขาแฮปปี้ไหม เพราะตอนเราเข้าไป ห้องนอนเขาปิดหน้าต่างทึบ ไม่ให้แสงเข้าเลยแม้แต่นิดเดียว เราเริ่มสังเกตว่าลูกค้าน่าจะต้องการความมืดมากเลยนะ ถ้าห้องใหญ่ขนาดนั้นเราจะ Cover แสงครบไหม มีปัจจัยเรื่องความรบกวนเข้ามา สุดท้ายจีน่าเลยขอวันเดือนปีเกิดเขา ไปเช็ก Human Design โชคดีที่ลูกค้าเต็มใจให้
“ปรากฏว่าผลออกมา เขาเป็นคนชอบอยู่ถ้ำ แม้ว่าภายนอกจะเฟรนด์ลี่ แต่ตอนอยู่คนเดียวจะชอบอยู่ในห้องที่มีทางเข้าออกประตูเดียว และชอบเห็นหมดว่าของอยู่ตรงไหน เราก็ไปเช็กกับเขาอีกทีว่าใช่ไหม สรุป เขาคอนเฟิร์มว่าเป็นแบบนั้น เคยโดนแฟนเรียกด้วยซ้ำว่าเป็นมนุษย์ถ้ำ เราก็เลยให้เขานอนห้องเดิม แล้วทำห้องใหญ่เป็นห้องแต่งตัวอย่างเดียวดีกว่า บางครั้งเราก็เข้าไปเป็นผู้ช่วยเจ้าของบ้านในการตัดสินใจไปด้วยเลย

“อีกเรื่องที่เราคำนึงคือศาสตร์ฮวงจุ้ย การหมุนโต๊ะทำงานนิดหน่อย บางทีหันหลังให้ประตูก็ไม่ควรทำ พื้นฐานฮวงจุ้ยมันเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว การจัดบ้านให้เรียบร้อยเหมือนเป็นกฎแรกของฮวงจุ้ยเรื่องพลังงานไหลเวียน บ้านสะอาดและเรียบร้อยเป็นพื้นฐานของความสุข ใจเจ้าของบ้านจะเบาขึ้นนิดหนึ่ง เขาจะได้เอาพลังงานของเขาไปทำเรื่องอื่นที่มันเครียดจริง ๆ ไม่ต้องเครียดกับบ้านแล้ว”
เท่าที่จีน่าเล่าให้ฟัง เราชื่นชมในความละเอียดของเธอ เพราะจะมีบริการจัดระเบียบบ้านสักกี่เจ้าที่ถามละเอียดขนาดนี้ เพื่อให้ได้บ้านที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุดกันเชียว

อยากเป็นคนแบบไหน ดีไซน์มันด้วยการจัดบ้าน
บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่จีน่า โบ๊ท และแมวอีก 3 ตัว อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สมาชิกทุกคนได้ค้นหาความเป็นตัวเองผ่านการจัดบ้าน และแน่นอนว่า คู่รักคู่นี้ไม่ได้หาตัวตนของตัวเองเจออย่างเดียว พวกเขายังทำให้ลูกค้าทุกคนหาชิ้นส่วนความเป็นตัวเองที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ เจอ เพียงแค่ปัดฝุ่นบ้าน
เพราะสำหรับทั้งคู่ บ้านที่ดีจะช่วยดีไซน์ชีวิตในแบบที่ต้องการได้
“การจัดบ้านบอกได้เลยว่าคุณต้องการเป็นคนแบบไหนตอนนี้ หรือคุณมองอนาคตว่าอยากเป็นคนแบบไหน อยากเป็นคนมีวินัยกว่านี้ อยากเป็นคนสุขภาพจิตดี มีเวลานั่งสมาธิ คุณก็ต้องจัดบ้านให้สงบ มีมุมนั่งสมาธิได้ง่าย ๆ ที่ทำให้นั่งได้บ่อยขึ้น อยากสุขภาพดี ก็ต้องจัดบ้านในมีความรู้สึกกระตือรือร้น มีมุมออกกำลังกายชัดเจน อยากเป็นคนแบบไหน การจัดระเบียบบ้านบอกได้เลยนะว่าจะทำสิ่งนั้นสำเร็จหรือเปล่า” และตัวจีน่านี่แหละที่เป็นตัวอย่างดี ๆ ที่ทำให้เห็นว่าเธอทำสำเร็จ การจัดบ้านทำให้เธอได้เป็นเธอในทุกวันนี้
เช่นเดียวกับโบ๊ทที่ “อยู่บ้านมา 4 ปีกว่า ๆ เรามีห้องของตัวเองกันทั้งคู่ และมีห้องนอนรวมกันอีกห้อง ผมไม่ได้อยู่ห้องตัวเองสักที มีไว้แบบนั้น จนจีน่ามาช่วยทำ มาช่วยดีไซน์ จนตอนนี้ห้องนั้นกลายเป็นห้องที่ตัวผมเองชอบจริง ๆ ขึ้นมา ได้ใช้งานสักที”
“ชีวิตคนเรามันยากอยู่แล้ว ทุกคนมีบทบาทตอนก้าวออกจากบ้าน วันนี้เราออกไปทำงาน กลับมาเราอาจรับบทเป็นลูก รับบทเป็นพ่อแม่ แต่อย่างน้อยบ้านควรเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเราที่สุด มันสำคัญกับผู้คนมากเลยนะคะ การที่ได้พักผ่อนบ้าง มีพื้นที่ที่เป็นตัวเอง ได้ถอดหน้ากากทั้งหมดออก เพราะถ้าเรายังหาความสุขสงบในบ้านตัวเองไม่เจอ บางทีหาจากที่อื่นเท่าไหร่มันก็ไม่พอ
“เมื่อก่อนจีน่าเป็นคนชอบเที่ยว ต้องไปเที่ยวไกล ๆ ปีนเขา ไปในที่ที่สูงที่สุด อยากพิสูจน์อะไรบนโลกก็ไม่รู้ แต่ตอนนี้ บางทีเราแค่ต้องการพื้นที่ที่เป็นตัวเองจริง ๆ และเราเจอมันแล้วที่บ้าน” จีน่าแห่ง JudgeBaan บอกเรา
JudgeBaan เข้าใจทุกข้อจำกัดของชีวิตที่ทำให้ใครหลายคนไม่มีเวลาจัดบ้านของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะไม่มีเวลา งานหนักจนหมดแรง ไม่รู้จะจัดอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน หลังจากนี้ไม่ต้องคิดเยอะ ให้ JudgeBaan ช่วยจัดบ้านที่ตอบโจทย์ชีวิตคุณอีกแรง

