‘Animal Space Exotic Pet Hospital’ เป็นโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษที่แวดวงคนเลี้ยงสัตว์ฟันแทะอย่างเรามักจะบอกต่อกันเสมอ เพราะนอกจากคุณหมอจะเก่งกาจ เครื่องมือยังทันสมัยครบวงจร

แม้โรงพยาบาลนี้จะตั้งอยู่แถวพุทธมณฑลสาย 2 ไม่ติดถนนใหญ่ ขนส่งสาธารณะก็ไปไม่ถึง และเรานัดสัมภาษณ์กันวันพุธตอนกลางวัน แต่ก็ยังมีพ่อ ๆ แม่ ๆ พาเจ้าขนฟูมาหาหมอกันไม่ขาดสาย

เรามีโอกาสพาลูกไปหาหมอมาก็หลายที่ ไม่มีที่ไหนเลยให้ความรู้สึกแตกต่างไปแบบนี้

“เข้ามาได้กลิ่นหมา-แมวไหม ได้กลิ่นสัตว์ไหมฮะ” หมออ้อย-น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลต้อนรับด้วยคำถามที่ทำให้เรารีบพยักหน้า ไม่นึกเอะใจมาก่อนว่าที่นี่เป็นโรงพยาบาลสัตว์ที่ไม่มีกลิ่นสาบสัตว์แม้แต่น้อย

ไม่เพียงประกอบอาชีพสัตวแพทย์ หมออ้อยยังเป็นประธานชมรมสัตวแพทย์ชนิดพิเศษที่รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาไกลถึงที่นี่ เพื่อฟังเขาเล่าวิธีคิดของโรงพยาบาลสัตว์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อสัตว์พิเศษให้ฟังทุกตารางนิ้ว

ตึก

หากถามว่าจุดเริ่มที่ทำให้ชายคนหนึ่งสนใจสัตว์พิเศษคืออะไร หมออ้อยชวนเราย้อนไปสมัยที่เขาเรียนอยู่ปี 5 ขณะที่เขากำลังขึ้นคลินิกอยู่แล้วมีอิกัวนาเข้ามารักษา

“เฮ้ย รักษายังไง เฮ้ย แกรักษาดิ” คือประโยคที่หมออ้อยจำลองว่าสัตวแพทย์ยุคนั้นคุยกันว่าอะไร รวมถึงนิสิตอย่างเขาด้วย

ความเข้าใจของคนทั่วไปคือสัตวแพทย์ต้องรักษาสัตว์ได้ทุกชนิด เหตุการณ์วันนั้นทำให้เขาเห็นว่าไม่ใช่สัตว์ทุกชนิดจะได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม เขาจึงใฝ่ฝันจะเป็นหมอที่รักษาสัตว์ทุกตัวบนโลกใบนี้ให้ได้ แม้ความรู้ที่มีจะมาจากหนังสือสัตว์พิเศษเพียง 3 – 4 เล่มในรั้วจุฬาฯ เท่านั้น

บวกกับหลังเรียนจบ หมออ้อยมีโอกาสได้ไปค่าย ‘เคี่ยวเข้ม บัณฑิตใหม่หมอสัตว์ป่า’ ของสัตวแพทย์ที่พากันไปเดินป่าและรักษาสัตว์ ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกว่าเขาไม่ได้สนใจสัตว์เหมือนคนอื่น จนทำงานเป็นสัตวแพทย์ทั่วไปในคลินิก เขาก็ยังคอยหาซื้อหนังสือสัตว์พิเศษมาอ่านอยู่เสมอ

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือวันที่ ส.พญ.อารยา ผลสุวรรณ์ เจ้าของคลินิกในตอนนั้นชวนเขาไปฟังสัมมนาสัตวแพทย์โลกที่สหรัฐอเมริกา แล้วรู้สึกกับตัวเองว่า “ทำไมเมืองไทยถึงล้าหลังขนาดนี้” 

จากหมอที่รับรักษาทั้งหมา-แมวและสัตว์พิเศษ ก็ตัดสินใจบอกหัวหน้าว่าจุดมุ่งหมายของเขา คือการกลับเมืองไทยมาพัฒนาวงการ Exotic Pet ให้ใกล้เคียงกับต่างประเทศให้ได้ 

