27 มิถุนายน 2024
622

ไม่นานมานี้เพิ่งมีการจัดกิจกรรม ‘พัก กะ Park’ ของ Healthy Space Alliance (HSA) ที่สวนเบญจสิริกันไป โดยทีม The Cloud มีโอกาสเข้าไปฟังเรื่องราวการพัฒนาเมืองจากกลุ่มคนหลายแบ็กกราวนด์ หนึ่งในประเด็นที่อาจจะไม่คุ้นหู แต่ฟังแล้วดูน่าสนใจในการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง คือเรื่อง Park Economy โดย ยศ-ยศพล บุญสม หนึ่งในผู้ก่อตั้ง we!park และ HSA เล่าให้ฟังว่ามันสำคัญเพราะการทำสวนขึ้นมาหนึ่งสวนไม่ได้มีผลแค่การเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ยังส่งผลในหลายมิติกับบริบทโดยรอบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทางตรง คือเศรษฐกิจรอบ ๆ สวนขยับตัว เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ก่อสร้าง การจ้างผลิต ไปจนถึงการดูแลตัดแต่งต้นไม้ นอกจากนั้นพื้นที่ที่เคยรกร้างได้รับการปรับปรุงอย่างสรรค์แล้ว จะเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและทำให้เศรษฐกิจในย่านดีขึ้นได้อีกด้วย

ส่วนผลทางอ้อมที่สำคัญ คือคุณภาพชีวิต เมื่อมีสวนเพิ่มขึ้น ก็ทำให้สภาพแวดล้อม สภาพอากาศดีขึ้น ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สีเขียว ได้เดินเล่นพักผ่อนออกกำลังกาย ทำให้คุณภาพชีวิตดี เมืองที่เคยมีแต่มลภาวะก็จะพัฒนากลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ในที่สุด

แม้ฟังดูเหมือนเป็นไปได้ยาก แต่จากการพูดคุยพบว่าภายในวงสนทนาของ พัก กะ Park มีคนที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงแล้ว

“มันมีคือการหา Winning Solution ที่ทำให้พื้นที่ร้างเกิดการใช้ประโยชน์” ยศพลจั่วหัวถึงความเจ๋งของโครงการ ‘g Garden’ ที่ถูกหยิบยกมาเป็น Case Study 

การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็น Urban Farm ให้ Win-Win กันทุกฝ่ายทำได้อย่างไร เราอดไม่ได้ที่จะต้องขยายความต่อกับ โชค-โชคชัย หลาบหนองแสง จากกลุ่ม The Farm Concept ผู้เปลี่ยนที่รกร้างใจกลางพระราม 9 ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวให้ผู้คนได้พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยทีมที่ไม่มีใครเรียนมาทางด้านการเกษตรเลย

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

g Garden

“ทีมเรามีประมาณ 5 – 6 คน เริ่มจากคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว เป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นเพื่อนของเพื่อนที่มีความสนใจตรงกันในเรื่องอาหาร การเกษตร และการเรียนรู้ ไม่มีใครมีแบ็กกราวนด์ด้านการเกษตรเลย พี่จบวิทยาศาสตร์ด้านพลังงาน มีน้องที่จบศิลปศาสตร์ จบบัญชี เราหาคนมาช่วยเสริมในแต่ละด้าน แล้วอาศัยเรียนรู้จากการลงมือทำกับเรียนรู้จากกลุ่มเกษตรกร”

“เราทำ Urban Farm มาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2558 – 2559 ก่อนหน้านั้นก็ทำงานกับเครือข่ายเกษตรกร ทำ Farmer Market และ Chef’s Table เป็นเรื่องการเกษตรกับอาหาร”

โชคเกริ่นถึงความเชี่ยวชาญเดิมก่อนที่จะได้โอกาสมาพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ใจกลางพระราม 9 ของกลุ่ม CPN ให้กลายเป็นสวนผักในเมือง และกำลังต่อยอดโมเดลนี้ไปที่ The Farm Concept บนที่ดินผืนใหญ่ย่านแบริ่ง

“ก่อนหน้านั้นทาง CPN รู้จักเราเพราะเราทำออร์แกไนซ์จัดตลาดออร์แกนิกมาก่อน เขาชวนให้เราไปเปิดในตึก พอไปเห็นพื้นที่ว่างข้าง ๆ ตึกของเขา รู้ว่ายังไม่ใช้งานก็เลยเสนอว่าขอมาทำฟาร์มได้มั้ย ลองส่ง Proposal เข้าไป แล้วมันตรงกับเป้าหมายในการทำ CSR กับเกษตรกรของเขาเลยลงตัว เขาก็ให้ที่มาทำเป็นธุรกิจแบบ Social Enterprise โดยเราเข้าไปบริหารพื้นที่แบบ Urban Farm ในกรอบเวลา 2 ปี”