หลังมุ่งมั่นรักษาสัตว์พิเศษได้ 5 ปี อาจารย์ปานเทพ รัตนากร อดีตคณบดีคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มาชวนเขาไปสอนหนังสือ หมออ้อยตอบตกลงโดยไม่ลังเล เขาเข้าไปเป็นสัตวแพทย์ประจำหน่วยสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษนาน 10 ปี เรียกได้ว่าวางรากฐานหน่วย Exotic ของมหิดลให้มีมาตรฐานมาถึงทุกวันนี้ ระหว่างนั้นความฝันของเขาก็ใหญ่โตขึ้นตามเวลา

หมออ้อยมีโอกาสไปสัมมนาสัตวแพทย์โลกที่ต่างประเทศอีกครั้ง คราวนี้เขาประทับใจศาสตราจารย์สัตว์พิเศษท่านหนึ่งมากจนส่งอีเมลไปขอฝึกงานด้วย ในจดหมายระบุเจตจำนงครบถ้วนว่าเขาจะนำความรู้กลับมาพัฒนาวงการ Exotic ประเทศไทย ถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย และจะกลับมาพัฒนาความสามารถของตัวเอง โชคดีที่ศาสตราจารย์ท่านนั้นตอบตกลง นั่นทำให้เขารู้จักกับคลินิกเฉพาะทางสัตว์พิเศษเป็นครั้งแรก 

ความฝันของเขาใหญ่โตถึงขีดสุดก็ตอนนี้ หมออ้อยคิดว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่มีโรงพยาบาลเฉพาะทางสัตว์พิเศษแบบนี้บ้าง

“ตอนที่เริ่มทำไม่มีใครเชื่อว่าจะไปรอด แต่มันเป็นการเดิมพัน”

Animal Space สาขาแรกตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มากนัก เป็นตึกแถว 2 ห้อง ติดถนนใหญ่ แต่ด้วยปัญหาที่จอดรถ ทำให้เขาต้องหาทำเลใหม่ ถึงอย่างนั้น โรงพยาบาลสัตว์ของเขาก็สร้างชื่อจนกลายเป็นอันดับต้น ๆ ที่คนเลี้ยงสัตว์พิเศษนึกถึง

โซน

“ผมเคยออกแบบที่นี่แบบซับซ้อนมาก ๆ เลยนะ คิดว่าจะเท่ ดูลึกลับ แต่ผ่านไป 2 ปี แผนผังผมเรียบง่ายที่สุดเลย”

ที่นี่มี 3 ชั้น ชั้นแรกสำหรับลูกค้า ชั้น 2 คือห้องผ่าตัด ห้องแล็บ ห้องพนักงาน และโรงแรมสัตว์ ส่วนชั้น 3 หมออ้อยบอกว่าเป็นดาดฟ้าให้เต่าเดินเล่นและเล่นเซิร์ฟสเกตเป็นกิจกรรมยามว่าง

โดยชั้นแรกที่ใช้งานเยอะที่สุดแบ่งเป็น 3 โซน คือโซนนั่งรอ โซนห้องตรวจ โซนสตาฟ อยู่ตรงไหนก็มองเห็นกันหมด ไม่มีห้องที่เข้าไปแล้วจะซ่อนตัวได้ ข้อดีคือเกิดอะไรขึ้นแล้วทุกคนรู้ สัตว์หลุดหรือต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินก็วิ่งมาได้ทันที 

โซนนั่งรอจะมองเห็นห้องตรวจทั้งหมด 7 ห้อง หน้าตาเหมือนห้องตรวจโรงพยาบาลคนไม่มีผิด แบ่งเป็นคอก ใช้กระจกฝ้าสลับใส เพราะไม่อยากให้เจ้าของรู้สึกไม่สบายใจ หมอเองก็ทำงานโดยไม่เครียดเพราะไม่ได้เปิดเผยมากเกินไป 