ความใหญ่ของผืนที่ดินและกรอบเวลาที่ได้รับมาทำให้เราอดถามถึงการวางแผนการทำงานไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเขาบอกว่ามันเป็นโมเดลที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“ทดลองทำเลยครับว่าทำแบบไหนคนจะสนใจ ถ้าขายไม่ได้ ขายไม่เวิร์ก ก็เปลี่ยนใหม่ จะไม่ได้วางกลยุทธ์แบบที่เป็นวิชาการมาก เราแอคชันแล้วลองดูผลเลย ความสนุกจะอยู่ตรงนี้แหละ มันสนุกที่เราได้ลองทำ” 

ภายในพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ของ g Garden จึงแบ่งสรรปันส่วนให้เป็นพื้นที่ที่คนเมืองเข้ามาเรียนรู้แง่มุมต่าง ๆ ภายใต้คอนเซปต์ของ Urban Farm ไม่ว่าจะเป็นการทำเวิร์กช็อปที่มีเกษตรกรตัวจริงที่เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกพืชแบบต่าง ๆ มาเป็นวิทยากร การนำผลผลิตที่ปลูกไปทำอาหารในแบบ Farm to Table ไปจนถึงกิจกรรมสนุก ๆ อย่างการตามเก็บไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงไว้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พื้นที่ในเมืองหลวงไม่ได้เอื้อให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้มากนัก

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

นอกจากนั้น สำหรับคนรักพืชผักที่ยังไม่หนำใจกับการจับจ่ายซื้อของจาก Farmer Shop กับ Farmer Market อยากลงมือจับจอบปลูกเอง ยังเช่าแปลงปลูกผักที่นี่เป็นของตัวเองเพื่อลงมือปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตของด้วยตัวเองได้ หรือจะให้ทาง g Garden จัดเป็นเซตกระถางปลูกจัดส่งถึงหน้าบ้านพร้อมคำแนะนำในการดูแลพืชพรรณก็ได้เช่นกัน

g Garden จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่พื้นที่สีเขียวให้คนมาเดินเล่น แต่ยังเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่เป็นแหล่งทดลองเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเกษตรสำหรับทุกเพศทุกวัย เป็นโมเดลการสร้างพื้นที่สีเขียวที่น่าสนใจ เพราะสร้างประโยชน์ให้ทุกฝ่าย ทั้งคนทั่วไปได้มีพื้นที่พักผ่อนเรียนรู้เรื่องการเกษตรที่เคยไกลตัวให้ใกล้ตัวมากขึ้น ทีม The Farm Concept มีโอกาสเผยแพร่ความรู้เรื่อง Urban Farm และเจ้าของพื้นที่ได้ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ รวมถึงสัตว์ในเมืองที่ได้มีพื้นที่หลบภัยสงบ ๆ ให้อยู่อาศัย ตั้งแต่แมลงตัวเล็กไปจนถึงงูเหลือมตัวยาวร่วม 2 เมตรที่พวกเขาเจอในช่วงรื้อถอนโครงการ

ความสำเร็จของ g Garden น่าจะจูงใจให้ทั้งรัฐและเอกชนที่มีพื้นที่ที่ยังไม่มีแผนการใช้งานในเร็ววัน อยากแบ่งปันพื้นที่ให้เป็นประโยชน์กับผู้คนมากขึ้น การใช้เวลา 2 ปีลงแรงในการสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา ถึงแม้จะกำไรไม่มาก แต่สำหรับโชคก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคือองค์ความรู้และแบรนดิ้งในการทำ Urban Farm ที่แข็งแรงขึ้น จนมีเจ้าของที่ดินสนใจให้เขาและทีมไปพัฒนาต่อกับที่ดินผืนใหม่ในซอยสุขุมวิท 107 ย่านแบริ่ง

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

จาก g Garden ถึง The Farm Concept

“ที่นี่เราใช้ชื่อ The Farm Concept พอย้ายที่แล้วเจ้าของที่ดินมองว่าอยากให้เปลี่ยนชื่อหน่อยดีกว่า เพราะชื่อเดิมคนอาจจะมองว่าลิงก์กับ G Land ในเครือของ GLAND ซึ่งชื่อ The Farm Concept เป็นชื่อเดิมที่เราใช้ทำมาตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย จริง ๆ เสนอกันอยู่หลายชื่อ แต่ชื่อนี้ภาพมันชัดดี”

นอกจากชื่อ ยังมีอะไรแตกต่างกับที่พระราม 9 อีกบ้าง – เราถาม

“ตรงพระราม 9 เจ้าของพื้นที่อยากทำ CSR กับเกษตรกร ส่วนที่นี่เขาอยากให้เด็กมาเรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองและทักษะการใช้ชีวิต จึงอาจจะไม่ได้โฟกัสการเกษตรเท่าพระราม 9 แต่ก็ยังมีเกษตรกรมาเป็นวิทยากรและยังจัดมาร์เก็ตอยู่ครับ”

โชคเล่าเสริมอีกว่าคราวนี้เขาได้เวลามา 10 ปีจากเจ้าของที่ แต่มองกันไว้ที่ 5 ปีก่อน เผื่อขยับขยาย ซึ่งเขามองว่าเป็นเวลาที่ค่อนข้างพอดิบพอดี เพราะระยะเวลาที่มีพอสมควรจะดึงดูดพาร์ตเนอร์ให้สนใจมาลงทุน ทำกิจกรรม กิจการต่าง ๆ ในพื้นที่ได้หลากหลายมากขึ้น ทว่าการทำ g Garden ได้ดีก็ยังไม่ได้การันตีความสำเร็จของที่นี่

“เพราะพอทำจริงแล้ววิธีการอาจจะต่างกัน ธุรกิจนี้ต้องพัฒนาต่อเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเรามาจากพระราม 9 แล้วจะสำเร็จ แต่เรามีต้นทุนเดิมในส่วนองค์ความรู้ในการบริการจัดการ ส่วนอะไรที่เป็นความรู้ใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่เราก็ต้องทดลอง”

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

อันที่จริงช่วงเวลาที่เราเข้าไปเยี่ยมเยือนที่ดินผืนใหม่ของ The Farm Concept ยังถือว่าเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว ถ้านับเป็นบ้านก็คงอยู่ในช่วงการทำโครงสร้างเสาคานที่ยังไม่เสร็จดี แต่พอเห็นเค้าโครงบางอย่าง

การมีอาคารเดิมอยู่ในผืนที่ดินทำให้กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ Indoor กับ Outdoor โดยใช้พื้นที่ในร่มจัดกิจกรรม Farmer Market, Farmer Shop, เวิร์กช็อป ทั้งการเกษตรไปจนถึงศิลปะ เมื่อเดือนก่อนก็เพิ่งจัดงานเล่นดนตรีสดกันไป มีคนสนใจเข้ามาฟังร่วม 200 คน

ส่วนพื้นที่ Outdoor ตั้งใจให้เป็นที่สนามเด็กเล่นทำเวิร์กช็อป จัดกิจกรรมเรียนรู้จากการเกษตรและเรื่องอาหาร รวมถึงสัตว์อย่างไก่และแพะ เพื่อสร้างทักษะที่เป็น Survival Skill ให้เด็กได้เรียนรู้และได้ความสนุกด้วย

โชคเล่าถึงภาพร่างในหัวที่มีทั้งส่วนที่ยังไม่เกิด และบางส่วนกำลังทยอยผลิดอกออกใบใกล้ความเป็นจริง

ของจริง กิ่ง ก้าน ใบ

จริง ๆ ถ้าทำให้ละเอียด ไม่จำเป็นต้องใช้ที่ใหญ่ก็ได้ แค่โซนสมุนไพรโซนนี้ก็สร้างการเรียนรู้ได้เยอะแล้ว ทุกอย่างอยู่ที่การออกแบบว่าอยากให้คนที่มาเรียนรู้อะไร บางทีสเกลใหญ่แต่ดูแลได้ไม่ทั่วถึงก็ไม่มีประโยชน์ อย่างในกระถางนี่ก็ดูว่าอยากให้เกิดการเรียนรู้อะไร”

โชคชี้ให้เราดูกระถางไม้ที่ปักป้ายชื่อสมุนไพรไทย-เทศ หลากหลายสายพันธุ์ ก่อนจะเอามือลูบใบโรสแมรียกขึ้นมาดม แล้วชวนให้เราลองทำตาม เขาเสริมว่าสมุนไพรนอกจากเอาไว้ทำอาหารแล้ว กลิ่นยัง Therapy สำหรับผู้ป่วยและคนทั่วไปได้ด้วย จริง ๆ แค่รดน้ำแล้วได้กลิ่นทุกเช้าก็สดชื่นแล้ว

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

‘Sensory’ จึงเป็นคอนเซปต์ใหญ่ของสวนที่เขาตั้งใจค้นหาแง่มุมจากพืชพรรณเอามาสร้างเป็นบทเรียนเกี่ยวกับการเกษตรให้เด็ก ๆ ในตอนนี้ โดยเน้นชูเรื่องกลิ่นและรสเป็นตัวนำ นอกจากกลิ่นจากสมุนไพรต่างประเทศ อย่างโรสแมรี ไทม์ ทารากอน ยังมีพืชอีกหลายพันธุ์ที่เขาทยอยแนะนำให้รู้จัก ตั้งแต่ของที่เคยกินอย่างอิตาเลียนเบซิลที่อยู่บนจานว่าหอมแล้ว แต่พอโชคเด็ดใบสดออกมาหอมยิ่งกว่า กลิ่นลอยมาปะทะจมูกเต็ม ๆ แม้จะยืนอยู่ห่างกันหลายช่วงตัว หรือผักพื้นบ้านที่เราเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยเห็นของจริงอย่างใบหูเสือก็มีให้ได้เรียนรู้ที่นี่เช่นกัน