โซนสตาฟหรือเรียกกันว่า Treatment Area เราแทบไม่เคยเห็นที่อื่นมี เพราะเสียพื้นที่เยอะ หมออ้อยเล่าว่าเขายอมแลกเพื่อให้พี่หมอกับน้องหมอปรึกษากันได้ง่าย สิ่งหนึ่งที่เราเห็นแปลกตาคือโต๊ะสูงถึงระดับเอวที่สั่งทำมาอย่างดี ต่างจากโต๊ะรักษาหมาแมวที่จะต่ำกว่าเพราะพวกมันตัวใหญ่ แต่สัตว์พิเศษตัวเล็ก เอื้อให้คนทำงานแล้วไม่ปวดหลัง ด้วยความเชื่อของหมออ้อยที่ว่าสเปซไม่ได้เป็นแค่ของสัตว์ แต่ต้องมีสเปซให้คนทำงานแล้วไม่อึดอัดด้วย

กลิ่น

“ถ้าเข้าไปในโรงพยาบาลสัตว์ กลิ่นแรกที่รู้สึกได้คือกลิ่นสาบ เราไม่ชอบกลิ่นนั้น เราคิดถึงคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหมอ สตาฟ เจ้าของสัตว์ หรือตัวสัตว์เอง ถ้าทำงานในที่ที่เราไม่ชอบกลิ่นก็คงไม่มีความสุข พวกสัตว์พิเศษมี Special Sense หูมันใหญ่ ได้ยินเสียงดี จมูกของเหยื่อจะได้กลิ่นผู้ล่าได้ดีมาก ถ้าเราคิดถึงเขามาก ๆ เราจะไม่อยากมีหมา-แมวเข้ามาปะปนในโรงพยาบาล เพราะเขาจะเครียดง่าย

“เราเลยมีระบบหมุนเวียนอากาศให้คนทำงานสดชื่นตลอดเวลา คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง สัตว์แฮปปี้ ไม่มีกลิ่น การระบายอากาศดี PM 2.5 น้อยมาก เพราะโรงพยาบาลเราเป็น Positive Pressure เวลาเปิดประตู อากาศข้างในดันออก มีการเปลี่ยนอากาศใหม่ผ่านฟิลเตอร์ 6 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 1 ครั้งต่อ 10 นาที ให้เราหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไป”

แสง

“ระบบแสงที่นี่ใช้ Lighting Engineering มาดีไซน์ให้ตั้งแต่ทางเข้าเลย ที่นั่งรอจะใช้แสงธรรมชาติเยอะมาก เพื่อให้ทุกคนเข้ามาแล้วรู้สึกโปร่ง สบาย ไม่เครียดจนเกินไป ส่วนห้องตรวจต้องใช้แสง 6,500 เควิน ให้สีไม่หลอกตามากที่สุดและต้องไม่ทำให้เกิดเงา เพราะเวลาจับสัตว์ เจาะเลือด จะมีเงาบังไม่ได้ แสงห้องผ่าตัดก็ต้องไม่จ้าจนทำงานแล้วล้า หรือไม่มืดจนทำให้ง่วงนอน ดูว่าโรงพยาบาลคนใช้เท่าไหร่แล้วก็เอามาปรับใช้กับเรา”

สี

“ผมบอกสถาปนิกว่า เอาแบบโรงเรียนอนุบาลหรือคลินิกถอนฟันเด็ก ไม่ให้เขาคิดว่าเข้ามาโรงพยาบาล เลยใช้สีโทนพาสเทล สีขาว ให้รู้สึกถึงความอบอุ่นและเป็นกันเอง”

พื้น

“เราใช้พื้นไวนิลหรือพื้นกระเบื้องยาง ซึ่งใช้ในโรงพยาบาลคน เวลาปล่อยสัตว์เดินบนพื้นเพื่อจะดูการเดิน หรือแม้แต่คนที่เข้ามาใช้บริการ โอกาสลื่นมีน้อยมาก ที่สำคัญคือพื้นแบบนี้ไม่มีรอยยาแนว เชื้อโรคก็ไม่มาอยู่ ทำความสะอาดได้ง่าย”