“ใบหูเสือคนยุคเก่ากินเป็นเครื่องแนม แต่ถ้าเราเอามาใช้งาน โดยเอาไปสับใส่ไส้เกี๊ยวหมูสับ กลิ่นคล้ายอะไรนึกออกมั้ยครับ”

เรารับใบหูเสือหนานุ่มมือมาดม กลิ่นคุ้นมาก แต่นึกแล้วนึกอีกก็ยังนึกไม่ออกว่าเหมือนอะไร เขายิ้มให้พร้อมเฉลยว่า“เหมือนออริกาโนใช่มั้ย”

พอได้คีย์เวิร์ดแล้วพบว่าต้องรีบพยักหน้ารับว่าใช่เลย

“จริง ๆ ในเรื่องกลิ่น เรามีเวิร์กช็อปการจับคู่กลิ่นระหว่างสมุนไพรไทยกับเทศอยู่นะครับ อย่างใบโอบะก็จะเหมือนผักแขยง หรือตะไคร้กับทารากอนก็คล้ายกันครับ”

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

“เราพยายามสะสมมินต์สายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างตัวนี้เป็น Black Mint ตัวนี้เป็น Peppermint ตัวนี้ Calamint ทุกอันมีกลิ่นหมดเลย อันนี้เราเอาไปทำเครื่องดื่มพวกชามินต์เพราะมีลูกเล่นเยอะ ถ้าสะสมสายพันธุ์ได้หลากหลาย เวลาคนมาเรียนรู้จะสนุก เรามีเวิร์กช็อปทำชาจากใบมินต์แต่ละชนิดด้วย กลิ่นที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน แค่กระถางเดียวก็เรียนรู้ได้หลายอย่างแล้ว”

“เราเน้นผักกินได้ เป็นไอเดียสำหรับคนเมืองกับภาครัฐ ถ้าเปลี่ยนไม้ประดับบางส่วนเป็นไม้กินได้ สวนจะมีประโยชน์มากขึ้น คนรายได้น้อยก็มาเด็ดไปกินได้ ไม้พวกนี้ยิ่งเด็ดยิ่งแตก อย่างอันนี้ผักติ้วเอาไว้ทำแกงส้ม มะตูมแขกเอาไว้เป็นเครื่องแนมน้ำพริก

“ที่นี่เราพยายามลองปลูกอะไรไปเรื่อย ๆ พยายามเซตแต่ละมุมให้สอนเด็กได้ ปลูกให้หลากหลาย ถ้าอันไหนรอดก็แปลว่าเหมาะกับพื้นที่นี้ อันไหนปลูกเพื่อการเรียนรู้ก็อาจจะปลูกแค่ต้นสองต้น”

โชคสรุปปิดท้ายโซนผักสวนครัวก่อนพาเราข้ามไปอีกแปลงที่เป็นไม้ยืนต้น ซึ่งมีต้นไม้เดิมที่ใช้งานได้ปะปนอยู่กับไม้ใหม่ที่เพิ่งเพาะ

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

“เราปลูกเลมอนเยอะ เพราะอีกหน่อยจะทำคาเฟ่ ได้ใช้แน่นอน ส่วนอันนี้เป็นฝรั่งแดง เอาไปทำน้ำปั่นได้ พวกนี้ปีเดียวก็ให้ผลแล้วครับ” เขาชี้ให้ดูต้นไม้ขนาดสูงเท่าเข่าที่เราคาดเดาไม่ได้ว่าคือต้นอะไรบ้าง

“อย่าง Fig หลายคนมาเห็นก็ตกใจว่าปลูกได้เหรอ ปกติเราทานลูกกัน แต่จริง ๆใบ Fig มีน้ำมัน เอาไปทำชาได้ และเราอาจจะขยายเป็นทำเป็นแยม Fig ขายใน Farmer Shop”

Learning by Doing

‘อาหาร’ คือคำตอบของคำถามว่าอะไรคือทักษะที่เขาอยากสร้างให้เด็กที่เติบโตในเมืองได้เรียนรู้ โดยคำว่าอาหารในที่นี้ไม่ใช่การกิน แต่เป็นการปลูกขึ้นมา เพราะหลังจัดเวิร์กช็อปมาหลายครั้ง เขาพบว่าเด็ก ๆ หลายคนเชื่อมโยงวัตถุดิบที่อยู่บนจานไปสู่ต้นทางที่มาไม่ได้

“เด็กอาจจะเคยกินแคร์รอตแต่ยังไม่เคยเห็นต้นแคร์รอต เราอยากสอนเรื่องการปลูก การดึงแคร์รอตออกมาจากดิน พวกเขาจะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มีแต่แบบแท่งยาว ๆ หรือถ้าไปเจอดินไม่สมบูรณ์ แคร์รอตก็อาจจะเบี้ยว ๆ งอ ๆ หัวโตหางลีบ ๆ เราสอนเรื่องเหล่านี้ให้เด็ก ๆ ได้ว่าแคร์รอตไม่ได้มีแค่แบบที่เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ต 