ห้อง

หมออ้อยพาเราทัวร์บริเวณชั้น 2 ประกอบไปด้วยห้องผ่าตัด 3 ห้อง เป็น Clean Room ระดับ M 5.5 เทียบเท่ากับห้องผ่าตัดของคน ผ่าตัดเปิดกะโหลก กระดูกสันหลัง หรือผ่าตัดที่เกี่ยวกับการติดเชื้อได้ทั้งหมด ประตูออกแบบมาพิเศษให้ไม่ต้องใช้มือจับ ลดการปนเปื้อน ตู้ยาเปิดได้ 2 ข้างทำให้อีกฝั่งเติมของเข้ามาโดยที่ไม่ต้องเข้าห้อง ทุกอย่างออกแบบเพื่อรักษาการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิให้อยู่ที่ 22 องศาเซลเซียส ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโต กิมมิกสุดพิเศษของห้องผ่าตัดอยู่ที่รูปเต่าบนพื้น เพราะหมออ้อยเชื่อว่าถ้าผ่าตัดสัตว์ทุกตัวบนตัวเต่าก็น่าจะอายุยืนเหมือนเต่าเช่นกัน

ต่อมาเป็นห้องแล็บที่ตรวจได้ทั้งฮอร์โมน Blood Gas ค่ากรด-เบสในเลือด ทำให้การรักษาที่นี่มีความรวดเร็ว แม่นยำ เพราะแทบไม่ต้องส่งตรวจแล็บนอกซึ่งต้องรอผลหลายวัน

ส่วนห้องอื่น ๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น ห้องฝากเลี้ยงที่มีกระต่ายตัวอวบอ้วนของหมออ้อยกระโดดโหยงเหยงอยู่ 3 ตัว รายล้อมด้วยเจ้าขนปุยนานาชนิด โดยมีเครื่องปรุงอากาศเพื่อลดกลิ่นแอมโมเนียและช่วยดูดความชื้น ป้องกันสัตว์ป่วยจากกลิ่นไม่พึงประสงค์

หนังสือ

โรงพยาบาลสัตว์ขนาด 3 ชั้นแห่งนี้มีห้องสมุดขนาดกำลังพอดีอยู่ด้วย หมออ้อยบอกเราว่าเขาบรรจุห้องนี้อยู่ในแผนการก่อสร้างตั้งแต่วันแรก เพราะตั้งใจให้เป็นห้องที่พนักงานทุกคนเข้ามาใช้พัฒนาตัวเองและประชุมงานสำคัญได้

“ผมอยากเรียกโรงพยาบาลนี้ว่า Educational Hospital ด้วยนะ อยากเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ สอนหนังสือให้ทั้งหมอไทยและต่างประเทศ ในห้องนี้คือหนังสือ Exotic เกือบทั้งหมด ผมเชื่อว่าผมมีหนังสือ Exotic Pet ในรอบ 10 ปีนี้ทุกเล่ม และหนังสือผมมีมากกว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ถ้าคนมาใช้งานได้ก็ใช้ไปเถอะ แต่อย่าขโมยกลับบ้านก็พอ” เขาหัวเราะ ก่อนเล่าต่อว่านอกจากหนังสือพัฒนาความรู้ ที่นี่ยังมีสมุดสำหรับพัฒนาตัวเอง

“โรงพยาบาลเรามีสมุดชื่อ The Last Mistake และ Failosophy ใครพลาดอะไรให้มาเขียนเล่มนี้ ไม่ต้องอาย คนเราผิดพลาดกันได้ ไม่มีใครเพอร์เฟกต์ น้อง ๆ หมอจะได้มาอ่าน

“หมอทุกคนใช้เวลาเป็นปีกว่าจะกล้าผ่าตัดตัวแรก เราต้องมั่นใจว่าวันที่ปล่อยให้เขาทำจะต้องเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด และความผิดพลาดบางอย่างป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำได้ ไม่ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง เราควรมีเวลาสอน มีเวลาเล่าให้เขาฟัง 

“คนชอบบอกว่า No Pain, No Gain ไม่เจ็บไม่เรียนรู้ แต่ที่นี่เราสอนว่า จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น น้องไม่ต้องเจ็บก็ได้ เชื่อพี่เถอะ”

เครื่องมือ

บริการของโรงพยาบาล Animal Space มีทั้งหมด 10 อย่างด้วยกัน ประกอบด้วย คลินิกกระต่ายและสัตว์ฟันแทะ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษและสัตว์ป่า คลินิกฝังเข็มและสัตวแพทย์ทางเลือก คลินิกโรคตาสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หน่วยศัลยกรรมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หน่วยทันตกรรมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หน่วยรังสีวินิจฉัยและอัลตราซาวนด์สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หน่วยอายุรศาสตร์ฉุกเฉิน และคลินิกถ่ายเลือดสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ การ CT Scan การ X-ray คอมพิวเตอร์ หรือ X-ray 3 มิติ บริการรับฝากเลี้ยงและแอดมิตสัตว์ป่วย เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนรักสัตว์

“ถ้าเราทำงานโดยไม่เคยไปเห็นโลกข้างนอก เราจะรู้สึกว่ามันพอ แต่ถ้าเคยมีโอกาสไปเห็นโลกข้างนอก เราจะรู้สึกว่าที่เราทำงานอยู่มันไม่พอ 

“เมื่อก่อนบอกว่ามีเอกซเรย์ก็พอแล้ว ไม่ต้องมีอัตราซาวนด์หรอก เวลาผ่านไปอัลตราซาวนด์กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี แล้วโรงพยาบาลสัตว์ที่ไหนจะมี CT Scan แต่ CT Scan ทำให้เราวินิจฉัยโรคยาก ๆ ที่เราไม่เคยวินิจฉัยได้มากขึ้น ถ้าเอา CT Scan ของคนมาใช้ ภาพที่ได้ก็จะเบลอและมองไม่เห็น เครื่องที่เราใช้อยู่ปัจจุบันเป็นเครื่องแรกในไทยที่ใช้สำหรับสัตว์ Exotic

“ผมนำเข้าและซื้อเครื่องมือที่จำเป็นใน Exotic ครบทุกอย่าง ถ้าถามว่าตอนนี้อยากซื้ออะไรเพิ่ม เราไม่ได้อยากซื้ออะไรแล้ว 

“ในมุมธุรกิจ ผมอาจจะเป็นนักธุรกิจที่ไม่ดี อะไรที่คิดว่าดีกับตัวสัตว์ก็ซื้อมาก่อน เครื่องมือที่ผมซื้อมาบางทีไม่คุ้มทุนหรอก แต่มันคุ้มใจ ยาบางอย่างก็ปล่อยให้หมดอายุด้วยซ้ำไป แต่ถ้าจะใช้มันต้องมี ถือว่าโชคดีที่ไม่ได้ใช้ก็แล้วกัน อย่าไปคิดว่าขาดทุนเลย”

คน

พอมีเครื่องมือที่ดีแล้ว คนใช้ก็ต้องเก่งตามเครื่อง ที่นี่มีสัตวแพทย์สัตว์พิเศษประจำการอยู่ 30 คน นับว่ามากกว่าหน่วย Exotic ของมหาวิทยาลัยทุกที่ทั่วประเทศ

การทำงานเป็นระบบ Intern มีกระบวนการสอนเป็น Internal Course เหมือนตอนเรียนแพทย์ เด็กที่เข้ามาใหม่ต้องใช้เวลา 1 เดือนกว่าจะเริ่มงานจริง หลังจากนั้นก็เทรนอีก 1 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ General กับ Specialist 

“ทุกคนเข้ามาจะอยู่กลุ่ม General ก่อน รักษาได้ทุกชนิด แต่ถามว่าชอบอะไรเป็นพิเศษ เขายังตอบตัวเองไม่ได้หรอก ผ่าน 2 ปีถึงจะรู้ แล้วเราจะพัฒนาให้เขาเป็น Specialist ขึ้นมา ปัจจุบันผมมีหมอที่เป็น Specialist ด้านสัตว์เลื้อยคลาน ด้านโรคหัวใจ ด้านรังสีวิทยา ด้านฝังเข็ม และด้านสมุนไพร 