“เราอาจจะทำเป็นเซตปลูกแคร์รอต 3 เดือน เด็กจะได้เห็นว่าแคร์รอตที่เขาดูแลมีผลผลิตออกมาเป็นยังไง และจริง ๆ แคร์รอตไม่ได้มีแค่สีส้ม มีสีขาว สีม่วง สีแดง นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เขาได้เรียนรู้ ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เป็นความท้าทายของเรา”

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

“หรือจะสอนให้เอาของที่เหลือจากตลาดมาปลูกใหม่ เมื่อพืชนั้น ๆ โตขึ้นก็เก็บกินได้อีก อย่างหอมแดงหรือกระเทียม จากเมล็ดแห้ง ๆ เอามาปลูกแล้วมันงอกขึ้นมาได้ นอกจากได้กินหัว เรายังกินใบของกระเทียมได้อีก ถ้าเราละเอียดกับทุกเรื่อง ก็สร้างการเรียนรู้ได้หมดเลย

“พวกหัวไชเท้าตัดตรงขั้วเอามาเพาะก็ขึ้นได้อีก ถ้าเอามาสร้างการเรียนรู้แล้วมันสนุก เด็กก็อาจจะชอบกินผักโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ได้ไปโฟกัสที่ความเขียว แต่ด้วยความภูมิใจที่ปลูกได้ เขาก็น่าจะอยากทานสิ่งที่เขาปลูก

“ในงาน พัก กะ Park วันนั้น ลุงวิท-วิทยา เลี้ยงรักษา มาทำเวิร์กช็อปปลูกมะพร้าวแล้วเอามาทำไอศกรีม เมนูที่เด็ก ๆ ชื่นชอบแต่อาจไม่รู้มาก่อนว่าจะทำไอศกรีมกะทิได้ยังไง พอลุงวิทมาสอนว่าต้องเอามะพร้าวมาขูดก่อน แล้วเอาไปผ่านขั้นตอนต่าง ๆ พอเขาได้เห็นทั้งกระบวนการว่าถ้าอยากกินไอศกรีมกะทิอร่อย ก็ต้องมีมะพร้าวอร่อย แล้วถ้าอยากได้มะพร้าวอร่อยต้องทำยังไง มีกระบวนการยังไง อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งจากการทำอาหารถ้วยเดียว ผมมองว่ายังมีอย่างอื่นอีกที่เอามาทำเป็นลูกเล่นได้”

คิดว่ากระบวนการเรียนรู้แบบนี้จะทำให้เด็กรักธรรมชาติมากขึ้นไหม – เราถาม 

“อาจจะเป็นผลพลอยได้ เป็นสิ่งที่ตามมา เพราะเราโฟกัสหลักการที่ถ้าทำแบบนี้แล้วให้เด็กได้ลองคิดต่อเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือจะได้อะไร” 

หมายความว่า เราไม่ได้อยากไปโน้มน้าวว่าทำแบบนี้ต้องรักธรรมชาติ แต่เป็น Learning by Doing เหรอ
“ใช่ ด้วยธรรมชาติของเด็ก เขาชอบความสนุก จึงต้องทำกระบวนการทั้งหมดให้สนุก เพราะถ้าสนุกเขาจะเรียนรู้ได้เอง จะไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเอง นี่คือสิ่งที่เราไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปใส่กระบวนการให้เขา”

ความยั่งยืน

เมื่อถามถึงความยั่งยืนซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนมีคำถามในใจว่าโครงการทำพื้นที่สีเขียวแบบนี้ เลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ โชคตอบกลับมาเสียงดังฟังชัดว่า ได้ เพราะจริง ๆ แล้วสวนสร้างรายได้จากหลายส่วน ทั้ง Farmer Market, Farmer Shop, คาเฟ่, การจัดเวิร์กช็อป ไปจนถึงการให้เช่าพื้นที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับ Urban Farm อย่างโครงการ g Garden ถึงแม้จะเจอพิษโควิด-19 ไป 1 ปี ก็ยังใช้เวลา 1 ปีที่เหลือคืนทุน และสร้างกำไรเอามาต่อยอดที่ The Farm Concept ได้

“การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างมาใช้งานเป็นพื้นการเกษตรใช้ต้นทุนต่ำที่สุดแล้ว เราไม่ต้องสร้างโครงสร้างใหญ่ ๆ หรือลงทุนเยอะ ปรับพื้นที่นิดหน่อย ปรับพื้นให้เรียบ ตัดหญ้า และปลูกพืชผักก็ใช้งานได้แล้ว

“หรือถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนก็ปรับได้เลยไม่ต้องรอระยะเวลา สมมติเจ้าของพื้นที่บอกว่า ถ้าเขาขายที่ได้แล้ว คุณย้ายออกได้มั้ย คุณก็ย้ายออกได้ทันทีเลย หรืออาจจะใช้เวลาสักเดือนหนึ่งเพื่อเคลียร์พื้นที่ การทำพื้นที่รกร้างในเมืองเป็นพื้นที่การเกษตรและคนเข้าไปใช้งานได้เลย ได้ประโยชน์โดยใช้ต้นทุนไม่เยอะ”

“ถ้ามองเรื่องความยั่งยืนในภาพรวมของกรุงเทพฯ ในอนาคตเราทำพื้นที่รกร้างพวกนี้ให้เป็นพื้นที่อาหารหรือพื้นที่การเกษตรได้ อันนั้นคือความยั่งยืนของเมือง ถ้าเกิดวิกฤตน้ำท่วม ภัยพิบัติ ผักส่งเข้ามาไม่ได้ เรายังมีผักจากข้างบ้านมาทำอาหาร หรือแต่ละบ้านจะเอาไอเดียกระถางไปปลูกที่บ้านของตัวเองก็ได้เหมือนกัน พอคนเมืองมีความรู้เรื่องนี้ แล้วเอาไปปลูกที่ไหนก็ได้ มันเป็นการสร้างความยั่งยืน ความมั่นคงด้านอาหาร

“แม้ว่าพื้นที่แปลงนี้จะหมดสัญญาแล้ว ก็จะเกิดในพื้นที่อื่น ๆ ได้อีก ในภาพรวมของเมือง มันจะเป็นเมืองที่มีพื้นที่อาหารจะมีอยู่ทั่วไปหมด ถ้าเมื่อไหร่คุณจะสร้างตึกคุณก็สร้างไป พื้นที่สีเขียวจุดอื่นก็ยังเกิดขึ้นได้ หรือพื้นที่ปลูกผักอาจจะไปอยู่บนดาดฟ้า พอไอเดียกระจายไปแล้ว ไปอยู่ที่ไหนทุกคนก็มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ผลิตได้หมด นี่คือความยั่งยืน”

โชคฉายให้เห็นภาพระยะกว้างและระยะไกลในอนาคตที่จะต่อยอดออกไปจากโมเดลการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นสีเขียวในวันนี้

กฎหมาย ปลูกเมือง

เมื่อถามถึงภาพจำของพื้นรกร้างผืนใหญ่ในเมืองในช่วง 3 – 5 ปีมานี้ คำตอบที่น่าจะตรงกันของหลายคนคือภาพดงกล้วยเขียวเรียงรายอยู่ในผืนที่ดิน อันเป็นผลจากกฎหมายเกี่ยวกับภาษี นักพัฒนาพื้นที่รกร้างคนเก่งแชร์ให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วมีรายการต้นไม้เป็นร้อยชนิดให้เลือกปลูก ในที่ของ The Farm Concept เองก็มีต้นกัลปพฤกษ์กับสะเดาเป็นมรดกตกทอดมาจากกฎหมายข้อนี้ เพียงแต่ว่ากล้วยเป็นต้นไม้ที่ใช้ทุนในการปลูกและการดูแลน้อยที่สุด จึงนำมาซึ่งภาพคุ้นตาแบบที่เราเห็นกัน

“เรามีไอเดียเกี่ยวกับธุรกิจที่จะทำในอนาคต คืออยากเข้าไปจัดการพื้นที่สวนกล้วยสวนมะนาวในกรุงเทพฯ เข้าไปทำเพื่อให้ได้ผลผลิต นอกจากลดภาษีแล้วยังได้ผลผลิตด้วย ถ้าคุณไม่เอาเราก็อาจจะรับซื้อ หรือเอาไปบริจาคให้ชุมชนเป็น CSR กันต่อ เป็นธุรกิจที่น่าสนใจถ้ายังมีเรื่องภาษีแบบนี้อยู่”

เขาแชร์มุมมองเกี่ยวกับแง่มุมธุรกิจที่น่าสนใจและอยากต่อยอดจากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ พร้อมข้อเสนอแนะที่คิดว่าน่าจะผลักดันให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อีก

“ผมอยากให้มีกฎหมายที่ทำให้ภาษีที่ดินเป็น 0 กรณีที่เป็นการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ดึงงบของรัฐบางส่วนมาช่วยด้วยก็น่าจะดี ส่วนถ้าเป็นธุรกิจการเกษตร อาจจะเพิ่มขึ้นตามลำดับก็ได้ เพราะปัจจุบันภาษีที่ดินที่ทำเกษตรน่าจะอยู่ที่ 0.3 เปอร์เซ็นต์”

“อยากให้ภาครัฐสนับสนุนคนที่มีไอเดียได้ทดลองทำ ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้น คุณไม่ต้องลงมือทำเอง แค่เรื่องกฎระเบียบอย่างเช่น การทำให้เกิดสวนสาธารณะได้เร็วขึ้นก็ถือว่าดีแล้ว แค่เปิดให้ทำเรื่องพวกนี้ให้ง่ายขึ้น”

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

ดูเหมือนความร่วมมือจากภาครัฐจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างเมืองที่น่าอยู่จริง ๆ เพราะยศพลเองก็มีความเห็นคล้ายกัน โดยเขามองว่า ถ้าภาครัฐขยับตัวในส่วนการตั้ง KPI เรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว และมี Incentive Policy หลากหลายที่จูงใจเอกชนและผู้ประกอบการ เราจะขับเคลื่อนเมืองได้มากขึ้น เขายกตัวอย่างสิงคโปร์ที่มี KPI เรื่องพื้นที่สีเขียวด้วยนโยบาย Green All Policy ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะส่วนท้องถิ่น แต่ผลักดันกันระดับกระทรวง

“ไม่ว่าจะเป็นหน่วยการทางพิเศษ การไฟฟ้า คนตัดถนน คนจะสร้างคอนโด ทุกคนจะต้องมีตัวชี้วัดเรื่องการทำพื้นที่สีเขียว แล้วก็มี Incentive ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ความสำคัญมากขึ้น มันก็จะทำให้เศรษฐกิจที่เราว่าหมุนโดยไม่ใช้การขอบริจาค แต่มันเป็นการได้ประโยชน์อย่างสมน้ำสมเนื้อว่าคุณลงทุน คุณก็ได้ลดหย่อน ภาคเอกชนก็อาจจะไปเคลมเรื่องคาร์บอนเครดิต เรื่อง ESG Report มันคือการสร้าง Mechanism ให้คนเหล่านี้มาลงทุนกับพื้นที่สีเขียวเหล่านี้มากขึ้น”

แต่นอกเหนือไปกว่าเรื่องของกฎหมาย เขายังมองว่าการสร้างค่านิยมให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างก็สำคัญเช่นกัน

“คือถ้าเกิดเราสร้างโปรดักต์ขึ้นมาแล้วตลาดไม่รู้สึกต้องการหรือไม่ได้ชอบ มันก็ขายไม่ได้ แต่ถ้าค่านิยมมันเปลี่ยนเป็นมองว่าสิ่งนี้ก็จำเป็นนะ ทุกที่ต้องมีพื้นที่สีเขียว มันก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องมี โดยไม่ต้องบังคับมาก ตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจจะต้องมีการบังคับด้วยกฎ ต้องมีทั้ง Carrot and Stick แคร์รอตก็คือการให้ประโยชน์เรื่องภาษี ส่วน Stick คือการกำหนดว่ามีพื้นที่ต้องพัฒนากี่ตารางเมตร เพื่อให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ถ้าไม่มีก็จับปรับ ในขณะเดียวกันมันก็ต้องมีค่านิยมที่เหมาะสมด้วย”

 กลไกขับเคลื่อน

เมื่อพูดกันในสเกลเมือง เราทุกคนก็เหมือนฟันเฟืองตัวจิ๋วที่หากทำงานเพียงหน่วยเดียวก็อาจจะขยับขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าอย่างเห็นได้ไม่ชัดมากนัก แต่ถ้าฟันเฟืองหลาย ๆ ตัวหลายรูปแบบทำงานด้วยกันล่ะ เมืองจะขยับไปได้มากแค่ไหน

“ผมมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ” โชคยืนยัน เมื่อเราถามถึงความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของฟันเฟืองอีกหน่วยที่พยายามขับเคลื่อนเมืองอย่าง we!park และ HSA

พอมีความหลากหลาย ทำให้คนได้เห็นว่าการใช้พื้นที่ไม่ได้มีแค่แบบเดียว อย่างเกษตรยังมีเรื่อง Mobility เรื่องการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นโชว์เคสให้คนเห็นว่าคุณอย่าไปมองการพัฒนาพื้นที่สีเขียวว่ามีแค่การสร้างสวนสาธารณะ แต่พัฒนาในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมกับชุมชนโดยรอบได้ด้วย ผมว่าเป็นสิ่งท้าทายที่ we!park ทำในการนำเสนอสวนในรูปแบบใหม่ ๆ ให้คนเมืองได้เห็นว่าสวนสาธารณะไม่จำเป็นต้องมีแค่ต้นไม้ใหญ่ ต้นมะฮอกกานี มีอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้แค่วิ่งเล่นเดินเล่น อย่างต่างประเทศก็มีสวนที่เข้าไปออกกำลังกายอย่างอื่นที่หลากหลายกว่าการไปวิ่ง ไปเล่นโยคะ

“ส่วนตัวผมก็สนใจว่าจะมีความเป็นไปได้มั้ยในการเลี้ยงไก่หรือแพะในสวนสาธารณะ ถ้ามีเรื่องการจัดการเรื่องความสะอาด เด็กก็น่าจะเข้าไปเล่น ไปเรียนรู้ได้ เช่น เอาขี้แพะไปเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้