“คนที่จะมาทำงานที่นี่ได้ต้องมีความตั้งใจ เรานั่งคุยกันถึงแผนการเติบโตของชีวิตระยะ 3 – 5 ปี แล้วเราจะสนับสนุนพวกเขาได้ยังไงบ้างเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น ปีนี้ผมส่งไปเรียนปริญญาโท 1 คน ผมส่งเรียน Diploma หลักสูตรสัตวแพทย์ระดับสูงอีก 1 คน ส่งไปต่างประเทศ 7 คน และมีคอร์สอื่น ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ อีกหลายคอร์ส นี่คือสิ่งที่เราทำให้คนเก่งขึ้น” 

วงการ

หมออ้อยเป็นประธานชมรมสัตวแพทย์ชนิดพิเศษ คอยรวบรวมสมาชิกเพื่อพัฒนาวงการ Exotic ให้ก้าวหน้า ในวาระครบรอบ 8 ปีของชมรม เขาเฉลิมฉลองด้วยการเชิญหมอสัตว์พิเศษกว่า 200 คนทั่วประเทศมาร่วมงานสัมมนา โดยใช้หมอที่ Animal Space เป็นผู้บรรยาย

“เมื่อก่อนเราไม่เคยวินิจฉัยโรคตับบิดในกระต่ายได้เลย ต่างประเทศมีวินิจฉัยได้บ้าง ผมก็งงว่า บ้านเราไม่มีโรคตับบิดบ้างเลยเหรอ ผมลองทำทุกวิถีทางจนวินิจฉัยได้ ถึงจะไม่กล้าใช้คำว่าเยอะที่สุดในโลก แต่ผมว่าใช่ เรานำตัวเลขไปนำเสนอในงานประชุมสัตวแพทย์สัตว์ Exotic โลก ทุกคนตกใจหมด เขารวบรวม 5 ปีได้ 80 เคส ของเราแค่ 3 ปี 200 เคสแล้ว ผมมั่นใจว่าหมอไทยไม่แพ้ใคร”

นอกจาก Animal Space จะเป็น Referral Center แล้ว หมออ้อยมีวิสัยทัศน์ว่าโรงพยาบาลของเขาจะต้องเป็น Reference Center ด้วย หมายความว่า ใครอยากเปิดโรงพยาบาลสัตว์มาเยี่ยมชมที่นี่ได้โดยไม่หวงความรู้ นั่นคือวิธีสร้างกัลยาณมิตรแบบฉบับ Animal Space

“การที่เราเป็นแบบนี้จะมีแต่เพื่อน ไม่ใช่ศัตรู ยิ่งเราแชร์เท่าไหร่ยิ่งได้กลับมาเท่านั้น ยิ่งเรางกเท่าไหร่เราจะตายไปกับความรู้ที่เรามี

“ผมบอกเสมอว่าเราจะไม่แข่งกันเก่ง แต่เราจะเก่งไปด้วยกัน เมื่อไหร่เราเก่งไปด้วยกัน วงการก็ยิ่งโต พอวงการเติบโต สุดท้ายผลประโยชน์จะอยู่กับทุกคน สัตว์ได้เจอหมอที่เก่งขึ้น ไม่เป็นอิกัวนาตัวนั้นที่เข้าไปแล้วไม่มีใครรักษา คนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โรงพยาบาลก็อยู่ได้ หมอก็อยู่ได้ สัตว์ก็อยู่ได้”

อนาคต

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Animal Space ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อในโครงการ The Exotique Project ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงพิเศษ โดยนำจุดเด่นของทั้ง 2 โรงพยาบาลมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก่อให้เกิด Animal Space สาขาใหม่ ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขาพระราม 9 

หมออ้อยยกตัวอย่างเคสง่ายที่สุดให้เราฟัง “กระต่ายเป็นโรคต้อกระจกเยอะมาก หมอ Exotic ผ่าตัดไม่ได้ หมอทองหล่อผ่าตัดต้อกระจกได้ แต่เขาวางยาสลบกระต่ายไม่ได้ ถ้าเราวางยาสลบให้หมอทองหล่อผ่าตัดได้ จะมีกระต่ายอีกกี่ตัวที่โชคดีได้กลับมามองเห็นโลกได้เหมือนเดิม 