“ตัวอย่างข้างต้น ถ้า we!park ไม่เริ่มก็อาจมองไม่เห็นความเป็นไปได้ เพราะเราไม่รู้ว่าคนในชุมชม ใช้ชีวิตยังไง เราต้องลองดูก่อน บางทีคนไม่รู้หรอกว่าอยากได้แบบไหน ต้องได้เห็น ได้ลองทำ จนพบทางที่ใช่และตอบโจทย์”

เราลองโยนโจทย์กลับไปถึงคนต้นเรื่องอย่างยศพลว่าถ้าเกิดมีคนที่มีไอเดียอยากพัฒนาเมืองแบบโชคชัยขึ้นมา เขาคนนั้นเดินเข้าไปคุยกับ HSA ได้เลยหรือไม่

“ได้” เขารีบตอบก่อนขยายความ

“สิ่งที่เรามีโดยตรงคิดว่า หนึ่ง น่าจะเป็นความรู้ เรามีองค์ความรู้ว่าถ้าจะทำพื้นที่สีเขียวว่ามันมีขั้นตอนอย่างไร สอง เราเชื่อมผู้เชี่ยวชาญได้ ว่าสมมติต้องการรู้เรื่องการทำสวนผักในเมือง การออกแบบ ทำยังไง สาม เราเชื่อมโยงกับภาครัฐได้ จริง ๆ มันมีหลายกรณีที่เชื่อมให้คุยกับหน่วยงานภาครัฐว่าจะทำเรื่องนี้มันมีขั้นตอนหรือทำนโยบายภาครัฐออกมาสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง

“ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่เขามีที่ดินหรือมีเงินทุนแล้วอยากพัฒนาสวน เราก็เชื่อมเข้ามา แล้วเริ่มจากการเอาฐานข้อมูลมาดูว่ามีที่ดินตรงไหน หรือบางคนมีที่ดินต้องการหาผู้ลงทุน เราก็มีลิสต์ของเครือข่ายเอกชนที่ต้องการทำงานด้านนี้อยู่ เราก็มาจับคู่คนมีทรัพยากร เพื่อทำโครงการให้มันเกิดขึ้น”

ยศพลยังเสริมอีกว่าในสเตปถัดไปเขาตั้งใจให้กลไกขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองมากขึ้น

“Next Step เราต้องทำให้มันเป็น System ที่ยั่งยืนถาวร เราต้องทำทุกข้อต่อในระบบให้มันดีมากยิ่งขึ้น ตอนนี้มันยังเป็นแค่จิ๊กซอว์ที่ค่อย ๆ ขยับ เมื่อก่อนเราทำแค่ตัวสวน แต่ไม่ได้คิดเรื่อง System เราไม่คิดว่ามันควรมี Ecosystem หรือว่าควรมีใครมาเป็นผู้เล่นในระบบ แต่ตอนนี้เรากำลังทำให้เห็นว่าทั้งวงล้อของ Ecosystem ต้องมีใครบ้าง มี Incentive มีบุคลากร ก้าวต่อไปเลยเป็นการทำให้มันหมุนไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมี HSA ผลักดันตลอดเวลา เราอาจจะทำหน้าที่แค่ตัวเชื่อม โดยที่คนอื่นก็มีบทบาทและพลังในการขับเคลื่อนด้วยตัวเขาเองเช่นกัน”

 ลงมือทำ คือคำตอบ

ก่อนจากกัน เราขอให้ผู้จัดการโครงการหนุ่มช่วยเล่าบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้จากการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองให้ฟังฟังสักนิด แล้วคำตอบของเขาก็นิดเดียวอย่างที่ขอจริง ๆ

เขาบอกว่าบทเรียนสำคัญ คือการลงมือทำ

“พอไม่มีโมเดลให้ได้เรียนรู้ก่อนหน้า เราเลยต้องลงมือทำ นี่เป็นสิ่งที่เรายึดเป็นหลักการ การวางแผนในกระดาษเอาเข้าจริงอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เราจะไม่มีทางรู้เลยถ้าไม่ลงมือทำเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้”

เพราะโครงการที่เขากำลังขับเคลื่อนอยู่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน การแผ้วถางทางสายนี้ให้เกิดขึ้นในเมืองจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาผลลัพธ์ได้ยาก ที่ผ่านมาสัดส่วนความสำเร็จและล้มเหลวเขามองว่าเกิดขึ้นในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาท้อถอยแต่อย่างใด เพราะรู้ว่าสิ่งที่ตั้งใจทำไม่ง่าย เป็นเรื่องใหม่ที่ถ้าทำสำเร็จ ก็จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ พลิกโฉมพื้นที่รกร้างในเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

The Farm Concept ที่ร้างแบริ่งสู่ Urban Farm นานาสมุนไพรที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมือง

Writer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