“อีกอย่างคือโรงพยาบาลเราอยู่ชานเมือง โรงพยาบาลทองหล่ออยู่กลางเมือง คนที่อยากมาหาเราก็ไปที่ทองหล่อได้ คนเข้าถึงโรงพยาบาลเราง่ายขึ้น และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เราจะขยายสาขาต่อไปในอนาคต”

ชีวิต

ก่อนจากกัน หมออ้อยเผยความลับสุดน่ารักว่า เขานี่แหละคือหมอประจำรายการเด็ก Animal Speak ที่โด่งดังหลายล้านวิวเมื่อหลายปีก่อน คอยชวนเด็ก ๆ ไปรู้จักสัตว์ป่า สัตว์พิเศษ สัตว์พันธุ์หายาก เขารู้สึกดีเสมอที่สัตวแพทย์รุ่นใหม่หลายคนตอบคำถามในห้องสัมภาษณ์ว่าอยากเป็นสัตวแพทย์เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากรายการนี้ 

หมออ้อยเพิ่งกลับมาจากงานสัมมนาที่เบลเยียมก่อนเราคุยกันเพียง 1 วัน เขาถึงไทยตอนบ่าย 3 ถึงโรงพยาบาลตอน 4 โมงนิด ๆ เริ่มรักษาตอน 5 โมงเย็น มีเคสฉุกเฉินเข้ามาตอน 3 ทุ่มกว่า ผ่าตัดเสร็จเที่ยงคืนพอดี จนถึงวินาทีที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ เขายังมีความสุขกับการเป็นสัตวแพทย์เสมอ

“เราเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ถ้าอยากจะเปลี่ยน เราไม่อยากตายจากโลกใบนี้โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ใครจะรู้ คนอาจเรียกเราว่าบิดาแห่งวงการ Exotic Pet ก็ได้

“เคยมีคนชวนผมไปพูดในงานสัมมนา เขาถามว่าถ้าไม่ทำอาชีพสัตวแพทย์ ผมจะทำอะไร ผมตอบไม่ได้ เพราะผมไม่เคยคิดเลยว่าอยากเป็นอะไร ผมเกิดมาเพื่อเป็นสัตวแพทย์

“วันแรกที่ผมทำงาน ผมทุ่มเททุกอย่างเพื่อเป็นหมอที่เก่งและประสบความสำเร็จ วันนี้ที่ผมทำสำเร็จแล้ว ผมอยากซัพพอร์ตกลับไปที่น้อง ๆ ผมมีความสุขมากที่ได้เห็นทุกคนยืนพูดบนเวที และผมจะทำทุกอย่างให้เกิดสิ่งเหล่านี้ต่อไป”

นิยามของคอลัมน์ The Entrepreneur คือแรงบันดาลใจจากแผนธุรกิจสร้างสรรค์ไม่จำกัดวงการของผู้ประกอบการผู้ตั้งใจ น้อยครั้งที่เราจะเล่าเรื่องธุรกิจโรงพยาบาล ยิ่งน้อยเข้าไปอีกถ้าจะเล่าเรื่องโรงพยาบาลสัตว์ แต่หลังจากพูดคุยกับหมออ้อยและเดินทัวร์โรงพยาบาลสัตว์ทุกซอกมุม เราพบว่า Animal Space ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของธุรกิจสร้างสรรค์ที่ออกแบบเพื่อสัตว์พิเศษทุกตารางนิ้ว แต่หมออ้อยเองก็เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการผู้ตั้งใจ ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อทำให้สัตว์พิเศษของเขาไม่ธรรมดา

Website : www.animalspacehospital.com

Lessons Learned

  • การสนับสนุนพนักงานด้านการศึกษาอย่างเต็มที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
  • ใช้โอกาสให้คุ้มในตลาดที่ไม่มีคนเล่น ด้วยการทำธุรกิจเฉพาะทางให้พิเศษ
  • แม้บางครั้งการลงทุนจะไม่คุ้ม แต่ธุรกิจโรงพยาบาลควรเหลือดีกว่าขาด

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน